หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.,ดร. ๒ » สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์จริงหรือ
 
เข้าชม : ๒๘๕๖๗ ครั้ง

''สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์จริงหรือ''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. (2556)

 

๑. ความนำ 

 

 สตรีมักจะมีภาพพจน์ในแง่ร้าย เป็นความเชื่อ ที่ได้รับอิทธิพลจากคติทางพุทธศาสนาที่ว่า สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์ เป็นเหตุที่มาแห่งทุกข์[๑] จากท่าทีและมุมมองในลักษณะดังกล่าว รวมไปถึงการตั้งข้อสังเกตของนักวิชาการทางศาสนา และผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาทั่วไป  ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า  พระพุทธศาสนามองว่า สตรีเป็นมลทิน หรือเป็นศัตรูของพรหมจรรย์ใช่หรือไม่  หรือว่าจริง ๆ แล้วพระพุทธพจน์ข้อนี้ต้องการที่จะสื่อนัยที่ลึกซึ้งมากกว่านี้

            ฉะนั้น ก่อนที่ผู้เขียนจะตอบปัญหาที่ว่า สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์[๒] หรือไม่ จำเป็นที่จะต้องศึกษาบริข้อของพระพุทธเจ้าดังกล่าว  รวมไปถึงการวิเคราะห์ความหมายของคำว่า พรหมจรรย์เสียก่อนว่า หมายถึงอะไร  เมื่อเราเข้าใจ้อย่างแจ่มชัดเกี่ยวกับความหมายของพรหมจรรย์แล้ว  เราจึงจะสามารถตอบได้ว่า สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์จริงหรือไม่  ในความเป็นจริงแล้ว  พระพุทธศาสนามีท่าทีต่อสตรีในลักษณะเช่นนี้หรือไม่

 

พรหมจรรย์คืออะไร

          คำว่า พรหมจรรย์นี้  มาจากศัพท์ว่า พฺรหฺมซึ่งแปลว่า ประเสริฐและศัพท์ว่า จริยาซึ่งแปลว่า ความประพฤติ”   ฉะนั้น คำว่า พรหมจรรย์จึงหมายถึง พฺรหฺมํ จริยํ พฺรหฺมจริยํ[๓] แปลว่า ความประพฤติที่ประเสริฐนอกจากจะเป็นคำกิริยาที่หมายถึงการกระทำ ยังหมายถึงตัวบุคคลผู้กระทำด้วย ดังมีเนื้อหาตามที่ปรากฏในอรรถกถาแห่งอุโปสถสูตรที่ว่า พฺรหฺมํ เสฏฺฐํ อาจารํ จรตีติ  พฺรหฺมจารี[๔] แปลว่า บุคคลใด ย่อมประพฤติอาจาระอันประเสริฐ คือ ล้ำเลิศ เหตุนั้น บุคคลใด ชื่อว่า พรหมจารี” (ผู้ประพฤติอาจาระอันประเสริฐ

          เมื่อคำว่า พรหมจรรย์”  หมายถึง ความประพฤติอันประเสริฐนั้น  คำถามที่ก็คือว่า คำว่า การประพฤติประเสริฐ”  ตามที่ปรากฏในพุทธพจน์ที่ว่า สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์”  นั้น  มีนัยที่แสดงให้เห็นถึงความความประพฤติที่ประเสริฐอย่างไร

 

. การประพฤติพรหมจรรย์ หรือการประพฤติที่ประเสริฐมีลักษณะอย่างไร

          เมื่อวิเคราะห์ถึงนัยของคำว่า ประพฤติประเสริฐในพุทธพจน์ที่ว่า สตรีเป็นมลทินของการประพฤติอันประเสริฐนั้น  ย่อมเป็นที่แน่ชัดว่า หมายถึง เมถุนวิรัติ”  ฉะนั้น สิ่งที่จะต้องวิเคราะห์ต่อไปอีกก็คือว่า เมื่อคำว่า พรหมจรรย์หรือ การประพฤติที่ประเสริฐตามบริข้อนี้หมายถึง เมถุนวิรัตินั้น  คำว่า เมถุนวิรัติ นี้ หมายถึงอะไร  ทำไมพระพุทธเจ้าจึงมีจุดประสงค์ให้พระภิกษุงดเว้นจากสิ่งเหล่านี้  และมองว่า สตรีนั้นเป็นที่มาของสิ่งที่ก่อให้เกิดมลทินต่อพรหมจรรย์ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สตรีเป็นที่มาของเมถุนธรรม  ฉะนั้น สิ่งสำคัญก็คือ การศึกษาวิเคราะห์ถึงคำว่า เมถุนธรรม”  เพราะเมื่อเราเข้าใจถึงคำว่า เมถุนธรรมอย่างกระจ่างชัด ก็จะสามารถทำให้เราเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการที่พระพุทธศาสนามองว่า สตรีนั้นจะเป็นสิ่งขัดขวางมิให้การประพฤติพรหมจรรย์เจริญก้าวหน้าต่อไปได้

 

. เมถุนธรรมคืออะไร

          เมื่อถือเอาตามนัยแห่งฎีกาอุโปสถสูตร[๕] จะพบว่า คำว่า เมถุนนั้น จะมีนัยที่ตรงกันข้ามกับ เมถุนวิรัติ”  ดังจะเห็นว่า คำว่า พรหมจรรย์จะสอดรับกับคำว่า เมถุนวิรัติส่วนคำว่า เมถุนจะมีนัยที่สอดรับกับคำว่า อพรหมจรรย์หรือ อพฺรหฺมจริยํหรือ อเสฏฺฐจริยํ”  ซึ่งหมายถึง การประพฤติของคนไม่ประเสริฐ คือ คนเลว  หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ความประพฤติไม่ประเสริฐ คือ ทราม คือ เลว  ความหมายเหล่านี้ เป็นคำที่ส่อแสดงให้เห็นถึงคำว่า เมถุน

