หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » คณะสังคมศาสตร์ » เอกสารประกอบวิชาปรัชญาการเมือง
 
เข้าชม : ๑๕๑๖๖๓ ครั้ง

''เอกสารประกอบวิชาปรัชญาการเมือง''
 
กิตติพัฒน์ สุวรรณสิริเมธี (2550)

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง

 (Introduction to Political Philosophy)

นับแต่มวลมนุษยชาติซึ่งรวมกันอยู่เป็นกลุ่ม   เป็นชุมชน   เป็นรัฐ  เป็นชาติหรือประเทศ ได้มีนักคิด  นักวิชาการ นักบริหาร นักปกครอง นักการเมือง นักรัฐศาสตร์มากหลาย ได้เสนอแนวคิดทางการบริหาร   การปกครอง  ระบบการปกครอง  ระบบการเมือง   และรูปแบบการปกครองอย่างหลากหลายที่เห็นว่าดี เหมาะสมกับสังคม รัฐ ชาติ หรือประเทศ ของตน

แนวคิดดังกล่าวในทางวิชาปรัชญา    (Philosophy)    นักวิชาการ  เรียกว่า  ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy) ก็มี รัฐศาสตร์ปรัชญาก็มี ปรัชญารัฐศาสตร์ก็มี ปรัชญาทางการบริหารการปกครองก็มี   รัฐปรัชญาก็มี  แต่ในวงนักวิชาการ ในวงการนักการศึกษา  และในวงการนักรัฐศาสตร์นิยมแปลคำว่า  Political Philosophy ว่า ปรัชญาการเมือง  ซึ่งหมายถึงปรัชญาในทางการเมือง ซึ่งเป็นปรัชญาในการบริหาร   ในปกครอง   โดยปรัชญาการเมืองนั้น  ใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า Political Philosophy หรือ Philosophy of Politics ก็ได้

 

นิยามและความหมาย

          ก่อนที่จะได้ศึกษาให้รู้ให้เข้าใจเรื่อง    ปรัชญาการเมือง   ควรที่จะได้ทราบความหมายอันแท้จริงของคำว่า    ปรัชญา   เป็นเบื้องต้น  ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า  แท้ที่แล้วปรัชญา  นั้นคืออะไร มีความหมายอย่างไร

          จำนง ค์    ทองประเสริฐ   ศาสตร์พิเศษสาขาวิชาปรัชญา    ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนว่า    คำว่า ปรัชญา   ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า  Philosophy นั้น แท้ที่จริงแล้ว ความหมายของคำว่า ปรัชญา หาได้ตรงกับคำว่า Philosophy จริง ๆ ไม่ ถ้าไม่ศึกษาความหมายอันแท้จริงของคำ ๒ คำนี้ก่อนแล้วอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่า ปรัชญา กับ Philosophy มีความหมายตรงกันทีเดียว

          คำว่า  ปรัชญา หมายถึง ตัวปัญญา คือความรู้แท้ที่ได้รับหลังจากหมดความสงสัยแล้ว ส่วนคำว่า Philosophy เดิมทีเดียวหมายถึง ความรักในความรู้ ที่ว่าต้องรักในความรู้ก็เพราะว่า  ความรู้หรือWisdom นั้นเป็นของพระผู้เป็นเจ้า(God) เท่านั้น  ผู้อื่นจะไปครอบครองตัวปัญญาหรือWisdom นั้นไม่ได้   เพียงแต่รักเท่านั้น เป็นเจ้าของไม่ได้เรียกว่า ตัวปัญญา  หรือWisdom   นั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงผูกขาดไว้แต่เพียงผู้เดียว ส่วนปัญญา หรือ ปรัชญา นั้นไม่มีใครผูกขาด ทุกคนสามารถที่จะบรรลุถึงตัว    ปัญญา  หรือ   ปรัชญาได้ทั้งนั้นถ้าหากบุคคลนั้นจะดำเนินไปตามวิถีทาง ที่จะนำไปสู่ปัญญา เพราะฉะนั้นคำว่า  ปรัชญา กับ Philosophy จึงมีความหมายที่แตกต่างกันโดยนัยดังกล่าวนี้จะอย่างไรก็ตาม เมื่อสรุปแล้วก็คงความไม่รู้แจ้งนั่นเอง  เป็นบ่อเกิดของ Philosophy ซึ่งแปลว่าปรัชญา แม้จะไม่ตรงกันนักก็ตาม

 

ลักษณะของปรัชญาการเมือง

          ปรัชญามีลักษณะเป็นแนวความคิด เป็นปรัชญา เป็นทฤษฎี เป็นนามธรรม เป็นมโนภาพ เป็นอุดมคติ อุดมการณ์ ซึ่งแม้ในการปัจจุบันก็ยังไม่มีปรัชญาการเมืองสากล จะมีก็เพียงปรัชญาการเมืองของนัดคิด นักปราชญ์ นักปรัชญาการเมืองผู้นั้นผู้นี้

          จริงอยู่   แม้องค์การสหประชาชาติจะพยายามสร้างปรัชญาการเมืองสากล    ขึ้นไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ   (The Charter of the United Nations)  เช่นสิทธิมนุษยชนสากล  (Universal Human Rights)   ก็ตาม   แต่ก็หามีสมาชิกของสหประชาชาติทุกประเภทนำไปปฏิบัติให้ครบถ้วนสมบูรณ์ไม่   จึงทำให้เกิดกรณีพิพาท การกระทบกระทั่ง การเบียดเบียน การเอาเปรียบ ฯลฯ ระหว่างประเทศปรากฎให้เห็นไม่ขาดสาย

          ปรัชญาการเมือง  (Political Philosophy)  เป็นความพยายามศึกษาถึงธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง  ความถูกต้องเหมาะสม ความดีงามของระเบียบทางการเมือง ตลอดจนเป็นความพยายามคิดค้นหาแนวความคิดมาชี้นำกำหนดความดีขึ้น    หรือ   เลวลงของการกระทำ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การเปลี่ยนแปลงกับความต่อเนื่องหรือความมีเสถียรภาพของสังคมการเมือง    ทั้งยังเห็นว่า   การวิพากษ์วิจารณ์การครุ่นคิด คำนึง การเสวนา การแสวงหาในแนวทางเช่นว่านั้น   จะเป็นวิธีที่พัฒนายกระดับทางศีลธรรมให้สูงขึ้น    โน้มนำไปสู่การมีจิตสำนึก    รับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมมากขึ้น

 

สาระสำคัญของการศึกษาปรัชญาการเมือง

          ปรัชญาการเมือง    เป็นวิชาประยุกต์สาขาหนึ่ง  มุ่งศึกษาวิเคราะห์ประเมิน แสวงหาและสร้างแนวคิดอันเป็นสัจจะทางการเมือง อีกนัยหนึ่ง ปรัชญาการเมือง เป็นวิชาว่าด้วยความคิดเกี่ยวกับการตีความ การสร้างและกำหนดสิทธิ  หน้าที่ ตลอดถึงความสัมพันธ์แบบฉบับ ในการดำเนินชีวิตร่วมกันของมนุษย์    ยิ่งกว่านี้ยังเป็นวิชาว่าด้วยโครงร่างทางความคิด  และความเชื่อถือที่ถือเป็นสูตรทางการเมืองพร้อมกับการให้เหตุผล วิเคราะห์ ข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นแนวทางสร้างสถาบัน อุดมคติ นโยบาย และวัตถุประสงค์ทางการเมือง

ประวัติความเป็นมาของปรัชญาการเมือง

          ในทางวิชาการแล้วถือกันว่า   ปรัชญาการเมือง  เป็นแขนงหรือสาขาวิชาหนึ่งของปรัชญา ซึ่งปรัชญาเองก็ได้ศึกษาที่เกี่ยวโยงเอาปัญหาของมนุษย์เข้าไว้ด้วยเริ่มต้นด้วยโสเครตีส(469-399B.C.) เพราะโสเครตีสเป็นผู้เริ่มตั้งคำถามทำนองที่ว่า    อะไรคือความดี   อะไรคือความกล้าหาญ   อะไรคือความยุติธรรม    อย่างจริงจัง   จะเห็นได้ว่า   คำถามเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะใกล้ตัวมนุษย์ยิ่งกว่าคำถามที่ปรัชญาเมธีรุ่นแรก ๆ ตั้งเท่านั้น หากแต่มีการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงและโดยตรงต่อความเห็นในเรื่องทางการเมืองของชุมชนอีกด้วย

 ประเภทของปรัชญาการเมือง

เมื่อกล่าวประวัติศาสตร์แห่งการศึกษาปรัชญาการเมืองตั้งแต่ยุคโบราณเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ สามารถแบ่งประเภทของปรัชญาการเมืองได้ ดังนี้ 

๑.    ปรัชญาการเมืองคลาสสิก (Classical Political Philosophy)

โดยมีโสเครตีส เป็นผู้เริ่มต้น และสืบทอดผ่านมาทางเพลโตและอริสโตเติลตามลำดับ  สาระ

สำคัญของปรัชญาการเมืองคลาสสิกก็คือ   เป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อดำรงรักษา   และ  พัฒนาชุมชนขนาดเล็กให้มีความเจริญก้าวหน้าในการปกครองตนเอง มีเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้   มีความสำเร็จในการจัดองค์การทางการเมืองการปกครอง  ทางเศรษฐกิจและสังคม ความสำเร็จเหล่านี้นับเป็นปรากฎการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษยชาติ

๒.   ปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ (Modern Political Philosophy)

 ปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ เป็นปฏิกิริยาที่มีต่อผลของศาสนาคริสต์ที่แตกแยกออกเป็นนิกาย

ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังปฏิเสธโครงร่างปรัชญาการเมืองคลาสสิกว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกด้วย

๓.   ปรัชญาการเมืองในปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า   ในปัจจุบันนี้ฐานะของปรัชญาการเมืองค่อนข้างจะได้รับความสนใจและเอา

ใจใส่น้อยลงหรือตกต่ำลง   ทั้งนี้ก็เพราะสังคมศาสตร์   (Social Science)  ได้ยอมรับเอาข้ออ้างทางวิทยาศาสตร์มาเป็นข้ออ้างและบรรทัดฐานของตน   กล่าวคือสังคมศาสตร์  ปัจจุบันถือว่า ความรู้ทางสังคมศาสตร์ที่มีหลักเกณฑ์อย่างทางวิทยาศาสตร์     (Scientific Knoredge)   เท่านั้นที่เป็นความรู้อย่างแท้จริง  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ความรู้ทางสังคมศาสตร์ต้องเป็นความรู้ที่อาจมีการพิสูจน์ หรือทดลองอย่างใดอย่างหนึ่งได้เช่นเดียวกันกับกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ สังคมปัจจุบันถือว่า ความเห็นของโสเครตีสในเรื่องของความดี  ความกล้าหาญ  ความยุติธรรม ล้วนแต่เป็นเรื่องซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัวหรือแน่นอนคงที่และไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นจริงได้โดยหลักเกณฑ์แบบวิทยาศาสตร์ หลักการของปรัชญาเมธีไม่ว่าจะเป็นโสเครตีส   เพลโต   หรืออริสโตเติล  ก็เป็นเสมือนเพียงระบบค่านิยม ในบรรดาค่านิยมทั้งหลายเหล่านั้น

ความสำคัญและประโยชน์ทางการศึกษาปรัชญาการเมือง

ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์     ทองประเสริฐ    ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการ

ศึกษาปรัชญาเป็นเบื้องต้นว่า    ถ้าหากคนในสังคมมีปรัชญาสำหรับดำเนินชีวิต     ก็จะทำให้คนเรามีหลักการ   และมีเหตุผลมากขึ้น   การใช้อารมณ์หรือทิฏฐิมานะเข้าต่อสู้กันอย่างสัตว์เดรัจฉานก็คงจะหมดไป    หรือจะลดน้อยลง   ทั้งนี้ก็เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐประเภทเดียวที่พอจะสอนให้มีเหตุมีผลได้   การที่เขาไม่มีเหตุผล  อาจเป็นเพราะเขาไม่เคยศึกษาเล่าเรียน ไม่เคยมีใครอบรมสั่งสอนเขาให้มีเหตุผลก็ได้ 

ในแง่ประโยชน์ของปรัชญาการเมืองนอกจากที่กล่าวมาในประโยชน์ของการศึกษา   ปรัชญา

เป็นเบื้องต้นแล้ว    ปรัชญาทางการเมืองมีประโยชน์ในแง่ที่มีขอบเขตในการอธิบายสิ่งต่าง     กว้างขวางกว่าวิทยาศาสตร์และวิธีการต่าง    หลากหลายแบบหลายประเภทซึ่งอาจไม่เป็นวิธีการในแนววิทยาศาสตร์เสมอไป  ปรัชญาทางการเมืองจึงไม่มีลักษณะเป็นทฤษฎี แต่ก็อาจถือว่าเป็นแนวคิดที่จะพยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด

ประโยชน์แห่งปรัชญา    ทางการเมืองที่เห็นได้ชัดก็คือ     เป็นเสมือนหนทางที่ช่วยให้มนุษย์

 สามารถค้นหาสิ่งซึ่งตนปรารถนาที่จะรู้   แต่สิ่งนั้นยังเป็นสิ่งลี้ลับ  ไม่อาจจะรู้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะยังประโยชน์นำมาสู่สันติสุขในแง่ของการเมืองการปกครองของมนุษยชาติตลอดไป

 ปรัชญาการเมืองของขงจื้อ

(Political Philosophy of Kung Tzu) 

          เมื่อกล่าวถึงปรัชญาการเมืองการปกครองในทัศนะของนักปรัชญาตามความเข้าใจของคนทั่วไป    ซึ่งอาจจะมองว่านักปรัชญาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องดังกล่าวเลย  แต่ในความเป็นจริงแล้วเรากำลังเข้าใจความหมายของคำว่า  ปรัชญา ในรูปแบบเดิมๆ กล่าวคือ การศึกษาในเรื่องที่อยู่ในวิสัยของภาคทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่    แน่นอนว่าปรัชญาอาจไม่ใช่เรื่องของภาคปฏิบัติโดยตรงทั้งหมด หากเรามองปรัชญาด้วยความเสมอภาคด้านวิชาการเหมือนกับสาขาวิชาอื่น     ที่อยู่ในห้วงความคิดหรือ วิชาการที่ศึกษากันอยู่ในเวลานี้      บางครั้งก็เพียงเพื่อความเพลิดเพลินสติปัญญา    หรือ     ไม่ก็ประเทืองปัญญาเอาเสียเลย

          ในทัศนะของนักปรัชญาจีนอย่างขงจื้อ     (Kung Tzu)  ไม่ได้ใช้ความรู้ทางด้านปรัชญาเพื่อความเพลิดเพลินทางสติปัญญาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น   แต่ในทางตรงกันข้ามขงจื้อ   ได้ประยุกต์หลักทางปรัชญาให้เกื้อกูลแก่มนุษย์และสังคมจนกลายเป็นอารยธรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศจีน    ดังคำที่ว่า     “ไม่มีใครอีกแล้วที่จะมีอิทธิพลอย่างลึกซึ่งต่อชีวิตและจิตใจของประชาชนชาวจีนในฐานะเป็นสื่อ เป็นครู เป็นผู้แปลความหมายวัฒนธรรมและวรรณคดีเก่า ๆ ในทำนองสร้างสรรค์และเป็นผู้หล่อหลอมจิตใจและคุณลักษณ์ของประชาชนชาวจีนได้เท่าขงจื้อ”

          ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ขงจื้อจึง     ได้ชื่อเป็นนักปรัชญาการปกครอง    โดยชี้ให้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งอื่นใดหรืออาจกล่าวได้ว่า   เป็นมนุษยนิยม  (Humanism)  ดังกล่าวที่ปรากฎในงานของเชาหยุง  (ฮวงจิจิง-ชือฉุ)  ตอนหนึ่งว่า  “มนุษย์ครองตำแหน่งที่มีเกียรติสูงสุดในโครงการเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลาย    เพราะมนุษย์รวมหลักการของสิ่งต่าง  ๆ ทั้งมวลไว้ในตัว ถ้ามนุษย์ให้เกียรติแก่ตำแหน่งของตน   และส่งเสริมเกียรติของตนเองให้มากขึ้น  เขาก็จะสามารถทำให้สิ่งต่าง ๆ ทุกๆชนิดมารับใช้เขาได้ ธรรมชาติทั้งปวงสมบูรณ์อยู่ในจำพวกมนุษย์”

          การที่ขงจื้อใช้หลักคุณธรรมในระบบการเมืองการปกครองที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางก็ด้วยเหตุที่ว่า    ถ้าปราศจากผู้ปกครองผู้มีคุณธรรมนำประชาชนไปในทางที่ถูกต้องดีงามแล้ว   ประชาชนย่อมไม่ออกนอกลู่นอกทางดี     นี้ก็เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่เราควรจะศึกษาเพื่อให้ทราบถึงปรัชญาการเมืองการปกครองขงจื้อและส่วนที่มีความเกี่ยวข้องต่อไป

 

๒. ชีวประวัติโดยสังเขป

ก.ภูมิลำเนา

ขงจื้อ  (Kung Tzu)    (สำเนียงจีนกลางเรียก คงจื่อ)   เกิดเมื่อ ๘ ปี ก่อน พ.ศ.   (๕๕๑ ปีก่อน

ค.ศ.)    ในแค้วนเจ้าครองนครเล็ก ๆ แคว้นหนึ่ง ชื่อแคว้นลู่ ปัจจุบันอยู่ใน  (ซันตุง หรือ ซัวตุง)ชื่อตัวของขงจื้อ คือ ชิว หรือ คิว มีฉายาว่า จุงหนี่ หรือ ต่อนี้ แต่ชาวจีนเรียกชื่อท่านว่า คุง หรือ  ชง  หรือคุงจื่อ คุงเป็นชื่อแซ่หรือนามสกุล จื่อ หรือ จื้อ เป็นคำยกย่อง แปลว่า ท่านอาจารย์

          บิดาชื่อหงึกเลี้ยงสก     มารดาชื่อง่วนสี    บางตำราก็ว่าบิดาของขงจื้อชื่อว่า    ชูเลียงไฮบ้าง  ชูเลียงเฮบ้าง  ชูเลียงโฮบ้าง ส่วนมารดา บางตำราก็ว่าชื่อ ชิงไส่ ขงจื้อมีชื่อจริงว่า คิว แปลว่า ภูเขา ทั้งนี้ก็เพราะหงึกเลี้ยงสกกับง่วนสี    ภรรยาคนใหม่ของเขายังไม่มีบุตรชายสืบตระกูล  จึงได้บวงสรวงขอบุตรกับเจ้าพ่อขุนเขา

ข. ชีวิตในวัยเยาว์

          สมัยที่ขงจื้อเป็นเด็กลำบากมากเพราะฐานะทางบ้านยากจนมิหนำซ้ำบิดาก็มาตายจากไป  เมื่อขงจื้ออายุได้เพียง ๓ ขวบ มารดาก็พาขงจื้อมาอยู่ในเมือง  ขงจื้อไม่ชอบเที่ยววิ่งเล่นซุกซนเหมือนเด็กทั้งหลาย    แต่กลับชอบทำพิธีกรรม   เล่นไหว้เจ้า  ชอบแต่งตัวเป็นกษัตริย์และชอบแสดงมารยาทผู้ดี เมื่ออายุ    ๑๕ ปี   ขงจื้อได้เล่าเรียนค้นคว้าวิทยาการต่าง ๆ อย่างจริงจัง ครั้นอายุ  ๑๗ ปี   มารดาก็ตาย  อายุ ๑๙ ปีแต่งงาน อายุ ๒๐ ปี มีบุตรเพียงคนเดียวเท่านั้นชื่อ ขงลี

ค. หน้าที่การงาน

          ขงจื้อได้เข้ารับราชการในกรมเกษตร     ต่อมาได้ย้ายไปทำงานกระทรวงการคลังในตำแหน่งเจ้าหน้าที่แผนกบัญชี เมื่ออายุได้  ๓๐ปี  ท่านเป็นผู้รอบรู้และชำนาญในจารีตประเพณีต่าง ๆ และเริ่มประกาศตนเป็นศาสดาเที่ยวสั่งสอนประชาชน    อายุ  ๔๖ ปี   ได้เดินทางไปยังเมืองโลเพื่อเรียนวัฒนธรรมโจวจากเล่าจื้อ    อายุได้   ๕๑  ปี ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการเมืองจุงตู  อายุ ๔๕ ปี  รักษาการในตำแหน่งประธานมนตรี  (ในแคว้นหลู่)  ขงจื้อตายเมื่อปี ๔๗๙ ก่อนคริสต์กาล ขณะที่มีอายุได้ ๗๓ ปี

๓.   ผลงานด้านรัฐปรัชญา

ขงจื้อได้เน้นถึงหน้าที่ของบุคคล  ในสังคมที่มีส่วนรวม     โดยเน้นให้ทำหน้าที่ของตนเองให้

สมบูรณ์เพื่อความสงบสุขของส่วนร่วม ดังมีข้อความที่ชี้เกงกงเคยถามขงจื้อว่า จะปกครองรัฐให้ดีได้อย่างไร? ขงจื้อตอบว่า  “ผู้ครองรัฐ จงทำหน้าที่ผู้ปกครองให้สมบูรณ์ ขุนนางจงทำหน้าที่ขุนนางให้สมบูรณ์ บิดาจงทำหน้าที่ของบิดาให้สมบูรณ์ บุตรจงทำหน้าที่บุตรให้สมบูรณ์

          ในด้านรัฐศาสตร์ของเขาคือพลโลกเป็นครอบครัวเดียวกันหมด        การปกครองอย่างพ่อปกครองลูกก็สามารถอวยสันติสุขแกราษฎรในระดับหนึ่งและ ได้เสนอปรัชญาการเมืองไว้  ๒ แนวทางคือ

