หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ,ดร. อดีตคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย (2541-2548) » พระวินัย : กฎเกณฑ์และคุณค่าทางสังคม
 
เข้าชม : ๑๔๒๙๘ ครั้ง

''พระวินัย : กฎเกณฑ์และคุณค่าทางสังคม''
 
พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ,ผศ.ดร. (2546)

ความนำ

พระพุทธเจ้าทรงปกครองสงฆ์อย่างไร ?

พระพุทธเจ้าทรงปกครองสงฆ์โดยเครื่องมือคือศีล พระพุทธโฆสาจารย์กล่าวถึงศีลไว้หลายนัย ปรากฏในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค มี ๒ อย่างโดยแบ่งเป็น (๑) จาริตตศีล (๒)วาริตตศีล หรือ (๑)อภิสมาจาริกศีล (๒)อาทิพรหมจริยกศีล หรือ (๑)วิรัติศีล (๒)อวิรัติศีล หรือ(๑)นิสิตศีล (๒)อนิสิตศีล หรือ (๑)กาลปริยันตศีล (๒)อาปาณโกฏิศีล หรือ (๑) สปริยันตศีล (๒) อปริยันตศีล หรือ (๑)โลกิยศีล (๒)โลกุตตรศีล

ศีลมี ๓ อย่างโดยแบ่งเป็น (๑)หีนศีล (๒)มัชฌิมศีล (๓)ปณีตศีล หรือ (๑)อัตตาธิปเตยยศีล (๒)โลกาธิปเตยยศีล (๓)ธัมมาธิปเตยยศีล หรือ (๑)ปรามัฏฐศีล (๒)อปรามัฏฐศีล (๓)ปริปัสสัทธศีล หรือ (๑)วิสุทธศีล (๒)อวิสุทธศีล (๓)เวมติกศีล หรือ (๑)เสขศีล (๒)อเสขศีล (๓)เนวเสขานาเสขศีล

ศีลมี ๔ อย่างโดยแบ่งเป็น (๑)หานภาคิยศีล (๒)ฐิตภาคิยศีล (๓)วิเสสภาคิยศีล (๔)นิพเพธภาคิยศีล หรือ (๑)ภิกขุศีล (๒)ภิกขุนีศีล (๓)อนุปสัมปันนศีล (๔)คหัฏฐศีล หรือ (๑) ปกติศีล (๒) อาจารศีล (๓) ธัมมตาศีล (๔)ปุพพเหตุกศีล หรือ (๑) ปาติโมกข-สังวรศีล (๒) อินทริยสังวรศีล (๓) อาชีวปาริสุทธิศีล (๔) ปัจจยสันนิสิตศีล

ศีลมี ๕ อย่างโดยแบ่งเป็น (๑)ปริยันตปาริสุทธิศีล (๒)อปริยันตปาริสุทธิศีล (๓)ปริปุณณปาริสุทธิศีล (๔)อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล (๕)ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล หรือ (๑)ปหานศีล (๒)เวรมณีศีล (๓)เจตนาศีล (๔)สังวรศีล (๕)อวีติกมศีล

ทั้งหมดนี้คือประเภทแห่งศีล ซึ่งแต่ละอย่างมีนัยที่ควรศึกษาอีกมาก แต่จะไม่กล่าวไว้ในที่นี้ ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค แปล ภาค ๑ ตอน ๑ ประเด็นที่น่าสนใจและควรศึกษาในที่นี้ คือ (๑)จาริตตศีล (๒)วาริตตศีล คำว่า “จาริตตศีล” คือประพฤติตามสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า “นี่ควรทำ” ส่วนวาริตตศีลคือไม่ประพฤติล่วงละเมิดข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้ว่า “นี่ไม่ควรทำ” พระพุทธเจ้าทรงใช้จาริตตศีลและวาริตตศีล เป็นเครื่องมือในการปกครองสงฆ์ในตอนต้นพุทธกาล โดยเฉพาะจาริตตศีล พระภิกษุประพฤติตามพระพุทธองค์ พระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าเป็นมาตรฐาน เป็นแบบอย่างที่ดีงาม ภิกษุสงฆ์สามารถยึดเป็นแนวปฏิบัติเพื่อความดีงามอยู่แล้ว

