หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย ดร.ประพันธ์ ศุภษร » พระวินัยกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
 
เข้าชม : ๒๙๓๔๘ ครั้ง

''พระวินัยกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม''
 
ดร. ประพันธ์ ศุภษร (2542)

คำชี้แจ้ง บทความนี้ได้รับการพิมพ์ในวารสาร พสล.ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ขณะที่ผู้เขียนกำลังศึกษาปริญญาโท ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาในการเขียนและบรรณาธิการของวารสาร คือ รศ.ดร.ภัทรพร สิริกาญจน เนื่องจากมีนิสิตสนใจงานเขียนด้านสิ่งแวดล้อม และวารสารฉบับดังกล่าวก็หายากแล้ว ในที่นี้ผู้เขียนจึงขออนุญาตท่านอาจารย์ผู้เป็นบรรณาธิการนำมาลงไว้ในเว็บไซด์ของบัณฑิตวิทยาลัยเพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาเบื้องต้นของนิสิตและผู้สนใจทั่วไป

. ปัญหาและสภาพทั่วไปของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          คำว่าสิ่งแวดล้อมตามความหมายของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ นิยามว่า หมายถึงสิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น[1] 
            ส่วนความหมายของนักอนุรักษ์ “สิ่งแวดล้อม” คือ สิ่งที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวเรา ทั้งส่วนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ดิน น้ำ อากาศ ทรัพยากรต่าง ๆ ฯลฯ และส่วนที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ศิลปกรรมขนบธรรมเนียมประเพณี สวนสาธารณะ เป็นต้น มนุษย์เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมด้วย และมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด จนไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ ทั้งนี้เนื่องจากมนุษย์มีกำเนิดอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมทุกชนิดก็มีผลโดยตรงและโดยอ้อมในการที่จะกำหนดให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้[2]       ปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมได้ถูกทำลายไปทุกวัน ๆ อย่างน่าเป็นห่วง จนกลายเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก เพราะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา ต่อความอยู่รอดของมนุษย์และสรรพสัตว์โดยตรง ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองด้วย
            .  ปัญหาเกี่ยวกับดินเสื่อมโทรม 
            ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด ๓๒๑ ล้านไร่ พื้นที่ทำการเกษตร ๑๕๐ ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการใช้ดินไม่เหมาะสมตามสมรรถนะประมาณ ๓๐ ล้านไร่ มีการพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรกรรม ๑๓๔ ล้านไร่ ปัญหาดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๗.๘ ล้านไร่ ปัญหาการสูญเสียและความเสื่อมโทรมของพื้นที่ชุ่มน้ำ(Wetland) อันเป็นพื้นที่มีลักษณะเด่นทางนิเวศวิทยาของประเทศ การแพร่กระจายของสารพิษตกค้างในดิน การทรุดตัวของดินจากการสูบน้ำบาดาล  ปัญหาเหล่านี้สืบเนื่องมาจากการใช้ที่ดินผิดประเภท เช่น การบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อทำไร่เลื่อนลอย การใช้สารเคมีทำให้มีพิษตกค้างและขาดความรู้และการวางแผนที่ดี และที่สำคัญคือความเห็นแก่ตัวของมนุษย์นั่นเอง
            ๑.๒ ปัญหาเกี่ยวกับน้ำ
            เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคและการผลิตทางเศรษฐกิจสาขาต่างๆ จึงแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่จำนวนแหล่งมีปริมาณจำกัด เรามีพื้นที่ทำการเกษตรซึ่งได้รับประโยชน์จากการชลประทานประมาณ ๒๙ ล้านไร่ หรือร้อยละ ๒๒ ของพื้นที่ทำการเกษตร มีอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง ๓๙๒ อ่าง กักเก็บน้ำได้ ๗๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีหมุ่บ้านในชนบทขาดแคลนน้ำใช้ประมาณ ๒๘,๗๕๐ หมู่บ้าน 
            ปัญหาเหล่านี้สืบเนื่องมาจากการพัฒนาและพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีต่อแหล่งน้ำ เช่น การชลประทาน การสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ล้วนเป็นการทำลายป่าไม้ สัตว์น้ำและสภาพภูมิอากาศ การขุดเจาะน้ำบาดาลก่อให้เกิดปัญหาของปริมาณน้ำใต้ดินลดลง เมื่อระดับน้ำใต้ดินลดลง ทำให้น้ำทะเลไหลเข้ามาแทนที่ พื้นที่การเกษตรเสียหาย และยังทำให้เกิดการทรุดตัวของดิน การระบายสิ่งโสโครกลงสู่แม่น้ำจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบริโภค (พ.ศ. ๒๕๓๙) ได้แก่ โรงงานน้ำตาล โรงงานแป้งมัน โรงฆ่าสัตว์ โรงงานเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมเหล่านี้ปล่อยของเสียร้อยละ ๘๐ หรือ ๑,๖๐๐,๐๐๐ ตัน ลงสู่แม่น้ำประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี ความสามารถในการกำจัดของเสียเพียง ๖๗๕,๐๐๐ ตันหรือร้อยละ ๔๒ เท่านั้น แต่ของเสียที่เกิดจากชุมชนยังไม่ได้รับการประเมิน เมื่อแหล่งน้ำเสียย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย การอุปโภคบริโภค การสาธารณสุข การประมง การกสิกรรม การเลี้ยงสัตว์ และการท่องเที่ยว
            ๑.๓ ปัญหาเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ
            มลพิษทางอากาศ  ได้แก่ ฝุ่นละออง สารตะกั่ว ก๊าชคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าชซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าชไนโตรเจนไดออกไซด์ ความร้อนทางอากาศ เสียงและความสั่นสะเทือนที่เกิดจากการก่อสร้างและกิจการอุตสาหกรรม มีสาเหตุใหญ่ ๒ ประการ คือ
            ๑)    เกิดจากธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด พายุ ลมไต้ฝุ่น
            ๒)   เกิดจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า โรงถลุงเหล็ก การเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานยนต์ การหุงต้ม การเผาขยะมูลฝอย ฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง สารกัมมันตรังสีจากโรงงานปรมาณู เมื่ออากาศเป็นพิษย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตอื่น ๆ เช่น ทำให้อากาศมืดมัว ความร้อนบนผิวโลกเพิ่มขึ้น ก่อความสกปรกต่อเสื้อผ้า บ้านเรือน ทำให้โลหะผุเร็ว ทำอันตรายต่อชีวิตสัตว์และพืช ทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก ตลอดทั้งทำให้สูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
            ๑.๔ ปัญหาเกี่ยวกับป่าไม้  
            ป่าไม้เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธาร ทีอยู่อาศัยของสัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพต่าง ๆ ช่วยดูดซับสร้างความชุ่มชื้น ลดก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และรักษาความสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศอันมีคุณค่าและความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ในช่วง ๓๕ ปีที่ผ่านมา ป่าในประเทศไทยถูกทำลายไปมากมาย ในปี ๒๕๓๙ ป่าไม้ในประเทศไทยเหลืออยู่เพียง ๘๐ ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ ๒๕ ของพื้นที่ประเทศและนับวันลดลงทุกปีซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
            สาเหตุหลักก็มาจากการบุกรุกเข้าทำไร่เลื่อนลอย ไฟป่า การทำเขื่อน อ่างเก็บน้ำ การลักลอบตัดไม้ ปัจจุบันป่าไม้ในประเทศไทยถูกทำลายปีละ ๕% ถ้าไม่รีบแก้ไข อีกประมาณ ๒๐ ปีข้างหน้า ป่าไม้ในเมืองไทยจะหมดไป เมื่อป่าถูกทำลาย สัตว์ป่าที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติอันหาค่ามิได้ย่อมเดือดร้อน สัตว์ป่าบางชนิดกำลังสูญพันธุ์ บางชนิดก็สูญพันธุ์ไปแล้วและไม่สามารถหามาทดแทนได้ หากไม่มีป่าให้มันหลบภัยและอาศัยเลี้ยงชีวิตแล้ว ในที่สุดสัตว์ป่าก็จะหมดไป
            นี้คือสภาพปัญหาของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยิ่งถ้ามองไปในระดับโลกก็ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะปรากฏรายงานจากสโมสรแห่งโรม ชื่อ เกินขีดจำกัด(Meadows, D. และคณะ ๒๕๓๕) ตีพิมพ์เมื่อ ๒๐ ปีที่ผ่านมาแจ้งว่า สภาพโดยรวมของโลกไม่ดีขึ้น หลายอย่างกลับเลวร้ายลงและมีหลายด้านเป็นเรื่องที่น่าตกใจ และ เดวิด ออร์(Orr, D.)๒๕๓๗) นักศึกษาผู้เน้นนิเวศวิทยาได้รายงานว่า สรุปได้ดังนี้
            ๑) มีการวิจัยพบว่า สเปิร์มผู้ชายทั่วโลกลดลง ๕๐ % ตั้งแต่ปี ๒๔๘๑ เป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบสาเหตุ
            ๒) นมแม่ในหลายประเทศมีสารพิษมากกว่าทีอนุญาตไว้สำหรับนมวัวที่ใช้สำหรับเลี้ยงทารก
            ๓) ศพมนุษย์มีของเสียที่เป็นพิษและโลหะหนักจนต้องจัดว่าเป็นขยะพิษ