          แนวทางที่หนึ่ง   เป็นอุดมคติที่สูงสุดของเรา คือ ลัทธิสากลนิยม ต้องเลือกมาจากพลโลกโดยตรง เป็นรัฐบาลโลกซึ่งถ้าทำได้เช่นนั้นขงจื้อเชื่อว่าเป็นยุค มหาสันติ (ไท้เพ้ง)

          แนวทางที่สอง   คือลัทธิเชียงคัง   มีรัฐบาลเฉพาะแต่ละชาติแต่ละรัฐ    ขอให้กษัตริย์หรือ เจ้าครองนครทั้งหลายบำเพ็ญหน้าที่ดุจพ่อเมืองอย่างแท้จริง  ให้คณะรัฐมนตรีมีความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะเป็นรัฐบาลที่ดี สามารถยังความสุขสงบแก่ราษฎรในแว่นแคว้นเฉพาะได้    ขงจื้อจึงเรียกว่า  จุลสันติสุข หรือ เซ็งเพ้ง

          รัฐปรัชญาของขงจื้อจึงเป็นการเน้นไปที่ตัวบุคคลและคุณธรรมของรัฐบาล   ดังที่เขาได้กล่าวถึงหลักสำคัญปกครองรัฐไว้      ประการคือ  (๑) จะปกครองให้ได้ดี ควรสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน    เพื่อให้ประชาชนเลื่อมใสในตัวผู้ปกครอง   (๒)  จะต้องดำเนินนโยบายหรือหาวิธีจะให้ประชาชนมีอาหารกินอย่างเพียงพอในการเลี้ยงชีวิต (๓) จะต้องมีกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งเพียงพอที่รักษาประเทศ เพื่อมิให้ศัตรูมารุกรานได้

          นอกจากนี้ขงจื้อได้ยังกล่าวถึงคุณธรรมของผู้ปกครอง   ไว้      ประการ คือ  (๑) การบำเพ็ญประโยชน์ หมายถึง การทำงานเพื่อความผาสุขสวัสดีของประชาชน  (๒) ความถูกต้อง ไม่พึงทำสิ่งที่ท่านไม่ต้องการให้ผู้ทำต่อท่าน  (๓) ความเหมาะสม จงประพฤติตนต่อประชาชนที่ท่านปกครองด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีงามอยู่เสมอ  (๔) ปัญญา จงใช้ปัญญาและความเข้าใจเป็นเครื่องนำทาง (๕) ความจริงใจ จงจริงใจต่อทุกคนที่ท่านเกี่ยวข้อง  เพราะขงจื้อถือว่าปราศจากความจริงใจแล้วโลกจะเกิดขึ้นไม่ได้

๔.  แนวคิดปรัชญาการเมือง

๔.๑ ความหมายของรัฐ

เมื่อพูดถึงคำว่า  รัฐ   ขงจื้อและลูกศิษย์จะไม่ได้กล่าวถึงเอาไว้เลย   แต่ก็สามารถประจักษ์จาก

วรรณกรรมของขงจื้อที่พูดถึงความแตกต่างระหว่างรัฐ   (ผัง)  กับขุนนาง (เว่ย) จึงทำให้เราสามารถที่จะศึกษาถึงแนวคิดในเรื่องของรัฐว่า  “ รัฐคือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณที่แน่นอน และมีผู้ปกครอง”

          รัฐในความหมายขงจื้ออาจ    ไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร     อันเนื่องมาจากการกล่าวถึงระบบครอบครัวใหญ่ โ   ดยเริ่มตั้งแต่ระดับล่างคือครอบครัวและ ตัวบุคคลที่ต้องทำหน้าที่ของตนเองอย่างสมบูรณ์   แต่รัฐในทรรศนะของขงจื้อนั้นประกอบด้วยสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องหมายบ่งชี้  ๓ ประการ คือ

๑.    เซ-จี  (She-Chi)  หมายถึง เทพยาดาที่สถิตย์ประจำแคว้นและพืชผลทางการผลิต เปรียบได้กับสถาบันชาติ

๒.   จง-เหมียว  (Tsung-Miao)  หมายถึง วิหารบรรพบุรุษ ที่บรรดาลูกหลานให้ความเคารพนับถือ เปรียบได้กับสถาบันศาสนา

๓.   เจ๊ก-เติ้ง  (Chao-ting)   หมายถึง ศาลพิพากษา ที่มีไว้เพื่อพิจารณาคดีความ เปรียบได้กับสถาบันพระมหากษัตริย์

 

๔.๒ หน้าที่ของรัฐ

          องค์กรของรัฐส่วนขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่มักประกอบไปด้วยบุคคลผู้ที่จะทำหน้าที่ในด้านต่าง ๆ ตามนโยบาย ซึ่งอาจได้มาโดยการคัดเลือก  แต่งตั้ง หรือด้วยวิธีการอื่นใดก็ตามที่ถือกันว่าเป็นวิธีการที่ชอบธรรมตามกฎหมาย        เพื่อให้เป็นผู้ทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์บางส่วนของสมาชิกในสังคมและประเทศชาติตามความเหมาะสมในรูปขององค์รัฐ

          ในส่วนนี้ขงจื้อได้กล่าวถึงหน้าที่ของรัฐไว้ในคัมภีร์ลุ่นยู้   (The Analects )   ว่า  รัฐมีหน้าที่ในการบริหารประเทศ ๓ ประการ คือ

๑.    สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

๒.   สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

๓.   สร้างความเชื่อมั่น หรือความไว้วางใจให้เกิดแก่ประชาชน

ขงจื้อเห็นว่า     การกินดีอยู่ดีของประชาชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญของรัฐที่จะกระทำอย่างต่อ

เนื่อง เพราะเป็นเพียงหนทางเดียวที่รัฐจะพึงได้ชัยชนะจากประชาชน ดังคำกล่าวที่ว่า

“สิ่งใดที่ประชาชนพอใจ   เราจงพอใจ   สิ่งใดที่ประชาชนเกลียดชัง    เราจงเกลียดชัง ผู้ใดทำได้อย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นบิดามารดาของประชาชน ผู้ที่ได้ประชาชนไว้ ก็เท่ากับได้รัฐไว้ ผู้ละทิ้งประชาชน ก็เท่ากับเสียรัฐไป”

          ขงจื้อเคยกล่าวถึงหน้าที่ของรัฐ    กับคณะเดินทางไปกับคณะเดินทาง ไปรัฐชี้ เส้นทางผ่านป่าใหญ่เชิงภูเขาไท้ซัว    เขาได้ยินเสียงร่ำให้ปริเทวนาการของหญิงคนหนึ่งข้างราวไพรไกล  ขงจื้อหยุดรถม้านิ่งฟังอยู่ครู่หนึ่งแล้วพูดขึ้นว่า

          “เสียงร้องไห้ฟังโหยหวนโศกาดูรนัก  หญิงผู้นั้นคงเป็นมหันตทุกข์แสนสาหัสเป็นแท้เทียว”

จื้อกงไปถามสาเหตุจากเจ้าทุกข์ หญิงนั้นตอบว่า “น้าชายของฉันถูกเสือขบตายไม่นานนี้ ต่อ

มาสามีของฉันก็ถูกเสือกินอีก บัดนี้ลูกของฉันยังมาตายเพราะเสือ”

          จื้อกงถามว่า “ก็ทำไมถึงไม้ย้ายบ้านหนีไปเสียเล่า”

          นางตอบว่า  “ที่นี่ไม่มีรัฐบาลที่กดขี่ทารุณนะซี”

          เมื่อจื้อกงนำความกลับมาเล่าให้ขงจื้อฟัง ขงจื้อแสดงความสลดสังเวชใจ หันมากล่าวแก่คณะศิษย์ว่า “นักศึกษาทั้งหลายจงจำไว้เถิด อันรัฐบาลที่กดขี่ทารุณนั้นร้ายยิ่งกว่าเสือเสียอีก”

          ประเด็นดังกล่าวขงจื้อไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจของผู้แทนประชาชน (รัฐบาล) ในทางกดขี่ข่มเหงรังแกผู้บริสุทธิ์ทางการเมือง   โดยไม่มีข้อต่อรองใด       เพราะถือว่าเป็นการไม่ยุติธรรมต่อมนุษย์ด้วยกัน   อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของผู้มีอำนาจ  ซึ่งไม่สามารถจัดการให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีได้อย่างทั่วถึง   และยังใช้สิทธิไปล่วงเกินสิทธิผู้อื่น โดยลืมคำนึงว่า “ความหมายสำคัญการมีสิทธิคือ   การได้รับการไม่ล่วงละเมิดในสิ่งที่เรามีสิทธิและการได้รับการคุ้มครองจากรัฐโดยกฎหมายถ้าเป็นไปได้ว่า    ทุกคนเคารพสิทธิของกันและกันไม่มีการล่วงละเมิดสิทธิของกันและกันจะเป็นการเพียงพอสำหรับสังคมมนุษย์หรือไม่”

          อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้     จึงเป็นคำถามของผู้ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลจะต้องให้ความกระจ่างแก่ประชาชนทั้งในแง่ของนโยบายและการปฎิบัติเพื่อให้เกิดผลทั้งทางด้านมนุษย์     สังคม     ธรรมชาติ และเทคโนโลยี ดังที่ว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นเมื่อระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทั้ง ๔ ดำเนินไปด้วยดี โดยที่ทุกส่วนเป็นปัจจัยส่งผลในทางเกื้อกูลแก่กัน ทำให้ดำรงอยู่ด้วยดีกัน”

          นอกจากนี้ขงจื้อยังได้กล่าวถึงสูตรการปกครองรัฐให้เป็นเรียบร้อยไว้ ๙ ประการดังนี้

๑.    ซิวซิง  ได้แก่  การอบรมคุณธรรมให้มีในตน

๒.   จุงเฮี๊ยง  ได้แก่  การเคารพยกย่องผู้มีความรู้ความสามารถ

๓.   ชิงชิง  ได้แก่  การปฎิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดต่อบุคคลผู้เกี่ยวเนื่องในสังคม

๔.   เก้งไต้ชิ้ง  ได้แก่  การยกย่องขุนนางผู้ใหญ่ หรือผู้มีอำนาจในแผ่นดิน

๕.   ที่คุ้งซิ้ง  ได้แก่  การแผ่พระคุณในหมู่ขุนนางผู้น้อย

๖.    จื้อสู้มิ้ง  ได้แก่  การแผ่ความรักในราษฎรให้เหมือนบุตรในอุทร

๗.   ไล้แปะกัง  ได้แก่  การอุดหนุนส่งเสริมศิลปวิทยาการอาชีพต่างๆให้เจริญ

๘.   ยิ้วเอี้ยงนั๊ง  ได้แก่  การให้การต้อนรับชาวต่างแดนให้มาค้าขาย หรือสวามิภักดิ์

๙.   ไฮ้วจูโฮ้ว  ได้แก่  การผูกมัดน้ำใจด้วยไมตรีในบรรดาเจ้าครองรัฐทั้งหลาย

 

๔.๓. ผู้ปกครองรัฐ

          คุณลักษณะของผู้ปกครองในทรรศนะของขงจื้อ   จะต้องไม่เกียจคร้านในการปฎิบัติหน้าที่ มีความซื่อสัตย์   ตั้งอยู่ในคุณธรรม   ทั้งนี้เพราะชีวิตและการเป็นอยู่กับผู้ปกครอง ผู้ปกครองที่ดีจึงต้องเข้าใจในสิ่งที่ประชาชนต้องการจะทำงานมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม รู้หน้าที่ของตนมีสายตายาวไกลซึ่งส่วนหนึ่งรัฐจะต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขอาณาประชาราษฎร์ดังวาทะของประธานาธิบดีลินคอล์นของประเทศอเมริกา     ที่ว่า   “รัฐบาลของประชาชน    โดยประชาชน   เพื่อประชาชน   ” (…government of the people, by the people, for the people…)

          ในยุคที่สังคมมีการปกครองด้วยระบบกษัตริย์       ขงจื้อถือว่าผู้นำเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง จึงจำเป็นต้องมีคุณลักษณะ ๓ ประการ คือ

๑.    มีอำนาจสูงสุด ใครจะละเมิดมิได้ถือกษัตริย์เป็นโอรสแห่งสวรรค์

๒.   มีความสามารถในการปกครองประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข ตามวิถีแห่งสวรรค์ นั่นคือจะ

ต้องทรงคุณธรรม   ถ้าละเมิดประชาชนมีสิทธิ์ก่อกบฎได้   ดังหลักที่ว่าน้ำลอยเรือได้ ก็จมเรือได้ เพราะผู้นำเปรียบเสมือนเรือ ประชาชนเปรียบเสมือนน้ำ

๓.   รู้จักเลือกคนดีมีคุณธรรม เข้าไปบริหารบ้านเมือง ต่างพระเนตรพระกรรณ

จะเห็นว่าผู้ปกครองที่มีความรู้ความสามารถย่อมนำประชาชนไปสู่เป้าหมาย    อีกทั้งยังเป็นที่

เคารพนับถือในฐานะโอรสแห่งสวรรค์  แต่ในความหมายนี้เป็นการยกย่องผู้ปกครองในฐานะผู้มีคุณธรรมดุจดังเทพ   ที่คอยเอื้ออำนวยความสุขสวัสดีแก่ประชาชนยามยาก แน่นอนว่าระบบคุณธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะบังคับให้เกิดขึ้นในบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความคัดเลือกผู้ที่มีอุปนิสัยเท่านั้น

          เมื่อพิจารณาผู้ปกครองในทรรศนะของขงจื้อนั้น     จะเห็นว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการปกครองประเทศ โดยจะต้องเว้นความไม่ชอบธรรม ๕ ประการ คือ

๑.    จิตใจชั่วร้ายอำมหิต แต่สามารถซ่อนเร้นได้อย่างมิดชิด

๒.   ประพฤติชั่วต่ำทราม แต่ยืนหยัดแน่แน่ว

๓.   พูดจาโป้ปด มีอคติ ด้วยวาทศิลป์อย่างยอดเยี่ยม

๔.   ก่อนทำเข็ญด้วยความรู้สึกกว้างไกล

๕.   เมตตาอย่างล้นเหลือต่อผู้ก่อกรรมทำเข็ญ

แนวคิดดังกล่าวนี้    ถือเป็นหลักที่ผู้ปกครองควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบ   เพื่อสันติสุขของ

ประชาชนในประเทศของตน  แม้แต่นักปรัชญาร่วมสมัยของอินเดียอย่างมหาตามา คานธี ก็ประนามความประพฤติดังกล่าวว่าเป็นบาปของผู้ปกครอง ๗ ประการ คือ

๑.    เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ

๒.   หาความสุขสำราญโดยไม่ยั้งคิด

๓.   ร่ำรวยเป็นอนิฎฐ์โดยไม่ต้องทำงาน

๔.   มีความรู้มหาศาลแต่ความประพฤติไม่ดี

๕.   ค้าขายโดยไม่มีหลักศีลธรรม

๖.    วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์

๗.   บูชาสิ่งสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ

ดังนั้น ผู้ปกครองในฐานะผู้ปกครองดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง

มีภาพลักษณ์ที่ดี เช่น มีความเที่ยงธรรม คำนึงถึงประโยชน์ของบ้านเมือง ไม่เห็นแก่พวกพ้องของตน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งจำเป็นจะต้องมีคุณธรรมเข้ามาควบคุมความประพฤติของตน โดยจะต้องคำนึงถึงคุณธรรม ๕ ประการ คือ เมตตา  ธรรมจริยา  ปัญญา  และสัจจะ     

๔.๔ ระบบการเมือง

                   เมื่อมีผู้ถามขงจื้อว่า

“  จะจัดระเบียบการปกครองรัฐอย่างไร ”  เขาได้ตอบว่า   “จงใช้ปฏิทินของราชวงศ์แห่    (คือปฏิทินจันทรคติแบบเก่า)   ใช้ยวดยานพาหนะของราชวงศ์เซียง  ใช้เครื่องนุ่มห่มประดับกายของราชวงศ์จิว  ส่วนการร้องรำทำเพลง จงใช้นาฎสังคีตของพระเจ้าซุ่น”

          หมายความว่า     ขงจื้อคัดเลือกเอาระเบียบการปกครองที่ดีเด่นของแต่ละราชวงศ์มาเรียบเรียงขึ้นใหม่   ไม่ใช่ลอกแบบโดยวิธียกมาทั้งกระบิ เขาเสนออุดมคติการเมืองเป็นรูป  “สากลนิยม” ไม่มีชาติวรรณะ ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างเสมอภาค ทุกคนมีงานทำเป็นหลักฐาน คนชนาทุพพลภาพและเด็กได้รับการเลี้ยงอย่างดี    ผู้ปกครองก็ใช้วิธีคัดเลือกเอาคนที่ดีที่สุดสามารถที่สุดจากประชาชนชั้นมาเป็นรัฐบาล ไม่ให้ปกครองด้วยคณะ หรือพรรคใด ๆ

          ในสมัยขงจื้อเราสามารถแบ่งการเมืองออกเป็น    ระบบด้วยกัน คือ  (๑)  ระบบการเมืองปกครองแบบพ่อปกครองลูก   (Patriarchal System)  (๒)  ระบบเจ้าครองนคร  หรือระบบขุนนาง (Feudal System)    และ   (๓)   ระบบจักรพรรดิ  (Military System) ซึ่งในระบบระบบการเมืองการปกครองดังกล่าวมีลักษณะการปกครองที่แตกต่างกันออกไปดังนี้

๑.    ระบบการเมืองแบบพ่อปกครองลูก       เป็นการเมืองที่มีมาช่วงก่อนหน้าสมัยราชวงศ์โจว

 (ก่อน พ.ศ.๕๗๙ เป็นต้นไป) ระบบนี้กษัตริย์จะทำหน้าที่เหมือนพ่อ ส่วนประชาชนใต้ปกครองก็จะเหมือนลูก  ซึ่งต้องให้ความเคารพและเชื่อฟังผู้เป็นพ่อ การสืบทอดตำแหน่งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า กษัตริย์จะยกตำแหน่งให้ใคร ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของหัวหน้าชุมชนด้วย

๒.   ระบบเจ้าครองนคร    เป็นระบบการปกครองที่อยู่ในช่วงสมัยราชวงศ์โจวตอนต้น  (ก่อน

 พ.ศ. ๕๗๙-๒๒๘)   เมื่อราชวงศ์ล่มสลายแล้ว   กษัตริย์โจงได้แผ่อาณาเขตได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทำให้การดูแล   ไม่ทั่วถึง  กษัตริย์โจวจึงทรงแต่งตั้งผู้แทนพระองค์ไปเป็นเจ้าปกครองแต่ละรัฐ      ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเชื้อพระวงศ์     หรือไม่ก็เป็นขุนนางผู้ใกล้ชิด ... คำสั่งของกษัตริย์เป็นโองการสวรรค์     มีอำนาจสิทธิ์ขาดทุกอย่าง

๓.   ระบบการเมืองแบบจักรพรรดิ      เป็นระบบการเมืองที่เริ่มต้นในช่วงต้นยุคชุนชิว  (ก่อน

พ.ศ.๑๗๙-พ.ศ. ๑๔๑)    ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบเจ้าครองนครเริ่มเสื่อมระบบเจ้าปกครองแบบจักพรรดินี้ได้พัฒนาถึงขั้นสูงสุดในปี     พ.ศ.   ๓๒๒  เมื่อเจ้าครองนครชื่อฉินได้ใช้กำลังทหารของตนรวบรวมจีนให้เป็นปึกแผ่นเป็นหนึ่งเดียว  พร้อมกันนั้นก็ได้สถาปนาตนเองเป็นจักพรรดิองค์แรกแห่งราชวงศ์ฉิน  มีพระนามที่ทราบกันในปัจจุบันว่า    ฉินซือฮวง หรือ   จิ๋นซีฮ่องเต้  (ฉิ๋นซีฮ่องเต้) ทำให้ประเทศจีนเป็นอาณาจักรเดียวภายใต้การปกครองของกษัตริย์พระองค์เดียวตามเดิม

๔.๕ จริยธรรมทางการเมือง

          ขงจื้อมีความเชื่อว่าอุดมคติทางการเมือง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบการเมืองการปกครองแต่ได้ให้ความสำคัญที่ตัวบุคคลทั้งด้านร่างกายและจิตใจหรืออาจเรียกว่า   มนุษย์นิยม ในความหมายที่ว่า “ถ้านักการเมืองรู้จักแต่การแก้ไขจัดการผู้อื่น    โดยลืมแก้ไขจัดการกับตนเองก่อน  อุดมคติที่วาดไว้สวยงามก็มีค่าเท่ากับภาพเขียนวิจิตรที่ปราศจากชีวิตจิตใจ”   แม้แต่นักปรัชญาอย่างมาร์ก    (Karl Marx ๑๘๑๘-๑๘๘๓)ก็มีทัศนะในเชิงมนุษยนิยมเช่นเดียวกับขงจื้อว่า

มนุษย์เป็นผู้สร้างความคิดต่าง      ขึ้นเอง ทั้งนี้โดยได้รับอิทธิพลจากการพัฒนาพลังการผลิตโครงสร้างทางสังคม   ซึ่งได้แก่  ความคิดทางการเมือง  ปรัชญา   ศาสนา  ศิลปะ  วัฒนธรรม  และความนึกคิดต่าง      ซึ่งล้วนแต่เป็นผลผลิตของมนุษย์ทั้งสิ้น ...สิ่งเหล่านี้จึงต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่ในความคิดของมนุษย์  มนุษย์ไม่ได้มาจากสวรรค์   หรือมิได้อยู่ในพระบัญชาของพระเป็นเจ้า แต่มนุษย์สร้างตัวเอง

          แนวคิดเรื่องมนุษยนิยมในทรรศนะของ   ขงจื้อที่เกี่ยวกับการปกครองก็ได้กล่าวถึง  ศักยภาพของมนุษย์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญกว่าระบบอื่นๆไว้ว่า

