หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ,ดร. อดีตคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย (2541-2548) » เจดีย์ในพระพุทธศาสนา
 
เข้าชม : ๓๗๘๓๗ ครั้ง

''เจดีย์ในพระพุทธศาสนา''
 
พระมหาสมจินต์ สมมาปญโญ (2547)

การสร้างเจดีย์เป็นพุทธประสงค์

คำว่า “พุทธประสงค์” หมายถึงพุทธประสงค์ที่จะรักษาประเพณีของชาวพุทธคราวเมื่อใกล้จะปรินิพพาน ขณะพระพุทธเจ้าประทับบรรทมระหว่างสาละทั้งคู่ ณ สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา พระอานนท์กราบทูลถามถึงวิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระหลังจากปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิต พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิต เลื่อมใส ในพระตถาคตจะพึงปฏิบัติในพระสรีระของตถาคต เหมือนที่เขาปฏิบัติในพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ

เมื่อพระอานนท์กราบทูลถามว่า“เขาปฏิบัติในพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร ?” พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “เขาห่อพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่ ครั้นห่อแล้วซับด้วยสำลี ครั้นซับด้วยสำลีแล้ว ห่อด้วยผ้าไหม โดยอุบาย เขาห่อพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่มีน้ำมันบรรจุเต็มอยู่ แล้วครอบด้วยรางเหล็กอีกใบหนึ่ง วางบนเชิงตะกอน(จิตกาธาน)ที่ทำด้วยดอกไม้นานาชนิด ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ สร้างพระสถูปของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ในทางใหญ่ ๔ แพร่ง ดูก่อนอานนท์ เขาปฏิบัติในพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิอย่างนี้ พึงปฏิบัติในพระพุทธสรีระเหมือนอย่างพระเจ้าจักรพรรดิ พึงสร้างพระสถูปของพระตถาคตไว้ในทางใหญ่ ๔ แพร่ง เหล่าชนผู้พวงมาลัยดอกไม้ของหอม หรือกราบไหว้ หรือทำจิตให้เลื่อมใสในพระสถูปนั้น ข้อนั้นก็จักได้รับประโยชน์ ได้รับความสุขตลอดกาลนาน”

นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสถึงบุคคล ๔ ประเภท ซึ่งเป็นผู้ควรแก่การสร้างสถูปไว้บูชา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกของพระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ

ข้อมูลเหล่านี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า สถูปหรือเจดีย์ในพระพุทธศาสนา เป็นพุทธประสงค์โดยตรง และพอกล่าวได้ว่า ประเพณีนิยมในการสร้างพระสถูปเจดีย์นั้น มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น และนิยมสร้างกันมาตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ แม้แต่คราวที่พระสารีบุตรผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวานิพพาน หลังจากทำฌาปนกิจสรีระแล้ว พระพุทธเจ้าก็ยังสั่งให้พระจุนทะและคณะสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุสารีริกธาตุไว้ที่ประตูพระเชตวัน เมืองสาวัตถี และส่วนหนึ่งให้สร้างสถูปเจดีย์บรรจุไว้ที่นาลันทาบ้านเกิด ความจริง ประเพณีนิยมในการสร้างสถูปหรือเจดีย์นี้มีมาก่อนพุทธกาล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวไว้ในเรื่อง “ตำนานพุทธเจดีย์” ตอนหนึ่ง “พระสถูปนั้น เดิมสร้างสำหรับบรรจุพระบรมธาตุ ตามแบบแผนอันมีประเพณีในมัชฌิมประเทศตั้งแต่ก่อนพุทธกาล” เข้าใจว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประเภทหนึ่งในหลายประเภทที่คนอินเดียโบราณนิยมสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในเชื้อชาติเดียวกันกับพระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่า คนกลุ่มศากยะอาจเป็นกลุ่มเดียวกันกับพวกอารยันที่อพยพลงจากตอนเหนือของอินเดีย แต่ต่อมาไม่เห็นด้วยกับระบบสังคมวัฒนธรรมที่อารยันส่วนใหญ่ถือปฏิบัติ โดยเฉพาะการแบ่งชนชั้นทางสังคมออกเป็นวรรณะ กลุ่มนี้จึงแยกตัวออกมาเรียกชื่อว่า “ศากยะ” และสร้างวัฒนธรรมประเพณีแบบใหม่ขึ้นมาถือปฏิบัติในกลุ่มของตนเอง เมื่อญาติเสียชีวิตก็นิยมเผาศพและเก็บกระดูกไว้บูชา โดยสร้างที่เก็บ ซึ่งถ้ามีขนาดใหญ่โตก็เรียกว่าสถูป

การสร้างเจดีย์เป็นประเพณีของพระพุทธศาสนา

สถูปหรือเจดีย์นั้น ในพระพุทธศาสนา ถ้าจะให้ถูกต้องจริง ๆ ต้องเรียกว่า “พระสถูป” ต้องใช้คำว่า “พระ” นำหน้าด้วย เพราะเป็นของสูง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุโดยเฉพาะ การสร้างสถูปหรือเจดีย์เป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะ ซึ่งมิได้มีเฉพาะในสมัยพระโคดมพุทธเจ้าเท่านั้น ในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ ชาวพุทธก็สร้างสถูปหรือเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ เพื่อเป็นที่บูชาสักการะทั้งสิ้น พระสถูปหรือเจดีย์ของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มีขนาดแตกต่างกันไป ในคัมภีร์พุทธวงศ์ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓๓ มีข้อความระบุไว้ชัดเจนตามลำดับดังนี้

๑. พระทีปังกรพุทธเจ้า

พระชินศาสดาพระนามว่า ทีปังกร เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ณ นันทาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระชินเจ้าพระองค์นั้น สูง ๓๖ โยชน์ ณ นันทารามนั้น พระสถูปบรรจุบาตร จีวร บริขาร และเครื่องบริโภคของพระองค์ผู้ศาสดา ที่โคนต้นโพธิ์ในกาลนั้น สูง ๓ โยชน์

๒. พระโกณฑัญญพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าพระนามว่า โกณฑัญญะ ผู้ทรงพระสิริ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ นันทาราม พระเจดีย์ของพระองค์สูง ๗ โยชน์ ณ นันทารามนั้นแล

