Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » by Dr. Prapan Supasorn » วิเคราะห์การให้ทานของพระเวสสันดร ในมิลินทปัญหา
 
counter : 58865 time

''วิเคราะห์การให้ทานของพระเวสสันดร ในมิลินทปัญหา''
 
Prapan Supasorn,Ph.d. (2552)

๑.๑ ประเด็นปัญหาเรื่องการให้ทานของพระเวสสันดร

          พระเวสสันดรบำเพ็ญทานบารมีโดยบริจาคพระโอรสพระธิดา และพระชายา ให้แก่พราหมณ์ชูชกเพื่อนำไปเป็นทาสรับใช้ ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นการให้ทานระดับกลางคือขั้นอุปทานบารมี ซึ่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายนิยมกระทำและบัณฑิตก็สรรเสริญการกระทำเช่นนี้ เพราะผลของการกระทำอย่างนี้จะเป็นปัจจัยให้ได้สัมโพธิญาณซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชาวโลกอย่างมหาศาล แต่ในทางสังคมของฆราวาสถือว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากอย่างยิ่ง และถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะนำความทุกข์มาให้บุตรธิดาและพระชายาของตน และขัดกับจริยธรรมในฐานะของบิดาที่ต้องดูแลบุตรธิดาและภรรยาให้มีความสุข 
ประเด็นดังกล่าวนี้พระยามิลินท์กษัตริย์แห่งโยนกได้ตั้งข้อสงสัยและถามพระนาคเสนเมื่อประมาณ ๒,๐๔๖ ปีมาแล้ว ข้อสงสัย ประเด็นคำถามและคำตอบของนักปราชญ์ทั้งสองได้ดำเนินไปอย่างดุเดือดชนิดที่ฝ่ายหนึ่งเอาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของความเป็นพระราชามาเป็นเดิมพัน และอีกฝ่ายหนึ่งก็เอาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาเป็นประกัน แม้ว่าเรื่องนี้จะผ่านมาแล้วสองพันกว่าปีก็ตาม แต่ยังดูเหมือนว่าคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เนื่องจากว่าเป็นประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิถีชีวิตมนุษย์ในสังคม โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของบิดามารดาต่อบุตรธิดา สามีต่อภรรยาเพื่อแลกกับอุดมการณ์สูงสุดคือสัมโพธิญาณ โดยพระยามิลินท์สวมบทบาทของสังคมผู้ครองเรือน ส่วนพระนาคเสนสวมบทบาทตัวแทนทางศาสนาที่จะต้องตอบปัญหาให้กระจ่าง ไม่ทิ้งหลักพุทธธรรม และไม่สร้างปัญหาสังคมภายหลัง   เพราะถ้าพระนาคเสนตอบปัญหานี้ผิดจากแนวพุทธศาสนา นั่นก็แสดงว่าปริยัติธรรมถูกท้าทายต่อการพิสูจน์จากกระแสสังคม จะส่งผลต่อการปฏิบัติศาสนา ปฏิเวธธรรมก็จะเปล่าประโยชน์ แต่เหตุการณ์นี้ได้ผ่านบทพิสูจน์ไปได้ด้วยดี วีรธรรมของนักปราชญ์ทั้งสองที่ได้ทำไว้ยังอยู่ในความทรงจำของชาวพุทธตลอดมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรื่องนี้จะผ่านมานานแล้ว แต่ก็ยังมีชาวพุทธจำนวนมากที่ยังกังขาและตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นการกระทำไม่ถูกต้อง และเมื่อผนวกกับเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้วยิ่งมีประเด็นให้ถกเถียงอีกมากมาย ผู้เขียนคิดว่าถ้าได้นำเรื่องนี้มาอภิปรายกันอีกครั้งหนึ่งในแง่วิชาการน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเป็นการปกป้องพระพุทธศาสนา ช่วยให้ชาวพุทธทั้งหลายได้มองเห็นคุณค่าของการให้ทานของพระเวสสันดร ตลอดจนวีรธรรมที่พระนาคเสนและพระยามิลินท์ได้กระทำไว้ซึ่งเป็นความพยายามอย่างยิ่งที่จะปกป้องพระพุทธศาสนาให้คงอยู่คู่โลกต่อไป
          การให้ทานถือว่าเป็นการบำเพ็ญบารมีอย่างหนึ่งในบรรดาบารมี ๑๐ อย่างในพระพุทธศาสนา พระโพธิสัตว์ทั้งหลายล้วนบำเพ็ญทานบารมีเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะบำเพ็ญบารมีอย่างอื่น เพราะทานบารมีเริ่มจากการสละสิ่งของภายนอกจนกระทั่งสละสิ่งของภายใน จากสิ่งของที่หยาบจนถึงขั้นละเอียดถึงขนาดสละได้แม้กระทั่งชีวิตของตน ทั้งนี้เพื่อให้บารมีสมบูรณ์และที่สำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งสัพพัญญุตญาณ อันเป็นเป้าหมายหลักของพระโพธิสัตว์นั่นเอง[๑]
            การให้ทานของคนทั่วไปนั้นถือเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคม เป็นการให้ทานที่สละได้ไม่ยากนักเพราะสิ่งของที่ให้ทานนั้นไม่ใหญ่โตและมีค่าน้อย แต่การให้ทานของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายโดยเฉพาะพระเวสสันดรที่ยอมสละพระชายา พระโอรสและพระธิดาเพื่อให้เป็นทาสแก่พราหมณ์ชูชกนั้นเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง เพราะนอกจากจะสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รักแล้ว พราหมณ์เฒ่ายังแสดงอำนาจบาทใหญ่เฆี่ยนตีพระโอรสและพระธิดาต่อหน้าต่อตาอย่างไร้ความปราณี ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้ย่อมสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวทางจิตใจของผู้เป็นบิดาอย่างมาก ถ้าเป็นสามัญชนคงกระทำได้ยากหรืออาจทำไม่ได้เลย แต่พระเวสสันดรได้ผ่านการทดสอบและพิสูจน์ถึงความมีพระทัยแน่วแน่มั่นคงในการให้ทานอย่างดีเยี่ยมจนประสบความสำเร็จมาแล้ว
            แม้ว่าการกระทำของพระเวสสันดรจะได้รับการยอมรับว่าเป็นการกระทำที่บัณฑิตสรรเสริญ เป็นแบบอย่างที่ดีในแง่ของศาสนาก็ตาม แต่ในทางสังคมของฆราวาสและสามัญสำนึกของบิดามารดาโดยทั่วไปแล้วกลับมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเพราะนำความทุกข์มาให้บุตรธิดาซึ่งไม่รู้เห็นและไม่เข้าใจอุดมการณ์ของบิดา ยิ่งไปกว่านั้น บทบาทของพระเวสสันดรในฐานะบิดาที่ต้องดูแลบุตรธิดาให้มีความสุขและหน้าที่ในความเป็นสามีที่พึงปฏิบัติต่อภรรยาก็ถูกละเลยไป สายใยแห่งความสัมพันธ์ทางครอบครัวถูกตัดขาด ภาพลักษณ์ของสถาบันครอบครัวไม่มั่นคงขาดความอุ่นเช่นนี้แล้ว นักการศาสนาจะกล่าวได้อย่างไรว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมควรกระทำตาม 
            เวสสันดรชาดกเป็นชาดกหนึ่งในทศชาติว่าด้วยการบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดร ซึ่งเป็นชาติสุดท้ายก่อนจะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เนื้อความของเวสสันดรชาดก กล่าวถึงการบริจาคทานของพระเวสสันดร จนในที่สุดต้องถูกไล่ออกจากพระราชวังไปอยู่ป่าและในที่นั้นพระองค์ก็ได้พระโอรสและพระชายแก่พราหมณ์และพระอินทร์ที่มาขอ อันเป็นการบำเพ็ญทานที่ทำได้ยากยิ่ง และเป็นที่มาของคติโพธิสัตว์ที่ว่า ถ้าหากจะบำเพ็ญเพียรเพื่อความเป็นพระโพธิสัตว์ต้องสามารถสละได้ทุกสิ่งโดยไม่เว้นแม้กระทั้งชีวิตของตนเองก็ให้ได้
            เวสสันดรชาดก มีอิทธิพลต่อสังคมไทยแทบทุกภาคของเมืองไทย จะเห็นได้จากการนิยมนำเอาเรื่องพระเวสสันดรมาเทศน์และเรียกชื่อว่า เทศน์มหาชาติบ้าง เทศน์ผเวสบ้าง ตามแต่ละท้องถิ่น มีคตินิยมอย่างหนึ่งว่า ถ้าหากใครได้ฟังการเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกจบได้ภายในวันเดียวจะมีผลานิสงส์มากมาย
พระมหาสง่า ไชยวงศ์ กล่าวถึงอิทธิพลของพระเวสสันดรชาดกต่อสังคมไทยและการให้ทานตามคติแห่งพระเวสสันดร ว่า
      ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการสอนเรื่องการสร้างบุญกุศลในทางศาสนาที่ได้บุญมาก คือการบริจาคทาน… การทำทานในสังคมไทย ส่วนหนึ่งมาจากการสอนเรื่องชาดกในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ชาดกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทยมาหลายยุค หลายสมัย นับแต่ผู้นำประเทศจนถึงชาวบ้านธรรมดา เพราะเป็นเรื่องที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และมีตัวอย่างให้เป็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น ภาพสลักต่างๆ หรือภาพปั้นโบราณที่เล่าเรื่องราว ซึ่งนักโบราณคดีได้สันนิษฐานจากลักษณะทางประติมาณวิทยาว่า เป็นชาดกในพระพุทธศาสนา
จริยธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเรื่อง (เวสสันดรชาดก) อยู่ที่เน้นให้เห็นอานุภาพของความเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ปลูกฝังนิสัยเรื่องความเมตตากรุณาต่อกัน เห็นใจกัน ผู้รับฟังก็จะมีนิสัยโน้มเอียงไปทางพระเวสสันดร เพราะต้องการเอาอย่าง เมื่อเป็นเช่นนี้ ความโลภ ความเห็นแก่ตัวก็จะน้อยลง รักที่จะเสียสละเอื้อเฟื้อกัน มีการปลูกฝังให้เห็นภาพ และปรารถนาสังคมในอุดมคติอย่างในสมัยพระอริยเมตไตรย์ โดยใช้การสร้างแรงจูงใจว่า แม้ไม่ได้ทำทาน แต่ใครก็ตามที่ตังใจฟังธรรมเวสสันดร ตั้งแต่ต้นจนจบ ๑๓ กัณฑ์ก็สามารถปรารถนาพระนิพพาน หรือไปเกิดในสมัยพระศรีอริยเมตไตรย์ได้เช่นกัน[๒]
                  นอกจากจริยธรรมที่ปรากฏในพระเวสสันดรชาดก ซึ่งเน้นที่ความเสียสละเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม คนไทยยังได้นำหลักจริยธรรมเหล่านี้มาปฏิบัติและจากลักษณะของความเป็นคนใจบุญสุนทานนี่เอง เชื่อว่า พระเวสสันดรชาดกน่าจะมีอิทธิพลต่อลักษณะนิสัยในความเป็นผู้มักให้ทานและความเป็นผู้มีใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งในเรื่องนี้ พระมหาบุญทัน อานนฺโท กล่าวว่า
              ๑. เวสสันดรชาดกเป็นพระพุทธวจนะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระภิกษุสงฆ์พุทธบริษัท ณ นิโครธาราม ในกรุงกบิลพัสดุ์ และเมื่อผู้ใดได้สดับก็ย่อมเกิดสิริสวัสดิมงคล เป็นกุศลบุญราศี
              ๒. บุคคลสดับเวสสันดรชาดกอันประดับด้วยพระคาถาหนึ่งพัน ในวันและราตรีเดียวให้จบและให้บูชาด้วยประทีป ธูป เทียน ธงฉัตร สารพัดดอกไม้ ดอกบัว ดอกผักตบ เป็นต้น ให้ครบจำนวนถ้วนสิ่งละพัน ด้วยอานิสงส์นั้นจะชักนำให้สมมโนรถตามปรารถนา ผู้มั่งมุ่งหมายใครจะพบศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย[๓]
          อิทธิพลของความเชื่อเกี่ยวกับการบำเพ็ญทานบารมี สืบเนื่องจากสุโขทัยจนถึงอยุธยาและรัตนโกสินทร์ คตินิยมการทำบุญตามพระเวสสันดรโพธิสัตว์ก็ยังคงอยู่เสมอ และการฟังเทศน์มหาชาติไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประชาชนเท่านั้น แม้องค์พระมหากษัตริย์ก็มีพิธีเทศน์ตามพิธีหลวง และนอกจากนั้น ยังมีพระมหากษัตริย์บางพระองค์ถือคติตามพระเวสสันดรโพธิสัตว์และได้ถวายทานดุจว่าบำเพ็ญบารมีเพื่อโพธิญาณ
            เพื่อความเข้าใจถูกต้องร่วมกันและเป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษาของชาวพุทธ ผู้เขียนจึงได้ศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้โดยได้ตั้งวัตถุประสงค์ในการศึกษา ดังนี้
๑.๒ วัตถุประสงค์ในการศึกษา         การวิเคราะห์ประเด็นเรื่องการให้ทานของพระเวสสันดรครั้งนี้ เพื่อศึกษาเกณฑ์ตัดสินด้านพุทธจริยศาสตร์เกี่ยวกับการให้ทานของพระเวสสันดรว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
๑.๓ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ผู้เขียนได้ตั้งความคาดหวังจากงานวิเคราะห์ครั้งนี้ โดยหวังว่าจะเกิดประโยชน์ คือ    ทำให้ทราบเกณฑ์ตัดสินด้านพุทธจริยศาสตร์เกี่ยวกับการให้ทานของพระเวสสันดรว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ อันจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในสังคมต่อไป
๑.๔ วิธีการดำเนินการวิจัย งานวิจัยนี้มีกรอบการศึกษาวิจัยเฉพาะเชิงเอกสาร(Documentary Research) โดยศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการให้ทานจากเอกสารข้อมูลขั้นปฐมภูมิ(Primary Sources)ได้แก่คัมภีร์สำคัญของพระพุทธศาสนาคือพระวินัยปิฎก(Vinaya Pitaka) พระสุตตันตปิฎก(Suttanta Pitaka) และพระอภิธรรมปิฎก และศึกษาค้นคว้าข้อมูล แนวการอธิบายพุทธจริยศาสตร์เกี่ยวกับการให้ทาน และประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จากเอกสารขั้นทุติยภูมิ(Secondary Sources) ได้แก่ คัมภีร์อรรถกถา เอกสารงานวิจัย วิทยานิพนธ์ หนังสือ ตำราและผลงานทางวิชาการของนักการศาสนาและนักวิชาการทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อันเป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับงานวิจัยฉบับนี้
หลังจากค้นคว้าข้อมูลได้แล้วก็จะเก็บรวบรวมและจัดลำดับข้อมูลจากที่ได้ศึกษาค้นคว้า นำข้อมูลที่ได้มาศึกษาวิเคราะห์ในเชิงสังคมศาสตร์ พิสูจน์ทดสอบตามที่ได้ตั้งสมมติฐานเอาไว้ สุดท้ายก็จะได้สรุปผลการวิเคราะห์วิจัยและนำเสนอข้อมูลจากเอกสารที่ได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป
อนึ่ง งานวิจัยนี้เนื่องจากจำกัดด้วยเรื่องเวลาจึงอาจมีข้อบกพร่องอยู่มาก ผู้วิจัยจึงขอน้อมรับคำติชมจากครูอาจารย์ผู้เป็นปราชญ์ทั้งหลายได้กรุณาชี้แนะในส่วนที่บกพร่อง เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ต่อไป
 

 

 

 

ส่วนที่ ๒. หลักคำสอนเรื่องทานในพระพุทธศาสนา

 

๒.๑ หลักคำสอน ๒ ระดับ

 

