หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย ดร.แม่ชี กฤษณา รักษาโฉม » ร่องรอยภิกษุณีในประเทศไทย
 
เข้าชม : ๑๗๕๖๘ ครั้ง

''ร่องรอยภิกษุณีในประเทศไทย''
 
ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม (2552)

หลักฐานในสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัยบันทึกไว้ว่า “พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระได้ไปยังแคว้นสุวรรณภูมิ แสดงธรรมให้ประชาชนฟัง พวกเขาเหล่านั้นเลื่อมใส ได้รับสรณคมณ์และศีล ประชาชน ประมาณ ๖๐,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม พวกเด็กในตระกูลประมาณ ๓,๕๐๐ ได้บวชแล้ว กุลธิดาประมาณ ๑,๕๐๐ นางได้บวชแล้ว พระเถระได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดำรงมั่นอยู่ในแคว้นสุวรรณภูมิ นั้นแล้ว จำเดิมแต่นั้นมา” จากข้อความเหล่านี้ประเด็นที่น่าสนใจคือกุลธิดาออกบวช ๑๕,๐๐ คน   อีกประเด็นหนึ่งคือ “สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน”? ในหนังสือสุวรรณภูมิอยู่ที่นี่ ที่แผ่นดินสยาม ได้กล่าวว่า “สุวรรณภูมิศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน ประเทศไทย”สรุปจากหลักฐานเอกสารเหล่านี้สุวรรณภูมิจึงอยู่ที่ประเทศไทย  พระโสณะและพระอุตตระมาที่ประเทศไทย     อรรถกถาได้กล่าวถึงพระเถระทั้งสอง ได้บวชกุลธิดา ๑,๕๐๐ แต่ไม่มีชัดเจนว่าบวชเป็นอะไร พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการบวชภิกษุณีแบบอัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา กุลธิดาทั้ง ๑,๕๐๐ คนในขั้นแรกน่าจะบวชเป็นสามเณรี การบวชเป็นสามเณรีต้องบวชจากภิกษุณีสงฆ์เท่านั้น ท่านทั้งสองน่าจะขอภิกษุณีจากเมืองปาฏลีบุตรมาบวชกุลธิดาเป็นสามเณรี แต่เรื่องราวเรื่องการบวชไม่ได้บันทึกไว้เหมือนเรื่องของพระมหินทเถระและพระนางสังฆมิตตาเถรี สามเณรีเหล่านั้นน่าจะได้บวชเป็นภิกษุณีในกาลภายหลังเมื่ออายุครบบวชแต่ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้    รังสี สุทนต์ นักวิชาการชาวไทย แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “กุลธิดา ๑,๕๐๐ คน บวชเป็นภิกษุณี เพราะในยุคอโศกมีภิกษุณี พระโสณะพระอุตตระอาจส่งข่าวไปกับพ่อค้าให้ส่งภิกษุณีมาสุวรรณภูมิ เหมือนส่งไปลังกา แต่ในอรรถกถาสมันตปาสาทิกาเล่าแบบสรุป เพราะมุ่งที่จะอธิบายพระวินัย ธรรมทูตทั้ง ๙ สาย มีบันทึกไว้ในสมันตปาสาทิกาอรรถกถา หมายความว่า พระธรรมทูตทั้ง ๙ สายต้องกลับไปเล่าสู่กันฟัง แต่ละสายได้พบเหตุการณ์อะไรบ้างและแสดงธรรมอะไรบ้าง สายสุวรรณภูมิได้แสดงพรหมชาลสูตร การที่จะทราบความเป็นไปของแต่ละสายได้นั้น หมายถึงพระธรรมทูตทั้งหลายได้กลับมาเล่าสู่กันฟัง