            ๔) ศพปลาวาฬและปลาโลมาที่พบตายตามชายฝั่งทะเลก็เช่นเดียวกัน
            ๕) พืชประเภทเห็ดราและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำลดลงทั่วโลก โดยไม่รู้สาเหตุ แม้ในที่ที่ไม่มีฝนกรด
            ๖) ระบบอุตสาหกรรมปัจจุบันผลิตของเสียทิ้งลงในสิ่งแวดล้อม ปีละ ๑๑.๔ หมื่นล้านตัน
            ๗) ป่าในยุโรปกว่า ๘๐ % โดนฝนกรดทุกปีและกำลังตายเรื่อย ๆ[3]
            ไม่ว่าสถานการณ์ของประเทศไทยและของโลกจะเป็นอย่างไร อยู่ไกลหรืออยู่ใกล้ เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับรู้อะไรเลย ตรงข้ามต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อการกระทำของมนุษย์  ปลูกจิตสำนึกสร้างความรับผิดชอบที่ดีร่วมกัน ไม่แบ่งฝ่ายแบ่งพวก ช่วยกันต่อลมหายใจให้กับโลกใบนี้ให้ยืนยาวต่อไป
          ๑.๕ แนวคิดในการอนุรักษ์    
            ทำไมจึงต้องมีการอนุรักษ์ คำตอบอย่างมีเหตุผลคือมนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่โดยลำพังได้ ตรงข้ามชีวิตทุกชีวิต ทั้งคนและสัตว์ต่างก็อาศัยสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เพื่อการดำรงอยู่ ฉะนั้นจึงต้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ไว้ เพราะทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้มีประโยชน์มากมาย จนไม่สามารถประเมินค่าได้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม มีการก่อตั้งองค์การ องค์กร สมาคม สำนักงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากมาย เช่น องค์การยูเนสโก องค์การเอฟ เอ โอ เป็นต้น   องค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนความพยามในเรื่องนี้เมื่อ ปี ๒๕๓๔ โดยจัดขึ้นที่เมืองอิโร ซึ่งเป็นการพยายามแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก[4]
            แม้ในประเทศไทยก็เริ่มมีการตื่นตัวเรื่องนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ โดยมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น จัดให้มีแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๔๒–๒๕๔๙ มีพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒ และมีหน่วยงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น สำนักงานกำจัดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการคุ้มครองสัตว์ป่า นอกจากนี้แล้วยังมีชมรมและกลุ่มอนุรักษ์อีกมากมาย หน่วยงานและองค์การเหล่านี้ล้วนมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รัฐบาลแต่ละประเทศได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อม คุ้มครองสัตว์ป่า
            มหันตภัยจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษได้ก่อความเสียหายให้แก่ชีวิตของมนุษย์และสัตว์ รวมทั้งระบบของธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เป็นภัยร้ายที่อยู่ใกล้ตัวที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม จะต้องรีบช่วยกันแก้ไขตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะสายเกินแก้ เพื่อชีวิตอันสดใสของอนุชนในอนาคต
. ความสำคัญของพระวินัยต่อสิ่งแวดล้อม
          จากการศึกษาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาได้พบว่า พระพุทธเจ้าและพระสาวกมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติมาโดยตลอดเห็นได้จากพระองค์ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน สถานที่แสดงธรรมล้วนอยู่ในป่า สถานที่พำนักของพระพุทธเจ้าและพระสาวกคือ ป่า ภูเขา โคนไม้ ถ้ำ ซอกเขา ป่าช้า ลอมฟาง และยังมีข้อปฏิบัติสำหรับอยู่ป่าให้เหมาะสมอีกหลายข้อ เช่น ธุดงค์ที่ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถืออยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร เป็นต้น ป่าสวนที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่กับพระสาวก ก็มีคำว่าป่า เช่น ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ป่าอันธวัน เมืองสาวัตถี ป่าสิงคาลสาลวัน หมู่บ้านนาทิกะ ป่ามหาวัน กรุงกบิลพัสดุ์ เชตวัน เมืองสาวัตถี ป่ารักขิตวัน เมืองโกสัมพี นอกจากนี้แล้วยังประทับอยู่ถ้ำ เช่น ถ้ำอินทสาละ ถ้ำสัตตบรรณคูหา คิชฌกูฏ ถ้ำสุกรขาตา เป็นต้น
            เมื่อการดำเนินชีวิตมีการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างแยกจากกันไม่ได้ พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้กฎของธรรมชาติอันสูงสุด พระองค์ทรงมองเห็นประโยชน์และความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ทรงวางหลักพระธรรมวินัยให้พระสาวกศึกษาและปฏิบัติตามโดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่ศาสนา จนทำให้พุทธศาสนาเป็นที่ยอมรับของสังคม การที่พระสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วนั้น นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของพระสาวกแล้ว ยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วย ดังที่ ภัทรพร สิริกาญจน ได้กล่าวไว้ในงานวิจัย เรื่อง หน้าที่ของพระสงฆ์ตามพุทธบัญญัติตอนหนึ่งว่า
     ผู้มีศีลและวินัยอย่างเคร่งครัดย่อมไม่ทำลายชีวิต ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะศีลและวินัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามหลักพุทธศาสนา ทำให้ชาวพุทธตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต ไม่ทำลายมนุษย์ สัตว์ และพืช อันเป็นสิ่งมีชีวิต นอกจากนั้นผู้มีศีลและวินัยยังทะนุบำรุงสิ่งมีชีวิตให้เจริญงอกงามและเป็นประโยชน์เกื้อกูลโลก จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”[5]          
            การที่พระสงฆ์จะใช้ชีวิตอยู่ในป่าได้นั้น พระสงฆ์จะต้องปฏิบัติตามพระวินัย โดยเริ่มตั้งแต่อุปสมบทใหม่ ๆ ภิกษุผู้บวชใหม่จะต้องอยู่กับพระอุปัชฌาย์เป็นเวลา ๕ ปี จากนั้นจึงจะสามารถไปอยู่ป่าตามลำพังได้ ในขณะที่อยู่กับพระอุปัชฌาย์ ภิกษุต้องศึกษาพระวินัยให้เข้าใจ และสามารถนำไปสอนคนอื่นได้ อารามหรือวัดที่ภิกษุอยู่ประจำ หรืออยู่จำพรรษาจะต้องทำให้ถูกหลักพระวินัย เช่น อยู่ห่างจากเขตชุมชน กุฎิสำหรับพักอาศัยก็จะต้องให้คณะสงฆ์กำหนดให้เพื่อป้องกันไม่ให้สร้างใหญ่โตเกินความจำเป็น เพราะการสร้างกุฏิใหญ่เกินไปอาจทำให้เกิดอันตราย ดังในสิกขาบทที่ ๙ แห่งภูตคามวรรค พระฉันนะ (สหชาติผู้เกิดพร้อมกับพระพุทธเจ้า ภายหลังออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า) ให้สร้างกุฎิใหญ่เกินไป กุฏิได้พังลงมาจนเกิดความเสียหายเกี่ยวกับปัจจัย ๔ พระสงฆ์ก็ต้องปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด เช่น การใช้จีวร (ผ้านุ่งห่ม) ให้มีขนาดพอดี และการใช้น้ำย่อมต้องใช้วัสดุจากธรรมชาติมาทำการย้อม มีแก่นไม้ขนุน เป็นต้น บาตรสำหรับใช้เลี้ยงชีพต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัยเหมือนกัน คือ ได้ขนาดพอบรรจุข้าวฉันอิ่ม และยังเน้นเรื่องการเก็บรักษาไม่ให้แตกง่าย พร้อมกับให้รักษาความสะอาด ส่วนเรื่องเกี่ยวกับเสนาสนะและยารักษาโรค ก็มีพระวินัยกำหนดการสร้าง การใช้ไว้ครบถ้วน ทั้งนี้เพื่อให้พระสงฆ์ได้เป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่ทำความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
            ความสำคัญของพระวินัยต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว สามารถแบ่งเป็นประเด็นได้ดังนี้
            .  พระวินัยในฐานะเป็นกฏระเบียบสำหรับฝึกกายและวาจา
          เมื่อพระสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัยโดยเคร่งครัดย่อมเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ดำเนินชีวิตไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ไม่ทำลายชีวิตใคร ๆ หากมุ่งดำเนินชีวิตเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์เป็นที่ตั้ง พระวินัยย่อมฝึกคนที่มีจิตแข็งกระด้างให้มีจิตใจประกอบด้วยเมตตา เช่น พระอุทายีในสมัยที่ยังไม่ได้บวชเคยเป็นนักยิงธนูและไม่ชอบอีกา ครั้นมาบวชในพระพุทธศาสนาได้ฆ่าอีกาตายเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้ภิกษุจงใจปลงชีวิตสัตว์ จะเห็นได้ว่า พระวินัยได้ช่วยกำราบบุคคลที่มีจิตใจโหดร้ายให้เป็นผู้มีจิตใจประกอบด้วยเมตตาได้ และเป็นการช่วยอนุรักษ์สัตว์ไม่ให้ถูกเบียดเบียน หรือถูกฆ่า
           
            ๒.๒  พระวินัยในฐานะเป็นการจัดสรรโอกาส
          พระพุทธศาสนาเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พัฒนาศักยภาพของตัวเอง ไม่แบ่งชั้นวรรณะ เมื่อฝึกตนเองไปตามขั้นตอนตามพระวินัยแล้วย่อมเป็นผู้ที่สมควรแก่การกราบไหว้บูชา น่าเลื่อมใส ดังที่พระสารีบุตรเถระได้เห็นการสำรวมอินทรีย์ เห็นกิริยามารยาทที่น่าเลื่อมใสของพระอัสสชิ ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสจึงเข้าไปสนทนาธรรมและได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ จนท่านได้บรรลุธรรมเบื้องต้น (เป็นพระโสดาบัน) จากนั้นท่านได้ตามไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและขออุปสมบทกับพระพุทธเจ้า ต่อมาท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีปัญญามากเกือบเท่าพระพุทธเจ้าและเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงนับได้ว่าพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติตามพระวินัย่อมเป็นผู้น่าเลื่อมใสนำมาซึ่งศรัทธา เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อคนทั่วไป เมื่อได้กัลยาณมิตรที่ดีย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองให้เป็นที่ยอมรับของสังคม พระสารีบุตรท่านก็ได้รับโอกาสนี้
            .  พระวินัยในฐานะเป็นระบบที่สอดคล้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แต่ละข้อ ล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังที่พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้ภิกษุขุดดิน ตัดต้นไม้ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะลงบนของเขียวและลงในแม่น้ำลำธาร สิกขาบทเหล่านี้ได้สร้างจิตสำนึกให้แก่ภิกษุสามเณรและเป็นเแบบอย่างให้กับชาวบ้านเป็นอย่างดี
            การที่ภิกษุไม่ตัดต้นไม้ย่อมช่วยรักษาความสมดุลทางธรรมชาติได้มากมาย  เพราะสิ่งมีชีวิตที่อาศัยต้นไม้ตั้งแต่รากถึงยอดมีอยู่อย่างชุกชุม เช่น สัตว์จำพวกแมลง หนอน ผีเสื้อ เป็นต้น ต่างก็อาศัยต้นไม้เป็นเสมือนบ้านของพวกมัน เป็นที่หลบภัย เป็นที่พักผ่อน ยิ่งต้นไม้ใหญ่เท่าไรก็ยิ่งมีสัตว์อาศัยมากเท่านั้น  
            ต้นไม้เป็นห่วงโซ่อาหารที่หมุนเวียนหล่อเลี้ยงชีวิตทั้งของคนและสัตว์ พระธุดงค์ก็ต้องอาศัยผักและผลไม้ตามป่าเป็นอาหารยังชีพ ภาพที่คนและสัตว์อาศัยป่าไม้ และต้นไม้มีให้เห็นในชาดกมากมาย บางครั้งก็เก็บมาทำอาหาร เช่นฤาษีเก็บใบหมากเม่ามานึ่งเป็นอาหาร ดังนั้นพระวินัยที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงนับว่ามีประโยชน์มากทั้งแก่คนและสัตว์
            .  พระวินัยในฐานะเป็นกฎระเบียบเพื่อให้มนุษย์ปฏิบัติเข้ากับกฎของธรรมชาติ
          พระพุทธเจ้าทรงรู้ความจริงของกฎธรรมชาติ เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติพระวินัยแต่ละข้อ จะทรงพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระวินัยกับธรรม (หมายความถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย) ให้มีความสอดคล้องเกื้อกูลต่อกันตลอดสาย ดังที่พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทที่ ๗ แห่งโภชนวรรค ห้ามไม่ให้ภิกษุฉันอาหารในเวลาวิกาล (หมายเอาเวลาตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงรุ่งอรุณวันใหม่) สิกขาบทนี้ทรงมุ่งให้ภิกษุเป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่ทำความลำบากให้แก่ชาวบ้าน นอกจากนี้แล้วก็เพื่อป้องกันไม่ให้ภิกษุฉันอาหารที่ค้างคืนเพราะอาหารนั้นอาจเสีย เมื่อภิกษุฉันเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต อีกอย่างถ้าภิกษุฉันมากเกินไปก็เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติธรรม
สิกขาบทว่าด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          .๑ คุณค่าและประโยชน์ของพระวินัย
            พระวินัยเป็นพุทธบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แก่พระสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์ได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติสำหรับฝึกกายและวาจาของตน อันจะเป็นพื้นฐานในการบรรลุคุณธรรมชั้นสูงสุดต่อไป และเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สังคมมนุษย์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
            ๑)      เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์
            ๒)     เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
            ๓)     เพื่อความข่มบุคคลผู้เก้อยาก
            ๔)     เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
            ๕)     เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายที่จะบังเกิดในปัจจุบัน
            ๖)      เพื่อปิดกำจัดอาสวะทั้งหลายที่จะบังเกิดในอนาคต
            ๗)     เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
            ๘)     เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
            ๙)      เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม
            ๑๐)    เพื่อเอื้อเฟื้อพระวินัย[6]
            พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยให้เกื้อกูลต่อธรรมชาติ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เบียดเบียนสรรพสัตว์ ดังปรากฏในพระไตรปิฎกตอนหนึ่ง ความว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏพร้อมกับหมู่ภิกษุสงฆ์ ทอดพระเนตรเห็นกุฎีอันงดงามที่พระธนิยะกุมภการบุตรก่อสร้างขึ้นเพื่ออยู่จำพรรษาสำหรับตน พระองค์ตรัสถามว่า “นั่นอะไร น่าดูน่าชม สีเหมือนแมลงค่อมทอง” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษนั้น ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนโมฆบุรุษจึงขยำโคลนก่อกุฎีดินล้วนเล่า โมฆบุรุษนั้นชื่อว่าไม่มีความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ความไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย พวกเธอจงไปทำลายกุฎีนั้นเสีย อย่าให้เพื่อนพรหมจารีในภายหลังเบียดเบียนหมู่สัตว์เลย ภิกษุไม่พึงทำกุฎีดินล้วน ภิกษุใดทำต้องอาบัติทุกกฏ”[7] จะเห็นได้ว่าพระวินัยข้อนี้มีความมุ่งหมายที่จะอนุรักษ์ดิน และป้องกันไม่ให้ภิกษุฆ่าสัตว์ นอกจากนี้แล้วยังช่วยป้องกันมลพิษทางอากาศด้วย เพราะการทำกุฎีจะต้องทำการเผาดินให้แข็งตัว ดินนั้นจึงจะคงทน ไม่แตกง่าย นับว่าพระพุทธเจ้าทรงมองเห็นการณ์ไกลจริง ๆ  
          .๒ การประยุกต์พระวินัยเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
            พระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้นั้น นอกจากจะช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถปรับปรุงให้เหมาะสมกับกาลสมัย ภูมิประเทศ และสังคมแต่ละท้องถิ่นได้ โดยอาศัยหลักมหาปเทส ๔ (ข้ออ้างใหญ่ หรือหลักสำหรับปรับปรุงประยุกต์ใช้พระวินัย) ๔ ประการ คือ
            ๑)    สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควรแต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร
            ๒)   สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควรแต่เข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร
            ๓)    สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตว่าควรแต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร
            ๔)    สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควรแต่เข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร[8]
[9] หลักมหาปเทสนี้พระองค์ทรงอนุญาตไว้ที่เมืองสาวัตถี เพราะว่าภิกษุชาวเมืองสาวัตถีไม่กล้าฉันผลไม้ โดยสงสัยว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตหรือไม่ เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบจึงให้หลักมหาปเทสนี้ไว้ 
            พระวินัยกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า ภิกษุชาวเมืองกบิลพัสดุ์ขอกล่องเข็มที่ทำด้วยกระดูก ทำด้วยงา ทำด้วยเขา ประชาชนติเตียน ประณามว่าไม่รู้จักพอ ทำให้นายช่างผู้ทำกล่องเข็มลำบาก การค้าขายล้มเหลว เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์บัญญัติพระวินัยห้ามไม่ให้ภิกษุทำอย่างนั้นอีก ถ้าฝ่าฝืนต้องอาบัติปาจิตตีย์ นอกจากนี้แล้วพระวินัยยังช่วยอนุรักษ์ดิน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยห้ามไม่ให้ภิกษุขุดดิน เพราะการขุดดินเป็นการเบียดเบียนสัตว์ ทั้งประชาชนก็ติเตียน
            พระวินัยกับการอนุรักษ์แหล่งน้ำ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยไว้หลายมาตรา เช่น ห้ามไม่ให้ภิกษุผู้ไม่เป็นไข้ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ บ้วนน้ำลายลงบนของเขียวและในน้ำ ทรงบัญญัติไว้ให้ระลึกอยู่เสมอ ถ้าฝ่าฝืนต้องอาบัติทุกกฏ
            พระวินัยกับการอนุรักษ์อากาศ ภิกษุชาวเมืองสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ พากันก่อไฟที่ขอนใหญ่ขอนหนึ่ง ซึ่งมีโพรงแล้วผิง ภายในโพรงนั้นมีงูเห่าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ พอมันถูกความร้อนของไฟก็ได้เลื้อยออกมาไล่พวกภิกษุ ภิกษุทั้งหลายต่างก็วิ่งหนีไปในที่ต่าง ๆ เป็นเหตุให้ภิกษุผู้มักน้อยติเตียนประณาม พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามหาสาเหตุแล้ว ทรงบัญญัติพระวินัยห้ามไม่ให้ภิกษุทำเช่นนั้นอีก ถ้ารูปใดฝ่าฝืนต้องอาบัติปาจิตตีย์
