หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » ผศ.ฉวีวรรณ สุวรรณาภา » พระพุทธศาสนากับวัฒนธรรมไทย
 
เข้าชม : ๑๒๘๕๖๘ ครั้ง

''พระพุทธศาสนากับวัฒนธรรมไทย''
 
ผศ.ฉวีวรรณ สุวรรณาภา

      นับตั้งแต่ประเทศไทยได้รับอารยธรรมตะวันตก ชาวไทยได้พัฒนาประเทศไทยไปสู่สังคม ที่เจริญขึ้นกว่าเดิม แต่การพัฒนายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะยังมีปัญหาทางด้านการ พัฒนาบุคคล เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมและศาสนา การพัฒนาประเทศจะดำเนิน ไปด้วยปริมาณและคุณภาพเพียงใดนั้นยอมจะขึ้นอยู่กับลักษณะต่างๆ ของประชากรในประเทศ นั้นๆ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาบุคคลด้านจิตใจให้มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาสังคม ด้านอื่น ๆ ด้วย พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันที่จำเป็นของสังคมอันจะขาดไม่ได้ แม้จะถูกกระทบกระเทือน หรือตกต่ำในบางครั้งบางคราว ทั้งนี้เพราะชีวิตมนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยวัตถุเพียงอย่างเดียว เพราะวัตถุไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการที่ไม่รู้จบสิ้นของมนุษย์ ดังนั้น ศาสนาและ วัฒนธรรมจึงถูกหยิบยกขึ้นมาในฐานะเป็นแกนกลางทางจิตใจ เป็นกรอบแห่งความประพฤติของ ประชาชนในสังคม พระพุทธศาสนานอกจากจะมีพระธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วยัง มีวัดและพระสงฆ์ วัดและพระสงฆ์กับประชาชนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด วัดเป็นทุกอย่าง ของสังคม เป็นศูนย์กลางที่รวมจิตใจของประชาชน
ส่วนพระสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนวัดก็กลายเป็นผู้ นำทางด้านจิตใจของประชาชน เป็นศูนย์รวมแห่งความเคารพ เชื่อถือ ศรัทธาและความร่วมมือ
    ในด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม คำว่า “วัฒนธรรม” (มีความหมายรากศัพท์มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต) เพราะ คำว่า “วัฒนธรรม” มาจากคำบาลีว่า “วฑฺฒน” ซึ่งแปลว่า เจริญงอกงาม กับ คำว่า “ธรรม” มา จากภาษาสันสกฤตว่า “ธรฺม” หมายถึง ความดี “วัฒนธรรม”เป็นคำบัญญัติแทนคำในภาษาอังกฤษ ว่า “ Culture” คำนี้มีรากศัพท์ มาจาก “Cultura” ในภาษาละติน มีความหมายว่าการเพาะปลูกหรือการปลูกฝัง ซึ่งอธิบายได้ว่า มนุษย์เป็นผู้ปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยให้เกิดความเจริญงอกงาม คำว่า “วัฒนธรรม” หมายความว่า “ธรรม คือ ความเจริญ” หรือ “ธรรมเป็นเหตุให้ เจริญ” นั้นแสดงให้เห็นว่ามิใช่ลักษณะที่อยู่กับที่ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ แต่การเปลี่ยน แปลงนั้นจะต้องเป็นไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ สิ่งใดอยู่กับที่ สิ่งนั้นไม่ชื่อว่า “วัฒนะ” คือ “เจริญ” วัฒนธรรมจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมแก่กาลเวลาอยู่เสมอ จากความหมายของวัฒนธรรมนั้น อาจหลอมรวมเข้าด้วยกันและสรุปได้ คือ วัฒนธรรม มีความหมายครอบคลุมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมของกลุ่มใดกลุ่ม หนึ่งหรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งมนุษย์ได้คิดสร้างระเบียบ กฎเกณฑ์ วิธีในการปฏิบัติ รวมทั้งการ จัดระเบียบ ตลอดจนระบบความคิดความเชื่อ ค่านิยม ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยได้ วิวัฒนาการสืบทอดกันมาอย่างมีแบบแผน โดยทั่วไปแล้ว มักแบ่งวัฒนธรรมออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ

     ๑. วัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ (Material Culture) ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มนุษย์คิดค้นผลิตขึ้นมา เช่น สิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องอำนวยความ สะดวกต่าง ๆ เป็นต้น    