          ทำไมท่านจึงต้องมองว่า เมถุนเป็นสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายของความเลวทรามตามบริข้อนี้   และเมื่อพิจารณารายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเมถุนนี้ก็ไม่ได้มีประเด็นใดที่สามารถจะอธิบายให้เห็นถึงภาพของไม่ประเสริฐได้  ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับคำว่า เมถุนผู้เขียนจะนำเอาประเด็นของคำว่า เมถุนตามที่ปรากฏในอรรถกถาแห่งปฐมปาราชิกมาอธิบายเพิ่มเติม

          ในอรรถกถาปฐมปาราชิก[๖] ให้คำจำกัดความของคำว่า เมถุนเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า การเห็นก็ดี  การจับก็ดี  การลูบคลำก็ดี การถูกต้องก็ดี  การเบียดสีก็ดี  ซึ่งเป็นบริวารของกรรมนั้น  จัดเป็นกรรมชั่วหยาบ  แม้เพราะเหตุนั้น  กรรมนั้น  จึงเป็นกรรมชั่วหยาบ  กรรมชั่วหยาบนั้น  ชื่อว่า เมถุนธรรม”  หรือ น้ำอันบุคคลย่อมถือเอา เพื่อความสะอาดในที่สุดแห่งกรรมนั้น  เหตุนั้น กรรมนั้น ชื่อว่า มีน้ำเป็นที่สุด  กรรมมีน้ำเป็นที่สุดนั่นแล  ชื่อว่า โอทกันติกะ”  กรรมมีน้ำเป็นที่สุด ชื่อว่า เมถุนธรรม”  ธรรมนั้น เป็นกรรมลับ  เพราะความเป็นกรรมที่ต้องทำในที่ลับ คือ ในโอกาสอันปิดบัง  กรรมนั้น ชื่อว่า เมถุนธรรม”  กรรมนั้น ชื่ออันบุคคลเป็นคู่ ๆ พึงถึงร่วมกัน  ชื่อว่า เมถุนธรรม

          เมื่อพิจารณาจากความหมายของคำว่า เมถุนตามที่ปรากฏในอรรถกถาจะพบที่มาของคำว่า ไม่ประเสริฐ  เลวทราม หรือชั่วหยาบได้อย่างชัดแจ้งว่ามีที่มาอย่างไร  จะอย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์จากประเด็นนี้ จะพบว่า การเข้าไปเกี่ยวข้องกับเมถุนธรรมนั้น เมื่อกล่าวตามนัยที่ท่านอธิบายไว้จัดได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ประเสริฐ  แต่สำหรับวิถีของปุถุชนแล้ว  การเข้าไปเกี่ยวข้องอาจจะทำให้สภาพจิตเศร้าหมองเนื่องจากถูกราคะครอบงำ  แต่การเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างมีสติปัญญาตามวิสัยของปุถุชน โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนาก็มิได้ปฏิเสธต่อท่าทีดังกล่าว แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปในประเด็นนี้จะพบว่า พระพุทธศาสนามีท่าทีที่สนับสนุน และส่งเสริมให้ทุกคนได้หลีกออกจากเมถุน หรืองดเว้นจากเมถุน (เมถุนวิรัติ)

 

. ทำไมจะต้องงดเว้น

          เมื่อวิเคราะห์จากเนื้อหาตามที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาจะพบว่า ที่จะต้องงดเว้นก็เพราะเมถุนเป็นสิ่งที่ไม่ประเสริฐ เป็นความทราม หรือเลว แต่นัยที่สื่อมากไปกว่านี้ ท่านก็ไม่ได้บอกว่า ทำไมจึงไม่ประเสริฐ  ฉะนั้น เพื่อให้ประเด็นนี้แจ่มชัด จำเป็นที่จะต้องนำเอาเนื้อหาในในอรรถกถาตามที่ปรากฏในปฐมปาราชิกมาตอบในประเด็นนี้วา พระอรรถกถามองว่า  เมถุนธรรมได้ชื่อว่าเป็นอสัทธรรม  อสัทธธรรมคืออะไร ธรรมของพวกอสัตบุรุษ คือคนต่ำช้า   และทำไมเมถุนธรรมจึงเรียกว่า อสัทธรรม พระอรรถกถาจารย์มองว่า  อสัทธรรมนั้น เป็นของคนคู่ผู้กำหนัดแล้ว ผู้กำหนัดจัดแล้ว ผู้อันราคะชุ่มใจแล้ว  คือ ผู้อันราคะกลุ้มรุมแล้ว  เหตุนั้น จึงเรียกว่า เมถุนธรรม

          เมื่อสรุปจากประเด็นนี้จะพบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการที่จะต้องงดเว้นจากเมถุน  เพราะเมถุนนั้นเป็นที่มาของกิเลส  เมถุนจัดได้ว่าเป็นกามตัณหา โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศตรงข้าม การเข้าไปเกี่ยวข้องในเชิงเมถุนธรรมนั้น  เป็นที่มาของราคะ โทสะ และโมหะ  สิ่งเหล่านี้เป็นตัวยึดเหนี่ยวจิตเอาไว้ไม่ให้ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองไปสู่ความดีสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาได้  และนี่เองเป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งว่า เพราะเหตุใดจึงควรงดเว้น

 