            พระวินัยกับการอนุรักษ์ป่า พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกดำเนินชีวิตอยู่กับป่า มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ตั้งแต่พระองค์ได้ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน แสดงธรรม ที่ประทับล้วนอยู่ท่ามกลางป่า ธรรมวินัยที่ทรงสั่งสอนและบัญญัติไว้ก็เป็นไปเพื่อรักษาและเกื้อกูลต่อป่า ถ้าภิกษุรูปใดกระทำสิ่งที่เป็นการทำลายป่า พระองค์ก็ทรงบัญญัติพระวินัยห้าม ดังที่พระองค์ทรงบัญญัติแก่ภิกษุชาวเมืองอาฬวีซึ่งพากันทำการก่อสร้าง และได้ตัดต้นไม้ จนประชาชนติเตียนการกระทำเช่นนั้น เพราะเป็นการเบียดเบียนเทวดาและสิ่งมีชีวิต เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามหาสาเหตุ แล้วทรงบัญญัติพระวินัยห้ามไม่ให้กระทำอย่างนั้นอีก ถ้าฝ่าฝืนต้องอาบัติปาจิตตีย์
          ๓.๓ ลักษณะการบัญญัติสิกขาบท      
            การบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อนั้น ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นบทตายตัว บางครั้งพระองค์ทรงคล้อยตามฝ่ายบ้านเมืองและเมื่อเห็นว่า สิ่งนั้นไม่ขัดต่อธรรม บางครั้งก็ยืดหยุ่นไม่ปรับโทษเพราะทรงเห็นว่าไม่เหมาะสมกับท้องถิ่น จึงอนุโลมให้พระสาวกทำได้ เรียกว่า เป็นอนุญาตพิเศษ เช่น ในคราวเกิดทุพภิกขภัย เป็นต้น บางครั้งทรงเห็นว่ายังมีข้อบกพร่อง พระองค์ก็ทรงบัญญัติเพิ่มเติมอีก เรียกว่า อนุบัญญัติ ในการบัญญัติสิกขาบทแต่ละครั้ง พระองค์จะรับสั่งให้มีการประชุมสงฆ์ สอบถามหาสาเหตุเมื่อภิกษุรับว่าได้ทำจริง ทั้งพระองค์ก็พิจารณาเห็นว่าไม่ขัดต่อสังคมและธรรมะ พระพุทธองค์จึงได้บัญญัติไว้ พระพุทธเจ้าประกอบด้วยพระปัญญาและเจตนาดีเป็นที่ตั้ง ทรงมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระวินัยกับธรรมว่าต้องสอดคล้องเกี่ยวเนื่องกันตลอดสาย ดังอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการที่กล่าวแล้ว ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์คือเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก และเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและหมู่มนุษย์ [10]
. สิกขาบทที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
          พระวินัยของภิกษุมี ๒๒๗ ข้อ บางข้อก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ บางข้อเกี่ยวข้องโดยตรง บางข้อเกี่ยวข้องโดยอ้อม   ในที่นี้จะนำข้อที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์มาศึกษาเป็นลำดับดังนี้
            .๑ โกสิยสิกขาบทที่ ๒,,
          สิกขาบทที่เกี่ยวกับการทำผ้ารองนั่งผสมใยไหม มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุชาวเมืองอาฬวีพวกหนึ่ง ไปบอกช่างทอไหมพากันตำหนิประณามภิกษุพวกนั้นว่า สมณะเชื้อสายศากยบุตร ทำไมจึงใช้พวกเราให้ฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนั้นกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบสวนหาสาเหตุ เพื่อภิกษุเหล่านั้นยอมรับว่าได้กระทำจริง พระองค์ก็ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามว่า ภิกษุใดใช้ให้ผ้ารองนั่งผสมใยไหม ต้องอาบัตินิสสัคคีปาจิตตีย์[11]  การต้องอาบัติในสิกขาบทนี้ ภิกษุผู้ละเมิดจะต้องเสียสละผ้ารองนั่งของตนแก่สงฆ์หรือแก่คณะ จากนั้นก็ให้แสดงอาบัติคือยอมรับสารภาพในการกระทำของตน และตั้งใจจะไม่ทำอีกต่อไป ภิกษุจึงจะบริสุทธิ์จากอาบัตินี้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ด้วยทรงมุ่งรักษาชีวิตของสัตว์และเพื่อความเลื่อมใสของประชาชน เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าไม่เหมาะสม ประชาชนติเตียนการกระทำเช่นนี้ ประกอบกับพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาในหมู่สัตว์เป็นที่ตั้งอยู่แล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ไว้
            ๔.๒ ปฐวีขณนสิกขาบท
          สิกขาบทเกี่ยวกับการขุดดิน สิกขาบทนี้มีสาเหตุมาจากภิกษุชาวเมืองอาฬวี พวกหนึ่งทำการก่อสร้าง จึงพากันขุดดิน พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประฌามว่า พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเบียดเบียนชีวะซึ่งมีอินทรีย์ เหล่าภิกษุผู้มักน้อยนำความกราบทูลพระพุทธเจ้าพระองค์จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบสวนหาสาเหตุ เมื่อภิกษุชาวเมืองอาฬวีรับสารภาพว่าได้ทำอย่างนั้นจริง พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามว่า ภิกษุใดขุดดินเอง หรือใช้ให้คนอื่นขุดดิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์การต้องอาบัติในสิกขาบทนี้ ภิกษุผู้ต้องจะต้องแสดงความผิดของตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน โดยสัญญาว่าจะไม่ทำอีก ภิกษุนั้นจึงจะบริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ เพื่อมุ่งรักษาชีวิตสัตว์และรักษาสภาพดิน ทั้งรักษาศรัทธาของประชาชน เพราะประชาชนสมัยนั้นเชื่อว่าดินมีชีวิต หากภิกษุกระทำเช่นนั้นก็เป็นการทำลายชีวิตของดิน ไม่สมกับเป็นสมณะ เมื่อพิจารณาสภาพความเป็นจริงแล้ว พื้นดินที่อุดมสมบูรณ์มักมีพวกสัตว์เล็ก ๆ อาศัยอยู่ เมื่อภิกษุขุดดินจึงเป็นการทำลายชีวิตสัตว์และทำให้สภาพดินเสื่อม นับได้ว่าสิกขาบทนี้เป็นการอนุรักษ์ดินและรักษาชีวิตสัตว์โดยอ้อม
            ๔.๓.     ภูตคามสิกขาบท สิกขาบทเกี่ยวกับการตัดต้นไม้ สิกขาบทนี้มีสาเหตุมาจากพวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีทำการก่อสร้างจึงได้ตัดต้นไม้มาทำการก่อสร้าง และได้ทำความเดือดร้อนแก่เทวดาผู้สถิตอยู่บนต้นไม้ เมื่อเทวดาได้รับความเดือดร้อนจึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลความทุกข์ของตน พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามหาสาเหตุ เมื่อภิกษุเหล่านั้นยอมรับว่าได้ทำเช่นนั้นจริง พระองค์ทรงติเตียนการกระทำเช่นนั้นแล้วทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามว่า
            “ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะพรากภูตคาม”
          ภูตคาม ได้แก่ พืชพันธุ์ ๕ ชนิด คือ
            ๑)    พืชพันธุ์เกิดจากเหง้า ได้แก่ ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ แฝก แห้วหมู ฯลฯ
            ๒)   พืชพันธุ์เกิดจากลำต้น ได้แก่ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นดีปลี ฯลฯ
            ๓)    พืชพันธุ์เกิดจากตา ได้แก่ อ้อย ไม่ไผ่ ไม้อ้อ ฯลฯ
            ๔)    พืชพันธุ์เกิดจากยอด ได้แก่ ผักบุ้งล้อม แมงลัก เถาหญ้านาง ฯลฯ
            ๕)    พืชพันธุ์เกิดจากเมล็ด ได้แก่ ถั่ว งา ข้าว ฯลฯ
            จะเห็นได้ว่า ภูตคามในที่นี้มีความหมายครอบคลุมพืชพันธุ์ในป่าทั้งหมด สิกขาบทข้อนี้นับว่าได้ช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ได้อย่างกว้างขวาง หากมีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พระสงฆ์จะมีคุณค่าต่อพระศาสนาและสังคมไม่น้อยเลย
                  ๔.๔สัปปานกสิกขาบท
            สิกขาบทเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต สิกขาบทนี้มีสาเหตุมาจากภิกษุชาวเมืองอาฬวีเช่นเดิม โดยภิกษุเหล่านั้นกำลังช่วยกันก่อสร้าง รู้อยู่ว่าน้ำมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ก็เอารดหญ้า รดดิน เหล่าภิกษุผู้มักน้อยติเตียน ประฌามการกระทำดังกล่าว และนำเรื่องนี้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ พระองค์จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามสาเหตุ เมื่อภิกษุเหล่านั้นยอมรับว่า ได้กระทำเช่นนั้นจริง ทรงติเตียนการกระทำเช่นนั้น แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
            “ภิกษุใดรู้อยู่ว่าน้ำมีสัตว์มีชีวิต รดหรือใช้ให้รดหญ้าหรือดิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์”
          สิกขาบทนี้ นอกจากจะทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์ ๑๐ ประการดังกล่าวแล้ว ยังมุ่งรักษาชีวิตของสัตว์ที่อยู่ในน้ำไม่ให้ถูกฆ่าและยังช่วยรักษาความสมดุลทางธรรมชาติด้วยเพราะสัตว์น้ำบางจำพวกเป็นห่วงโซ่อาหารของกันและกัน ช่วยรักษาสภาพของน้ำให้อยู่ในภาวะเหมาะสม
            ๔.๕ สัญจิจจสิกขาบท
            สิกขาบทเกี่ยวกับความจงใจฆ่าชีวิตสัตว์ สิกขาบทนี้มีสาเหตุมาจากพระอุทายีซึ่งในอดีตเคยเป็นนักยิงธนู และท่านไม่ชอบอีกา จึงยิงอีกาแล้วตัวหัวมาเสียบหลาวเรียงกัน ภิกษุทั้งหลายเห็นการกระทำของพระอุทายีไม่เหมาะสมก็ติเตียน ประณาม และนำเรื่องนี้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามเหตุ เมื่อพระอุทายีรับว่าได้ทำเช่นนั้นจริง พระองค์ทรงติเตียนโดยประการต่าง ๆ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