          “  นับจำเดิมแต่บุพกาลมา   บุคคลที่ปรารถนาจักยังโลก ให้ลุถึงสันติสุขตามอุดมคติอันดีงามแห่งตนนั้น    ผู้นั้นจักต้องสามารถปกครองรัฐของตนให้เรียบร้อยได้ก่อนและ ผู้ซึ่งจักปกครองรัฐให้เรียบร้อยได้     ผู้นั้นจักต้องปกครองครอบครัวของตนให้สงบสุขได้ก่อน    ก็บุคคลซึ่งสามารถจักปกครองครอบครัวให้สงบสุขได้   เขาจักต้องอบรมตัวเองให้ดีก่อน และการอบรมตนให้ดีได้นั้น  เขาจักต้องตั้งจิตของเขาให้ชอบธรรมก่อน   บุคคลซึ่งจักวางจิตของตนให้ชอบธรรมได้  ก็จำต้องมีความซื่อสัตย์มั่นคงในอุดมคติของเขาก่อน   ผู้ซึ่งจักซื่อสัตย์มั่นคงต่ออุดมคติได้  ผู้นั้นต้องเป็นคนมีสติปัญญาความรอบรู้ในเหตุการณ์อันเป็นฐานะหรืออฐานะ  และบุคคลจะถึงพร้อมด้วยสติปัญญาอย่างนั้นต้องเป็นผู้ซึ่งเข้ามาถึงซึมซาบในเหตุผลแห่งความเป็นไปของเรื่องราวต่าง  ๆ โดยแจ่มกระจ่างชัดเจน เมื่อมีความเข้าใจในเหตุผลโดยถ่องแท้   ผู้นั้นย่อมชื่อว่ามีสติปัญญา  ผู้มีสติปัญญาย่อมมีความซื่อสัตย์ต่ออุดมคติ    ผู้แน่วแน่ในอุดมคติ   ใจของเขาก็ย่อมตั้งอยู่ในความชอบธรรม  บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยความชอบธรรม  ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีตนอบรมดีแล้ว เมื่ออบรมตนของตนได้ดีแล้ว ก็ย่อมปกครองครอบครัวให้ได้ดี    ผู้ซึ่งสามารถจัดการกับครอบครัวได้เรียบร้อย   ก็ย่อมสามารถที่จักบริหารรัฐให้สันติสุขได้ เมื่อรัฐมีระเบียบเรียบร้อยดีแล้ว          บุคคลนั้นย่อมสามารถจรรโลงโลกให้มีความร่มเย็นไพบูลย์ได้

          นอกจากนี้ได้อรรถาธิบายอีกตอนหนึ่งว่า

                   “ถ้าสมาชิกในครอบครัวหนึ่ง   มีความเมตตารักใคร่กันดี ย่อมเป็นแบบอย่างและเป็นมหิทธิพลบันดาลให้คนทั้งรัฐมีความรักใคร่ปรองดองกันขึ้นได้   ถ้าสมาชิกในครอบครัวหนึ่งมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน     ประชาชนทั้งรัฐก็อาจมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ดุจกันได้ตรงกันข้ามหากมีบุคคลคนเดียวทุจริตคดโกง     คนอื่นในรัฐอาจเอาอย่างประพฤติทุจริตขึ้นมาได้      เหตุการณ์ของรัฐย่อมมีสมุฏฐานผลักดันมาก่อน    แม้จะเป็นสมุฏฐานเล็ก ๆ    แต่ทว่าสมุฏฐานเล็ก  ๆ น้อย ๆ นี้แหละมักจะสามารถก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนอย่างใหญ่หลวงขึ้นมาในบั้นปลายได้     คำพูดคำเดียวก็อาจทำลายล้างสิ่งต่าง   ๆ หมด   และคน ๆ เดียวอาจสร้างประเทศขึ้นมาได้ ฉะนั้นวีรชนจึงจำต้องบำเพ็ญความดีด้วยตนเอง ให้เป็นแบบฉบับก่อนภายหลังจึงไปปกครองอบรมผู้อื่นให้บำเพ็ญความดีตามได้ ก็เมื่อตัวของตัวเอาดียังไม่ได้ที่จะให้ผู้อื่นเขาดีด้วยนั้นย่อมหาสำเร็จไม่ เหตุฉะนี้จึงต้องตั้งต้นความดีกันที่ตนเองและครอบครัวก่อน”

          ขงจื้อเชื่อว่า    การที่สร้างให้คนเป็นดี    ประการแรกจะต้องให้การศึกษาอบรมเสียก่อน... นิติธรรมประเพณีตลอดถึงมารยาททางสังคมเป็นแนวทางให้คนดำเนินไปสู่ความเป็นอารยชน   เป็นคนเมือง ส่วนกวีนิพนธ์ก็เพื่อให้ใจเห็นความงามและเป็นระเบียบ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจนำไปสู่การคิดคำนึงถึงความทรงจำเก่า ๆ ทั้งเป็นการเสริมสร้างการสมาคมและเป็นการระบายความไม่สมหวังของคนได้ด้วย ส่วนวิชาดนตรีก็เพื่อให้ทราบซึ้งถึงความไพเราะความกลมกลืนกัน ดังที่ขงจื้อได้กล่าวไว้ว่า “อุปนิสัยของคนอาจปลูกฝังขึ้น ด้วยกวีนิพนธ์เสริมสร้างให้มั่นคงด้วยจารีตประเพณี และทำให้สมบูรณ์ได้ด้วยดนตรี”

          อย่างไรก็ตามการศึกษาวิชาการต่าง ๆ จะต้องให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งนั้น ๆ อย่างแจ่มแจ้ง    ไม่ใช่เพียงการศึกษาเพียงเพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอน  หรือกระบวนเท่านั้น     แต่ต้องคิดคำนึง วิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ทั้งในส่วนของทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง ดังที่ขงจื้อได้กล่าวว่า “การศึกษา    โดยปราศจากความคิดก็ไร้ประโยชน์   ทำนองเดียวกัน   ความคิดที่ปราศจากการศึกษาก็เป็นอันตราย”

          ขงจื้อมีความเชื่อเช่นเดียวกับโสเครตีสกล่าวคือ   ทุกคนอยากเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่หันไปทำความชั่ว  ก็เพราะว่าไม่รู้ว่าอะไรเป็นความดี  อะไรเป็นความชั่ว หากรู้ว่าอะไรเป็นความชั่วแล้วก็จะไม่มีใครหันไปทำความชั่วอย่างแน่นอน เพราะการทำความชั่วทั้ง ๆ   ที่รู้นั้นไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ หรือหากคนถูกบังคับให้เลือกทำความชั่ว     อย่าง ก็จะไม่มีใครเลือกทำความชั่วชนิดที่หนักกว่าเลย

          เนื่องจากขงจื้อเชื่อว่าการศึกษามีส่วนสัมพันธ์ ที่จะพัฒนาคนให้มีพัฒนาการทั้งในส่วนที่เป็นประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ของประเทศชาติ    เขาจึงกล่าวว่า   “การไม่อบรมตนให้มีคุณธรรมความดีหนึ่ง การไม่แสวงหาวิทยาความรู้หนึ่ง  ประสบความชอบธรรมแล้วไม่อนุวัตรตามความชอบธรรมนั้นหนึ่ง การไม่สละความผิด  ด้วยการปรับปรุงตนใหม่หนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นความทุกข์ของฉัน”

          ดังนั้น ขงจื้อจึงได้กล่าวถึงมรรควิธีอบรมตนเองเป็นมูลฐาปนีย์ที่สำคัญไว้ ดังนี้

๑.    แกะม้วย คือ ความเข้าใจเหตุผลในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างแจ่มชัด

๒.   ตี้ไจ คือ ความเป็นผู้สติปัญญา เพราะเหตุเนื่องมาจากเข้าถึงเหตุผล

๓.   เซ้งอี่ คือ ความซื่อสัตย์ต่ออุดมคติ

๔.   เจี้ยซิม คือ ความที่จิตตั้งอยู่ในความชอบธรรม

๕.   ซิวซิง คือ ความที่จนได้อบรมดีแล้วด้วยคุณธรรม ๔ ข้อข้างต้น

๖.    ชี่แก คือ ความสามารถที่จัดการให้ครอบครัวมีระเบียบเรียบร้อยได้

๗.   ตี๊ก๊ก คือ ความสามารถที่ปกครองรัฐให้ร่มเย็นได้

๘.   เพ้งเทียนเหีย คือ ความสามารถที่จะสร้างสันติภาพแกโลกได้

เหตุผลของการอบรมตน   ในทรรศนะของขงจื้อ     ถือได้เป็นหัวใจของการพัฒนาคน    และ

ประเทศชาติ   อันได้แก่ การทำงานด้วยความมีคุณธรรม  ซึ่งมุ่งการบำเพ็ญประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น     โดยไม่คิดว่าตนควรจะได้อะไร     ดังคำกล่าวของประธานาธิบดีเคนเนดีที่ว่า    “จงอย่าถามว่าประเทศชาติจะทำอะไรให้ท่าน (แต่) จงถามว่าท่านจะทำอะไรให้แก่ประเทศของท่าน"

 

๕ อิทธิพลขงจื้อในด้านต่าง ๆ

๕.๑ สังคมไทย

เมื่อพิจารณาอิทธิพลของขงจื้อที่มีต่อสังคมไทย   ในด้านมนุษย์นิยมอาจไม่มีความเด่นชัดเท่า

ใดนัก    เพราะส่วนใหญ่เป็นประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา    รวมไปถึงการยอมรับลัทธิเทวนิยม  หรือสมมติเทพที่ยอมรับนับถือผู้ที่มีอำนาจทางการปกครอง ในที่สุดได้กลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม หรือเรียกว่า ภูมิปัญญาไทย

อย่างไรก็ตาม    ถ้าหากเราจะศึกษาลง  ไปให้ลึกซึ้งแล้วเห็นว่าอิทธิพลและอารยธรรมจีนมีอยู่

มากมาย    และมีอยู่ในระดับที่ลึกลงไปถึงรากของสังคมไทยยิ่งกว่าอิทธิพลของอินเดีย    ...และถ้าจะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ช่วง     ๒๐๐    ปีที่ผ่านมาของไทยนั้น  จะไม่สามารถเข้าใจประวัติศาสตร์และพัฒนาการของสมัยรัตนโกสินทร์ได้เลย   ถ้าไม่กล่าวถึงบทบาทของชาวจีน คนเชื้อสายจีน และวัฒนธรรมของจีนที่ปรากฎในเมืองไทย

 

อิทธิพลของขงจื้อยังมีส่วนที่สัมพันธ์กับสังคมไทยโดยผ่าน      ทาง   คือ   (๑) คนจีนอพยพ

(๒)  สถาบันการศึกษา  (๓) งานวรรณกรรมทั่วไป ทางแรกนั้นจะเป็นเรื่องของการถ่ายทอดพิธีกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี  คนจีนที่อพยพเข้านั้นส่วนใหญ่จะนับถือพระพุทธศาสนา เต๋า ขงจื้อ...ส่วนที่สองจะเป็นเรื่องการถ่ายทอดหลักปรัชญา   โดยตรงซึ่งอยู่ในรูปแบบของการศึกษาและงานวิจัยทางวิชาการ ทางที่     จะมีทั้งหลักปรัชญาโดยตรง   และอาจจะสะท้อนออกมาในรูปของจารีตประเพณีปะปนกับคำสอน    ซึ่งสิ่งดังกล่าวจะอยู่ที่การแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ   (การไหว้เจ้าตามเทศกาลต่าง ๆ ) ความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่การงาน จนในที่สุดได้กลายเป็นประเพณีปฎิบัติของชาวจีน เช่น เทศกาลตรุษจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีส่วนได้รับอิทธิพลทางงานศิลปะ ส่วนนี้จะออกมาในรูปแบบของภาพเขียนใน

รูปแบบต่าง      รวมไปถึงการออกแบบเสื้อผ้า   และเครื่องประดับ รวมไปถึงจิตรกรรมที่เป็นศิลปะของชาวจีนอีกด้วย

 

๕.๒ ด้านเศรษฐกิจ

          เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่านักธุรกิจจีนส่วนใหญ่จะมักจะประสบความสำเร็จด้วยความขยันหมั่นเพียรและความอดทน   อย่างเช่น   หัวหน้าตระกูลเจี่ย  วัย  ๒๗  ปี นามเอ็กซอ จึงหอบกระสอบเมล็ดพันธุ์ผักจากเฉิงห่ายลงเรือรอนแรมมายังดินแดนสยามหลายสิบเที่ยว ...กระทั้งปี  ๒๔๖๔ เขาจึงตัดสินใจตั้งร้าน   “เจียไต้จึง”   เป็นอาคารไม้สองชั้น  ซึ่งเป็นห้องเช่าของวัดเกาะ ริมถนนทรงสวัสดิ์ ย่านทรงวาด นี่คือต้นกำเนิดของ  “เจียไต๋” ผู้ค้าเมล็ดผักตราเรือบินอันโด่งดังและเจียไต๋ก็คือปฐมบทของอาณาจักรเจริญโภคภัณฑ์ในปัจจุบันนั่นเอง

          การที่คุณธนินทร์  เจียรวนนท์    แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจการค้าขาย     หากพิจารณาในบริบทของหลักคำสอนหรือ      ปรัชญาของคนจีนที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาขงจื้อในด้านความขยันหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์ ในอาชีพของตน เพราะขงจื้ออาจกล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูซื่อสัตย์   จึงทำให้เขามีความบริบูรณ์ได้ด้วยบริวารและความมั่งคั่งที่กล่าวมาแล้ว

          อย่างไรก็ตาม   การที่นักธุรกิจจีนประสบความสำเร็จ นอกจากจะอาศัยคุณธรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีการทำงานในรูปแบบของครอบครัว   หรือกลุ่มใหญ่ที่พยายามส่งเสริมกันทั้งในส่วนของเงินทุนและกิจกรรมแห่งความกตัญญูที่มีบรรพบุรุษอันถือเป็นความรุ่งเรืองอย่างแท้จริง

 

๕.๓ ด้านการเมืองในโลกปัจจุบัน

          แม้ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของจีน  จะไม่ใช่ผลผลิตของขงจื้อทั้งหมดแต่แนวความคิดของขงจื้อก็เบ่งบาน และส่งอิทธิพลถึงระบบการเมืองการปกครองของจีนหลายยุคสมัย โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยช่วงหลังการล่มสลายของราชวงศ์ฉินเป็นต้น    มากระทั่งถึงที่จีนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้บางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์จะขึ้นจะลงบ้างเนื่องจากเพราะอิทธิพลของแนวคิดระบบอื่น   แต่คำสอนของขงจื้อก็ไม่เคยสูญหายไปจากประวัติศาสตร์การเมืองของจีน จึงกล่าวได้ว่า      “ลัทธิขงจื้อจึงได้ครองตำแหน่งสูงสุดแห่งการเป็นลัทธิที่ถูกต้องทางปรัชญาในระบบการเมืองและวัฒนธรรมจีน”

          อนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่หลักที่สำคัญที่ผู้ปกครองจะต้องทำก็คือ “การพิจารณาถึงความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนเป็นพื้นฐาน ”   ...ยิ่งกว่านั้นคุณธรรมเรื่องความกตัญญูก็ถูกนำมาเชื่อมโยงกับการเมืองการปกครอง    โดยเฉพาะในกรณีช่วยป้องกันการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ชัดกับเจตนารมณ์ของบรรพชน ดังคำอธิบายตอนหนึ่งว่า

ประเพณีที่บุตรจะต้องมีความกตัญญูต่อบิดามารดานั้น เป็นเรื่องทางการเมืองอย่างชัด ๆ   ทีเดียว ในฐานะที่เป็นกำลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีอำนาจอยู่ในราชสำนัก...ความกตัญญูที่จะต้องมีต่อบิดามารดานี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเรื่องกีดขวางการปฏิรูปสถาบันได้อย่างชะงัดทีเดียว ผู้ที่ชอบเปลี่ยนแปลงจะ ไม่สามารถเลิกล้มสิ่งที่ราชวงศ์ได้เคยปฏิบัติมาก่อนแล้วได้ง่าย ๆ เลย เพราะถ้าหากว่าทำเช่นนั้น ก็จะกลายเป็นว่าไม่มีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของจักรพรรดิไป

          อนึ่ง เมื่อเราพูดถึงระบบการเมืองตามปรัชญาขงจื้อ    เรามักจะนึกถึงระบบศักดินาหรือระบบขุนนาง   ปัจจุบันประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว ทำให้ชวนสงสัยว่าอิทธิพลทางการเมืองขงจื้อจะหมดตามไปด้วย ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เราศึกษาโดยละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า อิทธิพลทางด้านการเมืองของขงจื้อไม่ได้หมดตามไปด้วยเลยดังจะเห็นได้จากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕   ดร.ซุน ยัต-เซน เองก็ได้ยอมรับว่า แหล่งสำคัญทางความคิดของตนเกี่ยวกับประชาธิปไตยก็คือขงจื้อนั้นเอง

          นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว      ผู้ศึกษาจะขอหยิบยกประเด็น  ที่มีความสำคัญต่อระบบการเมืองการปกครอง ดังนี้

ก.   ความซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมือง

ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของนักการเมือง      ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจส่วนน้อยและที่ทำหน้าที่ใน

การปกครองประชาชนทั้งประเทศ  ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะเพราะการทุจริตโดยอาศัยอำนาจหน้าที่อย่างชอบธรรม ทำให้สังคมโลกพยายามเรียกร้องให้ผู้ทำหน้าที่ปกครองในระดับต่าง ๆ ได้กลับมาทบทวนถึงปัญหาดังกล่าว       อันจะทำให้การบริหารและ      การบริการให้ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ เป็นไปด้วยความยุติธรรม

          สิ่งที่ได้กล่าวในเบื้องต้นนั้น    จะเป็นไปไม่ได้เลย      ถ้าหากผู้นำหรือ นักการเมืองไม่มีความตระหนักและถือปฏิบัติอย่างจริงจังทั้งในระดับผู้นำของประเทศ   เพราะลำพังกฎหมายคงไม่สามารถที่จะก่อให้เกิดคุณธรรมเหล่านี้ได้ แต่ในทางตรงกันข้ามอาจก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรและก่อให้เกิดความเบียดเบียนต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน   ดังที่พระธรรมปิฎก  ได้กล่าวคำปราศรัยในวันรับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ ประจำปี ๒๕๓๗  ของยูเนสโก ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๗ ว่า

 

                   “การแสวงหาความสุขภายนอกอย่างนั้นประกอบด้วยการแก่งแย่ง

                ช่วงชิง   ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เราเกิดความขัดแย้งกับเพื่อนมนุษย์เท่า

      นั้นยิ่งกว่านั้น     เนื่องจากความสุขแบบนี้ต้องขึ้นต่อการเสพวัตถุเพียง

                  อย่างเดียว    จึงทำให้เราต้องฝากความสุขไว้กับ   วัตถุบำรุงบำเรอภาย

      นอกมากยิ่งขึ้น แล้วก็ทำให้เราสูญเสียอิสรภาพ”

          แม้คุณธรรมอาจไม่ใช่สิ่งที่วัดสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมก็จริง แต่ในความเป็นจริงปัญหาบางอย่างในสังคมโลกมีความจำเป็นต้องใช้ทุนทางคุณธรรมซึ่งเป็นลักษณะเด่นของนานาประเทศมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองทางการเมือง   เช่น   การเจรจาเพื่อสันติของฑูตในประเทศต่าง ๆ เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามส่งเสริม     ให้ประชาชนในประเทศได้ใช้คุณธรรมซึ่งทุนทางสังคมบางประการมาร่วมแก้ปัญหาในระดับชุมชนรากหญ้าให้มากยิ่งขึ้น

ข.   สิทธิหน้าที่และเสรีภาพของประชาชน

ปัจจุบันเรื่องดังกล่าว ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเสนอในเวทีการเมืองโลก ในหลายกรณีเพราะอย่าง

น้อยที่สุดก็เป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้มีอำนาจบางส่วนของโลก ได้คำนึงถึงความเป็นมนุษย์หรือสิทธิมนุษยชนที่ประชากรของโลกควรจะได้รับความเหมาะสม     ด้วยการออกกฎหมายที่ไม่ริดรอนสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตของประชาชนหรือเป็นไปเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม   นักการเมือง นักปกครอง และประชาชนที่ใฝ่ปรารถนาจะแก้ปัญหาของสังคม

มนุษย์อย่างแท้จริง    และหวังที่จะสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั่นเอง   จะต้องเป็นผู้มองการไกล ไม่ใช่มองอยู่ปัญหาเฉพาะหน้าในการดิ้นรนต่อสู้ เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคใน บัดนี้เท่านั้น แต่ต้องเตรียมวางแนวทางสำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวให้พร้อมไว้แต่เนิ่น ๆ ทีเดียว

          ดังนั้นผู้ปกครองผู้ปกครองบ้านเมือง และประชาชนที่ดีจะต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ขงจื้อได้กล่าวว่า “สิ่งใดที่ประชาชนพอใจ เราจงพอใจ สิ่งใดที่ประชาชนเกลียดชัง เราจงเกลียดชัง ผู้ใดทำได้อย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นบิดามารดาของประชาชน ผู้ที่ได้ประชาชนไว้ ก็เท่ากับได้รัฐไว้ ผู้ละทิ้งประชาชน ก็เท่ากับเสียรัฐไป”

สรุป

 

          จากการได้ศึกษาปรัชญาการเมืองของขงจื้อทำให้ทราบว่า   แนวคิดทางการเมืองการปกครองของขงจื้อส่วนใหญ่เป็นแนวคิดแบบมนุษยนิยม  (Humanism)  กล่าวคือ มนุษย์มีศักยภาพมากเพียงพอในการที่จะสร้างสรรค์ตนเองและสังคมให้มีความเจริญรุ่งเรืองได้โดยเน้นให้ทุกคนได้ทำบทบาทหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์แบบ    ทั้งนี้ก็เพื่อการประสานประโยชน์เกื้อกูลของสังคมส่วนตัวในระดับครอบครัวและสังคมส่วนรวมในระดับประเทศชาติได้เป็นอย่างดี