     ๒. วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ (Non - material Culture) หมายถึง อุดมการณ์ ค่านิยม แนวความคิด ภาษา ความเชื่อทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิการเมือง กฎหมาย วิธี การกระทำและแบบแผนในการดำเนินชีวิต ซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรม (Abstract) ที่มองเห็น ไม่ได้ ธรรมชาติของวัฒนธรรม วัฒนธรรมโดยพื้นฐานแล้วจะมีลักษณะเป็นเช่นเดียวกัน ดังนี้

     ๑. วัฒนธรรมเกิดจากการเรียนรู้ วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติหรือ ไม่ใช่สัญชาตญาณ แต่เป็นผลรวมของความคิดของมนุษย์ที่เกิดจากการเรียนรู้ธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม แล้วรู้จักนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต นอกจากเรียนรู้จากธรรมชาติ แล้วมนุษย์ยังเรียนรู้วัฒนธรรมจากสังคมตนเอง จากครอบครัว เพื่อนฝูงและสถาบันทางสังคม อื่น ๆ การเรียนรู้ทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์สร้างสรรค์วัฒนธรรมขึ้น ๒. วัฒนธรรมเป็นมรดกทางสังคม วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่น ต่อ ๆ ไปไม่มีสิ้นสุด เป็นสมบัติส่วนรวมซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากบรรพชนร่วมกัน ทั้งนี้เพราะ มนุษย์รู้จักจดจำและศึกษาอดีต สามารถนำอดีตมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังได้ นอกจาก นี้ มนุษย์ยังสามารถใช้ภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดประสบการณ์ ต่อกัน ทำให้มนุษย์สามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมเป็นมรดกสู้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้

     ๓. วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สังคมต้องยึดถือและปฏิบัติร่วมกัน เป็นสิ่งที่ทำให้สังคมนั้น ๆ อยู่ ร่วมกันได้ การกำหนดกฎเกณฑ์ การสร้างระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ก็เพื่อการดำรงคงอยู่ของสังคม นั้น ๆ ฉะนั้น สมาชิกทุกคนจึงต้องยึดถือและปฏิบัติตามแบบฉบับของสังคมของตน

     ๔. วัฒนธรรมเป็นความพึงพอใจของมนุษยชาติ วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์เลือกที่ จะปฏิบัติ หรือประพฤติ เช่น การบริโภค การแต่งกาย การสร้างที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม

     ๕. วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่บูรณาการและปรับได้ มนุษย์สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม ของสังคมที่ตนไปเกี่ยวข้อง และสามารถปรับวัฒนธรรมจากภายนอกให้เหมาะสมกับสังคมของตนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ วัฒนธรรมยังเป็นบูรณาการของมนุษยชาติโดยส่วนรวม การหยิบยืม การ ซึมซับและการหล่อหลอมวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือเผ่าพันธุ์ก็เป็นธรรมชาติที่ เกิดจากความต้องการของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

     ๖. วัฒนธรรมสิ้นสุดหรือตายได้ มนุษย์สร้างวัฒนธรรมขึ้นเพื่อความผาสุกของมนุษย์เอง ฉะนั้น วัฒนธรรมจึงเปลี่ยนแปลงและคงอยู่ได้ตราบเท่าที่มนุษย์หรือสังคมต้องการ วัฒนธรรมที่ มนุษย์หรือสังคมไม่ต้องการเป็นวัฒนธรรมที่พบจุดจบเรียกว่า วัฒนธรรมตาย
(Dead Culture) จากลักษณะหรือธรรมชาติของวัฒนธรรมดังกล่าวนั้น จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ เลื่อนไหล ถ่ายทอดและเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ทั้งภายในกลุ่มชนเดียวกันหรือระหว่างกลุ่มชน หรือระหว่างท้องถิ่น เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมของกันและกัน สถาบันทางศาสนา สถาบันทางศาสนา เป็นแบบแผนแนวทางแห่งความคิด
และแบบแผนพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อและศรัทธาของชุมชน จึงเป็นสถาบันที่หนักไปทางจิตใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานพฤติกรรม ของบุคคล พระยาอนุมานราชธนได้อธิบายไว้ในหนังสือ “เรื่องวัฒนธรรม” จัดพิมพ์โดยมูลนิธิ เสฐียรโกเศศ -นาคะประทีป ดังนี้ “…จิตใจ ความต้องการและความจำเป็นทางจิตใจ ในบรรดาสัตว์โลกมีคนเท่านั้นที่รู้จัก เอาอดีตมาปรับเพื่อคาดการณ์ในอนาคต อย่างน้อยก็รู้ว่ามีคนเกิดมาก่อนตน และจะมีคนเกิดต่อ ไปภายหน้า และรู้ว่าตนแม้จะมีชีวิตอยู่แต่ไม่ช้าตนก็จะต้องตายไป เพราะด้วยความกลัวตายและ ไม่ทราบว่าทำไมตนจึงต้องเกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน เหล่านี้เป็นต้น เพราะด้วยคิดเห็นเช่นนี้ คนจึงต้องมีวัฒนธรรมทางความเชื่อ เพื่อบำรุงใจในเมื่อได้รับความทุกข์เดือดร้อน มีความสะเทือน ใจอย่างแรงหรือหวั่นวิตกต่อภัย ก็คิดถึงเรื่องศาสนา ศาสนาจึงเป็นเครื่องกำหนดบังคับใจไม่ให้ ประพฤติชั่ว ซึ่งทางกฎหมายไม่มีทางจะบังคับลงโทษได้ เพราะฉะนั้นข้อบังคับทางศาสนาจึงมีอำนาจ ยิ่งกว่าข้อบังคับของกฎหมาย” โดยสรุป สถาบันศาสนาเป็นสถาบันที่มีบทบาทและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของบุคคลและ ชุมชนดังนี้