 
พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่มุ่งให้มนุษย์พึงปฏิบัติเพื่อความสุขแก่ตนเองและผู้อื่น ตามแนวทางแห่งอริยมรรคซึ่งเป็นหนทางสายเดียวเพื่อการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพานอันเป็นบรมสุข และเป็นอุดมคติของชีวิตตามหลักพุทธธรรม  โดยแบ่งคำสอนออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑) คำสอนแนวสัจธรรมสำหรับสอนกลุ่มอนาคาริก
๒) คำสอนแนวศีลธรรมสำหรับสอนกลุ่มอาคาริก
๑. คำสอนแนวสัจธรรม พระพุทธองค์ทรงสอนกลุ่มที่เป็นอนาคาริก เช่นพระปัญจวัคคีย์ด้วยการให้หลีกจากการทรมานตน และการเติมกามสุขให้แก่ชีวิตจนเกิดความมัวเมา แล้วสอนให้ปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทาคือทางเดินชีวิตอันประเสริฐเพื่อความพ้นทุกข์อันประกอบด้วยสัมมาิฏฐิเป็นต้น[๔]  
๒.  คำสอนแนวศีลธรรม พระองค์ทรงสอนกลุ่มอาคาริกคือชนผู้ครองเรือน โดยปรับระดับคำสอนจากแนวสัจจธรรมซึ่งเป็นนามธรรมมาเป็นรูปธรรม โดยทรงสอนอนุปุพพิกถาแก่ยสกุลบุตร บิดามารดาและภรรยาของเขา ตลอดทั้งเพื่อน ๕๔ คน จนกระทั่งท่านเหล่านั้นได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เนื้อหาในอนุปุพพีกถาได้กล่าวถึงทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์ของการออกบวช ทั้งนี้เพื่อเป็นการฟอกจิตของผู้ที่เคยครองเรือนให้สามารถขจัดความห่วงใยเรื่องทรัพย์สินก่อน จากนั้นจึงสอนเรื่องศีล สวรรค์ โทษของกามและการออกกจากกามเป็นลำดับไป แม้ในที่แห่งอื่นพระองค์ก็ทรงสอนในลักษณะเดียวกัน[๕] ดังเช่นในบุญกิริยาวัตถุสูตร พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสสอนเรื่องทานมัย ศีลมัย และภาวนามัย[๖]
คำสอนทั้งสองแนวดังกล่าวนี้พระพุทธองค์ทรงปรับประยุกต์ให้เข้ากับจริตของบุคคล เข้ากับปัญหาชีวิตของเขาจึงจะแก้ปัญหาชีวิตของเขาได้ เปรียบเหมือนนายแพทย์ผู้รักษาคนไข้รู้จักโรคของคนไข้แล้วเยียวยา อาการป่วยจึงจะหาย
๒.๒ ความหมายและคำสอนเรื่องทาน ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก อรรถกถา
            คำว่า ทาน หมายถึงการให้ การเสียสละวัตถุสิ่งของ ๆ ตนเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น เป็นการให้ที่ประกอบด้วยเจตนาดี การให้ปัจจัย ๔ เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินชีวิต การให้พระสงฆ์เพื่อต้องการบุญและบำรุงศาสนา ความหมายของทานครอบคลุมทั้งผู้ให้ ผู้รับ และสิ่งของที่ให้ทุกอย่าง และทานก็รวมอยู่ในคำสอนแนวศีลธรรม
คำสอนแนวศีลธรรมซึ่งมีความสำคัญต่อบุคคลทั้งในระดับปัจเจกและสังคม โดยพระองค์ตรัสว่า “คนผู้หวังประโยชน์ควรศึกษาบุญนี้ที่ให้ผลอันเลิศ อำนวยความสุขให้ คือ ควรบำเพ็ญทาน ควรประพฤติธรรมเสมอต้นเสมอปลาย (ธรรมจริยสมจริยา) ควรเจริญเมตตาภาวนา บัณฑิตครั้นเจริญธรรม ๓ ประการนี้ที่เป็นเหตุให้เกิดความสุขแล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ที่ไม่มีการเบียดเบียน[๗] ทานมีความสัมพันธ์โดยความเป็นธรรมที่มีอุปการะแก่กันระหว่างศีลและภาวนา มีคำแสดงลำดับความสัมพันธ์ของทาน ศีล และภาวนาไว้ว่า ทานมีอุปการะมากแก่ศีลและทำได้ง่าย เพราะฉะนั้นทานจึงเป็นเบื้องต้นแห่งศีล ทานอันศีลกำหนด จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ดังนั้น ศีลจึงอยู่ในลำดับต่อจากทาน
นี้แสดงให้เห็นว่าทานเป็นการทำบุญที่สำคัญประการแรกสำหรับคฤหัสถ์   ทั้งนี้เนื่องจากคฤหัสถ์ยังต้องดำรงชีวิตอยู่ในสังคมและอาศัยปัจจัย ๔ เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีชีวิต เมื่อทุกคนต้องการปัจจัย ๔ เพื่อการดำรงชีวิตเช่นเดียวกัน การขวนขวายเพื่อการได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำอยู่เสมอ เพราะเมื่อชีวิตยังดำเนินไปตราบใด ความจำเป็นที่จะใช้ปัจจัยเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น เมื่อเงื่อนไขของการมีชีวิตขึ้นอยู่กับความต้องการทางวัตถุ การแสวงหาความมั่นคงแก่ชีวิตเพื่อชีวิตที่ดี มีความสุขสบายตลอดไปจึงเป็นอุดมคติของการมีชีวิตในปัจจุบันชาติ ซึ่งกรณีนี้เห็นได้ชัดเจนในสังคมที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลกระแสวัตถุนิยมดังเช่นในปัจจุบัน
มองในระดับสังคม ทานเป็นกลไกลควบคุมสังคมให้ดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย ส่วนในระดับปัจเจกบุคคล ทานนอกจากจะเป็นข้อปฏิบัติทางกาย วาจาแล้ว ยังส่งผลถึงสภาวะแห่งจิตใจของผู้ให้ทาน กล่าวคือผู้ให้ย่อมได้รับความสุข ความอิ่มเอิบ ความสบายใจ ขจัดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ความอิจฉาริษยา และความโลภในทรัพย์สินของผู้อื่น เมื่อหมั่นให้ทานเป็นนิตย์ สิ่งเหล่านี้จะถูกขจัดออกไปและในที่สุดก็จะเป็นผู้ยินดีในการให้ มีสีหน้าและผิวพรรณผ่องใสดังที่เรียกว่าอิ่มบุญ การให้ทานจึงเป็นการพัฒนาจิตใจส่วนปัจเจกบุคคลให้เบาบางจากอกุศลธรรมทั้งหลาย และเป็นทางเพื่อการปฏิบัติบุญกิริยาขั้นอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ ทานยังมีความสำคัญและเป็นหลักธรรมประการแรกในหลักคำสอนอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อการขัดเกลาและบรรเทาความตระหนี่ ความยึดติดในวัตถุ ความโลภ ความโกรธ และความหลงอันเป็นกิเลสอย่างหยาบให้เบาบางก่อนจะปฏิบัติธรรมในระดับอื่น ๆ เช่น บุญกิริยาวัตถุ ๓[๘] ซึ่งประกอบด้วยทานมัยเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงเป็นเรื่องของศีลและภาวนาต่อไปจนถึงทิฏฐุชุกรรม สังคหวัตถุ  ๔  ก็เริ่มจากทาน จากนั้นจึงเป็นความเป็นผู้มีวาจาน่ารัก การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์และความเป็นผู้มีตนสม่ำเสมอ[๙]  อนุปุพพีกถา ก็ประกอบด้วย  ทานกถา  สีลกถา สัคคกถา  กามาทีนวกถา  เนกขัมมานิสังสกถา ธรรมหมวดนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่คฤหัสถ์เป็นประการแรก ก่อนจะแสดงหลักธรรมประการอื่น ๆ เหตุผลก็คือเพื่อเป็นการปูพื้นฐานจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ง่ายที่สุดไปสู่สิ่งที่เป็นนามธรรมยากขึ้นไปตามลำดับ มีข้อความกล่าวไว้ในอัมพัฏฐสูตรดังนี้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแสดงอนุปุพพิกถาแก่พราหมณ์โปกขรสาติ ครั้นแสดงจบแล้วทรงทราบว่ามีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จนกระทั่งพราหมณ์ได้ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแล้วแก่พราหมณ์โปกขรสาติว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ณ ที่นั่งนั้นแล เหมือนผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรที่จะรับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น[๑๐] แม้ในบารมี ๑๐ ก็ประกอบด้วยทานบารมีเป็นข้อแรก จากนั้นจึงเป็น  ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตาและ อุเบกขาบารมี
ในอรรถกถาแห่งขุททกนิกาย จริยาปิฎกกล่าวถึงลักษณะของทานในประการอื่นๆ โดยลักษณะแห่งการบำเพ็ญบารมีไว้ว่า ทานจะชื่อว่าบริสุทธิ์ผ่องแผ้วเพราะปราศจากความกำหนดไทยธรรมและปฏิคาหกเป็นต้น อันกิเลสทั้งหลาย มีตัณหา มานะ ทิฏฐิ เป็นต้น ไม่เข้าไปกระทบ และกล่าวว่าสิ่งที่เป็นปฏิปักข์ต่อการให้ทานคือความตระหนี่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะทานประกอบด้วยคุณคืออโลภะ อโทสะ อโมหะ ในไทยธรรม ปฏิคาหกและผลของทาน ส่วนข้อปฏิบัติของการให้ทาน คือการทำความอนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลายโดยส่วนมาก ด้วยการสละเครื่องอุปกรณ์ความสุข ร่างกายและชีวิต ด้วยการกำจัดภัย และการชี้แจงธรรม[๑๑]
      กล่าวโดยสรุป การให้ทานเป็นการบำเพ็ญบุญหรือการทำความดีสำหรับคฤหัสถ์หรือผู้ครองเรือนประการหนึ่ง ตามหลักบุญกิริยาวัตถุ ทายกผู้ต้องการบำเพ็ญบุญต้องเริ่มจากการให้ทาน เพื่อดำเนินไปสู่ศีล และภาวนาในที่สุด การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนาตามหลักบุญกิริยาวัตถุจึงเป็นการพัฒนาจิตใจอย่างเป็นขั้นตอน มีความสัมพันธ์สืบเนื่องกันจากระดับที่บุคคลสามารถทำได้โดยง่าย ไปถึงระดับที่ต้องอาศัยความเพียรอย่างแรงกล้า บุคคลผู้สามารถเจริญสมาธิภาวนาจนใจสงบแน่วแน่ควรแก่การงานนั้น จิตใจของบุคคลนั้น ต้องได้รับการฝึกฝนในขั้นการให้ทาน และการรักษาศีลเพื่อขจัดความโลภ ความโกรธ และความหลงอันเป็นรากเหง้าของอกุศลมาเป็นอย่างดี ซึ่งถ้าบุคคลไม่สามารถชำระศีลอันเป็นการบำเพ็ญเพียรทางกายให้บริสุทธิ์ ก็ไม่อาจจะยังสมาธิภาวนาให้เกิดและไม่อาจจะบรรลุฌาน วิปัสสนา (ญาณ) มรรคและผลใด ๆ ได้
ทานในระดับปัจเจกบุคคล จึงเป็นไปเพื่อขจัดความโลภ ความโกรธ และความหลงอันเป็นเหตุเกิดแห่งอกุศลมูล ส่วนทานในระดับสังคม เป็นหลักปฏิบัติการฝึกจิตใจให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักการแบ่งปัน  ไม่แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น ไม่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท เป็นเหตุสร้างความบาดหมางให้แก่คนในสังคม เมื่อทุกคนรู้จักการให้แก่ผู้อื่น ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก และทุกคนจะรู้สึกถึงความปลอดภัยในชีวิต การงาน และการใช้ชีวิตที่ไม่ต้องหวาดระแวง ย่อมนำมาซึ่งความสุขทั้งต่อตนเองและสังคม นอกจากทานในระดับสังคมหรือประโยชน์ต่อผู้อื่นแล้ว ในระดับที่สูงขึ้นไป สำหรับผู้ที่มีความเสียสละเพื่อสังคมอย่างยอดเยี่ยม ทานยังเป็นคุณธรรมสำหรับการสร้างบารมีเพื่อการบรรลุคุณธรรมในระดับที่สูงขึ้นไป ดังเช่น ทานอุปบารมีที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญมาเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ได้ทรงให้พระนางมัทรีผู้เป็นมเหสี กัณหา และชาลีบุตรธิดาเป็นทานแก่ชูชก ซึ่งเป็นทานที่กระทำได้ยากยิ่ง ทานจึงมีความสำคัญทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และในระดับสังคม
          ๒.๓ ประเภทของทาน
ประเภทของทานตามหลักพระพุทธศาสนาอาจแบ่งได้ ๔ ประเภท คือ
๒.๓.๑ ประเภทที่จัดตามปฏิคาหก มี ๒ ได้แก่
๑) ปาฏิปุคคลิกทาน การให้ทานเจาะจงผู้รับ
๒) สังฆทาน การให้ทานแก่สงฆ์ มุ่งที่หมู่คณะ
๒.๓.๒ ประเภทที่จัดตามสิ่งของที่ให้ทาน มี ๓ ได้แก่
๑) อามิสทาน การให้ทานด้วยสิ่งของ
๒) ธรรมทาน   การให้ทานด้วยการแนะนำศิลปวิทยา รวมถึงให้ธรรมเป็นทาน
๓) อภัยทาน การให้ทานโดยการให้อภัย
๒.๓.๓ ประเภทที่จัดตามเป้าหมายในการให้ทาน มี ๒ ได้แก่
๑) วัฏฏทาน หรือวัฏฏคามีทาน การให้ทานที่ปรารถนามนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติ
๒) วิวัฏฏทาน หรือวิวัฏฏคามีทาน การให้ทานที่ปรารถนาออกจากทุกข์ในสังสารวัฏ
๒.๓.๔ ประเภทที่จัดตามลักษณะและวิธีการให้ทาน มี ๓ ได้แก่ 
๑) ทานทาส การให้ทานโดยที่ผู้ให้ยังเป็นถูกกิเลสครอบงำ และให้ในสิ่งที่เลวแก่คนอื่น
๒) ทานสหาย การให้ทานที่เสมอกับสิ่งที่ตนมี
๓) ทานบดี การให้ทานที่ประณีตกว่าสิ่งที่ตนมี
กล่าวโดยสรุป ทานประเภทแรกมุ่งถึงบุคคลผู้จะรับทานโดยมีขอบเขตกว้างแคบต่างกัน ประเภทที่สองมุ่งกล่าวถึงสิ่งของที่จะให้ทานซึ่งมีทั้งให้วัตถุและให้ธรรม ประเภทที่สามมุ่งถึงเป้าหมายของการให้ทาน ส่วนประเภทที่สี่มุ่งถึงบุคคลผู้ให้ทานโดยจัดตามสภาพของจิตใจที่ยังมีกิเลสมากน้อยต่างกัน มองโดยสรุปก็มีเพียงสามประเภทเท่านั้น คือผู้ให้ทาน ผู้รับทาน วัตถุทาน ส่วนเป้าหมายทานนั้นขึ้นอยู่กับผู้ให้ทานเป็นสำคัญ เพราะกระบวนการให้ทานบุคคลผู้ให้ย่อมแสดงบทบาทสำคัญกว่าองค์ประกอบอย่างอื่น ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวรายละเอียด เพราะจะทำให้ประเด็นกว้างเกินไป ผู้เขียนจึงงดการอธิบายประเภทของทานไว้เพียงเท่านี้ก่อน ผู้สนใจรายละเอียดเอียดเกี่ยวกับประเภทของของทานโปรดศึกษาได้จากในทักขิณาวิภังคสูตร [๑๒] ศึกษาความหมายของทานและประเภทของทานในคัมภีร์มังคลัตถทีป[๑๓] ในทุติยทานสูตร[๑๔] ในทานสูตร[๑๕] คัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถาแห่งขุททกนิกาย จริยาปิฎก[๑๖] ขุททกนิกาย ธรรมบท[๑๗]ในทานวรรคแห่งอังคุตตรนิกาย[๑๘] ศึกษาอภัยทานในอรรถกถาแห่งขุททกนิกาย จริยาปิฎก[๑๙]
๒.๔ องค์ประกอบของทาน
โดยทั่วไป องค์ประกอบของทาน มี ๓ ส่วนคือ ผู้ให้ทาน ผู้รับทาน และวัตถุทาน โดยเรียกตามภาษาพระว่า ทายก คือ ผู้ให้ทาน    ๒) ปฏิคาหก คือ ผู้รับทาน            ๓) ไทยธรรรม คือ วัตถุที่ให้ทาน[๒๐] หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งการให้ทานย่อมไม่ครบองค์ประกอบ และการวินิจฉัยคุณค่าของทานยึดเอาองค์ประกอบหลักทั้ง ๓ เหล่านี้เป็นเกณฑ์
๒.๔.๑ องค์ประกอบของทายก มี ๓ ประการคือ
๑.   บุพพเจตนา หมายถึงทายกย่อมเป็นผู้ยินดี ก่อนที่จะให้ทานล่วงหน้า ๑ เดือนหรือ ๑๕ วัน ว่า เราจักให้ทาน เจตนาในส่วนนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เกิดความคิดเช่นนี้ จนถึงขณะจัดแจงเครื่องอุปกรณ์สำหรับให้ทานก่อนมุญจนเจตนา ทายกย่อมมีจิตยินดีในขณะนั้นว่า เราจักฝังขุมทรัพย์อันเป็นเหตุแห่งสมบัติที่สามารถจะติดตามเราไปได้
๒. มุญจนเจตนา หมายถึง ขณะที่ให้ทาน ย่อมมีใจยินดีในทานที่ตนกำลังให้นั้น เจตนาในขณะกำลังให้นี้ เกิดขึ้นเมื่อทายกบรรจงวางไทยธรรมในมือของทักขิไณยบุคคล ทำจิตให้เลื่อมใสว่า เรากำลังทำการถือเอาสิ่งที่เป็นแก่นสาร มีสาระจากทรัพย์ที่ไม่มีสาระไม่มีแก่นสาร
๓. อปราปรเจตนา หมายถึงหลังจากให้ทานแล้ว ทายกย่อมยินดีเสมอ ๆ เมื่อระลึกถึงทานที่ตนได้ให้แล้ว เจตนาในส่วนนี้ เกิดขึ้นหลังจากทายกบริจาคไทยธรรมแก่ทักขิไณยบุคคลแล้ว มีจิตใจชื่นบาน เกิดปีติโสมนัสว่า ทานที่ชื่อว่าบัณฑิตบัญญัติไว้ เราก็ได้ปฏิบัติตามแล้ว ทานของเราสำเร็จประโยชน์ด้วยดีแล้ว
            สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือ เจตนาทั้ง ๓ ประการนี้ จะบริบูรณ์ครบองค์ได้เมื่อทายกนั้นประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเชื่อในกรรมและผลของกรรม คือเชื่อว่าทานเป็นความดี พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงบัญญัติไว้ ทานที่ทำแล้วมีผล บุญกรรมที่บุคคลบำเพ็ญแล้วย่อมมีผล
      ๒.๔.๒ องค์ประกอบของปฏิคาหก มี ๓ ประการคือ
๑. เป็นผู้ปราศราคะหรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ
๒. เป็นผู้ปราศโทสะหรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ
๓. เป็นผู้ปราศโมหะหรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ
องค์ของปฏิคาหกทั้ง ๓ ประการนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพระอรหันต์เท่านั้นว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยองค์ของปฏิคาหก แม้ทานที่ถวายแก่พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน กระทั่งสามเณรผู้รับใช้ ถึงบวชในวันนั้น ก็ชื่อว่า บวชเพื่อโสดาปัตติมรรค ฉะนั้น ทานที่ถวายแก่สามเณรก็ถือได้ว่าถวายแก่ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะเช่นกัน ทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ คือ องค์ของทายก ๓ และปฏิคาหก ๓ เหล่านี้นับว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มาก
๒.๔.๓ องค์ประกอบของวัตถุทาน มี ๓ คือ
                  ๑) เป็นของสะอาด ได้มาโดยบริสุทธิ์
๒) เป็นของประณีต
                  ๓) เป็นของที่เหมาะสม สมควรแก่ผู้รับ       
สิ่งที่ควรเน้นเป็นพิเศษในที่นี้คือ จาคเจตนา คือเจตนาเป็นเหตุให้บริจาคทาน บุคคลเมื่อจะให้ทานต้องประกอบด้วยเจตนาที่มีศรัทธา มีหิริจึงให้ทาน และทานที่ให้นั้นเป็นทานที่ไม่มีโทษ จาคเจตนาเหล่านี้จึงเรียกว่าเป็นทาน เจตนาเป็นเหตุบริจาคทานแก่ผู้อื่น ซึ่งมีปัญญาเครื่องรู้ดีเป็นเบื้องหน้า ประกอบด้วยวัตถุ ๑๐ มี ข้าวเป็นต้นชื่อว่าทาน หรือความไม่โลภ ที่ประกอบด้วยเจตนาเป็นเหตุให้บริจาคทานนั้น ก็เรียกว่า ทานเช่นกัน [๒๑] ทานที่ทายกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ คือเป็นผู้มีความเชื่อว่า ทานที่ทายกให้แล้วย่อมมีผล ทานเป็นความดี ท่านผู้รู้มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญไว้และบัญญัติไว้แล้ว   ทานในส่วนนี้ จึงหมายเอาเจตนาเป็นเหตุให้คนบริจาคทาน ซึ่งเป็นไปทางใจ (เจตสิกทาน) ลักษณะของทานที่มุ่งเจตนาเป็นหลักนี้ เป็นเกณฑ์หลักสำหรับตัดสินค่าทางจริยะของทานประการหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่งในเกณฑ์ตัดสินเรื่องทาน
ประการต่อมา คือ วิรัติ คือการงดเว้น ได้ชื่อว่าทาน เพราะเมื่อบุคคลประกอบด้วยวิรัติ ย่อมจะงดเว้นจากเจตนาแห่งบุคคลผู้ทุศีล ได้แก่ ความกลัว และความขลาดเป็นต้น ข้อนี้ จะเห็นได้จากการให้อภัยแก่บุคคลอื่น เป็นต้น วิรัติมี ๓ อย่างคือ ๑) สัมปัตตวิรัติ งดเว้นสิ่งที่มาถึงเข้าโดยมิได้สมาทาน สมาทานวิรัติงดเว้นเพราะการสมาทาน และสมุจเฉทวิรัติงดเว้นโดยสิ้นเชิง[๒๒]วิรัติประการสุดท้ายนี้เป็นวิรัติของพระอริยสาวกผู้ได้สำเร็จอริยมรรคและอริยผลแล้ว เพราะภัยและเวรทั้ง ๕ ของพระอริยสาวกเป็นอันสงบแล้ว ตั้งแต่วิรัตินั้นประกอบพร้อมด้วยอริยมรรคกล่าวคือการบรรลุมรรคผล
ประการสุดท้ายคือ ไทยธรรม ได้ชื่อว่าทาน เพราะบุคคลเมื่อจะให้ก็ย่อมให้ข้าวและน้ำเป็นต้นเป็นทาน เมื่อหมายถึงวัตถุสำหรับให้ทาน จึงเรียกว่าวัตถุนั้นว่า เป็นไทยธรรม
ทานมี ๓ อย่างดังที่กล่าวมาแล้ว แต่โดยเนื้อความมีเพียง ๒ อย่างคือ ธรรมที่เกี่ยวเนื่องทางใจ (เจตสิกธรรม) และไทยธรรม เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ในมังคลัตถทีปนี หมายความเฉพาะจาคเจตนาเท่านั้นว่าเป็นทาน
๒.๕ เหตุเกิดแห่งทาน ลักษณะเฉพาะและวิธีการให้ทาน
การให้ทานเป็นพิธีกรรมที่ผนวกอยู่กับประเพณีพิธีกรรมทางศาสนา และขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีทางสังคมจากคติความเชื่ออื่น ๆ นอกเหนือจากศาสนา ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีคติความเชื่อต่างกัน แต่โดยเนื้อหาสาระแล้ว ทานย่อมมีคุณค่า และมีเป้าหมายร่วมกัน ต่างกันแต่เพียงเหตุปัจจัยที่มาเท่านั้น
ในทานูปปปัตติสูตร พระองค์ตรัสเหตุที่ทำให้คนให้ทานเพราะเขาปรารถนามนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ การที่เขาปรารถนาอย่างนั้นเพราะเขาเห็นกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ได้ฟังเรื่องสวรรค์ ๖ ชั้นและพรหมชั้นสูง[๒๓]             คนบางกลุ่มก็ให้ทานเพราะความกลัว เพราะหวังผลตอบแทนทางด้านโลกธรรม[๒๔] บางคนให้ทานเพราะนึกว่าเป็นบุพการีชนคือให้เพื่อรักษาวงศ์ตระกูลดั้งเดิม บางคนให้ทานเพราะต้องการเข้าถึงสุคติภพ บางคนให้ทานเพราะต้องการอบรมจิตให้เบิกบาน  และบางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต [๒๕] แต่อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาเหล่านี้ จะสำเร็จได้ก็ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ แต่จิตอธิษฐานภาวนาที่น้อมไปเพื่อสิ่งเหล่านี้ จัดว่ายังเป็นไปเพื่อโลกียะสมบัติ   
กล่าวโดยสรุป เหตุแห่งการให้ทานมี ๕ ระดับ คือ
๑) การให้เพราะถึงแก่อคติอย่างใดอย่างหนึ่งจัดอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก
๒) การให้ตามประเพณีเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของวงศ์สกุล จัดอยู่ในระดับปานกลางแต่โอกาสที่จะผิดพลาดมีมากเนื่องจากเป็นการยึดถือตามประเพณี  
๓) เป็นการให้เพราะหวังสภาวะที่ดีขึ้นหรืออุปธิอยู่ในระดับกลาง 
๔) เป็นการให้เพราะเห็นว่าการให้นั้นเป็นสิ่งที่ดี ข้อนี้จัดอยู่ในเกณฑ์ดี
๕) เป็นการให้ทานในฝ่ายดีกว่าทุกข้อ เพราะเป็นการให้ทานเพื่อพัฒนาจิตใจ
ส่วนลักษณะของการให้หรือวิธีการให้ทานนั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ทั้งในฝ่ายดีและในฝ่ายที่ไม่ดี ลักษณะและวิธีการให้ทานในฝ่ายดี คือ ทายกย่อมให้แก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน ผู้เตรียมจะไป ให้ทานสมัยข้าวแพง ให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล และให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล[๒๖] วิธีการการให้โดยเน้นที่ทายก คือให้โดยเคารพอ่อนน้อม      ให้ด้วยมือตนเอง    ให้ของไม่เป็นเดน เห็นผลที่จะมาถึงให้ [๒๗] 
ในสัปปุริสทาน   พระองค์ทรงแสดงลักษณะและวิธีการให้ทานโดยแยกเป็นสิ่งที่ให้ ปฏิคาหกผู้รับทานและเจตนาของทายกผู้ให้ทานรวมเป็น ๘ ประการ ๑)ให้ของที่สะอาด ๒)ให้ของประณีต ๓) ให้เหมาะสมกับกาละ ๔)         ให้ของสมควร เป็นประโยชน์ ๕)      พิจารณาก่อนแล้วจึงให้ เลือกให้ในบุญญเขตที่ดี ๖) ให้อย่างสม่ำเสมอ เป็นนิจทาน ๗)          เมื่อให้ ทำจิตให้ผ่องใส ๘) ครั้นให้แล้ว จิตใจเบิกบาน[๒๘]
            ทรงสรุปผลของทานที่กระทำดีแล้วว่าสัตบุรุษครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมากและเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล (บังเกิดขึ้น) …เป็นผู้มีบุตรภรรยา ทาส คนใช้หรือคนงาน เป็นผู้เชื่อฟัง       เงี่ยโสตลงสดับคำสั่งตั้งใจใคร่รู้ ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล …ย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ ในที่ ที่ทานนั้นเผล็ดผล …เป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้น ในที่ ที่ทานนั้นเผล็ดผล …เป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหนๆคือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาทในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล[๒๙]
            ส่วนลักษณะของการให้ทานที่ไม่ดีโดยรูปแบบและวิธีการให้ทานนั้น พึงศึกษาได้จากลักษณะที่ตรงกันข้ามที่กล่าวมาในฝ่ายข้างดี ในอสัปปุริสทานสูตร[๓๐]
 