๓. พระมงคลพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าพระนามว่ามงคล เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ พระราชอุทยานชื่อเวสสระ พระสถูปของพระชินเจ้านั้นสูง ๓๐ โยชน์ ณ พระราชอุทานชื่อเวสสระนั้นแล

๔. พระสุมนพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุมนะ ผู้ทรงพระยศ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อังคาราม พระสถูปของพระชินเจ้านั้น สูง ๔ โยชน์ ที่อังคารามนั้นแล

๕. พระเรวตพุทธเจ้า

พระเรวตพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุแตกกระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๖. พระโสภิตพุทธเจ้า

พระโสภิตพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๗. พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า

พระชินศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี เสด็จดับขันธปรินิพพานที่ธรรมาราม พระสถูปของพระชินเจ้านั้นสูง ๒๕ โยชน์ ที่ธรรมารามนั้นแล

๘. พระปทุมพุทธเจ้า

พระปทุมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๙. พระนารทพุทธเจ้า

พระชินพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่านารท เสด็จดับขันธปรินิพพานที่สุทัสสนนคร พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูง ๔ โยชน์ ที่สุทัสสนนครนั้นแล

๑๐. พระปทุมุตตรพุทธเจ้า

พระชินพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นันทาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูง ๑๒ โยชน์ ที่นันทารามนั้นแล

๑๑. พระสุเมธพุทธเจ้า

พระสุเมธพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๑๒. พระสุชาตพุทธเจ้า

พระชินพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่าสุชาตะ เดส็จดับขันธปรินิพพานที่เสลาราม พระเจดีย์ของพระศาสดา สูง ๓ คาวุต ที่เสลารามนั้นแล

๑๓. พระปิยทัสสีพุทธเจ้า

พระมุนีผู้ประเสริฐพระนามว่าปิยทัสสี เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อัสสัตถาราม พระสถูปของพระชินเจ้านั้น สูงถึง ๓ โยชน์ ที่อัสสัตถารามนั้นแล

๑๔. พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า

พระอัตถทัสสีพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๑๕. พระธัมมทัสสีพุทธเจ้า

พระมหาวีระพระนามว่าธัมมทัสสี เสด็จดับขันธปรินิพพานที่เกสาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์นั้น สูงถึง ๓ โยชน์

๑๖. พระสิทธัตถพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ ทรงเป็นมุนีผู้ประเสริฐ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อโนมาราม พระสถูปดันประเสริฐของพระองค์ สูงถึง ๔ โยชน์ ที่อโนมารามนั้น

๑๗. พระติสสพุทธเจ้า

พระชินพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่าติสสะ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นันทาราม พระสถูปของพระองค์ สูงถึง ๓ โยชน์ ที่นันทารามนั้น

๑๘. พระปุสสพุทธเจ้า

พระปุสสพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

 

๑๙. พระวิปัสสีพุทธเจ้า

พระวีรพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงเป็นนระผู้ประเสริฐ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่สุมิตตาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูงถึง ๗ โยชน์ ที่สุมิตตารามนั้น

๒๐. พระสิขีพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ทรงเป็นมุนีผู้ประเสริฐ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อัสสาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูงถึง ๓ โยชน์ ที่อัสสารามนั้นแล

๒๑. พระเวสสภูพุทธเจ้า

พระเวสสภูพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๒๒. พระกกุสันธพุทธเจ้า

พระชินพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่ากกุสันธะ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่เขมาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูงถึง ๑ คาวุต ที่เขมารามนั้นแล

๒๓. พระโกนาคมนพุทธเจ้า

พระโกนาคมนพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๒๔. พระกัสสปพุทธเจ้า

พระชินศาสดาพระนามว่ามหากัสสปะ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่เสตัพยาราม พระสถูปของพระชินพุทธเจ้านั้น สูงถึง ๑ โยชน์ ที่เสตัพยารามนั้นแล

๒๕. พระโคดมพุทธเจ้า

พระโคดมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

พระพุทธเจ้าพระองค์ใดที่พระอัฏฐิธาตุกระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นนับว่ามีพระบารมีแผ่กว้างใหญ่ไพศาล อนุเคราะห์แก่ชาวโลกได้ทั่วถึงมาก กล่าวเฉพาะโคดมพุทธเจ้า เมื่อพระมหากัสสปเถระรวมพระอัฏฐิธาตุ(พระบรมสารีริกธาตุ)มาไว้ที่เดียวกัน คือที่กรุงราชคฤห์ ครั้นถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์รับสั่งให้สร้างพระสถูป(เจดีย์) ๘๔,๐๐๐ องค์ประดิษฐานทั่วชมพูทวีป(อินเดีย) แล้วบรรจุพระอัฏฐิธาตุของพระโคดมพุทธเจ้า ประชาชนทั่วชมพูทวีปก็ได้บูชาสักการะ และได้บุญทั่วถึงกัน

เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๘ แห่ง

พระสถูปเจดีย์ของพระโคดมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย

กษัตริย์ในแคว้นต่าง ๆ ได้ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ต่างส่งทูตไปที่กรุงกุสินาราแคว้นมัลละ เพื่อขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว ทูตจากเมืองต่าง ๆ ยินยอมพร้อมใจกันให้โทณพราหมณ์ได้ทำหน้าที่ประสานสัมพันธ์ แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ โทณพราหมณ์กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอจงฟังคำข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายตรัสสรรเสริญขันความ(ความอดทน) การที่เราจะแตกสามัคคีกันเพราะส่วนแบ่งแห่งพระบรมสารีริกธาตุนี้ไม่ดีเลย ขอให้เราทั้งหลายยินยอมพร้อมกันแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน ขอพระสถูปจงแพร่หลายในทิศทั้งหลาย คนที่เลื่อมใสพระพุทธเจ้ามีอยู่เป็นจำนวนมาก