          ตามทรรศนะการเมืองการปกครองของขงจื้อเราสามารถพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

          ประการที่หนึ่ง   ด้านนโยบาย  จะต้องสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะด้านความอยู่ดีกินดี   และการสร้างความเสมอภาคด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี

          ประการที่สอง    ด้านผู้ปกครอง  จะต้องมีความรู้ความสามารถเพียงพอในการเป็นผู้แทนปวงชนและสามารถจะดำเนินตามนโยบายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  โดยคำนึงถึงบริบทของแต่ละสังคมที่เป็นพลังแห่งการพัฒนาประเทศชาติ ทั้งนี้ก็เพื่อความผาสุขของประชาชนเป็นใหญ่

          ประการที่สาม  ด้านประชาชน  ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศ    โดยจัดให้มีการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ     รวมไปถึงการศึกษาตามวิถีชีวิต(ตามอัธยาศัย)      เพราะขงจื้อเชื่อว่า การศึกษาจะสามารถให้ประชาชน    มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขได้

          ประการที่สี่    ด้านคุณธรรม  มนุษย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้สร้างสรรค์ระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีจิตวิญญาณ    โดยเป็นการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพที่มนุษย์ควรจะได้รับจากมนุษย์ด้วยกันเอง

          ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ผู้ศึกษาจึงมีความเห็นว่า   แม้ว่าขงจื้อจะเป็นนักปรัชญาจีนที่มีแนวความคิดทางปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อสังคมจีน    อยู่เป็นอันมาก      ก็เนื่องมาจากว่าเขาไม่เพียงแต่เป็นนักทฤษฎีเหมือนกับนักปรัชญาบางท่าน แต่ขงจื้อยังได้ใช้บทบาทหน้าที่แห่งความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในเวลานั้นเป็นห้องเรียนแห่งชีวิต     เพื่อสร้างระบบปรัชญาจากวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่    จึงทำให้แนวคิดทางปรัชญาทางปรัชญาการเมืองของขงจื้อได้รับการตอบสนองเชิงปฏิบัติ โดยการเชื่อมประสานระหว่างนโยบาย   ผู้ปกครอง  ประชาชน และคุณธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศที่ควรจะเป็น เพราะในทรรศนะของขงจื้อนั้นถือ   ว่ามนุษย์จะสามารถสร้างสรรค์การเมืองการปกครองของมนุษย์ โดยมนุษย์ เพื่อมนุษย์ ได้อย่างแท้จริง

                              

ปรัชญาการเมืองของจาณักยะ

๑.บทนำ

          มนุษย์เราถือกำเนิดมาแล้วนั้น     จำต้องเอาชีวิตของตนให้อยู่รอดปลอดภัย        จากอุปสรรค อันตรายทั้งปวงอยู่แล้ว   สำหรับผู้ที่มีแนวคิดดี     ก็จะอยู่ในสังคมระดับดีๆ การเมืองการปกครองก็เหมือนกัน    ถ้าต้องการเป็นหัวหน้าทางการปกครอง   ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ เสนาอำมาตย์ หรือคหบดี เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีแนวคิดหรือหลักปรัชญาที่เฉียบแหลมในการปกครอง และพัฒนาประเทศให้ประชาชนมีความอยู่ที่ดี

          อรรถศาสตร์    เป็นตำราว่าด้วยการเมือง   การปกครอง   รวมทั้งหลักกฎหมาย นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์    การฑูต   อรรถคดี   พร้อมอยู่ในเล่มเดียวกัน ของชาวอารยันโบราณ คำนี้เป็นที่มาของคำว่าอรรถคดีในภาษาไทย ผู้แต่งและรวบรวมชื่อพราหมณ์ เกาฏิลยะ เป็นอัครเสนาธิบดี หรือ ปุโรหิตของพระเจ้าจันทร์คุปต์   นักเขียนเรียกพราหมณ์ผู้นี้ว่าวิษณุคุปต์ และจาณักยะ โยพาะชื่อจาณักยะ รัฐบาลอินเดียได้นำชื่อนี้ไปเป็นชื่อบริเวณที่อยู่และที่ทำงานของฑูตต่างประเทศว่า จาณักยบุรี  แปลว่า เมืองหรือบริเวณจาณักยะ โดยให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เช่าที่ปลูกสถานฑูตและที่พำนักของฑูตและครอบครัว จาณักยบุรี ในกรุงนิวเดลีเป็นบริเวณกว้างใหญ่กว่า   ๕๐๐ ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงนิวเดลี รัฐบาลอินเดียตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พราหมณ์ผู้แต่งหนังสือเรื่องนี้

          สำหรับปรัชญาการเมืองของจาณักยะนี้      ผู้จัดทำได้รวบรวมทั้งชีวประวัติ     ผลงานด้านรัฐปรัชญา   แนวคิดและปรัชญาทางการเมือง เช่น ลักษณะของผู้ปกครอง  การสืบราชสมบัติรัฐ  หน้าที่ของรัฐ     การบริหารรัฐ   ตลอดจนแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยหรือการเมืองโลกในปัจจุบัน ซึ่งคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจในสภาพการเมืองการปกครองของอินเดียในสมัยโบราณว่า      มีลักษณะการปกครองที่เด่นชัดเช่นไร       สังคมไทยจึงได้นำมาประยุกต์ใช้เป็น    “ราชนีติ ธรรมนีติ” สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงศึกษามาจนถึงปัจจุบัน

 

๒. ชีวประวัติโดยสังเขป

          จาณักยะ    หรือเกาฏิลยะ เกิดเมื่อ ๓๒๙ ปีก่อนคริสตศักราช (ประมาณพุทธศักราช ๑๑๗) ในตระกูลพราหมณ์มารดาชื่อ ชเนศวารี บิดาเสียชีวิตตั้งแต่จาณักยะยังเด็ก อยู่ทางชมพูทวีปข้างใต้ คล้ายจะเป็นพราหมณ์จากเผ่าทมิฬ     หรือมาลาลายัน     ปัจจุบันน่าจะตกอยู่รอบบริเวณแคว้นมัทราสโดนอนุมาน ได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์  มีคัมภีร์พระเวท เป็นต้น ประพฤติตนเป็นพรหมจารี เป็นอัครเสนาธิบดีของพระเจ้าจันทร์คุปต์    ปู่ของพระเจ้าอโศกมหาราช กล่าวกันว่า พราหมณ์ผู้นี้เป็นคู่คิดและมีบทบาทสำคัญในการสถาปนาราชวงศ์โมริยะ    หรือเมาระยะ ซึ่งพระเจ้าจันทร์คุปต์เป็นปฐมกษัตริย์ ปกครองอินเดียเมื่อราว พ.ศ. ๑๒๐   นักเขียนเรียกพราหมณ์ผู้นี้นี้ว่าวิษณุคุปต์ และจาณักยะ โยพาะชื่อจาณักยะ รัฐบาลอินเดียได้นำชื่อนี้ไปเป็นชื่อบริเวณที่อยู่และที่ทำงานของฑูตต่างประเทศว่า จาณักยบุรี  แปลว่า   เมืองหรือบริเวณจาณักยะ โดยให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เช่าที่ปลูกสถานฑูตและที่พำนักของฑูตและครอบครัว จาณักยบุรี   ในกรุงนิวเดลีเป็นบริเวณกว้างใหญ่กว่า ๕๐๐ ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงนิวเดลี รัฐบาลอินเดียตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พราหมณ์ผู้นี้

          นักประวัติศาสตร์บางท่านเขียนไว้ว่า     มหานันทิน       บิดาของจันทร์คุปต์เป็นผู้สืบเชื้อสายกษัตริย์ศากยะ คือ บิดาของจันทร์คุปต์เป็นเจ้าเมืองปิปผลิวัน    ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์  บางท่านว่าเป็นเจ้าชายลิจฉวีแห่งเมืองไพศาลี     ต่อมาได้เข้ารับราชการอยู่กับ     พระเจ้ามหาปัทมานันทะ   ต้นวงศ์ของกษัตริย์วงศ์นันทะ    ในกรุงปาตลีบุตรภายหลัง   มหานันทินเสียชีวิตแต่จัทร์คุปต์ผู้บุตรยังรับราชการเป็นทหารอยู่ในกรุงปาตลีบุตรต่อมา เมื่อเยาว์วัยจันทร์คุปต์ได้ไปศึกษาศิลปวิทยาที่เมืองตักกศิลาและได้พบพราหมณ์เกาฏิลยะผู้คงแก่เรียน   พราหมณ์ผูนี้เรียกหลายชื่อบางท่านเรียกว่า จาณักยะ บางแห่งเรียก วิษณุคุปต์ แต่เป็นคนๆเดียวที่แต่งหนังสือ เกาฏิลย  อรรถศาสตร์

          ตำนานเก่าเล่าต่อไปว่า   เมื่อนายทหารหนุ่มจันทร์คุปต์กับพราหมณ์อาจารย์ จาณักยะหนีออกจากกรุงปาตลีบุตร เพราะถูกหาว่าเป็นกบถ ได้หนีไปยังเมือง ตักกศิลา แคว้นคันธาระ ทางภาคตะวันตกของอินเดียประจวบกับเวลาที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชของกรีก ยาตราทัพทหารกรีกจำนวนกว่าแสนคนบุกเข้ามายังอินเดีย     โดยตีได้เมืองรายทางจากประเทศกรีกมาโดยลำดับ  คือ ได้ชัยชนะเหนือบ้านเมืองในอาเซียกลาง     อียิปต์    ตลอดถึงภาคตะวันตกของอินเดีย  ขณะที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ประทับอยู่ที่เมืองตักกศิลา      จันทร์คุปต์   นายทหารหนุ่มได้เข้าเฝ้า ทูลรับอาสาจะนำทัพทหารกรีกเข้าตีและจะนำทหารอินเดียช่วย   พระเจ้าอเล็กซานเดอร์รบกับกรุงปาตลีบุตร  แต่แผนการนี้ต้องล้มเพราะทหารของ  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เบื่อหน่ายสงครามอยากจะกลับบ้าน

          ภายหลังจันทร์คุปต์ ล้มราชวงศ์นันทะ     ได้สำเร็จด้วยความช่วยเหลือของพราหมณ์จาณักยะ หรือ เกาฏิลยะ นักประวัติศาสตร์ จึงได้ยกย่องจาณักยะว่าเป็นยอดพราหมณ์ผู้เฉลียวฉลาด จนท่านได้แต่งตำราการเมือง  การปกครองไว้เป็นหลักสำหรับพระราชาทุกพระองค์ และทุกวงศ์ในอินเดีย และประเทศใกล้เคียงใช้เป็นแบบการปกครองมากกว่าสองพันปี

 

๓.  ผลงานด้านรัฐปรัชญา

  หนังสือ    เกาฏิลย     อรรถศาสตร์ เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับการปกครอง

พร้อมทั้งแนวความคิดที่มีมาก่อนเกาฏิลยะ มีทั้งหมด ๑๕ เล่ม ประกอบด้วย ๑๕๐ ตอน

หนังสืออรรถศาสตร์ของเกาฏิลยะ ชุดนี้มีสามภาค

ภาคที่๑    เป็นภาษาสันตกฤตเขียนด้วยอักษรเทวนาครี อักษรหลักที่ใช้อยู่ในอินเดียภาคเหนือ

ภาคที่๒    เป็นคำแปลภาษาสันตกฤตเป็นภาษาอังกฤษ

ส่วนภาคที่ ๓   เป็นการศึกษาวิเคราะห์และวิจารณ์ของผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ

          เนื้อหาสังเขปของหนังสือมีดังนี้ บทที่หนึ่งจะกล่าวถึงคุณสมบัติของพระราชาและข้าราชการ การแต่งตั้งเสนาบดีและ  ที่ปรึกษา การทดสอบความสามารถและความสัตย์ซื่อของข้าราชการ     การกำกับดูแลการปฏิบัติราชการ     การใช้ประโยชน์ที่ดิน   หลักการปกครอง  การศาลและการพิพากษาอรรถคดี   การแต่งงาน   การแบ่งทรัพย์มรดก   กฎหมายทาสและกรรมการ การพนัน  การป้องปราบอาชญากรรม    นโยบายต่างประเทศ   การรบและการส่งคราม การสืบราชการลับ  การเก็บภาษีอากร กุสโลบายในการกำราบคนชั่วและพวกกบถ    และมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากมาย  สรุปว่า ผู้แต่งได้บรรจุงานของทุกกระทรวง   เท่าที่ประเทศไทยใช้อยู่ในเวลานี้ไว้ในหนังสือเล่มเดียวหนังสือเล่มนี้จึงทันสมัยอยู่เสมอ

 

๔. แนวคิดหรือปรัชญาทางการเมือง

          หัวข้อที่จะนำมากล่าวเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองที่น่าสนใจของเกาฏิลยะ นั้นได้แก่

๑)   ลักษณะของผู้ปกครอง และการสืบราชสมบัติ

๒)  รัฐ และหน้าที่ของรัฐ

๓)  การบริหารรัฐ

 

๑. ลักษณะของผู้ปกครอง และการสืบราชสมบัติ

          ๑.๑ ลักษณะของผู้ปกครอง

                   การปกครองของเกาฏิลยะ  เป็นแบบราชาธิปไตย   โดยมีพระกษัตริย์เป็นประมุข ตามลักษณะของการปกครองแบบนี้  ราชา  คือ รัฐ ประชาชนผู้เลือกกษัตริย์ของเขาเอง กษัตริย์ต้องเป็นผู้บริหารประเทศโดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐแนะนำพระองค์    อย่างไรก็ตามเกาฏิลยะยังเห็นว่าต้องมีผู้ทรงไว้ยศศักดิ์ผู้หนึ่ง   คือพราหมณ์ปุโรหิต  ผู้แนะแนวทาง เช่นเดียวกับ ครูสอนศิษย์ บิดาสอนบุตร หรือนายสอนคนใช้  “ ซึ่งไปด้วยความคิดเก่าของอินเดียว่าด้วย อำนาจราชวงศ์จะรุ่งเรืองได้ต้องมีอำนาจของพราหมณ์เข้ามาสนับสนุนด้วย     แต่ปุโรหิตก็ถูกแต่งตั้ง     และลงโทษด้วยกษัตริย์เช่นเดียวกัน” ฐานะของกษัตริย์ไม่ได้อยู่ในฐานะเทพเจ้าตามแบบลัทธิเทวราช เกาฏิลยะได้แนะนำให้พระเจ้าจันทร์คุปต์ทำตนให้เหมือนเป็นเจ้าผู้รับใช้ประชาชน     และให้สิทธิประชาชนในการถอดถอนกษัตริย์ออกได้ ในกรณีที่เจ้าตัวไม่เหมาะสม    ในมหาภารตะได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า  “ประชาชนมีอำนาจที่จะถอดถอนกษัตริย์หากกษัตริย์ทำผิด  การที่กษัตริย์กดขี่ประชาชนและการกระทำความผิดอื่น ๆ เพราะขาดความอบรมการเป็นกษัตริย์ที่ดี”    สำหรับเกาฏิลยะนั้นผู้ปกครองที่จะเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนจะต้องมีลักษณะดังนี้ คือ

 

                   “เป็นคนพื้นเมืองเดียวกัน เป็นผู้ดำเนินตามรอยคำสอนของศาสตร์การ

                   การปกครอง   ปราศจากโรคภัยและแข็งแรง   เกิดอยู่ในตระกูลขุนนาง

                   รวมถึงคุณสมบัติที่ดลใจให้ผู้อื่นเชื่อมั่นในตัวเขา    ผู้ใต้ปกครองพบหา

                   ได้สะดวก   เป็นคนมีศรัทธาแก่กล้า   มีความจริงใจ  มีคุณสมบัติดีด้าน

                   ปัญญาโดยสามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ดี   สามารถใช้ความคิด   มีความ

                   กล้าหาญตัดสินใจเร็ว หนักแน่น และอื่น ๆ “

          คุณสมบัติดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ จะต้องได้คนที่เคร่งครัดในวินัย  มีความรู้ ความสามารถ เป็นผู้สอน โดยในตอนเช้าเจ้าชายจะต้องเรียนยุทธศาสตร์ บ่ายเรียนอิติหาสะ    (ltihasa)ซึ่งประกอบด้วย ประวัติศาสตร์  ธรรมศาสตร์ ทัณฑนิติ  อรรถศาสตร์  และปรัชญา ซึ่งเกาฏิลยะเห็นว่าวิชาปรัชญานั้นมีความสำคัญสำหรับผู้ปกครอง    เพราะเป็นตัวขัดเกลาสติปัญญา     ทำให้นักปกครองแยกแยะได้ว่า อะไร อะไรผิด ทำให้มีขันติ อารมณ์ราบรื่น

          การสำเร็จในการศึกษาวินัย   หมายถึง  ต้องละตัณหา  โกรธ  โลภ  หลงได้  ผู้ที่ควบคุมตัณหา  ความโลภ   ความโกรธ    ความหลง  ความจองหอง  ความร่าเริงเกินขนาด  จึงสามารถเป็นกษัตริย์ได้ และในการทำงานกษัตริย์ควรแบ่งเวลากลางวันและกลางคืนออกเป็น   ๑๖ ส่วนเท่า ๆ กัน (ช่วงละ ๑ชั่วโมง โดยจะต้องปฏิบัติภารกิจตามช่วงเวลาดังต่อไปนี้

          กลางวัน         ช่วงที่ ๑  พิจารณาเรื่องการปกครองประเทศ เรื่องรายได้ เรื่องค่าใช้จ่ายของรัฐ

                             ช่วงที่๒  พิจารณาคำร้องของประชาชนโดยทั่ว ๆ ไป

                             ช่วงที่ ๓  พักผ่อน  เสวย  และการศึกษาต่อ

                             ช่วงที่ ๔  รับเงินภาษี  และนัดกับหัวหน้าที่ควบคุมงานต่าง ๆ

                   ช่วงที่ ๕  จะทรงออกไปรับเงินจากเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆและจะทรงปรึกษา

ความกับผู้มีอำนาจรับข่าวที่เป็นความลับจากสายลับแลกเปลี่ยน             จดหมาย

                             ช่วงที่ ๖   ปล่อยตัวให้สนุกสนานรื่นเริง

                             ช่วงที่ ๗  ไปดู  ม้า  รถม้า  ทหาร

                             ช่วงที่ ๘  วางแผนด้านทหารกับแม่ทัพ  ปละไปสวดมนต์เย็น

          กลางคืน        ช่วงที่ ๑  รับข่าวจากสายลับ

                             ช่วงที่ ๒  อาบน้ำ  เสวย  เรียนหนังสือ

                             ช่วงที่ ๓ –  เข้านอน  (ประมาณ    ชั่งโมง)

                             ช่วงที่ ๖  คิดทบทวนงานของตน  ระลึกถึงการงานของตน

                             ช่วงที่ ๗  คิดวิธีบริหารแล้วส่งสายลับออกไป

                             ช่วงที่ ๘  ให้ชีพราหมณ์มาสวดมนต์ให้พรให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ 

                                          และให้หมอตรวจสุขภาพไปโรงอาหารไปหาหมอทำนาย ดูดวง

                   เกาฏิลยะได้แยกประเภทกษัตริย์ออกเป็น    ประเภทคือ

๑.    ธรรมราชา (Dharma  Vijiayin)  หมายถึง  กษัตริย์ที่ดี

๒.   โลภะราชา(Lobha Vijiayin )  หมายถึง  กษัตริย์ที่มีแต่ความโลภ

๓.   อสูรราชา (Asura  Vijiayin)  หมายถึง  กษัตริย์ที่มีแต่ความเหี้ยมโหด

แย่งชิงทุกอย่างจากผู้แพ้  แม้แต่ภรรยา  และลูก

ผู้ปกครองที่ดีแม้ประเทศจะยากจน  และมีเรื่องที่ไม่ดีเกิดขึ้นก็สามารถสร้างความเจริญได้ แต่

ปกครองที่โลภและโหดร้าย  แม้บ้านเมืองจะมีความเจริญหรือประชาชนจงรักภักดี  ก็สามารถทำลายอาณาจักรลงได้    เพราะประชาชนจะโกรธกษัตริย์ที่โหดร้าย   และศัตรูของเขาก็จะถือโอกาสรวมตัวกันโจมตีด้วย

๑.๒ การสืบราชสมบัติ         

เพื่อให้ได้ผู้ปกครองที่มีคุณสมบัติครบถ้วนดังกล่าว    เกาฏิลยะได้เสนอความเห็นว่า  ในขณะที่พระราชินีตั้งครรภ์     ควรเอาข้าวของไปถวายพระอินทร์และพระพฤหัสบดี  และต้องเรียนรู้วิธีการว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรในแต่ละเดือน         และพอคลอดพระราชโอรสแล้วต้องทำพิธีให้บริสุทธิ์ต้องสอนให้เขาทำในสิ่งที่ถูกต้องกับกฎเกณฑ์      เกี่ยวกับเรื่องนี้   เกาฏิลยะกล่าวว่า “ไม่มีบาปใดที่จะยิ่งใหญ่เท่ากับการสอนให้เด็กเป็นคนชั่วร้าย     ในขณะที่เจ้าชายมีสติปัญญาบริสุทธิ์ควรถูกสอนให้รู้ว่า  อะไรเป็นประโยชน์  อะไรถูกต้อง  อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์”

          เกาฏิลยะเห็นว่า     บุตรชายมี    ประเภท  คือ  ฉลาดมาก  ปานกลาง  และโง่   ถ้าเราสอนแต่สิ่งดี ๆ แล้วเขาทำตามเรียกว่าฉลาดมาก    ถ้าสอนแต่สิ่งดี ๆ  แล้วไม่ค่อยปฏิบัติจัดเป็นประเภทที่สอง   และถ้าใครทำตัวให้อยู่ในอันตราย  ไม่ชอบของดีถือเป็นพวกที่ 