 
            ๒.๖ การบำเพ็ญทานบารมี
                เพื่อให้ประเด็นที่จะอภิปรายชัดเจนขึ้นในที่นี้จึงมาศึกษา บารมี ในพระไตรปิฎก คัมภีร์ปกรณ์พิเศษ อรรถกถา และคัมภีร์อื่น ๆ ทั้งความหมายในคัมภีร์เหล่านั้นก็ย่อมจะแตกต่างกันไป ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะความหมายของคำว่า บารมี ที่เกี่ยวข้องกับทานบารมีที่ต้องการศึกษาในบทความนี้
            บารมี คือคุณความดีที่ควรบำเพ็ญมี ๑๐ อย่าง ได้แก่ ทานบารมี ศีล   เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา คุณความดีที่ได้บำเพ็ญมา คุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่[๓๑]
พระธรรมปาละให้ความหมายว่า บารมีคือคุณธรรมทั้งหลาย มีทานเป็นต้น กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย คือกรุณาอันตัณหา มานะ และทิฏฐิไม่เข้าไปกำจัด[๓๒]
            พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ให้ความหมายไว้ว่า ปฏิปทาอันยวดยิ่ง, คุณธรรมที่ประพฤติฏิบัติอย่างยิ่งยวดคือความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นมหาสาวกเป็นต้น[๓๓]
            และได้อธิบายโดยศัพท์ความว่า คำว่าบารมีนั้น โดยตัวศัพท์แปลว่า ความจบถ้วน ภาวะที่ยอดยิ่ง สุดยอด เต็มเปี่ยม หมายถึงคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยอดยิ่งของพระโพธิสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นมหาโพธิสัตว์ (ท่านผู้มุ่งต่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ปัจเจกพุทธเจ้า (ท่านผู้มุ่งต่อการตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า) หรือสาวกโพธิสัตว์ (ท่านผู้มุ่งต่อการตรัสรู้เป็นพระอรหันตสาวก) ก็ตาม แต่โดยทั่วไป จะหมายถึงมหาโพธิสัตว์ คือท่านผู้มุ่งต่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การให้ทานที่เป็นการบำเพ็ญทานบารมี จะต้องเป็นการให้ทานที่ต้องสั่งสมสืบเนื่องโดยตลอดโดยไม่ขาดสาย เป็นการบำเพ็ญที่เกิดจากการอธิษฐานจิต มีการทำอภินิหาร เพื่อมุ่งหวังพระสัพพัญญุตญาณในอนาคตกาล แล้วปฏิบัติตามความตั้งใจจนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง
โดยสรุป ลักษณะของการบำเพ็ญทานบารมี มีดังนี้
๑.         ให้แก่คนหรือสัตว์ เพื่อประโยชน์แก่เขาในชีวิตที่เป็นจริง
๒.        ให้ด้วยจิตใจเสียสละแท้จริง โดยไม่หวังอะไรตอบแทน
๓.        การให้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการก้าวไปในกระบวนการฝึกฝนพัฒนาตนให้ปัญญาเจริญสมบูรณ์ เพื่อจะได้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ได้บริบูรณ์
๔.        ผู้ให้จะเป็นใครก็ได้ ไม่ว่าจนมี ใหญ่โตหรือต่ำต้อย ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า
ความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวมุ่งแน่วแน่ไปในกระบวนการศึกษาพัฒนาตน
ความหมายของทานบารมีมักจะพบในชาดกเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะในอรรถกถาชาดก สุเมธดาบสโพธิสัตว์ ได้เลือกทานบารมีเป็นประการแรกก่อนจะบำเพ็ญสีลบารมี และบารมีประการอื่น ๆ ต่อไป ดังปรากฏข้อความว่า
... พระโพธิสัตว์ ลุกขึ้นจากที่ประทับ ในเวลาที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายหลีกไปแล้ว ประทับนั่งคู้บัลลังก์บนกองดอกไม้ด้วยความดำริว่า เราจักพิจารณา (เลือกเฟ้น) บารมีทั้งหลาย
... พระโพธิสัตว์ ตกลงพระทัยดังนี้ว่า เราจะต้องเป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน เพื่อจะไตร่ตรองถึงธรรมทั้งหลาย ที่เป็นเครื่องกระทำความเป็นพระพุทธเจ้า จึงพิจารณาธรรมธาตุทั้งสิ้นตามลำดับว่า ธรรมที่เป็นเครื่องกระทำความเป็นพระพุทธเจ้ามีอยู่ ณ ที่ไหนหนอแล อยู่เบื้องบนหรือเบื้องล่าง อยู่ในทิศ หรือทิศเฉียงทั้งหลาย ได้ทอดพระเนตรเห็นทานบารมี อันเป็นบารมีประการแรกที่พระโพธิสัตว์องค์ก่อน ๆ ได้ประพฤติปฏิบัติกันมาแล้ว จึงแนะนำตนเองดังนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต ท่านควรบำเพ็ญทานบารมีเป็นประการแรกให้บริบูรณ์นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เปรียบเสมือนหม้อน้ำที่คว่ำ ย่อมหลั่งน้ำออกจนหมดไม่มีเหลือ ท่านก็จักต้องไม่แลเหลียวถึงทรัพย์สมบัติ ยศฐาบรรดาศักดิ์ บุตร ภรรยา หรืออวัยวะน้อยใหญ่ ให้ทานแก่ผู้ขอทั้งหลายที่พบเข้า ทำให้ถึงที่สุดตามที่คนเหล่านั้นต้องการโดยไม่ให้เหลือ นั่งที่โคนต้นโพธิแล้วจะต้องเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์นั้นจึงอธิษฐานทานบารมีเป็นประการแรกอย่างหนักแน่น
... พระโพธิสัตว์พิจารณาเห็นบารมี ๑๐ อุปปารมี ๑๐ และปรมัตถปารมี ๑๐ อย่างนี้ว่า การบริจาคข้าวของเครื่องใช้ทั่วไป ชื่อ ทานปารมี การบริจาคอวัยวะ ชื่อว่า ทานอุปปารมี การบริจาคชีวิต ชื่อว่า ทานปรมัตถปารมี.[๓๔]
การที่พระโพธิสัตว์เลือกทานบารมีเป็นประการแรกนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการให้ทาน เนื่องจากการให้ทานนี้เป็นธรรมที่ตรงข้ามกับความโลภ และมัจฉริยะ (ความตระหนี่) เมื่อบุคคลให้ทานย่อมสามารถขจัดความโลภ ความตระหนี่ในใจตนเอง ไม่ยืดมั่นถือมั่น ไม่ยึดติดกับวัตถุ หรือแม้กระทั้งบุตร ธิดา และภรรยา สามี ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องละให้ได้ในระดับเริ่มต้นก่อนที่จะบำเพ็ญบารมีในขั้นอื่น ๆ ที่สูงขึ้นไป ทานบารมีนี้มี ๓ ระดับคือ ระดับบารมี ระดับอุปบารมี และระดับ ปรมัตถบารมี
๑) ทานบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละทรัพย์ ในขุททกนิกาย จริยาปิฎก กล่าวถึงการบำเพ็ญทานบารมีของมหาโควินทพราหมณ์โพธิสัตว์ที่ได้บริจาคมหาทานร้อยล้านแสนโกฏิ เพื่อพระสัพพัญญุตญาณ[๓๕]
            ๒) ทานอุปบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละอวัยวะ เช่นดวงตา และโลหิต ในการบำเพ็ญทานอุปบารมีนี้ ในขุททกนิกาย จริยาปิฎก กล่าวถึงพระจริยาของพระเจ้าสีวีราชโพธิสัตว์ที่ให้ทานพระเนตรข้างหนึ่งแก่ท้าวสักกะ การให้ทานครั้งนี้ก็เพื่อสัพพัญญุตญาณ[๓๖]
            ๓) ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละชีวิต ในสสปัณฑิตจริยา กล่าวถึงการบำเพ็ญทานปรมัตถปารมีของสสบัณฑิตพระโพธิสัตว์ที่อุทิศร่างกายให้เป็นทานแก่พราหมณ์ [๓๗]
            การให้ทานของพระโพธิสัตว์นี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ทำได้ยาก เพราะไม่มีความเสียดายในสิ่งที่ตนให้ มีจิตยินดีและมองเห็นประโยชน์ต่อสรรพสัตว์จึงได้ให้ทาน โดยเฉพาะทานในระดับที่สองคือทานอุปบารมี และปรมัตถบารมียิ่งเป็นทานที่ทำได้ยาก เพราะมีการสละอวัยวะบางส่วน เช่น ตา เป็นต้น หรือการบริจาคอวัยวะให้กับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติ โดยความสมัครใจ มิใช่การแลกเปลี่ยน เหล่านี้จัดเป็นทานอุปบารมี
ส่วนการบำเพ็ญปรมัตถบารมี เป็นการบำเพ็ญทานขั้นสูงสุดในบรรดาการบำเพ็ญบารมีด้วยการให้ทาน เนื่องจากการบำเพ็ญปรมัตถบารมีนี้ ต้องสละชีวิตของตนเพื่อผู้อื่น การยอมสละชีวิตของตนเพื่อผู้อื่นในสังคมปัจจุบันนี้ อาจจะทำได้โดยการยอมตายเพื่อผู้มีพระคุณ และผู้ที่เป็นที่รักของตน แต่การบำเพ็ญปรมัตถบารมี จะต้องเป็นการสละชีวิตที่ตนเองยินดี พร้อมใจ ไม่ถูกบังคับ และสละได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู และต้องทำไปเพื่อมุ่งหวังพระสัพพัญญุตญาณเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น
            ๒.๗ เป้าหมายของการให้ทาน
เป้าหมายของการให้ทานในพระพุทธศาสนา  แบ่งได้ ๓ ระดับคือ
๒.๗.๑ เป้าหมายระดับต้น คือสิ่งที่บุคคลพึงมี พึงได้ในปัจจุบัน กล่าวคือประโยชน์ที่จะได้รับในชาตินี้ เช่น ทรัพย์สิน เงินทอง สุขภาพอนามัย ความมีศิลปวิทยา ยศฐาบรรดาศักดิ์ ญาติมิตรสหายและ ความผาสุกอย่างอื่นที่มนุษย์พึงมีพึงได้ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของโลกธรรมที่จำเป็นสำหรับฆราวาสวิสัย แม้จะเป็นเรื่องของวัตถุ แต่ความสุขที่เกิดจากวัตถุเหล่านี้ก็เป็นหนทางแห่งการแสวงหาความสุขที่ดี ละเอียดและเป็นบรมสุขในระดับต่อไปได้ เพราะถ้าหากบุคคลไม่ได้รับความสุขหรืออานิสงส์แห่งการทำบุญให้ทาน หรือการกระทำของตน ความพยายามเพื่อไปสู่สภาวะที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ย่อมไม่อาจจะเกิดขึ้นได้
            ๒.๗.๒ เป้าหมายระดับกลาง  เป็นจุดหมายที่สูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เป็นประโยชน์ในด้านในหรือประโยชน์ด้านคุณค่าของชีวิต เป็นหลักประกันชีวิตเมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ได้แก่ ความเจริญงอกงามแห่งชีวิตจิตใจ   สัมปรายิกัตถะประโยชน์ ๔ ประการ ประกอบด้วยศรัทธา เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนา ถึงพร้อมด้วยศีล คือรักษากายวาจาเรียบร้อย ถึงพร้อมด้วยการบริจาค คือสละแบ่งปัน และถึงพร้อมด้วยปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษ
            ทานในระดับนี้ อยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับวัตถุหรือความสุขทางร่างกาย กล่าวคือเป็นจุดหมายที่เน้นเรื่องของจิตใจ เป็นการพัฒนาจิตใจเพื่อไปสู่ระดับที่สูงขึ้น เพราะนอกจากทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศในโลกปัจจุบันนี้แล้ว ทานในระดับนี้ จะเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์อันเป็นสัมปรายภพ
๒.๗.๓ เป้าหมายขั้นสูงสุด คือประโยชน์สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา กล่าวคือความเป็นผู้รู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง อยู่จบพรหมจรรย์ ไม่มีกิจที่จะต้องทำอีกต่อไปแล้ว การดำเนินชีวิตเพื่อเข้าถึงจุดหมายขั้นนี้ ก็คือการดำเนินตามทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นทางสายกลางระหว่างความหลงมัวเมาในกามสุข และการปฏิบัติตนให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์
            ทานในกระบวนการพัฒนาตามหลักอริยมรรค ๘ นี้ ปรากฏอยู่ ๒ ระดับคือ ในระดับปัญญา กล่าวคือสัมมาทิฏฐิ ที่หมายถึงความรู้ในสิ่งที่เป็นกุศลและกุศลมูล กับอกุศลและอกุศลมูลและเห็นไตรลักษณ์ ความรู้ว่า ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมมีผล (สัมมาทิฏฐิกะ) เป็นต้นและรู้ว่าการปฏิบัติตามบุญญกิริยานั้นซึ่งถือว่าเป็นความไม่ประมาทและบุคคลสามารถยึดประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ด้วยบุญกิริยากล่าวคือทาน ศีล และภาวนา จึงเป็นสัมมาทิฏฐิอันเป็นส่วนปัญญาในกระบวนการพัฒนาตามขั้นตอนของมรรคและเป็นความรู้ชอบตามหลักพุทธจริยศาสตร์
            ทานระดับปัญญากล่าวคือสัมมาทิฏฐิที่หมายถึงเห็นไตรลักษณ์ ปรากฏอย่างชัดเจนในเวลามสูตรเริ่มจากการจำแนกผลแห่งทานจากระดับพื้นฐานไปถึงระดับสูงที่สุด ซึ่งทานในระดับสูงสุดและมีผลมากที่สุดคือทานที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญา และทานดังกล่าวนี้เองเป็นทานในระดับที่เป็นสัมมาทิฏฐิเพราะมองเห็นไตรลักษณ์และปฏิจจสมุปบาทดังความว่า
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิผู้เดียวบริโภคมีผลมากกว่าทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิร้อยทานบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิผู้เดียวบริโภค ฯลฯ…ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่ามหาทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว ... ทานที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าทานที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ... และทานที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม [๓๘]
อีกระดับหนึ่งคือในระดับของศีลหรือการกระทำทางกาย วาจา ได้แก่ การเจรจาชอบ การกระทำชอบ และการเลี้ยงชีพชอบ ทานในระดับนี้เป็นวิรัติทานกล่าวคือให้ทานด้วยเจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการกระทำชั่วทางกาย ทางวาจา หรือเรียกว่าสมาทานวิรัติ
สรุป : หลักคำสอนเรื่องทานในพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนามีแนวคำสอน ๒ ระดับ คือ คำสอนแนวสัจธรรมและคำสอนแนวศีลธรรม ส่วนเรื่องทานรวมอยู่ในคำสอนแนวศีลธรรม ซึ่งมีที่มาหลายพระสูตร โดยส่วนมากพระองค์สอนเรื่องทานแก่กลุ่มอาคาริกคือผู้ครองเรือนเพื่อฟอกจิตให้สะอาดก่อนแสดงอริยสัจ
ประเภทของทานนั้นจำแนกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ๔ ประเภท โดยจัดแบ่งตามผู้รับ จัดตามสิ่งของที่ให้ทาน จัดตามเป้าหมายและจัดตามลักษณะวิธีการให้ทาน ส่วนองค์ประกอบของทานมี ๓ คือผู้รับทาน ผู้ให้ทานและวัตถุทาน ผู้รับทานนั้นไม่มีขอบเขตประมาณ ขึ้นอยู่กับผู้ให้ทานเป็นสำคัญว่าจะเลือกเฟ้นให้อย่างไร สำหรับวัตถุทานต้องประกอบด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ มิใช่ให้สิ่งทำลาย โดยความสำคัญคือ ให้ด้วยเจตนาบริสุทธิ์
เหตุที่ทำให้บุคคลต้องทำบุญให้ทานโดยหลักก็คือเพื่อต้องการมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติ เมื่อต้องการสิ่งเหล่านี้จึงได้เกิดมีพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานในขั้นต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับทานบารมี อุปทานบารมีและปรมัตถทานบารมี พระพุทธองค์ทรงแสดงทานกถาแก่มนุษย์ทั้งหลายเพื่อจะให้บรรลุประโยชน์เหล่านี้กล่าวคือประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในอนาคต และปรมัตถประโยชน์โดยจัดทรงแสดงทานมัยเป็นอันดับแรก เพื่ออบรมศีล และเจริญปัญญา ดำเนินชีวิตอย่างผาสุกและถึงเป้าหมายคือความพ้นทุกข์ต่อไป
 
