หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาทวี มหาปญฺโญ (ละลง) ผศ.ดร » วิเคราะห์อายุสสธรรม ๕: หลักธรรมที่ช่วยให้อายุยืน ๕ ประการ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
 
เข้าชม : ๒๐๙๘๖ ครั้ง

''วิเคราะห์อายุสสธรรม ๕: หลักธรรมที่ช่วยให้อายุยืน ๕ ประการ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท''
 
พระมหาทวี มหาปญฺโญ (2556)

 

วิเคราะห์อายุสสธรรม ๕: หลักธรรมที่ช่วยให้อายุยืน ๕ ประการ

ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

An Analysis of Five Ayussa-Dhamma (Things Conductive to Longlive)

in Buddhist Texts

 

พระมหาทวี มหาปญฺโญ(ละลง), ผศ.ดร.,

ป.ธ.๙, พธ.บ.(ปรัชญา), ศน.ม.(พุทธศาสน์ศึกษา)

M.Phil. (Buddhist Studies),

Ph.D. (Buddhist Studies)

 

บทคัดย่อ

 

งานวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์อายุสสธรรม ๕: หลักธรรมที่ช่วยให้อายุยืน ๕ ประการ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาความสำคัญของชีวิตและอายุที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาความสำคัญของการมีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์อายุสสธรรม ๕ ในฐานะเป็นธรรมสนับสนุนให้มีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา

ผลการวิจัยพบว่า ความสำคัญของชีวิตและอายุที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา กล่าวคือ ชีวิตเป็นองค์ประชุมของขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเหตุปัจจัยที่ประกอบกันขึ้นตามกฎธรรมชาติ และดำรงอยู่ได้เพราะองค์ประกอบเหล่านั้นมีความสมบูรณ์และสมดุล เบื้องต้นของชีวิตคือความเกิด ที่สุดของชีวิตคือความตาย ในระหว่างความเกิดกับความตายเป็นเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกของสัตว์ทั้งมวล เรียกว่า “อายุ” ชีวิตดำเนินไปโดยสัมพันธ์กับโลกผ่านทางอายตนะเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อ อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติคือมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา การได้มาซึ่งอัตภาพแห่งชีวิตและอายุเป็นอริยทรัพย์ภายในของบุคคลที่มีค่าเหนือกว่าทรัพย์ภายนอกทั้งปวง จึงต้องดูแลรักษาสุขภาพให้มีองค์ประกอบสมบูรณ์ สามารถทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความอยู่รอดและนำพาชีวิตไปสู่ประโยชน์สุขในระดับต่าง ๆ อันมีพระนิพพานเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด

ความสำคัญของการมีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา หมายถึง การมีอายุยืนอย่างมีคุณค่า คือ การดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่อาลัยกับอดีต และไม่พะวงกับอนาคต สร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับชีวิตผ่านโอกาสและเวลาปัจจุบันของตนเอง เพื่อประโยชน์สุขอันเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต หลักพระพุทธศาสนาเน้นการสร้างสุขภาพหรือภาวะที่เป็นสุขแบบองค์รวมให้กับระบบของชีวิต ๔ ด้านคือ ทางกาย ทางสังคม ทางจิต และทางปัญญา โดยเน้นการพัฒนาจากธรรมชาติภายในชีวิตคือพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา อันส่งผลต่อชีวิตซึ่งดำเนินไปโดยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธรรมชาติภายนอกทั้งทางกายและทางสังคม

หลักอายุสสธรรมมี ๕ ประการ คือ ๑) สปฺปายการี สร้างสัปปายะ คือทำอะไร ๆ  ให้เป็นที่สบายเกื้อกูลแก่สุขภาพ ๒) สปฺปาเย มตฺตญฺญู แม้ในสิ่งที่สบายนั้นก็รู้จักประมาณ ทำแต่พอดี ๓) ปณิตโภชี บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย (เช่น เคี้ยวให้ละเอียด) ๔) กาลจารี ประพฤติตนให้เหมาะสมในเรื่องเวลา เช่น รู้จักเวลา ทำถูกเวลา ทำเป็นเวลา ทำพอเหมาะแก่เวลา ๕) พฺรหฺมจารี รู้จักถือพรหมจรรย์ตามควร ซึ่งหลักอายุสสธรรมทั้ง ๕ ประการนี้เป็นข้อปฏิบัติที่เกื้อกูลแก่อายุ ที่มีความสอดคล้องกับแนวทางการรักษาสุขภาพหรือภาวะที่เป็นสุขแบบองค์รวมให้กับระบบของชีวิตทั้ง ๔ ด้าน คือ ทางกาย ทางสังคม ทางจิต และทางปัญญา เป็นแนวคิดหรือหลักปฏิบัติที่เชื่อมโยงวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีงามและถูกต้องตามกฏธรรมชาติเข้ากับประโยชน์สุขอันเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตได้อย่างสอดคล้องกัน

 

Abstract

 

This research is the analyzation of the 5 Ayussa Dhammas :- The 5 Doctrinal principles which help a person to have a long life as appearing in Theravada Buddhist Seritures.  It is of three objectives, namely :- 1. to study the importance of the live and the age appearing in the Buddhist scriptures, 2. to study the importance of the state of having a long life as appearing in the Buddhist scriptures, 3. to analytically study the 5 Ayussa Dhammas as the doctrines supporting a person to live long as appearing in the Buddhist scriptures.

From the research, it is found that the importance of the live and the age appearing in the Buddhist scriptures is that the live is the meeting organ of the five aggregates; the form, the feeling, the concept, the essential condition and consciousness all of which are the causes and factors arising according to the natural low, and can be in existence, because the mentioned co-operations are of completion and balance.  The beginning of life is the birth and the end of the life is the death.  During the birth and the death, it is the time when all the living beings are alive.  They are called the ones with ages.  Their lives are being carried out with the relationship with the world through their sense spheres as the connective instruments.  They are under the natural laws :- the impermanence, the state of suffering and the state of being not self.  To receive the state of life are age it the person’s inner noble treasure which is more valuable than all the outside treasures.  Such the inner treasure can be the instrument for well living and for leading the life to happiness at different levels the highest of which is Nibbana.

The importance of the state of living long as appearing in the Buddhist scriptures means to live long with values, that is to carry out the life without indolence, not to be pleased with the past and the future, but to make a benefit and a value one’s own present life for the benefit and happiness which are the aims of life. The Buddhist principles emphasize the building up of the health or the co-operated happy state to the life on 4 sides namely : the body, the society, the mind and the wisdom, emphasizing the development of mind to be of  wisdom causing the life in connection with the outside nature both in the body and in the society.

There are 5 principles of Ayussa Dhammas.  They are :- 1. Sappayakari, to build up Sappaya.  That is 1. to do anything with beneficial conditions to one’s health, 2. to know proper condition and do the thing properly, 3. To eat what is easy to be digested. 4. to behave oneself properly in the matter of the time such as knowing the time, working at the right time 5. to know how to behave Brahama-Coriya properly.  These 5 principles of Ayussa Dhamma are suitable for the ages which are in compliance with the way of protecting the health or the united happy states of life on four sides, namely:- the bodily one, the social one, the mental one and the intellectual one.  It is the idea or the principle of practice which unites the method of carrying out the good and right life according to the natural law to be in compliance with the happiness which is in compliance with the aim of life.

 

 

 

บทนำ

 

การศึกษาวิจัยเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากความสนใจที่จะศึกษาถึงความสำคัญของชีวิตและอายุที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ความสำคัญของการมีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และวิเคราะห์อายุสสธรรม ๕ ในฐานะเป็นธรรมสนับสนุนให้มีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เพราะเห็นถึงประโยชน์และคุณค่าของชีวิตและอายุมนุษย์ กล่าวคือ ทั้งคนและสัตว์เมื่อเกิดมาในโลกนี้ต้องประกอบด้วยชีวิต คือความเป็นอยู่ เพราะทุกชีวิตต้องมีความเป็นไปต่าง ๆ เช่นการเคลื่อนไหวตามลักษณะของชีวิต เบื้องต้นชีวิตคือความเกิด ที่สุดของชีวิตคือความตาย ในระหว่างความเกิดกับความตายเป็นเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ของสัตว์ทั้งมวล เวลาที่มีอยู่นี้เรียกว่า “อายุ” หมายถึงเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลก ซึ่งเวลาที่มีชีวิตของสัตว์ทั้งมวลย่อมมีไม่เท่ากัน บางคนมีเวลามาก บางคนมีเวลาน้อย เมื่ออายุหมายถึงเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลก การมีชีวิตยืนยาวจึงเป็นที่ปรารถนาของคนที่เกิดมาในโลกนี้ พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่อายุ และมองว่าอายุ คือสมบัติที่มนุษย์สามารถทำให้ยืนยาวได้ถ้าหากว่ารู้จักปฏิบัติต่ออายุอย่างถูกหลัก โดยการปรับสภาวะสมดุลของทั้งร่างกายและจิตใจให้เหมาะสม เกื้อกูลแก่การทำให้มีอายุยืนอย่างแท้จริง อันเป็นการเกื้อกูลแก่ชีวิต เพราะเมื่อสุขภาพร่างกายดีชีวิตก็จะยืนยาว ดังนั้น การวิจัยนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (๑) ความสำคัญของชีวิตและอายุที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) ความสำคัญของการมีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และ (๓) วิเคราะห์อายุสสธรรม ๕ ในฐานะเป็นธรรมสนับสนุนให้มีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา

