หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวลักษณา ทองทศ
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๔ ครั้ง
ศึกษาทัศนคติเรื่องการให้ทานของชาวบ้านดอนกลาง ตำบลธาตุอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีกับหลักการให้ทานในคัมภีร์ พระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวลักษณา ทองทศ ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโพธิคุณ, ดร. พธ.บ.(ปรัชญา) M.A.(Phil.) Ph.D.(Phil.)
  พระครูสมุห์เฉวียน กตปุญโญ, ดร. พธ.บ.(Sociology) Ph.D. (Sociology)
  ดร.ประยูร แสงใส. พ.ม.,พธ.บ.(ครุฯ) M.A. Ph.D. (Ed.)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “ศึกษาทัศนคติเรื่องการให้ทานของชาวบ้านดอนกลาง ตำบลธาตุ  อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีกับหลักการให้ทานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท” โดยมีวัตถุประสงค์    ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับการให้ทานในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาทัศนคติการให้ทานของชาวบ้านดอนกลาง  ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบทัศนคติเรื่องการให้ทานของชาวบ้านดอนกลางกับหลักการให้ทานในคัมภีร์พระพุทธศาสนา การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพคือเน้นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) และวิจัยภาคสนาม (Field Research)

ผลการวิจัยพบว่า ทานในพุทธศาสนา หมายถึงการให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลตอบแทน และยังหมายถึงการสงเคราะห์ การบริจาค การแบ่งปัน การเสียสละ เป็นการเฉลี่ยความสุขที่ตนมีให้กับคนอื่น หรือเป็นการบำรุงศาสนาให้ดำรงคงอยู่ได้เพื่อประโยชน์ของสังคม การให้ทานมีทั้งอามิสทาน (การให้สิ่งของหรือวัตถุที่ควรให้) ธรรมทาน (การให้พระธรรมคำสั่งสอน) และอภัยทานคือการให้โอกาส โดยทัศนคติเกี่ยวกับการให้ทานอยู่ที่ตัวบุคคล สิ่งของ สถานการณ์ หรือสถานที่อย่างใดอย่างหนึ่งจากความเชื่อ ความศรัทธาของผู้มีประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในสภาพแวดล้อมของคนที่อยู่นั้น รู้และเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับการให้ทานรวมทั้งถูกปลูกฝังมาอย่างถูกต้องตามหลักของพุทธศาสนา 

ชาวบ้านดอนกลางมีทัศนคติเกี่ยวกับความหมายการให้ทานใกล้เคียงกับการให้ทานในคัมภีร์พระพุทธศาสนามากที่สุด โดยเฉพาะ ทานคือการให้ ช่วยเหลือ แบ่งปัน แต่ส่วนมากเข้าใจการให้วัตถุทาน ส่วนธรรมทานได้เพียงแต่การเข้าวัดฟังธรรม มอบหนังสือ หรือแนะนำให้คนทำในสิ่งที่ถูกต้อง ขณะที่อภัยทานคือมอบโอกาสใหม่ให้คนที่หลงผิดกลับกายกลับใจ เป็นคนที่ดีของสังคม แต่ความละเอียดและความลึกซึ้งของทานทั้งสองอย่างข้างหลังนี้ค่อนข้างจะเข้าใจน้อย อย่างไรก็ดี ประชาชนชาวบ้านดอนกลางยังเลือกบุคคลที่จะให้ โดยเฉพาะนักบวชในทางพระพุทธศาสนาโดยให้เหตุผลว่า เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ และไว้ใจมากที่สุดเพราะมีความเชื่อที่ว่าจะได้เป็นบุญกุศลทั้งในชาตินี้ และชาติหน้า แล้วสามารถอุทิศบุญกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีความคาดหวังว่าจะมีสุขภาพแข็งแรง พออยู่พอกินและมีพระนิพพานเป็นที่สุด        

 ทัศนคติการให้ทานของชาวบ้านดอนกลางกับหลักการให้ทานในคัมภีร์พระพุทธศาสนา จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ชาวบ้านดอนกลางได้แสดงทัศนคติการให้ทานมีลักษณะใกล้เคียงกับหลักการทางพระพุทธศาสนามากที่สุดทั้งความหมายตลอดจนถึงอานิสงส์ของการให้ทาน โดยเฉพาะการให้ทาน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ยาก ลดความเห็นแก่ตัว สร้างคุณงามความดี ความสบายใจ และเพื่ออุทิศแก่บรรพบุรุษ ซึ่งบุคคลที่ควรรับจะต้องเป็นผู้ประสบทุกข์ และมีคุณธรรม  ขณะเดียวกัน ผู้ให้ประกอบด้วยความปราโมทย์ ยินดีกับการให้ทานทั้งก่อนให้ ขณะให้ และภายหลังให้แล้ว ส่วนลักษณะทานที่ไม่ดี คือให้เพื่อหวังผลตอบแทนด้านโลกธรรม และ วัตถุทานมีตำหนิ เป็นการให้แบบอสัตบุรุษ ลักษณะการให้ทานที่ดี คือการให้แบบสัตบุรุษด้วยความเต็มใจ บริสุทธิ์ใจ กระทั่งวัตถุทานด้วย

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