     ๑. สถาบันทางศาสนาเป็นเครื่องมือเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน บุคคลเมื่อมีความเชื่อและศรัทธาในสิ่งเดียวกันทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของกันและ กัน เกิดสายสัมพันธ์ทางจิตใจนำมาซึ่งกิจกรรมที่เป็นผลดีต่อส่วนรวมอื่น ๆ อีกมากมาย การมี ความรู้และความเชื่ออย่างเดียวกันทำให้บุคคลมีแนวความคิด โดยเฉพาะความรู้ ความเข้าใจ ความ รู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับสิ่งอันเป็นธรรมชาติ เกี่ยวกับชีวิตและสังคม พิธีกรรมทางศาสนาทำให้แต่ละ คนได้รู้ข่าวคราว ความทุกข์สุข ได้ศึกษาปัญหา ให้ข้อคิดเห็นและช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามโอกาส ชุมชนก็จะมีแต่ความกลมเกลียวสามัคคี เป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกัน

     ๒. สถาบันทางศาสนา ตอบสนองต่อความต้องการทางจิตใจของบุคคล
นอกจากจะมี ความต้องการปัจจัย ๔ คือ

1. ที่อยู่อาศัย
2. อาหาร
3. เสื้อผ้า
4. ยารักษาโรค 


   แล้วยังจำเป็นต้องมีที่พึ่ง ทางใจเพื่อต่อสู้กับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่นอกเหนืออำนาจของมนุษย์จะเข้าใจและควบคุมได้ ศาสนาจึงเป็นทางแห่งชีวิตโดยมีเทพเจ้าต่าง ๆ คอยช่วยต่อสู้กับอำนาจชั่วร้าย เช่น อำนาจทาง พายุ คลื่นทะเล ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า

     ๓. สถาบันทางศาสนา สร้างความสมดุลทางใจแก่บุคคลและสังคม โดยอาศัยเรื่องเล่า ปรัมปรา และสมมติเทพต่างๆ ในการตอบปัญหาที่มนุษย์ไม่อาจจะหาคำตอบได้ เช่น เมื่อมีข้อ ข้องใจว่าโลกและจักรวาลนี้เกิดมาได้อย่างไร ศาสนาคริสต์ก็ตอบว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้าง เป็นต้น   

     ๔. สถาบันทางศาสนา กำหนดแบบแผนพฤติกรรมของชุมชนโดยทางพิธีกรรมต่าง ๆ เช?น การเกิด การแต?งงาน การทำบุญ การตาย