ส่วนที่ ๓ วิเคราะห์การให้ทานของพระเวสสันดร 
ในหัวข้อที่ ๑ -๒ เราได้ทราบความหมายและความสำคัญของทาน ประเภท และความเป้าหมายของทานมาแล้ว ในข้อนี้จะได้วิเคราะห์ถึงทานของพระเวสสันดร อันเป็นประเด็นหลักในบทความนี้ โดยผู้เขียนได้ตั้งประเด็นไว้ ๒ ประเด็น ดังนี้ 
๑. การให้ทานบุตรธิดาและภรรยาเป็นทานของพระเวสสันดรถูก ผิด ควรหรือไม่ควร
๒. วิธีการให้ทานกับเป้าหมายในการให้ทานมีความสัมพันธ์กันหรือไม่
๓.๑ ประเด็นเชิงจริยธรรมในการให้ทาน
            ก่อนที่จะวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าว ควรทราบประเด็นทางจริยธรรมในการให้ทานก่อน ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจถูกต้องร่วมกัน
หลักจริยธรรมในพระพุทธศาสนามีอิทธิพลทางความคิด ความเชื่อ ค่านิยมและการปฏิบัติของคนไทยดังที่กล่าวแล้ว นอกจากอิทธิพลทางความคิด ความเชื่อ และค่านิยมที่มีต่อบุคคลแล้ว หลักจริยธรรมในพระพุทธศาสนายังมีสถานะเป็นปทัฏฐานทางจริยะ กล่าวคือมาตรการตัดสินการกระทำของคนในสังคมไทย การกระทำที่กล่าวว่า ดี ชั่ว ถูก ผิด ควร ไม่ควร จึงอ้างอิงจากเกณฑ์ตัดสินค่าทางจริยะในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ในบางครั้ง เราอาจจะเห็นความไม่สอดคล้องของเกณฑ์ระหว่างเจตน์จำนงของสังคมและเกณฑ์ตัดสินของพระพุทธศาสนา เช่น การดื่มสุราและของมึนเมา ในทางสังคมไม่ได้กล่าวว่าเป็นความผิดแต่ประการใด ส่วนในทางศาสนานั้น มีข้อห้ามและกล่าวกระทำนั้นว่า เป็นการผิดศีล คือ หลักที่พึงปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม
ในการศึกษาประเด็นเชิงจริยธรรมในการให้ทานของพระเวสสันดร เป็นการศึกษาวิเคราะห์โดยใช้เกณฑ์ตัดสินคุณค่าเชิงจริยธรรมโดยทั่วไป คือใช้เกณฑ์หลักและเกณฑ์รองตามที่พระธรรมปิฎกกล่าวไว้ และได้นำมาอ้างไว้พร้อมทั้งแสดงเหตุผลสนับสนุนในการใช้เกณฑ์ดังกล่าวนี้ไว้แล้วในตอนที่ว่าด้วยเกณฑ์ตัดสินค่าทางจริยธรรมในการให้ทาน การใช้เกณฑ์หลักและเกณฑ์รองในกรณีทั้ง ๓ เพื่อตอบคำถามที่ว่า
๓.๒ การให้ทานบุตร ธิดา และภรรยาของพระเวสสันดร ถูก ผิด ควรหรือไม่
ในคัมภีร์มิลินทปัญหาซึ่งเป็นการถาม-ตอบระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสนเถระ ได้มีกล่าวโต้แย้งถึงประเด็นเชิงจริยธรรมในการให้ทานของพระเวสสันดร ดังนี้
            พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามพระนาคเสนว่า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อนได้บริจาคบุตรและภรรยาให้เป็นทานเหมือนกันทุกพระองค์หรือไม่ หรือว่าบริจาคเฉพาะพระเวสสันดรพระองค์เดียว
            พระนาคเสนถวายพระพรว่า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายบริจาคบุตรและภรรยาให้เป็นทาน เป็นประเพณีสืบมาทุกพระองค์
            พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า พระเวสสันดรโพธิสัตว์ บริจาคบุตรและภรรยาให้เป็นทานนั้น บุตรและภรรยายินดีกับการให้ทานของพระองค์หรือไม่
            พระนาคเสน ถวายวิสัชนาว่า ภรรยานั้นย่อมยินดีด้วย แต่บุตรนั้นไม่อาจเลื่อมใสยินดี เพราะยังเป็นเด็กอยู่ไม่รู้เดียงสา จึงร้องไห้รำพันเพ้อไปต่าง ๆ แต่เมื่อบุตรนั้นเป็นผู้ใหญ่อาจรู้เหตุผลได้แล้ว ก็จะยินดีอนุโมทนาไม่ร้องไห้ร่ำไร
          ทานที่บุคคลทั่วไปกระทำตามได้ยาก
            พระเจ้ามิลินท์ ตรัสถามวิธีการให้ทานของพระเวสสันดรซึ่งไม่เห็นแก่ความเป็นพ่อ แม่ ลูกและดูเหมือนเป็นการกระทำที่มนุษย์ทั่วไปกระทำได้ยาก ๗ ประการ ความว่า
๑) พระเวสสันดรทรงบริจาคพระโอรสพระธิดาอันเป็นที่รักยิ่งให้เป็นทานแก่พราหมณ์ ซึ่งจะพาไปเป็นทาส
๒) เมื่อพราหมณ์เอาเครือเถาผูกข้อพระกรพระโอรสทั้งสองแล้วโบยตีต้อนไปต่อหน้า พระองค์ทรงอดกลั้นความวิหิงสาได้ ดำรงพระทัยในอุเบกขา โดยไม่ทรงห้ามพราหมณ์
๓) เมื่อพระโอรสทั้งสองดิ้นหลุดจากเครื่องผูกในมือพราหมณ์ด้วยกำลังตน แล้วพากันวิ่งเข้ามาวิงวอนให้ช่วย พระองค์ก็ไม่ทรงช่วยเหลือประการใด กลับประทับนิ่งเฉยดูเหมือนว่าจะจับตัวส่งคืนให้แก่พราหมณ์ผู้หยาบช้า ใจบาป
๔) เมื่อทั้งสองพระโอรสร้องไห้รำพันว่า ข้าแต่พระบิดา พราหมณ์ชรานี้เห็นจะเป็นยักษ์ปลอมแปลงมา เขาจักนำเอาลูกยาทั้งสองนี้ไปเคี้ยวกินเป็นอาหาร พระโพธิสัตว์ได้สวนาการก็ทรงนิ่งเฉยอยู่มิได้ตรัสประการใด แม้แต่จะปลอบว่าเจ้าทั้งสองอย่ากลัวเลยก็หามิได้
๕) เมื่อพระชาลีกุมารกลิ้งเกลือกซบอยู่แทบพระบาทแล้วทูลวิงวอนว่า ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์จงให้พระนางน้องกัณหาอยู่เถิด ลูกจะไปกับด้วยยักษ์แต่ผู้เดียว ยอมให้ยักษ์เคี้ยวกินเป็นอาหาร พระองค์ก็มิได้ทรงรับและไม่ตรัสเจรจาแต่ประการใด
๖) เมื่อพระชาลีไปทูลว่า ข้าแต่พระบิดา เฒ่าชราผูกมัดลูกแน่นหนาตึงนัก เหตุไฉนทูลกระหม่อมแก้วไม่ห้ามพราหมณ์ ยอมให้พราหมณ์ใจดุร้ายอำมหิตเป็นมหายักษ์พาลูกรักไปในไพรวันอันเปล่าเปลียว พระองค์ก็มิได้แลเหลียวทรงกรุณาพระโอรส   
๗) เมื่อพระชาลีร้องไห้ด้วยเสียงอันน่าสังเวชควรที่จะกรุณา พราหมณ์ฉุดลากพาไปต่อหน้าพระที่นั่ง พระองค์มีพระหฤทัยดุจหนึ่งว่าจะแตกสลาย
            พระเวสสันดรเป็นมนุษย์มีพระหฤทัย ปรารถนาจะทรงสร้างกุศลบำเพ็ญบารมี ด้วยหวังพระโพธิญาณ บริจาคพระโอรสและพระชายาให้เป็นทานอันเป็นเครื่องก่อความลำบากยากเข็ญให้ผู้อื่นเช่นนี้ เป็นการสมควรหรือ
            พระนาคเสน ได้ถวายวิสัชนาว่า พระเวสสันดรทรงกระทำกรรมซึ่งยากที่ผู้อื่นจะทำได้นั้นเที่ยงแท้จะแปรผันผิดเพี้ยนไปหามิได้ กิตติศัพท์ของพระองค์ย่อมฟุ้งขจรตลอดไปในเทวดาและมนุษย์ทั่วหมื่นโลกธาตุ เทวดา อสูร สุบรรณนาคกับสมเด็จอัมรินทราธิราชและยักษ์ทั้งหลายก็ซ้องสาธุการสรรเสริญ ต่างพากันขนพองสยองเกล้าทุกแหล่งหล้า กิตติศัพท์ของพระองค์ย่อมระบือลือเลื่องมาโดยลำดับ ตราบเท่าจนทุกวันนี้ ที่เราทั้งสองนำเอามานั่งซักไซ้ไต่ถามกันอยู่เช่นนี้ จะว่าทานนั้นเป็นอันประองค์ให้ด้วยดีหรือชั่วช้าประการใดเล่า
          อานิสงส์ ๑๐ แห่งทานบารมีของพระเวสสันดร
            กิตติศัพท์ที่เล่าลือกันนั้น แสดงให้เห็นปรากฏอานิสงส์ ๑๐ ประการของพระโพธิสัตว์ผู้เป็นนักปราชญ์อย่างเอก และพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ อานิสงส์ ๑๐ ประการนั้นคือ
            ๑) ได้ให้ทานในเขตอันเลิศ (อเคธตา)        ๒) ไม่มีความอาลัยในของที่รัก (นิราลยตา)
            ๓) บริจาคได้ (จาโค)                                ๔) สละได้ (ปหานํ)
            ๕) ไม่คิดหวนเสียดาย (อปุนราวตฺติตา)       ๖) ความเป็นทานสุขุม (สุขุมตา)
            ๗) ความเป็นทานใหญ่ (มหนฺตตา) ๘) ความเป็นทานอันบุคคลรู้ได้ยาก (ทุรนุโพธตา)
            ๙) ความเป็นทานอันบุคคลได้โดยยาก (ทุลฺลภตา)
            ๑๐) ความเป็นทานไม่มีใครจะให้เสมอเทียมได้ (อสทิสตา)
            พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ทานที่บริจาคยังผู้อื่นให้ได้รับความทุกข์เป็นการเดือดร้อน จะให้ผลเป็นสุข ส่งให้เกิดในสวรรค์ได้ละหรือ
            พระนาคเสนถวายวิสัชนาว่า มหาบพิตรตรัสอะไร ชื่อว่าทานของพระโพธิสัตว์นั้น จะไม่มีผล อย่าพึงกล่าวเลย
            ถ้ามีสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีลมีจิตเป็นกุศลเป็นง่อยเปลี้ยเสียขา หรือป่วยไข้ได้ทุกข์อาพาธ ครอบงำเป็นประการใดก็ดี จะเดินไปไหนก็ไม่ได้ ในขณะนั้นมีบุรุษผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ปรารถนาบุญกุศล พึงยกเอาสมณะและพราหมณ์นั้นขึ้นสู่ยาน นำไปส่งให้ถึงสถานอันสุขสบาย ตามที่สมณะและพราหมณ์นั้นมุ่งหมายปรารถนาจะไป บุรุษนั้นจะได้กุศลผลบุญที่เป็นความสุขและจะได้ไปบังเกิดในสุคติภพบ้างหรือว่าหามิได้
            พระเจ้ามิลินท์ ตรัสว่า บุรุษผู้ส่งสมณะและพราหมณ์เห็นปานนั้น จะพึงได้ยวดยานคานหามอันเป็นทิพย์ และจะได้รถรัตน์หัตถีและม้าและยานพาหนะ ที่จะไปในทางบกและทางน้ำทุกประการ เมื่อไปทางบกจะได้ยานทางบก เมื่อไปทางน้ำจะได้ยานทางน้ำ เมื่อไปเกิดในเทวโลกก็ได้ยานในเทวโลก เมื่อมาบังเกิดในมนุษยโลก ก็จะได้ยานในมนุษยโลก จะได้ยานอันสมควรแก่กำเนิดของตนทุกชาติทุกภพไป ไม่เลือกว่าเกิดในที่ใดจะมีแต่ความสุขสำราญเสมอไป และเมื่อจะบังเกิดนั้นก็จะเกิดแต่ในสุคติภาพเท่านั้น ที่จะต้องไปทุคติหามิได้ และกุศลนั้นจะอุปถัมภ์เป็นดังยานพาแล่นเลี้ยวไปสู่เมืองแก้ว อันกล่าวแล้วคือพระอมตมหานฤพาน อันเป็นที่เกษมศานต์
            พระนาคเสนถวายพระพรว่า ถ้าบุรุษที่ยกเอาสมณพราหมณ์ที่อาพาธหนักขึ้นสู่ยาน แล้วนำไปให้ถึงสถานอันสบายได้ผลเป็นสุข กุศลนั้นนำไปบังเกิดในสวรรค์ได้แล้ว ทานที่ให้ด้วยก่อทุกข์แก่ผู้อื่น ก็มีผลเป็นสุขให้เกิดในสวรรค์ได้เหมือนกัน พระเวสสันดรโพธิสัตว์นั้น ถึงจะให้สองพระโอรสได้รับทุกข์ ด้วยพราหมณ์ทำเข็ญผูกรัดด้วยเถาวัลย์ ก็จะได้เสวยวิบากผลเป็นสุข เหมือนบุรุษที่ส่งสมณพราหมณ์ผู้อาพาธนั้น
            พระนาคเสน ถวายพระพรอีกว่า ถ้าพระมหากษัตริย์เก็บส่วยเร่งรัดรีดจากราษฎรด้วยพระราชอาญา ได้ทรัพย์มาบริจาคก็ได้ผล คือยศและสุขอันเลิศเห็นปานนั้น ไฉนทานของพระโพธิสัตว์ที่บริจาคด้วยให้สองพระโอรสต้องลำบากจักไม่มีผลเล่า ทานนั้นจะให้สุขเป็นผลและพาไปเกิดในสวรรค์ได้โดยแท้
            พระเจ้ามิลินท์ ตรัสว่า พระเวสสันดรบริจาคพระชายาของพระองค์ เพื่อให้เป็นภรรยาของผู้อื่น และบริจาคพระโอรสทั้งสองให้เป็นทาสผู้อื่นนั้น ชื่อว่าเป็นทานที่พระองค์บริจาคยิ่งเกิน บัณฑิตทั้งหลายในโลกย่อมพากันติเตียนนินทา จะได้สรรเสริญหามิได้ ฯลฯ คนที่ให้ทานมิได้เหลียวหลังคิดดูทุนทรัพย์ ก็ต้องตกอับถึงความสิ้นสมบัติ ไม่มีโภคทรัพย์จะใช้สอย ทานที่พระเวสสันดรบริจาค บัณฑิตย่อมติเตียนนินทาว่า เป็นทานที่ให้ยิ่งเกิน เปรียบเหมือนเกวียนที่บรรทุกหนักเกินไปเพลาก็หักได้ฉันนั้น จะพึงหวังผลอะไรในทานนั้นเล่า
            พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า ทานให้เกินไปนั้น บัณฑิตในโลกจะไม่ติเตียนนินทา ย่อมจะพากันเชยชมสรรเสริญ ผู้ที่ให้ทานเช่นนี้ ย่อมถึงกิตติศัพท์เลื่องลือไปในโลก เปรียบเหมือนคนปล้ำ จะปล้ำสู้เขาได้ ผลักไสให้อีกฝ่ายหนึ่งล้ม ก็เพราะมีกำลังยิ่งกว่า ฯลฯ ทานที่ให้ยิ่งเกินไปนั้น เป็นปราชญ์ทั้งหลาย ก็สรรเสริญ กิตติศัพท์เลื่องลือกระฉ่อนไปทั่วโลก พระเวสสันดรให้ทานอันยิ่งเกินนั้นแล้ว ได้รับความเลื่องลือกระฉ่อนทั่วไป อันเทวดาและมนุษย์นาครุฑทั้งหลายสรรเสริญแล้วในหมื่นโลกธาตุ ในปัจฉิมชาติที่สุดได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นองค์พระพุทธเจ้าอันเลิศในโลกนี้ ก็เพราะบริจาคทานยิ่งเกินนั้น
            ต่อจากนั้น พระนาคเสนจึงทูลถามพระเจ้ามิลินท์ว่า การให้ทานในโลกนี้โดยอนุมานมีกำหนดอยู่หรือหามิได้
            พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า การให้ทานว่าโดยอนุมานจะมีกำหนดเขตไว้อย่างไรก็หามิได้ สุดแต่ว่าที่มีจิตเลื่อมใส บางคนก็ให้ข้าวน้ำ บางคนก็ให้ผ้านุ่งผ้าห่ม บางคนก็ให้ที่นอนและเสื่อสาดอาสนะ บางคนก็ให้ทาสหญิงชาย เรือกสวนไร่นา สัตว์สองเท้า สัตว์สี่เท้า บางคนก็ให้ทรัพย์ ร้อยหนึ่ง พันหนึ่ง หรือเป็นอันมาก ที่ให้ราชสมบัติให้ชีวิตก็มี มีต่างกันเช่นนี้แล
            พระนาคเสนถวายพระพรว่า ถ้าบุคคลจะให้ชีวิตของผู้อื่นก็ได้ ทำไมบพิตรจึงติเตียนพระเวสสันดรว่า ให้พระโอรสและพระชายา โดยความคิดของชาวโลกตามปรกติ เมื่อบิดาเป็นหนี้เขาก็ดี ยากจนไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีวิตก็ดี บิดาจะให้บุตรรับใช้หนี้แทนหรือขายบุตรเลี้ยงชีวิตจะได้หรือหามิได้
            พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า บิดาจะให้บุตรรับใช้หนี้แทนหรือขายเลี้ยงชีวิตได้อยู่ ไม่มีใครติเตียน
            พระนาคเสนถวายพระพรว่า พระเวสสันดรโพธิสัตว์ปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ แต่ยังไม่ได้ เวลานั้นพระองค์ก็ขัดสนจนทรัพย์ จะเอาพระโอรสและพระชายาให้ทานซื้อเอาพระสัพพัญญุตญาณ ทำไมบพิตรจึงไม่เลื่อมใส
            พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า โยมนี้ไม่ได้ติเตียนทานของพระเวสสันดร แต่ติเตียน(วิธีการ)ตรงที่ว่าพระเวสสันดรให้โอรสและพระชายาต่างหาก ที่ถูกเมื่อยาจกมาขอโอรสและพระชายา พระเวสสันดรปรารถนาสัพพัญญุตญาณ ควรจะให้ตัวเองแลจะดีกว่าให้พระโอรสและพระชายา
            พระนาคเสนถวายพระพรว่า เขาขอพระโอรสและพระชายาไพล่ไปให้ตัวเองนั้น จะเป็นกรรมอันนักปราชญ์ผู้เป็นสัตบุรุษจะพึงทำนั้นหามิได้ เขาขอสิ่งใดก็ต้องให้สิ่งนั้นจึงเป็นกรรมของสัตบุรุษ ถ้ามีคนมาขอน้ำจะให้ข้าวจะนับว่าได้ทำกิจธุระให้เขาได้ละหรือ
            พระนาคเสนถวายพระพรว่า ถ้าพราหมณ์นั้นพึงขอตัวพระองค์เองแล้ว พระองค์จะเสียดายหรือห่วงใยประการใดก็หาไม่ จะบริจาคให้ทีเดียว ไม่ต้องรอให้ขอถึงสองครั้ง แม้ถ้าพยัคฆ์หรือสุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก จะเข้าไปขอพระองค์เอาไปกินเป็นอาหาร พระองค์จะไม่รอช้า จะบริจาคให้ในทันที พระกายของพระเวสสันดรโพธิสัตว์นี้ เป็นสาธารณ์ทั่วไปแก่สัตว์เป็นอันมาก มีครุวนาเหมือนชิ้นเนื้อชิ้นเดียวที่ทั่วไปแก่สัตว์เป็นอันมากฉะนั้น ... ด้วยพระองค์มั่นหมายในพระทัยว่า พระองค์ปฏิบัติดังนั้น จักได้บรรลุแก่พระโพธิญาณ
            อนึ่ง พระเวสสันดรโพธิสัตว์นั้นเป็นผู้แสวงหาโพธิญาณ จึงบริจาคทรัพย์และข้าวเปลือกยานพาหนะ ทาสหญิง ทาสชาย และสมบัติทั้งหลายสิ้นทั้งมวล ตลอดจนพระโอรส พระชายา หนังเนื้อโลหิต หัวใจ และชีวิตของพระองค์เป็นที่สุด ให้ทานได้ทั้งภายในทั้งภายนอก เพื่อได้ความยินดีเลื่อมใสในพระพุทธคุณและธรรมคุณแลกเอาพระโพธิญาณ ... แม้พระโพธิสัตว์ทั้งหลายแต่ปางก่อน หรือจะมีมาภายหลัง พระองค์ก็ทรงพยายามแสวงหาโพธิญาณเช่นนี้ทุก ๆ พระองค์
พระเวสสันดรโพธิสัตว์ ทรงดำริว่า พราหมณ์ขอสิ่งใดควรเราจะให้สิ่งนั้น จึงจะได้ชื่อว่า ทำกิจธุระให้สมความประสงค์ของพราหมณ์ พระองค์จึงบริจาคพระโอรสและพระชายาให้เป็นทาน พระองค์จะมีพระหฤทัยคิดจะให้พระโอรสและพระชายาได้รับความลำบากแล้วบริจาคไปก็หาไม่ หรือจะเป็นผู้มักมากบริจาคไปก็หาไม่ หรือบริจาคให้ไปด้วยทรงดำริว่า เราไม่อาจเลี้ยงดูก็หาไม่ หรือพระองค์เกลียดชังไม่รักใคร่ ประสงค์จะไล่ส่งไปเสียให้พ้นหูพ้นตาก็หาไม่ พระโอรสและพระชายานั้น เป็นที่รักใครพอพระทัยของพระองค์เสมอด้วยชีวิต พระองค์บริจาคให้ด้วยรักใคร่ ปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ อันเป็นรัตนะอย่างประเสริฐโดยแท้ทีเดียว เมื่อพระองค์ตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ตรัสไว้ว่า พระโอรสทั้งสอง เราจะได้เกลียดชังก็หาไม่ พระนางมัทรีเทวีเล่า ใช่ว่าเราจะไม่รักเมื่อไร แต่เรารักพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่ยิ่ง เพราะฉะนั้น เราจึงบริจาคของที่รักให้เป็นทาน
            พระนาคเสนถวายพระพรถึงความรักของพระเวสสันดรว่า พระเวสสันดรครั้นให้ทานแล้ว มีจิตผ่องแผ้วในทาน แต่ด้วยความสงสารสองพระโอรส จึงเข้าไปสู่บรรณศาลา ตรอมพระหฤทัยทรงพระกรรแสงเศร้าโศกเป็นกำลัง จนพระหฤทัยร้อนรน พระนาสิกไม่พอจะหายใจ ต้องปล่อยให้ลมอัสสาสะ ปัสสาสะออกทางช่องพระโอษฐ์ พระอัสสุธาราก็กระเซ็นเป็นโลหิต พระเวสสันดรบรมกษัตริย์หวังจะมิให้ทานบารมีเสื่อม จึงสู้ทนยาก บริจาคพระโอรสและพระชายาให้เป็นทาน
            เหตุผลที่พระเวสสันดรให้ทานพระโอรสทั้งสองอีกประการหนึ่งคือ พระเวสสันดรพิจารณาเห็นอานิสงส์ ๒ ประการ คือ
๑) ทานบารมีของพระองค์จักไม่เสื่อมไป