ต่อจากนั้นก็ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุกัน ทูตจากเมืองต่าง ๆ ได้พระบรมสารีริกธาตุคนละ ๒ ทะนาน นำไปยังเมืองของตน ทำการเฉลิมฉลองบูชาสักการะ เปิดโอกาสให้พุทธศาสานิกชนได้กราบไหว้บูชากัน ต่อจากนั้นได้สร้างสถูป(เจดีย์) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่บูชาสักการะในกาลสืบไป ดังนี้

(๑) พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในกรุงราชคฤห์

(๒) กษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชี ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในกรุงเวสาลี

(๓) กษัตริย์ศากยะแห่งแคว้นสักกะ ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในกรุงกบิลพัสดุ์

(๔) กษัตริย์ถูลีแห่งอัลลกัปปะ ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเมืองอัลลกัปปะ

(๕) กษัตริย์โกลิยะแห่งรามคาม ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเมืองรามคาม

(๖) เจ้าผู้ครองนครแห่งเวฏฐทีปกะ ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเมืองเวฏฐทีปกะ

(๗) กษัตริย์มัลละแห่งแคว้นมัลละฝ่ายเหนือ ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเมืองกุสินารา

(๘) กษัตริย์มัลละแห่งแคว้นมัลละฝ่ายใต้ ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเมืองปาวา

ส่วนโทณพราหมณ์ได้กระทำสถูปบรรจุทะนานที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุแบ่งกันนั้นแหละไว้เป็นที่บูชาสักการะ กษัตริย์แห่งโมริยะ ได้กระทำสถูปบรรจุพระอังคาร(เถ้า)ไว้ในเมืองปิปผลิวัน

เรื่องนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของสถูป(เจดีย์) กำเนิดความเป็นมาของสถูปในอินเดีย กล่าวเฉพาะเรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ จัดพิธีฉลองยิ่งใหญ่ตลอดระยะทางตั้งแต่กรุงกุสินาราถึงราชคฤห์เลยทีเดียว นับเป็นระยะทาง ๒๕ โยชน์ พระองค์ได้ทรงสร้างสถูปพระบรมสารีริกธาตุไว้อย่างดี เรื่องนี้น่าศึกษามิใช่น้อย ตำนานบอกว่า พระมหากัสสปเถระได้ถวายคำแนะนำแก่พระเจ้าอชาตศัตรูให้ดำเนินการรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุอีก ๗ ส่วนที่ได้แจกจ่ายไปตามเมืองต่าง ๆ นั้นมารวมบรรจุไว้ในกรุงราชคฤห์ เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้น โดยพระมหากัสสปเถระรับภาระที่จะรวบรวมเอง จากนั้น พระเถระก็ได้ดำเนินการรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุจากราชตระกูลทั้ง ๗ มาประดิษฐานไว้ในทิศตะวันออก และทิศใต้ของกรุงราชคฤห์ โดยพระเถระเล็งเห็นว่า ในอนาคต คนทั้งหลายจักเก็บพระบรมธาตุเหล่านี้ไว้ในมหาเจดีย์ในมหาวิหารลังกา พระราชารับสั่งให้สร้างสถูปไว้ ๘ องค์ ใส่พระบรมสารีริกธาตุไว้ผอบจันทน์เหลือง ๘ ใบ พระมหากัสสปเถระอธิษฐานว่า “พวงมาลัยอย่าเหี่ยว กลิ่นหอมอย่าหายไไป ประทีปอย่าไหม้” แล้วให้จารึกไว้ที่แผ่นทองว่า “แม้ในอนาคต ครั้งพระกุมารพระนามว่าอโศกจักเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าอโศกมหาราช ท้าวเธอจักทรงกระทำพระบรมสารีริกธาตุเหล่านี้ให้แพร่หลายไป ดังนี้”

ประเภทของเจดีย์

คำว่า “เจดีย์” ในยุคดั้งเดิมมีนัยกว้างขวางครอบคลุมสิ่งที่ควรเคารพ นับถือ บูชาหลายอย่างดังที่กล่าวแล้ว โดยสรุปมี ๔ ประเภท

๑. ธาตุเจดีย์

สิ่งก่อสร้างที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า พระเจ้าจักรพรรดิ

๒. บริโภคเจดีย์

สังเวชนียสถาน อันเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เช่น สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน หรือที่เรียกว่าสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล

๓. ธรรมเจดีย์

ข้อความที่ว่าด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคำ ประโยคทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง คัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา

๔. อุทเทสิกเจดีย์

สิ่งของที่สร้างขึ้นอุทิศพระพุทธเจ้า เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า ไม่กำหนดว่าจะเป็นอะไร เช่น พระแทนวัชรอาสน์ที่เจดีย์ศรีมหาโพธิพุทธคยา พระพุทธรูป

โดยนัยนี้จะเห็นว่า “เจดีย์” มีความหมายกว้างครอบคลุมสิ่งที่ควรบูชาสักการะทุกอย่าง ไม่ได้หมายถึงสถูปอย่างเดียว เจดีย์ที่มีความหมายเดียวกันกับ “สถูป” คือ ธาตุเจดีย์ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมธาตุ หรืออัฏฐิธาตุ ต่อไปนี้จะกล่าวถึงเฉพาะเจดีย์ประเภทที่ ๑ คือ ธาตุเจดีย์เท่านั้น (ซึ่งอาจจะใช้คำว่า เจดีย์, สถูป, พระธาตุ, พระบรมธาตุ, หรือพระปรางค์ แล้วแต่กรณี)

ประเพณีการสร้างเจดีย์สมัยหลังพุทธกาล

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ ณ วัดอโศการาม เมื่อเสร็จพิธีสังคายนา ได้ส่งสมณทูต ๙ สายไปประกาศพระพุทธศาสนาในนานาประเทศ โดยการถวายคำแนะนำของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ในส่วนของพระองค์เอง พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จจาริกแสวงบุญไปในที่ต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวกับข้องกับพระพุทธเจ้า หรือพุทธสาวกที่สำคัญ เช่น เป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน พร้อมกันนั้นได้ทรงสร้างสถูปและเสาอโศกประดิษฐานไว้ในที่นั้น ๆ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของคนในถิ่นนั้น ๆ และเป็นเครื่องชี้ให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่า “ณ ที่แห่งนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้” เป็นต้น สันนิษฐานได้ว่า ประเพณีนิยมในการสร้างเจดีย์เกิดขึ้นและถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง ข้อมูลในคัมภีร์พระพุทธศาสนาบอกว่า พระเจ้าอโศกมหาราชทรงรับสั่งให้สร้างสถูปประดิษฐานไว้ทั่วชมพูทวีป(อินเดีย) เป็นจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ดังข้อความในคัมภีร์สมันตปาสาทิกาตอนหนึ่งพอสรุปความได้ว่า

