หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระนคร ปญฺญาวชิโร » การศึกษารูปแบบการเทศนาธรรมในล้านนา
 
เข้าชม : ๑๕๗๐๙ ครั้ง

''การศึกษารูปแบบการเทศนาธรรมในล้านนา''
 
พระนคร ปญฺญาวชิโร (2556)

 

การศึกษารูปแบบการเทศนาธรรมในล้านนา
A Study of the Methods of Dhamma Preaching in Lanna

 

พระนคร ปญฺญาวชิโร

ศาสนศาสตรบัณฑิต (ภาษาไทย),

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ภาษาและวรรณกรรมล้านนา)

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการเทศนาธรรมแบบจารีตล้านนา  พัฒนาการและปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการรูปแบบการเทศนาธรรมในล้านนา เป็นการงานวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้ข้อมูลจากเอกสาร การถอดบทเทศนาธรรมจากแถบบันทึกเสียง และการสัมภาษณ์

ผลการศึกษา พบว่า เดิมรูปแบบการเทศนาธรรมแบบจารีตล้านนา พระสงฆ์ผู้เทศนานั่งบนธรรมาสน์ทรงปราสาทสูง อ่านตามคัมภีร์ใบลานหรือคัมภีร์ธรรมด้วยทำนองขับขานท้องถิ่น   ในขณะที่ผู้ฟังนั่งพนมมือสดับฟังด้วยอาการเคารพ เพราะถือว่าคัมภีร์ธรรมเป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ์   เป็นสิ่งบันทึกพระพุทธพจน์ ไม่ก้าวล่วงด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม  นอกจากสดับฟังเพื่อประดับสติปัญญา เสริมสร้างความศรัทธาในพระรัตนตรัยแล้ว ยังเชื่อว่าเป็นการสั่งสมบุญบารมีให้แก่ตนและสามารถอุทิศบุญกุศลไปให้แก่บรรพชนผู้ล่วงลับได้ด้วย 

ภายหลังเมื่อราชอาณาจักรล้านนาล่มสลายผนวกดินแดนเป็นส่วนหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทย รัฐบาลสยามได้ปฏิรูปการเมืองการปกครองและการศึกษาในล้านนาตั้งแต่ พ.ศ.  ๒๔๔๒ เป็นต้นมา โดยมีศูนย์รวมอำนาจที่ส่วนกลางกรุงเทพฯ แต่ส่งข้าราชการผู้ใหญ่หรือข้าหลวงใหญ่มาปฏิรูป ผลการปฏิรูปทำให้ชาวล้านนาสามารถฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทยกลางได้เป็นอย่างดี  ในขณะที่อักษรล้านนาลดความสำคัญลงจนไม่ได้รับการส่งเสริมให้ศึกษา ชาวล้านนารุ่นหลังโดยเฉพาะพระสงฆ์ไม่สามารถอ่านเขียนอักษรล้านนาได้ ส่งผลให้รูปลักษณ์คัมภีร์ธรรมจากเดิมทำด้วยใบลานจารด้วยอักษรล้านนาเปลี่ยนแปลงเป็นกระดาษแข็งสีน้ำตาลพับทบเป็นชั้นๆ พิมพ์ด้วยอักษรไทยกลางสำนวนล้านนาเพื่อให้สะดวกต่อการอ่าน นอกจากนั้นรูปแบบการแสดงพระธรรมเทศนาแบบปฏิภาณโวหารของพระสงฆ์ไทยภาคกลางยังได้เผยแพร่เข้าสู่ล้านนา 

ลักษณะสำคัญของการแสดงพระธรรมเทศนาแบบปฏิภาณโวหารคือ นั่งบนธรรมาสน์       ต่ำที่เปิดโล่งแล้วถือคัมภีร์ธรรมพนมมือประคองไว้ระหว่างอก พูดด้วยปากเปล่า ไม่อ่านตามคัมภีร์ธรรม เรียกอีกอย่างว่า การเทศนาแบบปฏิภาณโวหาร หรือเทศนาแบบปากเปล่า 

พระนพีสีพิศาลคุณ (มหาคำปิง  คนฺธสาโร) พระสงฆ์ชาวล้านนารูปแรกที่บวชเป็นธรรมยุติกนิกาย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับมอบหมายภารกิจการปฏิรูปคณะสงฆ์ล้านนาจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า นำการเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารมาเผยแพร่เป็นครั้งแรก ต่อมา พ.ศ.  ๒๔๙๑ พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) และพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ได้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยการยืนปาฐกถา เป็นผลให้พระสงฆ์ล้านนานำรูปแบบการเทศนาแบบจารีตกับรูปแบบใหม่มาผสมผสานกัน ๓ รูปแบบ ประกอบด้วย

๑.  การเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารที่พัฒนาการมาจากการแสดงพระธรรมเทศนาของพระสงฆ์ไทยภาคกลาง ถ้าหากเทศนารูปเดียวเรียกว่า เทศน์ธรรมาสน์เดี่ยว ถ้าหากเทศนา ๒  รูปถาม-ตอบกันไปมา เรียกว่า เทศน์ ๒ ธรรมาสน์ หรือ เทศน์ธรรมาสน์คู่ แต่ถ้าเทศนา ๓ รูป  เรียกว่า เทศน์ ๓ ธรรมาสน์ แต่นำเสนอด้วยสำนวนภาษาและเรื่องเล่าในบริบทล้านนา

๒.  การเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารที่พัฒนาการมาจากการเทศนาธรรมแบบจารีตล้านนา 

๓.  การเผยแผ่ธรรมะที่พัฒนาการมาจากปาฐกถา  

ปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการรูปแบบการเทศนาธรรมในล้านนาได้แก่

๑.  การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

๒.  การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาและทัศนคติของพระสงฆ์ล้านนา 

๓.  การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความต้องการของผู้ฟังชาวล้านนา

การพัฒนารูปแบบการเทศนาธรรมในล้านนา ได้ส่งผลให้การเผยแผ่ธรรมมีความทันสมัย  เป็นปัจจุบัน ชาวล้านนามีความรู้ ความเข้าใจ และให้ความสนใจฟังการเทศนาธรรมมากขึ้น ในขณะที่การเทศนาธรรมแบบจารีตยังคงมีบทบาทเป็นส่วนประกอบหนึ่งของพิธีกรรมเท่านั้น

 

Abstract

 

This research aims to examine the development of traditional Lanna preaching styles and to investigate the factors influencing their development.  It is qualitative research.  Content analysis, the transcript from Dhamma preaching tape records and in-depth interviews were used as data collecting methods.

The findings revealed that Dhamma preaching in Traditionnal Lanna style has a specific form. The preaching monk has to sit on a high throne, reading scriptures recorded on the palm leaf with a local rhythm.  While the audience sit calmly and properly with 2 hands put together in a lotus shape.  The audience behavior shows high respect towards the Dhamma which represents the Buddha verse.  It is believed that listening to Dhamma not only brings great wisdom, increases faith to the Triple Gem among the audience, but also brings significant merit and allows the audience to greatly spread this merit to their ancestors.

After the Lanna Kingdom was dissolved and became part of the Northern region of Thailand in 1899, rules, regulations as well as the education system in Lanna were reformed by the Central Thai. This resulted in the Lanna people becoming fluent in speaking, reading, writing and listening in the Thai Language.  While Lanna language became less important and was never promoted since then. Hence the new generation of Lanna people especially monks were unable to read and write Lanna language. This is why today's scriptures are mostly adapted and recorded in the Thai language and printed on the folded hard paper replicating the palm leaf style for more convenience. Furthermore, the impromptu rhetoric preaching style from a preaching monk from central Thai also spread to Lanna.