๒) พระโอรสทั้งสองพระองค์อยู่ในป่าต้องเสวยมูลผลาเป็นภักษาหาร ได้รับความทุกข์ยากลำบาก เมื่อให้พราหมณ์แล้ว พราหมณ์จักพาไปกรุงพิชัยเชตุดร สมเด็จพระอัยกาจักไถ่ไว้เลี้ยงให้เป็นสุขสำราญ และบุคคลเหล่าอื่นที่จะมีใครสามารถเอาพระโอรสของพระองค์ไปใช้เป็นทาสนั้นหามิได้ เมื่อพราหมณ์พาสองพระองค์ไป พระอัยกาจะไถ่เอาไว้ อันนั้น แลจักเป็นเหตุให้มารับพระองค์กลับยังพระนคร[๓๙]
            เหตุผลประการหลังนี้ ผู้เขียนมองว่าเป็นการลดคุณค่าของอุปทานบารมีของพระเวสสันดร เพราะถ้ารู้อยู่แก่ใจว่าพระโอรสและพระธิดาจะต้องได้รับการไถ่ตัวจากพระอัยกา ความยิ่งใหญ่แห่งบารมีครั้งนี้จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา ข้อความดังกล่าวนี้จึงไม่น่าจะเป็นความคิดของพระเวสสันดร แต่น่าจะเป็นความคิดของพระอาจารย์รุ่นหลังที่สืบทอดคัมภีร์มิลินท์แทรกความคิดเข้าไว้ เพราะเมื่อแทรกเข้ามาดังกล่าวทำให้ข้อความนี้ไปตัดประเด็นเป้าหมายสัพพัญญุตญาณของพระเวสสันดรทันที แล้วจะอ้างได้อย่างไรว่าพระองค์หวังโพธิญาณ จะดูเป็นการลวงชาวโลกมากกว่า  ดังนั้นผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้
            จากการโต้แย้งในเรื่องการบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ ระหว่างพระนาคเสนเถระและพระเจ้ามิลินท์ที่ยกมานี้ สามารถนำมาพิจารณาประเด็นทางจริยธรรมในการให้ทาน ดังนี้
          ๓.๓ วิธีการให้ทานกับเป้าหมายในการให้ทานมีความสัมพันธ์กันหรือไม่
          วิเคราะห์เกณฑ์หลัก-เกณฑ์รอง
            การที่พระเวสสันดรหวังโพธิญาณตามคติแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ประเด็นนี้ แสดงถึงจุดมุ่งหมายหรืออุดมคติของชีวิตที่แต่ละบุคคลมีแตกต่างกันไป การให้ทานหรือการกระทำบุญด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อการบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดด้วยวิธีการที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็ไม่ถือว่าเป็นการผิดเช่นเดียวกัน เจตนา และเป้าหมายเป็นสิ่งที่บัณฑิตทั่วไปยอมรับและเห็นดีด้วย แต่การให้ลูกและภรรยาแก่ผู้อื่น นับเป็นวิธีการที่สังคมยอมรับไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่เน้นเสรีภาพปัจเจกชนและสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้งดังเช่นสังคมไทยปัจจุบันพยายามจะเป็น การกระทำดังกล่าวจึงก่อให้เกิดการติเตียนและมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ว่า การให้ทานดังกล่าวเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ แต่นั้นก็ยังไม่ใช่ปัญหาที่จะพิจารณาในตอนนี้ แต่เราจะพิจารณาว่า การมอบลูกและภรรยาให้เป็นทาสของผู้อื่น เป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่ในกรอบและเกณฑ์ตัดสินตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่ใช่กรอบและกฎเกณฑ์ตามแนวคิดตะวันตก
            เมื่อว่าโดยเกณฑ์หลักคือเจตนานั้น พระเวสสันดรมิได้มีจุดหมายในการที่จะให้พระโอรสและพระธิดาได้รับความลำบากแต่ประการใด เจตนาในการให้ก็มิได้เกิดจากอกุศลมูล คือโลภะ โทสะ และโมหะ มิได้ให้เพราะอยากได้ทรัพย์สิน เงินทอง หรือเพื่อการได้เกิดในสวรรค์วิมานใด มิได้ให้ด้วยความโกรธ หรือไม่ต้องการรับผิดชอบ และมิได้ให้ด้วยความลุ่มหลง เจตนาในการให้ครั้งนี้จึงบริสุทธิ์ในเบื้องต้นแต่จะให้ ขณะที่ให้ และหลังจากให้แล้ว ถึงแม้จะเกิดความเสียใจบ้างแต่ภายหลังก็อนุโมทนาในกุศลเจตนาของพระองค์
            อนึ่ง การหวังพระสัมโพธิญาณมิใช่เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ ถึงแม้ว่าการบรรลุถึงบรมสุขจะเป็นเป้าหมายในการกระทำก็ตาม แต่ผลที่ได้จากการบรรลุสัมโพธิญาณนั้นก็เพื่อช่วยเหลือสัตว์ที่ยังอยู่ในวัฏฏสังสาร ได้รู้จักแนวทางและพยายามปฏิบัติตามแนวเพื่อให้ได้พบกับความสุขเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าตลอดเวลา ๔๕ พรรษา พระพุทธองค์มิได้ทรงวางเฉย แต่ทรงสั่งสอนประชาชนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี และเข้าถึงบรมสุขมิใช่น้อย คนไทยเองก็ได้รับอานิสงส์จากความหวังและจุดมุ่งหมายของพระองค์ในครั้งนั้นด้วย ด้วยการพิจารณาตามเจตนาอันเป็นเกณฑ์หลัก การให้ทานของพระเวสสันดรจึงไม่ผิด และควรแก่การกระทำ
            มองในแง่ของสภาวะจิต การกระทำครั้งนี้ส่งผลต่อสภาวะจิต คือยังกุศลให้เกิด บรรเทาอกุศลให้เบาบาง จะพบว่าหลังจากให้ทานแล้ว พระเวสสันดรเกิดความสงสารเพราะเห็นการกระทำของชูชกที่ทำกับบุตรผู้เป็นที่รัก ทรงกรรแสงเพราะเสียพระทัยและเศร้าสลดในการกระทำของพราหมณ์ชูชก แต่ไม่ได้ทรงเสียพระทัยในการให้ทานของพระองค์ เพราะพระองค์ไม่ได้มีมิจฉาทิฏฐิในการให้ทานโดยไม่ยั้งคิดหรือให้ทุกสิ่งที่ตนต้องการจะให้โดยมุ่งตนเป็นที่ตั้งในการให้ทาน แต่เป็นการสละทุกสิ่งที่เป็นการยึดติด ยึดมั่นด้วยอัตตวาทุปทาน ซึ่งแม้กระทั่งชีวิตเป็นที่สุด พระองค์ก็ทรงประทานแม้หากมีผู้ร้องขอ ดังนั้น ในที่สุดพระองค์จึงเป็นผู้นิ่ง และปลอบโยนให้พระนางมัทรีจนพระนางร่วมอนุโมทนาในกุศลเจตนาของพระองค์
การกล่าวว่าเป็นการกระทำผิดหรือไม่นั้น ถ้าหากอาศัยการอนุโมทนาของพระนางมัทรีผู้เป็นแม่ การวินิจฉัยย่อมเป็นอันจบ เพราะไม่มีใครยอมรับได้ว่า ผู้เป็นแม่จะสามารถสลัดความผูกพันที่มีต่อลูกได้โดยง่าย ดังนั้น การอนุโมทนาแห่งพระนางมัทรีจึงเป็นการเน้นย้ำได้ว่า การกระทำของพระเวสสันดรส่งผลต่อการบรรเทาอกุศลธรรม และยังกุศลธรรมให้เกิดอย่างแน่นอน ความที่พระองค์กรรแสง จึงไม่ใช่เหตุที่จะถือเป็นประเด็นหลักว่าพระองค์ทรงเสียพระทัยในการกระทำที่ผิดพลาดของพระองค์หรือไม่ แต่เมื่อมุ่งถึงสัมโพธิญาณเป็นที่ตั้ง และการให้ทานดังกล่าวก็ดำเนินไปสู่เป้าหมายคือสัมโพธิญาณอันเป็นความดีสูงสุด การกระทำใด ๆ ที่นำไปสู่ความสำเร็จดังกล่าว ย่อมดีโดยสภาวะ และถ้าหากนำห่างจากเป้าหมายสูงสุดจึงจะกล่าวได้ว่า การกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ดี
เมื่อกล่าวโดยเกณฑ์หลักที่สอง กล่าวคือสภาวธรรมที่ส่งผลต่อจิตใจจากการให้ทานของพระเวสสันดร ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว นอกเสียจากมีหลักฐานปรากฏว่า พระสมณโคดมผู้ศากยบุตร ไม่ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณอันเป็นเป้าหมายสูงสุดที่พระองค์ตั้งไว้ การวินิจฉัยว่า การให้ทานของพระเวสสันดรในครั้งนี้เป็นการกระทำที่ผิดจึงอาจจะมีนัยให้พิจารณากันต่อไป
            อีกประการหนึ่ง วิธีการที่พระองค์กระทำ โดยการให้ลูก และภรรยาแก่ผู้อื่นนั้น เป็นวิธีการที่ดี ที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้ากล่าวโดยสิทธิอันชอบธรรม ลูกและภรรยาย่อมมีสิทธิในชีวิตของตนในความเป็นมนุษย์เสมอกัน และในการให้ลูกและภรรยาของพระองค์นั้น ทรงขออนุญาตและกล่าวถึงเหตุผลของการกระทำของพระองค์ให้ลูกทั้งสองและภรรยาฟัง จนเป็นที่เข้าใจ และยอมรับในการกระทำของพระองค์ จึงไม่อาจจะกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงกระทำโดยพลการและไม่ได้รับความยินยอม เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังที่เข้าใจกัน โดยเกณฑ์รองข้อนี้ การให้ทานลูกและภรรยาเพื่อการได้มาซึ่งสัมโพธิญาณ จึงเป็นการกระทำที่ดี ควรกระทำ
            ซึ่งประเด็นปัญหานี้พระเจ้ามิลินท์ก็ได้ถามพระนาคเสนเถระ ว่าเป็นการให้ทานที่ทำให้คนอื่นลำบาก จะเป็นการสมควรละหรือ
พระนาคเสนเถระวินิจฉัยว่า พระเวสสันดรโพธิสัตว์ทรงกระทำกรรมซึ่งยากที่ผู้อื่นจะทำได้ การให้ทานของพระองค์มีผลเที่ยงแท้กิตติศัพท์ของพระองค์ย่อมฟุ้งขจรตลอดไตรภพ ย่อมระบือลือเลื่องมาโดยลำดับ ตราบเท่าจนทุกวันนี้ อันแสดงให้เห็นว่าพระองค์กระทำถูกต้องน่าสรรเสริญ
นอกจากนี้พระนาคเสนเถระย้อนถามว่าหากมีสมณพราหมณ์ผู้มีศีลมีจิตเป็นกุศลแต่ขาพิการจะเดินไปไหนก็ไม่ได้ มีบุรุษผู้ปรารถนาบุญกุศลยกเอาสมณพราหมณ์นั้นขึ้นสู่ยาน นำไปส่งให้ถึงสถานอันสุขสบาย ตามที่สมณพราหมณ์ต้องการ บุรุษนั้นจะได้กุศลผลบุญที่เป็นความสุขและจะได้ไปบังเกิดในสุคติภพหรือไม่
พระเจ้ามิลินท์ ตรัสตอบทันทีว่า ต้องได้แน่นอนทั้งสมบัติที่เป็นของมนุษย์และสมบัติที่เป็นทิพย์ไม่ว่าเขาจะไปทางไหนย่อมได้รับความสะดวกสบาย ไม่มีปัญหาในเรื่องพาหนะสำหรับเดินทาง ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า 
พระนาคเสนได้จังหวะดีจึงถวายพระพรว่าเช่นเดียวกันนั้นแหละมหาบพิตร พระเวสสันดรโพธิสัตว์นั้น ถึงจะให้สองพระโอรสได้รับทุกข์ ด้วยพราหมณ์ทำเข็ญผูกรัดด้วยเถาวัลย์ ก็จะได้เสวยวิบากผลเป็นสุข เหมือนบุรุษที่ส่งสมณพราหมณ์ผู้อาพาธนั้น  
            เมื่อพิจารณาถึงผลของการกระทำ การกระทำดั่งกล่าวมีผลคือการบรรลุสัมโพธิญาณอันเป็นประโยชน์แก่คนเป็นอันมาก ผลในที่นี้จึงทำให้การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ควรกระทำ
            วิธีการดังกล่าวทำให้สังคมยอมรับได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาดูว่า ผู้ที่ยอมรับหรือไม่ยอมรับนั้นเป็นบัณฑิตหรือพาลชน และใช้เกณฑ์อะไรสำหรับตัดสิน มีอยู่ไม่น้อยที่ใช้อารมณ์และความรู้สึกส่วนตนเป็นเครื่องตัดสินการกระทำ เช่น เพราะรักจึงเห็นว่าเป็นการไม่สมควร แต่พระพุทธองค์ใช้เกณฑ์คือเจตนาที่ตั้งใจจะบำเพ็ญเพียร บำเพ็ญปรมัตถบารมีเพื่อการบรรลุสัมโพธิญาณเพื่อช่วยเหลือคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็คือผลที่จะเกิดแก่สังคม อันเป็นประโยชน์ของมหาชนในภายหน้าเป็นเกณฑ์หลักในการตัดสิน ถึงแม้วิธีการจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปมักจะกล่าวว่าเป็นการไม่สมควรก็ตาม 
            การใช้เกณฑ์ในการตัดสินนั้น จึงอยู่ที่ว่า เกณฑ์ตัดสินที่ดีนั้น ต้องมีแนวโน้มไปสู่ความจริงสูงสุด และเข้าไปใกล้ต่อจุดมุ่งหมายสูงสุดอันเป็นอันติมสัจจะซึ่งในทางพระพุทธศาสนาหมายถึงพระนิพพานนั่นเอง ซึ่งในกรณีของพระพุทธเจ้าคือการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ และนอกจากนั้น เกณฑ์ที่ยังต้องนำไปสู่สิ่งสูงสุดอันเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น แต่ถ้าหากเกณฑ์ดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะขัดขวาง หรือออกห่างจากความจริงสูงสุดและนำไปเพื่อประโยชน์ในฐานะที่เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่อาจจะนำไปสู่สิ่งสูงสุดได้ เกณฑ์ดังกล่าวนั้นก็ไม่ใช่เกณฑ์ที่ดี
            ถ้าเอาเกณฑ์หลักมาตัดสิน ก็ต้องตั้งคำถามว่า พระเวสสันดรกระทำไปเพราะความอยากได้ลาภ อยากได้ยศ อยากได้สุข หรืออยากได้สรรเสริญหรือก็ไม่ใช่ พระองค์กระทำไปเพราะประสงค์จะประทุษร้ายบุตรธิดาของตนหรือไม่ใช่ หรือว่าพระองค์กระทำไปเพราะความหลงหรือ ก็ไม่ใช่เมื่อพระองค์กระทำลงไปแล้ว สภาพจิตของพระองค์เสื่อมลงหรือไม่ ก็ไม่มี แม้ตอนแรกพระองค์จะโกรธที่เห็นชูชกตีบุตรต่อหน้า แต่ด้วยความฉลาด (กุศล) พระองค์ก็ระงับความโกรธด้วยสติทันที มีแต่ความเบิกบานใจ ความยินดีที่ได้กระทำปุตตทาน
          การให้หลักเกณฑ์แรกตัดสินการกระทำของพระเวสสันดร จึงมีความชอบธรรม
            ส่วนหลักตัดสินในประเด็นที่สอง พระเวสสันดรมีมโนธรรม คือความรับผิดชอบชั่วดีในการกระทำนั้นหรือไม่ พระองค์กระทำไปด้วยความรู้ว่า เป็นสิ่งที่ดีเลิศ เพราะจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่สรรพสัตว์ และพระองค์เองหรือนักปราชญ์ก็ไม่ได้ติเตียนการกระทำนั้น จะติเตียนพระองค์ก็มีแต่เฉพาะนักคิดประดิษฐ์วาทะเพื่อลวงโลก
            กรณีที่กล่าวว่า ไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเด็กหรือ ถ้าจะดูที่จารีต หรือประเพณีก็เป็นหลักปฏิบัติของผู้ที่เป็นพระโพธิสัตว์ทั้งหลายที่จะต้องกระทำเช่นนี้ และที่บุตรธิดาคร่ำครวญนั้น ก็เพราะความที่ยังเป็นเด็กอยู่ หากบุตรธิดารู้ความและทราบประโยชน์ที่พระบิดากระทำลงไปนั้น ก็จะมีความยินดี และจะไม่รำพันบ่นเพ้อเลย
๓.๔ ทัศนะเกี่ยวกับการให้ทานของพระเวสสันดรของนักปราชญ์ไทย
            การให้ทานของพระเวสสันดรนี้นับเป็นทานที่นักปราชญ์พุทธศาสนาให้ความสนใจ เพราะถือว่าการให้ทานนี้เป็นแบบอย่างที่พระโพธิสัตว์ทำสืบต่อกันมา และเกี่ยวข้องกับจริยธรรม เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวพุทธโดยตรง ดังนั้นจึงได้รวบรวมทัศนะของนักปราชญ์ฝ่ายพุทธมารวมไว้เพื่อเป็นพิจารณาเป็นแนวศึกษาวิเคราะห์ร่วมกัน ดังนี้
            ๑. สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ วิทยานิพนธ์เรื่อง ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท โดยในการศึกษาวิเคราะห์การให้ทานอันเป็นทานบารมีของพระเวสสันดรในจริยาปิฎก ทรงมีพระราชวินิจฉัยดังนี้
การที่พระเวสสันดรพระราชทานกัณหา ชาลีและพระนางมัทรีแก่ผู้มาขอ ก็ดูเป็นการเห็นแก่ตัวที่ตัดสินยกชีวิตของผู้อื่นให้แก่ผู้รับที่ไม่เหมาะสม เพื่อตนเองจะได้บรรลุพระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต อย่างไรก็ตาม เราสามารถพิจารณาเรื่องในนี้ในทัศนคติของบุคคลในสมัยหลังพุทธกาล ซึ่งยึดถืออุดมคติของวิถีชีวิตชั้นสูง การบรรลุพระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้านั้น เป็นภาวะที่มีค่าสูงสุดที่มนุษย์จะพึงได้ ภาวะนี้จักนำประโยชน์อันยิ่งใหญ่มาสู่สรรพสัตว์ เหมือนกับเช่นการสละราชสมบัติของเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วเสด็จออกบรรพชาจนได้ตรัสรู้ ได้นำประโยชน์ยิ่งใหญ่มาสู่มนุษยโลก นับประมาณมิได้ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ถ้าพระพุทธองค์ทรงเลือกราชสมบัติ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน พระบิดามารดา พระโอรส และพระมเหสี โลกก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนา[๔๐]
๒. จำนงค์ ทองประเสริฐ กล่าวถึงประเด็นการให้ทานของพระเวสสันดรว่าเป็นการละเมิดหรือทำลายสิทธิมนุษยชนและเป็นอัตนิยมหรือไม่ ในการบรรยายเกี่ยวกับปรัชญาทางพุทธศาสนาว่า
พระเวสสันดรก่อนที่จะยกลูกให้ก็เกลี้ยกล่อมลูกเสียก่อน อ้างเหตุผลให้ลูกเห็นว่าพ่อให้ไปนี้ไม่ใช่พ่อเกลียด ให้ไปทั้งๆ ที่พ่อรัก แต่ว่าสิ่งที่พ่อรักมากกว่านั้นก็คือการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ต้องการที่จะช่วยชาวโลกให้พ้นทุกข์ แม้ชีวิตของพระองค์ก็ยังยอมเสียสละได้ แล้วทำไมลูกพระองค์จึงจะเสียสละไม่ได้ แล้วก็บอกว่า ลูกนี้เหมือนกับสำเภาทองที่จะทำให้พ่อนี้ข้ามพ้นจากห้วงสังสารวัฏ ถาหากว่าพ่อจะข้ามทะเลมหาสมุทร ถ้าพ่อไม่มีพาหนะ มีเรือ พ่อจะข้ามไปได้อย่างไร และพาหนะคือเรือก็จะนำไปสู่ฝั่งแห่งอมตมหานิพพานนั้นก็คือลูกเท่านั้น ลูกนี้เหมือนกับสำเภาทองที่จะทำให้พ่อไปถึงฝั่งอมตมหานิพพาน ถ้าขาดลูกเสียแล้ว พ่อไปไม่ถึงหรอก นี่พ่อชี้ให้เห็นว่าลูกมีความสำคัญต่อพระโพธิญาณเพียงใด ชี้ให้เห็นว่าลูกนี้มีความสำคัญต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีมา ลูกนี้เป็นลูกที่รักของพ่อ จนกระทั่งกัณหา-ชาลีมองเห็นซึ้งเหมือนกันว่า ที่พ่อให้ไปนี้ไม่ใช่เพราะพ่อเกลียด
พระนางมัทรีมีสติฟื้นขึ้นมาแล้ว จึงได้เจรจากันด้วยเหตุผลให้เข้าใจ ซึ่งพระเวสสันดรก็ชี้แจงให้ฟัง พระนางมัทรีก็ไม่ขัดข้องอะไร และพลอยทรงเห็นว่าพระเวสสันดรทำนั้นถูกต้องแล้ว
            กรณีการยกพระนางพระนางมัทรีให้เป็นทานเป็นการไม่เคารพในสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีการวินิจฉัยดังนี้
ความจริง พระนางมัทรีเป็นชายาของพระเวสสันดรหรือว่าเป็นภริยาของพระเวสสันดร ตามหลักของศาสนาพราหมณ์หรือคติของอินเดียนั้น เขาถือว่า สตรีนี้เป็นทรัพย์สมบัติอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถที่จะปกครองตัวเองได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเราเป็นของอะไร เราต้องการให้อะไรแก่ใคร เราก็ให้ได้ นี่ว่าโดยสิทธิ