. ผลของการงดเว้นคืออะไร

          ผลจากการงดเว้นนั้น  เราสามารถที่จะวิเคราะห์ได้จากกรณีศึกษาที่ปิปผลิมาณพ และนางภัททิกาปิลานี   พากันเว้นจากเมถุน ไม่ได้ถูกเนื้อต้องร่างกาย ในขณะเดียวกันก็มิได้แสดงอาการที่จะนำไปสู่การมีเมถุนธรรมนั้น  เป็นเหตุให้ทั้งคู่บรรลุธรรมเป็นพระพระอรหันต์ในที่สุด 

          จากกรณีศึกษาที่ได้นำมานำเสนอนั้นทำให้เกิดคำถามขึ้นมาเช่นเดียวกันว่า จริงๆแล้ว ทั้งคู่ได้บรรลุอรหัตผล เพราะการงดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียวจริงหรือไม่หรือว่า  ทั้งคู่ได้ใช้หลักการนี้เป็นฐานในการเข้าถึงความจริง  โดยมีองค์ธรรมอื่น ๆ เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการบรรลุธรรม   คำถามที่น่าวิเคราะห์ถัดจากประเด็นนี้ก็คือว่า  ผู้ที่จะบรรลุนิพพานนั้น จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเว้นขาดจากการมีเพศสัมพันธ์

 

. “เมถุนวิรัติจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเป็นสมณะในทุกกรณีหรือไม่

เนื่องจากมีพระภิกษุบางนิกายในประเทศญี่ปุ่น และในประเทศเกาหลีใต้สามารถที่จะมีเพศสัมพันธ์กับสตรีในขณะที่ดำรงสมณเพศเป็นพระภิกษุได้ แต่เมื่อย้อนกลับมาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของพระภิกษุที่อยู่ในสังคมไทยพบว่า พระภิกษุในสังคมไทยมีท่าทีที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ พระภิกษุในสังคมไทยนั้น ดำรงตนที่สอดรับกับหลักพระวินัยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การงดเว้นจากมีเพศสัมพันธ์กับสตรี และสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย  ปัญหาที่เกิดตามมาก็คือ การงดเว้นจากเมถุนธรรมนั้น จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเป็นสมณะหรือไม่เราสามารถที่จะดำรงตนเป็นพระภิกษุ และสามารถที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้โดยที่ไม่ขาดจากความเป็นพระภิกษุได้หรือไม่

ดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วก็คือ ท่าทีของการมีเพศสัมพันธ์ในพระพุทธศาสนามหายานบางนิกายตามที่ปรากฏในประเทศญี่ปุ่น พระภิกษุในนิกายเหล่านั้น มองว่า เป็นสิ่งที่พระภิกษุสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นได้ แต่เมื่อกล่าวถึงพระภิกษุในฝ่ายเถรวาทไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในประเทศใดก็ตาม ล้วนมีท่าทีที่ปฏิเสธและไม่ยอมรับการที่พระภิกษุเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเมถุนธรรม ซึ่งเหตุผลของการที่พระภิกษุในฝ่ายเถรวาทจะต้องงดเว้นจากเรื่องเหลานี้เกิดจากเหตุผลดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น ในขณะเดียวกัน  พระภิกษุในฝ่ายเถรวาทนั้น มีพระวินัยที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  บัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่องสตรี  ซึ่งโทษที่หนักที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ การขาดจากความเป็นพระภิกษุ  ซึ่งถือว่าเป็นโทษที่รุนแรงอย่างยิ่ง

          ฉะนั้น จะเห็นว่า  เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ  ผลดีจากการพยายามที่จะงดเว้นจากเรื่องของกามก็คือ การทำให้มนุษย์แต่ละคนได้มีโอกาสที่จะเข้าถึงความจริงได้ง่ายยิ่งขึ้น  เนื่องจากเรื่องกามนั้นเป็นตัวเหนี่ยวรั้งให้มนุษย์ไม่สามารถที่จะเข้าถึงความจริงได้อย่างรวดเร็ว  ซึ่งผลเสียของกามก็คือ การทำให้สภาพจิตของมนุษย์เกิดความเศร้าหมอง  เกิดความกำหนัด ลุ่มหลง และมัวเมา หากเราไม่สามารถที่จะใช้สติพิจารณาอย่างรอบด้าน 

          อาจจะเป็นเพราะสาเหตุเหล่านี้  พระพุทธศาสนาจึงพยายามที่จะให้พระภิกษุตัดบ่วงกิเลสเหล่านี้  โดยชี้ให้เห็นว่า หากฆราวาสเข้าไปข้องเกี่ยวด้วยท่าทีที่ไม่ถูกต้องก็ย่อมทำให้ศีลไม่บริสุทธิ์ได้  แต่สำหรับพระภิกษุแล้ว พระพุทธเจ้าชี้ชัดว่า หากภิกษุรูปใดมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ก็ตาม ย่อมขาดจากความเป็นพระ หรือแม้จะเกี่ยวพาราสี หรือถูกเนื้อต้องตัวด้วยจิตที่กำหนัด ย่อมเป็นอาบัติสังฆาทิเสส  จะเห็นว่า เรื่องกาม หรือเมถุนสำหรับพระพุทธเจ้าแล้ว  สำหรับโลกียวิสัยพระองค์ก็ไม่ได้ปฏิเสธหรือห้ามมิให้กระทำ ฆราวาสสามารถที่จะทำได้ แต่ต้องทำด้วยสติปัญญา  แต่สำหรับพระภิกษุแล้วพระองค์ทรงปิดช่องทางดังกล่าวอย่างชัดเจน  และเมื่อวิเคราะห์ในประเด็นของการพัฒนาตนเองแล้ว พระองค์ทรงหวังผลในเชิงสังคมด้วยเช่นกัน เนื่องจากวิถีชีวิตดังกล่าวนั้น เป็นวิถีชีวิตที่แตกจากผู้ครองเรือน