            “ภิกษุใดจงใจฆ่าสัตว์มีชีวิต ต้องอาบัติปาจิตตีย์”
          การฆ่าสัตว์โดยเจตนา นับว่าเป็นความเหี้ยมโหดมาก ไม่เหมาะสมกับสภาวะของภิกษุ แม้ฆราวาสบางคนก็ไม่ทำ ไฉนภิกษุที่เป็นพุทธสาวกจึงได้กระทำเช่นนี้ สิกขาบทนี้มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่า เพราะสัตว์ป่ามีจำนวนลดลงทุกวันจนน่าเป็นห่วง รัฐบาลต้องออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าและดำเนินมาตรการกับผู้ที่ชอบล่าสัตว์อย่างเด็ดขาด เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าไม่ให้สูญพันธุ์ นอกจากจะห้ามไม่ให้ภิกษุฆ่าสัตว์แล้ว พระองค์ทรงบัญญัติสูจิฆรสิกขาบท สิกขาบทเกี่ยวกับการห้ามภิกษุไม่ให้ทำกล่องเข็มด้วยกระดูกสัตว์ ด้วยงา หรือด้วยเขาของสัตว์ ภิกษุใดละเมิดไม่ปฏิบัติตามต้องอาบัติปาจิตตีย์
            ๔.๖  สิกขาบทที่ ๖ แห่งเสขิยวัตร
          เป็นสิกขาบทที่ภิกษุพึงสำนึกอยู่เสมอ หรือให้ภิกษุสำเหนียกอยู่เป็นนิจ สิกขาบทนี้เกี่ยวกับการเทน้ำล้างบาตรในละแวกบ้าน สาเหตุมาจากภิกษุชาวเมืองสุงสุมารคิระเทน้ำล้างบาตรที่มีเมล็ดข้าวในละแวกบ้าน พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณามการกระทำเช่นนั้น พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบทห้ามว่า
            “ภิกษุพึงทำความสำเหนียก (ระลึกอยู่เสมอ) ว่า เราจักไม่เทน้ำล้างบาตรที่มีเมล็ดข้าวลงในละแวกบ้าน”
          สิกขาบทนี้ ถ้าภิกษุรูปใดไม่เอื้อเฟื้อหรือปฏิบัติตาม ต้องอาบัติทุกกฏ อาบัติข้อนี้มีโทษน้อยกว่าอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุผู้ละเมิดจะต้องแสดงความผิดของตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน จึงจะบริสุทธิ์ สิกขาบทข้อนี้ได้ช่วยสร้างจิตสำนึกให้ภิกษุมีความรับผิดชอบ ไม่เป็นคนมักง่าย มุ่งให้รู้จักสถานที่ควรหรือไม่ควร การเทน้ำล้างบาตรไม่เป็นที่นับว่าได้ทำลายสภาพแวดล้อมให้เสื่อมโทรม เป็นบ่อเกิดแห่งโรค และปัญหานานัปการย่อมตามมา
            ๔.๗สิกขาบทที่ ๑๔, ๑๕, ๑๖ แห่ง เสขิยวัตร
          เกี่ยวกับการอนุรักษ์น้ำ สิกขาบทนี้มีสาเหตุมาจากภิกษุพวกหนึ่งได้ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลายลงในน้ำและพืช พวกชาวบ้านพากันติเตียนการกระทำดังกล่าว และภิกษุผู้มักน้อยได้นำเรื่องนี้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ พระองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามสาเหตุ เมื่อภิกษุเหล่านั้นรับสารภาพว่าได้กระทำอย่างนั้นจริง จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้ทำอีก ถ้าฝ่าฝืนต้องอาบัติทุกกฏ                
            จะเห็นได้ว่า สิกขาบทที่นำมาเสนอในที่นี้ล้วนมีความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหวังให้พระสงฆ์เป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีแก่สังคม มีการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายเกื้อกูลต่อธรรมชาติอันเป็นเหมือนเวทีสำหรับฝึกกายและวาจาให้เรียบร้อยดีงาม พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดี ย่อมส่งผลต่อจิตใจให้ดีไปด้วยอันจะช่วยให้การปฏิบัติบรรุเป้าหมายเร็วยิ่งขึ้น ฉะนั้น พระวินัยแต่ละสิกขาบทดังที่ได้ยกมากล่าวในที่นี้ จึงมีความเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ถึงแม้ว่าพระวินัยนี้ พระพุทธเจ้าได้บัญญัติขึ้นเพื่อใช้ปกครองคณะสงฆ์สมัยพุทธกาลก็ตาม แต่ก็สามารถนำมาใช้กับสมัยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
๕. วิเคราะห์สาระสำคัญของสิ่งแวดล้อมกับพระวินัย
          ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า สิ่งแวดล้อมมีความหมายกว้างขวาง ครอบคลุมทุกอย่างทั้งสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์เสริมสร้างขึ้น มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เพราะมนุษย์มีกำเนิดอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อม ฉะนั้นสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญและความจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ถ้าสิ่งแวดล้อมดีก็ส่งผลให้มนุษย์มีความเป็นอยู่สบายไม่เดือดร้อน จิตใจแจ่มใส หากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษย่อมส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังที่ พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตโต) กล่าวไว้ว่า “การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจะช่วยพัฒนาชีวิตให้มีธรรม เมื่อมนุษย์มีธรรม สิ่งแวดล้อมก็จะพัฒนาตาม แต่ถ้ามนุษย์อยู่อย่างไม่มีธรรมก็จะรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้และจะทำลายสิ่งแวดล้อม ถ้าเราจัดการกับสิ่งแวดล้อมไม่ถูกต้องสัตว์โลกรวมทั้งมนุษย์จะอยู่ไม่ได้”[12]
            สาระสำคัญของสิ่งแวดล้อมพอประมวลได้ดังนี้
            ๕.๑   ดิน
          ดิน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างหนึ่ง เป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสิ่งที่อยู่บนโลกนี้ แม้ทะเลก็อาศัยแผ่นดินรองรับเอาไว้ มนุษย์และสัตว์อาศัยแผ่นดินเป็นที่อยู่อาศัย สร้างบ้านเรือน ทำการเกษตร ทำเขื่อนอ่างเก็บน้ำ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องปั้นดินเผา ภาชนะต่าง ๆ ล้วนทำจากดิน สถาปัตยกรรมต่าง ๆ เช่น ธาตุเจดีย์ก็ทำจากดิน แม้ร่างกายของมนุษย์และสัตว์รวมทั้งพืชก็มีธาตุดินเป็นส่วนประกอบ ดินนับว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในโลกนี้เกิดกว่าจะพรรณนาได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าหากมนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์ของดินอย่างถูกวิธี ดินก็จะมีประโยชน์ต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่อไปอีกนาน
          การป้องกันการเสื่อมโทรมของดิน กระทำได้โดยการทำดังนี้
          ๑)      ไม่ทำลายป่าไม้
            ๒)     ไม่ทำไร่เลื่อนลอย
            ๓)     ปลูกพืชให้ถูกวิธี เช่น ปลูกพืชคลุมดิน ปลูกพืชหมุนเวียน
            ๔)     ปรับปรุงดินโดยยังใช้ปุ๋ยที่ผลิตจากธรรมชาติเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ การตัดไม้ทำลายป่า การจุดไฟเผาป่า การทำไร่เลื่อนลอย เป็นการทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ จะส่งผลให้การเกษตรเสียหาย และทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์
            ๕.๒  น้ำ
          น้ำ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตทั้งมนุษย์ สัตว์และพืช ล้วนต้องอาศัยน้ำ น้ำมีอยู่มากมายทุกคนทุกแห่ง ทั้งบนดิน ใต้ดิน ในอากาศ หรือแม้ในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ก็มีน้ำเป็นส่วนประกอบ มนุษย์ใช้ประโยชน์จากน้ำมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน เช่น ใช้ในการอุปโภค บริโภค สาธารณูปโภค มีการใช้อาบ ดื่ม ปรุงอาหาร ซักล้าง ทำความสะอาด ใช้ในการเกษตรกรรม กสิกรรม เลี้ยงสัตว์ เพาะพันธุ์และการประมง ใช้ในการคมนาคมขนส่งทางน้ำเพื่อทำการค้าขาย ใช้ในการอุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้า ใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจ และใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อทำรายได้ให้กับประเทศ เพื่ออนุรักษ์น้ำไว้ใช้ทำประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต มนุษย์ต้องรู้จักใช้อย่างชาญฉลาด และถูกวิธี
          การป้องกันน้ำเน่าเสีย กระทำได้ดังนี้
          ๑)      จัดให้มีหน่วยงานอิสระมารับผิดชอบต่อปัญหา
            ๒)     มีมาตรฐานในการควบคุมเกี่ยวกับคุณภาพของน้ำและมาตรฐานน้ำทิ้ง
            ๓)     ทำการศึกษาวิจัย
            ๔)     การเผยแผ่ต่อประชาชน ประชาสัมพันธ์ให้รู้จักวิธีการใช้น้ำอย่างเหมาะสม
            ๕)     ออกกฎหมายควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม
            นอกจากนี้แล้วทุกคนต้องมีจิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างประหยัด มีวินัยในการรักษาความสะอาด ไม้ทิ้งขยะมูลฝอยลงในแม่น้ำ ไม่ทำลายต้นกำเนิดของน้ำ ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ใช้สารเคมีเกินอัตราที่กำหนดไว้ ฝึกนิสัยให้ลูกหลานเป็นคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมไม่มักง่าย หากทุกคนช่วยกันอย่างจริงจังแล้ว น้ำก็จะไม่เป็นพิษ จะมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ พืช ตลอดไป