 

เครื่องมือและวิธีการวิจัย

 

ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ (Quality Research) โดยผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตการวิจัยได้ ๒ ด้านคือ ด้านเนื้อหาและด้านเอกสาร กล่าวคือ ขอบเขตด้านเนื้อหาสำหรับการวิจัยมี ๓ ประการ คือ  (๑) ความสำคัญของชีวิตและอายุที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒)ความสำคัญของการมีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๓) อายุสสธรรม ๕ ประการ ในฐานะเป็นธรรมสนับสนุนให้มีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ขอบเขตด้านเอกสาร มี ๒ ประการคือ (๑) เอกสารขั้นปฐมภูมิ คือพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ พุทธศักราช ๒๕๐๐  และพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๓๙ และ (๒) เอกสารขั้นทุติยภูมิ คืออรรถกถา  รวมทั้งเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอายุสสธรรม ๕ โดยแสดงเหตุผผลที่มีความสัมพันธ์กันในแต่ละประเด็น

 

ผลการวิจัย

 

จากการวิจัยเรื่องอายุสสธรรม ๕: หลักธรรมที่ช่วยให้อายุยืน ๕ ประการในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาความสำคัญของชีวิตและอายุที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาความสำคัญของการมีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์อายุสสธรรม ๕ ในฐานะเป็นธรรมสนับสนุนให้มีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้ :

จากการวิจัย พบความสำคัญของชีวิตและอายุที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา กล่าวคือ ชีวิตคือความเป็นอยู่ ทั้งคนและสัตว์เมื่อเกิดมาในโลกนี้ต้องประกอบด้วยชีวิต ต้องมีความเป็นไปต่าง ๆ เช่นการเคลื่อนไหวตามลักษณะของชีวิต ชีวิตเป็นองค์ประชุมของขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเหตุปัจจัยที่ประกอบกันขึ้นตามกฏธรรมชาติ และดำรงอยู่ได้เพราะองค์ประกอบเหล่านั้นมีความสมบูรณ์และสมดุล ชีวิตจึงสามารถทำหน้าที่และดำเนินต่อไปได้ ชีวิตที่แท้จริงในทัศนะของพระพุทธศาสนาต้องเป็นชีวิตที่ดีการดำรงอยู่ มีลมหายใจ สามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ได้  เบื้องต้นของชีวิตคือความเกิด ที่สุดของชีวิตคือความตาย ในระหว่างความเกิดกับความตายเป็นเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกของสัตว์ทั้งมวล เรียกว่า “อายุ” ซึ่งมีมากน้อยไม่เท่ากัน เป็นสมบัติสำคัญที่เป็นพื้นฐานรองรับคุณสมบัติอย่างอื่น ๆ ทั้งหมด เช่น วรรณะ สุข ยศ และความไม่มีโรค เป็นต้น เพราะเหตุว่าเมื่อทรงอายุคือชีวิตเป็นไปอยู่ คุณสมบัติอย่างอื่น ๆ จึงจะมีได้และเป็นประโยชน์แก่ผู้นั้น ชีวิตดำเนินไปโดยสัมพันธ์กับโลกผ่านทางอายตนะเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อ อยู่ภายใต้กฏธรรมชาติคือมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่มีตัวตนอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ กล่าวได้ว่า ชีวิตและอายุมีความสำคัญ ๓ ประการหลัก  คือ (๑) ชีวิตมีความสำคัญในฐานะเป็นองค์ประกอบ (๒) ชีวิตมีความสำคัญในฐานะเป็นอุปกรณ์ (๓) อายุมีความสำคัญในฐานะเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิต

พระพุทธศาสนามุ่งเน้นการพัฒนาชีวิตมนุษย์ ผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อให้มนุษย์เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีอายุยืนอย่างมีคุณค่า สามารถเป็นที่พึ่งของตนเองทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญา ดำเนินชีวิตไปโดยสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติที่แวดล้อมชีวิตหรือโลกตามวิถีแห่งธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าและหน้าที่ของชีวิต เพราะตราบใดที่ชีวิตยังมีเวลาเหลืออยู่ มนุษย์ก็มีโอกาสใช้ชีวิตที่พัฒนาแล้ว สร้างความหมายและคุณค่าที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้ผ่านการกระทำของตนเอง อายุนับว่าเป็นวงจรชีวิตของมนุษย์ที่มีโครงสร้างของกาลเวลาตั้งแต่เกิด เติบโต แก่และตาย มีอิทธิพลเหนือมนุษย์เพราะมนุษย์ย่อมมีการเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมชาติ เป็นวงจรที่ทุกคนต้องพบ  ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าเราจะมีวิวัฒนาการทำให้อายุของเรายืนยาวมากเท่าใดก็ตาม ชีวิตที่เป็นอมตะนั้นเป็นไปไม่ได้

ชีวิตคือสิ่งที่มีการเกิด การเจริญเติบโตและการตาย เป็นที่สุด และลักษณะชีวิตอีกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่มาคู่กับการเกิด เจริญเติบโตและตายคือความผันแปรเพราะเป็นสภาพที่คงเดิมไม่ได้  หมายความว่าชีวิตทั้งที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครองต่างก็ตกอยู่ภายในลักษณะของความผันแปรซึ่งพระพุทธศาสนาเรียกว่า “อนิจจัง” และผลจากการที่ชีวิตต้องผันแปรนี่เองจึงทำให้ชีวิตมีสภาพเป็นทุกข์ ดังพระพุทธพจน์ว่า “การเกิดในภพใหม่ และการแตกไปแห่งสรีระเป็นทุกข์  ความหลงตายเป็นทุกข์ ชีวิตถูกชราย่ำยี ก็ครั้งนั้น เรามีความเกิด ความแก่ความป่วยไข้เป็นธรรมดาเราจักแสวงหาพระนิพพานที่ไม่แก่ ไม่ตาย  เป็นแดนเกษม”[1]

ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชีวิตในทัศนะของพระพุทธศาสนา คือ ชีวิตมีลักษณะเป็นของน้อย เพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อยแล้วสิ้นไป ซึ่งชีวิตในลักษณะนี้จะมีการเกิดดับอยู่ทุกขณะ มีการเกิดขึ้นแล้วมีการดำรงอยู่เพียงชั่วขณะแล้วก็ดับไปในที่สุด ดังปรากฏในพระไตรปิฎกว่า “ในขณะจิตที่เป็นอดีตชีวิตเป็นอยู่แล้วไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่จักเป็นอยู่ ในขณะจิตที่เป็นอนาคตชีวิตจักเป็นอยู่ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ในขณะจิตที่เป็นปัจจุบันชีวิตกำลังเป็นอยู่ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่จักเป็นอยู่...ชีวิต อัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งปวง เป็นธรรมที่ประกอบกันขึ้นชั่วขณะจิตเดียว”[2] เมื่อจะกล่าวถึงชีวิตให้ถูกต้องนั้น พึงกล่าวว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายมีประมาณน้อย เล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอกสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย[3] จากพระพุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นว่าทั้งความเปลี่ยนแปลงและความทุกข์เป็นลักษณะที่สำคัญของชีวิต เพราะเมื่อมีชีวิตก็ย่อมมีความเปลี่ยนแปลง เมื่อชีวิตมีความเปลี่ยนแปลง ชีวิตจึงหนีไม่พ้นจากความทุกข์

กล่าวได้ว่า การได้มาซึ่งอัตภาพแห่งชีวิตและอายุจึงเป็นอริยทรัพย์ภายในของบุคคลที่มีค่าเหนือกว่าทรัพย์ภายนอกทั้งปวงที่ต้องดูแลรักษาสุขภาพให้มีองค์ประกอบสมบูรณ์ สามารถทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความอยู่รอดและนำพาชีวิตไปสู่ประโยชน์สุขในระดับต่าง ๆ อันมีพระนิพพานเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ในพระไตรปิฎกยังได้อุปมาชีวิตมนุษย์ไว้หลายประการ เช่น หยาดนํ้าค้าง ฟองนํ้า รอยขีดในนํ้า แม่นํ้าที่ไหลมาจากภูเขา ก้อนเขฬะ ชิ้นเนื้อ แม่โคที่จะถูกฆ่า เป็นต้น

 

ความสำคัญของการมีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา หมายถึง การมีอายุยืนอย่างมีคุณค่า คือการดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่อาลัยกับอดีตและไม่พะวงกับอนาคต สร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับชีวิตผ่านโอกาสและเวลาปัจจุบันของตนเอง เพื่อประโยชน์สุขในระดับต่าง ๆ อันเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต ทั้งในมิติของกาลเวลา คือ ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้า ประโยชน์อย่างยิ่ง และในมิติของการกระทำ คือ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้พระพุทธศาสนายังมีเป้าหมายที่เป็นความสุข ๓ ระดับ คือ ระดับศีล (กามสุข) ระดับสมาธิ (ฌานสุข) และระดับปัญญา (นิพพานสุข) อีกด้วย สำหรับเป้าหมายระดับศีล (กามสุข) นั้น เป็นเป้าหมายระดับต้นเพื่อเป็นฐานในการก้าวไปสู่ความสุขที่ประณีตในระดับที่สูงขึ้นคือ ระดับสมาธิ (ฌานสุข) ซึ่งทั้งสองระดับนี้ยังต้องอาศัยปัจจัยภายนอกประกอบ แต่ความสุขในระดับปัญญา (นิพพานสุข) นั้น เป็นความสุขอันเป็นเป้าหมายในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ต้องการปัจจัยภายนอกเข้ามาเป็นองค์ประกอบเพื่อให้เกิดความสุขในระดับนี้