 

. สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์จริงหรือไม่

เมื่อเราได้ทราบถึงแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับความหมายของคำว่า พรหมจรรย์นั้น  หมายถึง เมถุนวิรัติ”  อันหมายถึง การที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งเน้นให้พระภิกษุงดเว้นจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเมถุนธรรมในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งได้แก่  การเห็น หรือการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับสตรีในรูปแบบต่าง ๆ  อันจะกลายเป็นที่มาของกิเลส และตัณหา  ซึ่งกิเลสและตัณหาเหล่านี้ก็คือมลทินนั่นเอง

ปัญหาก็คือว่า  การที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า สตรีเป็นมลทินของพรหมจรรย์นั้น  ท่าทีในลักษณะนี้ค่อนข้างจะเป็นแง่มุมในเชิงลบต่อสตรี   แต่เมื่อวิเคราะห์จากบริข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสในลักษณะนี้จะเห็นว่าเป็นการตรัสตอบเทวดาที่พยายามจะทูลถามพระพุทธเจ้า ถึงกระนั้นการสื่อในบริข้อนี้เป็นการสื่อสองทาง ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสกับสตรีพระองค์มักจะมุ่งเน้นโทษภัยที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่สตรีมีท่าทีที่ไม่ถูกต้องต่อบุรุษเช่นกันดังที่ตรัสไว้ในรูปาทิวรรค[๗]

ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงคำว่า มลทินนั้น  จึงหมายถึง การความด่างพร้อย  ความด่างพร้อยเช่นนี้จะเกิดขึ้นในกรณีที่พระภิกษุเข้าไปเกี่ยวข้องกับสตรี และไม่ได้มีท่าทีรู้เท่าทันต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์กับสตรี

เมื่อมองในลักษณะนี้  พระพุทธเจ้ามิได้มีท่าทีในแง่ลบต่อสตรีแต่ประการใด  ดังจะเห็นว่า เมื่อกล่าวในเชิงโลกิยะนั้น พระองค์ก็ทรงสอนหลักธรรมที่สามารถนำใช้ในการดำเนินชีวิตคู่  เช่น ทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว  สอนหน้าที่ที่สามีและภรรยาจะพึงปฏิบัติต่อกัน  การนำเสนอธรรมะในลักษณะนี้พระองค์ก็มิได้มองว่า สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์แต่ประการใด 

นอกจากนั้นแล้ว  การรับนิมนต์เพื่อไปฉันภัตตาหารที่บ้านของหญิงโสเภณีหลายท่าน เช่น นางอัมพปาลีและนางสิริมา   พระองค์ก็มิได้มีท่าทีรังเกียจ หรือมองโสเภณีเหล่านี้ในแง่ลบแต่ประการใด  ฉะนั้น คำว่า มลทินหรือ ศัตรูนั้น หมายถึง อุปสรรคอันจะเกิดขึ้น หากพระภิกษุมีท่าทีที่ไม่ถูกต้องต่อสตรี  ไม่ได้หมายความว่า ผู้หญิงนั้นตั้งใจ หรือจ้องที่จะทำลายพรหมจรรย์ของพระภิกษุแต่ประการใด  การนำเสนอในลักษณะนี้  เป็นการชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงสองประการ กล่าวคือ พรหมจรรย์กับสตรีนั้นไปด้วยกันไม่ได้  เมื่อพูดถึงสตรีที่จะบำเพ็ญเพียร  บุรุษก็เป็นศัตรูของพรหมจรรย์เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่า ความเป็นผู้หญิงนั้นมีอิทธิพลชักจูง หรือครอบจิตใจของชายให้หลงใหลได้  การใกล้ชิดสตรีย่อมทำให้การฝึกตนเพื่อละราคะ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก  ในแง่นี้ผู้หญิงไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ  แต่ตรงข้ามความน่าพึงใจต่างหากที่เป็นศัตรูของพรหมจรรย์  ความพึงพอใจทางเพศนี้เป็นเรื่องของสัตว์โลกทั้งสิ้น หาใช่เฉพาะมนุษย์ไม่  การที่บุรุษติดเนื้อต้องใจสตรีจึงเป็นธรรมดาของโลก  หาใช่ว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายเลวหรือผู้ชายดูหมิ่นผู้หญิงที่เป็นสิ่งพึงปรารถนาของตนไม่   ดังจะเห็นได้จากเนื้อหาตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกที่ว่า

หญิงทั้งหลายในโลกย่อมย่ำยีชายผู้ประมาทแล้ว

พวกหล่อนย่อมชักจูงจิตของชายหนุ่มไป  เหมือนลมพัดปุยนุ่นที่พลัดตกจากต้น สภาพนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นเหวสำหรับพรหมจรรย์[๘]

  