                  พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)แสดงข้อคิดเห็นว่า “เป็นเรื่องของตำนาน เพราะว่าไม่มีเรื่องราวเป็นหลักฐานเหมือนอย่างลังกา ลังกามีความชัดเจน มีพระมหินทรมาและมีเรื่องราว เรื่องที่มาสุวรรณภูมินี้มันเป็นแบบเดียวกับที่ไปรัฐต่างๆที่ไม่มีประวัติเล่าความเป็นมา อดิศักดิ์ ทองบุญ ตั้งข้อสังเกตว่า “คำว่าเด็กในตระกูลประมาณ ๓,๕๐๐ ได้บวชแล้ว กุลธิดาประมาณ ๑,๕๐๐ นางได้บวชแล้ว เป็นเพียงสำนวนเท่านั้น”
กกกกกกกกในประเทศไทย มีอุโบสถของภิกษุและภิกษุณีหลังเดียวกัน ข้างหนึ่งเป็นของภิกษุสงฆ์และอีกข้างหนึ่งเป็นของภิกษุณีสงฆ์ พื้นที่ในพระอุโบสถมี ๒ ส่วน มีมณฑปกั้นกลางในภายในอุโบสถสามารถเดินทะลุกันได้ บันไดลงมี ๒ ข้าง ภิกษุลงข้างหนึ่ง ภิกษุณีลงข้างหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า“อุโบสถสองสงฆ์”มีปรากฏอยู่ที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ สร้างในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์อันดับ ๗ ของราชวงศ์เม็งราย พ.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๔๔ สร้างเพื่อเป็นคติให้ระลึกถึงภิกษุณีในสมัยพุทธกาล และได้บูรณปฏิสังขรณ์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
กกกกกกกก วัดพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูนประเทศไทย ปรากฏมีอุโบสถภิกษุณีหลังเล็กๆ อยู่ระหว่างมณฑปพระอัฏฐารส และวิหารพระสังกัจจาย กว้าง ประมาณ ๕ เมตร ยาวประมาณ ๑๐ เมตร ไม่ปรากฏหลักฐานในการสร้าง ประชาชนเล่าสืบๆ กันมาว่าเป็นอุโบสถของภิกษุณี ไม่มีใครกล้ารื้อทิ้ง มีการซ่อมแซมตลอดมา  อุโบสถภิกษุและอุโบสถภิกษุณี หันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้าวัดเหมือนกัน แต่ต่างกันที่โบสถ์ภิกษุณีไม่มีเสาพัทธสีมาปักล้อมรอบ นั่นหมายความว่า ไม่ได้รับการผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต ต่างกันกับโบสถ์ภิกษุที่อยู่ฝากตรงข้ามมีหลักฐานการฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมา โบสถ์ทั้งสองหลังนี้แยกกันเป็นเอกเทศ ไม่รวมกันเหมือนโบสถ์ภิกษุภิกษุณีวัดพระสิงห์
กกกกกกกกจากการค้นเอกสารและสัมภาษณ์ชาวเชียงใหม่และลำพูน(บรรพชิตและคฤหัสถ์)ว่าไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการมีภิกษุณีเคยอาศัยอยู่ในวัดนั้นๆ เพียงแต่สร้างให้เป็นสัญลักษณ์เป็นคติให้ระลึกถึงภิกษุณีในสมัยพุทธกาลเท่านั้น และชาวเชียงใหม่มีคติความเชื่อว่าสร้างอุโบสถ รอภิกษุณีในสมัยพระศรีอาริยเมตไตรย   เมื่อพระศรีอาริยเมตไตรยมาแสดงธรรมให้กุลบุตรและกุลธิดาได้ฟัง ใครประสงค์จะบวชเป็นภิกษุและภิกษุณีก็สามารถบวชได้เพราะมีอุโบสถรองรับไว้แล้ว พรศิลป์ รัตนชูเดชให้เหตุผลว่า “เหตุที่มีการสร้างอุโบสถสองสงฆ์นี้ ก็เนื่องจากคติที่ว่า คณะสงฆ์ต้องประกอบไปด้วยฝ่ายภิกษุสงฆ์และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์จึงจะครบสมบูรณ์และมีคติความเชื่อว่าบ้านเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาจะต้องมีพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ครบทั้ง ๔ จำพวกจึงจะเกิดความเจริญรุ่งเรือง ถ้าขาดพุทธบริษัทจำพวกใดจำพวกหนึ่งย่อมเป็นอัปมงคล แสดงลางร้ายว่าอายุพระศาสนาใกล้จะหมดลงแล้ว ต่อจากนั้นจะถึงกลียุคเกิดสงครามล้างโลก บ้านเมืองต้องพินาศล่มจม ดังนั้นถึงแม้ไม่มีวงศ์ของภิกษุณีเข้ามาประดิษฐานในบ้านเมืองล้านนา เพราะภิกษุณีสงฆ์เถรวาทได้สิ้นสายไปแล้ว สันนิษฐานว่าพระเถระผู้รู้คงจะได้แก้ปัญหาความไม่สบายใจในเรื่องนี้ โดยแนะนำให้ทางบ้านเมืองจัดสร้างพระอุโบสถของภิกษุณีสงฆ์ประจำไว้สำหรับราชธานีสักแห่งหนึ่งเพื่อเป็นอนุสรณ์แก้เคล็ดเสมือนดังว่าในบ้านเมืองนี้ยังมีภิกษุณีบริษัทปรากฏอยู่ ย่อมจะมีแต่ความวัฒนาถาวรตลอดไปไม่มีที่สุด”