การที่พระเวสสันดรยกพระนางมัทรีให้แก่พราหมณ์นั้น พระองค์ก็ขออนุญาตความเห็นชอบจากพระนางมัทรีเสียก่อน เพื่อเห็นแก่การบำเพ็ญบารมี พระนางมัทรีก็ยอม[๔๑]
            มองในแง่สิทธิมนุษยชน พระเวสสันดรก็ไม่ได้บังคับขู่เข็ญ พระองค์ทรงขอความเห็นชอบจากพระนางมัทรีเสียก่อนแล้วจึงได้ยกให้ แต่ว่าโดยความเชื่อ พระเวสสันดรก็มีสิทธิที่จะให้ลูกให้เมียแก่ใครก็ได้ แต่ถ้ามองในแง่ของปรัชญาแล้วก็ชี้ให้เห็นว่าพระเวสสันดรเป็นผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์แก่คนหมู่มากมากกว่าประโยชน์ส่วนตน[๔๒] ตามคตินิยมในการบำเพ็ญทานบารมีของพระโพธิสัตว์
การวินิจฉัยด้วยเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา เป็นการกระทำตามกรอบแห่งเกณฑ์วินิจฉัยคุณค่าการกระทำตามหลักพุทธจริยศาสตร์ ไม่ได้พิจารณาโดยกรอบแห่งสิทธิมนุษยชนตามกฎเกณฑ์ที่สังคมโลกบัญญัติขึ้น แท้จริง การกล่าวถึงเจตน์จำนง วิธีการ ผลและเป้าหมายของการกระทำระหว่างปัจเจกบุคคลและสังคมโดยรวมนั้น พระพุทธศาสนาไม่ได้ละเลยที่จะนำมาเป็นประเด็นในการพิจารณา ดังจะเห็นได้จากเกณฑ์หลักและเกณฑ์รองซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่อาศัยเจตน์จำนงร่วมของสังคมเป็นเกณฑ์ตัดสิน
เมื่อกล่าวโดยกรอบของพระพุทธศาสนา การกระทำที่ดีคือการกระทำที่เป็นวิถีทางไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพาน และการกระทำที่ไม่ดี คือการกระทำที่ขัดขวางต่อการบรรลุเป้าหมายสูงสุดดังกล่าว การให้ทานของพระเวสสันดร เป็นสิ่งที่ดี นั่นเพราะการให้ทานนั้น นำไปสู่ความดีสูงสุดกล่าวคือสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อการกระทำที่ดี ที่ถูกคือการกระทำที่เป็นวิธีการ แนวทาง หรือวิถีทางไปสู่เป้าหมายสูงสุด และการให้ทานของพระเวสสันดรนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดดังกล่าวได้จริง ดังนั้น การให้ทานของพระเวสสันดรจึงถูก
วิธีการที่ทรงกระทำก็คือการเสียสละสรรพสิ่งที่เป็นเหตุแห่งความยึดติด มีความโลภเป็นต้นสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุแห่งการก่อภาวะความมีตัวตนและการเข้าไปยึดติดในสภาวะเหล่านี้เป็นสิ่งขัดขวางต่อการเข้าถึงพระนิพพาน ภาวะดังกล่าวนี้ในพระพุทธศาสนาเรียกว่า อัตตวาทุปาทาน การเข้าถึงพระนิพพานหรือสัมมาสัมโพธิญาณอันเป็นปรมัตถธรรม จำเป็นต้องบรรเทาและกำจัดอัตตวาทุปาทานอันเป็นสิ่งขัดขวางเหล่านี้ให้ได้ โดยวิธีการใด ๆ ก็ตาม
เมื่อว่าโดยธรรมชาติมนุษย์ ความรัก ความห่วงแหน และความเป็นเจ้าของมักจะมีมาก เมื่อเห็นว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีคุณค่าต่อตนเองมากและนั่นเป็นเหตุแห่งการยึดติด ยึดมั่นมากขึ้น และความทุกข์ย่อมเกิดเพราะเหตุแห่งความรัก โดยนัยนี้ พระพุทธศาสนาดูเหมือนมองโลกและชีวิตในแง่ร้ายทุกสิ่งไป แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ตนเองไม่เคยต้องทุกข์เพราะไม่อาจทำอะไรได้อย่างที่ใจหวัง หรือไม่ได้อย่างที่หวังไว้ว่าคนอื่นจะทำตามที่เราต้องการ พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธหรือกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลว่าเป็นสิ่งที่ชั่วช้า เลวทราม ตรงกันข้าม พระพุทธศาสนาสอนเรื่องความเป็นผู้ซื่อตรง ซื่อสัตย์และความรักต่อภริยา สามีและบุตรธิดาไว้โดยละเอียด แต่การกระทำเหล่านั้นเป็นเรื่องของโลกียวิสัยเป็นเหตุแห่งทุกข์ ถึงแม้จะมีความสุขบ้างนั่นเพราะมีเหตุที่กระทำให้เกิดผลเช่นนั้น การที่สามีทุบตีภรรยา การที่ภรรยาหึงหวงสามีจบลงด้วยการทำลายชีวิตหรือ การหย่าร้าง ครอบครัวแตกแยกสร้างปัญหาให้สังคม เหล่านี้ล้วนเกิดจากการไม่สามารถประคับประคองเหตุแห่งความสุขให้อยู่ตลอดไปได้ ความเบื่อหน่าย ความไม่อิ่มเต็มในกามคุณ และการยึดถือตนเองเป็นใหญ่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาเมื่อความรัก ความสิเน่หา และความพึงพอใจที่มีต่อกันสิ้นสุดลง การที่สามีทุบตีภริยาด้วยแรงโทสะ หรือภริยาหึงหวงสามีด้วยแรงแห่งความปรารถนาครอบครองเป็นธรรมชาติของมนุษย์ การแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดจากอกุศลธรรมและจบลงด้วยผลแห่งอกุศลกรรมที่ได้ก่อขึ้นคือความยุ่งยาก สับสน วุ่นวาย ความรักและการหวงแหนโดยความเป็นตัวตนจึงนำไปสู่เป้าหมายต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อกล่าวถึงการให้ทานของพระเวสสันดร การวินิจฉัยโดยความเป็นตัวตนจึงถูกโยงให้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น การวินิจฉัยว่า การให้ทานตามแบบของพระเวสสันดรเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และไม่ควรทำจึงดูไม่ขัดกับบริบทของสังคมในปัจจุบันโดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน
การกล่าวถึงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ตามกรอบของสังคมโลกไม่ได้อยู่ในขอบเขตของการวิจัยในครั้งนี้ ดังนั้น กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับสิทธิ และเสรีภาพส่วนบุคคลจึงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาร่วมกับเกณฑ์ตัดสินคุณค่าที่ได้กระทำมาแล้ว แต่การละเลยที่จะกล่าวถึงสิทธิมนุษยชนในกรอบแห่งพระพุทธศาสนาไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือการเข้าถึงพระนิพพาน ดังนั้น บทบัญญัติต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาจึงต้องเอื้อต้องการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดดังกล่าว ทั้งเรื่องสิทธิ เสรีภาพในการพัฒนาตนเองของปัจเจกชนก็อยู่ในส่วนหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่ไม่ควรจะละเลย และเป็นที่แน่นอนว่า ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนจะต้องเป็นไปตามระบบพุทธจริยศาสตร์นั่นคือมุ่งไปสู่เป้าหมายสูงสุด และนั่นหมายถึง ต้องยอมรับได้ว่า การกระทำใด ๆ ที่พระพุทธศาสนามีทัศนะว่าดี ในประเด็นของสิทธิมนุษยชนเมื่อพิจารณาและวินิจฉัยถึงที่สุดแล้วต้องยอมรับได้เช่นเดียวกัน
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวถึงสิทธิและเสรีภาพในมุมมองของพระพุทธศาสนาไว้ว่า “ตามหลักพุทธศาสนา คนทุกคนเท่าเทียมกันในข้อที่ว่า คนทั้งปวงตกอยู่ในอำนาจกฎธรรมชาติเดียวกัน ทุกคนต้องเกิด แก่ เจ็บตาย ทุกคนต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ทุกคนต้องได้รับผลกรรมที่ตนหว่านพืชไว้ และโลกย่อมหมุนไปตามกรรมที่    ทุก ๆ คนได้ช่วยกันก่อขึ้น
ส่วนเสน่ห์ จามริก ให้แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในกรอบของพระพุทธศาสนา โดยลักษณะพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพในชีวิตเบื้องต้น โดยสรุป ดังนี้
พระพุทธศาสนาถือว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับภาวะผันผวนทางกายภาพจากการเกิดขึ้นของชีวิต พุทธศาสนามองเห็นสองด้านคือ ด้านบุคคลและด้านสังคมซึ่งมีส่วนพัวพันกันอยู่เป็นประจำในกระบวนการกลับกลายและการเปลี่ยนแปลง และมองไปที่คนเหนือสิ่งอื่นใดที่จะเป็นผู้ให้คำตอบที่แท้จริง และในบั้นปลายแก่ปัญหาทั้งหลาย นั่นคือ การหลุดพ้นและเสรีภาพที่แท้คือ การหลุดพ้นและเสรีภาพที่มาจากภายในของคนและในความสัมพันธ์ต่อเพื่อนมนุษย์ของตนนั่นเอง
            พระพุทธศาสนากล่าวถึงมนุษย์ในฐานะที่เป็นเวไนยสัตว์ นั่นคือผู้ที่สามารถจะแนะนำไปสู่เสรีภาพและความหลุดพ้นได้โดยตนเอง และตถาคตเป็นเพียงผู้บอกเท่านั้น ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความมีอิสรภาพ และความสุขอย่างสมบูรณ์แบบ ตามหลักพระพุทธศาสนา และความมีอิสรภาพในการพัฒนาตนเองและการช่วยเอื้อโอกาสในการพัฒนาตนเองนั่นเอง เป็นรากฐานของพุทธจริยธรรม [๔๓]
          วิธีการปฏิบัติในการพัฒนาตนเองไปสู่ความมีอิสรภาพ และความสุขอย่างสมบูรณ์แบบก็คือการกระทำใด ๆ ที่เกิดจากกุศลเจตนากล่าวคือ ไม่ประกอบด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง อันจะเป็นการหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและทำให้ผู้อื่นสูญเสียประโยชน์และสิทธิเสรีภาพที่ควรจะพึงมี พึงได้ การกระทำดังกล่าวจึงจะเรียกได้ว่าเป็นการกระทำที่ดีและเป็นการพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ดี ความเป็นไปเหล่านี้ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวว่า เป็นกฎแห่งธรรม นั่นคือข้อกำหนดของจริธรรมที่เกิดจากกฎแห่งธรรม[๔๔] ซึ่งผลที่ได้นี้ไม่ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์หรือบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นผู้หยิบยื่นให้ แต่ผลที่จะพึงได้รับจะเป็นไปตามกระบวนธรรม กล่าวคือเมื่อการกระทำของตนเป็นไปโดยชอบธรรมกล่าวคือมีเจตนาที่ดี เป็นกุศล การกระทำของผู้นั้นย่อมไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ผู้ที่พัฒนาตนเองตามกฎแห่งธรรมย่อมจะเข้าถึงความเป็นผู้มีอิสรภาพ เสรีภาพและความสุขแบบสมบูรณ์ได้โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น
พระพุทธศาสนาจึงมองมนุษย์ในลักษณะที่เป็นการมองจากภายใน ไม่ใช่พฤติกรรมหรือสิ่งที่เห็นได้จากการกระทำในภายนอก ชีวิตของมนุษย์จึงเป็นไปตามเหตุปัจจัยตามสัจธรรม มนุษย์มีสิทธิและเสรีภาพอย่างเสมอภาคในการเข้าถึงจุดหมายแห่งตนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น บุคคลในทัศนะของพระพุทธศาสนา จึงไม่เป็นเพียงมรรควิธีหรือเครื่องมือของใคร แต่มนุษย์มีความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีและสิทธิที่จะบรรลุถึงการหลุดพ้นหรือเสรีภาพ [๔๕]
ส่วนลักษณะที่บุคคลต้องมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนั้น พระพุทธศาสนาเน้นความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนากลไกควบคุมภายใน ความสามารถในการควบคุมภายตนเองเป็นเงื่อนปัจจัยสำคัญยิ่งยวดต่อการที่จะคิดค้นสร้างกลไกภายนอกและสถาบันอันอาจจำเป็นต้องมีขึ้น เสรีภาพจึงไม่ใช่เป็นเพียงสิ่ง ๆ หนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นกระบวนการชีวิตแบบรับรู้ซึ่งช่วยขยายขอบเขตความคิดและจิตใจของบุคคลให้กว้างขวางยิ่งขึ้นอยู่เสมอ [๔๖]
ตามหลักสิทธิมนุษยชนในกรอบแห่งพระพุทธศาสนา ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นผู้มีอิสรภาพและความสุขอย่างสมบูรณ์แบบอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่ามนุษย์ทุกคนที่เกิดมาจะไม่มีความเป็นเสรีและความสมบูรณ์ในฐานะหรือสรรพสิ่งอื่น ๆ อย่างเท่าเทียมกันโดยปริมาณ แต่ในความเป็นมนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพโดยตนเองและมีสิทธิที่จะพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายสูงสุดตามกฎแห่งธรรม เมื่อกล่าวในระดับสังคมก็คือความเป็นผู้มีอิสรภาพและความสุขที่ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น นั่นคือไม่เป็นการขัดขวางการเข้าถึงจุดหมายในการพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล สิ่งที่กำหนดเงื่อนไขก็คือกฎแห่งธรรมอันมีความเป็นจริงและเป็นอยู่เองโดยสภาวะไม่มีผู้ให้และไม่มีผู้รับ และเมื่อบุคคลถือกฎเดียวกันก็จะไม่มีผู้ใดต้องสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงจุดหมายปลายทางที่สมบูรณ์แบบ
นี้คือ แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในกรอบของพระพุทธศาสนาซึ่งโดยหลักการทั่วไป การพัฒนาใด ๆ ย่อมนำไปสู่ความเป็นอิสรภาพและความสุขที่สมบูรณ์แบบอันเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อกล่าวในกรอบของพระพุทธศาสนา ในเชิงจริยศาสตร์ การกระทำ   ใด ๆ ที่กล่าวว่าดี คือการกระทำที่นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดอันเป็นบรมสุข ส่วนการกระทำที่ไม่ดี คือการกระทำที่นำห่างไปจากเป้าหมายสูงสุด และการให้ของพระเวสสันดรนำไปสู่เป้าหมายคือการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณอันเป็นเป้าหมายสูงสุด ดังนั้น การกระทำของพระเวสสันดรจึงกล่าวได้ว่าเป็นการกระทำที่ดีตามหลักพุทธจริยศาสตร์ ส่วนการกระทำดังกล่าวจะดีหรือไม่ในกรอบแห่งสิทธิมนุษยชนตามแนวคิดของสังคมโลกและสังคมไทยปัจจุบัน ไม่อยู่ในแนววินิจฉัยในงานวิจัยครั้ง ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของผู้รู้ที่จะพึงกระทำด้วยความแยบคายต่อไป
อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรละเลยคือ เกณฑ์ตัดสินคุณค่าเชิงจริยธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว เป็นจริงโดยสภาวะตามธรรมนิยาม และการพัฒนาตนเองตามหลักศีลธรรม เป็นไปตามหลักกรรมนิยามและจิตนิยาม ความดีและชั่วในพระพุทธศาสนา เป็นจริงโดยธรรม เหนือบทบัญญัติของสังคม เกณฑ์ตัดสินที่ดีต้องนำไปสู่ความดีสูงสุด ดังนั้น การกระทำใด ๆ ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงข้อนี้ กล่าวได้ว่าการกระทำนั้นดี และตรงข้ามกับการกระทำนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี การที่พระเวสสันดรบริจาคลูกและภริยาให้เป็นทานนั้น ถูกเพราะสอดคล้องกับความดีโดยธรรม ไม่ใช่เพราะใครเป็นผู้กระทำ ดังนั้น จึงควรคำนึงว่า ไม่ว่าคัมภีร์จะถูกแต่งขึ้นภายหลังในบริบทของสังคมใด ๆ ก็ตาม คัมภีร์นั้น อาจจะถือเอาแนวคิดของคนในสังคมเป็นเกณฑ์ร่วมในการให้คุณค่าทางจริยะร่วมด้วย แต่โดยหลักการที่แท้จริง ความดีสูงสุดย่อมไม่ถูกลบล้างโดยความเห็นและการกระทำของปัจเจกบุคคลที่ยังยึดถือในภาวะแห่งตัวตน (อัตตวาทุปาทาน) และสังคมที่ใช้ผลประโยชน์เป็นเครื่องต่อรองและวัดคุณค่าของสรรพสิ่ง
ส่วนที่ ๔ บทสรุป           จากการศึกษาวิเคราะห์ที่กล่าวมาสรุปได้ดังนี้
การให้ทานของพระเวสสันดรดังกล่าว เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ไม่ว่าจะโดยใช้เกณฑ์หลักคือเจตนาหรือความเป็นเหตุเป็นผลของสภาวธรรม และเกณฑ์รองกล่าวคือมโนธรรม การยอมรับของคนผู้เป็นบัณฑิต และผลที่ได้อันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม วิธีการและเป้าหมายในการกระทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นวิธีการที่ดีเพราะนำไปสู่ความจริงสูงสุดหรืออันติมสัจจะกล่าวคือการเข้าถึงสัมโพธิญาณ เข้าถึงพระนิพพานอันเป็นบรมสุข เป็นที่สุดแห่งทุกข์ ตามหลักพุทธจริยศาสตร์
            พระเวสสันดรกระทำทานก็หวังผลเช่นกันแต่เป็นผลประโยชน์แก่ประชาราษฎรของพระองค์ และมิตรประเทศ หวังที่จะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความเดือดร้อน และ ที่ต้องกระทำนั้นยังเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้นำที่มีจิตประกอบด้วยเมตตาธรรม ถ้าผู้นำขาดคุณธรรม (ทาน) เสียแล้ว มวลประชาราษฎร์และประเทศชาติคงไปไม่รอดอย่างแน่นอน บางครั้งพระองค์กระทำทานจนตัวเองได้รับความเดือดร้อน เพราะมีคนอีกจำนวนหนึ่งยอมรับไม่ได้ 
            เหตุผลต่าง ๆ ในการบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ตามที่กล่าวมาแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า การมอบลูกและภรรยาให้แก่ผู้อื่นของพระเวสสันดร เป็นคติแห่งการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ เพื่อการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันเป็นอุดมคติสูงสุดของชีวิตและการให้ทานดังกล่าวนี้ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติเฉพาะของผู้บำเพ็ญเพียรเพื่อเข้าถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ธรรมเนียมดังกล่าวนี้ ถึงแม้จะเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดสิทธิมนุษยชนหรือเป็นการเห็นแก่ตัว แต่เมื่อพิจารณาในบริบทของพระโพธิสัตว์ การกระทำดังกล่าวจัดว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง และควรแก่การกระทำ
 