จากข้อความดังกล่าวข้างต้นนี้  หากพิจารณาโดยผิวเผินดูประหนึ่งว่าหญิงจงใจทำลายพรหมจรรย์ของชายผู้รักษาพรหมจรรย์  แต่ความที่เปรียบจะเห็นได้ว่าพรหมจรรย์เป็นสิ่งที่เคลื่อนได้ง่ายเหมือนปุยนุ่น ส่วนธรรมชาติของผู้หญิงนั้นมีอำนาจรุนแรงเหมือนลมย่อมจะทำให้พระภิกษุขาดจากพรหมจรรย์ได้ง่าย  หากไม่สำรวมจิตใจของตนเองให้ดีแล้ว  แม้ผู้หญิงจะไม่ได้ตั้งใจครอบงำจิตใจของบุรุษ  ความหลงก็ทำให้บุรุษนั้นเองละทิ้งพรหมจรรย์  ดังจะเห็นได้จากกรณีสามเณรซึ่งเป็นหลานของพระจักขุบาลซึ่งได้ยินเสียงหญิงคนหนึ่งร้องเพลง  ไม่สามารถที่จะควบคุมจิตใจของตนเองได้  จึงเกี่ยวพาราสีและมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวในที่สุด  ในกรณีเช่นนี้จะพบว่า  หญิงสาวก็มิได้เป็นบ่อเกิดที่ทำให้สามเณรมีศีลเศร้าหมอง มิได่ก่อกวนให้สามเณรประพฤติผิดพรหมจรรย์แต่ประการใด   แต่เนื่องจากเสน่ห์ของหญิงเก็บฟืนจึงทำให้สามเณรประพฤติผิดพรหมจรรย์  ในกรณีที่คล้ายคลึงกันเช่นนี้  พระพุทธเจ้าจึงทรงย้ำเตือนพระภิกษุทั้งหลายเอาไว้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นรูปอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้เหมือนรูปสตรีนี้    ภิกษุทั้งหลาย    รูปสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้    

เราไม่เห็นเสียงอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้เหมือนเสียงสตรีนี้    เสียงสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้ 

เราไม่เห็นกลิ่นอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้เหมือนกลิ่นสตรีนี้    กลิ่นสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้ 

เราไม่เห็นรสอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้เหมือนรสสตรีนี้    รสสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้

เราไม่เห็นโผฏฐัพพะ(การสัมผัสทางกาย)อื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้เหมือนโผฏฐัพพะสตรีนี้    โผฏฐัพพะสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษอยู่ได้[๙]

สตรีแม้เดินอยู่ก็ครอบงำจิตของบุรุษได้  แม้ยืนอยู่  แม้นั่งอยู่ แม้นอนอยู่ แม้หลับอยู่ แม้หัวเราะอยู่ แม้พูดอยู่  แม้ขับร้องอยู่  แม้ร้องไห้อยู่  แม้พองขึ้น แม้ตายแล้วก็ครอบงำจิตของบุรุษได้[๑๐]

 

 จากพุทธพจน์ดังที่ได้นำเสนอแล้วนั้น  จะพบว่า พระดำรัสที่ว่า สตรีเป็นมลทิน หรือเป็นศัตรูของพรหมจรรย์นั้น  เป็นพระดำรัสที่พระองค์ตรัสขึ้นมาเพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า หากภิกษุไม่สำรวมอินทรีย์ของตนเองแล้ว  เมื่อต้องไปปฏิสัมพันธ์กับสตรีในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งจึงทำให้เกิดปัญหา หรือการประพฤติผิดพระวินัยของพระภิกษุได้ง่ายยิ่งขึ้น  แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า  สตรีนั้นเป็นเพศที่เลวร้ายหรือเป็นอันตรายต่อพระภิกษุ   หรือสตรีนั้นเป็นเค้าลางที่ก่อให้เกิดความหายนะต่อการประพฤติพรหมจรรย์  หากแต่พระองค์ต้องการที่จะย้ำเตือนให้พระภิกษุทั้งหลายได้เข้าใจว่า  เมื่อจะต้องเข้าไปปฏิสัมพันธ์นั้น  ควรที่จะระมัดระวังอินทรีย์ของตนเอง

จากประเด็นเหล่านี้  จึงทำให้เกิดคำถามที่จะต้องหาทางออกในหัวข้อต่อไปว่า  แท้ที่จริงแล้ว พระองค์ทรงห้ามมิให้พระภิกษุเกี่ยวข้องกับสตรี  หรือว่า พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า พระภิกษุสามารถที่จะเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับสตรีได้  แต่ควรมีท่าทีที่ถูกต้องต่อการเข้าไปปฏิสัมพันธ์

 

. พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้เกี่ยวข้องกับสตรี หรือทรงสอนให้มี
     ท่าทีที่ถูกต้องต่อสตรี

           เมื่อวิเคราะห์ท่าทีของพระพุทธเจ้าต่อประเด็นนี้ เราสามารถที่จะวิเคราะห์ได้จากจริยวัตรของพระองค์    และพฤติกรรมของพระสาวกในสมัยพุทธกาลในหลายรูปว่า แสดงออกต่อเรื่องเหล่านี้อย่างไร  

           สตรีหรือผู้หญิงนั้น ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้านั้น ทรงยกย่องให้เป็นหนึ่งในพุทธบริษัท ๔   และเมื่อพิจารณาถึงความเป็นไป และการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลนั้น  สตรีก็ถือว่าเป็นกลุ่มอีกกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่พระพุทธศาสนา  ดังจะเห็นได้จากกลุ่มของภิกษุณีหลายรูป เช่น นางปชาบดีโคตมี  นางเขมา  นางอุบลวรรณาเถรี  สตรีเหล่านี้  ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล

ในขณะเดียวกัน สตรีที่มิได้อุปสมข้อเป็นภิกษุณี  เช่น  นางวิสาขามหาอุบาสิกา ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ที่สร้างวัดให้เป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุ  นอกจากนั้นแล้ว  ยังเป็นผู้ที่คอยให้การอุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔ แก่พระพุทธเจ้าและเหล่าภิกษุที่มาจากทิศต่าง ๆ ด้วย  และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การที่นางวิสาขาได้รับมอบหมายจากพระพุทธเจ้าให้ทำงานร่วมกับพระอุบาลีในการพิจารณาคดีที่ภิกษุณีนางหนึ่งซึ่งตั้งครรภ์ในขณะที่เป็นภิกษุณี   ซึ่งการทำงานร่วมกันในครั้งนี้  สามารถทำให้ภิกษุณีรูปดังกล่าวนั้นพ้นจากมลทิน  โดยนางชี้ให้เห็นว่า ภิกษุณีรูปดังกล่าวนั้นตั้งครรภ์ก่อนที่จะอุปสมข้อ และในวาระสุดท้ายของชีวิตภิกษุณีท่านนั้นสามารถบรรลุธรรมสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา[๑๑]