พระพุทธเจ้าทรงอยู่ในฐานะเป็นผู้บอก(อักขาตา)ทางที่ควรและไม่ควร ถ้าเป็นทางที่ควรจะทรงชี้ว่า “นี่ควรเดิน” ถ้าไม่ควรจะทรงชี้ว่า “นี่ไม่ควรเดิน” เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้น เครื่องมือในการปกครองสงฆ์ไม่ว่าจะเรียกว่า “ศีล” หรือ “สิกขาบท” หรือ “ปาติโมกข์” จึงอยู่ในลักษณะเป็น “จาริตตะ” และ “วาริตตะ” วิเคราะห์ได้ว่า สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ทำหรือห้ามไม่ให้ทำอาจมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วหรือยังไม่เกิดก็ได้ เห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะกรณีศีลที่มานอกพระปาติโมกข์ เช่น ในกรณีที่มียุงมาก ทรงอนุญาตให้ใช้มุ้ง หรือในกรณีซึ่งสถานที่จงกรมต่ำ ทรงอนุญาตให้ถมพื้นที่ให้สูงขึ้นเพื่อไม่ให้น้ำท่วม ในกรณีที่มีนำของหอม ดอกไม้มาถวายภิกษุ ทรงอนุญาตให้รับของหอมแล้วเจิมไว้ที่บานประตูหน้าต่าง รับดอกไม้แล้ววางไว้ที่ด้านหนึ่งในวิหาร เป็นต้น

โอวาทปาติโมกข์

และอาณาปาติโมกข์

ประเด็นที่น่าศึกษาต่อมาคือ “ปาติโมกขสังวรศีล” หมายถึงศีลที่เป็นสิกขาบท ที่ชื่อว่า “ปาติโมกข์” เพราะทำบุคคลผู้รักษาศีลให้รอด ให้พ้นจากทุกข์ในอบายเป็นต้น ในที่นี้น่าจะหมายเอาสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติแก่ภิกษุสงฆ์

พระปาติโมกข์มี ๒ ประการ คือ (๑)โอวาทปาติโมกข์ (๒)อาณาปาติโมกข์ คำว่า “โอวาทปาติโมกข์” หมายถึงข้อบังคับที่มีลักษณะเป็นคำสั่งและคำสอน มี ๓ ตอน คือ

ตอนที่ ๑

ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง ท่านผู้รู้ทั้ง หลายกล่าวนิพพานว่ายอดเยี่ยม ผู้ทำร้ายผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้ เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

ตอนที่ ๒

ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น ความทำกุศลให้ถึงพร้อม ความทำจิตของตน ให้ผ่องใส นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ตอนที่ ๓

(๑)ความไม่กล่าวให้ร้าย (๒)ความไม่ทำร้าย (๓)ความสำรวมในพระ ปาติโมกข์ (๔)ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร (๕)ที่นั่งที่นอนสงัด (๖)ความประกอบเอื้อเฟื้อในอธิจิต นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้ง หลาย

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีโอวาทปาติโมกข์ ๓ ตอนนี้เหมือนกัน และทุกพระองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ด้วยพระองค์เอง ในโอกาสอันควร เช่น พระพุทธเจ้า วิปัสสีทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ๖ ต่อหนึ่งครั้ง

ส่วน “อาณาปาติโมกข์” หมายถึงข้อบังคับที่เป็นบทบัญญัติอย่างชัดเจน สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ทั้งหมดทั้งของภิกษุสงฆ์และของภิกษุณีสงฆ์ แม้บทบัญญัติบางอย่างที่มีบทกำหนดโทษไว้ชัดเจนก็อนุโลมเข้าในอาณาปาติโมกข์ด้วย เมื่อมีการบัญญัติสิกขาบทชัดเจน พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะทรงหยุดแสดงโอวาทปาติโมกข์ ทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์แสดงเฉพาะอาณาปาติโมกข์ ความจริง สาเหตุที่ไม่ทรงแสดงปาติโมกข์ด้วยพระองค์เองหลังจากที่ทรงบัญญัติสิกขาบทแล้วนั้น ไม่ได้หมายถึงจะทรงมอบภาระให้ภิกษุสงฆ์รับผิดชอบ แต่ทรงคำนึงความสำคัญและความบริสุทธิ์แห่งโอวาทปาติโมกข์ พระพุทธเจ้าทรงกระทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเฉพาะในที่ประชุมสงฆ์บริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อภิกษุมีจำนวนมากขึ้น เป็นการยากที่จะมีเฉพาะผู้บริสุทธิ์ทั้งหมดในที่ประชุมสงฆ์ จึงทรงผ่อนคลายให้ภิกษุสงฆ์กระทำอุโบสถและยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดง

ข้อความในพระวินัยปิฎกมหาวิภังค์ เล่ม ๑ ไม่ได้ระบุไว้โดยชัดเจนว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทในพรรษาที่เท่าไร แต่พอสรุปความได้ว่า พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทหลังจากพรรษาที่ ๑๒ ไปแล้ว แต่ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยกล่าวไว้ชัดเจนว่า พระพุทธองค์ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ ในพรรษาที่ ๒๐ เท่าที่ทราบมา ในปฐมโพธิกาล ภิกษุทั้งหลายรักษาพระหฤทัย(ของพระพุทธองค์)ให้ทรงยินดีตลอด ๒๐ ปี มิได้ทำการล่วงละเมิด

... คราวนั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อไม่ทรงเห็นการล่วงละเมิดของภิกษุทั้ง หลาย จึงมิได้ทรงบัญญัติปาราชิกหรือ สังฆาทิเสส ... พระผู้มีพระ ภาคแม้ของพวกเรา(พระสิทธัตถโคดม) ก็ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์นี้ ตลอดเวลาเพียง ๒๐ พรรษา ในปฐมโพธิกาลเท่านั้น

นี้เป็นหลักฐานในระดับอรรถกถา สามารถเชื่อถือได้ในระดับอรรถกถาในประเด็นนี้ มีคำถามว่า “จริงหรือที่ว่าตั้งแต่พรรษาที่ ๑ ถึงพรรษาที่ ๒๐ พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติกฎเกณฑ์อะไรเลย ?”

คำถามนี้มีคำตอบชัดเจนแล้วในสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยนี่แหละ ข้อความปรากฏดังนี้ “...แต่ได้ทรงบัญญัติกองอาบัติเล็กน้อย ที่เหลือไว้เพียง ๕ กองเท่านั้น ในเพราะเรื่องนั้น ๆ ” นั่นคือว่า ทรงบัญญัติสิกขาบทบ้างเหมือนกัน แต่เป็นการบัญญัติสิกขาบทเล็กน้อย และบัญญัติเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี

พระวินัยในปฐมโพธิกาลจึงอยู่ในลักษณะจาริตตศีล และวาริตตศีล คำว่า “ศีล” หมายถึง ศีลนะ คือเป็นมูลราก มี ๒ นัย คือ (๑) รวมกายกรรมเป็นต้นไว้ไม่ให้กระจัดกระจายไป (๒) รองรับกุศลธรรมทั้งหลาย

ความมีคุณค่า

และความเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมของพระวินัย

ถามว่า “พระวินัยมีคุณค่าและเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมอย่างไร ?”

ประการที่ ๑ พระวินัยคืออายุของพระพุทธศาสนา ในคราวก่อนที่จะเริ่มทำปฐมสังคายนา พระมหากัสสปะได้ปรึกษากับพระเถระผู้เข้าร่วมทำสังคายนาแล้วเห็นพ้องตัองกันว่า “จะดำเนินชำระสังคายนาพระวินัยก่อน เพราะพระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนา

พระวินัยจัดว่าเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังดำรงอยู่ พระ ศาสนาชื่อว่ายังดำรงอยู่ ดังนั้น จึงขอสังคายนาพระวินัยก่อน

ประการที่ ๒ พระวินัยเป็นด้ายร้อยเรียงลักษณะนิสัย/พฤติกรรมของคนไว้ในกรอบเดียวกัน

พุทธประสงค์ในการประกาศพระศาสนา ในเชิงจริยศาสตร์สังคมมี ๒ ประการ คือ (๑)กำจัดความคิดแบ่งแยกทางสังคม (๒)กระตุ้นเตือนให้มนุษย์คำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าภายในตน พระพุทธองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาในพระพุทธศาสนาได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ถ้าประสงค์จะบวชเป็นพระภิกษุ/ภิกษุณีก็บวชได้ โดยไม่จำกัดว่าจะเกิดในตระกูล/วรรณะใด และเมื่อประสงค์จะพัฒนาตนก็มีโอกาสพัฒนาได้เต็มที่ ผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นย่อมได้รับผลแห่งการปฏิบัติ ไม่มีใครบันดาลให้ใครได้ “สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย” ความบริสุทธิ์/ความไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน ผู้อื่นจะให้ผู้อื่นบริสุทธิ์ไม่ได้