            ๕.๓   ป่าไม้
          ป่าไม้ นับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์และสัตว์ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มนุษย์ได้อาศัยป่าไม้ทำเป็นที่อยู่อาศัย สัตว์ก็อาศัยป่าไม้เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่หลบภัย ป่าไม้ช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่สรรพสัตว์ ทำให้ฝนตกตามฤดูกาล ช่วยอุ้มน้ำไม่ให้น้ำป่าท่วมอย่างฉับพลัน ป้องกันการไหลเซาะของน้ำ เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์และสัตว์ มนุษย์ได้รับประโยชน์จากป่าไม้เป็นจำนวนมหาศาล เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม ช่วยปรับอุณหภูมิในฤดูกาล ใช้ในการอุตสาหรรม ใช้เป็นอาหารของคนและสัตว์ โดยการนำเอาดอกผล ใบ เมล็ด หน่อ หัวของพืช และน้ำผึ้ง มาทำเป็นอาหาร ใช้เป็นยารักษาโรค เป็นสมุนไพรที่ปลอดภัย ใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม โดยใช้เส้นใยจากเปลือกเถาวัลย์ ใช้ยาง น้ำมันมาทำประโยชน์ในการทำเครื่องเขิน เครื่องหอม ทำกระดาษ สบู่ ยาขัดรองเท้า ฯลฯ นอกจากนี้แล้วยังได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากป่าไม้ เช่น ช่วยบรรเทาความร้ายแรงของพายุ ป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นเสมือนปอดของประเทศ
          การอนุรักษ์ป่าไม้
          ๑)      วางมาตรการอย่างเข้มงวดต่อการรักษาป่าแบบถาวรไม่ทำแบบไฟไหม้ฟาง
            ๒)     ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
            ๓)     ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ให้ทันสมัย
            ๔)     กำหนดบริเวณที่ทำกินให้แก่ชาวเขาอย่างถูกต้อง
            ๕)     รีบเร่งสร้างสวนป่า ปลูกป่า
            ๖)      ทะนุบำรุงป่าที่ดีอยู่แล้วให้คงสภาพความเป็นป่าที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
            ๗)     ปฏิรูปที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงฐานะ อาชีพ กิจการ ขนาดของครอบครัว
            ๘)     ส่งเสริมช่วยเหลือเอกชนและชมรมต่าง ๆ ในการปลูกป่า
            ๙)      กำหนดวิชาอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ในหลักสูตรของการศึกษาทุกระดับชั้น
            ๑๐)    ประชาสัมพันธ์ทางสื่อสารมวลชน
            ๑๑)    ป้องกันไฟป่า
            ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและประโยชน์มากมาย ต้องใช้เวลานานเป็นหลายร้อยปีพื้นที่ป่าจึงจะสมบูรณ์ได้ สมควรที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงความสำคัญของป่าและช่วยอนุรักษ์ไว้เพื่อให้มนุษย์และสรรพสิ่งที่อาศัยป่า ไม่สูญหายไปจากโลกนี้
ดังพระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  
คนไทยทุกคนตระหนักในความสำคัญของป่าไม้ว่ามีประโยชน์นานาประการ นอกเหนือจากจะช่วยขจัดอากาศที่เป็นพิษเป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์และเป็นคลังแห่งยารักษาโรคหลายพันหลายหมื่นชนิด ที่เราได้ใช้กันอยู่ ตลอดจนที่กำลังรอการค้นคว้าวิจัย อีกเป็นจำนวนมากแล้วเรายังทราบดีว่า ป่าไม้ทรงคุณค่ามหาศาลในการผลิตน้ำให้แก่เรา น้ำซึ่งเป็นความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ รวมไปถึงการเกษตรกรรมอุตสาหกรรมและการพัฒนาต่างๆ ของชาติ เราจึงมีการณรงค์ให้ปลูกป่าและปลูกต้นไม้ตามสถานที่ทั่วไปอย่างขันแข็ง เพื่อทนุบำรุุง สภาพแวดล้อม อันจะส่งผลดีไปถึงชาวโลกทั้งมวลต่อไปด้วย[13]
            ๕.๔   อากาศ
          อากาศ เป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์และพืช อากาศที่มนุษย์หายใจเข้าไปเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยออกซิเจน ๒๐.๙๔% ไนโตรเจน ๗๘.๐๙% คาร์บอนไดออกไซด์ ๐.๐๓% และก๊าซอื่น ๆ อีก ๐.๐๑% มนุษย์และสัตว์สามารถอดอาหารและน้ำได้หลายชั่วโมง แต่ไม่สามารถขาดอากาศได้เลย อากาศมีอยู่ทั่วไป ทั้งบนบก ในน้ำ และในร่างกายของสิ่งมีชีวิต เป็นส่วนประกอบของร่างกายอย่างหนึ่ง เรียกว่า อากาศธาตุ หรือวาโยธาตุ (ธาตุลม) นอกจากมนุษย์ใช้อากาศในการหายใจแล้ว มนุษย์ยังใช้ประโยชน์จากอากาศอีกหลายอย่าง เช่น การหุงต้ม การอุตสาหกรรมน้ำอัดลม การพักผ่อนหย่อนใจ การเล่นกีฬา การท่องเที่ยว เป็นต้น ถ้าอากาศบริสุทธิ์ย่อมส่งผลให้ร่างกายของมนุษย์แข็งแรง สุขภาพจิตดี หากอากาศเป็นพิษย่อมมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทั้งหมดและนำอันตรายมาสู่มนุษย์และสัตว์
          การควบคุมป้องกันและแก้ไขอากาศเป็นพิษ
            ๑)      ควบคุมแหล่งอันเป็นต้นตอของอากาศเป็นพิษ เช่น การใช้เชื้อเพลิง การเผาไหม้ ควบคุมปริมาณของสารพิษที่ออกมาจากปล่องควัน หรือท่อไอเสีย ควบคุมสถานที่ตั้งโรงงาน และตรวจสอบสภาพอากาศอยู่เสมอ
            ๒)     ควบคุมโดยการใช้กฎหมาย
            ๓)     การศึกษาวิจัย
            ๔)     การเผยแผ่ความรู้แก่ประชาชน
            นอกจากนี้แล้วหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเอาใจใส่ โดยถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันป้องกันมลพิษทางอากาศ สร้างจิตสำนึกให้กับผู้ประกอบการที่ต้องใช้เชื้อเพลิงในการทำธุรกิจ ประชุมสัมมนา หาแนวทางป้องกันและแก้ไข มีมาตรการที่เข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืน ถ้าหากทุกคนร่วมมือร่วมใจแล้ว เราก็จะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ
            เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของทรัพยากรธรรมชาตและสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อชีวิตของมวลมนุษย์ สัตว์และพืช การดำเนินชีวิตของมนุษย์ต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ จะแยกจากกันไม่ได้ ฉะนั้น มนุษย์จำต้องรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการไม่ทำลายให้เสียความสมดุลย์ทางระบบนิเวศวิทยา พระสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ และมีพระวินัยเป็นกฎระเบียบในการดำเนินชีวิต พระวินัยที่พระสงฆ์รักษานี้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด สามารถประยุกต์ใช้ได้มากน้อยแค่ไหน การที่พระสงฆ์จะเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผิดพระวินัยหรือไม่ คำตอบนี้อาจหาได้โดยการเปรียบเทียบสาระสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับพระวินัย
          ๖. หลักอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ
          หลักอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น สามารถประมวลได้ดังนี้ ข้อ ๑,๒ เป็นการบัญญัติพระวินัยเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวม เพื่อความเป็นระเบียบแห่งหมู่คณะ เมื่อภิกษุประพฤติปฏิบัติไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย หมู่คณะก็ไม่เดือดร้อน เพราะทุกรูปไม่มีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ข้อ ๓,๔ เป็นการบัญญัติพระวินัยเพื่อประโยชน์แก่บุคคล หรือภิกษุผู้รักษาพระวินัย เมื่อภิกษุรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัดก็เป็นการปิดทางแห่งความเสื่อม เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ น่าเคารพบูชาแก่ประชาชน ข้อ ๕,๖ เป็นการบัญญัติพระวินัยเพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์ หรือแก่ชีวิต ทั้งทางกายและทางใจ เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสีย ความทุกข์ความเดือดร้อนที่จะมีในปัจจุบันและอนาคต ข้อ ๗,๘ เป็นการบัญญัติพระวินัยเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนเพื่อให้เข้าได้เกิดศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติ การดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย น่าบูชากราบไหว้ ให้สมกับได้รับการยกย่องว่าเป็นเนื้อนาบุญจริง ๆ ข้อ ๙,๑๐ เป็นการบัญญัติพระวินัยเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนาคือความตั้งมั่นอยู่นานแห่งพระธรรมวินัย เมื่อพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้แล้วก็ยิ่งทำให้พระวินัยมั่นคงยิ่งขึ้น
            สิกขาบทที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พอสรุปได้ดังนี้
            ๑) สิกขาบทที่เกี่ยวกับการขุดดิน
            ๒) สิกขาบทที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์น้ำ
            ๓) สิกขาบทที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ต้นไม้
            ๔) สิกขาบทที่เกี่ยวกับการรักษาความสะอาดหรือรักษาสิ่งแวดล้อม
            ๖.๑    สิกขาบทที่เกี่ยวกับการขุดดิน