จากท่าทีเหล่านี้จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอริยสาวกล้วนมีวิถีชีวิตที่จะต้องอาศัยปัจจัย ๔  จากสตรี และนอกจากนั้น  ยังได้มีโอกาสในการทำงานร่วมกันในลักษณะต่างๆ จนสามารถทำให้พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงยุคปัจจุบัน

 

จากบางแง่มุมเหล่านี้จะเห็นว่า พระพุทธเจ้า และเหล่าพระอริยสาวกก็ยังจำเป็นที่จะต้องปฏิสัมพันธ์กับเหล่าสตรีอยู่  พระองค์ไม่ได้เน้นสอนให้พระภิกษุดำรงอยู่ชีวิต หรือมีวิถีชีวิตที่แปลกแยกจากสตรีแต่ประการใด 

แต่สิ่งที่น่าวิเคราะห์ก็คือว่า มีพระวินัยหลายข้อด้วยกันที่เป็นบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้พระภิกษุได้แสดงออก หรือกระทำต่อสตรี  เช่น  ห้ามเสพเมถุน  ห้ามอยู่ในสถานที่ลับตาสองต่อสอง ห้ามเกี่ยวพาราสีสตรี ท่าทีที่พระองค์บัญญัตินั้น เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนเฉพาะพระภิกษุเท่านั้น  มิได้ห้ามสตรีที่เป็นคฤหัสถ์แต่ประการใดทั้งสิ้น   เราจะพบว่า  ข้อห้ามเหล่านี้  เป็นการจัดกรอบ หรือจัดระเบียบที่มุ่งผลในเชิงสังคมวิทยา  เชิงจิตวิทยามวลชน  นอกเหนือจากการมุ่งไปที่เป้าหมายหลักคือเป้าหมายในเชิงจริยศาสตร์ดั้งที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น

ข้อห้ามเหล่านี้ หากมองในเชิงจริยศาสตร์นั้น  เป็นการป้องกันอาสวะกิเลสที่จะเกิดจากการ ปฏิสัมพันธ์ของพระภิกษุที่มีต่อสตรี   และนอกจากการป้องกันแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการป้องปรามมิให้พระภิกษุบางรูปได้สร้างความเสื่อมเสียให้แก่สังคมสงฆ์และตัวเองด้วย

แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้วจะพบว่า ข้อห้ามตามที่ปรากฏในพระวินัยนั้น มิได้หมายความว่าเป็นข้อห้ามอย่างเด็ดขาดในทุกกรณี  กล่าวคือมิให้เกี่ยวข้องในทุกกรณี  จะเห็นว่า ในกรณีใดก็ตามที่เป็นการเกี่ยวข้องแล้วมิได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมโดยรวม และมิได้ก่อให้เกิดความเศร้าหมองทางจิตแล้ว พระองค์ก็ได้มีท่าทีที่จะปฏิเสธแต่ประการใด  ดังจะเห็นได้จากกรณีของนางวิสาขากับพระอุบาลีดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น

เมื่อเราได้พิจารณาอย่างรอบด้านแล้วทำให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็มิได้มีท่าทีต่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระภิกษุกับสตรีในแง่ลบ   แต่สิ่งที่พระองค์ทรงย้ำเตือนให้พระภิกษุได้สังวรต่อเรื่องเหล่านี้ก็คือ ให้พระภิกษุมีท่าทีที่ถูกต้องต่อเรื่องเหล่านี้ 

 

๑๐.     พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พระภิกษุมีท่าทีหรือมีกฎเกณฑ์

สำหรับการปฏิสัมพันธ์กับสตรีอย่างไร

          สิ่งที่สามารถชี้ให้เห็นถึงกรอบ หรือกฎเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำเตือนพระภิกษุต่อกรณีที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องหรือปฏิสัมพันธ์กับสตรีนั้น  เราสามารถที่จะศึกษาวิเคราะห์ได้จากข้อมูลด้านเอกสารตามที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฏก และคัมภีร์อื่นๆ  ที่พระองค์ได้นำเสนอเอาไว้อย่างน่าสนใจ

          จะเห็นว่า จากท่าทีที่ไม่แจ่มชัดนักเกี่ยวกับพระภิกษุและสตรีนั้น  ควรที่จะมีหลักการ หรือกรอบเบื้องต้นในเรื่องเหล่านี้อย่างไร  พระอานนท์จึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ควรที่จะปฏิบัติตนต่อสตรีอย่างไร  ดังมีเนื้อความที่ปรากฏในมหาปรินิพพานสูตรตอนหนึ่งว่า

ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า พวกข้าพระองค์จะปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อย่าดู

            “เมื่อจำต้องดู จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า

            “อย่าพูดด้วย

            “เมื่อจำต้องพูด จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า

            “ต้องตั้งสติไว้[๑๒]

  

          จะเห็นว่า ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้ามิได้ได้ทรงมีท่าทีในเชิงปฏิเสธว่า อย่าพบปะหรือพูดคุยกับสตรี  สิ่งเหล่านี้พระภิกษุสามารถที่จะทำได้  แต่การแสดงออกในลักษณะเหล่านี้ควรที่จะยืนอยู่บนฐานของสติ หรือมีความรู้เท่าทันเมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง เป็นต้น  เมื่อเป็นเช่นนี้ศีลหรือวินัยของพระภิกษุก็จะไม่เศร้าหมอง