ด้วยพุทธประสงค์อย่างนี้แหละ จำเป็นต้องมีพระวินัยไว้เป็นกฎเกณฑ์ควบ คุมดูแล เพราะธรรมดาคนที่มาจากสังคมหลากหลาย ย่อมมีลักษณะนิสัย /พฤติกรรมต่างกันอยู่แล้ว

ประการที่ ๓ ความมีคุณค่าและความเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมของพระวินัย ที่ชัดเจนอีกประการหนึ่ง เห็นได้จากพุทธประสงค์ ๑๐ ประการในการบัญญัติพระวินัย คือ (๑) เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ (๒) เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ (๓) เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก (๔) เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งภิกษุผู้มีศีลดีงาม (๕) เพื่อปิดกั้นอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน (๖) เพื่อบำบัดอาสวะอันจะบังเกิดในอนาคต (๗) เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส(๘)เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว (๙)เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม (๑๐)เพื่อเอื้อเฟื้อพระวินัย

วัตถุประสงค์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ กล่าวโดยสรุปคือ ข้อ(๑)ถึงข้อ (๖)เพื่อความเรียบร้อยดีงามของสังคมสงฆ์ ข้อ(๗)และข้อ(๘)เพื่อความสบายใจของสังคมคฤหัสถ์ ข้อ(๙)และข้อ(๑๐)เพื่อพระพุทธศาสนาโดยตรง

ประเด็นนี้หมายถึง เมื่อมีพระวินัยเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ความสามัคคี ความผาสุกย่อมเกิดขึ้น สังคมมีมาตรการในการที่ตัดสินลงโทษคนผิดชัดเจน กำจัดความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจับัน และป้องกันความเสื่อมเสียอันจะเกิดในอนาคต ในส่วนของประชาชนคฤหัสถ์ แม้จะไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่เมื่อเห็นภาพการประพฤติปฏิบัติชอบของพระสงฆ์ ย่อมเกิดความเลื่อมใส ส่วนผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งมีความเลื่อมใสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเห็นภาพแห่งการประพฤติดีปฏิบัติชอบของพระสงฆ์ ย่อมมีความเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น อันว่าความเลื่อมใสนี่แหละทำให้จิตใจเย็นสบาย ไม่อึดอัด ไม่ ขัดเคือง

ประการที่ ๔ พระวินัยสร้างหลักประกันให้บุคคลผู้ปฏิบัติทั้งในปัจจุบันและอนาคต เห็นได้จากที่พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์ ๕ ประการแห่งความเป็นผู้มีศีล (๑)ได้โภคทรัพย์กองใหญ่ (๒)ชื่อเสียงดีงามขจรไป (๓) เป็นผู้องอาจในที่ประชุมชน (๔)ไม่หลงตาย คือ ตายไปอย่างมีสติ (๕)เมื่อตายไป ย่อมไปเกิดในสุคติ โลกสวรรค์

ประการที่ ๕ ความเป็นกฎเกณฑ์และความมีคุณค่าทางสังคมของพระวินัย เห็นได้จาก ๔ ประเด็นต่อไปนี้

คำว่า “วินัย” ในที่นี้หมายถึงศีล ๒ ส่วน คือ (๑)ศีลที่มาในพระปาติโมกข์ของภิกษุ ๒๒๗ ข้อและศีลของภิกษุณี ๓๑๑ ข้อ (๒)ศีลที่มานอกพระปาติโมกข์อีกจำนวนมาก

ศีลมีอรรถะ ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานดังนี้ (๑) ลักษณะของศีล คือความเป็นรากฐาน (๒) รสของศีล คือ กำจัดความทุศีล หรือคุณที่หาโทษมิได้ (๓) ปัจจุปัฏฐานของศีล คือความสะอาด (๔) ปทัฏฐาของศีล คือ หิริและโอตตัปปะ