The significant characteristics of the impromptu rhetoric preaching style is the way a preaching monk sitting on a lower open seat with two hands holding the scripture at his chest level,  simply preaches without reading from the scripture.  This preaching style is called the impromptu rhetoric preaching style or oral Dhamma preaching.

The venerable Phra Napeeseephisalkhun (Phramaha Kamping Gunãkarõ), the first Lanna monk who converted to Dhammayutthi order at Wat Bovorn Nivet Viharn was ordered by Somdej Phra Maha Samanachao Prince Vachirayanvaroros to reform the Lanna Buddhist Sangha. That reform was the first time the impromptu rhetoric preaching style was introduced. Later on in 1948, the venerable Phra Dhammakosajarn (Buddhadasa Bhikkhu) and the venerable Phrabrammamaggalajarn (Paññanada Bhikkhu) came to preach Buddhism in Chiang Mai province.  The way they preached was by standing in the public instead of sitting on a throne or on a seat.  This led to three new different ways of preaching that Lanna Buddhist monks developed, by harmonizing new and traditional Lanna ways together.

Three new preaching styles are developed as follows.

1.  The impromptu rhetoric preaching style mixed with a central Thai preaching monk style. Firstly, if there is only one preaching monk, it is called "The Solo Preaching".  Secondly, if there are two preaching monks, one preaching monk shoots the questions and another monk will give the answers,  it is called " The Duo Preaching".  Thirdly, if there are three preaching monks, it is called "The Trio Preaching".  However, the expression and its story lines are delivered within the Lanna context.

2.  The impromptu rhetoric preaching mixed with  traditional Lanna style

3.  The speech based preaching style.

Factors influencing the development of Dhamma preaching in Lanna are as follows:

1.  The social and cultural change

2.  The educational and attitudinal changes among Lanna   Buddhist monks

3.  The attitudinal change and change in needs of the Dhamma listeners in Lanna

The development of Dhamma preaching styles in Lanna led to the modern and up to date way of Dhamma preaching.  This helps Lanna people gain more knowledge, understanding and become more interested in listening to Dhamma preaching. While the traditional Lanna preaching style remains only a part of the Buddhist ceremony.

 

บทนำ

 

             ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

ความสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งนั้น สืบเนื่องมาจากการเทศนาธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง ถึงแม้หลักธรรมที่ทรงตรัสรู้และเผยแผ่ในครั้งนั้นจะเป็นสิ่งใหม่ในสังคม อีกทั้งการเผยแผ่ในระยะเวลานั้นต้องล้มล้างคติความเชื่อดั้งเดิมที่หยั่งรากลึกในสังคมอินเดียมาช้านานแล้วก็ตาม แต่อาศัยพระปัญญาธิคุณที่ทรงพิจารณาเห็นความแตกต่างทางสติปัญญาของมนุษย์และหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ มีความยากง่ายสุขุมลุ่มลึกแตกต่างกัน จึงเป็นเหตุให้พระองค์ทรงแสวงหาวิธีการเทศนาธรรมที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความแตกต่างของผู้ฟังแต่ละคน ดังนั้น ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับวิธีการเทศนาเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงคำนึงถึงความพร้อมของผู้ฟังเป็นหลัก แล้วทรงแสวงหาวิธีการเทศนาให้มีความเหมาะสมกับบุคคลและสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้พระองค์มีวิธีการเทศนาที่หลากหลาย เพราะทรงปรารถนาให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการแสดงพระธรรมเทศนาในแต่ละครั้ง    

พระพรหมคุณาภรณ์ (..  ปยุตฺโต)[1]  ศึกษาวิธีเทศนาของพระพุทธเจ้า พบว่า พระองค์ทรงใช้วิธีเทศนา ๔ แบบ ได้แก่ (๑) แบบสากัจฉาหรือสนทนา เป็นการสนทนากับผู้ฟังเพื่อนำเข้าสู่หลักธรรม (๒)  แบบบรรยาย เป็นการเทศนาตามสถานที่ต่าง ๆ ที่มีผู้ฟังจำนวนมาก (๓) แบบตอบปัญหา เป็นการเทศนาด้วยการตอบปัญหาที่มีผู้ถาม และ (๔) แบบวางกฎข้อบังคับ เป็นการวางกฎระเบียบ เพื่อให้พระสาวกยึดถือเป็นข้อปฏิบัติ ซึ่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของเหล่าพระอรหันตสาวกนั้น ได้ยึดเอารูปแบบและหลักการเทศนาของพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง  ดังแนวทางองค์แห่งพระธรรมกถึก[2] ที่ทรงวางไว้ นอกจากนั้น พระพุทธเจ้ายังทรงวางแนวทางปฏิบัติสำหรับการเทศนาของพระสาวกไว้ในเสขิยวัตรเรียกว่า ธรรมเทศนาปฏิสังยุตต์[3] ที่พระสงฆ์ผู้เทศนาธรรมพึงสังวร ดังนั้น พุทธศาสนิกชนจึงให้ความสำคัญกับการเทศนาธรรมเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการธำรงรักษาพระธรรมวินัยให้ดำรงคงอยู่  นอกจากนั้นยังถือเป็นการให้ความอนุเคราะห์แก่ผู้ฟังที่มีศรัทธาอยู่แล้วให้มีศรัทธายิ่งขึ้น และให้ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธาให้มีศรัทธาจนสามารถศึกษาและปฏิบัติให้สิ้นจากทุกข์จนถึงที่สุดคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้ เมื่อพุทธศาสนิกชนสดับฟังการเทศนาธรรมอย่างตั้งใจแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์แห่งความดีงามที่เกิดจากการตั้งใจฟังธรรมดังกล่าว ดังความปรากฏในธัมมัสสวนานิสงส์[4] กล่าวถึงอานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ ประการ ได้แก่ ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ย่อมเข้าใจชัดแจ้งในสิ่งที่ได้ฟังแล้ว  บรรเทาความสงสัยเสียได้ ย่อมทำความเห็นให้ถูกต้อง จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส 

จะเห็นได้ว่า การฟังธรรมเทศนานั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตามพุทธโอวาทได้อย่างถูกต้อง ย่อมทำให้ผู้ฟังเกิดสติปัญญานำพาตนเองให้พ้นจากความทุกข์เข้าถึงความสุขอย่างยั่งยืน ดังนั้นการเทศนาธรรมจึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายและมั่นคง 

แม้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะถือเป็นหน้าที่สำคัญของเหล่าพุทธศาสนิกชน แต่การเทศนาธรรมนั้น ถือเป็นหน้าที่หลักของพระภิกษุ-สามเณรในฐานะที่เป็นศาสนทายาทผู้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาที่ต้องศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น พระพุทธศาสนาจะเจริญมั่นคง  หรือเสื่อมลง ส่วนหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับการเทศนาธรรมซึ่งถือเป็นรูปแบบการเผยแผ่หลักการทางพุทธศาสนารูปแบบหนึ่งด้วย ดังนั้นพุทธศาสนิกชนในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับการเทศนาธรรมเป็นอย่างมาก  บางแห่งจัดให้มีพิธีการเทศนาธรรมอย่างยิ่งใหญ่ โดยถือเป็นประเพณีของท้องถิ่นด้วย

การเทศนาธรรมในกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์  เช่น ไทยวน (ล้านนา) ไทสยาม (ประเทศไทย) ไทเขิน (เมืองเชียงตุง ประเทศสหภาพเมียนมาร์)            ไทลื้อ (เมืองสิบสองพันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน) เมืองหลวงพระบาง (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) นิยมใช้รูปแบบเดียวกันคือเทศนาแบบอ่านตามคัมภีร์ใบลาน ถือเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นการนำพระพุทธพจน์มากล่าวแสดงเพื่อให้ผู้ฟังเกิดความศรัทธาในพระรัตนตรัยและประพฤติปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง     

คติการเทศนาธรรมเช่นนี้มีข้อกำหนดสำหรับยึดถือปฏิบัติให้เป็นระเบียบแบบแผนที่คล้ายคลึงกัน เริ่มด้วยการไหว้พระรับศีลเป็นกิจเบื้องต้น จากนั้นมัคนายกกล่าวคำอาราธนาธรรม   พระสงฆ์เริ่มเทศนาธรรม เมื่อเทศนาจบแล้วเจ้าภาพถวายจตุปัจจัยสำหรับบูชากัณฑ์เทศน์ เรียกว่า   “กัณฑ์เทศน์” จากนั้นพระสงฆ์กล่าวอนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี แต่ละท้องถิ่นอาจมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

อาณาจักรล้านนา นับเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานเจริญมั่นคงมานาน พระสงฆ์ล้านนาในอดีตได้สืบทอดพระพุทธศาสนาด้วยการเทศนาธรรมตามรอยพระพุทธเจ้าและยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติตามแบบอย่างของเหล่าพระสาวก แต่วิธีการเทศนาธรรมมีลักษณะเฉพาะผสมผสานทั้งคติทางพระพุทธศาสนาและคติท้องถิ่น โดยยึดรูปแบบการเทศนาธรรมแบบอ่านตามคัมภีร์ใบลานที่นักปราชญ์ได้รจนาไว้ แต่ละวัดในล้านนามักมีคัมภีร์ธรรมใบลานและพับสาจำนวนมาก จารจารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา (ตัวเมือง) ภาษาที่ใช้สื่อสารในท้องถิ่น แต่ละปีมีผู้ศรัทธาถวายคัมภีร์ธรรมเรื่องต่าง ๆ ไว้กับวัดเป็นจำนวนมาก ทำให้วัดมีคัมภีร์ธรรมหนุนเนื่องมาโดยตลอด  เพราะชาวล้านนานิยมคัดลอกคัมภีร์ธรรมทางพุทธศาสนาถวายไว้กับวัดเพื่อให้พระสงฆ์ใช้เทศนาในโอกาสต่าง ๆ เชื่อว่าเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ นอกจากนั้นแต่ละวัดยังนิยมสร้างธรรมาสน์สำหรับเป็นสถานที่ให้พระสงฆ์ขึ้นนั่งเทศนาธรรมโดยเฉพาะซึ่งมีรูปลักษณะเป็นทรงปราสาทสูงหลังคาจัตุรมุขมีบันไดขึ้นลงพร้อมกับแกะสลักตกแต่งอย่างวิจิตร เพราะถือว่าการเทศนาธรรมเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์จึงต้องปฏิบัติและสดับฟังอย่างเคารพ 

การเทศนาธรรมที่ชาวล้านนานิยมฟังและถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่มีอานิสงส์มาก คือการเทศนาธรรมมหาชาติเวสสันดรชาดก มักจัดพิธีเทศนาอย่างยิ่งใหญ่เรียกว่า “ประเพณีตั้งธรรมหลวง” หรือ “ประเพณีเทศน์มหาชาติ” นิยมจัดในเดือนยี่ (เหนือ) ตรงกับเดือนพฤศจิกายนของภาคกลาง  ส่วนช่วงเข้าพรรษาของแต่ละปีนิยมจัดเทศนาธรรมทุกวันพระต่อเนื่องจนถึงวันออกพรรษาเรียกว่า “ประเพณีการฟังเทศน์ฟังธรรม” หรือ “การฟังธรรมเข้าวะสา” เนื่องจากเป็นช่วงที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษาโดยไม่ไปพักค้างคืนที่ใด ทำให้ชาวล้านนามีโอกาสเข้าวัดทำบุญให้ทานรักษาศีลและฟังธรรมเทศนา

ภายหลังการเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารและปาฐกถา เป็นการพูดหรือเทศนาด้วยปากเปล่าเป็นที่นิยมและแพร่หลายในล้านนา ส่วนมากนิยมเทศนาในโอกาสพิเศษที่มีผู้ฟังจำนวนมากเช่น  งานบำเพ็ญกุศลศพ งานเข้ารุกขมูลกรรม งานอบรมคุณธรรมของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ เป็นต้น การเทศนาธรรมลักษณะนี้เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการฟังเพื่อให้เข้าใจในสาระธรรมมากกว่าฟังพอให้เป็นพิธีเท่านั้น แต่การเทศนาแบบจารีตยังมีบทบาทอยู่ แต่ไม่มีความสำคัญเท่ากับการเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารหรือเทศนาแบบปากเปล่า

ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษารูปแบบการเทศนาธรรมของล้านนา ในด้านการเทศนาธรรมแบบจารีตล้านนา การพัฒนาและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเทศนา โดยอาศัยแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการเทศนาในพระพุทธศาสนา แนวคิดเกี่ยวกับพิธีกรรม แนวคิดการพูดในที่ชุมนุมชน  และแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมาประกอบการศึกษาวิจัย เชื่อว่า ผลการศึกษาจะทำให้มองเห็นรูปแบบและพัฒนาการการเทศนาธรรมของล้านนาซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคณะสงฆ์ในการจัดอบรมพระนักเทศน์ พระนักเผยแผ่ให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างฐานข้อมูลด้านการเทศนาธรรมสำหรับแผยแพร่แก่สาธารณชนและผู้ที่สนใจต่อไป

 

 

 

วิธีการวิจัย

 

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยใช้วิธีการการศึกษาค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์ (Interview) พระสงฆ์ผู้เทศนาและประชาชนผู้ฟังการเทศนาธรรมรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๑๔ รูป/คน แล้วถอดแถบบันทึกเสียงออกมาเป็นบทสัมภาษณ์ แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้มาจัดระบบ ตรวจสอบ เพื่อทำการศึกษาตามวัตถุประสงค์ สรุปเรียบเรียง และนำเสนอผลการศึกษา

 

ผลการวิจัย

 

จากการศึกษาพัฒนาการรูปแบบการเทศนาธรรมรูปแบบใหม่ในล้านนา พบว่า ในอดีตชาวล้านนานิยมฟังพระธรรมเทศนาในโอกาสต่าง ๆ เพื่อประดับสติปัญญา เสริมสร้างความศรัทธาในพระรัตนตรัย และเชื่อในอานิสงส์การฟังธรรมเทศนาที่ถือว่าเป็นการสั่งสมบุญบารมีให้แก่ตน  สามารถอุทิศบุญกุศลให้แก่บรรพชนที่ล่วงลับ ดังนั้น การเทศนาธรรมแบบจารีตจึงมีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังทัศนคติ ความเชื่อ โลกทัศน์ ค่านิยมต่อชาวล้านนา จนสามารถพัฒนาสร้างสรรค์ศิลปกรรม ประเพณีวัฒนธรรมให้เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น

