Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » นางณัชชา ธารสนธยา
 
Counter : 20063 time
ศึกษาขั้นตอนการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุพระนิพพานที่ปรากฏในคณกโมคคัลลานสูตร(๒๕๕๐)
Researcher : นางณัชชา ธารสนธยา date : 20/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
Committee :
  พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี
  รศ. ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร
  -
Graduate : ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐
 
Abstract

              งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาความเป็นมา รูปแบบ โครงสร้าง และเนื้อหาของคณกโมคคัลลานสูตร เพื่อศึกษาขั้นตอนการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุพระนิพพานที่ปรากฏในคณกโมคคัลลานสูตรและเพื่อประยุกต์ขั้นตอนการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุพระนิพพานที่ปรากฏในคณกโมคคัลลานสูตรมาใช้ในการพัฒนาชีวิต


            ผลการวิจัยพบว่า ความเป็นมา รูปแบบ โครงสร้าง และเนื้อหาของคณกโมคคัล-ลานสูตรมีความสมบูรณ์แบบที่สุดในการบรรลุธรรมส่วนขั้นตอนการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุพระนิพพานที่ปรากฏในคณกโมคคัลลานสูตรเหมาะกับภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเสขะผู้ที่ยังต้องศึกษา ได้แก่พระอริยบุคคลที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผลแต่สำหรับพระอรหันตขีณาสพ ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันและเพื่อสติสัมปชัญญะ


              ขั้นตอนการศึกษา การปฏิบัติ และการประยุกต์ใช้มีดังนี้
           ๑. ผู้ปฏิบัติต้องเป็นผู้มีศีล สำรวมในปาติโมกขสังวร มีกายวาจาปิดกั้นโดยไม่ล่วงละเมิดสิกขาบท พรั่งพร้อมด้วยการเป็นอยู่ที่มีศีลสมบูรณ์ตามสภาพของตน ไม่ไปในสถานที่ที่ไม่ควรไป ควรไปในสถานที่ที่ควรไปเห็นโทษเล็กน้อยเป็นโทษใหญ่ สมาทานและศึกษาสิกขาบททุกข้อโดยไม่มี ส่วนเหลือ
            ๒. ผู้ปฏิบัติต้องเป็นผู้คุ้มครองอินทรีย์ทั้งหลาย มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ ใจถูกต้องธรรมารมณ์ ต้องปฏิบัติตนเพื่อปิดกั้นอินทรีย์นั้น ๆ ด้วยสติ เมื่ออารมณ์เหล่านั้นมา กระทบแล้ว ถ้าผู้ปฏิบัติเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ หรือความเฉย (เผลอสติ) ก็ให้รู้ชัดสภาพนั้น ๆ ว่า เป็นสภาพหยาบอาศัยกันและกันเกิดขึ้น โดยมีสิ่งที่ละเอียดประณีตคืออุเบกขา ดังนั้น ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ และความเฉยที่เกิดขึ้นแล้วจะดับไปทันที อุเบกขาย่อมดำรงมั่น
            ๓. ผู้ปฏิบัติต้องเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค พิจารณาโดยแยบคายแล้วรับประทานอาหาร เป็นการกำหนดประโยชน์ในการกลืนกินว่า ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง เพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า เราจักกำจัดเวทนาเก่า และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และการอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา
              ๔. ผู้ปฏิบัติต้องเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นเครื่องขัดขวางทั้งหลาย ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งสมาธิ ในมัชฌิมยามแห่งราตรีนอนดุจราชสีห์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า โดยกำหนดว่าจะลุกขึ้นในปัจฉิมยามแห่งราตรี เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งสมาธิ
                ๕. ผู้ปฏิบัติต้องเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ รู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การดื่ม การฉัน การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง (ไม่มีการใดเลยที่ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ)
               ๖. ผู้ปฏิบัติต้องเป็นผู้พักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่าไม้ โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ที่ลอมฟาง ภายหลังรับประทานอาหารเสร็จแล้ว นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรงดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ละนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้จิตเศร้าหมองบั่นทอนกำลังปัญญา
                ๗. ผู้ปฏิบัติเมื่อละนิวรณ์ ๕ ได้แล้วจึงเป็นผู้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย และเข้าปฐมฌานถึงจตุตถฌานการจะบรรลุพระนิพพานหรือไม่ อยู่ที่การปฏิบัติตามขั้นตอนที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ หากเดินทางตรงกันข้าม โดยไม่มีศีล ไม่เคารพอย่างจริงใจในสิกขา ไม่คุ้มครองอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในการบริโภคไม่ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้นำใน โอกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวกมีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง ปัญญาทึบเป็นดังคนหนวกและคนใบ้ คือหลงทางผิดทาง ไม่ทำตามคำพร่ำสอน ผู้ปฏิบัติย่อมไม่บรรลุพระนิพพานแน่นอน

 

Download :  255045.pdf

Download :
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012