ประเด็นที่ ๑ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมที่มีรากฐานแข็งแกร่ง

ประเด็นที่ ๒ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมที่ไร้ทุกข์โทษ

ประเด็นที่ ๓ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมสะอาด

ประเด็นที่ ๔ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมแห่งความละอายและเกรงกลัวต่อความชั่ว

สังคมสงฆ์ในครั้งพุทธกาล มีรากฐานแข็งแกร่ง แม้จะอยู่ในท่ามกลางเจ้าลัทธิจำนวนมาก ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ นอกจากนี้ยังไร้ทุกข์โทษ มีความสะอาด นับจากอดีตถึงปัจจุบัน ถามว่า “สังคมสงฆ์ในประเทศไทย มีคุณลักษณะเหมือนเช่นครั้งพุทธกาลหรือไม่ ?”

คำตอบมีหลากหลายแล้วแต่มุมมอง การเปรียบเทียบสภาพสังคมต่างยุคต่างสมัยแล้วตัดสินว่า “สังคมสมัยก่อนดีกว่าสมัยนี้ หรือสมัยนี้ดีกว่าสมัยก่อน” มีลักษณะขาดความเที่ยงธรรมและขาดความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว เพราะแต่ละยุคมีองค์ประกอบทางสังคมไม่เหมือนกัน

ความสรุป

สังคมต้องมีวินัย

วินัยแบ่งตามกลุ่มของผู้ปฏิบัติ มี ๒ อย่าง คือ

(๑) อาคาริยวินัย กรอบควบคุมวิถีชีวิต แนวทางประพฤติสำหรับคฤหัสถ์ การกล่าววาจาถึงพระรัตนตรัยว่า “พุทฺธํ สรณํ คจฉามิ” ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก การสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ หรือกุศลกรรมบถ ๑๐ จัดเป็นอาคาริยวินัยหรือวินัยของคฤหัสถ์ ซึ่งเมื่อชายหญิงถือปฏิบัติทั่วถึงกันแล้ว ชื่อว่าเป็นมงคลสูงสุดแก่ชีวิต เพราะเป็นเหตุนำความสงบสุขมาทั้งแก่ตนและแก่หมู่คณะ

(๒) อนาคาริยวินัย กรอบควบคุมวิถีชีวิต แนวทางประพฤติสำหรับสามเณร สามเณรี สิกขมานา พระภิกษุและภิกษุณี เช่น ศีล ๑๐ มีเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นข้อต้น เว้นจากการับทองและเงินเป็นข้อสุดท้าย ปาติโมกขสังสังวรศีล อินทริยสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล และปัจจยสันนิสิตศีล

พระพุทธเจ้าก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ตรัสกับพระอานนท์ว่า “ธรรมและวินัยที่แสดงไว้ บัญญัติไว้ จักเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราล่วงลับไป” พระพุทธดำรัสนี้แสดงถึงความจริง ๒ ประการ คือ

(๑) ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จอุบัติขึ้นในโลกหรือไม่ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ไม่ว่าพระพุทธองค์จะดำรงพระชนม์อยู่หรือเสด็จดับขันธปรินิพพานไป สังคมจำเป็นต้องมีธรรมและวินัย สังคมสงฆ์ต้องมีธรรมและวินัยของสงฆ์ สังคมฆราวาสต้องมีธรรมและวินัยของฆราวาส สังคมธุรกิจต้องมีธรราและวินัยทางธุรกิจ นั่นคือต้องมีคำสอนเป็นแนวทางดำเนินชีวิตและมีคำสั่งหรือกฎเกณฑ์เพื่อป้องปรามความผิด เพื่อบำราบคนพาลอภิบาลคนดี

(๒) ธรรมและวินัยคือธรรมเก่าแก่ประจำโลก(สนันตนธรรม) โลกต้องมีศาสดาเกิดขึ้นประกาศธรรมและวินัย(คำสอนและคำสั่ง) ธรรมและวินัยมีความยั่งยืน มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการประกาศโดยศาสดาองค์ใดก็ตาม มาตรฐานที่ว่านี้คือเป็นเกณฑ์กำหนดคุณความดีของสังคม ธรรมและวินัยจึงเครื่องมือที่ประกอบด้วยคุณความดี