     ๕. สถาบันทางศาสนา เป็นแหล่งให้การศึกษาตลอดชีพแก่ชุมชน โดยผู้ทำหน้าที่ของ สถาบัน คือพระสงฆ์ เป็นผู้แนะนำสั่งสอนความรู้และวิชาชีพที่นอกเหนือจากพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ชุมชนไทยที่เป็นชาวพุทธก็มีวัดเป็นแหล่งวิทยาการต่าง ๆ มาตั้งแต่โบราณสืบต่อมาจนถึง ปัจจุบัน จนมีคำพูดกันติดปากว่า “บวชเรียนเขียนอ่าน” วัด เป็นสถานที่เรียน อ่าน เขียน คิดเลข และงานฝีมือต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัดและสอนโดยพระสงฆ์ของวัดนั้น ๆ เป็นต้น สำหรับประเทศไทย มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๙ ได้กล่าวว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาประมาณร้อย ละ ๙๐ และสถาบันศาสนาเป็นระบบย่อยของสังคมไทยซึ่งมีวัดเป็นศาสนสถาน มีพระสงฆ์เป็น ศาสนบุคคลที่จะทำให้พระพุทธศาสนาช่วยในการพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติ อย่างสำคัญ ยิ่ง คนไทยสมัยโบราณหันหน้าเข้าวัด ใกล้ชิดวัด สนิทกับวัดมาก และวัดก็ทำหน้าที่ที่สำคัญเพื่อ ชาวบ้านไม่น้อย เช่น

    ๑. เป็นสถานศึกษา ชาวบ้านส่งลูกหลานอยู่วัดเพื่อรับใช้พระและรับการอบรมศีลธรรมเล่าเรียนวิชาการต่าง ๆ จากพระ 
    ๒. เปนสถานสงเคราะหบุตรหลานชาวบ้านที่ยากจนได้มาอาศัยอยู่ในวัด อาศัยเล่าเรียนและดำรงชีพ แม้ผู้ใหญ่ที่ยากจนก็อาศัยวัดดำรงชีพ
    ๓. เป็นสถานพยาบาลรักษาผู้เจ็บป่วยตามความรู้ ความสามารถในสมัยนั้น
    ๔. เป็นที่พักคนเดินทาง 
    ๕. เป็นสโมสร ชาวบ้านมาพบปะสังสรรค์ พักผ่อนหย่อนใจ หาความรู้ 
    ๖. เป็นสถานบันเทิงที่จัดงานเทศกาลและมหรสพต่าง ๆ 
    ๗. เป็นที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (ชาวบ้านไปหาความยุติธรรมที่วัด)
    ๘. เป็นที่ปรึกษาการครองตน การครองชีพ แก้ปัญหาชีวิตครอบครัวและความทุกข์ต่าง ๆ
    ๙. เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรม ที่รวบรวมศิลปกรรมต่าง ๆ ของชาติ
    ๑๐. เป็นคลังพัสดุ เก็บของใช้ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านจะได้ใช้ร่วมกันเมื่อมีงานที่วัด หรือเอาไปใช้ เมื่อตนมีงาน
    ๑๑. เป็นศูนย์กลางการปกครองท้องถิ่น ที่กำนันผู้ใหญ่บ้านเรียกประชุมลูกบ้านชี้แจงข้อราชการต่าง ๆ 
    ๑๒. เป็นที่บำเพ็ญกุศลกิจ หรือประกอบพิธีกรรมตามประเพณีดังคำกลอนที่ว่า วัดจะดี มีหลักฐาน เพราะบ้านช่วย บ้านจะสวย เพราะมีวัด ดัดนิสัย บ้านกับวัด ผลัดกันช่วย อำนวยชัย ถ้าขาดกัน ก็บรรลัย ทั้งสองทาง เช่นในอดีต ประเพณีการลงแขกทำงานถือว่าเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งที่ดีงามของสังคม เป็นการเสริมสร้างความสามัคคี การเอื้อเฟื้อเกื้อกูล และการรวมพลังชุมชน ไม่มีระบบเงินตรา เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ปัจจุบันระบบเงินตราตามระบบทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการทำลาย วัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมชนบท ทำให้ความสามัคคี การเอื้อเฟื้อเกื้อกูล และการรวมพลังชุมชน ขาดหายไป สังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทุกๆ ด้าน มีลักษณะของ “มะเร็งทางสังคม” เป็นสังคมที่ไร้เข็มทิศ ขาดจุดยืนและอุดมการณ์ในความเป็นไทย เพราะสังคมไทยได้รับอิทธิพล ของวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมมากมายหลายด้าน โดยเฉพาะรับเอา วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ไม่ดี
    วัฒนธรรมดังกล่าวเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิต ของคนไทยมาก เพราะทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งทุกวันนี้ สังคมเจริญขึ้นในทางวัตถุ แต่สูญเสียความเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทย เงินกลายเป็นเครื่องกำหนดคุณค่าและฐานะ ทางสังคม เกิดความเสื่อมทางจริยธรรมและคุณธรรม สังคมไทยจึงต้องปรับตัวไปอย่างเหมาะสม ตามไปด้วย มิฉะนั้นแล้วความสับสนวุ่นวายและปัญหานานาประการจะบังเกิดขึ้นในปริมาณที่ จะแก้ไขได้ยาก ดังนั้น เพื่อให้สังคมไทยดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและพัฒนาแบบแผนการดำเนินชีวิต ได้สอดคล้องกับกระแสความแปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการ พัฒนาความเจริญก้าวหน้าและรักษาความมั่นคงของสังคม สมาชิกที่ดีของสังคม ต้องปฏิบัติตาม บรรทัดฐาน ศีลธรรมและขนบธรรมเนียนประเพณีของสังคม มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแนว ปฏิบัติในการดำเนินชีวิต 