          ในสมัยพุทธกาล การขุดดินถือว่าเป็นการทำลายชีวิตสัตว์ เพราะประชาชนในสมัยนั้นมีความเชื่อว่าดินมีชีวิต มีอินทรีย์ จึงไม่ควรทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกนักบวชจะต้องงดเว้นไม่ทำลายเป็นอันขาด เมื่อพระสงฆ์พากันทำการก่อสร้าง ได้ขุดดินเพื่อนำไปก่อสร้างโบกฉาบกุฏิและทำศาลาโรงฉัน เป็นต้น ประชาชนจึงพากันติเตียน ประณามการกระทำนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องราว จึงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบทเพื่อห้ามไม่ให้ภิกษุทำเช่นนั้นอีก เพราะนอกจากประชาชนจะติเตียนแลวยังเป็นการทำลายชีวิตสัตว์ที่อาศัยอยู่ในดินอีกด้วย พระองค์ทรงมองเห็นประโยชน์นี้แล้ว จึงได้ทรงบัญญัติห้ามไว้ดังกล่าว
            เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์อันสูงสุดแล้ว หากพระสงฆ์มัวพะวงอยู่กับการก่อสร้างก็จะไม่มีเวลาบำเพ็ญสมณธรรมให้ถึงที่สุดทุกข์ได้ การที่พระสงฆ์รักษาพระธรรมวินัยข้อนี้เป็นการช่วยอนุรักษ์ดินไม่ให้เสื่อมคุณภาพโดยที่พระสงฆ์ไม่ได้ล่วงละเมิดพุทธบัญญัติแต่อย่างใด
            ๖.๒   สิกขาบทเกี่ยวกับการอนุรักษ์น้ำ
          พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้ภิกษุถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ และบ้วนน้ำลายลงบนของเขียว (พืช) และในน้ำ โดยให้พระสงฆ์มีจิตสำนึกอยู่เสมอ เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องใช้อุปโภคบริโภคประจำวัน หากไม่รักษาความสะอาด น้ำก็สกปรก ประชาชนก็ติเตียน ประณาม พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้นับว่าทรงมองเห็นประโยชน์ในอนาคตด้วย การที่พระสงฆ์รักษาพระวินัยข้อนี้นับว่าได้ช่วยรักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลองไม่ให้เน่าเสีย ทั้งไม่เป็นการล่วงละเมิดพุทธบัญญัติ เป็นผลดีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก ฉะนั้น พระสงฆ์ควรนำสิกขาบทข้อนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้มากกว่านี้ ให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ จะได้เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์โลกต่อไป
            ปัจจุบันคนส่วนมากจะขาดจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบต่อน้ำ มีนิสัยมักง่ายชอบทิ้งขยะตามใจฉัน โดยไม่สนใจว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เมื่อคนไม่มีระเบียบวินัย รัฐต้องจ่ายงบประมาณในการจ้างคนเก็บขยะ คนทำความสะอาด เมื่อขยะทับถมกันมากก็กลายเป็นบ่อเกิดโรค  ภยันตรายต่าง ๆ ย่อมตามมา ถ้าพระสงฆ์นำหลักพระวินัยข้อนี้มาประยุกต์กับการเทศนาสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชน ก็จะเป็นประโยชน์มิใช่น้อย
            ๖.๓   สิกขาบทเกี่ยวกับการอนุรักษ์ต้นไม้
          พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทนี้เพื่อห้ามภิกษุไม่ให้ตัดต้นไม้ เพราะว่า ประชาชนสมัยนั้นเชื่อว่าต้นไม้มีชีวิต (วิญญาณ) และมีเทวดาสิงสถิตอยู่ เมื่อภิกษุตัดต้นไม้มาทำการก่อสร้างย่อมทำความเดือดร้อนให้แก่เทวดาและเป็นการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ ประชาชนติเตียน ประณามว่าไม่เหมาะกับความเป็นสมณศากยบุตร เพื่อรักษาความศรัทธาของประชาชน พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ อนึ่ง ต้นไม้ที่ทรงห้ามตัดนี้มีความหมายครอบคลุมถึงพืชพันธุ์ทุกชนิดในป่า เนื่องจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกอาศัยป่าไม้เป็นที่พำนัก บำเพ็ญสมณธรรมเทศนาสั่งสอน และทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย อีกทั้งพระพุทธเจ้าเอง พระองค์ตรัสรู้กฎสูงสุดของธรรมชาติย่อมเข้าใจกฎแห่งความอิงอาศัยกันที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ชีวิตมนุษย์กับธรรมชาติจะแยกกันอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ขึ้น ก็นับว่าได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค้าทั้งทางด้านธรรมชาติและการปฏิบัติของพระสงฆ์และเป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม
            นอกจากสิกขาบทที่เกี่ยวกับการห้ามตัดต้นไม้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้ภิกษุก่อไฟผิง การก่อไฟนับว่าเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ตกในปัจจุบัน ไฟป่าได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงมาก เพราะได้ทำลายทุกอย่างของระบบนิเวศวิทยาสิกขาบทข้อนี้ช่วยอนุรักษ์ป่าไม้และช่วยป้องกันการเกิดมลพิษทางอากาศอีกด้วย จะเห็นได้ว่าพระวินัย ๒ ข้อนี้มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง ถ้าภิกษุปฏิบัติตามและนำมาแนะนำให้ประชาชนได้เข้าใจถึงโทษภัยของการตัดไม้ ทำลายป่า และการเกิดไฟป่า ก็จะเป็นประโยชน์แก่สังคมโลกโดยแท้
            ๖.๔   สิกขาบทเกี่ยวกับการรักษาความสะอาด หรือสภาพแวดล้อม
          สิกขาบทที่ห้ามภิกษุทิ้งเศษอาหารลงในละแวกบ้าน พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในเรื่องเสขิยวัตร (ข้อปฏิบัติที่ภิกษุจะต้องระลึกอยู่เสมอ) ภิกษุจะต้องฝึกเป็นนิสัยให้เป็นผู้รักความสะอาด การทิ้งขยะหรือเศษอาหารไม่เป็นที่ ย่อมทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและส่อถึงนิสัยของคนผู้ทิ้ง ประชาชนในสมัยนั้นต่างก็ประณามการกระทำของภิกษุ พระพุทธเจ้าทรงมองเห็นประโยชน์ทั้งทางด้านศาสนาและสภาพแวดล้อม จึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ให้แก่ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติตามเพื่อความดีงามแห่งคณะสงฆ์และเพื่อความสะอาดของบ้านเมือง
            ปัจจุบัน ปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาขยะล้นเมือง นับเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ ยิ่งในเขตเมืองหลวงที่มีประชาชนอยู่กันหนาแน่นยิ่งมีปัญหามาก สถานที่ท่องเที่ยวก็เต็มไปด้วยเศษขยะ ประชาชนขาดระเบียบวินัย ขาดจิตสำนึกที่ดี ไม่มีความรับผิดชอบร่วมกันถ้าพระสงฆ์นำสิกขาบทเหล่านี้มาใช้อบรมสั่งสอนประชาชนให้มองเห็นโทษภัยของการขาดระเบียบวินัยว่าได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์และส่งผลเสียหายต่อสังคมโลกแล้ว ก็จะเป็นการช่วยให้การรักษาพระวินัยของพระสงฆ์มีประโยชน์แก่สังคมโดยแท้ และไม่ขัดต่อการรักษาพระวินัยด้วย
            การศึกษาเปรียบเทียบสาระสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับพระวินัย ทำให้ทราบว่า การรักษาพระวินัยของพระสงฆ์นั้นได้ทำไปตามพุทธบัญญัติและสิกขาบทที่ได้ยกมา เปรียบเทียบก็มีวัตถุประสงค์โดยตรงที่จะให้พระสงฆ์นั้นได้ทำไปตามพระพุทธบัญญัติ และสิกขาบทที่ได้ยกมาเปรียบเทียบก็มีวัตถุประสงค์โดยตรงที่จะให้พระสงฆ์ปฏิบัติให้สอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมนี้พระสงฆ์ก็ได้ประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสของตนให้หมดสิ้นไปด้วยการอาศัยธรรมชาติที่มีอยู่ ต่างฝ่ายต่างอาศัยกันเกื้อกูลต่อกันย่อมส่งผลให้สังคมสงบสุขตลอดไป
๗. ประโยชน์ของพระวินัยที่มีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
          พระวินัยเป็นกฎระเบียบที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเพื่อใช้ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นสังคมตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนในด้านการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย ฉันน้อย นอนน้อย แต่ทำงานเพื่อสังคมมากและในขณะเดียวกันก็เป็นการจัดระเบียบสังคมสงฆ์ให้สอดคล้องสัมพันธ์กับกฎของธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ดังนั้น การที่พระสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัยจึงเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปด้วย ทั้งปฏิบัติตนให้บรรลุคุณธรรมด้วย จึงได้ประโยชน์ทั้งสองทาง
            ประโยชน์ของพระวินัยต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีดังนี้
            ๑)      ช่วยป้องกันไม่ให้ภิกษุตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งพืชพันธุ์ทุกชนิด
            ๒)     ช่วยป้องกันไม่ให้ภิกษุฆ่าสัตว์
            ๓)     ช่วยป้องกันไม่ให้ภิกษุทำลายดิน
            ๔)     ช่วยสร้างจิตสำนึกในการรักษาสภาพแวดล้อมให้คงความสมดุลทางธรรมชาติ
            ๕)     ช่วยป้องกันมลพิษทางอากาศ
            ๖)      เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ทำลายธรรมชาติ
          ประโยชน์ต่อสังคม
          เมื่อพระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยแล้วย่อมทำให้สังคมนั้น ๆ อยู่อย่างสงบ ไม่เดือนร้อน จึงพอประมวลประโยชน์ของพระวินัยที่มีต่อสังคมดังนี้
            (๑)     ช่วยสร้างความมีระเบียบวินัยให้แก่สังคม โดยพระสงฆ์ปฏิบัติเป็นตัวอย่าง