          ถ้ากษัตริย์มีพระราชโอรสพระองค์เดียวควรเลี้ยงและดูแลอย่างดี    ไม่ให้ไปยุ่งกับใครและให้เขาเป็นผู้รับมรดก     ถ้ามีพระราชโอรสไม่ดีควรให้โอรสมีนัดดาให้หนึ่งองค์หรือให้พระธิดามีนัดดาให้    ถ้ากษัตริย์ชราหรือมีโรค    ไม่สามารถมีผู้สืบราชสมบัติ  ควรจ้างพระญาติฝ่ายพระมารดา  หรือจ้างคนที่มีสายเลือดเดียวกันหรือประยูรญาติของตน   เพื่อนบ้านที่นิสัยดีมานอนกับมเหสีของตน

เกาฏิลยะ     ไม่ยอมให้เอาพระราชโอรสที่ไม่ดีแม้แต่คนเดียวมาเป็นกษัตริย์เป็นอันขาดเพราะอำนาจของกษัตริย์ถือเป็นทรัพย์สินของตระกูลด้วย       ถ้าโอรสไม่ดีก็ให้คนในตระกูลเดียวกันเป็นผู้สืบทอดดีกว่าเพราะราชาธิปไตยเป็นการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ     และเกาฏิลยะได้กล่าวเห็นชอบกับการเป็นผู้ปกครองที่รับช่วงต่อกันในตระกูลเดียวกัน

เกาฏิลยะ    ได้เสนอแนะว่า    อัครเสนาไม่ควรละโมภที่จะยึดเอาอาณาจักร  ในกรณีที่กษัตริย์ประชวรหรือสวรรคตอย่างกระทันหัน  อัครเสนาต้องทำทุกอย่างตามอำนาจที่มีเพื่อให้แน่ใจว่าต้องมีความปกครองต่อไปในราชวงศ์เดียวกัน     หากมีเจ้าชายแห่งราชวงศ์นั้นซึ่งได้ฝึกฝนดีแล้ว  พระองค์ควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์แทน  ในกรณีไม่มีเจ้าชายอัครเสนาควรแต่งตั้งเจ้าหญิงหรือมเหสีหม้ายของนักปกครองที่ตายไปขึ้นครองอำนาจแทน         ในกรณีที่เป็นเจ้าหญิงมีกฎวางไว้ว่าต้องให้กำเนิดพระราชโอรสและ พระราชโอรสควรได้รับการราชาภิเษกในเวลาอันควรเจ้าหญิงจะไม่ได้สืบราชสมบัติตามสิทธิอย่างเช่น     ราชินีหม้าย  แต่ต้องครองอำนาจเพียงแค่ราชบุตรที่ประสูติได้รับการราชาภิเษก     เมื่อพระราชโอรสประสูติเจ้าหญิงจะมีลูกอีกไม่ได้  และราชินีหม้ายจะอภิเษกไม่ได้เหตุผลเพราะเกรงว่าสวามีใหม่อาจยึดราชบังลังก์  และการปกครองจะตกอยู่ในมือตระกูลอื่น

ตามธรรมดาเชษฐาโอรส     ควรเป็นผู้ครองบังลังก์       อย่างไรก็ตามหากพระราชามีพระราชโอรสพระองค์เดียว  และพระราชโอรสองค์นั้นก่อให้เกิดความไม่พอใจและเป็นอันตรายต่อรัฐ   อาจถูกกักขังหรือคุมตัวไว้     หรือถูกเนรเทศไป     หากพบว่าไม่สมด้วยเหตุทั้งปวงราชบุตรอาจไม่ได้รับเลือกให้ครองบัลลังก์      และจะกำหนดให้โอรสของราชบุตรนั้นเป็นรัชทายาท      มีบทบรรยายของบรรดาครูอาจารย์เก่า ๆ หลายด้าน    ได้เสนอแนะวิธีแก้ไขแปลก ๆ  รวมทั้งการปลงพระชนม์เจ้าชายตั้งแต่  ยังทรงพระเยาว์  เพื่อเป็นการกำจัดเหตุตั้งแต่แรก

ภารทวาซะ    (Bharadvaja)    กล่าวว่า    เจ้าชายที่ดุร้าย    จะคอยจ้องแต่ตะครุบเหยื่อทำลายทรัพย์สินให้หมดลง  ดังนั้นควรจะจับเจ้าฟ้าชายไว้ในที่จำกัด

ปิสุนะ (Pisuna)  กล่าวว่า  การระวังเจ้าฟ้าชายเหมือนกับการกลัวสุนัขป่าจะมากินแกะดังนั้นจึงควรจะให้ไปอยู่ต่างประเทศ

ส่วน     เกานปทันตะ    (Kaunapadanta)     กล่าวว่าเจ้าฟ้าชายเลาไปอยู่ต่างประเทศ   จะรักประเทศนั้นเปรียบเหมือนลูกวัวได้กินนมวัว  ดังนั้นจึงควรส่งเจ้าฟ้าชายไปอยู่กับญาติฝ่ายพระมารดา

แต่เกาฏิลยะ     กล่าวว่า    “การกระทำทั้งหมดดังกล่าวเหมือนปล่อยให้ความตามเกิดแก่ชีวิตโดยไม่หาทางแก้   เหมือนไม้ท่อนหนึ่งที่ปล่อยไว้ให้ปลวกกิน”  ดังนั้นต้องทำพิธีตั้งแต่พระราชินีตั้งครรภ์และเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ดังกล่าว

ในขณะเดียวกันเกาฏิลยะยังได้พิจารณาถึงข้อที่เป็นไปได้ว่าเจ้าชายอาจ  ไม่เป็นที่โปรดปรานของราชาโดยไม่ใช่ความผิดของเจ้าชาย     ราชาอาจเข้าข้างพระราชโอรสองค์อื่น   และเรียกร้องสิทธิโดยถูกต้องตามกฎให้กับพระราชโอรสองค์อื่น  ในกรณีเช่นนี้  เจ้าชายควรเอาใจราชาโดยพยายามทำดีทุกวิธีทางเพื่อให้เป็นที่โปรดปรานเท่าที่จะทำได้  แต่ถ้าไม่สำเร็จควรขออนุญาตบิดาไปอยู่ป่า  หรืออาจพึ่งเจ้าชายที่เป็นเพื่อนบ้าน    และรวมกำลังเพื่อยึดอาณาเขตจากบิดา  หรือหาวิธีการให้คนใช้ฝ่ายมารดาช่วยเหลือในการโจมตีบิดาของพระองค์  หรือปลอมเป็นทาสี  นักแสดงในวัง  หมอดู  ตัวตลก  และให้สายลับปลอมตัวเป็นเหมือนตนเองคอยช่วย และหากมีโอกาสก็จะแสดงพระองค์ต่อหน้าพระบิดาของจนโดยมีอาวุธยาพิษ        นอกจากนี้มารดาของเจ้าชายหรือมารดาเลี้ยงช่วยพาเข้าวังเพื่อปรับความเข้าใจ     และเมื่อกลับมาเจ้าชายก็ทำตนดี   เช่น เคยซึ่งบิดาของพระองค์ต้องสัญญาว่าจะให้พระองค์ครองสมบัติ

ในบรรดาวิธีแนะให้ยึดราชบัลลังก์ของตำราอื่น มีวิธีหนึ่งคือ  เจ้าชายต้องปลอมตัวเข้าหาพระบิดาในห้องนอน      และลอบฆ่าเสียแต่เกาฏิลยะไม่แนะนำให้มีการฆ่าบิดามารดาบังเกิดเกล้า  เพราะนั้นหมายถึงการตกนรก  และทำให้ราษฎรเศร้าหมองที่ลูกฆ่าบิดาบังเกิดเกล้าของตนเอง

เห็นได้ว่าแนวความคิดของเกาฏิลยะ เกี่ยวกับสืบราชสมบัติของผู้ปกครองและคุณสมบัติของผู้ปกครองนี้    เป็นแนวคิที่ครอบคลุมทุกแง่ทุกมุมอย่างละเอียด  มีการวางแผนล่วงหน้าโดยตลอดตั้งแต่ขณะผู้มีสิทธิ์รับราชสมบัติอยู่ในครรภ์จนถึงการเลี้ยงดูตลอดระยะเวลาทั้งในและแง่จิตใจ       และการปฏิบัติตน       เพื่อให้ได้ผู้ปกครองที่สมบูรณ์ที่สุด รวมถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเจ้าชายในเรื่องของการครองราชสมบัติบางเรื่องด้วย    ซึ่งหากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วกล่าวไดว่าแนวความคิดทั้งหมดในเรื่องนี้นับเป็นประโยชน์มาก   ในการกรุยทางไปสู่ความเป็นผู้นำที่ดีไม่มากก็น้อย   เพราะตามหลักความจริงนั้นมนุษย์ทุกคนหาก     ได้รับการสั่งสอนและอบรมอย่างดีย่อมมีนิสัยที่กว่าธรรมชาตินิสัยของคนแต่ดังเดิมเสมอ       และหากมีผู้ปกครองที่ดีคงไม่ต้องสงสัยอีกต่อไปว่าการปกครองและในรัฐสมัยของเกาฏีลยะจะเป็นเช่นไร

 

 

 

 

๒. รัฐ  และหน้าที่ของรัฐ

          ๒.๑  รัฐ    รัฐของเกาฏีลยะจัดเป็นรัฐที่สมบูรณ์แบบ       โดยกุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการบริหารไว้ในมือของรัฐที่ส่วนกลางทั้งหมด     ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ระบุให้การส่งเสริมระเบียบวินัยทางสังคม  สังคมของรัฐเปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการทางจริยธรรมโดยใช้ทันฑะ    (danda)     ซึ่งชีดวงกำจัดการดำรงชีวิตอย่างเสรีและป่าเถื่อนของพวกพื้นเมือง   การลงโทษจะรับรองความปลอดภัยและการลงโทษต้องอาศัยวินัยเป็นตัวกำหนด

          ราชธกฤษณะ    เจาธรี  (Radhakrishna  Chooudhary)  ได้ตั้งข้อสังเกตว่า  “เกาฏิลยะนั้นเปรียบเสมือนหมอผู้รักษา    และเป็นนักปฏิรูปสังคมที่     ให้ความสนใจกับบุคลิกส่วนบุคคล  ความประพฤติ    ให้มีการกระทำที่ถูกต้องและเน้นอุปนิสัยหรือสภาวะทางจิตใจของประชาชน”    รัฐของเกาฏิลยะส่งเสริมศาสนาและเชื่อว่ามนุษย์อยู่ในสภาวะสับสน  เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  จึงต้องขยายตัวให้ดีขึ้นไม่เช่นนั้นอาจเสื่อมลงได้

          เมื่อประชาชนเป็นผู้เลือกกษัตริย์ของเขาเอง    กษัตริย์จึงคือผู้ออกกฎหมาย    และใช้กฎหมายบังคับภายในรัฐ     กฎหมายนั้นประกอบด้วยองค์    คือ  คุณธรรม  สัญญา  ประเพณี  และกฎหมายของผู้ปกครอง     สังคมจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์    ข้อบังคับ   เมื่อบุคคลเคารพเชื่อฟังกฎหมายก็จะเป็นสังคมที่ดีได้          เพราะอำนาจหน้าที่จะบังคับให้ประชาชนทำสิ่งที่ดีงามซึ่งรัฐจึงต้องเป็นผู้สร้างกฎเกณฑ์เพื่อที่จะใช้บังคับผู้กระทำความผิด

          รัฐกับสังคมนั้นต้องสัมพันธ์กันรัฐถูกสร้างขึ้นมา           เพราะความจำเป็นทางธรรมชาติจึงมีลักษณะแตกต่างกันออกไป    ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับสถานที่และเวลาที่ไม่เหมือนกัน  และสำหรับเกาฏิลยะทุกอย่างที่เกิดขึ้นควรมีเหตุผล  และรัฐควรที่จะมีการปกครองที่เป็นระบบเดียวกัน

          รัฐตามความเกาฏิลยะนั้นเป็นเพียงรัฐขนาดเล็ก   แต่มีวัตถุประสงค์ต้องการขยายอาณาเขตไปจนจรดชายแดนของประเทศอินเดียในระยะเวลาข้างหน้าเพื่อเตรียมการให้เป็นรัฐที่ใหญ่ขึ้น   โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนอพยพเข้าไปจัดการในที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า  และขยายดินแดนไปยังรัฐที่ใกล้เคียงตลอดเวลา  ซึ่งองค์ประกอบที่จะทำให้รัฐมีอำนาจขึ้นนั้นประกอบด้วย    กษัตริย์   คณะรัฐมนตรี  รัฐ  ชนบท  คลัง  ทหาร  มิตร  ที่มีความสำคัญ  ตามลำดับ

          เกาฏิลยะเห็นว่าประเทศที่ดีจะต้องมีเมืองที่เป็นใจกลางและมีเมือง    ซึ่งเป็นชายแดนโดยรอบ  ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีตลอดเวลาที่ภายนอกมีเหตุร้าย   ยามมีศัตรูต้องให้กินอยู่เสมอกันมีอำนาจในการโจมตีผู้อื่น  ไม่ควรมีทะเลทราย     ก้อนหิน  ไม่ควรมีสายลับที่คอยทำร้าย  มีสัตว์ป่า  ป่าดงดิบ รัฐที่สวยงามควรมีหญ้าให้วัวกิน   มีศิลป   มีทางลับ    มีช้าง   มีป่าสงวน  ไม่ควรอาศัยน้ำฝน  มีถนน  ทางน้ำ    มีของต่าง ๆ   ขาย   รัฐควรรับผิดชอบภาระของขุนศึกในด้านครอบครัวและเศรษฐกิจ  ควรเก็บภษีได้มาก  ควรมีเกษตรกร    มีคนใช้และนายที่ฉลาด  ประชาชนจงรักภักดี  มีนิสัยดี  มีขุนคลังที่ดี  มีเพชรพลอย  เหรียญทองมาก  มีเหตุร้ายเกิดขึ้นนานๆ ครั้งก็ยังสามารถอยู่ได้

          ที่สำคัญที่สุด     คือ   รัฐควรเป็นรัฐแห่งเศรษฐกิจ    (Economic State)   ซึ่งสนใจในการจัดการในรูปแบบและเศรษฐกิจของประชาชนโดยจำเป็นจะต้องมีลักษณะดังนี้

๑)   รัฐที่อยู่ตามชายแดนจะต้องสามารถที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรได้

๒)  ใช้เป็นที่ต่อสู้ศัตรูได้

๓)  เป็นแหล่งที่ผลิตสินค้าได้นานาชนิด

๔)  เป็นแหล่งที่มีเพื่อนบ้านที่มีระเบียบ

๕)  มีการติดต่อประสานงานกันทั้งภายในและภายนอกเป็นอย่างดี

๖)   อยู่ห่างไกลจากการรบกวนของสัตว์ร้ายและจากผู้คนต่างถิ่น

๗)  เป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่  ถ่านหิน  และป่าไม้มาก

๘)  เป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยประชากรที่มีความกระตือรือร้น และมีประสบการณ์ในการทำงานด้านอุตสาหกรรม

 

 

 

 

 

๒.๒ หน้าที่ของรัฐ    กล่าวได้ว่าหน้าที่ของรัฐตามทรรศนะของเกาฏีลยะ มีส่วนสำคัญในการ

ดำรงชีวิตของคนทั้งในด้านสังคม    เศรษฐกิจ    วัฒนธรรม    ศีลธรรม   และจิตใจ  ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชีวิตในทุกรูปแบบ     เกาฏีลยะได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐไว้เป็นหลักเกณฑ์  ดังต่อไปนี้

๑)       รัฐต้องเป็นผู้ให้ความคุ้มครองปกป้องสังคม       ด้วยการให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่   เหมาะสม

๒)    รัฐต้องเป็นผู้รักษากฎหมายอาญา,และเเพ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องภาษีอากร และการใช้ที่ดิน

๓)    รัฐต้องเป็นผู้รักษาความสงบในสังคม   รัฐต้องถือว่าการสนใจในเรื่องธรรมะ  เป็นความสำคัญขั้นพื้นฐาน

๔)    รัฐต้องเป็นผู้ให้บริการทางสังคม    โดยถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐ  และผลประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นความสนใจหลักของเกาฏิลยะ

การให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่เหมาะสม  ในแง่ของการให้ความคุ้มครองปกป้องสังคมนั้น

ต้องอาศัยเศรษฐกิจ    เรื่องนี้เกาฏิลยะจะเน้นให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทุกอย่างให้เกิดประโยชน์แก่รัฐและประชาชนโดยตรง  ความมั่งคั่งจะใช้เพื่อให้ประชาชนมีความสุข และความพอใจ ดังนั้นรัฐจึงเข้าบริหารเศรษฐกิจด้วยการควบคุมทรัพยากรและผลผลิตทั้งที่เป็นกิจการของรัฐเอง        และกิจการส่วนบุคคลอีกหลาย ๆ  ด้าน   เป็นผู้กำหนดราคาสินค้า   และผลกำไร    เป็นผู้จ้างแรงงานรายใหญ่ส่งเสริมกสิกรรม  ค้าขาย  และอุตสาหกรรม

          ส่วนนโยบายในเรื่องแรงงานก็ได้กำหนด   ไว้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยโดยมีการกำหนดและควบคุมไว้แน่นอน      ผู้ที่กดขี่ค้าแรง      ทำให้รัฐเสียรายได้      หรือขัดขวางการซื้อขายของรัฐจะถูกพิจารณาลงโทษ

          การรักษากฎหมาย     รัฐในทรรศนะของเกาฏิลยะมีการรักษากฎหมายโดยใช้อำนาจศาล   ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑)   ธรรมสติยะ(dhamastiya)  เป็นศาลธรรมดา  มีพราหมณ์เป็นผู้แนะนำ ทำหน้าที่เกี่ยวกับ

กฎหมายและภาษีอากรต่าง ๆ การแต่งงาน  และอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องทางแพ่ง

๒)  กันตกะ  โศธัมมะ   (kantaka sodhamma)     เป็นศาลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการบริหารรัฐ

 ทำลายความชั่วร้าย    ของสังคม    มีสายลับ  มีการทรมานคนให้รับว่า ทำผิดเพื่อขจัดความสับสนในสังคม เป็นเรื่องของกฎหมายอาญาทั้งหมด เช่น  คอร์ปชั่นขโมย

          การรักษาความสงบในรัฐนอกจากจะใช้กฎหมายแล้ว   เกาฏิลยะยังให้ความสนใจทางด้านศีลธรรมและจริยธรรม       โดยจัดกิจกรรมบางอย่างของรัฐที่มุ่งผลให้มีการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม    ซึ่งเป็นการช่วยให้ประชาชน    ได้พัฒนาบุคลิภาพอย่างสมบูรณ์แบบ  นับได้ว่าได้สร้างความสมดุลย์ทั้งด้าน    ธรรมะ   และอธิกร     (Adhikara)    โดยกษัตริย์จะพยายามบริหารงานให้ประชาชนเป็นสุขและมีความพอใจ

          วัตถุ    จิตใจ  และศีลธรรมของประชาชนจะเป็นกิจกรรมหลักของรัฐ  จุดมุ่งหมายสำคัญของรัฐ     คือ   ต้องการให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน        และมุ่งหน้าที่จะยกระดับทางสังคมและจริยธรรม     รัฐเปรียบเสมือนศูนย์กลางของสังคมที่จะผสมผสานความสนใจในด้านรูปแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

          การให้สวัสดิการทางด้านสังคม   ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของรัฐอีกอย่างหนึ่งในสมัยนี้   มีการสนใจในการรักษาความสะอาดในเมืองที่วางไว้   นอกจากนี้หาก เกิดสภาวะน้ำท่วมหรือมีโรคระบาดรัฐจะเข้าช่วยเหลือ  โดยการแจกข้าวหรือของใช้ที่จำเป็น     มีการจ้าง      แรงงานเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ด้วย

          กิจกรรมของรัฐที่ถือเป็นหน้าที่และ เป็นผลประโยชน์แก่รัฐที่กล่าวไว้ในอรรถศาสตร์ของเกาฏิลยะนั้นได้แก่

๑)   การรักษาความสงบภายใน  และการป้องกันประเทศจากภยันอันตรายภายนอก

๒)  การแบ่งรัฐออกเป็นส่วนต่าง ๆ

๓)  การดำเนินการทางการฑูต  และการบริการสาธารณประโยชน์

๔)  การทำนุบำรุงศาสนา

๕)  ปกป้องสังคม  จากศัตรูทางธรรมชาติ  และศัตรูอื่นๆ

จึงกล่าวได้ว่าเกาฏิลยะ  เป็นรัฐบุรุษที่มีความสามารถ  มองสภาพการณ์ตามความเป็นจริงและ

ให้แนวทางการปกครองประเทศ         ในลักษณะที่จะให้ผลประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริงโดยกระตุ้นให้เกิดธรรมะ   (Dharma)   ด้วยการก่อให้เกิดความสงบในใจ  ทำให้เกิดอรรถะ(artha) ด้วยการกระตุ้นให้มีการค้าขาย  อุตสาหกรรม  กสิกรรม  และส่งเสริมกามะ(Kama)  ด้วยการสร้างความสงบให้เกิดแก่รัฐทำให้รัฐมีระเบียบและการส่งเสริมให้มีการทำงานด้านศิลปะ       สร้างโรงพยาบาล  สถานพักฟื้น  และสถานที่เพื่อการกุศลต่าง ๆ รวมทั้งให้การศึกษา    และช่วยทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสามี  ภรรยา  บิดาและบุตร  พี่ชาย  น้องสาว  โดยถือว่าสิ่งดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองดูแล      รัฐของเกาฏิลยะจึงมีส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตของคนทั้งด้านสังคม       เศรษฐกิจ  วัฒนธรรม    ศีลธรรม  และจิตใจ    ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาชีวิตทุกรูปแบบ  แม้จะเป็นรัฐสังคมนิยมอยู่บ้างแต่ยังปล่อยให้ประชาชนมีเสรีภาพส่วนบุคคลได้อย่างเต็มที่

