Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » Assoc. Prof. Ven. Phramaha Hansa Dhammahaso, Ph.D. » สันติวิธีทำไม ทำไมต้องสันติวิธี
 
counter : 24703 time

''สันติวิธีทำไม ทำไมต้องสันติวิธี''
 
Assist. Prof. Ven. Phramaha Hansa Dhammahaso, Ph.D. (2553)

สันติวิธีทำไม ทำไมต้องสันติวิธี

      ก่อนที่ตอบคำถามที่ว่า สันติวิธีมีความสำคัญอย่างไร  เพราะเหตุไร จึงต้องใช้สันติวิธีเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง  ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เราคิดว่า มีวิธีการ หรือเครื่องมือจัดการปัญหาอื่น ๆ  อีกหรือไม่ ที่เราคิดว่า  ดีกว่า  สมบูรณ์กว่าสันติวิธี[๑]  อันเป็นวิธีการที่ทำให้ทุกคนสามารถพบทางออก และยอมรับกับทางออกของปัญหาด้วยกันได้ทุกฝ่าย โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมองว่า ขาดความเป็นธรรมหรือ ขาดความยุติธรรมในวิธีการจัดการ  ฉะนั้น เมื่อสังคมโลกมองว่า สันติวิธี  น่าจะเป็นวิธีการ หรือแนวทางหนึ่งที่ดีที่สุด (Best Alternative) ในการแสวงหาทางออกร่วมกัน  จึงนำไปสู่ประเด็นของการตอบโจทย์ที่ว่า  ทำไมจึงต้องใช้สันติวิธีเมื่อวิเคราะห์จากปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้านแล้ว คำตอบที่พบในเบื้องต้นมีอย่างน้อย ๗ ประการ    กล่าวคือ

      ๑. สันติวิธีเป็นวิธีที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม  วิธีการนี้เป็นคู่มือ และเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาความเป็นมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาจิตใจมนุษย์ แก้ปัญหาแบบมนุษย์ด้วยตัวมนุษย์เอง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การที่คนเข้าใจศีลธรรมต่างกันหลายรูปแบบ ทำให้เกิดการตีความเพื่อสนองตอบตัวเอง  อย่างไรก็ตาม เมื่อมองคำว่า ศีลธรรมในมิติของศาสนาก็ย่อมเป็นการง่ายที่จะแสวงหา จุดร่วมที่คล้ายคลึงกันได้

                      ๒.  การจัดการความขัดแย้งแบบสันติวิธี นอกจากเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับมนุษยชาติแล้ว  ยังเป็นวิธีการที่สร้างพื้นฐานของความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ เพราะความเข้าใจ เห็นใจกันเป็นวิธีการป้องกัน และต่อสู้กับภัยในด้านต่าง ๆ ที่อาจจะมาสู่ประเทศชาติด้วย[๒]

 

                      ๓. สันติวิธีเป็นวิธีเดียวที่สนับสนุนประชาธิปไตย   โดยเฉพาะประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy)  ดังที่นักคิดบางท่านได้นำเสนอว่า ประชาธิปไตยเป็นวิธีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคคลกลุ่มต่าง ๆ  เพื่อหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งแทนการใช้ความ   รุนแรง กระบวนการประชาธิปไตยนำมาสู่การส่งเสริมสันติวิธีในชาติ และระหว่างชาติได้[๓] ประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผล  มีการลงคะแนนเสียงโดยเท่าเทียมกัน  มีการสร้างความเข้าใจร่วมกัน มีการควบคุมทางนโยบาย ประชาธิปไตยนำมาสู่            การหลีกเลี่ยงทรราชย์ การมีสิทธิเสรีภาพ  มีการแสดงความคิดเห็นของตนเอง มีความอิสระทางความคิด  มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ปกป้องความสนใจส่วนบุคคล  มีความเท่าเทียมกันทางการเมือง และประชาธิปไตยนำมาสู่การแสวงหาเสรีภาพ และความเจริญ[๔]