ช่วงอายุที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตก็คือขณะปัจจุบัน หรือขณะที่กำลังใช้ชีวิตอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ย้อนไปคิดถึงอดีตและคำนึงไปถึงอนาคต การอยู่กับขณะปัจจุบันคือการมีสติสัมปชัญญะควบคุม อยู่กับการรับรู้และเผชิญกับความเป็นจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของธรรมชาติอยู่ตลอดเวลาด้วยปัญญาของตนเอง ระลึกรู้ถึงสภาวธรรมที่ปรากฏในขณะจิต จดจ่ออยู่ในกิจกรรมที่กำลังกระทำ เพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นกับชีวิต ที่สำคัญคือเป็นการพัฒนาจิตให้เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวงด้วยสัมมาทิฏฐิ เพื่อนำชีวิตไปสู่พระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ดังพุทธพจน์ที่ว่าทางนั้นเป็นทางสายตรง ทิศนั้นไม่มีภัย รถที่ไร้เสียง ประกอบด้วยล้อ คือธรรม ความละอาย (หิริ) เป็นฝาประทุน ความรู้สึกตัว (สติ) เป็นเกราะของรถ สัมมาทิฎฐิเป็นตัวนำ ดั่งสารถี ยานนี้มีแก่ใครแล้วไม่ว่าจะเป็นสตรีหรือบุรุษ เขาย่อมถึงนิพพานได้ด้วยยานนี้[4]

ความทุกข์เป็นธรรมชาติของชีวิต มนุษย์จึงไม่สามารถหลีกหนีความทุกข์ได้ การเผชิญหน้าและเรียนรู้ที่จะดำรงอยู่กับความทุกข์เหล่านั้นด้วยสติปัญญา จึงเป็นโอกาสให้มนุษย์ได้เรียนรู้วิธีการที่จะพ้นทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจของตนผ่านการปฏิบัติของตนเอง โดยการมีสติดำรงอยู่กับปัจจุบันไม่คำนึงถึงอดีตหรืออนาคต อายุขณะปัจจุบันจึงมีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือพัฒนาจิตใจมนุษย์ ไม่ให้ยึดติดในอารมณ์ต่าง ๆ ดังพุทธพจน์ที่ว่าผู้ถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่เพ้อฝันถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ฉะนั้น ผิวพรรณของท่านจึงผ่องใส; ส่วนชนผู้อ่อนปัญญาทั้งหลายเฝ้าแต่เพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง และหวนละห้อยถึงความหลังอันล่วงแล้ว จึงซูบซีดหม่นหมอง เหมือนต้นอ้อสด ที่เขาถอนทิ้งขึ้นทิ้งไว้ที่ในกลางแดด[5]

อายุเป็นสมบัติอย่างหนึ่งที่มนุษย์สามารถทำให้ยืนยาวได้หากรู้จักปฏิบัติต่ออายุอย่างถูกต้องโดยการรักษาสุขภาพ สุขภาพหมายถึง ภาวะที่เป็นสุขหรือภาวะที่มีความทุกข์น้อยจนกระทั่งหมดทุกข์อย่างสิ้นเชิงถาวรหรือการบรรลุพระนิพพาน หลักพระพุทธศาสนาเน้นการสร้างสุขภาพหรือภาวะที่เป็นสุขแบบองค์รวมให้กับระบบของชีวิตซึ่งมี ๔ ด้านคือ ทางกาย ทางสังคม ทางจิต และทางปัญญา โดยเน้นการพัฒนาจากธรรมชาติภายในชีวิตคือพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา อันส่งผลต่อชีวิตที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธรรมชาติภายนอกทั้งทางกายและทางสังคม แนวทางการรักษาสุขภาพนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายด้าน ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือตัวบุคคลและแนวทางปฏิบัติของแต่ละบุคคล โดยมีหลักที่สำคัญคือ การสร้างความรู้แจ้งในความจริงตามกฎธรรมชาติให้เกิดกับตนเองผ่านกิจวัตรประจำวันของตนเองที่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นสุขนิสัย เป็นการปรับเปลี่ยนแบบแผนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของตนเองโดยส่งผ่านความมีอายุและสืบทอดกันมาตามกระบวนการของชีวิต เพื่อพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นและสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ ส่งผลให้มีชีวิตที่ดีขึ้น การลงมือปฏิบัติและผลด้านสุขภาพนั้นก็แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เช่น สภาพโดยรวมของบุคคล กำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญา เป็นต้น กล่าวได้ว่า อายุเป็นสมบัติอย่างหนึ่งที่มนุษย์สามารถทำให้ยืนยาวได้ด้วยการปฏิบัติต่ออายุอย่างถูกต้อง การมีชีวิตยืนยาวจึงเป็นที่ปรารถนาของทุกคน ซึ่งทำได้โดยการรักษาสุขภาพแบบองค์รวมต่อระบบของชีวิต อันส่งผลต่อการมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณค่าที่แท้จริง

ความมีอายุเป็นเหตุปัจจัยหลักต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งในด้านดีและไม่ดี สังคมซึ่งเปรียบได้กับชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง จึงดำเนินไปอย่างเป็นเหตุเป็นผลคู่กับชีวิตมนุษย์เสมอ มนุษย์จึงต้องพัฒนาชีวิตและสังคมให้มีคุณค่าอย่างยั่งยืนควบคู่กันไป สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายที่แท้จริงทั้งของชีวิตและสังคมได้ โดยเน้นหลักปฏิบัติที่ช่วยขัดเกลามนุษย์จากภายในจิตใจ ให้มุ่งทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ตราบเท่าที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น หากมนุษย์มีอายุยืนยาวและประพฤติตนต่อสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องด้วยความดีงามแล้ว ย่อมส่งผลอันมีคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อการดำรงอยู่อย่างเกื้อกูลกันของสิ่งทั้งปวง

ความมีอายุของมนุษย์นั้น ส่งผลให้เกิดการนำประสบการณ์ที่สั่งสมผ่านชีวิตและสังคมมาหลอมรวมกับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สร้างเป็นหนทางในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้เพราะอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่ประกอบเป็นชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องนั้นเชื่อมต่อโยงใยถึงกันหมดเป็นหนึ่งเดียว อาจกล่าวได้ว่า “สรรพสิ่งล้วนดำเนินไปตามเหตุปัจจัยอย่างสอดคล้องประสานกันเสมอท่ามกลางความมีอายุ” ดังนั้น บุคคลที่ดำเนินชีวิตโดยสร้างเหตุปัจจัยที่ดีมาตลอด หากบุคคลนั้นมีอายุยืน ความมีอายุยืนนั้นก็เป็นอายุยืนที่เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะเป็นชีวิตที่มีคุณค่าทั้งต่อตนเองและสังคมอีกด้วย

สังคมก็เช่นเดียวกัน ท่ามกลางความมีอายุของสังคมที่ถือได้ว่าเป็นชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ก็มีการสั่งสมประสบการณ์ ความชำนาญที่หลากหลาย สืบทอดต่อเนื่องกันผ่านกาลเวลาและบริบทต่าง ๆ เรื่อยมา ความมีอายุของสังคมจึงเชื่อมโยงจากอดีต สู่ปัจจุบัน เกิดเป็นวิถีชีวิตและองค์ความรู้หรือที่เรียกว่าภูมิปัญญา ให้มีอยู่คู่กับสังคมหนึ่ง ๆ และโยงใยขับเคลื่อนสังคมนั้น ๆ ไปสู่อนาคตตามเหตุปัจจัยอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้น ความมีอายุของชีวิตและสังคมที่มีคุณค่า จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นกลไกขับเคลื่อนสิ่งทั้งปวง กล่าวคือ เมื่อสร้างเหตุปัจจัยในอดีตไว้ดี ย่อมเกื้อหนุนต่อความเป็นอยู่เป็นไปของปัจจุบัน เมื่อเกิดวิกฤตหรือปัญหาขึ้น ก็สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ด้วยสติปัญญา แล้วยังสั่งสมเป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ จากการเรียนรู้ซึ่งกันและกันของชีวิตและสังคม ส่งผลให้ความมีอายุยืนของสังคมนั้นจึงมีคุณค่า มีความหมาย และเป็นความมีอายุยืนที่มีความสมบูรณ์อย่างแท้จริง