แม้การเทศนาธรรมแบบจารีตเน้นการอ่านตามที่นักปราชญ์ได้รจนาไว้ทำให้พระสงฆ์ไม่เทศนาออกนอกเรื่องหรือนอกประเด็น ไม่เทศนากระทบผู้อื่น แต่มีข้อด้อยที่ไม่เปิดโอกาสให้พระสงฆ์องค์เทศนาได้ฝึกฝนพัฒนาตนเองให้สามารถขบคิดหลักธรรมให้แตกฉานด้วยความรู้และประสบการณ์ของตนจนสามารถเผยแผ่สู่ประชาชนด้วยกลวิธีการนำเสนอที่ทันสมัยอย่างมีเอกลักษณ์โดดเด่นของแต่ละบุคคล   

ภายหลังเมื่อราชอาณาจักรล้านนาล่มสลายกลายเป็นเมืองประเทศราชจนผนวกดินแดนเป็นส่วนหนึ่งในภาคเหนือของราชอาณาจักรสยามหรือประเทศไทยปัจจุบัน รูปแบบการเทศนาธรรมล้านนาก็เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่อ่านตามคัมภีร์ใบลานด้วยทำนองขับขานท้องถิ่นมาสู่การเทศนาแบบปฏิภาณโวหารหรือเทศน์ปากเปล่า โดยมีเหตุการณ์สำคัญ ๒ ช่วงที่นำมาสู่พัฒนาการได้แก่ 

๑.  ปฏิรูปการเมืองการปกครอง 

รัฐบาลสยามดำเนินนโยบายปฏิรูปการเมืองการปกครองในล้านนา โดยมีศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ส่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือข้าหลวงใหญ่จากกรุงเทพฯ มาปฏิรูปฝ่ายบ้านเมือง ในขณะที่ฝ่ายพระสงฆ์ล้านนาได้รับการปฏิรูปโดยองค์สงฆ์จากกรุงเทพฯ เช่นกัน     รัฐบาลสยามดำเนินการปฏิรูปทั้งการเมืองการปกครองและการศึกษาจนทำให้สังคมล้านนาเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมให้ชาวล้านนาสามารถฟัง  พูด อ่าน เขียนภาษาไทยกลางได้อย่างคล่องแคล่วชัดเจน ส่งผลให้ภาษาล้านนาลดความสำคัญลงจนคนรุ่นใหม่ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสไม่ใส่ใจศึกษา แต่สนใจศึกษาภาษาไทยกลางมากขึ้น เพื่อประกอบอาชีพข้าราชการและติดต่อธุรกิจต่าง ๆ ที่ใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร 

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลสยาม โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศนโยบายรัฐนิยม ฉบับที่ ๙ เรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี ส่งเสริมและปลูกฝังจิตสำนึกให้คนไทยทั่วประเทศมีหน้าที่ศึกษาเรียนรู้ภาษาไทยให้อ่านเขียนอย่างถูกต้องชัดเจนและมีความภาคภูมิใจในความเป็นพลเมืองไทย  ยิ่งส่งผลให้ชาวล้านนาละทิ้งอักษรล้านนามากขึ้น จนจำนวนผู้ที่สามารถอ่านและเขียนอักษรล้านนา (ตัวเมือง) ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะพระสงฆ์ล้านนาซึ่งเป็นศาสนทายาทที่จะต้องทำหน้าที่เทศนาธรรมแบบจารีตไม่สามารถอ่านเขียนอักษรล้านนาได้ คัมภีร์ใบลานจึงเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์มาเป็นกระดาษแข็งสีน้ำตาลพับเป็นชั้น ๆ แล้วพิมพ์ด้วยภาษาไทยกลางสำนวนล้านนาแทนจนทุกวันนี้   

นอกจากคัมภีร์ธรรมเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์แล้ว การเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารหรือเทศน์ปากเปล่าที่พระวชิรญาณภิกษุ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)  ทรงปฏิรูปก็มาเผยแผ่เข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ โดยพระนพีสีพิศาลคุณ (พระมหาคำปิง คนฺธสาโร) พระสงฆ์ล้านนาที่บวชในธรรมยุติกนิกายนำมาเผยแผ่เป็นครั้งแรกจนได้รับความชื่นชอบจากเจ้านายฝ่ายเหนือ ต่อมามีการสอนหลักสูตรนักธรรมอย่างเป็นระบบ วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมเป็นการศึกษาพื้นฐานของโครงสร้างบทเทศนาแบบปฏิภาณโวหารที่ส่งเสริมให้ผู้เทศนาสามารถคิดแต่งด้วยประสบการณ์ โดยไม่ต้องอ่านตามคัมภีร์ใบลานเหมือนแต่ก่อน ทำให้พระสงฆ์ล้านนาที่จบการศึกษานักธรรมสามารถเทศนาแบบปฏิภาณโวหารได้ ภายหลังพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในฝ่ายปกครองจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าไม่ส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนอักษรล้านนาและการเทศนาธรรมแบบจารีต ประกอบกับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของล้านนาเมื่อได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์และดำรงตำแหน่งการปกครองคณะสงฆ์แล้ว มักมีโอกาสเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารให้เจ้านายจากกรุงเทพฯ เจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการจากกรุงเทพฯ หรือข้าหลวง ตลอดจนชาวกรุงเทพฯ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ฟังในโอกาสต่าง ๆ อยู่เสมอ จึงปรับเปลี่ยนทัศนคติส่งเสริมให้พระสงฆ์ล้านนาฝึกเทศนาแบบปฏิภาณโวหาร  เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้องค์กรสงฆ์ล้านนายอมรับอำนาจองค์กรสงฆ์ส่วนกลางเปิดใจรับรูปแบบการเทศนาธรรมใหม่