                      ฉะนั้น ทั้ง สันติวิธีและประชาธิปไตยจึงมีความสัมพันธ์ และเกื้อหนุนกัน ถ้าพัฒนาประชาธิปไตยได้มาก โอกาสที่สันติวิธีสัมฤทธิ์ได้มาก และมีโอกาสประสบความสำเร็จ  เมื่อสันติวิธีทำงานได้สำเร็จ ประชาธิปไตยต้องได้รับการเกื้อหนุน หรือสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิติของความเท่าเทียมหรือ ความเสมอภาคเพราะหากคุณสมบัติเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมได้  คนในสังคมสามารถยอมรับ ความแตกต่างในมิติต่าง ๆ ได้ เช่น ความคิดเห็น   ชาติพันธุ์  ศาสนา ภาษา เป็นต้น  ซึ่งหลักการเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เกื้อหนุน สันติวิธีทั้งสิ้น

                      . สันติวิธีเป็นวิธีสนับสนุนกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกๆ กลุ่ม ฉะนั้น การที่ทำให้สังคมเกิดสันติสุขได้นั้น จำเป็นต้องดึงทุกคนในสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาหาทางออกร่วมกัน (Inclusive Society) ไม่ใช่ผลักผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกไป (Exclusive Society )[๕]   ดังที่ประเวศ  วะสีกล่าวว่า ควรทำให้สังคมนี้ให้เป็น สังคมานุภาพ[๖]  ซึ่งสังคมานุภาพนั้น เกิดขึ้นมาได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งเริ่มต้นขึ้นมาจาก  การพยายามหาทางแก้ปัญหาร่วมกันในสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์ อาจเริ่มจากความทุกข์ของปัจเจกชน และพัฒนาไปสู่การร่วมกันกับคนที่มีความทุกข์อย่างเดียวกัน และพยายามค้นหาทางออกพร้อม ๆกัน โดยการร่วมคิด ร่วมริเริ่ม ร่วมวางแผนดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมตรวจสอบน้อยที่สุด ซึ่งการร่วมทุกข์นี้ในทางพุทธศาสนาถือว่าจะทำให้ความรู้สึกทุกข์นั้นน้อยลง และที่สำคัญ การร่วมทุกข์ทำให้ได้มีการปรับทุกข์ ได้รับการปรึกษาหารือกัน จากหนักกลายเป็นเบา

      . สันติวิธีเป็นวิธีเดียวที่สนับสนุนการคิด และการปฏิบัติการในการจัดการความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ทั้งทางร่างกาย ทางเพศ ทางจิตใจ ทางเศรษฐกิจและสังคม[๗] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การไม่ใช้ความรุนแรงดังกล่าวนั้น ประกอบไปด้วย ความเป็นธรรมทั้งในแง่ของความยุติธรรม ความเที่ยงธรรม  การยกย่องและให้เกียรติมนุษย์ในสถานะของเพื่อนร่วมโลกคนหนึ่งที่รักสุข และเกลียดกลัวความทุกข์เช่นเดียวกัน

      . สันติวิธีเป็นวิธีการที่น่าจะมีการสูญเสียน้อยที่สุด ทั้งระยะสั้นระยะยาว ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ผิดกับการใช้ความรุนแรง ซึ่งทุกฝ่ายอ้างว่าเป็นวิธีการสุดท้าย ซึ่งบางกรณีสามารถบรรลุผลในระยะสั้นเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่หากความขัดแย้งดำรงอยู่เพียงแต่ถูกกดไว้ โอกาสที่จะทำให้เกิดความรุนแรงในระยะยาวย่อมมีอยู่ ส่วนในทางนามธรรม เช่น ความเข้าใจอันดีความสามัคคีปรองดอง นั้นย่อมเกิดขึ้นได้ยากด้วยวิถีความรุนแรง[๘]