 

๓.  การบริหารรัฐ

          ๓.๑  การบริหารทั่วไป

          การปกครองในรัฐในสมัยเกาฏิลยะจะเป็นแบบกระจายอำนาจจากเบื้องบนมาสู่เบื้องล่าง โดยกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของขอบเขตการบริหารที่กว้างใหญ่ซึ่งการบริหารงานของประเทศ  หรือรัฐนั้นแบ่งออกเป็น

๑)   ศูนย์รวมของฝ่ายบริหาร    มีบุคคลที่สำคัญดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา     และสั่งสอนกษัตริย์

คือ    พราหมณ์ปุโรหิต  เกาฏิลยะเห็นว่าตระกูลกษัตริย์ที่ให้พราหมณ์ดูแลเหมือนลูกศิษย์ตามครู  ลูกตามพ่อนั้นมีแต่ความเจริญ     และมีชัยชนะได้โดยไม่ต้องอาศัยกำลัง      เพราะพราหมณ์  คือบุคคลที่ครอบครัวพูดถึงแต่เรื่องหรือเรียนพระเวท  เชี่ยวชาญในสูตรต่าง ๆ  เป็นคนที่รู้ในเหตุที่เกิดจากกรรมและคนได้ ซึ่งถือคนที่มีความรู้ดีในเรื่องการปกครองนั่นเอง  ซึ่งในบรรดาผู้มียศศักดิ์ที่เป็นศูนย์ที่เป็นศูนย์รวมของฝ่ายบริหารนี้ประกอบด้วย  พราหมณ์ปุโรหิต  มนตรี  เสนาบดี  และยุวราชะ

๒)  คณะที่ปรึกษา   คือ    บุคคลที่ทำงานให้รัฐบาลทุกประเภท    บุคคลประเภทนี้ต้องมีความ

ฉลาดเป็นเลิศ  กษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งและไล่ออกได้ตามประสงค์  โดยมีรัฐมนตรี   เป็นหัวหน้าคณะ

๓)  ข้าราชการประจำ  และรัฐบาลกลาง  หมายถึง   หน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานของส่วนกลาง

ซึ่งประกอบด้วย  หน่วยงานสำคัญ ๆ คือ   แผนกภาษีรายได้  แผนกรับเงินรายได้ของรัฐ  แผนกตรวจสอบบัญชี    แผนกพระคลังมหาสมบัติ    แผนกกระษาปณ์  แผนกที่ดิน  แผนกการพาณิชย์  ซึ่งแต่ละจะสังกัดอยู่ที่ส่วนกลางทั้งหมด     ทำหน้าที่      ควบคุมงานด้านที่ตนรับผิดชอบทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

๔)  รัฐบาลระดับจังหวัด  และรัฐบาลระดับท้องถิ่น  หมายถึง  ผู้บริหารที่ไปจากส่วนกลางทำ

หน้าที่ต่าง ๆ    เช่นเดียวกับหน่วยงานของส่วนกลางทั้งสิ้น  โดยขึ้นตรงกับส่วนกลางซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจ

          ๓.๒  การทหาร

          นโยบายการบริหารรัฐที่เกี่ยวกับทหารและกองทัพนี้     เกาฏิลยะได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการใช้กลอุบาย     และยุทธวิธีทุกรูปแบบ    นอกจากกลอุบาย  และยุทธวิธีแล้ว  ยังได้กล่าวถึงการใช้วิธีการทางไสยศาสตร์เข้าช่วยเพื่อให้ชัยชนะด้วย

          ทหารเป็นกองกำลังของกองทัพ    จึงต้องรู้จักวิธีการเลือกใช้    ทหารที่เกาฏิลยะกล่าวว่าที่ดีที่สุดสำหรับการรบ  คือทหารที่สืบทอดกันมาตามตระกูล  (Hereditary  army)   เพราะจะเป็นพวกที่ทนได้ทุกอย่าง  ในเวลาที่ต้องการเสริมสร้างความแข็งแรงของกองทัพให้มากขึ้นต้องใช้ทหารชนิดนี้รบ

          ทหารรับจ้าง   (Hire  army)    นั้นไว้ใจไม่ได้เพราะไปฟังเรื่องของศัตรูแล้วเชื่อตาม   แต่ก็มีกรณีที่ต้องใช้ทหารจ้าง  คือ  กรณีที่กำลังของศัตรูมีน้อย  ทหารสืบทอดกันมาตามตระกูลของศัตรูในครั้งนั้นน้อยและอ่อนแอไม่มีชื่อเสียง สถานที่ทำสงครามใช้เวลาเดินทางไปถึงสั้น    เสียงเวลาในการทำศึกน้อย

          ทหารที่จัดตั้งเป็นสมาคมจากประชาชนหลายอาชีพ (Cooperation of soldier)  ควรจ้างไว้ในขณะที่กษัตริย์ไม่อยู่ในประเทศ  และมีศัตรูคอยโจมตีแบบลอบกัด  เพราะทหารประเภทนี้ใช้ได้ดีในการป้องกันประเทศในระยะเวลาอันสั้น

          ทหารของเพื่อนบ้าน (Friend’s army)   กษัตริย์จำเป็นต้องใช้ทหารของเพื่อนในกรณียกทัพไปตีประเทศอื่นที่มีกำลังมากกว่าตน       และคิดว่าทหารของเพื่อนที่มีอยู่นั้นมากกว่ากำลังทหารของศัตรู

          ๓.๓  เศรษฐกิจของรัฐ

          แนวความคิดทางด้านเศรษฐกิจ  ของเกาฏิลยะ      มีจุดมุ่งหมายที่จะนำความเจริญ     ทางด้านเศรษฐกิจมาสู่ประเทศ     โดยเน้นให้เห็นว่าการให้ความเจริญทางด้านวัตถุหรือก่อให้เกิดความมั่นคงอย่างทั่วถึงภายในประเทศหรือภายในรัฐจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการน้อมนำด้านอื่น ๆ

          ซึ่งจะเห็นได้ว่า     เกาฏิลยะได้กำหนดให้รัฐเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งหมดของประชาชน และของประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ของรัฐในเรื่องอาชีพหลักประชาชน    คือ     การกสิกรรม  การค้า  และอุตสาหกรรม

ก.     การกสิกรรม    เป็นอาชีพที่สำคัญที่สุดในบรรดาอาชีพหลักทั้งหลาย     กิจกรรมที่สำคัญ

ของรัฐที่อรรถศาสตร์กล่าวถึง     คือ    การตั้งหลักแหล่งบนแผ่นดินที่ว่างเปล่า    ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงจากแผ่นดินทุ่งกว้างมาเป็นทุ่งกสิกรรม    “แต่หมายถึง    อาณานิคมใหม่โดยต้องถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดระบบและขยายวงการเกษตรด้วยการล่าอาณานิคม         ส่งเสริมคนที่ทำกินในดินแดนใหม่ ๆ” ซึ่งกระทำในลักษณะเริ่มต้นแบบหมู่บ้าน    ซึ่งประกอบด้วย ๑๐๐  ถึง ๕๐๐  ครอบครัว  โดยชาวนาจะไม่ใช่เจ้าของที่ดินเต็มที่  แต่เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ให้ทำกินหากละเลยการเพาะปลุกจะถูกยึดที่และโอนไปให้ผู้อื่นหรือ   รัฐเองอาจทำการเพาะปลูกโดยใช้ผู้รับใช้รัฐ      และพวกพ่อค้าเข้าทำงาน  สำหรับคนที่ไม่มีญาติรับมรดกที่ดินรัฐก็จะยึดไป  รัฐจะช่วยผู้ที่ตั้งหลักแหล่งในที่ดินโดยจัดหาเมล็ดพืชวัวควายแม้แต่เงินให้เพื่อการเรียกที่ดินคืนเป็นของรัฐได้   สิ่งต่าง ๆ ที่รัฐจัดนี้ถือเป็นเงินกู้ซึ่งผู้เช่าจะใช้คืนให้เมื่อพร้อมและรัฐจะยกเว้นภาษีให้ในระยะตั้งหลักแหล่งครั้งแรก         เกาฏิลยะถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่จะต้องดูแลราษฎรเหมือนพ่อดูแลลูก

ข.    การค้า   “รัฐเป็นผู้ดำเนินการค้ารายใหญ่ที่สุดและเป็นผู้ควบคุมระเบียบวิธีการค้าทั้งหมด

โดยอยู่ใต้การควบคุมของผู้ควบคุม   (panyahyaksa)   ซึ่งเป็นผู้กำหนดราคา”   เพราะเป็นผู้คำนวณราคาทุน  ค่าดอกเบี้ย  ภาษี  ค่าเช่าและอื่น ๆ ซึ่งรัฐกำหนดให้มีกำไร ๕ เปอร์เซนต์จากสินค้าพื้นเมือง และ ๑๐ เปอร์เซนต์จากสินค้าต่างประเทศ    หากใครเอากำไรเกินกว่านี้จะถูกปรับ  โดยสินค้าจะต้องซื้อขายโดยผ่านตัวแทนของรัฐในราคาที่รัฐกำหนด

ค.      ด้านอุตสาหกรรม      มีการทำเหมืองแร่     การผลิตสิ่งทอและรถศึก    เกาฏิลยะกล่าวว่า

 “ทรัพย์สมบัติมีค่าขึ้นอยู่กับเหมืองแร่  และกองทัพอยู่ได้เพราะมีทรัพย์สมบัติล้ำค่าในรัฐค้ำจุน  และการครอบครองโลกมนุษย์ได้    ต้องใช้ทรัพย์สมบัติและกองทัพเข้าช่วย”    การสร้างเหมืองใหม่และปรับปรุงเหมืองเก่าจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญของรัฐ ซึ่งรัฐไม่ได้ทำเองทั้งหมด มีการให้เช่าและหุ้นกับเอกชน  สำหรับการผลิตสิ่งทอ รัฐเป็นผู้จัดหาเส้นด้ายที่ปั่นมาจากขนสัตว์  ฝ้าย  ป่านลินิน  ที่ทำโดยสติ     โดยกำหนดค่าแรงให้ตามคุณภาพของด้ายและมีโรงงานเพื่อการทอผ้าต่าง ๆ  และในบางครั้งก็ต้องมีการผลิตรถศึก  ซึ่งประโยชน์โดยตรงต่อกองทัพ

๕.  แนวคิดที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยหรือการเมืองโลกในปัจจุบัน

          จาณักยะ   เป็นพราหมณ์ชาวตักกศิลา  มนตรีของพระเจ้าจันทร์คุปต์  แห่งราชวงศ์เมารยะ นับเป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของอินเดีย     และได้รับยกย่องว่าเป็นบรมครูทางด้านวิชาการปกครอง

          ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า      ผลงานทางด้านการปกครองของท่านได้รวบรวมไว้ในหนังสือ  เกาฏิลยะ     อรรถศาสตร์   ซึ่งนับได้ว่าเป็นตำราทางด้านการปกครองของอินเดียโบราณที่สำคัญมาก  โดยในระยะหลังได้มีการจัดแบ่งหมวดหมู่อีก  เช่น  ราชนิติ  ธรรมนิติ  และโลกนีติ  เป็นต้น

          ราชนีติและธรรมนีติ    เป็นวรรณกรรม    คำสอนของอินเดียที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานและได้แพร่เข้าไปในประเทศต่าง  ๆ ที่ได้รับอิทธิพลหรือสนใจในปรัชญาและวัฒนธรรมอินเดีย  ทั้งในยุโรป  และเอเซีย  รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ราชนีติของจาณักยะมีชื่อเต็มตามที่ปรากฎในโศลกที่หนึ่งว่า       ราชนีติสมุจจยะ        แปลว่า  ประมวลแนวทางที่พระราชาควรปฏิบัติ  แนวทางดังกล่าวมิได้มีแต่เฉพาะทางการเมือง  การปกครองเท่านั้น  หากยังประกอบด้วบภาษิตด้านอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคล แนวทางปฏิบัติในภาวการณ์ต่าง ๆ  เช่น  ยามร่ำรวย  ยามยากจน  ยามประสบภัยพิบัติ  ตลอดจนเรื่องในชีวิตประจำวัน  เช่น  การนั่ง  การนอน  การกิน  การดื่ม  นอกจากนี้   แม้จะได้ชื่อว่า  ราชนีติแต่คำสอนในคัมภีร์ก็มิได้มุ่งสอนเฉพาะพระราชา  หรือผู้ปกครองบ้านเมืองเท่านั้น    หากยังมีคำสอนที่คนทั่วไปควรประพฤติปฏิบัติรวมอยู่ด้วย

          เห็นว่า    ราชนีติ  ซึ่งชาวไทยรู้จักกันมาแต่โบราณนั้น ก็น่าจะเป็นธรรมที่พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงได้ศึกษา  และนำมาใช้ในการปกครองด้วยเช่นกัน

          ส่วนธรรมนีตินั้น เป็นวรรณกรรมประเภทนีติภาษาบาลีที่ยาวที่สุด  ไม่ปรากฎผู้แต่งสุภาษิตที่รวมอยู่คัมภีร์นี้มีที่มาจากคัมภีร์ต่าง ๆ ทั้งภาษาบาลี    เช่น ธรรมบท  ชาดก  และภาษาสันสกฤต  เช่น  หิโตปเทศ  ปัญจตันตระ  มานวธรรมศาสตร์     ตลอดจนที่ไม่ทราบที่มาด้วยเนื้อหาในคำสอนจึงมีทั้งคติพระพุทธศาสนา  คติพราหมณ์และฮินดู  และคติความเชื่อของชาวอินเดียโบราณ

 ๖.  สรุป

๑.    ผู้ปกครองไม่ว่าจะอยู่ในสมัยใด  มีความเฉลียวฉลาด  รอบรู้       และศีลธรรมมากน้อยแค่

ไหน    บางครั้งก็ต้องมีความเด็ดขาดร่วมอยู่ด้วยจึงสามารถปกครองประเทศ และทำให้ประเทศดำรงอยู่ได้โดยปลอดภัย  แสดงว่า  ความเฉียบขาดใช้ยืนยันลักษณะความเป็นผู้นำโดยตลอด

๒.   ยุทธวิธีอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการปกครองในทุกยุคทุกสมัย      จำเป็นต้องใช้เล่ห์     กล

อุบายบางอย่างที่นอกเหนือจากยุทธวิธี      ดังนั้นการเมืองการปกครองเป็นเรื่องที่นอกเหนือศีลธรรมตลอดมา  ประเด็นนี้จึงเป็นความจริงที่คนทุกสมัยไม่ปฏิเสธ

๓.   เศรษฐกิจกับการเมืองการปกครองเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้     ตราบใดที่

ยังมีโลกและมนุษยชาติ     ทั้งนี้เพราะถ้าประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี  นักปกครองจะปกครองประชาชนได้ง่าย  ประชาชนก็ไม่ต่อต้านเขา  แต่ถ้ายามใดประชาชนอดอยาก  การต่อต้านผู้ปกครองต้องเกิดขึ้น    จนกระทั่งไม่อาจจะปกครองต่อไปได้    และผู้ปกครองที่จะเกิดขึ้นใหม่   ก็คือผู้ที่แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ  สามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้

       

ปรัชญาการเมืองของมหาตมะ  คานธี

บทนำ

          ท่านมหาตมะ  คานธี    เป็นนักปฎิรูปสังคม    นักกฎหมาย    นักต่อสู้ทางการเมืองเพื่อกอบกู้

อิสรภาพ  นักฏิบัติธรรม  ท่านเป็นมหาบุรุษผู้เกิดมาเพื่อทำการต่อสู้กับความอยุติธรรม  และการกดขี่

ข่มเหง  ท่านได้ถูกจารึกนามไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองในฐานที่ท่านได้ใช้วิธีอหิงสา

เอาชนะผู้ที่มีพลังเหนือกว่า  นับว่าท่านเป็นมหาบุรุษผู้เป็นบิดาของคนอินเดียโดยแท้จริงไม่ว่าจะเป็น

คนเชื้อชาติหรือศาสนาใดก็ตามล้วนแต่มีความรักในทานทั้งสิ้น      ถึงแม้ว่าท่านจะจากโลกนี้ไปแล้ว

แต่คุณงามความดีของท่านยังอยู่ในจิตใจของคนชาวอินเดียอย่างไม่มีวันลืมเลือนเพราะท่านได้แสวง

หาสันติภาพให้กับชาวอินเดียจวบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

          คำว่า   มหาตมะ  คานธี  มีคนรู้จักโดยมากแต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่มากนักที่รู้จักอัตชีวประวัติ

ของท่าน ตลอดจนถึงการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย จาการกุมอำนาจอังกฤษเชื่อถือว่าเป็นจักรวรรดิ์

นิยมนักล่าเมืองขึ้นที่ได้สมญานามว่า “ จักรวรรดิ์ที่ดวงสุริยาไม่เคยรับขอบฟ้า” ซึ่งมันแสดงให้เห็น

ถึงความมากมายมหาศาลของแผ่นดินที่ถูกผนวกเข้ากับเครือจักรภพอังกฤษ

          นับได้ว่าท่านมหาตมะ คานธี  เป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นอย่างยิ่งเพราะ

ท่านเป็นบุคคลที่อุทิศชีวิตของท่านทั้งหมด    ในการต่อสู้กับอธรรมและสร้างสรรค์ความยุติธรรมให้

เกิดขึ้นในสังคมมนุษยโดยเฉพาะการต่อสู้ทางการเมืองนั้นท่านได้ใช้หลักการต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์

เพื่อเอาชนะความไม่ถูกต้องและความไม่เป็นธรรมของบรรดาระเบียบวินัยข้อบังคับและกฎหมายปก

ครองเป็นชาวอังกฤษโดยการไม่ให้ความร่วมมือกับผู้บังคับบัญชาและท่านก็ได้ใช้หลักสัตยาเคราะห์

นี้เองเข้าแก้ไขปัญหาทางการเมือง  ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ จนถึงเรื่องใหญ่คือการกอบกู้เอกราชของชาติจน

เป็นผลสำเร็จในที่สุด “การต่อสู้และแนวความคิดของท่านเป็นบทหนึ่งในการแสวงหาอิสระเสรีภาพ

ของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงการต่อสู้   เพื่อแสวงหาเอกราชของประชาชนเท่านั้น  ท่านเป็นที่เคารพดังนักบุญผู้หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นทนายความผู้ปฏิเสธตำแห่งทางการเมืองลาภยศสรรเสริญทั้ง

หลายและเป็นนักสู้เพื่อเอกราชแต่ท่านได้แสดงให้ใคร ๆได้เห็นวิธีการต่อสู้เพื่อความเป็นมนุษย์ท่าน

ไม่ได้เขียนทฤษฎีอระไรหรือเขียนตำรับตำราหรือความเรียงหนา ๆ แต่อย่าใด แต่หลักการเมืองควบคู่อยู่กับหลักศีลธรรมของท่านนั้นมีอิทธิผลต่อคนนอินเดีย     ทั้งในระยะเวลาดำรงชีวิตของท่านและตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้สร้างชื่อเสีงไปทั่วโลก ดังนั้นการศึกษาระบบปรัชญาการเมืองของท่านจึง

เป็นการศึกษาที่มีคุณค่า มีประโยชน์อย่างมากแก่ท่านที่มีความสนใจในระบบปรัชญาการเมืองต่าง ๆ

ได้เป็นอย่างดี

 

ประวัติโดยย่อ

          โมหันคัส  กรรมจันทร์  คานธี    ถือกำเนิดในครอบครัวฮินดู  สังกัดวรรณไวศยะ   ในจังหวัด

สุมาทาปุรี  หรือปัจจุบันเรียกว่าโปรพันทาร  เมื่อวันที่    ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๔๑๒  บิดาดำรงตำแหน่ง

ข้าราชการแห่งสำนักนายกรัฐมนตรีกึ่งอิสระ   ในราชอาณาจักรอินเดีย  แม่ของเขาเป็นแม่บ้านผู้เคร่ง ครัดศาสนา    เมื่ออายุ  ๑๔  ปี  เขาแต่งงานกับ  กัสตูรไบ   เด็กหญิงวัยเดียวกันตามประเพณีฮินดู  เมื่อ

อายุ  ๑๙ ปี  เขาจากลูกชายและภรรยาเดินทางไปศึกษากฎหมายในวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน

ปี พ.ศ. ๒๔๓๔  หลังจากได้ใบประกาศนียบัตรรับรองวิชาชีพทนายความเขาจึงเดินทางกลับสู่อินเดีย

และพยายามทำงานด้านกฎหมายในบอมเบย์  แต่ประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีก ๒ ปีต่อมาเขาได้รับข้อเสนอจากบริษัทอินเดีย      ซึ่งว่าจ้างเขาในฐานะที่ปรึกษาด้านกฎหมายในสำนักงานที่

เดอร์บัน  ประเทศอัฟริกาใต้  ที่นี่  คานธีพบว่าเขาถูกปฏิบัติเยี่ยงพลเมืองชั้นสองของประเทศ

          เขาอยู่ในอัฟริกาใต้ ได้รับความทุกข์ทรมาน จากการถูกจับกุมหลายครั้ง ปี  พ.ศ. ๒๔๓๙ หลัง

จากถูกทำร้ายและเฆี่ยนตีโดยชาวผิวขาว  คานธีเริ่มเผยแผ่นโยบายการขัดขื่นไม่เชื่อฟังและการไม่ให้

ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ช่วงสงครามโลกครั้งที่     เขารณรงค์การเกฑณ์ทหารใหม่  โดยใช้หลักสัตยาเคราะห์เคลื่อนไหวและต่อต้านแบบอหิงสาต่ออังกฤษ  ในปี  พ.ศ. ๒๔๖๒    รัฐสภาอนุมัติพระราชบัญญัติโรแลตต์

          โดยเจ้าหน้าที่อาณานิคมอินเดียมีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการกับการเคลื่อนไหวปฏิวัติทุกรูปแบบส่งผลให้สัตยานุเคราะห์แพร่หลายทั่วอินเดีย  ในเวลาต่อมาเขาเริ่มต่อต้านระบบชั้นวรรณะ ในปี

พ.ศ.๒๔๗๕ เขาปิดฉากชีวิตทางการเมืองอย่างเป็นทางการโดยผู้นำที่มาแทนที่เขาในพรรคคองเกรส

คือ  ยวาหระลาล  เนห์รู

          ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒  คานธีหวนคืนสู่ชีวิตทางการเมืองเนื่องจากค้างเรื่องการจัดตั้งสมาพันธรัฐของนครรัฐต่าง ๆ ที่เหลือของอินเดียปฏิกิริยาแรกของเขาก็คือการอดอาหาร  พื่อบีบบังคับผู้ปกครองรัฐราชปุตให้บั่นทอนการปกครองระบบเผด็จการ   เมื่อคานธีอดอาหาร   มวลชนเริ่มลุกขึ้นมาเคลื่อน

ไหวก่อความไม่สงบซึ่งการอดอาหารของเขาเป็นการกระทำมีคุณค่ามากเมื่อรัฐบาลทั้งของจักรวรรดิ์

และผู้ปกครองท้องถิ่นยอมตกลงตามข้อเรียกร้องในระดับหนึ่ง

          ในปี  พ.ศ. ๒๔๘๗ การดิ้นร้นต่อสู้เพื่อเอกราชอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย  รัฐบาลอังกฤษเห็นด้วย

กับเอกราชซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกประเทศออกเป็น ๒  กลุ่ม  คือ  สหพันธ์มุสลิม

และพรรคคองเกรส     คานธีต่อต้านการแบ่งแยกอินเดีย     แต่ในที่สุดเขาก็ต้องยอมรับมันอย่างจำใจ ด้วยหวังว่า ความสงบสุขภายในจะเกิดขึ้นหลังจากข้อเรียกร้องการแบ่งแยกของมุสลิมเป็นที่พึงพอใจ

อินเดียและปากีสถานถูกแบ่งแยกออกเป็น    รัฐ  เมื่ออังกฤษยอมตกลงมอบเอกราชให้อินเดียในปี

พ.ศ.  ๒๔๙๐

          เกิดการจลาจลรุนแรงภายหลังการแบ่งแยก  ท่านได้วิงวอนให้ชาวฮินดูและชาวมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ    การจลาจลเกิดขึ้นที่กัลกัตตา    เมืองที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย    ซึ่งท่านได้อดอาหารจน

สามารถยุติเหตุการณ์นองเลือดลงได้ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านอดอาหารอีกครั้งที่นิวเดลี

เพื่อนำความสงบสุขมาสู่ประเทศ  ๓๐  มกราคมหรือ ๑๒  วันหลังจากการอดอาหารครั้งนั้นสิ้นสุดลง

ขณะเดินทางไปประชุมสวดมนต์ตอนเย็นท่านถูกลอบฆ่าโดยหนุ่มชาวมุสลิมที่บ้าคลั่งได้ใช้อาวุธปืน

ยิงท่านจนถึงแก่ความตาย  จึงนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวอินเดีย  ศิริรวมอายุ  ๗๙   ปี

          ผลงานด้านปรัชญา

          งานเขียนของท่านมหาตมะ  คานธีนั้นมีมากมาย  หลาย  ๑๐ เรื่อง  แต่ผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ  โลกทั้งผองพี่น้องกัน  อาจารย์กรุณา – เรืองอุไร  กุศลาสัย     เป็นผู้รวบรวมและถ่ายทอด,

ชีวประวัติของข้าพเจ้าอาจารย์กรุณา  กุศลาสัย  แปลจากภาษาฮินดี,อัตชีวประวัติหรือข้าพเจ้าทดลอง

ความจริง   แปลโดยกรุณา – เรืองอุไร   กุศลาสัย

          งานเขียนของท่านทั้งสามนี้กล่าวถึงประวัติส่วนตัวของท่านตั้งแต่เกิด    การศึกษา    การต่อสู้

ทางการเมือง ทั้งในอัฟริกาใต้และอินเดียโดยท่านได้นำเสนอมรรควิธีและวัตถุประสงค์ การต่อสู้โดย

ไม่ใช่ความรุนแรง   การฝึกฝนควบคุมตนเอง  สันติภาพระหว่างชาติ  ประชาธิปไตยกับประชาชนซึ่ง

 

ผลงานเกี่ยวกับรัฐปรัชญาของท่านนี้มีความโดดเด่น  อย่างมาก  โดยเฉพาะการใช้หลัก  อหิงสา  มา

เป็นอาวุธที่สำคัญในการกอบกู้เอกราชของประเทศอินเดีย  จาการยึดครองของอังกฤษ  ทำให้อหิงสา

ของท่านมีชื่อเสียงมากในขณะนั้น  เพราะว่าอหิงสาใช้ได้ผลอย่างมากในการเรียกร้องทางการเมือง

 

ปรัชญาการเมือง

 

อหิงสาและสวราช

          ท่านมหาตมะ  คานธีได้ใช้หลักอหิงสาคือการไม่นิยมความรุนแรงยึดถือ   ในสัจจะความกล้าหาญ    ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิบัติ  ต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง  ท่านมหาตมะ  คานธี  ได้พูด

ถึงความแตกต่างกันของกติกาอหิงสาและ   หิงสาเช่นเดียวกับความตรงข้ามกันของการนิยมความรุน

แรงและไม่รุนแรงว่า

          “สาระของหิงสกรรมอยู่ที่ว่า     มีเจตนาร้ายอยู่เบื้องหลังการกระทำไม่ว่าจะเป็นในด้าน  กาย

วาจา  หรือใจก็ตาม  นั่นคือมีเจตนาร้ายต่อผู้ที่เป็นปฏิปักษ์     หรือความระมัดระวังหรือความเกรงอกเกรงใจที่ผิด ๆ   มักจะไม่ยอมพูดในสิ่งที่ต้องการจะพูด      และมักจะต้องทำให้เป็นคนหน้าไหว้หลัง

หลอก  ไปฉะนั้นหากต้องการจะ  ให้อหิงสาเจริญเติบโตในตัวบุคคล  ในสังคมและในประเทศชาติก็ต้องยอมให้มีการพูดความจริง  ไม่ว่าความจริงนั้นจะระคายหูและไม่เป็นที่พอใจของใครในขณะนั้น

สักเพียงไรก็ตาม  ในโลกนี้ไม่เคยมีความสำเร็จใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการกระทำ  ข้าพเจ้าปฏิเสธไม่

ยอมใช้คำภาษาอังกฤษ “Passive  Resistance” สำหรับการต่อสู้แบบอหิงสา หรือที่มีชื่อว่า สัตยา

เคราะห์  เพราะคำภาษาอังกฤษดังกล่าวไม่สามารถให้ความหมายของ  สัตยาเคราะห์ ได้โดยสมบูรณ์

และมักจะมีคนเข้าใจว่า “Passive  Resistance” ว่าเป็นการต่อสู้ของผู้ที่ไม่กำลัง  แต่อหิงสานั้นแม้มีสมรรถภาพพร้อมที่จะโจมตีคู่ต่อสู้ได้  อหิงสาก็ไม่ทำเช่นนั้น  เพราะอหิงสาเป็นการฝึกและบังคับ

ใจไม่ยอมให้มีการทำร้ายหรือแก้แค้นผู้ใด อย่างไรก็ตามอหิงสามิใช่เป็นการยอมจำนนหรือสิโรราบ

หากจะมีการยอมจำนนหรือสิโรราบแล้ว  การใช้หิงสาหรือกำลังจะดีกว่า  การให้อภัยเป็นคุณธรรมสูงกว่าการใช้กำลังและการแก้แค้น  เพราะทั้งการใช้กำลังและการแก้แค้นเกิดจากความอ่อนแอและ

ความกลัว  คนที่ไม่กลัว  ย่อมไม่โกรธ  ไม่เกลียดและไม่ปองร้ายผู้ใด อหิงสากับความขลาดสองสิ่งนี้

ไม่มีวันจะอยู่ร่วมกันได้  คนที่มีอาวุธมาก ๆ คือคนที่ขลาดมาก ๆ นั้นเอง เพราะอาวุธคือเครื่องหมาย

ของความกลัวและความขลาด   อหิงสาแท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้    หากยังมีความขลาดและความกลังหลงเหลืออยู่    อหิงสานั้นเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ไม่รู้จักออมชอมกับความขลาดและความกล้าที่นิยม

ใช้กำลังอาจจะเป็นนักอหิงสาได้สักวันหนึ่ง  แต่คนขลาดจะไม่มีวันเป็นนักอหิงสาได้เลย”

          ท่านมหาตมะ   คานธีมีความเห็นว่า   “การไม่ใช้ความรุนแรงเป็นพลังยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษย์มี

อหิงสามีอำนาจยิ่งกว่าอาวุธใด ๆ   ที่มนุษย์จะคิดค้นได้  การทำลายมิใช่กฎของมนุษย์ชาติ  มนุษย์ที่มี

ชีวิตอยู่อย่างอิสระด้วยการฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองไม่ได้    การฆ่าหรือการทำร้ายผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม    เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ      เงื่อนไขประการแรกของการไม่ใช้ความรุนแรงก็คือ สร้างความเป็นธรรมให้แก่ชีวิตทุกชนิดและระดับ เราอาจจะหวังจากธรรมชาติของมนุษย์ในการสร้างความดีหรือความร้าย

          ในเรื่องระบบการปกครอง  ท่านมีความเห็นว่า    “ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย คนที่อ่อนแอที่สุดจะได้รับโอกาส    เช่นเดียวกับคนที่แข็งแรงที่สุด    ภาวการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้

นอกเสียจากอหิงสาหรือสันติวิธี  ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นเสมอว่า  ความเป็นธรรมในสังคมแม้แต่กับผู้ที่ต้อยต่ำที่สุดจะสามารถแก้ไขความไม่เป็นธรรมได้ด้วยวิธีการแห่งอหิงสา     ซึ่งได้แก่วิธีไม่ใช้กำลังไม่ร่วมมือ”

          ท่านมหาตมะ  คานธี    ต้องการที่จะก่อตั้งขบวนการฮินดูสวราช  เป็นขบวนการเพื่อการปลดปล่อยและเสรีภาพของประชาชนอินเดียขึ้น   ขบวนการฮินดูสวราชมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ชาวอินเดีย 

ทำการปกครองตนเองด้วยรูปแบบประชาธิปไตยซึ่งมาจากพื้นฐานของสังคมในอินเดียเองโดยไม่พึ่งพิงอยู่กับระบบการเมือง  ฮินดูสวราชจะเป็นไปไม่ได้หากแต่ละหมู่บ้านไม่เกิดคามสวราชขึ้น

คามสวราชคือพื้นฐานในการปกครองตนเองในชุมชนหน่วยย่อยที่สุด  คือในระดับหมู่บ้าน

          เมื่อพรรคคองเกรสทำการต่อสู้กับอังกฤษด้วยวิธีอหิงสา      จนได้รับเอกราชแล้วท่านมีความประสงค์ที่จะยุบพรรคคองเกรสเพื่อเปลี่ยนจากการศูนย์รวมอำนาจออกไปเป็นการกระจายอำนาจมุ่ง

ไปสู่การปกครองแบบสวราช  คือ    การคืนอำนาจให้แก่ประชาชนทำการปกครองตนเองมากกว่าให้รัฐเป็นผู้สั่งการท่านต้องการให้การเมืองเป็นเรื่องของการรับใช้มากกว่าที่จะมาคดโกงและกดขี่สำรับ

ท่านแล้วประชาธิปไตยมิได้หมายถึงการเลือกตั้ง  แต่หมายถึงสมรรถนะของประชาชน  ในการอันที่จะพึ่งพาตนเอง    และคำนึงถึงพละกำลังศักดิ์และภารกิจของเขา  ประชาธิปไตยมิอาจส่งทอดไปตามกฎหมายจากเมืองหลวงไปสู่จังหวัด    และจากจังหวัดไปสู่ชนบท  แต่ประชาธิปไตยจะต้องสร้างขึ้นมาทีละหมู่บ้านทีละแห่ง จนขยายไปทั่วประเทศ  แต่ประชาธิปไตยก็ต้องตั้งอยู่บนหลักอหิงสาเพราะ

ประชาธิปไตยกับอหิงสาคือการใช้กำลังไม่มีวันที่จะเดินทางร่วมกันได้

          ในการต่อสู้กับการกดขี่  ขูดรีดเอาเปรียบกันและกัน  ท่านเห็นว่าหลักการประชาธิปไตย   แก้

ไขได้โดยเราจะยุติการกระทำดังกล่าวของคนรวยได้    ด้วยการทำลายความรู้เท่าไม่ถึงการของคนจน

และด้วยการสอนคนจนไม่ให้ความ ร่วมมือแก่ผู้ที่ขูดรีดเอาเปรียบพวกเขา    หากคนจนจะทำได้ดังนี้

จะเป็นการเปลี่ยนแปลงจิตใจของคนรวยไปในตัวด้วย        

ท่านมหาตมะ  คานธีทำการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อให้คนอินเดียพ้นจากความทุกข์ยากหน้าที่ทางการ

เมืองสำหรับท่านแล้วก็คือการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าในหมู่มนุษย์       ซึ่งถ้าปราศจากสิ่งนี้แล้วมนุษย์ก็ไม่อาจจะปลดปล่อยตนเอง    ให้เป็นอิสระจากเครื่องพันธนาการของความเห็นแก่ตัวหรือไม่

อาจเห็นแจ้งในพระผู้เป็นเจ้าได้ท่านกล่าวว่า

          “ข้าพเจ้า     ถือว่าไม่มีการเสียสละอันใด  จะยิ่งใหญ่เกินไปในการที่จะได้ประจักษ์พระผู้เป็นเจ้าอย่างแจ่มชัด    ภาระกิจทั้งหมดของข้าพเจ้าไม่ว่าจะเรียกกันว่าเป็นเรื่องทางสังคม     ทางการเมือง

ทางมนุษธรรม   หรือทางจริยธรรมก็ตามล้วนมุ่งสู่จุดหมายนั้นทั้งสิ้น  และเมื่อข้าพเจ้ารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงถูกค้นพบบ่อยครั้งมากกว่าหมู่คนที่ต่ำสุด  ความปรารถนาของข้าพเจ้าจึงอยู่ที่การได้รับใช้ชน

ชั้นที่ถูกกดขี่  และเมื่อข้าพเจ้าไม่สามารถให้การรับใช้นี้ได้โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง  ข้าพเจ้าจึงพบ

ตนเองอยู่ในวงการเมือง   ข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้รับใช้ที่กำลังต่อสู้ดิ้นรน  ของอินเดียและของมนุษยชาติ

          ภาระกิจหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในชีวิตของคานธี   การปฏิวัติการเมืองด้วยจริยธรรม   ด้วยการผ่าน

ประสบการณ์และการทดลองมาเป็นลำดับทั้งในชีวิตส่วนตัวและในชีวิตที่ปรากฎแก่สาธารณะคานธีมีความเชื่อมั่นขึ้นทุกทีว่าปัญหาที่เผชิญหน้ามนุษยชาติอยู่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ของมนุษย์ทั้งโดยส่ววตัวและโดยส่วนรวมอาจแก้ไข   ได้อย่างมีประสิทธิภาพและถาวรโดยหลักจริยธรรมแห่งสัจจะและความรัก

          มหาตมะ  คานธีได้นำคำสอนของพระพุทธเจ้าและเยซูคริสต์มาใช้กับการเมืองว่า       จงชนะความเกลียดชังด้วยความรัก  ความไม่จริงด้วยความจริง  ความรุนแรงด้วยความทุกข์   การปฏิบัติตามหลักนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นในธรรมชาติ   ของมนษย์คือเชื่อมั่นว่าลึกลงไปในตัวมนุษย์แล้วไม่ว่าเขาจะเลวเพียงใดก็ตามยังมีพระเจ้าในตัวเขาอยู่   นั่นคือยังมีเหตุผลในตัวของ  เขาที่จะตอบ    

สนองต่อความประพฤติอันจริงใจและบริสุทธิ์และยังมีความรักในตัวของเขาที่จะสามารถปลุกให้ตื่น

ขึ้นด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจยิ่งถ้าเราขาดความเชื่อถือ มนุษย์ทั้งโดยส่วนตัวและโดยส่วน

มากเพียงไร  เราก็จะยิ่งทำให้ตัวเขาและตัวเราตกต่ำลงเท่านั้น  ความไร้ศีลธรรมจรรยาและความทุกข์เพิ่มขึ้นต่อไปทั่วทุกหนทุกแห่งและโลกได้กลายเป็นขุมนรก ในทางตรงข้ามความเชื่อถือในคุณความดีภายในของมนุษย์จะปลุกเร้าความประพฤติอันบริสุทธิ์และจริงใจความรักจะทำลายความเกลียดชัง  ความกลัว  และความรุนแรงลง  แม้ว่าอุดมคติของการประพฤติปฏิบัติอันสมบูรณ์นี้

 

ข้อได้เปรียบของการต่อสู้แบบอหิงสา

          การต่อสู้ด้วยวิธีการของความรัก  มีข้อได้เปรียบหลายประการขณะที่การต่อสู้แบบรุนแรงทุก

อย่างจะจบลงด้วยความข่มขื่นวิธีการทางจริยธรรมนี้กลับจบลงด้วยการปรองดองคืนดีกันและกันวิธีนี้ทำให้คนทำผิดกลายเป็นคนดีและ สูงส่งขึ้นด้วยการเปลี่ยนจิตใจของเขาและความประพฤติของตนเสียก่อนพยายามค้นหาความผิด  ความบกพร่องและความอ่อนแอของตน   ที่อาจยั่วยุผู้กระทำผิดและ

สร้างศัตรูภายนอกแต่เราก็สามารถเป็นมิตรที่ดีที่สุดของเราได้เช่นกัน

ข้อได้เปรียบที่สุดของการต่อสู้      ก็คือการต่อสู้แบบนี้จะทำให้ผู้กระทำผิด  มหาตมะ   คานธี

ใช้วิธีการต่อสู้แบบอหิงสาด้วยการชำระตนให้บริสุทธิ์ในทุกกรณี   ที่เกิดความไม่ยุติธรรม  เผด็จการและการกดขี่ท่าน  พร้อมทั้งให้ขจัดความชั่วร้าย  ภายในประเทศทั้งทางสังคม

          คานธีไม่เคยมีเจตนาร้ายหรือไม่เคยทำให้ผู้อื่นต้องเสียเกียรติ การเปลี่ยนใจของคู่ต่อสู้เป็นเป้าหมายของท่าน  และเมื่อใดก็ตามที่  ท่านได้เห็นสัญญาณบางอย่างของการเปลี่ยนใจท่านก็จะยอมแม้กระทั่งเสี่ยงต่อการถูกหาว่าโง่เขลาหรือเสี่ยงต่อการถูกลวงโดยการเรียกร้องให้ยุติการต่อสู้      ท่านมี ความเชื่อว่าผู้ที่หลอกลวงในที่สุด     แล้วจะกลายเป็นผู้ที่ต้องรับผลของการหลอกลวงนั้นเองประสบการณ์หลายอย่างหลายประการในชีวิตอันยาวนานของท่านได้พิสูจน์ความเชื่ออันนี้

หลักการสวเทศี

          เป็นกลุ่มของผู้ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้    ขบวนการสวเทศีนี้ เป็นกระบวนการส่งเสริมให้มีการผลิตในครัวเรือนเพื่อใช้เองในประเทศ  เพื่อแก้ปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นจากความอ่อนแอของ

อุตสาหกรรมภายใน ขบวนการนี้ก่อให้เป็นกลุ่มที่เรียกร้องการปกครองตนเองและสิทธิต่าง ๆ ที่ควร

จะได้รับขบวนการนี้     ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ทางศาสนาเพื่อร่วมชาติมีความหมายถึงการต่อ ชีวิตเพื่อนให้อยู่รอด ด้ายที่ปั่นแล้วสำหรับทอผ้านั้นอาจจะมาจากต่างประเทศแต่แรงงานเป็นของเขาจะทำให้เขาอย่างน้อยก็จะได้รับส่วนหนึ่งหรือแม้แต่    ๑ ใน ๓  ของกำไรก็ยังช่วยในการยังชีพให้อยู่รอดได้ต่อไป

          ท่านมหาตมะ  คานธีได้ความหมายสวเทศีไว้ว่า “สวเทศีเป็นพลังจิตใจอันแรงกล้า ซึ่งหยุดยั้งการใช้ประโยชน์และ    การติดยึดกับสภาพแวดล้อมรอบตัวที่มาจากต่างประเทศอันประกอบไปด้วย

กิจกรรมต่าง ๆ คือ  ศาสนา   การเมือง    และเศรษฐกิจ

 

แนวคิดเรื่องบุคคล  สังคม  และรัฐ

ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล   สังคม  และรัฐเป็นเสมือนหัวใจของแนวความคิดทางการเมือง

แล้วความคิดของมหาตมะ  คานธีในเรื่องนี้แบ่งออกเป็นลักษณะใหญ่ ๆ ๕ ประการคือ

๑.    จุดมุ่งหมายของรัฐคือสวัสดิการประชาชน

๒.   อุดมการสังคมคือการอดกลั้นความอยากทั้งหลาย

๓.   การใช้ทฤษฎีพิทักษ์ดูแลในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