๒.  ช่วงการเผยแผ่ธรรมะของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) และพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ที่จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.  ๒๔๙๑ เจ้าชื่น สิโรรส ผู้ก่อตั้งสวนพุทธธรรมวัดอุโมงค์ ชื่นชอบรูปแบบการเผยแผ่ธรรมของพระธรรมโกศาจารย์ ขณะนั้นเป็นที่รู้จักในชื่อว่า พุทธทาสภิกขุผู้ยืนปาฐกถาเผยแผ่ธรรมที่เน้นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา  จึงอาราธนาขึ้นมาเผยแผ่ธรรมที่จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาพระคุณท่านส่งพระพรหมมังคลาจารย์ ชื่อในขณะนั้นว่า ปัญญานันทภิกขุขึ้นมาจำพรรษาและเผยแผ่ธรรม พระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) ได้เผยแผ่ธรรมไปในทิศทางเดียวกันกับพระธรรมโกศาจารย์ (หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ) ที่เน้นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา  ปฏิเสธสิ่งที่เป็นเปลือกนอกห่อหุ้มพุทธธรรมโดยสิ้นเชิง จนชื่อเสียงในการปาฐกถาธรรมมากขึ้น  ในขณะที่ชาวจังหวัดเชียงใหม่ได้ฟังการปาฐกถาธรรมแล้วแตกแยกความคิดเป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายแรกเห็นด้วยกับการสอนพุทธธรรมที่เน้นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาและการใช้รูปแบบปาฐกถาธรรมในการเผยแผ่ ผู้ฟังกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนและผู้ที่มีฐานะทางสังคม ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับพระคุณท่านที่มักกล่าวล้มล้างจารีตประเพณีท้องถิ่น เช่น การฝังลูกนิมิต การสร้างปราสาทนกหัสดีลิงค์ในงานบำเพ็ญกุศลศพพระสงฆ์ ประเพณีเพ็งพุธ(ใส่บาตรพระอุปคุตหลังเที่ยงคืน)   การเทศนาธรรมแบบจารีต การทำผ้ากั้นเพดานบนอาสนะสำหรับพระสงฆ์นั่งในวิหาร(แท่นสังฆ์)  การถวายข้าวพระพุทธรูป เป็นต้น ได้กล่าวโจมตีการยืนปาฐกถาธรรมว่าเป็นการเผยแผ่ที่ขัดต่อหลักพระวินัย ไม่ถือเป็นการแสดงธรรม เพราะผู้พูดไม่นั่งบนธรรมาสน์ ไม่ตั้งนะโม ไม่อ่านคัมภีร์ธรรม  แต่เป็นเพียงการแสดงทัศนะของผู้พูดเหมือนกับการกล่าวปราศรัยของฆราวาส เท่านั้น ขณะที่ชาวจังหวัดเชียงใหม่แตกแยกความคิดออกเป็น ๒ ฝ่าย พระสงฆ์ล้านนาบางรูปได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเทศนาโดยผสมผสานระหว่างการเทศนาธรรมแบบจารีตกับการเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารเพื่อให้ผู้ฟังยอมรับทั้งรูปแบบเก่าและใหม่ เมื่อจะเทศนาธรรมแบบจารีตได้กล่าวอธิบายหรือสรุปความเนื้อหาสำคัญของแต่ละคัมภีร์ธรรมก่อนแล้วจึงค่อยเทศนาธรรมแบบจารีตเป็นลำดับไป  บางรูปได้กล่าวสรุปความเนื้อหาสำคัญหลังจากเทศนาธรรมแบบจารีตจบแล้ว บางรูปได้เทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารและยืนปาฐกถาธรรมโดยนำเนื้อหาของแต่ละคัมภีร์มาแทรกในบทเทศนาและบทปาฐกถาจนสามารถสร้างชื่อเสียงเป็นที่นิยมทั่วไป การปฏิรูปการเมืองการปกครองในล้านนา พ.ศ.๒๔๔๒ และการเข้ามาเผยแผ่ธรรมะของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) และพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) พ.ศ. ๒๔๙๑ ทำให้การเผยแผ่ธรรมแบบใหม่เผยแผ่เข้าสู่ล้านนา จนพระสงฆ์ล้านนาต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเผยแผ่ให้สอดคล้องกับความต้องการและสภาพสังคมปัจจุบัน 

จากการศึกษารูปแบบการเทศนาธรรมของพระสงฆ์ล้านนา โดยศึกษาผลงานของพระครูโสภณบุญญาภรณ์ (บุญทอง สุวณฺโณ) วัดโสภณาราม ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พระนักเทศนาที่มีชื่อเสียง มีชีวิตร่วมสมัยในช่วงที่พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)  และพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) มาเผยแผ่ธรรมด้วยปาฐกถาที่จังหวัดเชียงใหม่   ผลงานเทศนาของพระคุณท่านเป็นที่นิยมฟังของชาวล้านนา สังเกตได้จากชื่อเสียงหรือนามเรียกขานเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่า ตุ๊เจ้าทอง ตุ๊จก หรือตุ๊ชูชก ผลงานเทศนาบางส่วนได้รับการบันทึกลงแถบบันทึกเสียง(เทปคลาสสิค) ออกจำหน่ายทั่วภาคเหนือมากกว่า ๒๐ ชุด เรียกว่า เทศน์แบบประยุกต์ สามารถสรุปรูปแบบการเทศนาธรรมแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารและการปาฐกถาธรรม ๓ รูปแบบได้แก่ 

๑.  การเทศนาธรรมแบบปฏิภาณที่พัฒนามาจากการเทศนาธรรมของพระสงฆ์ไทยภาคกลาง

การเทศนาธรรมเป็นการเผยแผ่ธรรมะรูปแบบหนึ่งที่พระสงฆ์รูปเดียวทำหน้าที่เทศนา  เรียกว่า เทศน์เดี่ยว” “ธรรมาสน์เดียวหรือ เทศน์ธรรมาสน์เดี่ยวลักษณะสำคัญคือพระสงฆ์รูปเดียวนั่งบนธรรมาสน์พนมมือถือคัมภีร์เทศนาไว้ระหว่างอกแล้วเทศนาด้วยปากเปล่าหรือเทศนาแบบปฏิภาณโวหาร โดยกล่าวบทปณามคาถา ๕ ชั้น (นะโม  ๕ ชั้น) บางทีเรียกว่า เทศน์แบบตั้ง              นะโม พระครูโสภณบุญญาภรณ์ได้นำรูปแบบนี้มาประยุกต์ใช้ โครงสร้างของบทเทศนาใช้รูปแบบเทศนาธรรมของพระสงฆ์ไทยภาคกลางเป็นหลัก แต่กลวิธีการนำเสนอมีความเป็นท้องถิ่นล้านนาคือใช้ภาษาถิ่นล้านนาเป็นหลัก แทรกทำนองขับขานล้านนา (ใส่กาพย์และจ๊อย) เรื่องเล่าขนาดสั้น (เจี้ยก้อม) เหตุการณ์ใกล้ตัวผู้ฟัง และบทตลกขบขันเป็นระยะ ๆ ทำให้ผู้ฟังมีความสนุกสนานจนรู้สึกคุ้นเคยกับรูปแบบใหม่มากขึ้น

๒.  การเทศนาธรรมแบบปฏิภาณที่พัฒนามาจากการเทศนาธรรมแบบจารีตล้านนา  

พระครูโสภณบุญญาภรณ์ผ่านกระบวนการฝึกฝนและมีประสบการณ์ในการเทศนาธรรมแบบจารีตมาก่อน โดยเฉพาะการเทศนาธรรมมหาชาติเวสสันดรชาดก  ครั้นเมื่อได้เห็นการเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารและปาฐกถาธรรมจึงสามารถพัฒนารูปแบบการเทศนาให้เข้ากับกาลสมัย โดยผสมผสานระหว่างการเทศนาธรรมแบบจารีตกับการเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหาร โครงสร้างของบทเทศนาใช้รูปแบบการเทศนาธรรมแบบจารีตเป็นหลัก ก่อนเริ่มเทศนาอย่างเป็นพิธีการได้กล่าวทักทายผู้ฟัง เกริ่นนำให้ผู้ฟังทราบก่อนว่า ต่อไปจะเทศนาธรรมแบบประยุกต์ หรือเทศน์ประยุกต์ เนื่องจากเป็นรูปแบบการเทศนาใหม่ไม่เคยปรากฏในท้องถิ่นมาก่อน โดยผสมผสานระหว่างรูปแบบใหม่และเก่า จากนั้นจึงพนมมือแล้วเริ่มเทศนาแบบจารีตด้วยทำนองท้องถิ่นตั้งแต่ขึ้นบทปณามคาถา (นะโม) บทพระคาถานิกเขปบท จากนั้นได้แทรกทำนองขับขานล้านนา              (ใส่กาพย์) การดำเนินเรื่องหรือนำเสนอเนื้อใช้กลวิธีการนำเสนอที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของ          พระคุณท่านคือ ใช้ภาษาท้องถิ่นล้านนาเป็นหลัก  แทรกทำนองขับขานล้านนา (ใส่กาพย์และจ๊อย) เรื่องเล่าขนาดสั้น (เจี้ยก้อม) เหตุการณ์ใกล้ตัวผู้ฟัง และบทตลกขบขันเป็นระยะ ๆ โดยไม่อ่านตามคัมภีร์ใบลาน เพียงแต่พนมมือถือคัมภีร์ใบลานประคองไว้ในระหว่างอกเท่านั้น 