                      ๗. ในขณะที่สังคมมีความสลับซับซ้อน (Chaos) เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมามักจะมีแนวโน้มไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย  สันติวิธีจะเข้ามามีบทบาท และทำหน้าที่ในการประสานร่องรอยความขัดแย้งเหล่านั้น  เพื่อให้สังคมไทยได้ปรับกระบวนทัศน์ (Paradigm shift)  จากวิธีเดิมที่ใช้อำนาจเข้าไปแก้ไขปัญหาแบบสังคมโบราณซึ่งใช้ไม่ได้แล้วในสังคมปัจจุบัน ไปสู่กระบวนการทางสังคมที่เน้นการเข้ามามีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เรียกว่า วิธีการอารยะ” (Civilize) หรือ ความเป็นอารยะ” (Civility)  กล่าวคือ เป็นการพัฒนาจากสังคมเดิมไปสู่แนวทางสันติวิธี[๙]

                      กล่าวโดยสรุปแล้ว  สันติวิธีนอกจากเป็นวิธีที่เต็มไปด้วยความเป็นธรรมแล้ว ยังเป็นคู่มือ และเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น  สิ่งที่สามารถเป็นฐานรองรับการพัฒนาประชาธิปไตยก็คือ กระบวนการที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุก ๆ กลุ่มของสังคม  ซึ่งหัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมก็คือ            การทะลายและสลายความเป็นอัตลักษณ์  และ ยอมรับในความแตกต่างของมนุษย์แต่ละคน อันเป็นการส่งเสริม และยอมรับในศักยภาพของมนุษย์ โดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์เอง

 



                      [๑] มารค  ตามไท, “ปัจจัย และเงื่อนไขแห่งความสำเร็จของสันติวิธีในสังคมไทย”, บรรยาย ณ    ห้องประชาธิปก  สถาบันพระปกเกล้า, (๑๑ มีนาคม ๒๕๔๗).

                      [๒] มารค  ตามไท, “ข้อคิดเกี่ยวกับความมั่นคงกับการเตรียมพร้อมเมื่อชาติมีภัย”, ใน สันติวิถี:ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อความมั่นคง, สถาบันยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, (กรุงเทพฯ: สถาบันยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ๒๕๔๒),  หน้า ๖๕๖๖.

[๓] Boutros-Ghali, “An Agenda for Democratization,” in Grobal Democracy, Barry Holden (ed), New York: Routledage, ๒๐๐๐), p.๑๐๖.

[๔] Robert A, Dahl, On Democracy (New Haven and London: Yale University Press, ๒๐๐๐), p. ๓๘๔๔. อ้างใน  บวรศักดิ์  อุวรรณโณ และถวิลวะดี  บุรีกุล, ธรรมชาติของความขัดแย้งในวัฒนธรรมไทย (นนทบุรี: เอกสารประกอบการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี,มปป.), หน้า ๕.

[๕]บวรศักดิ์  อุวรรณโณ, “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”, บรรยาย ณ ห้องประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า, (๑๑ มีนาคม ๒๕๔๗).

[๖] ประเวศ  วะสี, ทฤษฎี ๓ อำนาจ ใน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน <http://www.geocities.com/midnightuniv/ newpage77.htm>.

                      [๗]คำประกาศปี 2000 ของ UNESCO”  อ้างใน  <http://pirun.ku.ac.th/~fagisvtc/buddhism/ boon/index5.htm>

                      [๘] โคทม อารียา, “เอกสาร 30 ปี 14 ตุลา จดหมายข่าว ประชาชน”, (๑ ตุลาคม ๒๕๔๖): ๒๓๒๕,       <http://www.santipap.com/kotom.htm>.

                      [๙] ประเวศ วะสี, สันติวิธีกับสิทธิมนุษยชน, พิมพ์ครั้งที่ ๑, (กรุงเทพฯ: สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ๒๕๔๕), หน้า ๑๑๒.

 

(Source: งานวิจัย)
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012