          ในขณะเดียวกัน คำว่า มีสตินั้น  พระอรรถกถาจารย์ได้ชี้ให้เห็นว่า ภิกษุต้องตั้งสติทุกขณะจิตตลอดเวลาที่ปฏิสัมพันธ์กับสตรี  ห้ามพลั้งเผลอ  ต้องควบคุมจิตให้คิดในทางที่ดีงามต่อสตรีหรือควบคุมจิตให้คิดต่อสตรีในทางที่ดีงาม  เช่น  รู้สึกว่าเป็นแม่ในสตรีที่อยู่ในวัยแม่  รู้สึกว่าเป็นพี่สาว น้องสาว ในสตรีที่อยู่ในวันที่เป็นพี่สาวเป็นน้องสาว  รู้สึกว่าเป็นลูกสาวในสตรีที่อยู่ในวัยสาวๆ[๑๓]

          ในขณะเดียวกัน  นัยสำคัญอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับท่าทีที่พระภิกษุพึงจะมีต่อสตรีนั้น  มีปรากฏอยู่ในภารทวาชสูตร  ซึ่งพระเจ้าอุเทนได้ตรัสถามท่านปิณโฑลภารทวาชะว่า เหตุใด  พระภิกษุหนุ่มๆ มีผมดำสนิท  จึงยังไม่หมดกามราคะ  จึงบวชอยู่ได้นาน หรือบวชได้ตลอดชีวิตท่านชี้ให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า

 

 “ภิกษุทั้งหลาย เธอเห็นสตรีมีอายุคราวแม่ จงตั้งจิตเอาไว้ว่า หญิงนี้เป็นแม่ของตน  เธอเห็นสตรีมีอายุคราวพี่สาว หรือน้องสาว  จงตั้งจิตว่า หญิงเป็นพี่สาว หรือน้องสาวของเรา  เธอเห็นสตรีมีอายุคราวลูก  จงตั้งจิตว่าหญิงนี้เป็นลูกของเรา ด้วยความคิดอย่างนี้แล เป็นเหตุให้ภิกษุหนุ่ม ๆ เหล่านั้นรักษาพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ได้นาน หรืออยู่ได้ตลอดชีวิต[๑๔]

         

           ในขณะเดียวกัน  นอกจากพระองค์จะมุ่งเน้นให้พระภิกษุมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อเพศตรงข้ามแล้ว  พระองค์ยังได้มุ่งเน้นให้พระภิกษุพิจารณาร่างกายให้ละเอียดมากยิ่งขึ้นต่อไปอีกว่า เธอจงพิจารณาร่างกายนี้แหละ เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป  เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมา ซึ่งมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ  ภายในเต็มไปด้วยของไม่สะอาด คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งสกปรก  น่ารังเกียจ  น่าขยะแขยง  ดังนี้[๑๕]

          ท่าทีเหล่านี้  เป็นท่าทีที่พระองค์ต้องการให้พระภิกษุอบรมศีล  สมาธิ  และปัญญา  โดยให้พระภิกษุสำรวมอินทรีย์ ๖  เมื่อเวลาเห็นรูปด้วยตาแล้ว อย่าถือเอาโดยนิมิต คือ ความงามเป็นส่วนรวม อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ  คือ แยกความสวยงามออกเป็นส่วน ๆ  ถ้าจะเกิดความรักในฐานะที่เป็นปุถุชนคนหนุ่มที่มีร่างกายสดใส  ย่อมจะเกิดความกำหนัดรักใคร่เพศตรงข้ามหรือถ้าจะมีความรักตน หรือรักผู้อื่น  พระพุทธเจ้าก็ทรงเน้นสอนให้พระภิกษุพิจารณาสติปัฏฐาน ๔  กล่าวคือ  พิจารณาให้เห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  ธรรมในธรรม  โดยใช้ความเพียร  สติสัมปชัญญะ  เมื่อเป็นเช่นนี้  พระภิกษุที่พิจารณาอย่างต่อเนื่องจะทำให้กำจัดอภิชฌา และโทมนัสเสียได้[๑๖]  การมีท่าทีต่อเพศตรงข้ามและการพิจารณาขันธ์ ๕  โดยแยกย่อยลงไปเรื่อย ๆ นั้นก็จะกลายเป็นแรงหนุนสำคัญในการทำให้พระภิกษุทราบความเป็นจริงเกี่ยวกับขันธ์ ๕  อย่างแจ่มชัด  และจะทำให้คลายจากความกำหนัดมากยิ่งขึ้น  อันจะทำให้การบำเพ็ญสมณธรรม หรือการประพฤติพรหมจรรย์ของพระภิกษุเหล่านั้นมีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และทำให้เข้าถึงความจริงสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้ในที่สุด

 

๑๑. ท่าทีที่พึงประสงค์ต่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระภิกษุกับสตรี

          จากการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับมุมมองของพระพุทธศาสนาที่มีต่อสตรีในประเด็นที่ว่า สตรีเป็นมลทินของพรหมจรรย์หรืออาจจะมีนักวิชาการทางพระพุทธศาสนานำประเด็นนี้มาขยายนัยในยุคต่อมาว่า สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์นั้น  คำว่า พรหมจรรย์หรือ การประพฤติพรหมจรรย์นั้น เป็นสิ่งที่นักบวชในทางพระพุทธศาสนาที่ถือเพศเป็นบรรพชิตนั้นจะต้องกระทำก็คือ การงดเว้นจากเมถุนธรรมทุกชนิด”  สาเหตุที่จะต้องงดเว้นก็เพราะว่า เมถุนธรรมนี้เป็นที่มาของกิเลส กล่าวคือ ราคะ โทสะ และโมหะ  ซึ่งเป็นตัวขัดขวางให้พระภิกษุนั้นไม่สามารถที่จะเข้าถึงความจริงขั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาได้