๓.  การเผยแผ่แบบปฏิภาณโวหารที่พัฒนามาจากการปาฐกถาธรรม  

การปาฐกถาธรรมเป็นรูปแบบการเผยแผ่ธรรมะที่เน้นการยืนพูดในที่ชุมนุมชน               มีลักษณะไม่เป็นพิธีการ ไม่นั่งบนธรรมาสน์ ไม่ตั้งนะโม ไม่ถือคัมภีร์ธรรม บรรยากาศมีความเป็นกันเอง  พระครูโสภณบุญญาภรณ์มีชีวิตร่วมสมัยกับพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) และ พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) มักพูดคุยและสดับฟังการปาฐกถาธรรมกับพระคุณเจ้าทั้ง    รูปในจังหวัดเชียงใหม่อยู่เสมอ  จึงนำรูปแบบปาฐกถาธรรมมาปรับใช้กับการเผยแผ่ธรรมในบริบทของล้านนา โดยบทปาฐกถาธรรมของพระครูโสภณบุญญาภรณ์มีลักษณะโครงสร้างเหมือนกับบทปาฐกถาธรรมของพระคุณเจ้าทั้ง ๒ รูป คือประกอบด้วยคำนำหรือเกริ่นนำ ใจความหรือเนื้อหา  และบทสรุป เป็นโครงสร้างเดียวกันกับบทพูดในที่ชุมนุมชน แต่มีเอกลักษณ์ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ใช้ภาษาถิ่นล้านนา แทรกทำนองขับขานล้านนา (จ๊อย) เรื่องเล่าขนาดสั้น               (เจี้ยก้อม) เหตุการณ์ใกล้ตัวผู้ฟัง และบทตลกขบขันเป็นระยะ ๆ ทำให้การปาฐกถามีบรรยากาศเป็นท้องถิ่นล้านนา 

นอกจากพระครูโสภณบุญญาภรณ์แล้วยังมีพระสงฆ์ล้านนาที่สามารถเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารและปาฐกถาธรรมจนมีชื่อเสียงอีกหลายรูป เช่น พระพุทธพจนวราภรณ์  (จันทร์ กุศโล) พระธรรมสิทธาจารย์ (หนู  ถาวโร) พระศรีธรรมนิเทศ (กมล  โชติมนฺโต) พระศรีศิลป์สุนทรวาที (ศิลป์  สิกฺขาสโภ) พระครูอนุสรณ์ศีลขันธ์ (อนันต์  ธมฺมธโร) เป็นต้น 

ปัจจุบันการเทศนาธรรมแบบจารีตยังมีบทบาทในชุมชนล้านนาอยู่ แต่ผู้ฟังที่ฟังเอาเนื้อหาสาระลดน้อยลง ส่วนใหญ่นิยมฟังพอเป็นพิธีเท่านั้นเรียกว่า ฟังเอาอานิสงส์  หรือ ฟังพอเป็นกิริยาบุญ ส่วนพระสงฆ์ผู้เทศนาก็เทศนาพอเป็นพิธีคือเทศน์ใบต้น ๑ ใบแล้วข้ามมาเทศนาใบสุดท้ายหรือใบปลาย ๑ ใบ เรียกว่า เทศน์เค้าใบปลายใบ ส่วนใหญ่นิยมเทศนาในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น  งานบำเพ็ญกุศลศพ พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ พิธีสืบชาตา เป็นต้น ดังนั้นการเทศนาธรรมแบบจารีตในปัจจุบันจึงยังมีความสำคัญและดำรงอยู่ในฐานะเป็นส่วนประกอบหนึ่งของพิธีกรรมเท่านั้น   

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดพัฒนาการด้านการเทศนาธรรมแบบจารีตสู่แบบปฏิภาณโวหารและปาฐกถาธรรมได้แก่

๑.  การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม   

ล้านนา เคยเป็นราชอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรืองด้วยอารยธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ภายหลังได้ล่มสลายกลายเป็นประเทศราชจนผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามหรือประเทศไทยปัจจุบัน จารีตท้องถิ่นล้านนาที่เคยปฏิบัติมาหลายชั่วอายุคนก็ถูกลดความสำคัญลง ในขณะที่วัฒนธรรมต่างถิ่นโดยเฉพาะวัฒนธรรมไทยสยามซึ่งเป็นผู้ปกครองมีอำนาจเหนือกว่าได้รับความสำคัญและใช้เป็นแบบอย่างในวิถีปฏิบัติ วัฒนธรรมด้านการเทศนาธรรมแบบจารีตล้านนาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกลดความสำคัญ ในขณะที่การเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารและปาฐกถาธรรมของพระสงฆ์ไทยภาคกลางถูกนำมาใช้ จนเป็นที่นิยมของชาวล้านนารุ่นใหม่ 

๒.  การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาและทัศนคติของพระสงฆ์ล้านนา 

ภายหลังเมื่อรัฐบาลสยามมอบภารกิจให้คณะสงฆ์ส่วนกลางโดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นประมุขดำเนินนโยบายปฏิรูปการปกครองและการศึกษาสงฆ์ล้านนา โดยมีพระนพีสีพิศาลคุณ (พระมหาคำปิง คนฺธสาโร) รับหน้าที่ดำเนินการปฏิรูปในช่วงแรกพร้อมกับนำรูปแบบการเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารของพระสงฆ์ไทยภาคกลางมาเทศนาให้เจ้านายฝ่ายเหนือสดับฟังจนเป็นที่ชื่นชม ภายหลังได้ดำเนินการเรียนการสอนหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โท เอก ทำให้สามารถคิดแต่งบทเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารด้วยตนเองได้อย่างแตกฉาน  พระสงฆ์ล้านนาหลายรูปโดยเฉพาะรูปที่ได้รับสมณศักดิ์และมีตำแหน่งการปกครองทางคณะสงฆ์สามารถเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารให้เจ้านายจากกรุงเทพฯ เจ้านายฝ่ายเหนือ ชาวกรุงเทพฯ  สดับฟังในโอกาสต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่การเทศนาธรรมแบบจารีตไม่ได้รับการส่งเสริมจนลดความสำคัญลง 

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๑ รูปแบบการเผยแผ่ธรรมแบบยืนปาฐกถาธรรมได้เผยแพร่เข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่  เมื่อพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) และพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ได้รับนิมนต์จากเจ้าชื่น สิโรรส ผู้ก่อตั้งสวนพุทธธรรมวัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ให้มาเผยแผ่ธรรม พระคุณเจ้าทั้ง ๒ รูปใช้การปาฐกถาคือยืนพูดธรรมะที่เน้นสาระหรือแก่นแท้พระพุทธศาสนา ละทิ้งจารีตประเพณีท้องถิ่นอันเป็นเปลือกนอกที่ห่อหุ้มพระพุทธศาสนา จนเป็นที่ชื่นชอบของชาวล้านนากลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะปัญญาชนและผู้ที่มีฐานะทางสังคม ทำให้พระสงฆ์ล้านนาจำนวนมากเปลี่ยนแปลงทัศนคติขวนขวายศึกษาเรียนรู้ฝึกเทศนาแบบปฏิภาณโวหารและปาฐกถาธรรมจนสามารถเป็นพระนักเทศนาที่มีชื่อเสียงหลายรูป บางรูปเดินทางไปศึกษารูปแบบการเผยแผ่ธรรมแบบปฏิภาณโวหารจากสำนักที่มีชื่อเสียงในภาคกลาง เช่น โครงการพระธรรมทายาทของพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จังหวัดนนทบุรี  และสำนักจิตตภาวันของพระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตติวุฑโฒภิกขุ) จังหวัดชลบุรี เป็นต้น บางรูปกลับมามีบทบาทเป็นพระนักเผยแผ่ พระนักพัฒนาในแต่ละท้องที่หลายรูป พระสงฆ์ล้านนาที่ผ่านการศึกษาแผนใหม่ พบเห็นการเผยแผ่ธรรมะรูปแบบใหม่เกิดทัศนคติที่ดีนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเทศนา โดยมีสิ่งจูงใจดังนี้ ความต้องการเผยแผ่พุทธธรรมในบริบทของล้านนา ความอยากมีชื่อเสียงเหมือนพระนักเทศน์ต้นแบบ และความอยากได้รับเกียรติและวัตถุปัจจัย 