สิ่งที่เป็น “คุณความดี” จริง ๆ ไม่ขึ้นอยู่กับกาล(อกาลิกะ) ไม่ขึ้นอยู่กับเทศะ(อเทสิกะ) ไม่ขึ้นอยู่กับลัทธิ(อลัทธิกะ) ธรรมและวินัยจึงเป็นสมบัติประจำโลก และโลกจำเป็นต้องมี สังคมที่ไม่มีธรรม ไม่มีวินัย ไม่ใช่หมายถึงว่าธรรมและวินัยหายไป แต่เป็นเพราะว่าสังคมไม่ยึดถือปฏิบัติ อาจเป็นเพราะ (๑)ไม่มีคนประกาศเผยแผ่ (๒)ไม่มีผู้ปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้น องค์ประกอบจำเป็นในสร้างสังคมแห่งธรรมและวินัยมี ๒ อย่างคือ (๑)การประกาศเผยแผ่ธรรมและวินัย (๒)การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

วินัยเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุธรรมทั้งในระดับโลกิยะและโลกุตตระ วินัยระดับศีล ๕ ถือเป็นพื้นฐานของสังคมชาวบ้านซึ่งแม้แต่พระภิกษุ จะรักษาศีล ๒๒๗ ข้อให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ก็ต้องอาศัยศีล ๕ เป็นฐาน จุดหมายสูงสุดแห่งการบำเพ็ญธรรมคือความหลุดพ้นจากกิเลสโดยเด็ดขาด จุดเริ่มต้นของเส้นทางไปสู่ความหลุดพ้นคือ วินัย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในคัมภีร์ปริวารว่า

วินัยย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ความสำรวม

ความสำรวมมีเพื่อประโยชน์แก่ความไม่เดือดร้อน

ความไม่เดือดร้อนมีเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์

ความปราโมทย์มีเพื่อประโยชน์แก่ความอิ่มใจ

ความอิ่มใจมีเพื่อประโยชน์แก่ความสงบ

ความสงบมีเพื่อประโยชน์แก่ความตั้งใจมั่น

ความตั้งใจมั่นมีเพื่อประโยชน์แก่ความรู้เห็นตามเป็นจริง

ความรู้เห็นตามเป็นจริงมีเพื่อประโยชน์แก่ความเบื่อหน่าย

ความเบื่อหน่ายมีเพื่อประโยชน์แก่ความสำรอกกิเลส

ความสำรอกกิเลสมีเพื่อประโยชน์แก่ความหลุดพ้น

ความหลุดพ้นมีเพื่อประโยชน์แก่ความรู้เห็นความหลุดพ้น

ความรู้เห็นความหลุดพ้นมีเพื่อประโยชน์

แก่ความสนิทหาเชื้อมิได้

ในมงคลสูตร มีข้อความตอนหนึ่งว่า “วินโย จ สุสิกฺขิโต” วินัยที่ศึกษาดีแล้ว สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิม ธมฺมธโร) อธิบายความตอนนี้ว่า

เมื่อคฤหัสถ์และบรรพชิตปฏิบัติวินัยถูกต้องแล้ว ชื่อว่าได้ศึกษา วินัยมาดี เป็นผู้มีระเบียบอันดีงาม ประพฤติสงบเสงี่ยมเรียบ ร้อย ชวนให้หมู่คณะศรัทธาเลื่อมใส ร่วมกันจรรโลงพระศาสนาให้เจริญ รุ่งเรือง เป็นคุณประโยชน์แก่ชาวโลก มีชีวิตเจริญด้วยคุณธรรม ก้าวหน้าไปโดยลำดับ นับว่า ห่างไกลจากเวรภัย ปราศจากโทษ ทุกข์ทั้งในภพนี้และภพหน้า

เรื่อง “มงคล” ถกเถีงกันมากในครั้งพุทธกาล แม้ในปัจจุบันยังมีการถือมงคลกันผิดก็มีอยู่มาก สิ่งที่เป็นมงคลในพระพุทธศาสนา มี ๓๘ เรื่อง วินัยเป็นหนึ่งใน ๓๘ นั้น นั่นคือระเบียบ ข้อบังคับ ประเพณีอันดีมาของสังคมที่ได้ศึกษาและถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด ถือเป็นมงคลสูงสุด เป็นพาหนะที่จะไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในชีวิตส่วนตนและสังคม.

************

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