          การที่ชี้ให้เห็นว่า เป็นมลทิน หรือเป็นศัตรูนั้น  เป็นเพียงการที่พระพุทธเจ้าต้องการที่จะสื่อให้พระภิกษุได้เห็นว่า เมื่อพระภิกษุเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างขาดสติ และไม่รู้เท่านั้น  ก็จะทำให้การปฏิบัติไม่เจริญก้าวหน้า และก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมโดยรวมด้วย  การเปิดประเด็นนี้ขึ้นมา พระพุทธเจ้าไม่ต้องการที่จะดูหมิ่นสตรีแต่ประการใด  ดังจะเห็นว่า ในบริข้ออื่น ๆ นั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงให้เกียรติและยกย่องสตรี ดังจะเห็นได้จากนางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นต้น

          สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งเน้นในเรื่องนี้อย่างมากก็คือว่า  การปฏิสัมพันธ์กับสตรีนั้น  พระองค์ก็มิได้ทรงห้ามแต่ประการใด หากการปฏิสัมพันธ์นั้นอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย  และไม่ก่อผลเสีย  ดังจะเห็นได้จากการที่พระอานนท์พยายามที่จะถามในประเด็นนี้ต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงย้ำว่า การพูดคุย การพบปะนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ หากแต่ควรทำบนฐานของสติ  มีความรู้เท่าทันต่ออารมณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น

          นอกจากนั้นแล้ว  สิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างลึกซึ่งมากกว่านี้ก็คือ การใช้สติพิจารณาแยกย่อยสตรีที่เราพบให้ละเอียดลงไปเรื่อย ๆ โดยการพิจารณาว่าสตรีนั้นเป็นเพียง สิ่งประดิษฐ์จากธรรมชาติที่เรียงร้อยมาจากขันธ์ ๕  ธาตุ ๔ เท่านั้น  เมื่อย่อยลงไปเรื่อย ๆแล้ว เราก็จะไม่พบสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นแก่น หรือเป็นแกนที่เราจะมัวไปยึดมั่นถือมั่น 

          เหล่านี้คือท่าทีที่พระพุทธเจ้า ทรงพยายามที่จะมุ่งสอนให้สาวกของพระองค์ได้มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อสตรี  แต่เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งลงไปเรื่อย ๆ แล้วก็จะเกิดคำถามตามมาว่า ท่าทีตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถาดังที่ได้กล่าวแล้ว   เพียงพอหรือไม่ต่อการนำมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการมีท่าทีที่ไม่ถูกต้องระหว่างพระภิกษุกับสตรี   และเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปนั้น  แง่มุมบางประเด็นควรที่จะมีการประยุกต์เพื่อสอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่  เหล่านี้ คือประเด็นที่พุทธบริษัทจะต้องหาเวทีเพื่อแสวงหาทางเลือกที่ดีที่สุดต่อการป้องกัน และแก้ไขปัญหาในโอกาสต่อไป.

 

 



[๑] สิทธิของแม่หญิงล้านนา (๙ ธันวาคม ๒๕๔๙) http://๒๐๒.๒๘.๒๔.๑๐๕/~maeyinglanna/main/main.php

[๒]อิตฺถี  มลํ  พฺรหฺมจริยสฺสสํ.. (บาลี) ๑๕/๕๘/๔๓.

[๓] ขุ.ขุ.. (บาลี) ๑๓๒, ขุ.ขุ.. (ไทย) //๒๐๘.

[๔] มงฺคล. (บาลี) /๓๙๑.

[๕] องฺ.ติก.ฏีกา (บาลี) /๗๑/๒๒๑.

[๖] วิ.. (บาลี) /๕๕/๒๗๔, วิ.. (ไทย) //๘๑๒๘๑๓.

[๗] องฺ.เอกก. (บาลี) ๒๐/-/๑-๒, องฺ.เอกก. (ไทย) ๒๐/-/-.

[๘] ขุ.ชา. (บาลี) ๒๗/๔๗/๒๗๖, ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗/๔๗/๔๐๔.

[๙] องฺ.เอกก. (บาลี) ๒๐/-/๑-๒, องฺ.เอกก. (ไทย) ๒๐/-/-.

[๑๐] องฺ.ปญฺจก. (บาลี) ๒๒/๕๕/๖๓–๖๔, องฺ.ปญฺจก. (ไทย) ๒๒/๕๕/๙๖.

[๑๑] ขุ... (บาลี) /๑๑๑๕, ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๖/๑๗–๒๓.

[๑๒] ที.. (บาลี) ๑๐/๒๐๓/ที.. (ไทย) ๑๐/๒๐๓/๑๕๑.

[๑๓] ที... (บาลี) /๒๐๓/๑๘๕๑๙๐.

[๑๔] สํ.สฬา. (บาลี) ๑๘/๑๒๗/๑๐๕, สํ.สฬา. (ไทย) ๑๘/๑๒๗/๑๕๒.

[๑๕] สํ.สฬา. (บาลี) ๑๘/๑๒๗/๑๐๕, สํ.สฬา. (ไทย) ๑๘/๑๒๗/๑๕๓.

[๑๖] สํ.. (บาลี) ๑๙/๓๘๔๓๘๕/๑๔๕-๑๔๗, สํ.. (ไทย) ๑๙/๓๘๔๓๘๕/๒๔๐๒๔๒, สํ.. (บาลี) ๑๕/๑๑๕๑๑๖/๘๖-๘๘, สํ.. (ไทย) ๑๕/๑๑๕๑๑๖/๑๓๒๑๓๔.

 

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