หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระศรศักดิ์ สงฺวโร (แสงธง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๙ ครั้ง
การวิเคราะห์จริต ๖ กับการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : พระศรศักดิ์ สงฺวโร (แสงธง) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูโสภณพัฒนานุยุต,ผศ.,ดร., ป.ธ.๔, พธ.บ., กศ.ม.,Ph.D.
  พระครูสุนทรธรรมนิทัศน์,ศษ.บ,ศศ.ม,Ph.D.
  ดร.บุญปั๋น แสนบ่อ, ว.ทบ.,ว.ทม.,Ph.D.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

งานวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ () เพื่อศึกษาจริต ๖ในพระพุทธศาสนา () เพื่อศึกษาหลักการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา และ () เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของจริต ๖ กับการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา

ผลการวิจัยพบว่า จริต ๖ เป็นหลักธรรมะหมวดหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญในฐานะที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งบุคคลในแต่ละจริตย่อมมีพฤติกรรมเฉพาะที่แตกต่างกันไปตามจริต ๖ ประเภท คือ (๑) ราคจริต ผู้มีความประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม (๒)โทสจริต ผู้มีความประพฤติหนักไปทางใจร้อน หงุดหงิด (๓) โมหจริต ผู้มีความประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึม เงื่องงง งมงาย (๔) สัทธาจริต ผู้มีความประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย (๕) พุทธิจริตหรือญาณจริต ผู้มีความประพฤติหนักไปทางใช้ความคิดพิจารณา และ (๖) วิตกจริต ผู้มีความประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจด ฟุ้งซ่าน  สาเหตุของการมีจริต ๖ ที่แตกต่างกันนั้นพบว่า มีสาเหตุมากจากความเคยชินในอดีต หรือจากกรรมที่เคยทำไว้ในอดีตชาติ และเมื่อกล่าวถึงเรื่องของจริต ๖ ในเบื้องต้นนั้นพบว่าจะมุ่งไปในเรื่องของแนวทางการเจริญสมถกรรมฐาน คือ หมวดกรรมฐาน ๔๐ ประการ เป็นหลัก

การศึกษาในเรื่องหลักการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น พบว่า การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนามี ๒ อย่าง คือ (๑) สมถกรรมฐาน และ (๒) วิปัสสนากรรมฐาน โดยสมถกรรมฐานนั้น เป็นการฝึกให้เกิดสมาธิสงบระงับจากนิวรณูปกิเลสหรือฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ ในการฝึกสมถกรรมฐานนั้นจะใช้จิตเพ่งที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งก็ได้ในบรรดากรรมฐาน ๔๐ วิธี ซึ่งต้องขึ้นอยู่ที่จริตของแต่ละคน และเพื่อยกจิตที่สงบแล้วขึ้นสู่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อไป ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน  การฝึกฝนอบรมเจริญปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งในรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์หรือรู้แจ้งต่อสภาวะของรูปนามตามความเป็นจริง สิ่งที่จะต้องใช้กำหนด(อารมณ์) ในการเจริญวิปัสสนานั้นคือ รูปและนาการที่จะรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับรูปนามนั้นจะต้องใช้สติจดจ่ออยู่กับความเป็นไปของรูปนาม นั่นคือ การพินิจพิจารณา ทำให้คลายความยึดมั่นในรูปนามได้ ก็จะเห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และไม่ใช่ตัวตน ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจึงเป็นเสมือนระบบฝึกหัดขัดเกลาจิตให้รู้เท่าทันโลกและชีวิต กำจัดกิเลสตัณหาอวิชชาให้หมดไป เข้าสู่จุดหมายสูงสุดของชีวิต คือ มรรค ผล และพระนิพพาน

ผู้วิจัยได้ประมวลองค์ความรู้จากการศึกษาเรื่องจริต ๖ และการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาแล้วนำมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์เพื่อเลือกหาแนวทางในการปฏิบัติธรรมหรือการเจริญกรรมฐานให้เหมาะสมกับจริตของแต่ละบุคคลดังนี้คือ (๑) คนราคจริตเหมาะกับการเจริญอสุภและกายคตาสติ (๒) คนโทสจริต เหมาะกับการเจริญพรหมวิหาร ๔ หรืออัปปมัญญา ๔ และวัณณกสิณ (๓)คนโมหจริต เมื่อศึกษาพระธรรมจนเกิดปัญญาแล้ว ให้เจริญมรณสติ และจตุธาตุววัฏฐาน (๔) คนสัทธาจริต เหมาะกับการเจริญอนุสสติ ๖ (๕) คนพุทธิจริต หรือญาณจริต เหมาะกับการเจริญกรรมฐานที่เป็นนิมิตแห่งวิปัสสนามีอาการไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และ (๖) คนวิตกจริต เหมาะกับการเจริญอานาปานสติเป็นหลัก นอกจากนี้ในเรื่องของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ พบว่า จริต ๒ ประเภท คือ ตัณหาจริตและทิฏฐิจริต มีความเชื่อมโยงกับการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ หมวด ซึ่งเป็นกรรมฐานที่เหมาะกับจริตทั้ง ๒ ประเภท ซึ่งจริต ๒ นี้มีความหมายสัมพันธ์สอดคล้องกันกับลักษณะของจริต ๖ ทำให้ผู้วิจัยได้ทำการสังเคราะห์จริต ๖ ลงในจริต ๒ คือ ราคจริต โมหจริตและสัทธาจริต สังเคราะห์ลงใน ตัณหาจริตมีปัญญาไม่แก่กล้าและมีปัญญาแก่กล้า กรรมฐานที่เหมาะสมคือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานและเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ส่วน โทสจริต พุทธจริตและวิตกจริต สังเคราะห์ลงใน ทิฏฐิจริตมีปัญญาไม่แก่กล้าและมีปัญญาแก่กล้า กรรมฐานที่เหมาะสมคือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานและธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สรุปได้ว่าการปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน ๔ นี้ เหมาะสมกับคนทุกจริต ทุกประเภท

ในการเลือกแนวทางในการปฏิบัติธรรมนี้ ผู้วิจัยแนะนำให้ผู้ปฏิบัติเลือกปฏิบัติธรรมให้เหมาะสมกับจริตของตน และหมั่นปฏิบัติธรรมในหมวดนั้น ๆ อยู่เสมอ จนสามารถนำการปฏิบัติมาบูรณาการให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