หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระทนงค์ศักดิ์ ปภงฺกโร (ดื่นขุนทด)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๙ ครั้ง
การมองโลกตามหลักพุทธปรัชญา
ชื่อผู้วิจัย : พระทนงค์ศักดิ์ ปภงฺกโร (ดื่นขุนทด) ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเมธีสุตาภรณ์, ดร. ป.ธ.๙, พ.ม., M.A., Ph.D.
  พระมหาสุพัตร์ วชิราวุโธ, ป.ธ.๙, Ph.D.
  ดร.เสรี ศรีงาม, น.ธ.เอก, ป.ธ.๔, พธ.บ., M.A., Ph.D.
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

การมองโลกตามหลักพุทธปรัชญาทำการศึกษา แนวคิดการมองโลกตามหลัก            พุทธปรัชญา หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการมองโลกตามหลักพุทธปรัชญา และแนวทางการนำหลักธรรมที่เกี่ยวกับการมองโลกตามหลักพุทธปรัชญาไปใช้ในการพัฒนาชีวิต 

ผลการวิจัยพบว่า  แนวคิดการมองโลกในพุทธปรัชญา แสดงความหมายของโลกโดยตรง คือ โอกาสโลก ได้แก่ ภพภูมิ ๓๑ ความหมายโดยอ้อม คือ สัตว์โลก ได้แก่ สิ่งมีชีวิตทั้งปวง ในที่นี้เน้นที่สัตว์โลก คือ ชีวิตและหมู่สัตว์ โดยเฉพาะชีวิตมนุษย์ มีกำเนิด ๔ ประเภท มีการพัฒนาชีวิตทางกายตามวัย ส่วนพัฒนาชีวิตทางจิตใจย่อมเกี่ยวเนื่องกับอบรมโดยอาศัยปัจจัยทั้งภายในและภายนอก มีเป้าหมายของชีวิตทางกายมีความแข็งแรงสมบูรณ์สมวัย ส่วนทางจิตใจย่อมมีเป้าหมายที่การกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นนำไปสู่ความพ้นทุกข์ การมองโลกตามหลักพุทธปรัชญาเถรวาท เป็นการมองโลกตามความเป็นจริง มี ๑๐ วิธี ในงานวิจัยนี้เน้นแสดง การมองโลกในลักษณะคุณ โทษ และ ทางออก (อัสสาทะ อาทีนวะ และนิสสรณะ) การมองโลกแง่เดียวมีข้อเสีย คือ แง่ดีอย่างเดียว อาจทำให้ประมาท มัวเมาในชีวิต แง่โทษอย่างเดียว อาจเกิดการประทุษร้ายตนเองและบุคคลอื่น และ แง่ทางออกอย่างเดียว อาจทำให้ไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ร่วมสังคมได้ ส่วนประโยชน์ของการมองโลกครบทุกด้าน ย่อมทำให้มีการใช้ชีวิตอย่างผู้มีสติ เหมาะสมตามสถานภาพในสังคม

หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการมองโลกในพุทธปรัชญา ได้แก่ (๑) หลักธรรมที่แสดงการมองโลกในลักษณะอัสสาทะ เช่น โลกียสุขที่เป็นกามสุข และฌานสุข,  สมบัติในโลกทั้ง ๓, ประโยชน์ทั้ง ๓, สุขของคฤหัสถ์ ๔ เป็นต้น  โดยมีหลักธรรมที่ส่งเสริมการมองโลกในลักษณะอัสสาทะนี้ เช่น บุญกิริยาวัตถุ, ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์, พรหมวิหาร ๔, สังคหวัตถุ ๔ เป็นต้น  (๒) หลักธรรมที่แสดงการมองโลกในลักษณะอาทีนวะ เช่น อุปาทานักขันธ์ ๕, ทุกขตา ๓, กามาทีนวกถา เป็นต้น โดยมีหลักธรรมที่ส่งเสริมการมองโลกในลักษณะอาทีนวะนี้ เช่น สังวร ๕, อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕, กายคตาสติ, มรณานุสสติ, สันโดษ เป็นต้น (๓) หลักธรรมที่แสดงการมองโลกในลักษณะนิสสรณะ เช่น เนกขัมมะ, นิพพาน,  วิมุติ ๒, โลกุตตรธรรม ๙ เป็นต้น โดยมีหลักธรรมที่ส่งเสริมการมองโลกในลักษณะนิสสรณะนี้ เช่น ไตรลักษณ์, โลกธรรม ๘, โพธิปักขิยธรรม  ๗ หมวด ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น  (๔) หลักธรรมที่แสดงการมองโลกครบทั้งที่เป็นอัสสาทะ อาทีนวะ และนิสสรณะ เช่น อนุปุพพิกกถา เป็นต้น โดยมีหลักธรรมที่ส่งเสริมการมองโลกทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ อริยสัจ ๔ เป็นต้น

 แนวทางการนำหลักธรรมที่เกี่ยวกับการมองโลกในพุทธปรัชญาไปใช้ในการพัฒนาชีวิต การพัฒนาชีวิตมีความหมายในการทำให้เจริญขึ้น ตามกระบวนการภาวนา ๔ ระดับ ได้แก่ (๑) กายภาวนา (๒) ศีลภาวนา (๓) จิตตภาวนา และ (๔) ปัญญาภาวนา   แนวทางการนำใช้หลักธรรมที่เกี่ยวกับการมองโลกในลักษณะอัสสาทะไปใช้ในการพัฒนาชีวิต ได้แก่ หลักบุญกิริยาวัตถุ ใช้พัฒนาชีวิตได้ทั้ง ๔ ระดับ หลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์และหลักสังคหวัตถุ ๔ ใช้พัฒนาทางกายภาวนาและศีลภาวนา ส่วนหลักพรหมวิหาร ๔ ใช้สำหรับเจริญจิตตภาวนาเป็นหลัก แนวทางการนำใช้หลักธรรมที่เกี่ยวกับการมองโลกในลักษณะอาทีนวะไปใช้ในการพัฒนาชีวิต ได้แก่ หลักสังวร ๕ ใช้พัฒนาชีวิตได้ ๔ ระดับตามสมควร หลักอภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ และมรณานุสสติเน้นเจริญปัญญาภาวนา หลักกาย คตาสติ เน้นเจริญจิตตภาวนาและปัญญาภาวนา หลักสันโดษเน้นการเจริญ กายภาวนาและศีลภาวนา หลักไตรลักษณ์ ใช้พัฒนาชีวิตได้ทั้ง ๔ ระดับ แนวทางการนำหลักธรรมที่เกี่ยวกับการมองโลกในลักษณะนิสสรณะไปใช้ในการพัฒนาชีวิต ได้แก่ หลักโลกธรรม ๘ เน้นเจริญศีลภาวนาและปัญญาภาวนา หลักเนกขัมมะเน้นจิตตภาวนาและปัญญาภาวนา ส่วนหลักโพธิปักขิยธรรมใช้พัฒนาชีวิตได้ทั้ง ๔ ระดับ และสำหรับแนวทางการนำหลักธรรมที่เกี่ยวกับการมองโลกครบทั้งลักษณะอัสสาทะ อาทีนวะ และนิสสรณะ ตามหลักพุทธปรัชญาไปใช้ในการพัฒนาชีวิต หลักอนุปุพพิกกถา ๕ และอริยสัจ ๔  ย่อมปรับใช้พัฒนาชีวิตได้ทั้ง ๔ ระดับ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