ส่วนที่ ๕ หนังสืออ้างอิง
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ. กรุงเทพมหานคร
 : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๐๐.
________. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : 
             โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
________. อรรถกถาภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาฯ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ
ราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
________. มิลินฺทปญฺหปกรณํ. ฉบับมหาจุฬาฯ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์วิญญาณ. ๒๕๔๐.
________. มิลินฺทปญฺหอฏฐกถา. ฉบับมหาจุฬาฯ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์วิญญาณ. ๒๕๔๑.
________. มิลินฺทปญฺหฏีกา. ฉบับมหาจุฬาฯ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์วิญญาณ. ๒๕๔๑.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. ธมฺมปทฏฺฐกถา ปญฺจโม ภาโค. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฎราช
วิทยาลัย. ๒๕๓๑.
คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย. มังคลัตถทีปนี แปล เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๑๗.
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔
_________. มังคลัตถทีปนี แปล เล่ม ๓. พิมพ์ครั้งที่ ๑๗. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฎ
ราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔
_________. มงฺคลตฺถทีปนี ปฐโม -ทุติโย ภาโค. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฎ
ราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔.
_________. มงฺคลตฺถทีปนี. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย. ๒๕๓๔
กันต์ วฑฺมนวํโส (มโนวัฒนันท์), พระมหา. “การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องเกณฑ์
ตัดสินทางจริยธรรมในจริยศาสตร์ของค้านท์กับในพุทธจริยศาสตร์ตามทรรศนะของพระ
เทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)”. วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาปรัชญา
บัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
กีรติ บุญเจือ. จริยศาสตร์สำหรับผู้เริ่มเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ ๔). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ไทย
วัฒนาพานิช, ๒๕๓๔.
จำนงค์ ทองประเสริฐ. ปรัชญาประยุกต์ ชุดอินเดีย. กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ แกรมมี จำกัด, ๒๕๓๙.
จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์. พื้นฐานทางจริยธรรมของพระพุทธศาสนา. ใน รวบรวมบทความทางวิชาการ พระพุทธศาสนาและปรัชญา (หน้า ๔๑-๕๐). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ
ราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
ชยติลเลเก,เค.เอ็น. จริยศาสตร์แนวพุทธ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. สุเชาวน์ พลอยชุม, ผู้เรียบเรียง. 
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๓๗.
ชัชชัย คุ้มทวีพร,ผศ. จริยศาสตร์: ทฤษฎีและการวิเคราะห์ปัญหาจริยธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๒.
กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เจนเดอร์เพรส. ๒๕๔๑.
เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท. พระราช
วิทยานิพนธ์ ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต, ภาควิชา ภาษาตะวันออก
บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๔.
เทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พระ.  พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์.
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๓๕
_________. เทคโนโลยีกับศาสนาและเกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม.
กรุงเทพมหานคร: หจก. ภาพพิมพ์. ๒๕๓๔.
_________. พระพุทธศาสนากับสังคมไทย. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เรือน
แก้วการพิมพ์. ๒๕๓๒.
ธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) ,พระ. ไตรภูมิพระร่วง อิทธิพลต่อสังคมไทย. (พิมพ์ครั้งที่ ๕).
กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ มูลนิธิโกมลคีมทอง. ๒๕๔๓.
_________. เพื่อชุมชนแห่งการศึกษาและบรรยากาศแห่งวิชาการ. กรุงเทพมหานคร: บริษัท
 สหธรรมิก จำกัด. ๒๕๔๓
_________. พุทธธรรม. ฉบับปรับปรุงและขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ ๘. กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๔๒.
_________. พระพุทธศาสนา พัฒนาคนและสังคม. กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น
กรมการปกครอง. ๒๕๔๐.
ธูปทอง กว้างสวาสดิ์. “การศึกษาเชิงวิจารณ์หลักมหสุขของ จอห์น สจ๊วตมิลล์”. วิทยานิพนธ์
ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, ภาควิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย
เชียงใหม่. ๒๕๓๑
นัยนา เกิดวิชัย. “ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดเรื่องบุญกับนิพพานในพุทธปรัชญา
เถรวาท”. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต, ภาควิชาปรัชญา
บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ๒๕๓๙.
เนื่องน้อย บุณยเนตร. จริยศาสตร์ตะวันตก: ค้านท์ มิลล์ ฮอบส์ รอลส์ ชาร์ทร์. กรุงเทพมหานคร:
 สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
บุญทัน อานนฺโท, พระมหา. “การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องเวสสันดรชาดก ศึกษาเฉพาะทานบารมี”.
วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย 
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๔๐.
ปรีชา ช้างขวัญยืน. “การศึกษาจริยศาสตร์สังคมในพุทธศาสนาในเชิงวิจารณ์”. วิทยานิพนธ์
ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต, แผนกวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย
จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. ๒๕๒๐.
พุทธทาสภิกขุ. บำเพ็ญบารมี. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ธรรมสภา. ๒๕๔๓.
ไพฑูรย์ อุทัยคาม, พระมหา. “การศึกษาแนวคิดเรื่องทานตามหลักพุทธจริยศาสตร์กับความเข้าใจเรื่อง
ทานของชาวไทยพุทธ: ศึกษาเฉพาะกรณีในกรุงเทพมหานคร.” วิทยานิพนธ์ปริญญา
อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
๒๕๔๔.
ไพรัชน์ เขียนวงศ์. พุทธจริยศาสตร์เถรวาทเป็นอัตนิยมหรือไม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษร
ศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. ๒๕๓๙.
ไพลิน เตชะวิวัฒนาการ. “การศึกษาเปรียบเทียบเกณฑ์ตัดสินความดีในพุทธปรัชญาเถรวาทกับใน
ปรัชญาของคานท์”. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต, ภาควิชาปรัชญา
บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. ๒๕๓๓.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕. (พิมพ์ครั้งที่ ๖).
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์. ๒๕๓๙.
วิทย์ วิศทเวทย์. จริยศาสตร์เบื้องต้น. (พิมพ์ครั้งที่ ๘). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์
อักษรเจริญทัศน์. ๒๕๒๖.
สง่า ไชยวงศ์, พระมหา. “การศึกษาวิเคราะห์เรื่องทานในพระพุทธศาสนา”. วิทยานิพนธ์
ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย
เชียงใหม่. ๒๕๔๑.
สมภาร พรมทา. พุทธศาสนากับปัญหาจริยศาสตร์ โสเภณี ทำแท้งและการุณยฆาต.
กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ๒๕๔๑.
เสน่ห์ จามริก. พุทธศาสนากับสิทธิมนุษยชน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ๒๕๓๑.
สุพจน์ จิตสุทธิญาณ. “เกณฑ์ตัดสินความดีของพุทธศาสนา”. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร
มหาบัณฑิต, ภาควิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ๒๕๑๙.
Medis, N.K.G. The Question of King Milinda an Abridgement of the Milindapanha. 
                Kandy : Buddhist Publication Society, 2001.