            (๒)    เมื่อภิกษุไม่ตัดไม้ทำลายป่าก็ส่งผลให้สังคมอยู่อย่างสงบสุข
            (๓)    ทำให้ประชาชนเกิดศรัทธาเลื่อมใสในการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์และปฏิบัติตาม
๘. บทสรุปและข้อเสนอแนะ
          พระวินัยกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นการเน้นย้ำให้พระสงฆ์มองเห็นสาระสำคัญของพระวินัยแต่ละข้อที่มีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้พระสงฆ์ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องประยุกต์พระวินัยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้     โดยเน้นให้ศึกษาปริบทของสังคมสมัยพุทธกาลแล้วนำมาเปรียบเทียบกับสมัยปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกล้วนใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ไม่ทำลายระบบนิเวศวิทยา ทั้งยังบัญญัติพระวินัยให้เกื้อกูลต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแม้ประชาชนเองต่างก็มองเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงกับเชื่อว่าแผ่นดินและต้นไม้มีชีวิต ใครทำลายจะต้องถูกครหาหรือถูกลงโทษ ปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายอย่างย่อยยับจนเกิดวิกฤตการณ์สภาวะแวดล้อมเป็นพิษทั่วโลก ทำให้กลุ่มนักอนรักษ์ธรรมชาติต้องรีบออกมารณรงค์เรื่องนี้เป็นการใหญ่
            จากการวิจัยครั้งนี้ได้พบความจริงอย่างหนึ่ง คือชีวิตทุกชีวิตของสัตว์โลกต้องดำเนินไปอย่างเกื้อกูลและสอดคล้องกับธรรมชาติ และได้พบปัญหาและอุปสรรค พอสรุปเป็นข้อสังเกต ข้อเสนอแนะได้ดังต่อไปนี้
            ๑)      พระสงฆ์ควรศึกษาพระวินัยให้เข้าใจถึงพุทธประสงค์อย่างแท้จริง แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับการอนุรักษ์ให้เป็นรูปธรรมให้มากกว่านี้ เพราะเท่าที่ผ่านมาพระสงฆ์ไม่ได้เอาใจใส่พระวินัยเท่าที่ควร      สักแต่ว่ารักษาพระวินัยตามประเพณีเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ พระวินัยย่อมหมดคุณค่าต่อสังคม
            ๒)     พระสงฆ์ควรจัดทำแผนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยประสานงานกับภาครัฐและเอกชน เพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เพราะที่ผ่านมา พระสงฆ์กับภาครัฐต่างฝ่ายต่างทำไม่ประสานการทำงาน จนบางครั้งภาครัฐไม่เข้าใจการทำงานของพระสงฆ์ ทำให้เกิดปัญหาขึ้น และพระสงฆ์ก็ขาดความรู้ด้านการอนุรักษ์ที่ถูกวิธี จึงทำให้การทำงานไม่บรรลุเป้าหมาย
            ๓)     พระสงฆ์ควรจัดให้มีการประชุมสัมมนา ชี้แจงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อจะได้ช่วยกันทั้งสองฝ่าย
            ๔) พระสงฆ์ควรประยุกต์หลักพระวินัยเพื่อการอนุรักษ์ให้สอดคล้องกับธรรมะเป็นไปในแนวเดียวกับธรรมะ เพราะในอดีตกาล พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยแก่พระสงฆ์ก็เพื่อให้เป็นระเบียบสำหรับฝึกกายวาจาให้มีความประพฤติเรียบร้อยดีงาม เพื่อนำให้เข้าถึงธรรม เป็นการจัดระเบียบชีวิตให้พัฒนายิ่งขึ้นโดยอาศัยพระวินัยดังกล่าว
            ๕)   รัฐบาลควรเอาใจใส่ดูแลอำนวยความสะดวกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพระสงฆ์ อาจจัดเจ้าหน้าที่ให้ไปอบรมพระสงฆ์ให้มีความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์และพัฒนาให้ทันสมัย
            ๖) รัฐบาลควรส่งเสริมสนับสนุนพระสงฆ์นักพัฒนา นักอนุรักษ์ โดยการประกาศเกียรติคุณเพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่สังคม
            หากพระสงฆ์ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ ศึกษาและเข้าใจพระวินัยอย่างถ่องแท้ ประยุกต์พระวินัยให้เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ได้อย่างสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมะ และภาครัฐก็ให้ความร่วมมือประสานงาน อำนวยความสะดวกดำเนินกิจกรรมทุกอย่างด้วยดีแล้ว ก็เชื่อได้ว่า พระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นเวลา ๒๕๔๐ ปี ก็ยังมีคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลกสืบไป
 
 
บรรณานุกรม
กรรณิการ์ พรมเสาร์. พระพุทธศาสนากับการเยียวยาธรรมชาติ. กรุงเทพฯ : ๒๕๓๖.
เครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อม ๓๘. ร่วมใจกันทำวันนี้. กรุงเทพฯ : แพลน พริ้นติ้ง, ๒๕๓๘.
จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สโมสร, ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม. สภาพแวดล้อมไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทประชาช่าง, ๒๕๓๘.
ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ และคณะ. พระพุทธศาสนาเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ. กทม : ธรรมศาสตร์, ๒๕๓๔.
ชัยอนันต์ สมุทวณิช และคณะธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วมของประชาชน และกระบวนการทางด้านสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ : สายธาร,  ๒๕๔๔.
ธรรมชาติศึกษา. สิ่งแวดล้อมโลก. กรุงเทพฯ : สำนักธรรมชาติศึกษา, ๒๕๒๒.
ประชา หุตานิวัตร, การเมืองสีเขียว. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิเด็ก, ๒๕๒๒.
ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์, นิเวศเศรษฐศาสตร์ และนิเวศวิทยาการเมือง. กรุงเทพฯ ; จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์, เศรษฐศาสตร์สีเขียว เพื่อชีวิตและธรรมชาติ. พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). การพัฒนาที่ยั่งยืน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๓๙.
­­________. วินัยเรื่องใหญ่กว่าที่คิด. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๓๘.
พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตโต). ธรรมะและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๓๘.
พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ. พุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพมหนคร : ธรรมสภา, ๒๕๓๖.
พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.. ๒๕๓๕. ธีระพล อรุณะกสิกรและคณะรวบรวม กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๒.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย. เล่มที่๑-๘. กรุงเทพมหานคร :
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกและอรรถกถา ภาษาไทย. เล่มที่ ๑–๑๐. กรุงเทพมหานคร :
โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔.
มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย. พระสงฆ์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์ แอนด์ พับลิชชิง, ๒๕๓๖.
วนิดา จิตต์หมั่น. ชีวิตกับสภาพแวดล้อม. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๗.
วิทยา ว่องกุล(บรรณาธิการ). วิกฤติโลก แผน World Bank ยึดประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, ๒๕๔๒. 
ศิริพต ผลสินธุ์. ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ : ดี ดี บุคสโตร์, ๒๕๓๑.
สมจิตร พงศ์พงัน. ภาวะแวดล้อมและนิเวศวิทยา. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๑๘.


[1] พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕. ธีระพล อรุณะกสิกรและคณะรวบรวม (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๒), หน้า ๘.
                [2]จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สโมสร, ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม, สภาพแวดล้อมไทย (กรุงเทพมหานคร : บริษัทประชาช่าง, ๒๕๑๘), หน้า ๑.
[3] ประชา หุตานิวัตร, การเมืองสีเขียว (กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิเด็ก, ๒๕๒๒), หน้า ๘-๙.
[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๖.
[5] ภัทรพร สิริกาญจน, หน้าที่ของพระสงฆ์ตามพุทธบัญญัติ. แนวคิดและบทบาทของพระคำเขียน สุวณโณ ในการพัฒนาชุมชน . งานวิจัยเสนอต่อสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘, หน้า ๙๗.
[6] วิ.มหา. (บาลี) ๑/๓๙/๒๖.
[7] วิ.มหา. (บาลี) ๑/๘๕/๕๖.
[8] วิ.ม. (บาลี) ๕/๓๐๕/๙๐.
[9] ที.ม.(บาลี) ๑๐/๒๑๖/๑๓๕.
[10] วิ.ม.(บาลี) ๔/๓๒/๒๗.
[11] วิ.มหา.(บาลี) ๒/๕๔๓/๔๒.
                [12]พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมมจิตโต), ธรรมะกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๓๘) หน้า ๒๐.
[13] พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในโอกาสเสด็จฯ ทรงเปิดการประชุมครั้งที่ ๒๖ ของสภาสตรีระหว่างประเทศ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔.

 

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