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานประมาณ ๒๑๘ ปี ณ เมืองปาฏลีบุตร พระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อทำศึกสงครามมามาก(โดยเฉพาะที่แคว้นกาลิงคะ) รู้สึกสลดพระทัยที่ทอดพระเนตรเห็นคนล้มตายมากในศึกสงคราม วันหนึ่งทอดพระเนตรเห็นสามเณรนิโครธ เกิดศรัทธาเลื่อมใส ยิ่งเมื่อได้ฟังธรรม ก็ยิ่งเกิดศรัทธามา ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์วันละ ๖๐๐,๐๐๐ รูป ต่อทรงรับสั่งให้สร้างมหาวิหาร(วัดใหญ่) ชื่อว่า อโศการาม(แปลว่าไม่เศร้าโศก) โดยพระสงฆ์ได้มอบหมายให้พระอินทคุตตเถระเป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง ใช้เวลาสร้าง ๓ ปี นอกจากนี้ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงรับสั่งให้สร้างวิหาร(วัดเล็ก)อีก ๘๔,๐๐๐ แห่ง พร้อมกับเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ไว้ในเมือง ๘๔,๐๐๐ แห่งทั่วชมพูทวีป(อินเดีย)

มีข้อสันนิษฐานเพิ่มเติม สถูปเหล่านั้นไม่ได้ประดิษฐานอยู่เฉพาะในอินเดียเท่านั้น แม้ในประเทศจีนและประเทศใกล้เคียงก็มีสถูปของพระเจ้าอโศกมหาราชประดิษฐานอยู่ด้วย คตินิยมสร้างเจดีย์นี้แพร่หลายอย่างมากในอินเดียในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะและสมัยหลังจากนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชได้รับการนับถือว่าทรงเป็นผู้ริเริ่มกระแสแห่งพระพุทธศาสนาแบบใหม่ คือแบบที่มีฆราวาสผู้ครองเรือนมีบทบาทสำคัญเท่ากับพระภิกษุ เหมือนฆราวาสหลายท่านได้ทำมาแล้วในสมัยพุทธกาล เช่น พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา

การสร้างเจดีย์ในอินเดีย ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชหรือในสมัยหลังจากนั้น มิได้จุดประสงค์เพียงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า “นี้เป็นพุทธสถาน” เท่านั้น แต่ยังมีจุดประสงค์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือพระธาตุของพระอรหันต์ไว้เป็นที่บูชาสักการะของพวกฆราวาสผู้ครองเรือนที่ต้องหมกมุ่นอยู่กับการประกอบอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัว ไม่มีเวลาไปวัดเพื่อฟังธรรม ไม่มีเวลาไปนั่งปฏิบัติธรรมรักษาศีล แต่ประสงค์ที่จะได้บุญโดยเพียงแต่ไปกราบไหว้บูชาเจดีย์ที่อยู่ใกล้บ้าน เสร็จแล้วก็ไปประกอบอาชีพของตน ที่สำคัญคือ เจดีย์นั้นสร้างไว้ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสร้างไว้ในวัด ฆราวาสผู้ประกอบอาชีพ บางทีไม่ประสงค์จะเข้าวัด เพราะต้องเสียเวลามาก หรือบางกรณีอาจเกรงใจพระภิกษุที่อยู่ในวัด เกรงว่าจะเป็นการรบกวน แต่ก็ประสงค์บุญ เมื่อมีการสร้างเจดีย์ไว้ในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นบริเวณของวัดใดวัดหนึ่ง ชาวบ้านก็ไปกราบไหว้บูชากันตามสะดวก โดยไม่ต้องเกรงว่าจะเป็นการรบกวนพระภิกษุ

ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นแล้ว พระมหากัสสปเถระได้อธิษฐานและให้จารึกไว้ว่า “ในอนาคตพระเจ้าอโศกมหาราชจักเป็นผู้ทำให้พระบรมสารีริกธาตุแพร่หลายไป” ต่อมาเมื่อพระเจ้าอโศกมหราชทรงครองราชสมบัติ ทรงสร้างวิหารและสถูป ๘๔,๐๐๐ แห่ง ประสงค์จะได้พระบรมธาตุ(สารีริกธาตุ)มาบรรจุไว้เป็นที่บูชาสักการะ ต่อมาได้ค้นพบพระบรมธาตุที่ท้าวสักกะเก็บรักษาไว้มาตั้งแต่ครั้งสมัยพระเจ้าอชาตศัตรูโน้น พระองค์รับสั่งให้บรรจุไว้ในสถูป ๘๔,๐๐๐ องค์ทั่วชมพูทวีป(อินเดีย)

นอกจากนี้ พระเจ้าอโศกมหราชทรงมีส่วนในการสร้างเจดีย์สำคัญทางพระพุทธศาสนาในอินเดีย ซึ่งประดิษฐานเป็นที่บูชาสักการะมาจนถึงปัจจุบัน เช่น เจดีย์ศรีมหาโพธิพุทธคยา สถานที่พระสิทธัตถโคดมตรัสรู้ สันนิษฐานว่าเริ่มก่อสร้างในสมัยพระเจ้าอโศก และสร้างต่อเติมแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง เจดีย์องค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน มีความสูง ๑๘๐ ฟุต

ธัมเมกขสถูปที่สารนาถ สถานที่แสดงปฐมธรรมเทศนาธรรมจักรปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ สันนิษฐานว่าองค์เดิมสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์โมริยะ อาจสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหราชาก็ได้ แต่องค์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าแต่งเติมขึ้นประมาณ พ.ศ. ๑๐๐๐ เป็นศิลปะแบบคุปตะ พระสถูป(เจดีย์)เป็นรูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๘ เมตรครึ่ง สูง ๓๓ เมตร มีช่อง ๘ ช่องรอบองค์สถูป ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งถึงมรรคมีองค์ ๘