๓. การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความต้องการของผู้ฟัง  

เนื่องจากชาวล้านนาซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ฟังหลักไม่เข้าใจภาษาสำนวนโวหารโบราณที่ปรากฏในการเทศนาธรรมแบบจารีต เมื่อพระสงฆ์นำมาเทศนาจึงไม่สนใจสดับฟัง มีทัศนคติเชิงลบว่าเป็นสิ่งล้าสมัยทั้งภาษาสำนวนโวหาร เนื้อหา กลวิธีการนำเสนอไม่สอดคล้องกับความต้องการและสภาพสังคมปัจจุบัน ภายหลังสนใจนิยมฟังการเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหารและปาฐกถาเพราะมีความทันสมัย ด้วยข้อจำกัดของการเทศนาธรรมแบบจารีตและความโดดเด่นของการเทศนาธรรมแบบใหม่ ทำให้พระสงฆ์ล้านนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการเทศนาให้เหมาะสมกับผู้ฟังและสภาพสังคมปัจจุบัน 

ดังนั้น การที่สังคมล้านนามีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมเป็นราชอาณาจักรล้านนาที่ยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรืองด้วยศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ภายหลังได้ล่มสลายกลายเป็นเพียงดินแดนส่วนหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย วัฒนธรรมล้านนาที่เคยยึดถือสืบทอดมาหลายชั่วอายุคนถูกลดความสำคัญลง วัฒนธรรมต่างถิ่นที่เข็มแข็งกว่าโดยเฉพาะวัฒนธรรมไทยภาคกลางซึ่งเป็นวัฒนธรรมของผู้ปกครองได้รับความสำคัญและครอบงำทุกพื้นที่จนชาวล้านนาปัจจุบันมีความรู้สึกเป็นพลเมืองไทย การเทศนาธรรมแบบจารีตได้รับการสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังคติความเชื่อ โลกทัศน์ ค่านิยม ในความเป็นราชอาณาจักรล้านนาได้รับผลกระทบจากการล่มสลายของราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน ปัจจุบันเหลือเพียงบทบาทเป็นส่วนประกอบหนึ่งในพิธีกรรมท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังมีพระสงฆ์และวัดหลายแห่งที่พยายามอนุรักษ์และส่งเสริมการเทศนาธรรมแบบจารีตทั้งเทศนาแบบธรรมวัตรและมหาชาติเวสสันดรชาดก เช่น  พระครูสุวิมลธรรมรักษ์ เจ้าอาวาสวัดลอยเคราะห์ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จัดโครงการถวายความรู้ฝึกเทศนาธรรมพื้นเมือง-เทศน์มหาชาติทำนองเมืองเหนือให้แก่พระสงฆ์สามเณรตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายนเป็นประจำทุกปี โดยมีพระครูวิสิฐสีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดวังสิงห์คำ พระคณิสร  ขัตติโย วัดมหาวัน อำเภอเมือง พระใบฎีกาชาญณรงค์ จันทสโร วัดทุ่งหมื่นน้อย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และนายประพัฒน์ ไชยชนะ เป็นครูผู้สอน มีพระสงฆ์สามเณรจากวัดในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงสนใจเข้าร่วมฝึกเทศนาธรรมแบบจารีตจำนวนมาก   

 

วิจารณ์

 

แม้การเทศนาธรรมล้านนาจะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใดก็ตาม ไม่สำคัญเท่ากับการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยมุ่งหวังประโยชน์สูงสุดคือให้ประชาชนเข้าใจถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา สามารถรู้แจ้งเห็นจริงในพระสัทธรรม นำไปประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องจนบรรลุเป้าหมายสูงสุดคือวิมุตติ ได้แก่การหลุดพ้นจากกิเลส บรรลุมรรคผลและนิพพาน  อันเป็นพุทธประสงค์ในการประกาศพระสัทธรรม  แม้ผู้ฟังไม่เข้าถึงวิมุตติขั้นโลกุตระ แต่ก็พยายามให้เข้าถึงวิมุตติขั้นโลกิยะ โดยเฉพาะตทังควิมุตติคือการหลุดพ้นกิเลสได้ชั่วครั้งชั่วคราว 

การเทศนาธรรมแบบจารีตหรืออ่านตามคัมภีร์ใบลาน การเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหาร และการปาฐกถาธรรมเป็นรูปแบบการเผยแผ่ธรรมะรูปแบบหนึ่งเท่านั้น แต่ละรูปแบบต่างมีความสำคัญ มีความโดดเด่น มีความเหมาะสมแตกต่างกัน หากเปรียบเทียบแต่ละรูปแบบเหมือนกับการศึกษาในแต่ละชั้นอาจเปรียบได้ว่า  

การเทศนาธรรมแบบจารีตที่เน้นการอ่านตามคัมภีร์ใบลาน เหมือนการศึกษาในระดับประถมศึกษาที่ต้องฝึกอ่านตามตัวหนังสือที่เรียบเรียงไว้แล้วให้ถูกต้องชัดเจนตามหลักไวยากรณ์  ฝึกเอื้อนเสียงให้ถูกต้องตามทำนองนิยม ฝึกควบคุมจิตให้มีสมาธิไม่ประหม่า ฝึกการสำรวมระวังกิริยามารยาท แต่ไม่สามารถคิดแต่งอธิบายขยายความพุทธธรรมตามประสบการณ์ได้ต้องอาศัยตำราหรือคัมภีร์ใบลานที่นักปราชญ์ได้รจนาไว้เป็นแนวทางไม่ให้ผิดพลาด เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นเทศนา

การเทศนาธรรมแบบปฏิภาณโวหาร เหมือนการศึกษาในระดับมัธยม แม้สามารถคิดแต่งอธิบายขยายความพุทธธรรมตามประสบการณ์ได้แล้ว แต่ยังต้องจดบันทึกหัวข้อสำคัญและอาศัยกรอบจารีตเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองและเสริมสร้างศรัทธาให้แก่ผู้ฟัง เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มฝึกคิดตีความพุทธธรรมด้วยประสบการณ์ของตนเอง 

การเผยแผ่แบบปาฐกถาธรรม เสมือนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา สามารถขบคิด  ตีความพุทธธรรมได้อย่างแตกฉานแล้วพูดได้อย่างฉับพลันทันที มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ไม่ยึดติดในกรอบจารีต มีปฏิภาณไหวพริบดี มีความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีอิสระในการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เหมาะสำหรับพระนักเทศนาที่มีความเป็นตัวของตัวเอง  มีความคิดก้าวหน้า หรือคิดนอกกรอบ