[๑] ดูรายละเอียดจากสุเมธกถา ใน ขุ.พุทธ. ๓๓/๑-๑๘๗/๔๔๗–๔๖๖ และ ขุ.ชา.อ.๑/๓-๑๑๓.
[๒] พระมหาสง่า ไชยวงศ์, “การศึกษาวิเคราะห์เรื่องทานในพระพุทธศาสนา”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลป ศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ๒๕๔๑, หน้า ๕๐-๕๕.
[๓] พระมหาบุญทัน อานนฺโท, : “การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องเวสสันดรชาดก ศึกษาเฉพาะทานบารมี”. วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๔๐.๗๗.
[๔] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก วิ.ม.(ไทย) ๔/๑๓/๒๐
[๕] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก วิ.ม.(ไทย) ๔/๒๖/๓๒.
[๖] ขุ.อิติ. ๒๕/๖๐/๓๓๖
[๗] ขุ.อิติ. ๒๕/๖๐/๓๓๖.
[๘] อง.อฏฐก. (ไทย) ๒๓/๓๖/๒๙๔.
[๙] อง.จตุกก.๒๑/๓๒/๔๒-๔๓.
[๑๐] ที.สี.๙/๒๙๘/๑๕๓.
[๑๑] ขุ.จริยา.อ. ๙/๖๑๖-๖๑๘.
[๑๒] ม.อุ.๑๔/๓๗๙–๓๘๐/๔๔๙–๔๕๐.
[๑๓] มงฺคลตฺถทีปนี.๒/๑, ๓๖-๓๗.
[๑๔] องฺ. อฏฺฐก.๒๓/๓๒/๒๖๘
[๑๕] ขุ.อิติ. ๒๕/๙๘/๓๘๘
[๑๖] ขุ.จริยา.อ. ๙/๖๒๑
[๑๗]  ขุ. ธ. ๒๕/๓๖๔/๙๒
[๑๘] อัง.ทุก. ๒๐/๑๔๒/๑๒๒
[๑๙] ขุ.จริยา.อ. ๙/๒๖๑
[๒๐] อัง.ติก. ๒๐/๔๑/๒๐๒ ในสัมมุขีภาวสูตร
[๒๑] มงฺคลตฺถทีปนี ทุติโย ภาโค, ๒๕๓๔:๔
[๒๒] มังคลัตถทีปนี (แปล). ๓/๑๗๔.
[๒๓]  อัง.ติก.๒๓/๓๕/๓๗๑-๓๗๓.
[๒๔] องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๓๑/๒๖๘ ปฐมทานสูตร
[๒๕] องฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๓๓/๒๖๙ ทานวัตถุสูตร
[๒๖] อัง.ปัญจก.๒๒/๓๖/๔๕ กาลทานสูตร
[๒๗] อัง.ปัญจก.๒๒/๑๔๗/๑๙๗ อสัปปุริสทานสูตร
[๒๘] อัง.อัฏฐก.๒๓/๓๗/๒๗๖ และดูเพิ่มเติมในสัปปุริสทานสูตร
[๒๙] อัง.ปัญจก.๒๒/๑๔๘/๑๙๗-๑๙๘
[๓๐]  อัง.ปัญจก.๒๒/๑๔๗/๑๙๗
[๓๑] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๖. (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์. ๒๕๓๙), หน้า  ๓๐๓.
[๓๒] ขุ.จริยา.อ.๙/๕๗๐
[๓๓] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘) หน้า ๒๘๔.
[๓๔] ขุ. ชา. อ. ๑/๒๖-๔๐.
[๓๕] ขุ.จริยา.๓๓/๓๗-๓๙/๕๔๗
[๓๖] ขุ.จริยา. ๓๓/๕๑-๖๖/๕๔๙-๕๕๑
[๓๗] ขุ.จริยา.๓๓/๑๒๕-๑๔๓/๕๕๘-๕๖๐
[๓๘] อัง.นวก.๒๓/๒๐/๔๔๘-๔๔๙
[๓๙] มิลินท.๑/๒๘๕-๒๙๕
[๔๐] สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท”. พระราช
วิทยานิพนธ์ ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต, (ภาควิชา ภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๔), หน้า ๖๐.
[๔๑] จำนงค์ ทองประเสริฐ, ๒๑๙-๒๒๒
[๔๒]  เรื่องเดียวกัน.
[๔๓] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), ๒๕๓๑ก: ๘
[๔๔] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ๒๕๓๑ข: ๙
[๔๕] เสน่ห์ จามริก, พุทธศาสนากับสิทธิมนุษยชน. (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ๒๕๓๑), หน้า ๓๗-๓๘.
[๔๖] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๙.
(Source: -)
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012