ความมีอายุยืนแม้ว่าจะเป็นสภาพที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง แต่มิได้ถือว่าเป็นตัวตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต เครื่องตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตนั้น คือการได้ทำสิ่งที่ดีงาม เจริญกุศลธรรม ดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญา มีเมตตากรุณา มีความกตัญญู อันเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ไม่ว่าอายุจะสั้นหรือยืนยาวก็ตาม ดังพุทธพจน์ที่ว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึง สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ บุคคลนั้นควรเจริญธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง บุคคลควรทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนามากนั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคลผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งมีปกติอยู่อย่างนี้นั้นแลว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ ดังนี้[6]

ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราถูกรูปเคี้ยวกินอยู่ แม้ในอดีตกาล เราก็ถูกรูปเคี้ยวกินแล้วเหมือนกับที่ถูกรูปที่เป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในเวลานี้ ก็เราเองพึงชื่นชมรูปที่เป็นอนาคต แม้ในอนาคตกาล เราก็พึงถูกรูปเคี้ยวกิน เหมือนกับที่ถูกรูปที่เป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในเวลานี้ เธอพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ไม่มีความอาลัยในรูปที่เป็นอดีต ไม่ชื่นชมรูปที่เป็นอนาคต ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับรูปที่เป็นปัจจุบัน[7]

ในขณะจิตที่เป็นอดีต ชีวิตเป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่จักเป็นอยู่ ในขณะจิตที่เป็นอนาคต ชีวิตจักเป็นอยู่ ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ในขณะจิตที่เป็นปัจจุบัน ชีวิตกำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่จัก... ชีวิต อัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งปวง เป็นธรรมที่ประกอบกันขึ้นชั่วขณะจิตเดียว[8]

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีนิมิต ใคร ๆ  รู้ไม่ได้ ทั้งลำบาก สั้นนิดเดียว และประกอบด้วยทุกข์ วิธีที่สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจะไม่ตายย่อมไม่มีแม้จะอยู่ไปจนถึงชรา ก็จะต้องถึงแก่ความตาย เพราะสัตว์ทั้งหลายมีความตายอย่างนี้เป็นธรรมดา สัตว์ที่เกิดมาแล้วมีภัยจากความตายเป็นนิตย์ เหมือนผลไม้สุกแล้วมีภัยจากการหล่นไปในเวลาเช้า ฉะนั้นภาชนะดินที่ช่างหม้อทำไว้ทั้งหมดมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใดชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นฉันนั้น[9]

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ชีวิตที่งอกงามด้วยกุศลธรรมอำนวยประโยชน์สุขแก่ตนและส่วนรวม แม้จะสั้นก็ยังประเสริฐกว่าชีวิตซึ่งยืนยาว แต่เป็นที่สั่งสมและแผ่ขยายของอกุศลธรรม สร้างความทุกข์และปัญหาไม่ว่างเว้น ช่วงอายุที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตก็คือขณะปัจจุบัน หรือขณะที่กำลังใช้ชีวิตอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ย้อนไปคิดถึงอดีตและคำนึงไปถึงอนาคต การอยู่กับขณะปัจจุบันคือการมีสติสัมปชัญญะควบคุม อยู่กับการรับรู้และเผชิญกับความเป็นจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของธรรมชาติอยู่ตลอดเวลาด้วยปัญญาของตนเอง ระลึกรู้ถึงสภาวธรรมที่ปรากฏในขณะจิต จดจ่ออยู่ในกิจกรรมที่กำลังกระทำ เพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นกับชีวิต ที่สำคัญคือเป็นการพัฒนาจิตให้เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวงด้วยสัมมาทิฏฐิ เพื่อนำชีวิตไปสู่พระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

ผลจากการวิเคราะห์อายุสสธรรม ๕ ในฐานะเป็นธรรมสนับสนุนให้มีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา สรุปความเห็นได้ว่า อายุสสธรรม ๕ หรืออายุสสะ หรืออายุวัฒนธรรม เป็นข้อปฏิบัติที่เกื้อกูลแก่อายุ ที่มีความสอดคล้องกับหลักไตรสิกขา และแนวทางการรักษาสุขภาพหรือภาวะที่เป็นสุขแบบองค์รวมให้กับระบบของชีวิตทั้ง ๔ ด้าน เป็นแนวคิดหรือหลักปฏิบัติที่เชื่อมโยงวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีงามและถูกต้องตามกฏธรรมชาติเข้ากับประโยชน์สุขอันเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตได้อย่างสอดคล้องกัน หลักอายุสสธรรมมี ๕ ประการ คือ ๑) สปฺปายการี สร้างสัปปายะ คือทำอะไร ๆ ให้เป็นที่สบายเกื้อกูลแก่สุขภาพ ๒) สปฺปาเย มตฺตญฺญู แม้ในสิ่งที่สบายนั้นก็รู้จักประมาณ ทำแต่พอดี ๓) ปณิตโภชี บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย (เช่น เคี้ยวให้ละเอียด)             ๔) กาลจารี ประพฤติตนให้เหมาะสมในเรื่องเวลา เช่น รู้จักเวลา ทำถูกเวลา ทำเป็นเวลา ทำพอเหมาะแก่เวลา ๕) พฺรหฺมจารี รู้จักถือพรหมจรรย์ตามควร เป็นหลักปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่การมีอายุยืนอย่างแท้จริงของผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยการปลูกฝัง พัฒนา และรักษาให้เป็นสุขนิสัยอันหมายถึง แบบแผนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของบุคคล ที่ส่งผ่านความมีอายุและสืบทอดกันมาตามกระบวนการของชีวิตจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน และเป็นเหตุปัจจัยต่อผลที่จะเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้าอีกด้วย หากชีวิตที่ผ่านมาสร้างเหตุปัจจัยไว้ดี คือเป็นกระบวนการชีวิตที่ดีงามและถูกต้องแล้ว ก็ย่อมส่งผลโดยรวมต่อชีวิตในปัจจุบันให้ชีวิตมีความสุข อันเป็นผลจากการมีสุขภาพดี มีสภาวะสมดุล และมีความสมบูรณ์ขององค์ประกอบชีวิตทั้ง ๔ ด้านคือ ทางกาย ทางสังคม ทางจิต และทางปัญญา กล่าวโดยสรุปได้ว่า แนวทางการรักษาสุขภาพเพื่อการมีอายุยืนอย่างมีคุณค่า โดยการพัฒนาและปรับสมดุลให้กับระบบชีวิตผ่านวิถีการดำเนินชีวิต อันเป็นอยู่เป็นไปได้ด้วยกิจวัตรพื้นฐานประจำวันที่มนุษย์กระทำอยู่แล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตลอดชีวิตของตน หากแต่ยังไม่ถูกต้องและสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ อีกทั้งขาดความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จึงส่งผลในการบั่นทอนสุขภาพของระบบชีวิตโดยรวม และยังส่งผลไปสู่วิกฤตทางทรัพยากรธรรมชาติของโลกที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ถูกต้องและเห็นแก่ประโยชน์ตนของมนุษยชาติเป็นหลัก และผลทั้งปวงนั้น             ก็สะท้อนกลับมาเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่สร้างปัญหาต่อความอยู่รอดของชีวิตในฐานะเป็นองค์ประกอบของกันและกันในระบบธรรมชาติเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และยากต่อการแก้ไขอย่างยิ่ง

ในการวิจัยนี้ ผู้วิจัยจึงได้นำเสนอหลักอายุสสธรรมเพื่อเป็นอุปกรณ์รักษาสุขภาพแบบองค์รวมเชิงพุทธ โดยหลักธรรมดังกล่าว มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่เหตุอันเกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้องไม่สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ โดยนำเสนอแนวทางหรือหลักปฏิบัติที่มุ่งเน้นให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน อันเป็นกลไกที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ กล่าวคือ มนุษย์ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด และมนุษย์ดำเนินชีวิตไปโดยสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพื่อยังสันติสุขให้เกิดขึ้น ดังนั้น ผู้วิจัยจึงนำเสนอแนวทาง ๓ ขั้นตอนคือ การปลูกฝังสุขนิสัย การพัฒนาสุขนิสัย และรักษาให้เป็นสุขนิสัยของบุคคลอย่างมั่นคง ไม่โน้มเอียงไปสู่ความไม่ถูกต้องอันเกิดมาจากกระแสหรือค่านิยมของโลกที่แวดล้อมชีวิต หลักดังกล่าวเป็นแนวทางคำนึงถึง การสร้างจิตสำนึกเพื่อให้มนุษย์ดำเนินชีวิตของตนไปพร้อม ๆ กับการรักษาสมดุลของทรัพยากรที่แวดล้อมและต้องอิงอาศัยกันไปตามกฎธรรมชาติ อันประกอบด้วย ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติที่แวดล้อมชีวิตมนุษย์ และที่สำคัญคือ ทรัพยากรทางปัญญาอันเป็นหลักคิดหรือแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิตเพื่อการมีอายุยืนอย่างมีคุณค่า หลักอายุสสธรรมมีเป้าหมาย ๓ ประการซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของชีวิต กล่าวคือ การดำเนินชีวิตไปสู่จุดมุ่งหมายโดยการสร้างประโยชน์สุขในระดับต่าง ๆ ให้กับชีวิต เป้าหมาย ๓ ประการ ประกอบด้วย (๑) เป้าหมายชีวิตแนวตั้ง ประกอบด้วย ประโยชน์ปัจจุบัน (ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์) ประโยชน์ภายหน้า (สัมปรายิกัตถประโยชน์) และประโยชน์อย่างยิ่ง (ปรมัตถประโยชน์) (๒) เป้าหมายชีวิตแนวราบ ประกอบด้วย ประโยชน์ตน (อัตตประโยชน์) ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถประโยชน์) และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถประโยชน์) (๓) เป้าหมายที่เป็นความสุข ๓ ระดับ คือ ระดับศีล (กามสุข) ระดับสมาธิ (ฌานสุข) และระดับปัญญา (นิพพานสุข) ทั้งนี้ หลักพุทธธรรมที่ใช้วัดผลบุคคลที่บรรลุการศึกษาของชีวิตทั้ง ๔ ด้านคือหลักภาวนา ๔ อันประกอบด้วย ภาวิตกายคือผู้มีกายที่พัฒนาแล้ว ภาวิตศีลคือผู้มีศีลที่พัฒนาแล้ว ภาวิตจิตคือผู้มีจิตที่พัฒนาแล้ว และ            ภาวิตปัญญาคือผู้มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว

อายุสสธรรมนอกจากเป็นหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับแนวทางการรักษาสุขภาพของระบบชีวิตแบบองค์รวมทั้ง ๔ ด้านแล้ว ยังมีความสอดคล้องกับหลักอริยสัจ ๔ ซึ่งมุ่งกำจัดเหตุแห่งความทุกข์เพื่อสร้างสุขภาพหรือภาวะที่เป็นสุขให้เกิดกับชีวิต เป็นธรรมที่ส่งเสริมอริยมรรค ๘              ซึ่งเป็นปฏิปทาเพื่อนำชีวิตไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุด และยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทา คือไม่ปฏิบัติแบบสุดโต่งหรือย่อหย่อนเกิดไป ครอบคลุมข้อปฏิบัติด้านศีล สมาธิ ปัญญา อย่างครบถ้วน กล่าวคือ หลักอายุสสธรรมข้อที่ ๑ เป็นการพิจารณาเลือกปัจจัยที่มีความสำคัญต่อชีวิตอย่างแท้จริง            ซึ่งสอดคล้องกับด้านศีล อายุสสธรรมข้อที่ ๒,,๔ สอดคล้องกับด้านสมาธิ เป็นการสร้างภาวะแห่งจิตใจที่บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัจจัยนั้น ๆ อย่างมี สติ สมาธิ และวิริยะ อยู่ในกรอบของคุณค่าแท้ กล่าวคือ หลักอายุสสธรรมข้อที่ ๒ คำนึงในเชิงปริมาณที่พอเหมาะพอดีกับความต้องการของชีวิต หลักอายุสสธรรมข้อที่ ๓ คำนึงในเชิงคุณภาพ มีลำดับขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอันเป็นการรบกวนเป็นภาระชีวิต ต้องทุ่มเทกำลังทั้งภายนอกและภายในชีวิต เช่น การบริโภคอาหารที่ปรุงด้วยขั้นตอนง่าย ๆ ไม่จำเป็นต้องประดับเพื่อเพิ่มคุณค่าเทียมเกินความต้องการที่แท้จริงของการบริโภค ที่มุ่งเน้นประโยชน์ที่แท้จริงคือการยังอัตภาพของชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้ อีกทั้งเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อลดขั้นตอนและภาระของระบบภายในร่างกายที่ต้องทำงานหนักเพื่อการย่อยอาหาร และหลักอายุสสธรรมข้อที่ ๔ คำนึงในเชิงคุณภาพคือ การปฏิบัติด้วยความตั้งใจมั่น เป็นกิจวัตรที่ดำเนินอยู่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ถูกต้องถูกเวลาสอดคล้องกับวิถีชีวิตของตน และหลักอายุสสธรรมข้อที่ ๕ สอดคล้องกับด้านปัญญา เป็นหลักสำคัญที่มุ่งเน้นการขัดเกลาจิตใจ ด้วยการสร้างคุณธรรม ศรัทธา และสติปัญญา ให้เกิดขึ้น โดยมีสัมมาทิฏฐิหรือปัญญาเป็นจุดเริ่มต้นของความประพฤติชอบทั้งทางกาย วาจา และใจ

มนุษย์มีปัญหาชีวิตที่คอยบีบคั้นให้เกิดความทุกข์ขึ้นในจิตใจตลอดเวลา ปัญหาความทุกข์ใจนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของชีวิตและสิ่งที่แวดล้อมชีวิต ที่เกิดความขัดข้องไม่สามารถเป็นองค์ประกอบที่เติมเต็มความพร่องภายในจิตใจได้ เพราะลักษณะพื้นฐานของชีวิตคือไม่มีความเป็นอิสระ เป็นองค์ประกอบที่ต้องอิงอาศัยเหตุปัจจัยอื่นมาประกอบและเกื้อกูลอยู่ตลอดเวลา ตามกฎธรรมชาติ ส่งผลให้ชีวิตมนุษย์แวดล้อมด้วยปัญหาในด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาด้านสุขภาพของร่างกาย จิตใจ ปัญหาความสัมพันธ์กับสังคมหรือเพื่อนมนุษย์ และปัญหาการบุกรุกทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้มีสาเหตุมาจากจิตมนุษย์ขาดการพัฒนาความรู้ในระดับสติปัญญา กล่าวคือ รากฐานแห่งแนวความคิดและความประพฤติในการดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ มนุษย์ที่ขาดสติปัญญาเป็นเครื่องมือกำกับจิตใจจึงต้องประสบปัญหาทุกข์ใจอยู่ตลอดเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาชีวิตมนุษย์ที่รากฐานคือการแก้ไขแนวคิดและความประพฤติให้ถูกต้อง เป็นการพัฒนามนุษย์โดยเริ่มจากภายในจิตใจและส่งผลต่อชีวิตในทางปฏิบัติต่อสิ่งที่แวดล้อมชีวิตภายนอกอย่างสอดคล้องประสานกัน ดังพุทธพจน์ที่ว่าธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ ถ้าคนมีใจดี ก็จะพูดดีหรือทำดีตามไปด้วย เพราะความดีนั้น สุขย่อมติดตามเขาไป เหมือนเงาติดตามตัวเขาไป ฉะนั้น [10]

หลักทางพระพุทธศาสนามุ่งเน้นการพัฒนาสติปัญญาให้เป็นเครื่องมือสำคัญของจิตใจในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ของชีวิต และหลักคำสอนยังเป็นกระบวนธรรมอย่างต่อเนื่อง คือการใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตภาคปฏิบัติ เพื่อการบรรลุผลอันเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตอย่างแท้จริง แนวทางการสร้างสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาชีวิตนั้น เป็นการกำจัดความทุกข์ที่เหตุ โดยการทำลายความรู้ความเข้าใจและความเชื่อในสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติออกไปจากจิตใจของมนุษย์โดยใช้สติปัญญาเป็นเครื่องมือในการบรรลุจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิต ดังพุทธพจน์ที่ว่า “...ภิกษุทั้งหลายเมื่อดวงอาทิตย์กำลังจะอุทัย ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด สัมมาทิฏฐิก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตเพื่อการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการ”[11]

แนวทางดังกล่าวนี้ มีรูปแบบและกระบวนการที่สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ คือสอนให้รู้ความเป็นไปของสรรพสิ่งตามความเป็นจริงว่า ธรรมชาติเป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งปวงที่เรียกว่าทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบที่อิงอาศัยอย่างเป็นเหตุปัจจัยและเกื้อกูลต่อกัน ภายใต้กฎธรรมชาติเดียวกัน ชีวิตมนุษย์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะเป็นทรัพยากรที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนธรรมแห่งความสัมพันธ์ตามกฎธรรมชาตินี้

มนุษย์ในฐานะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตครอง เป็นสัตว์ที่สามารถพัฒนาองค์ความรู้ในระดับสติปัญญาได้ ดังนั้น แนวคิดและพฤติกรรมของมนุษย์จึงเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงและขับเคลื่อนสรรพสิ่งให้ดำเนินความสัมพันธ์ไปตามเจตนารมณ์ของตน ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันอย่างเป็นเอกภาพภายใต้กฎธรรมชาติเดียวกัน โดยการนำประสบการณ์ที่สั่งสมผ่านกาลเวลา มาหลอมรวมกับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สร้างเป็นแนวคิดและพฤติกรรมในวิถีแห่งการดำเนินชีวิต ดังนั้น หากมนุษย์สามารถเรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติตนได้อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติแล้ว ความมีอายุของชีวิตและโลกซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องมาจากอดีต สู่ปัจจุบัน และโยงใยขับเคลื่อนสิ่งทั้งปวงไปสู่อนาคตตามเหตุปัจจัยอย่างต่อเนื่องนั้น จะเป็นความมีอายุที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง กล่าวโดยสรุปได้ว่า รูปแบบของความมีอายุยืนที่มีคุณค่านั้น เกิดจากวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่มีความสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ หากบุคคลสามารถดำเนินชีวิตไปตามวิถีแห่งธรรมชาติในช่วงเวลาของชีวิตแล้ว ก็จะส่งผลต่อความมีอายุยืน สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้มากมาย