พระนักเทศนาที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่มักผ่านกระบวนการฝึกฝนและมีประสบการณ์เทศนาทั้งแบบจารีต แบบปฏิภาณโวหาร และปาฐกถาธรรมมาแล้ว หากพระนักเทศนายึดจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่พุทธธรรมเข้าสู่ประชาชนอย่างแท้จริง ย่อมต้องวิเคราะห์ว่าจะใช้การเผยแผ่รูปแบบใดให้เหมาะสมสอดคล้องกับผู้ฟังและสถานการณ์ โดยใช้แนวทางที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกปฏิบัติมาเป็นแบบอย่าง ยึดหลักการเทศนาธรรมที่ทรงวางไว้เป็นแนวทาง หากทำได้เช่นนี้การเผยแผ่ธรรมแต่ละครั้งไม่ว่ารูปแบบใดย่อมประสบผลสำเร็จและได้ประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง

 

ข้อเสนอแนะ

 

จากการสัมภาษณ์พระสงฆ์และฆราวาสที่มีบทบาทต่อการเทศนาธรรมในล้านนา แต่ละรูป/ท่านได้ให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไว้ดังนี้   

๑.  พระสงฆ์ผู้เทศนาควรยึดหลักองค์พระธรรมกถึกไว้ให้มั่น เทศน์ไปตามลำดับ ไม่ตัดลัดความ ไม่เห็นแก่ลาภสักการะ ไม่พูดกระทบกระทั่งตนเองและผู้อื่น ไม่ยกตนข่มคนอื่น และไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง

๒.  คณะสงฆ์ควรประชุมว่ากล่าวตักเตือนพระนักเทศนาอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เทศนาออกนอกประเด็น ไม่มุ่งแสวงหาลาภสักการะ แต่มุ่งประโยชน์ผู้ฟังเป็นหลัก

๓.  ปัจจุบันผู้ฟังนิยมฟังเรื่องสนุกสนานมากกว่ามุ่งฟังเอาเนื้อหาสาระ พระนักเทศนาควรมุ่งสอนเนื้อหาสาระเป็นหลักโดยให้มีบรรยากาศที่สนุกสนาน

๔.  คณะสงฆ์และมหาวิทยาลัยสงฆ์ควรทำหลักสูตรการเทศนาธรรมโดยเฉพาะ ทั้งแบบจารีตและแบบปฏิภาณโวหาร ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สำหรับสอนพระสงฆ์สามเณร ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมและมหาวิทยาลัยสงฆ์ยังไม่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์ โดยเฉพาะบทบาทในการเผยแผ่พุทธธรรม 

๕.  คณะสงฆ์ควรจัดตั้งชมรมพระนักเทศนาเพื่อรวบรวมพระนักเทศนาในแต่ละพื้นที่ให้เป็นกลุ่มแล้วกำหนดกฎกติกาหรือข้อปฏิบัติร่วมกัน  สามารถว่ากล่าวตักเตือนการเผยแผ่ธรรมะให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกับจัดอบรมพระนักเทศนารุ่นใหม่ให้สามารถเทศนาธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

๖.  พระนักเทศนาควรวิเคราะห์ผู้ฟัง โอกาส และสถานการณ์ที่จะเทศนาแล้วกำหนดรูปแบบการเทศนา เนื้อหา และกลวิธีการนำเสนอให้สอดคล้องเหมาะสม เพื่อให้การเทศนาธรรมในแต่ละครั้งบรรลุเป้าหมาย

๗.  ควรมีการตรวจสอบชำระเนื้อหาในคัมภีร์ธรรมต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามหลักการทางพระพุทธศาสนาก่อนนำมาเทศนา โดยมีองค์กรสงฆ์ มหาวิทยาลัยสงฆ์ นักวิชาการ พระนักเทศนา  ผู้ที่ผ่านการบวชเรียน (น้อย-หนาน) และผู้สูงอายุร่วมกันตรวจสอบ หากคลาดเคลื่อนควรปรับเปลี่ยนหรือตัดออก

๘.  การเลือกใช้รูปแบบการเทศนาธรรมใด ๆ ขึ้นอยู่กับพระสงฆ์องค์เทศนาจะเลือกใช้  ถ้าหากเทศนาแบบจารีตควรเทศนาให้ได้อรรถรส ชัดถ้อยชัดคำ ถูกต้องตามทำนองท้องถิ่น แต่หากเทศนาแบบปฏิภาณโวหารควรเทศนาให้ได้สาระ ไม่ออกนอกประเด็น ไม่มุ่งตลกขบขัน แต่มุ่งประโยชน์ที่บังเกิดแก่ผู้ฟังเป็นหลัก

 

กิตติกรรมประกาศ

 

ผู้วิจัยขอขอบคุณผู้บริหารและคณะกรรมการวิจัยของสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ที่ได้พิจารณาให้ทุนอุดหนุนการวิจัยครั้งนี้ ขอขอบคุณวิทยากรที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ในการสัมภาษณ์เป็นอย่างดียิ่ง ขอขอบคุณ ศ.ดร.อุดม  รุ่งเรืองศรี  รศ.ดร.สมพงศ์  วิทยศักดิ์พันธุ์  ผศ.จินตนา  มัธยมบุรุษ   ดร.อัญชลี  กิ๊บบิ้นส์  ผศ.เยื้อง  ปั้นเหน่งเพชร  นายเกริก  อัครชิโรเรศ  นางรุ่งทิพย์  กล้าหาญ ที่ให้คำปรึกษาโครงการวิจัย คณะกรรมการประเมิน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้ให้ข้อเสนอแนะข้อคิดเห็นเป็นอย่างดียิ่ง

 

เอกสารอ้างอิง

 

๑.  ภาษาบาลี ไทย:

๑.๑  ข้อมูลปฐมภูมิ

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

 

 

๑.๒ ข้อมูลทุติยภูมิ

๑.๒.๑  หนังสือ 

พระธรรมกิตติวงศ์.  เทศน์: การเผยแผ่ที่สำคัญศักดิ์สิทธิ์.  พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เลี่ยงเซียง, ๒๕๕๐), หน้า ๕๗.

พระพรหมคุณาภรณ์ (..  ปยุตฺโต).  พุทธวิธีในการสอน.  พิมพ์ครั้งที่  ๒๓, กรุงเทพฯ: บริษัทพิมพ์สวยจำกัด, ๒๕๕๑.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.  ปยุตฺโต).  พจนานุกรมพุทธศาสตร์  ฉบับประมวลศัพท์  (ชำระ-เพิ่มเติม ช่วงที่  ๑).  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑.

สุชีพ  ปุญญานุภาพ.  พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน.  พิมพ์ครั้งที่  ๑๖, กรุงเทพมหานคร:  มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๓๙.



[1]พระพรหมคุณาภรณ์ (..  ปยุตฺโต), พุทธวิธีในการสอน, พิมพ์ครั้งที่ ๒๓, กรุงเทพฯ: บริษัทพิมพ์สวยจำกัด, ๒๕๕๑, หน้า ๔๗ และ ๕๒.

[2]พระธรรมกิตติวงศ์, เทศน์: การเผยแผ่ที่สำคัญศักดิ์สิทธิ์, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เลี่ยงเซียง,  ๒๕๕๐), หน้า ๕๗.

[3]สุชีพ  ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน, พิมพ์ครั้งที่ ๑๖, (กรุงเทพมหานคร:  มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๓๙), หน้า ๑๘๓.

[4]พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์  ฉบับประมวลศัพท์ (ชำระ-เพิ่มเติม ช่วงที่ ๑), (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ครั้งที่ ๑๒, ๒๕๕๑), หน้า ๑๕๒.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