มหาสถูปที่สาญจิ สาญจิปัจจุบันอยู่ในรัฐมัธยมประเทศของอินเดีย ที่นี่เป็นดินแดนแห่งสถูป(เจดีย์) วัด วิหาร และเสาศิลาจารึก สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐ จนถึง พ.ศ. ๑๗๐๐ สถูปที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือสถูป ๑ ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้น สมัยเป็นอุปราชปกครองกรุงอุชเชนี และกรุงอุชเชนีนี่แหละเป็นที่ประสูติของมหินทกุมารและพระนางสังฆมิตตา สถูปใหญ่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๖.๕ เมตร สูง ๑๖.๔ เมตร เมื่อบวชเป็นพระแล้ว พระมหินทเถระกับพระสังฆมิตตาในตอนที่ถูกส่งไปลังกา ได้แวะพักที่สาญจินี้ก่อน ที่สถูปหมายเลข ๓ มีการค้นพบอัฏฐิธาตุของพระสารีบุติและพระมหาโมคคัลลานะ ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ เจดีย์ที่สาญจิเป็นรูปทรงโอคว่ำ ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด

รูปแบบและประเภทของเจดีย์

รูปแบบของเจดีย์ในอินเดียโบราณ มีลักษณะเป็นเนินดินที่สร้างขึ้นเหนือหลุมฝังศพ ซึ่งเป็นที่มาของเจดีย์ทรงระฆังในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีทรูปทรงอย่างไรแน่ ต่อมาจึงวิวัฒนาการเป็นรูปแบบต่าง ๆ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเขียนไว้ในเรื่อง “ตำนานพุทธเจดีย์” พอสรุปความได้ว่า ประเพณีการสร้างสถูปเป็นพุทธเจดีย์ แพร่หลายในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อครั้งพระองค์แจกพระบรมธาตุไปประดิษฐานไว้ในประเทศต่าง ๆ และประสงค์จะให้สร้างสถูป(หรือเจดีย์)ที่บรรจุอัฐิธาตุของพระสังฆเถระเป็นบริวารของมหาสถูปด้วยทุกแห่งไป

ครั้นเมื่อเกิดมีประเพณีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นในสมัยคันธาระ บางแห่งก็มีการแก้แบบของสถูปให้มีซุ้มประจำองค์สถูป เพื่อบรรจุพระพุทธรูปอันจะทำให้องค์สถูปงดงามขึ้น พระสถูปเดิมนั้นจัดอยู่ในประเภทธาตุเจดีย์เลยกลายมาเป็นอุทเทสิกเจดีย์ด้วย คนทั้งหลายก็นิยมที่จะสร้างสถูปเป็นอุทเทสิกเจดีย์อุทิศพระพุทธเจ้า ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท(หรือหีนยาน) นิยมสร้างสถูปเป็นธาตุเจดีย์ คือเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ(อัฐิธาตุ) ในขณะที่ประเทศนับถือมหายานนิยมสร้างสถูปเป็นอุทเทสิกเจดีย์ เช่น เจดีย์บุโรบูโด(บรมพุทโธ) ที่ดำเนินการสร้างเรื่อยไปจนสร้างเสร็จ ประมาณ พ.ศ.๑๓๐๐ มีทั้งหมด ๑๐ ชั้น ใช้หินก่อสร้างประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ ลูกบาสก์ฟุต ใช้คนงานวัน ๑,๐๐๐ คน ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๓๕ ปี มีภาพประกอบเรื่องราวต่าง ๆ ๑,๔๖๐ ภาพ เป็นภาพประกอบอีก ๑,๒๑๒ ภาพ องค์เจดีย์ตั้งแต่ชั้นที่ ๑-๘ มีพระพุทธรูปเรียงรายในแต่ละชั้นโดยรอบ จำนวน ๕๐๕ องค์

มีเจดีย์อีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “ปรางค์” มีแบบอย่างมาจากปราสาท(เรือนหลายชั้น) ปราสาทนี้เดิมทีเดียวสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่ของคนมั่งมี สร้างด้วยไม้ ต่อมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแบบการสร้างปราสาท นิยมสร้างอิฐและศิลาเกิดเป็นพระปรางค์ นิยมสร้างกันทั้งในกลุ่มคนที่นับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์(ฮินดู) สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปหรือเทวรูป ถ้าเป็นพระปรางค์ในพระพุทธศาสนา ยอดทำเป็นสถูป แต่ถ้าเป็นปรางค์ในศาสนาพราหมณ์ ยอดทำเป็นตรีศูล(๓ สามแฉก)หรือนพศูล(๙ แฉก)

เจดีย์ที่พบในประเทศไทย มีทั้งแบบเจดีย์ประธานยอดดอกบัวตูม ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เจดีย์ประธานทรงระฆัง ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เจดีย์ทรงระฆังแบบทรงเครื่อง เจดีย์ทรงเครื่องวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง เจดีย์วัดสามพิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เจดีย์ทรงปราสาทแบบหริภุญชัย ที่วัดกู่กุด จังหวัดลำพูน เจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัย ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆังแบบสุโขทัย ที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว ศรีสัชนาลัย เจดีย์ทรงปราสาทแบบขอม ที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เจดีย์ทรงปราสาทแบบขอม ปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี

เจดีย์ทรงปรางค์ ปรางค์ประธาน ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เจดีย์ทรงปรางค์นี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม ๒ สาย พราหมณ์(ฮินดู)กับพระพุทธศาสนา ยอดปรางค์เป็น ๓ แฉก(ตรีศูล)แสดงถึงอาวุธประจำตัวของพระศิวะ(พระอินทร์) หรือแสดงถึงเทพใหญ่ ๓ องค์ของฮินดูคือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิว(ตรีมูรติ) ยอดปรางค์เป็น ๙ แฉก เช่นปรางค์วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ มีกิ่งรูปดาบแตกสาขาออกไป ๔ ทิศ แสดงถึงโลกุตตรธรรม ๙