๔.   รัฐบาลที่ปกครองอย่างจำกัด

๕.   การใช้วิธีการที่ถูกต้องไปสู่เป้าหมายที่ปรารถนา

จุดมุ่งหมายของรัฐก็คือการให้สวัสดิการแก่ทุก     คนโดยถ้วนหน้ากันไม่เหมือนกับแนวคิด

ของพวกประโยชน์นิยมที่มีแนวทางในการให้ประโยชน์สูงสุดแก่คนจำนวนมากที่สุด  ท่านมหาตมะ

คานธี    มีความเห็นว่าพวกประโยชน์นิยมนั้นมีความคิดเกี่ยวกับความสุขทางวัตถุเท่านั้น   ซึ่งไม่เป็น

ไปตามกฎเกณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ของสวรรค์  โดยเฉพาะความสุขของคนจำนวนมากทำให้เกิดละเลยคน

ส่วนน้อยอันเป็นการผิดจริยธรรมอย่ายิ่ง

          เนื่องจากท่านมหาตมะ คานธี เห็นว่าอุดมการณ์ของสังคมก็คือการอดกลั้นจากความอยากทั้งหลายของสมาชิกในสังคมจนำ  ไปสู่ความเท่าเทียมในทางเศรษฐกิจเป็นพฤติกรรมที่เน้นการเสียสละ

ส่วนบุคคลเพื่อส่วนร่วม   แต่การที่จะให้สังคมเป็นไปในทำนองนี้    ท่านได้เสนอทฤษฎีการพิทักษ์ดูแลซึ่งกันและกัน     คือทุกท่านได้เรียกร้องให้คนมั่งมีหรือผู้ที่มีรายได้มากใช้เงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตไปในทางช่วยเหลือสังคมทำหน้าที่การพิทักษ์ดูแลสังคม       ก็จะเป็นการสร้างความ

ผสมกลมกลืนสมานฉันท์  ผลประโยชน์ของสมาชิกในสังคมเป็นไปตามอุดมการณ์ของสังคมคือการ

อดกลั้นความอยากของสมาชิกในสังคม   เพราะบุคคลจะสามารถมีเสถียรภาพอิสรภาพและมีการปกครองตนเองได้ต้องเกิดจากการอดกลั้นความอยาก  เพราะมิฉะนั้นแล้วความอยากทั้งหลายของคนจะ

ทำให้เกิดความขัดแย้งกับผู้อื่นเกิดความต้องการ   ใช้อำนาจเพื่อบังคับให้เป็นไปในทางที่ตนต้องการ

 ใช้อำนาจเพื่อบังคับให้เป็นไปในทางที่ตนต้องการ เกิดการปล้นช่วงชิงกันเกิดสงครามเกิดระบบการ

ปกครองโดยการผูกขาด  คณาธิปไตยหรือโดยระบบราชการ  ดังนั้นทฤษฎีการพิทักษ์ดูแลตามทัศนะ

ของท่านมหาตมะ  คานธีจึงมีลักษณะดังนี้

          ๑.   การพิทักษ์ดูแล    ปูพื้นฐานสำหรับวิธีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์    ของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน    เป็นระบบความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคนโดยให้โอกาสแก่ชนชั้นผู้ปกครองทรัพย์สินในปัจจุบันจะแก้ไขปรับปรุงตนเองด้วยศรัทธา  ต่อธรรมชาติของมนุษย์ว่ามนุษย์สามารถไถ่บาปได้โดยการเปลี่ยนแปลงตนเอง

๒.      มีการตรากฎหมายการถือครองและการใช้ประโยชน์ของทรัพย์สิน

๓.      ไม่ยอมรับสิทธิ์ในการครอบครองทรัพย์สินของ บุคคลยกเว้นแต่สิทธิที่ได้รับรองจากสัง

คมว่า  เป็นการครอบครองเพื่อการยังชีพตามสมควรแกตน

๔.     ภายใต้กฎหมายพิทักษ์ดูแล บุคคลไม่มีอิสรที่จะถือครองหรือใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน

ตามอำเภอใจของตนเองหรือโดยขัดต่อประโยชน์สาธารณะ

๕.     มีการกำหนดค่าจ้างต่ำสุด  ให้พอกับการดำรงชีพในขณะ   ที่มีการกำหนดค่าจ้างสูงสุดที่

เหมาะสมสำหรับสังคม   ความแตกต่างระหว่างค่าจ้างต่ำสุดกับค่าจ้างสูงสุดที่เหมาะสมมีเหตุผลและเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา   เพื่อที่จะกล่าวไปสู่การขจัดความแตกต่างได้ในที่สุด

๖.      ภายใต้กติกาเศรษฐกิจแบบคานธีนี้     รูปแบบลักษณะในการผลิตทั้งหลายจะต้องเป็นไป

ตามความต้องการของสังคม ไม่ใช้เป็นไปตามความปรารถนาของผู้ใดผู้หนึ่ง

ท่านมหาตมะ  คานธีมีความเห็นว่ารัฐบาลที่ดีนั้นควรจะปกครองให้น้อยที่สุดหรืออย่างจำกัดที่สุดซึ่งตรงข้ามกับนักสังคมนิยม  ที่เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องใช้อำนาจในการปกครองอย่างกว้าง

ขวางเพื่อควบคุมสังคม ให้เกิดความยุติธรรมทั่วกันและให้สวัสดิการแก่สังคมทั้งหมดท่านเห็นว่ารัฐ

บาลที่ใช้อำนาจปกครองรัฐโดยกลไกของรัฐต่อประชาชนนั้น  มีแนวโน้มที่จะใช้กำลังบังคับซึ่งเป็นวิถีทางแห่งความรุนแรง

          ในส่วนของวิธีการนั้นท่านเห็นว่าวิธีการเป็นเครื่องชี้บ่งบอกถึงเป้าหมายไม่ใช่ว่าจะใช้วิธีการ

อะไรก็ได้เพื่อเป้าหมายที่ประสงค์ถ้าใช้วิธีรุนแรงวิธีการเปรียบเสมือน    จุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งเหมือนกับเมล็ดพืชเป็นจุดกำเนิดของต้นไม้ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับวิธีการไปสู่เป้าหมายมนุษย์ไม่อาจรับผลบุญจากการบูชาพระเจ้าดังนั้นใครก็ได้ที่พูดว่าฉันต้องการบูชาพระเจ้าแต่ยอมแพ้ต่อความชั่วร้ายเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้  เราเก็บเกี่ยวสิ่งที่เราหว่านลงไปทั้งสิ้น

 

อิสรภาพทางการเมือง

          ถึงแม้ว่าการได้มาซึ่งอิสรภาพทางการเมือง  จะเป็นเป้าหมายเร่งด่วนและสำคัญในการเคลื่อน

ไหวของท่านในอินเดียก็ตามแต่สำหรับทานแล้ว     สิ่งนั้นเป็นเพียงหนทางไปสู่จุดหมายที่สูงกว่านั้นคืออิสรภาพทางจิตวิญาณ   เพราะชีวิตและสัจจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้  ชีวิตไม่สามารถที่จะก้าวหน้าไปตามลำพัง  อิสรภาพทางสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง  และจริยธรรม  เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก  ต้องอิงอาศัยกัน  และต้องมีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันจิตวิญญาณที่สมบูรณ์ประกอบไปด้วย

การเห็นแจ้งในความจริงอย่างครบถ้วนและความก้าวหน้าในทุกๆด้านของชีวิตมนุษย์มหาตมะ คานธี

กล่าวว่า  “บนหลักการที่ว่ามองสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าย่อมรวมเอาสิ่งที่เล็กกว่าเข้าไว้อิสรภาพของประเทศหรือเสรีภาพในทางวัตถุย่อมรวมเข้าไว้ในจิตวิญญาณ”       การสูญเสียเสถียรภาพทางการเมืองของอินเดียทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ  และทำให้ความยากจนเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ความตกต่ำทางด้านสังคมและความก้าวหน้าแก่ปัจเจกบุคคล      รัฐต้องรักษาจิตสำนึกในเรื่องการรับใช้ไว้เสมอ และต้องไม่ทำตัวเป็นนายของประชาชน

          “การปกครองตนเองนั้นขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งภายในของเราทั้งหมด    อยู่กับความสามารถของเราที่จะต่อสู้กับการครอบงำจากภายนอกแท้จริงแล้วการปกครองตนเองที่มิได้มี    การต่อสู้อย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายและเพื่อดำรงรักษาเป้าหมายนั้นไว้ไม่สมควรที่จะได้รับชื่อนั้น”

 

แนวคิดเรื่องประชาธิไตย

          ท่านมหาตมะ   คานธีมีความเห็นว่ารัฐสมัยใหม่นั้น    ไม่มีรัฐใดสามารถที่จะดำเนินการอะไรไปก่อนประชามติได้    ฉะนั้นกติกาประชาธิปไตยและความหมายของประชาธิปไตยและความหมายของประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีงามที่สุดในระบบการปกครอง ในปัจจุบันแต่ประชาธิปไตยที่ปราศจากความรู้และความงมงาย จะนำไปสู่ความยุ่งยากวุ่นวายสับสนและทำลายตนเองในที่สุด

          ท่านมีความเห็นว่าภายใต้กติกาประชาธิปไตย   เสรีภาพส่วนบุคคลในการแสดงความคิดเห็น

และการกระทำจะต้องได้รับความคุ้มครองอย่างหวงแหน    พวกเสียงข้างน้อยจึงมีสิทธิอย่างสมบูรณ์

ที่จะทำแตกต่างกันออกไปจากพวกเสียงข้างมาก    ตราบใดก็ตามที่ไม่อ้างกากระทำว่าเป็นไปในนามของคนทั้งหมดและเป็นไปตามหลักอหิงสา

          ในขณะที่ท่านมหาตมะ  คานธี  ให้คุณค่าต่อเสรีภาพส่วนบุคคลมาก  ท่านก็เห็นแล้วว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมด้วยการที่มนุษย์ได้พัฒนาชีวิตมาถึงบัดนี้  ก็เพราะยอมรับกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันในสังคม    การมีเสรีภาพส่วนตนโดยไม่นั้นเป็นลักษณะของสัตว์ป่า   สำหรับมนุษย์อันประเสริฐนั้นเสรีภาพถูกจำกัดในเรื่องที่มนุษย์ยับยั้งการกระทำของตนเพื่อให้เป็นผลดีแก่ส่วนรวม

 กองทัพกับการเมือง

          ท่านเห็นว่าทหารไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองระบบประชาธิปไตย    เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้วไม่มีการใช้ความรุนแรง การใช้กำลังปราบปรามจลาจลหรือความวุ่นวายอันเกิดจากความคิดต่อต้านรัฐบาลถือ        เป็นการปฏิเสธแนวทางประชาธิปไตยแต่ก้ต้องไม่ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามและ  ท่านก็ยังหวังว่าประชาชนชาวอินเดียทั้งหลายทุกชั้นวรรณะจะมีความเสมอภาคกันในทุก ๆ   ด้านทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ    แต่ท่านก็คิดว่าเป็นภาระหน้าที่ของคนอินเดียทุก   ๆ คน   ที่พยายามทุกวิถีทางในการก้าวไปสู่เป้าหมายนี้ให้ได้    เพราะถ้าทำสำเร็จสังคมอินเดียจะเป็นสังคมที่มีความสุขที่สุด

 

ประชาธิปไตยที่แท้จริง

          ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ตั้งอยู่บน  พื้นฐานความรุนแรงและการบังคับสังคมประชาธิปไตยจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกอันเป็นมิตร   ความเข้าใจในเหตุผลความเชื่อถือและความร่วมมือซึ่งกันและกัน ด้วยหลักการนี้เองที่มวลมนุษย์ได้ก้าวหน้ามาถึงเพียงนี้และด้วยหลักการนี้เช่นเดียวกันที่มนุษยชาติจะสามารถก้าวหน้าต่อไป   หลักสำคัญแห่งความรักของมนุษย์ชาติได้ดลใจมนุษย์ให้ค้นหาคุณความดีของตนในความดีของส่วนรวม ตราบเท่าที่หลักการนี้ได้รับการปฏิบัติตามสันติภาพก็จะเกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  กลุ่มชนกลับกลุ่มชนประเทศกับประเทศ  หลักการแห่งความรักหรืออหิงสานี้ควรเป็นพื้นฐานในองค์กรของมนุษย์ทุกองค์กรประชาธิปไตย  จะเติบโตได้ก็ด้วยความพยายามของปัจเจกชนโดยสมัครใจเท่านั้น   และไม่อาจได้มาด้วยการบังคับจากภายนอก   ดังนั้นการมีปัจเจกชนที่ดี  ย่อมเป็นสิ่งจำเป้นอย่างมากต่อการมีประชาธิปไตย  ที่ดีจริยธรรมจึงเป็นหลักประกันในส่วนของความก้าวหน้าของปัจเจกบุคคลและในส่วนของการพัฒนาการของประชาธิปไตยที่แท้

รัฐบาลในอุดมคติ

          มหาตมะ  คานธีได้ใช้เวลาตลอดชีวิตของท่านในการนำประเทศไปสู่อิสรภาพ  แม้ว่าท่านจะได้แต่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลประชาธิปไตยในอุดมคติเป็นครั้งเป็นคราวอยู่เสมอก็ตามแต่ท่านก็ไม่เห็นว่าหรือจำเป็นที่จะต้องพูดในรายละเอียดเกี่ยวข้องกับลักษณะของรัฐบาลในอุดมคติ  ที่จริงแล้วความคิดของทานมีอยู่ว่า    ถ้าหนทางเป็นสิ่งที่ดีแล้วเป้าหมายก็จะต้องดีด้วยท่านใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการดำเนินหนทางแห่งอหิงสา    เพื่ออิสรภาพของประเทศ    เนื่องจากลักษณะของรัฐบาลประชาธิปไตยควรจะตัดสินโดยประชาชนผู้เป็นอิสระท่านจึงไม่ชอบที่จะบงการอะไรล่วงหน้าถึงรูปแบบของรัฐบาลที่อินเดียควรจะมี  ท่านไม่ให้ความสำคัญมากนักเกี่ยวกับชื่อที่ควรใช้เรียกรัฐบาลในอุดมคติท่านได้เห็นชื่อที่ถูกใช้อย่างผิดๆ ในวงการเมืองร่วมสมัยและท่านได้ศึกษาจากประวัติศาสตร์ของอินเดียที่ผ่านมาว่าการปกครองแม้ของกษัตริย์หรือพระเจ้าจักรพรรดิเช่นพระเจ้าอโศก ก็สามารถบรรลุถึงอุดมคติอันสูงสุดนี้ได้สิ่งที่ท่านยกย่องที่สุดได้แก่

๑.    สวัสดิภาพในทุก ๆ ด้านของประชาชน

๒.   รัฐบาลที่ยึดมั่นอยู่บนหลักอหิงสา  และมึความแข็งขันในจริยธรรม

๓.   การไม่เอารัดเอาเปรียบกันไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใดหรือประเทศใดแม้ที่ไม่ใช่ของตน

 

ความรักชาติและความรักระหว่างชาติ

          สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้และ    จะต้องเรียนรู้จากตะวันตกก็คือวิชาการสุขาภิบาลของเมืองและเมื่อกล่าวถึงความรักชาติการไม่สร้างศัตรูหรือการไม่มีความประสงค์ร้าย ทั้งที่ข้าพเจ้าหวาดหวั่นต่อลัทธิวัตถุนิยมของตะวันตก   ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ลังเลใจที่จะรับจากตะวันตกสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อข้าพเจ้า

          ดูเหมือนว่าอุดมคติของคานธีในเรื่องความรักชาติจะไม่แยกอยู่อย่างโดดเดี่ยว     ความรักชาติของชาวอินเดียได้รับแรงดลใจ   มาจากความเชื่ออันโดดเด่นของอินเดียในเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยพื้นฐานของมวลมนุษย์แม้จะมีความแตกต่างกันในด้านผิวพรรณและอื่น ๆ   ดังนั้นความรักชาติโดยเหตุผลแล้วจะนำไปสู่ความรักระหว่างชาติความรักในมนุษย์ทำให้คานธีมีทั้งความรักชาติและความรักระหว่างชาติ      ท่านต้องการดำเนินงานทางการเมืองเพื่อฟื้นฟูแก้ไขอินเดียมิใช่ด้วยการสร้างความเกลียดชังในทางเชื้อชาติหรือทางชนชั้น  แต่ด้วยเจตน์จำนงของสัจจะและความรัก  ดังนั้นท่านมหาตมะ   คานธีจึงกล่าวว่า

          “ข้อเสนอของข้าพเจ้าเกี่ยวกับปูรณสวราช  (การปกครองตนเองโดยสมบูรณ์) มิใช่เป็นอิสระภาพแยกอยู่ต่างหากโดดเดี่ยว       เป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างมีมิตรจิตรมิตรใจและอย่างมีศักดิ์ศรีและความเป็นชาตินิยมของเรา   จะไม่เป็นอัตรายต่อชาติอื่นตราบเท่าที่เราจะไม่เอาเปรียบใครเท่า ๆ กับที่เราไม่ให้ใครเอาเปรียบ  ด้วยสวราชเราจะรับใช้โลกทั้งมวล”

 

แนวคิดที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยหรือการเมืองโลกปัจจุบัน

          ปรัชญาการเมืองของท่านมหาตมะ   คานธีมีจุดเด่นอยู่ที่อหิงสาหรือสัตยาเคราะห์เป็นการวางกฎเกณฑ์ของการเรียกร้องอย่างสันติวิธี       หลักอหิงสาของท่านมีความโดเด่นอย่างมากในการเรียกร้องความเป็นธรรมจากผู้ที่มีกำลังมากกว่า  เพราะเป็นการที่เรามีกำลังน้อยกว่านั้นถ้าหากจะเรียกร้องโดยใช้ความรุนแรงแล้วความสูญเสียก็จะตามมาอย่างแน่นอน  อีกทั้งยังไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากผู้ปกครองด้วย

 

สรุป

          แนวคิดทางการเมืองของท่านมหาตมะ  คานธี     ทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองของอินเดียอย่างมากท่านได้ทำให้พรรคคคองเกรสแปรรูป  เป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างแท้จริงโดยการสนับสนุนจากผู้คนมากมายจากชนบทด้วยการใช้สัญลักษณ์ทางศาสนา  วัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียม

ประเพณีดัง้เดิมของอินเดียในการสื่อความหมายสามารถ    ที่จะดึงเอาความคิดส่วนลึกของตนอินเดียทุก ๆ   คน    ที่ผูกพันธ์แนบแน่นอยู่กับความดีงามสูงสุดทางจริยธรรมของบุคคล     ท่าสามารถสร้างกระแสแห่งการต่อสู้เพื่อเอกราชเป็นกระแสแห่งการตระหนักถึงคุณค่าแห่งการเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ  ผู้มีอิสรภาพอย่างแท้จริงด้วยการให้ความสำคัญต่อสถานบุคคล   ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  สังคม  รัฐการให้ความสำคัญต่อชุมชน       เผื่อความผาสุขของทุก      คน      โดยถ้วนหน้ากันตามแนวทางประชาธิปไตยแบบสวราชการ   ดำรงตนตามวิธีทางที่ถูกต้องในหลักสัจจะของสัตยาเคราะห์และการเป็นไทแก่ตนเองตามโครงการสวเทศี      ทำให้พรรคคองเกรสได้รับการสนับสนุนจากอินเดียทุกชั้นวรรณะ      ด้วยหลักการที่ไม่ใช่เป็นเพียงการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติเท่านั้น    แต่เป็นการชี้แนวทางแห่งการดำรงชีวิต  ที่มีเกียรติยศ  ศักดิ์ศรี  สมกับการเป็นมนุษย์ที่มีอิสรภาพอย่างแท้จริง  แนวคิดทางการเมืองของท่าน    นับได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย  คือ  การแตกแยกทางสังคมและการเมือง  โดยวิถีทางของธรรมะ   ซึ่งนอกจากจะนำมาซึ่งความสมานสามัคคีด้วยความเอื้ออารีต่อกันของมนุษย์แล้ว  ยังนำมาซึ่งความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงของสังคมที่ไร้ความรุนแรงอีกด้วยฯ

  

บาป    ประการในทัศนะของคานธี 

Politics  without  principles. 

Pleasure without  conscience. 

Wealth  without  work.

Knowledge  without  character.

Commerce  without  morality. 

Science  without  humanity

Worship   without   sacrifice. 

เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ

หาความสำราญโดยไม่ยั้งคิด

ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงาน

มีความรู้มหาศาลแต่ความประพฤติไม่ดี

ค้าขายโดยไม่มีหลักศีลหลักธรรม

วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไมมีธรรมแห่งมนุษย์

บูชาสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ

 

 

เรืองอุไร  กุศลาสัย

ถอดเป็นไทย

 

 

บรรณานุกรม

ปรีชา  ช้างขวัญยืน,ธรรมรัฐธรรมราชา,กรุงเทพฯ;,โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๔๒.

พระมหาบุญเรือง  ปญฺญาวชิโร, มนุษย์นิยมในปรัชญาขงจื้อ,กรุงเทพฯ :, ราชบัณฑิตยสถาน,

                    ๒๕๔๐.

พระมหาอุทัย  ญาณธโร, พุทธวิถีแห่งสังคม, กรุงเทพฯ :, ธรรมสาร,  ๒๕๓๘.

เสน่ห์  จามริก, ปรัชญาและทฤษฎีการเมือง, กรุงเทพฯ:, โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย,

                     ๒๕๔๒.

เสถียร  พันธรังษี, จาณักยะ ปราชญ์ใหญ่แห่งชมพูทวีป, กรุงเทพฯ :, สื่อการค้า,  ๒๕๒๕.

อมร  โสภณวิเชษวงศ์,  ความคิดทางการเมืองมหาตมะ  คานธี, กรุงเทพฯ :,

                     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,  ๒๕๓๐.
(ที่มา: วิทยาเขตนครราชสีมา)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