ความมีอายุเป็นเหตุปัจจัยหลักต่อความเป็นไปของโลกซึ่งดำเนินไปอย่างเป็นเหตุเป็นผลคู่กับชีวิตมนุษย์เสมอ อายุสสธรรมเป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยขัดเกลามนุษย์จากเหตุที่แท้จริงภายในจิตใจ ให้มุ่งทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เพราะความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จะเป็นกลไปหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนโลกและชีวิต ดังนั้น หากมนุษย์มีอายุยืนยาวและประพฤติตนต่อสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องด้วยความดีงามแล้ว ย่อมส่งผลอันมีคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อสรรพสิ่ง กล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักอายุสสธรรมเป็นหลักธรรมเพื่อพัฒนาชีวิตมนุษย์ทั้งภายในคือแนวคิดและภายนอกคือความประพฤติที่ถูกต้อง เพื่อการมีอายุยืนอย่างมีคุณค่า สามารถขับเคลื่อนโลกและชีวิตไปในทิศทางที่ดีงาม

ผู้วิจัยได้ศึกษาวิเคราะห์แนวทางพัฒนาชีวิตไปพร้อม ๆ กับการดำเนินชีวิต ประกอบด้วยการพัฒนาแนวคิดหรือสติปัญญาอันเป็นชีวิตด้านใน และการพัฒนาความประพฤติตามแนวคิดนั้น ซึ่งถือเป็นชีวิตด้านนอก การพัฒนาชีวิตไปพร้อม ๆ กับการดำเนินชีวิตทั้งสองด้านนี้ จะส่งผลต่อชีวิตให้เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนความสัมพันธ์ตามธรรมชาติ เพื่อการมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณค่าแบบองค์รวม คือครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม โดยใช้หลักอายุสสธรรมในฐานะเป็นอุปกรณ์ทางธรรมที่สนับสนุนการสร้างรูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์ในลักษณะของการบำบัดหรือบรรเทาทุกข์ของการดำเนินชีวิต และสร้างความสุขให้เกิดขึ้น ด้วยการสร้างรูปแบบสุขนิสัยของการบริโภคปัจจัยที่สำคัญในวิถีชีวิตอย่างถูกต้องและเหมาะสม ประกอบด้วยสติปัญญา  เป็นไปเพื่อเกื้อกูลต่อชีวิตในทุก ๆ ด้าน อันส่งผลต่อการอายุยืนอย่างมีคุณค่าและมีวิวัฒนาการไปในทางที่ดีงามอันส่งผลดีต่อชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม

วิถีชีวิตที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาก็คือ การมีสุขภาพที่สมบูรณ์ มีความปลอดภัย เป็นบุคคลที่มีคุณค่า คือ เป็นที่พึ่งของตนเองหรือผู้อื่นได้ ที่สำคัญคือความต้องการมีอายุที่ยืนยาว ดำเนินชีวิตไปได้อย่างกลมกลืนสอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาติ หรือกล่าวสั้น ๆ ได้ว่า มีความสุขกายสบายใจอย่างเป็นธรรมชาติในวิถีชีวิตประจำวัน ลักษณะตามธรรมชาติของชีวิตที่ดี คือ มีการดำรงอยู่ มีลมหายใจ สามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ และสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้โดยอาศัยอายตนะภายใน จะเห็นได้ว่าลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของชีวิตก็คือการอาศัยปัจจัยสำคัญจากภายนอกเข้ามาเป็นส่วนประกอบ เพื่อยังอัตภาพของชีวิตให้เป็นไปได้ ที่เห็นได้ชัดก็คือ ความต้องการอากาศเพื่อการหายใจ ต้องการอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค            ที่เรียกว่า ปัจจัย ๔ เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและบรรเทาทุกขเวทนาอันเกิดจากความหิว ความหนาว และทุกขเวทนาอื่น ๆ ที่ปรากฏเป็นอาการเบียดเบียนเสียดแทงร่างกายอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น นอกจากความต้องการปัจจัยพื้นฐานจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ดังตัวอย่างนี้แล้ว ชีวิตยังมีความต้องการปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายจากธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมเกื้อกูลให้ชีวิตดำรงอยู่และสามารถทำการงานไปตามลักษณะธรรมชาติของชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ลักษณะชีวิตที่ดีที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาก็คือ การมีสุขภาพดีไปพร้อม ๆ กับการดำรงชีวิตอยู่ เพราะสุขภาพกายและสุขภาพจิต เป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมให้มีอายุยืนยาวอย่างมีคุณค่า และประสบความสำเร็จในการงานต่าง ๆ ของชีวิต

หลักทางพระพุทธศาสนามุ่งเน้นการพัฒนาจิตใจของบุคคลไปพร้อม ๆ กับการบริโภคปัจจัยที่เกื้อกูลชีวิต คือ การบริโภคด้วยสติปัญญา รู้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ  ในฐานะที่เป็นเหตุปัจจัยในการดำรงอยู่ของชีวิตและโลกตามกฎธรรมชาติ ดังนั้น จุดมุ่งหมายของการบริโภคปัจจัยต่าง ๆ จากธรรมชาติ ก็เพื่อยังอัตภาพของชีวิตให้เป็นไปได้ ไม่บริโภคด้วยความเป็นทาสกิเลสตัณหา ซึ่งเป็นการเบียดเบียนทำลายทั้งระบบธรรมชาติและชีวิตตนเอง เมื่อชีวิตสามารถดำเนินต่อไปได้ มีสุขภาพดี และมีอายุยืนยาว ย่อมอำนวยผลต่อการประพฤติธรรมตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหนทางนำชีวิตให้พ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง

หลักอายุสสธรรม ๕ ประการเป็นหลักปฏิบัติเชิงพุทธ เพื่อการสร้างวิถีการดำเนินชีวิตที่ มีความสอดคล้องกับความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต เช่น การบริโภคปัจจัย ๔ เป็นต้น เป็นแนวคิดและหลักประพฤติทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่ประกอบด้วยการมีสติปัญญาอยู่ตลอดเวลาในทุกกิจกรรมของชีวิตประจำวัน การประพฤติตามหลักดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความสมบูรณ์และได้สมดุลของชีวิตและธรรมชาติที่เกื้อกูลไปพร้อม ๆ กัน กล่าวได้ว่า หลักอายุสสธรรมเป็นหลักความประพฤติ หรือการสร้างสุขนิสัยในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่จำเป็นของชีวิต กล่าวคือ เมื่อต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งใดก็ให้พิจารณาอย่างมีเหตุมีผล มีจุดมุ่งหมาย เข้าใจคุณค่าและประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนั้น ๆ เป็นการบริหารจัดการความคิดอย่างสอดคล้องประสานกันเพื่อความถูกต้องและเหมาะสมในทุก ๆ ด้าน ไม่ตัดสินใจไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ซึ่งหลงใหลไปตามกระแสโลก โดยขาดสติปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบ การซื้อหาหรือเสพบริโภคอะไรก็ตาม ควรมีหลักในการคิดพิจารณาก่อนตัดสินใจ ว่าจุดมุ่งหมายหรือประโยชน์ที่แท้จริงคืออะไร เพื่อให้ได้รับประโยชน์ตามจริง เพราะชีวิตดำรงอยู่ได้ในช่วงเวลาจำกัด จึงต้องดูแลรักษาสุขภาพ สร้างคุณค่าและประโยชน์สุขให้มากที่สุด กล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักอายุสสธรรมเป็นการสร้างองค์ความรู้ในระดับปัญญาให้เกิดขึ้นในจิตใจ สั่งสมจนเป็นอุปนิสัยที่เป็นไปในทางกุศล หรือเรียกว่า สุขนิสัย เป็นหลักปฏิบัติที่นำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันในทุก ๆ เรื่อง เพื่อการมีชีวิตยืนอย่างมีคุณค่า

อายุสสธรรมเป็นข้อปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักธรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความประพฤติที่เป็นกุศลและเกื้อกูลต่อความสุขของชีวิตผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน กล่าวคือ

(๑) ความสอดคล้องของหลักอายุสสธรรมกับหลักสัปปายะ ๗ ในข้อนี้ มุ่งเน้นที่ความสมบูรณ์และได้สมดุลของชีวิตเป็นหลัก กล่าวคือ

หลักอายุสสธรรม ๕ เป็นการสร้างสุขนิสัยหรือรูปแบบความประพฤติที่ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับธรรมชาติของชีวิต กล่าวคือ ชีวิตซึ่งประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยภายนอกเข้ามาเกื้อกูลเพื่อให้ชีวิตสามารถทำหน้าที่หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับตนเองหรือส่วนรวมได้ เช่น การดำรงชีวิต การบรรเทาทุกขเวทนาต่าง ๆ การปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นทุกข์ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เป็นต้น

หลักสัปปายะ ๗ เป็นธรรมชาติภายนอก หมายถึง สิ่งที่เกื้อกูล สิ่งที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ มีสภาพที่เอื้อ อันเกื้อหนุนในการเจริญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย มี ๗ สิ่ง ดังนี้ (๑) อาวาสสัปปายะ  (๒)โคจรสัปปายะ (๓ ) ภัสสสัปปายะ (๔) ปุคคลสัปปายะ (๕) โภชนสัปปายะ (๖) อุตุสัปปายะ  และ (๗)  อิริยาบถสัปปายะ[12] ซึ่งครอบคลุมและเกื้อหนุนต่อธรรมชาติภายในอันเป็นปัจจัยสำคัญในวิถีชีวิต ๔ ด้าน คือ