                  วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร ปรากฏมีรูปหล่อภิกษุณีอยู่ในวิหารหลังใหญ่ รูปหล่อหมู่พระอริยสาวิกา(ภิกษุณี) เป็นรูปพระภิกษุณีเถรีอยู่ในอิริยาบถต่างๆกัน จำนวนเท่าพระเถรีที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในฝ่ายภิกษุณีบริษัทคือ ๕๒ องค์ (นั่ง ๔๙ องค์ ยืน ๓ องค์) หล่อด้วยดีบุก ปัจจุบันได้ลงรักปิดทองกันชำรุด ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนเบื้องหน้าพระประธาน   เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเหล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพธิดาพระราชทานให้พระราชธิดา วัดนี้มีวิหารรูปหล่อภิกษุณีแต่ไม่เคยมีภิกษุณีมาอาศัยอยู่เลย เคยมีแม่ชีอาศัยอยู่ข้างวิหารภิกษุณีหลายท่านบัดนี้แม่ชีไม่มีอาศัยอยู่”
                  เมื่อถือตามอรรถกถาสมันตปาสาทิกาแล้ว เคยมีภิกษุณีเถรวาทในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการบันทึกไว้ หลังจากนั้นเสื่อมสูญไป และที่มีสัญลักษณ์ปรากฏคือโบสถ์ของภิกษณีและรูปหล่อนั้นเป็นเป็นการสร้างเพื่อระลึกถึงภิกษุณีในสมัยพุทธกาลเท่านั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีภิกษุณีมาทำสังฆกรรม  บันทึกการเดินทางของสมณะอี้จิง “ได้กล่าวถึงภิกษุณีในอาณาจักรศรีวิชัยถึงเรื่องการแต่งกาย”  พุทธศาสนามหายานรุ่งเรืองในอาณาจักรศรีวิชัย(ภาคใต้ของประเทศไทย) ภิกษุณีที่สมณะอี้จิงพบจึงเป็นภิกษุณีมหายาน
                  ที่ประเทศไทย ได้มีสตรีไทยไปบวชเป็นภิกษุณีที่ประเทศศรีลัง แล้วกลับมาอยู่ประเทศไทย ๕ กลุ่ม คือ ๑.กลุ่มจังหวัดนครปฐมมี ประมาณ ๔ รูป  ๒. กลุ่มจังหวัดเชียงใหม่ มีภิกษุณี ๒๕ รูป ๓. กลุ่มจังหวัดระยองมี ๓ รูป   ๔. กลุ่มจังหวัดยโสธร มี ๒ รูป   ๕. กลุ่มจังหวัดสมุทรสาครมี ๑ รูป   ผู้เขียนได้เห็นพัฒนาการของกลุ่มจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว   ภิกษุณีกลุ่มเชียงใหม่นี้อดีตเป็นแม่ชีมีสำนักของตัวเอง ชื่อว่า สำนักนิโรธาราม จังหวัดเชียงใหม่   หลังจากนั้นไปบวชจากประเทศศรีลังกาเมื่อ ค.ศ.2008 บวชทั้งหมด ๕ ท่าน ปัจจุบันนี้ในสำนักนิโรธาราม มีภิกษุณี ๕ รูป สามเณรี ๒๐ รูป  พระสงฆ์ในเชียงใหม่ยอมรับในการบวชเป็นภิกษุณีของกลุ่มภิกษุณีเชียงใหม่ ภิกษุณีที่เป็นเจ้าอาวาสชื่อว่า ภิกษุณีนันทิญาณี สอนวิปัสสนากรรมฐาน มีประชาชนศรัทธาพอสมควร ประเทศไทยเป็นเถรวาท การที่จะให้พระสงฆ์ยอมรับการบวชเป็นภิกษุณีนั้นยากมาก   สตรีที่อยากจะบวชในประเทศไทยจึงต้องบวชเป็นแม่ชี
                                                           
 
       
บรรณานุกรม
          [๑] วิ.อ.(บาลี) ๑/๖๘-๖๙.
           [๑] รังษี สุทนต์ อาจารย์บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สัมภาษณ์, ๓๑ กรกฏาคม ๒๕๕๐.
           [๑] อดิศักดิ์ ทองบุญ,กล่าวในวันรายงานความก้าวหน้าของวิทยานิพนธ์ ห้อง ๒๐๕,มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,วันที่ ๒๕ กรกฏาคม ๒๕๕๐.
        [๑]  วีรพล เชฏฐธง,จังหวัดลำพูน สัมภาษณ์. ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๐.
            [๑] พรศิลป์ รัตนชูเดช,อาจารย์ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สัมภาษณ์. ๗ตุลาคม ๒๕๕๐.
           [๑] พระวิสุทธิวราภรณ์,ในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๙,(กรุงเทพมหานคร:ไม่ปรากฏชื่อโรงพิมพ์,๒๕๔๙)หน้า ๓๔.
                 [๑] Peter Skilling, A Note on the History of the Bhikkhuni-sangha,p 214.,มหามกุฏราชวิทยาลัย,บาลีสันสกฤตวิชาการ,หน้า๒๐๓.
       
 
(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