   ดังนั้น หลักของพระพุทธศาสนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความคิดทางด้านการพัฒนา ด้านจิตใจ เพราะพระพุทธศาสนาเน้นถึงธรรมะที่สามารถนำมาประยุกต์กับการพัฒนาสังคมและ วัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี เช่น พระพุทธศาสนาสอนให้คนมีความเสียสละช่วยเหลือต่อส่วนรวม มีจิตใจเป็นธรรม ทำให้บุคคลรู้จักตนเอง รู้จักสังคมและทำประโยชน์ต่อสังคม แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทย ควรตระหนักถึงก็คือการรู้จักเลือกรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกที่ดีงามหรือเหมาะสมมาปรับใช้ในสังคม ไทย วัฒนธรรมใดที่ไม่เหมาะสมก็ไม่สมควรจะรับเข้ามาหรือควรช่วยกันสกัดกั้น และอนุรักษ์ วัฒนธรรมไทยส่วนที่ดีงามไว้ไม่ให้เสื่อมสลายไป จากคำกล่าวที่ว่าคนมีจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ความคิด จิตใจเป็นตัวควบคุมหรือกำหนด พฤติกรรมทางกาย การพัฒนาบุคคลจึงต้องเริ่มพัฒนาที่จิตใจ ให้เป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ มี ความคิดเห็นที่ถูกต้อง เมื่อมีความคิดเห็นถูกต้องแล้วก็จะทำอะไรถูกต้องไปด้วย เครื่องมือในการ พัฒนาจิตใจไม่มีอะไรดีไปกว่า ธรรมะ ในพระพุทธศาสนา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา การสร้าง จิตสำนึกด้านคุณงามความดี ได้แก่ การมีคุณธรรมทางจิตใจ ปราศจากอบายมุข สามารถพึ่งตนเอง ได้ มีสุขภาพจิตดี ไม่มั่วสุมในการพนันทุกประเภท ไม่มัวเมาในกามตัณหาอันเป็นเหตุให้ทะเลาะ เบาะแว้งในครอบครัว ซึ่งอาจเป็น   
    สาเหตุให้เกิดความแตกแยกในครอบครัว สิ่งที่จะเป็นเครื่องชี้วัดภาวะการพัฒนาจิตใจ นอกจากวัตถุที่เป็นผลที่เกิดจากการร่วมมือ ร่วมใจในการสร้างสรรค์สังคมแล้ว พระสงฆ์มีส่วนช่วยในการพัฒนาทางด้านพฤติกรรมของบุคคล ในสังคม เช่น การอบรมสั่งสอน เทศน์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงโทษของการเล่นการพนัน การละอาย ต่อบาป รู้วมกันปฏิบัติกิจกรรมตามขนบธรรมเนียมประเพณีตามแนวทางของศาสนา และความ เชื่อในทางที่ถูกต้อง บทบาทของพระสงฆ์กลมกลืนไปกับวัฒนธรรมเดิมของชาวพุทธ เพราะในอดีต วัดและบ้านสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระเป็นผู้นำของชาวบ้านทั้งด้านจิตใจ การปกครอง และสังคม ฉะนั้น พระสงฆ์จึงมีบทบาทต่อการพัฒนาสังคม รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและ วัฒนธธรรม อันดีงามของชาติบ้านเมืองให้ดำรงอยู่ได้ตลอดกาล พุทธศาสนาพาจิตวิจิตรใส วัฒนธรรมไทยให้กายจิตสถิตสม เป็นชาวพุทธสุขสบายสายสังคม ปฏิบัติกลืนกลมสังคมไทย วัฒนธรรมไทยพาไทยบริสุทธิ์ เพราะศาสน์พุทธอุดหนุนวิบูลย์ใหญ่ พุทธธรรมนำมรรคทองผ่องอำไพ เป็นปัจจัยของวัฒนธรรมประจำมา

 

(ที่มา: สารนิพนธ์)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