(๑) ปัจจัยเพื่อการดำรงชีวิต

(๒) ปัจจัยเพื่อการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน

(๓) ปัจจัยเพื่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

(๔) ปัจจัยเพื่อการพัฒนาชีวิต

จะเห็นได้ว่า ปัจจัยสำคัญในวิถีชีวิต ๔ ด้านมีความสอดคล้องกับหลักสัปปายะ ๗ ประการ เพราะเป็นหลักการสร้างสภาพแวดล้อมภายนอกที่เกื้อกูลแก่ธรรมชาติภายในซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิต

ความสอดคล้อง หลักอายุสสธรรมเน้นการสร้างความสอดคล้องของธรรมชาติภายใน(ร่างกายและจิตใจ) ให้มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติภายนอก เพื่อเป็นเหตุปัจจัยเกื้อกูลและส่งเสริมต่อวิถีการดำเนินชีวิต

ประโยชน์และคุณค่า ประโยชน์และคุณค่าที่ได้รับ คือ การบำบัดความทุกข์ของชีวิต ตั้งแต่การบรรเทาทุกข์ไปจนถึงความพ้นทุกข์ในด้านต่าง ๆ

(๒) ความสอดคล้องของหลักอายุสสธรรมกับสุขภาวะแบบองค์รวม ในข้อนี้ มุ่งเน้นที่ตัวบุคคล สังคมส่วนรวม และโลก อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข กล่าวคือ

หลักอายุสสธรรม ๕ คำนึงถึงปัจจัยสำคัญในวิถีชีวิต ๔ ด้านคือ

(๑) ปัจจัยเพื่อการดำรงชีวิต

(๒) ปัจจัยเพื่อการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน

(๓) ปัจจัยเพื่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

(๔) ปัจจัยเพื่อการพัฒนาชีวิต

ปัจจัยทั้ง ๔ ด้านนี้ ครอบคลุมสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจไว้อย่างครบถ้วน กล่าวคือ ด้านสุขภาพร่างกายประกอบด้วยสุขภาพทางกายและทางสังคม ส่วนด้านสุขภาพจิตใจประกอบด้วยสุขภาพทางจิตและทางปัญญา

สุขภาวะแบบองค์รวม เน้นการมีสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดีของชีวิตครบทั้ง ๔ ด้าน กล่าวคือ

(๑) สุขภาพทางกาย

(๒) สุขภาพทางสังคม

(๓) สุขภาพทางจิต

(๔) สุขภาพทางปัญญา

ความสอดคล้อง หลักอายุสสธรรมเน้นการสร้างความสอดคล้องของชีวิตแบบองค์รวมคือ ครอบคลุมสุขภาพทั้งทางกาย ทางใจ และการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักปฏิบัติที่เน้นการมีสติปัญญาในการพัฒนาชีวิตไปพร้อมๆ กับการดำเนินชีวิตไว้อย่างครอบคลุมและครบถ้วน เพื่อเกื้อกูลและส่งเสริมต่อวิถีการดำเนินชีวิต ทั้งส่วนตนและส่วนรวม

ประโยชน์และคุณค่า ประโยชน์และคุณค่าที่ได้รับ คือ บุคคล สังคม และโลก ซึ่งเปรียบได้กับชีวิตรูปแบบหนึ่ง มีสุขภาพดี มีสันติสุข มีคุณค่า และมีอายุยืน

(๓)  ความสอดคล้องของหลักอายุสสธรรมกับหลักไตรสิกขา ในข้อนี้ มุ่งเน้นที่ภาพรวมทั้งหมดซึ่งครอบคลุมทั้ง ๒ ข้อดังกล่าวข้างต้น คือ มุ่งเน้นการมีชีวิตที่สมบูรณ์และได้สมดุล บุคคลมีสุขภาพดีและเป็นคนดีของสังคม ส่งผลให้โลกมีสันติสุข เพราะเป็นการสร้างเหตุปัจจัยที่ดีให้กับชีวิตและโลก ซึ่งดำเนินไปอย่างเป็นเหตุปัจจัยเกื้อกูลกันภายใต้กฏธรรมชาติ กล่าวคือ

หลักอายุสสธรรม ๕ เป็นหลักการสร้างสุขนิสัยเพื่อการมีอายุยืนอย่างมีคุณค่า มี ๕ ประการ คือ

(๑) สปฺปายการี สร้างสัปปายะ คือทำอะไร ๆ ให้เป็นที่สบายเกื้อกูลแก่สุขภาพ

(๒) สปฺปาเย มตฺตญฺญู แม้ในสิ่งที่สบายนั้นก็รู้จักประมาณ ทำแต่พอดี

(๓) ปณิตโภชี บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย (เช่น เคี้ยวให้ละเอียด)

(๔) กาลจารี ประพฤติตนให้เหมาะสมในเรื่องเวลา เช่น รู้จักเวลา ทำถูกเวลา ทำเป็นเวลา ทำพอเหมาะแก่เวลา

(๕) พฺรหฺมจารี รู้จักถือพรหมจรรย์ตามควร

เป็นหลักปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่การมีอายุยืนอย่างแท้จริงของผู้คนในยุคปัจจุบัน เป็นธรรมที่ส่งเสริมหลักไตรสิกขา หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นปฏิปทาเพื่อนำชีวิตไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุด โดยยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทา คือไม่ปฏิบัติแบบสุดโต่งหรือย่อหย่อนเกิดไป ครอบคลุมข้อปฏิบัติด้านศีล สมาธิ ปัญญา อย่างครบถ้วน

หลักไตรสิกขา หลักอายุสสธรรมส่งเสริมหลักปฏิบัติไตรสิกขาได้อย่างสอดคล้องกัน กล่าวคือ

หลักอายุสสธรรมข้อที่ ๑ เป็นการพิจารณาเลือกปัจจัยที่มีความสำคัญต่อชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับด้านศีล

ส่วนหลักอายุสสธรรมข้อ ๒, , ๔ สอดคล้องกับด้านสมาธิ เป็นการสร้างภาวะแห่งจิตใจที่บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัจจัยนั้น ๆ อย่างมี สติ สมาธิ และวิริยะ อยู่ในกรอบของคุณค่าแท้ กล่าวคือ

หลักอายุสสธรรมข้อที่ ๒ คำนึงในเชิงปริมาณที่พอเหมาะพอดีกับความต้องการของชีวิต

หลักอายุสสธรรมข้อที่ ๓ คำนึงในเชิงคุณภาพ มีลำดับขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอันเป็นการรบกวนเป็นภาระชีวิต ต้องทุ่มเทกำลังทั้งภายนอกและภายในชีวิต เช่น การบริโภคอาหารที่ปรุงด้วยขั้นตอนง่าย ๆ ไม่จำเป็นต้องประดับเพื่อเพิ่มคุณค่าเทียมเกินความต้องการที่แท้จริงของการบริโภค ที่มุ่งเน้นประโยชน์ที่แท้จริงคือการยังอัตภาพของชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้ อีกทั้งเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อลดขั้นตอนและภาระของระบบภายในร่างกายที่ต้องทำงานหนักเพื่อการย่อยอาหาร

หลักอายุสสธรรมข้อที่ ๔ คำนึงในเชิงคุณภาพคือ การปฏิบัติด้วยความตั้งใจมั่น เป็นกิจวัตรที่ดำเนินอยู่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ถูกต้องถูกเวลาสอดคล้องกับวิถีชีวิตของตน

และหลักอายุสสธรรมข้อที่ ๕ สอดคล้องกับด้านปัญญา เป็นหลักสำคัญที่มุ่งเน้นการขัดเกลาจิตใจ ด้วยการสร้างคุณธรรม ศรัทธา และสติปัญญา ให้เกิดขึ้น โดยมีสัมมาทิฏฐิหรือความเห็นที่ถูกต้อง อันเป็นจุดเริ่มต้นของความประพฤติชอบทั้งทาง กาย วาจา และใจ

ความสอดคล้อง หลักอายุสสธรรมเน้นการสร้างความสอดคล้องของพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ ของบุคคล กล่าวคือ เป็นการสร้างจิตสำนึกในการทำหน้าที่แท้จริงของชีวิตผ่านความประพฤติของตนที่ดำเนินอยู่เป็นกิจวัตรประจำวัน ให้มีความสมบูรณ์พร้อมตามหลักไตรสิกขา ซึ่งเป็นการศึกษาและอบรมฝึกฝนเพื่อพัฒนาศักยภาพของชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจ ครอบคลุมทั้งด้านศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อนำชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงถาวรหรือนิพพาน

ประโยชน์และคุณค่า ประโยชน์และคุณค่าที่ได้รับ คือ การบำบัดความทุกข์ของชีวิต บุคคล สังคม และโลก ตั้งแต่การบรรเทาทุกข์ไปจนถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงถาวร ส่งผลให้สิ่ง         ต่าง ๆ ในระบบธรรมชาติเดียวกัน ตั้งแต่ระดับชีวิต ไปจนถึงบุคคล สังคม และโลก ซึ่งเปรียบได้กับชีวิตรูปแบบหนึ่ง มีสุขภาพดี มีสันติสุข มีคุณค่า และมีอายุยืน

จะเห็นได้ว่า  สุขภาพหรือภาวะที่เป็นสุขอันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาก็คือ ภาวะที่ปราศจากความทุกข์ในระดับต่าง ๆ ส่วนเป้าหมายสูงสุดตามคำสอนในพระพุทธศาสนาก็คือ ภาวะพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงถาวรหรือนิพพาน ดังนั้น การสร้างภาวะแห่งความสุขให้เกิดขึ้นกับชีวิตนั้น ต้องมีรากฐานมาจากความรู้ความเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ดำรงชีวิตอยู่อย่างรู้เท่าทันความทุกข์และพัฒนาความสุขที่แท้จริงให้เกิดขึ้นด้วยการสร้างสุขนิสัยที่เป็นเหตุปัจจัยเกื้อกูลต่อชีวิต เพื่อให้การดำเนินชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ ผู้ที่สามารถดำเนินชีวิตไปโดยไม่แปลกแยกหรือขัดแย้งกับกฎธรรมชาติ จึงเป็นผู้ที่สามารถกำหนดท่าทีของชีวิตและดำรงชีวิตอย่างมีความสุขที่แท้จริงได้

 

จากงานวิจัยดังกล่าวนี้ กล่าวโดยสรุปได้ว่า มนุษย์เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความเป็นอยู่เป็นไปอย่างเกื้อกูลกับทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ภายใต้กฎธรรมชาติเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์และสิ่งทั้งปวงจึงต้องดำรงอยู่อย่างเกื้อกูลต่อกัน เพื่อยังประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นกับชีวิตและส่งผลให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างต่อเนื่องและราบรื่นในวิถีชีวิตประจำวัน ไม่ขัดแย้งและไม่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ อันหมายถึงชีวิตมนุษย์และสิ่งที่แวดล้อมชีวิตหรือโลกนั่นเอง ดังนั้น การสร้างสุขนิสัยที่ถูกต้อง เอื้อต่อความเป็นอยู่เป็นไปอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของชีวิต ที่เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างรู้เท่าทันเพื่อการใช้สอยและการอนุรักษ์ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าและประสานสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ เพราะหลักพื้นฐานที่สำคัญในการปฏิบัติเพื่อการมีอายุยืนอย่างมีคุณค่าก็คือการรักษาสมดุลของธรรมชาติภายในและสิ่งที่แวดล้อมภายนอกของชีวิตมนุษย์ให้มีความสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวภายใต้กฎธรรมชาติเดียวกัน

 

อายุสสธรรมเป็นแนวคิดหรือหลักปฏิบัติเพื่อสร้างสุขนิสัยที่ครอบคลุมกระบวนการดำเนินชีวิตทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นที่มีอยู่คู่กับชีวิตตลอดเวลาตามธรรมชาติของชีวิต โดยคำนึงถึงความประพฤติชอบ การมีสุขภาพสมบูรณ์ โดยการสร้างสมดุลตามกฎธรรมชาติแบบองค์รวม อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา  หลักพระพุทธศาสนากล่าวถึงกระบวนการของชีวิตว่าเป็นไปตามกฎธรรมชาติ กล่าวคือ ชีวิตมีลักษณะเป็นองค์ประกอบที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยอยู่ทุกขณะ ดังนั้น การสร้างเหตุปัจจัยที่ดีให้กับกระบวนการดำเนินชีวิตนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับมนุษย์แล้วการสร้างสุขนิสัยเพื่อการบริหารและควบคุมพฤติกรรมที่แสดงออกอยู่ตลอดเวลาจึงถือได้ว่าเป็นรากฐานของชีวิต เป็นการสร้างปัจจัยแวดล้อมและเกื้อหนุนกระบวนการดำเนินชีวิตให้เป็นไปอย่างพอเหมาะพอดี โดยคำนึงถึงความสมดุลของธรรมชาติภายในชีวิตและธรรมชาติภายนอกชีวิตซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตามกฎธรรมชาติเป็นสำคัญ ด้วยการสร้างองค์ความรู้หรือหลักคิดที่มีสติปัญญากำกับกระบวนการรับรู้ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากผัสสะ เพื่อการรู้เท่าทันความจริงของชีวิตในฐานะเป็นองค์ประกอบหรือทรัพยากรของธรรมชาติที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับทรัพยากรอื่น ๆ ในกฎธรรมชาติเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ หลักพื้นฐานของชีวิตเกิดจากองค์ประกอบขันธ์ ๕ ตามเหตุปัจจัย และชีวิตก็ต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ตามกฎธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา อันมี อากาศ น้ำ อาหาร เป็นต้น เพราะเป็นองค์ประกอบจากธรรมชาติภายนอกที่สำคัญต่อความอยู่รอดของชีวิตในระดับพื้นฐาน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่สำคัญอื่น ๆ อันได้แก่ ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เป็นต้น องค์ประกอบดังกล่าวนี้ ล้วนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ชีวิตอยู่รอดภายใต้กฎธรรมชาติ เป็นปัจจัยให้ชีวิตสามารถทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ในการบรรลุประโยชน์สุขด้านต่าง ๆ ของชีวิตที่มีจุดมุ่งหมายแตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล เช่น สภาพโดยรวม กำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญา เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทุกชีวิตล้วนมีจุดมุ่งหมายสูงสุดที่เหมือนกัน คือความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงถาวรหรือพระนิพพาน นั่นเอง

 

ข้อเสนอแนะ

 

จากการศึกษาในงานวิจัยดังกล่าวนี้ มีข้อเสนอแนะเพื่อดำเนินการวิจัยในประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

 

๑. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

หลักอายุสสธรรมเป็นหลักปฏิบัติเชิงพุทธ โดยมีรูปแบบหลักที่สำคัญคือ การสร้างวิถีชีวิตที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืนอย่างมีคุณค่า ผ่านสุขนิสัยหรือความประพฤติของตนเองในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม ด้วยการมีสุขภาพดีแบบองค์รวม คือ ทางด้านกาย ทางด้านสังคม ทางด้านจิต และทางด้านปัญญา

ดังนั้น ควรนำหลักการสร้างสุขนิสัยตามหลักอายุสสธรรมนี้ ไปให้ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ หรือเมื่อมีการจัดโครงการรณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการนำไปใช้ในภาคปฏิบัติ เพราะเมื่อประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ มีหลักในการดูและสุขภาพทั้งกายและใจ ที่สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ผ่านการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง โดยน้อมนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาเป็นหลักในการสร้างสุขนิสัยที่ดีให้แก่ตนเองได้แล้ว ย่อมส่งผลต่อภาพรวมในทุก ๆ ด้านของการบริหารประเทศ เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น อีกทั้งยังส่งผลต่อชีวิตและโลกในภาพรวมอีกด้วย

 

๒. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยต่อไป

การศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักการสร้างสุขนิสัยตามหลักอายุสสธรรมในด้านอื่นๆ ของชีวิต เช่น การประยุกต์ใช้ในสถานที่ทำงาน หรือในสังคม เป็นต้น โดยนำหลักการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทที่กำหนดในการศึกษานั้น ๆ

 

เอกสารอ้างอิง

 

๑. ข้อมูลปฐมภูมิ

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

มหามกุฏราชวิทยาลัย.  พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถา แปล ชุด ๙๑ เล่ม.  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔.

 

๒. ข้อมูลทุติยภูมิ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ.  ปยุตฺโต).  พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม.  พิมพ์ครั้งที่ ๑๖,  กรุงเทพมหานคร: บริษัท เอส. อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, ๒๕๕๑.



[1] ขุ.พุทฺธ. (ไทย) ๓๓/๖-๗/๕๖๘.

[2] ขุ.ม. (ไทย) ๒๙/๑๐/๕๑.

[3] องฺ.สตฺตก. (ไทย) ๒๓/๗๔/๑๖๗.

[4] สํ.. (ไทย) ๑๕/๔๖/๖๐.

[5] สํ.. (ไทย) ๑๕/๒๒/.

[6] .อุ. (ไทย) ๑๔/๒๗๒/๓๑๙-๓๒๐.

[7] สํ.. (ไทย) ๑๗/๗๙/๑๒๐.

[8] ขุ.ม. (ไทย) ๒๙/๑๐/๕๑.

[9] ขุ.สุ. (ไทย) ๒๕/๕๘๐-๕๘๓/๖๔๑.

[10] ขุ.. (ไทย) ๒๕//๒๔.

[11] สํ.. (บาลี) ๑๙/๑๑๐๗/๓๗๕, สํ.ม. (ไทย) ๑๙/๑๑๐๗/๖๑๗.

[12] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ.  ปยุตฺโต),  พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม,  พิมพ์ครั้งที่ ๑๖,  (กรุงเทพมหานคร: บริษัท เอส. อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, ๒๕๕๑),  หน้า ๒๐๙ - ๒๑๐.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