เจดีย์มีส่วนประกอบสำคัญ ๓ ตอน คือ

ตอนล่าง-ฐาน : ฐานมีหลายประเภท เรียกชื่อต่าง ๆ กันตามการใช้งาน ฐานไพทีหรือฐานเวที รองรับสิ่งก่อสร้างหลายชนิดรวมกัน เช่น ฐานไพทีรองรับพระศรีรัตนเจดีย์ เจดีย์ทอง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฐานเชิงบาตรหรือฐานบัวเชิงบาตร เช่นฐานบัวเชิงบาตรปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา ฐานเขียง

ตอนกลาง-องค์เรือนธาตุ : ตอนกลางนี้ เรียกแบบวัฒนธรรมทิเบตว่า “ครรภธาตุ” ส่วนสำคัญของตอนกลางของเจดีย์ห้องหรือซุ้ม(ช่อง-จระนำ)(หรือไม่มีก็ได้) ห้องหรือซุ้มนี้สำหรับประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาจเป็นอัฏฐิธาตุหรือพระพุทธรูป เจดีย์บุโรบุโด(บรมพุทโธ) มีห้องสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป หรือเจดีย์กู่กุดในวัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ทำเป็นรูปซุ้มฝักเพกา เช่นซุ้มฝักเพกาของเจดีย์วัดป่าสัก เชียงแสน ซุ้มหน้านางของเจดีย์แปดเหลี่ยม วัดสะดือเมือง เชียงใหม่ ซุ้มคดโค้ง เจดีย์ราย วัดเจดีย์เจ็ดแถว ศรีสัชนาลัย

ตอนบน-ยอด : ตอนบนนี้มีส่วนประกอบสำคัญ เรียกว่า เหนือครรภธาตุขึ้นไป เรียกว่า “บัลลังก์” เป็นฐานเชื่อมต่อระหว่างครรภธาตุกับส่วนที่เหนือขึ้นไปซึ่งเรียกว่า “ปล้องไฉน” คือส่วนที่มีลักษณะเป็นฉัตรหรือร่มซ้อนกันลดหลั่นขึ้น วัฒนธรรมทิเบตถือว่าเป็นสัญลักษณ์บ่งถึงรูปาวจรภูมิ ๑๖ ชั้น เหนือขึ้นไปอีกเรียกว่า “แจกัน/ลูกแก้ว” หรือ “กลส” หรือ “เม็ดน้ำค้าง” ถือเป็นส่วนบนสุดของเจดีย์ เหนือขึ้นไปเรียกว่า “แดนศุนยตา”

เจดีย์กับสังคมไทย

ประเพณีการสร้างเจดีย์ในประเทศอาจมีมาก่อนที่พระโสณะ พระอุตตระ และคณะจะมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ เพราะในตอนที่พระเจ้าอโศกเมื่อครั้งที่ยังไม่นับถือพระพุทธศาสนา ยกทัพไปตีแคว้นกาลิงคะแตกยับเยิน ประชาชนชาวกาลิงคะบางส่วนได้อพยพมาที่ดินแดนสุวรรณภูมินี้ ซึ่งคนเหล่านั้นอาจนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ก่อน และร่วมกันสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อกราบไหว้บูชา ต่อเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชกลับจากแคว้นกาลิงคะ ทรงสลดพระทัยจากภัยพิบัติแห่งสงคราม หันมานับถือพระพุทธศาสนา ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ แล้วส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในนานาประเทศ พระโสณะ พระอุตตระ และคณะได้เดินทางมายังสุวรรณภูมิ จึงได้สร้างพระปฐมเจดีย์ขึ้นเป็นที่บูชาสักการะ ประเพณีการสร้างเจดีย์ยิ่งแพร่หลายนับตั้งแต่นั้นมา พระเจดีย์สำคัญในประเทศไทย เช่น

พระปฐมเจดีย์

พระปฐมเจดีย์ ถือว่าเป็นเจดีย์องค์แรกที่สร้างขึ้นในประเทศไทย ประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ สมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ พระโสณะ พระอุตตระ และคณะได้เดินทางมาประกาศพระพุทธศาสนาที่ดินแดนสุวรรณภูมิ องค์เจดีย์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่องค์เดิม แต่เป็นเจดีย์ที่ก่อขึ้นมาใหม่หุ้มองค์เดิมไว้

พระปฐมเจดีย์องค์เดิมมีลักษณะเหมือนเจดีย์ที่สาญจิ ประเทศอินเดีย(ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเหมือนกัน) กล่าวคือ องค์เจดีย์เป็นรูปกลม เหมือนโอหรือขันน้ำคว่ำ ข้างบนทำเป็นพุทธอาสน์สี่เหลี่ยมตั้งไว้ มีฉัตรปักเป็นยอด ฐานเจดีย์ทำเป็นสี่เหลี่ยม รอบฐานทำเป็นที่เดินประทักษิณ

พระปฐมเจดีย์องค์เดิมมีขนาดความสูง ๑๙ วา ๒ ศอก (หรือ ๓๙ เมตร) ถูกทิ้งให้รกร้างไม่มีใครดูแลอยู่ระยะหนึ่ง สมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชอยู่ เสด็จฯไปนมัสการพระปฐมเจดีย์หลายครั้ง ทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ เมื่อขึ้นครองราชย์ จึงได้โปรดฯให้ก่อเจดีย์แบบลังกาครอบเจดีย์องค์เดิมไว้เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ มีขนาดความสูง ๑๒๐ เมตร ๔๕ เซนติเมตร

ลักษณะองค์เจดีย์ในปัจจุบัน ทรงพระปรางค์ ปากผาย โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นใหญ่ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ขนาดความสูงจากพื้น ๑๒๐ เมตร ๔๕ เซนติเมตร มีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐานโดยรอบ ๘๐ องค์ ประกอบด้วยพระวิหาร ๔ ทิศ กำแพงแก้ว ๒ ชั้น

พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

ตำนานบอกว่า เมื่อโทณพราหมณ์ดำเนินการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว พระภิกษุซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ชื่อว่า “พระเขมะ”ได้เข้าไปอัญเชิญพระทันตธาตุ(เขี้ยวแก้วเบื้องขวา-ซ้ายอย่างละ ๑ องค์)ออกจากเชิงตะกอน(จิตกาธาน) เพื่อนำไปถวายพระเจ้าพรหมทัตแห่งแคว้นกาลิงคะ พระทันตธาตุได้ถูกอัญเชิญย้ายไปประดิษฐานตามเมืองต่าง ๆ แล้วแต่เหตุการณ์ เช่นเมืองทันทบุรี มาสุวรรณภูมิ ขึ้นฝั่งตะโกลา(ตะกั่วป่า) ย้อนกลับไปที่เกาะลังกา แล้วย้อนกลับมาที่ศิริธรรมนคร (พ.ศ.๘๐๐–๑๓๐๐) ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมโศกราชรับสั่งให้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ตามคติมหายาน บรรจุพระทันตธาตุ

พระธาตุพนม

ตำนานบอกว่า ก่อนจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งให้พระมหากัสสปะให้นำพระอุรังคธาตุ(พระอัฏฐิธาตุส่วนหน้าอก) ไปประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า แคว้นศรีโคตรบูร ใน พ.ศ.๘ พระมหากัสสปเถระและพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุมายังภูกำพร้า เมื่อเดินทางถึง พญานันทเสนซึ่งเป็นเจ้าเมืองศรีโคตรบูรในขณะนั้น ร่วมกับประชาชนผู้มากด้วยศรัทธา สร้างเจดีย์ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นผู้นำในการสร้าง ใช้อิฐดิบก่อเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม ยอดเป็นรูปฝาชีสูง ๑ วา ภายในขุดลึกลง ๑ ศอก ใช้ไม้คันธรส(ไม้จันทน์ ?) ชมพู(ไม้หว้า) นิโครธ(ไทร) ไม้รัง เผาอบอยู่ ๓ วัน ๓ คืนแล้วจึงนำหินหมากคอม ก้อนกรวดในแม่น้ำมาถมหลุม อัญเชิญพระอุรังคธาตุประดิษฐาน ใน พ.ศ.๘ นี่คือพัฒนาการแห่งพระธาตุพนม องค์พระธาตุได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ไม่น้อยกว่า ๖ ครั้ง บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสุดท้ายใน พ.ศ. ๒๔๘๓–๒๔๘๔ (ก่อนที่จะล้มทลายในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘)

สามารถสรุปได้ว่า ประเทศไทยเป็นอาณาจักรแห่งเจดีย์ เฉพาะที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) ในเขตพุทธาวาส มีพระเจดีย์ประดิษฐานอยู่มากถึง ๙๙ องค์ เรียกว่า “อาณาจักรแห่งเจดีย์” เลยทีเดียว เป็นพระเจดีย์ทรงเครื่องสวยงาม เจดีย์ที่สำคัญที่สุดคือ มหาเจดีย์ ๔ องค์ ประกอบด้วย องค์ที่ ๑ มหาเจดีย์องค์กลางที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด ถวายพระนามว่า “พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ” ตามพระนามพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ที่บรรจุอยู่ภายใน ซึ่งพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างขึ้นใน พ.ศ.๒๐๑๓ สมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหาเจดีย์องค์นี้มีความสูง ๘๒ ศอก ฐานกว้าง ๘ วา องค์ที่ ๒ พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรนิทาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างขึ้นที่ด้านเหนือ เพื่อทรงอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งเป็นพระบรมชนกนาถ องค์ที่ ๓ พระมหาเจดีย์มุนีบัตรบริขาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นที่ด้านใต้สำหรับเป็นส่วนพระองค์ องค์ที่ ๔ พระมหาเจดีย์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างขึ้นที่ด้านตะวันตก โดยทรงจำลองแบบพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ณ วัดหลวงสบสวรรค์ อยุธยา อาณาจักรแห่งเจดีย์ที่วัดโพธิ์นี้ เป็นเครื่องแสดงถึงความรุ่งเรืองแห่งประเพณีการสร้างเจดีย์ในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญอย่างยิ่งคือเจดีย์เป็นส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับพระอารามหลวง

เจดีย์คือสัญลักษณ์แห่งยิ่งใหญ่และความดีงาม

เจดีย์เป็นสัญลักษณ์ด้านศาสนาในสังคมไทย นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คนโบราณเมื่อว่างจากภารกิจการงานก็จะพากันสร้างวัด สร้างเจดีย์ ด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กันออกไป แต่โดยสรุปแล้วล้วนเป็นวัตถุประสงค์เชิงศาสนาทั้งหมด บางกรณีจิตใจของคนในชุมชนแตกสลายไร้ความสามัคคี ไม่รู้จะเอาอะไรเป็นศูนย์รวมจิตใจ ก็สร้างเจดีย์ขึ้นมาเป็นศูนย์รวมจิตใจ บางกรณีชุมชนไม่มีแดนศักดิ์สิทธิ์เป็นที่บูชาสักการะ เพราะอยู่ไกลวัด หรือในวัดมีแต่พระภิกษุสามเณร ซึ่งก็เป็นที่เคารพสักการะได้ในฐานะเป็นปูชนียบุคคล คือเป็นบุคคลมีชีวิตจิตใจเหมือนกัน ไม่เหมือนกับเจดีย์ กราบไหว้บูชาพระภิกษุสามเณรกับกราบไหว้บูชาเจดีย์ ย่อมให้ความรู้สึกแก่คนกราบไหว้บูชาต่างกัน

กราบไหว้บูชาพระภิกษุสามเณร ให้ความรู้สึกเหมือนกันมีเพื่อนที่เป็นปูชนียบุคคลไว้คุ้มครองป้องกัน ช่วยแนะนำสั่งสอนไม่ให้ทำความชั่ว แนะนำให้ทำความดี กราบไหว้บูชาเจดีย์ ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าได้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยคุ้มครองป้องกันอันตราย มีสิริมงคลอยู่ในตัว

ประเพณีของคนไทยโบราณ เวลาออกป่าล่าสัตว์หรือลงห้วยหนองคลองบึงเพื่อหาปูปลา ไม่ประสงค์ที่จะพบเห็นพระภิกษุสามเณร เพราะเชื่อกันว่า “เวลาไปล่าสัตว์ ถ้าพบ ถ้าพบพระภิกษุสามเณร จะไม่ได้สัตว์” จะบอกว่าพระภิกษุสามเณรเป็นผู้ขัดขวางการฆ่าสัตว์ก็คงไม่ผิดนัก แต่ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่กำลังออกไปล่าสัตว์ก็ประสงค์โชคลาภ การที่จะได้โชคลาภก็ต้องกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สรุปว่า กราบไหว้บูชาเจดีย์นั่นแหละดีที่สุด

การสร้างเจดีย์ ย่อมให้ความรู้สึกวิเศษแก่คนไทย เจดีย์เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ ผู้ประสงค์บุญก็ได้ความรู้สึกที่เป็นบุญพิเศษ ความจริง เจดีย์เป็นวัตถุธรรมดาชนิดหนึ่ง เป็นหิน ปูน ทราย อิฐ แต่เมื่อก่อให้เป็นรูปร่างเสร็จแล้ว กลับให้ความรู้สึกที่ไม่ธรรมดา เหมือนกับพระพุทธรูป

พระพุทธศาสนา ให้ความสำคัญแก่จิตใจ นั่นคือให้ความสำคัญแก่ความรู้สึก เมื่อจิตใจรวมอยู่ที่ใด ความศักดิ์สิทธิ์ก็รวมที่นั้น ข้อสำคัญที่สุดคือการวมจิตใจ นั่นคือรวมพลังศรัทธา จุดเด่นของเจดีย์คือเป็นที่รวมพลังศรัทธา รวมพลังจิตใจ รวมพลังศักดิ์สิทธิ์ เจดีย์ถือเป็นสิ่งดึงดูดใจที่ดีที่สุดของสังคมไทย ยังจะต้องมีการสร้างต่อเนื่องไม่ขาดสาย วัดที่มีคนหลั่งไปไปรวมกันกราบไหว้บูชาไม่ขาดสายนั้น ล้วนมีเจดีย์เป็นศูนย์รวมจิตใจทั้งสิ้น คนไปวัด ไม่เห็นอะไร ไม่ได้ดูอะไร ไม่ได้กราบไหว้อะไรอื่น ขอเพียงได้เห็นเจดีย์ ได้ดูเจดีย์ ได้กราบไหว้เจดีย์ก็พอใจแล้ว ในเมืองไทย พุทธศาสนิกชนได้เห็นเจดีย์ก็มีความชื่นใจ พยุงศรัทธาไว้ได้ ข้อสังเกตสำคัญอย่างยิ่ง คือ เจดีย์เป็นจุดเชื่อมหรือจุดลดช่องว่างระหว่างสังคมพระกับสังคมฆราวาสให้ห่างกันน้อยลง อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว ฆราวาสที่ประกอบอาชีพที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่อาชีพนั้นเกี่ยวข้องกับการทำลายชีวิตสัตว์ เช่น เป็นชาวประมง เลี้ยงไหม ทำฟาร์หมูฟาร์มไก่ ฆราวาสเหล่านั้นไม่ประสงค์จะติดต่อสัมพันธ์กับพระภิกษุสามเณรมากนัก แต่พวกเขาก็เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ก็ได้อาศัยเจดีย์เป็นที่บูชาสักการะ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองยังเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีอยู่ โดยสรุปแล้ว เจดีย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่กับสังคมไทย เป็นศูนย์รวมแห่งคุณความดีหลายอย่าง เช่น

๑. บรรพบุรุษ

คนโบราณนิยมที่จะสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุอัฏฐิธาตุของบรรพบุรุษ ในเจดีย์จึงมีบรรพบุรุษสถิตอยู่ แม้จะเป็นเพียงชิ้นส่วนกระดูก แต่ให้ความอบอุ่นแก่ลูกหลานได้

๒. กตัญญูกตเวทิตาธรรม

คนไทยสำนึกในคุณความดีของบรรพบุรุษ จึงสร้างเจดีย์เป็นที่บรรจุอัฏฐิธาตุ แม้ท่านเหล่านั้นจะเสียชีวิตไปแล้ว ลูกหลานก็ยังอยากที่จะยกย่องเชิดชู ประกาศคุณความดีของตนให้โลกรู้ เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรม

๓. ศรัทธา

เจดีย์ที่สำคัญในประเทศไทยล้วนมีพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรจุอยู่ หรือมีพระบรมธาตุ พระธาตุบรรจุอยู่ เช่น เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศ พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ พระธาตุหิรภุญชัย จังหวัดลำพูน พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม พระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช พระธาตุ(เจดีย์)เหล่านี้ เป็นศูนย์รวมศรัทธามหาศาลของมหาชนทุกสารทิศ หลั่งไหลมารวมกันบูชาสักการะไม่ขาดสาย

เจดีย์ถือเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ มีคนกล่าวว่า “ประเพณีการสร้างเจดีย์นี้ ถือเป็นความชาญฉลาดของบรรพบุรุษไทยที่จะสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีไทยสู่ลูกหลานชั่วกัลป์ เป็นมรดกตกทอดสืบเนื่องไปเป็นพัน ๆ ปี เจดีย์แสดงถึงความเป็นไทย เป็นปูชนียสถานเป็นมิ่งขวัญคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่กราบไหว้บูชาของพุทธมามกะ บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนาและจิตใจของคนไทย”

การบูชาเจดีย์มีอานิสงส์สูงสุด ดังข้อความในคัมภีร์ถูปวงศ์ตอนหนึ่งว่า “เป็นอันว่าพระเจ้าอโศกธรรมราชาได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้น ๘ หมื่น ๔พันในพื้นชมพูทวีปด้วยอาการอย่างนี้ พระสถูปทั้งปวงนั้น เป็นประดุจดวงประทีปดวงเดียวของชาวโลก เป็นปูชนียสถานที่จะนำสรรพสัตว์ไปสู่สวรรค์นิพพาน ควรที่สาธุชนจะละการงานอื่น ๆ มากราบไหว้บูชาทุกเมื่อไป”

---------------

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