หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ร.ต.ต.หญิง กชกร โพธิหล้า
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์อิทธิพลความเชื่อเรื่องผีปอบที่มีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา : กรณีศึกษา บ้านดอนยานาง, จังหวัดกาฬสินธุ์
ชื่อผู้วิจัย : ร.ต.ต.หญิง กชกร โพธิหล้า ข้อมูลวันที่ : ๓๑/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร (อบอุ่น), ดร. ป.ธ.๗, ร.บ., พช.ม., พธ.ด.(พระพุทธศาสนา)
  ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม, อบ.(อภิธรรม บัณฑิต),บศ. ๙ (บาลีศึกษา ๙ ประโยค) ศศ.บ.(ภาษาอังกฤษ), ศศ.บ.(ภาษาไทย) พธ.ม.พระพุทธศาสนา) พธ.ด.(พระพุทธศาสนา)
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ  (๑) ศึกษาแนวคิดและความเชื่อเรื่องผี    ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) ศึกษาความเชื่อเรื่องผีในทัศนะร่วมสมัย (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์อิทธิพลความเชื่อเรื่องผีปอบที่มีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ของบ้านดอนยานาง จังหวัดกาฬสินธุ์       

             ผลการศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนาพบว่า  ในพระพุทธศาสนานั้นก็มิได้ปฏิเสธอมนุษย์ (ผี) เช่น เมื่อเกิดภัย ๓ อย่างในเมืองไพศาลี หนึ่งในนั้น คือ ภัยเกิดจากอมนุษย์ (ผี) ในครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้ให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตรแล้วสวดพระปริตร ทำให้อมนุษย์ทั้งหลายหนีไปหมด และพระผู้มีพระภาคได้รับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย เรื่องอันตราย ๑๐ ประการ ของพระภิกษุ หนึ่งในนั้น คือ   ผีเข้าสิงภิกษุ เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อ  โดยพระพุทธศาสนามีท่าทีหรือสอนให้มนุษย์ปฏิบัติต่อผีอย่างเหมาะสม ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผีหรือผู้ที่จากไป และตามที่ปรากฏในรัตนสูตร, เมตตสูตร, ปัพพชิตอภิณหสูตร, ธรรมบท, เรื่องไตรภูมิ และพระสูตรอื่นๆ  

             ตามหลักการพระพุทธศาสนาสอนให้เชื่อเรื่องกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เรามีกรรมเป็น    ของตน เป็นผู้รับผลของกรรม และความเชื่อต้องประกอบด้วยปัญญา ศรัทธา ๔ ประการ คือ          (๑) กัมมสัทธา เชื่อกฎแห่งกรรม (๒) วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม (๓) กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน (๔) ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า  โดยกรรมเป็นทางนำสัตว์ไปเกิดใน ๓ ภูมิ คือ กามภูมิ  รูปภูมิ  และ อรูปภูมิ 

             โดยภาคอีสานนำเอามูลเหตุที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนามาประยุกต์เข้ากับความเชื่อเรื่องผีเดิมเป็นประเพณีฮีตสิบสองในการประกอบการทำบุญทั้งสิบสองเดือน สำหรับผู้หวังมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือนิพพานในอนาคต

             ความเชื่อเรื่องผีของคนไทยมีการจัดประเภทผีทั่วไป ไว้มากมาย เช่น ผีบรรพบุรุษ      รุกเทวดา ผีปอบ ผีแม่นาคพระโขนง และผีอื่นๆ เชื่อว่ามีผีให้คุณให้โทษ และยังเป็นการแสดงเคารพกตัญญูต่อผีบรรพบุรุษ ทำให้คนไม่กล้าทำผิดเป็นการควบคุมความประพฤติบุคคลโดยทางอ้อม 

             การประกอบพิธีฮีตสิบสองหมู่บ้านดอนยานาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ประเพณีสิบสองเดือนเป็นการประกอบงานบุญ เช่น งานวันสงกรานต์แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว    ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผีบรรพบุรุษ และการทำบุญซำฮะที่ศาลากลางหมู่บ้านนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาทำพิธีปัดรังควานขับไล่สิ่งไม่ดีให้ออกไปพ้นเขตหมู่บ้าน

             ความเชื่อเรื่องผีปอบและผีอื่น ๆ ที่มีต่อพิธีกรรมของชาวบ้าน ดังนี้

             ๑. พิธีขึ้นบ้านใหม่  มีการสวดถอนโดยนำเอาแบบอย่างการสร้างพระอุโบสถ์ และนิมนต์พระสงฆ์มาค้างคืน เพื่อให้พระสงฆ์ทำกิจของสงฆ์ คือ สวดมนต์เช้า-เย็น เพื่อให้เป็นสิริมงคล ถือว่าเป็นการขับไล่เสนียดจัญไร หมายถึง ภูตผี วิญญาณร้ายต่างๆ รวมทั้งผีปอบ

             ๒. พิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ ทำให้สำหรับคนป่วยหรือผู้ที่หายป่วย เช่น การแต่งแก้     เสียเคราะห์ เพื่อให้ผู้ป่วยหายโรคภัยและปัดรังควานขับไล่สิ่งชั่วร้าย เช่น ภูตผีต่างๆ รวมทั้งผีปอบด้วย

             ๓. พิธีกรรมสู่ขวัญ  เมื่อเกิดการเสียขวัญ เช่น การเจ็บป่วยนานๆ ดีใจหรือตกใจเสียใจขวัญหนีไปอยู่ที่ต่างๆ ผีปอบและผีต่าง ๆ จับไว้ไม่ให้ขวัญกลับมา จึงทำพิธีเรียกขวัญกลับมาอยู่ที่กาย

             ความเชื่อเรื่องผีปอบที่มีต่อพิธีกรรมเซียงข้องภาคอีสานและของชาวบ้านดอนยานาง จังหวัดกาฬสินธุ์ การประกอบพิธีกรรมเซียงข้องภาคอีสาน เป็นการใช้ค้นหาหรือติดตามสิ่งของที่หาย หรือจับขโมย หรือใช้ปราบสิ่งชั่วรายและเป็นการปัดรังควาน เช่น ผีปอบ ให้ออกจากหมู่บ้าน เซียงข้อง   จะช่วยตามหาเจ้าของผีปอบว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน เซียงข้องมีสามประเภท คือ (๑) เชียงข้อง ขจ้ำ        (ผีบรรพบุรุษ) สิงเข้าเซียงข้อง (๒) เซียงข้องเทวดา (๓) เซียงข้องวิชาอาคม

             การประกอบพิธีรักษาหมู่บ้าน ของหมู่บ้านดอนยานาง พระครูประสุต ธรรมสุนทร          ทำพิธีกรรมการเข้าทรง และทำพิธีปลุกเสกไม้ทศกัณฐ์และคนจับไม้ทศกัณฑ์เพื่อไล่จับผีปอบ

             ความเชื่อเรื่องผีปอบและผีอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา   (๑) การสวดภาณยักษ์  (๒) พิธีกรรมทำน้ำพระพุทธมนต์  (๓) การสวดพระปริตร  

          พิธีกรรมตามคัมภีร์อาถรรพณ์เวทย์ของพราหมณ์ พวกอารยันได้เขียนคัมภีร์ไว้ แบ่งเป็น ๘ ประเภท โดยเฉพาะคัมภีร์ที่ ๖ เกี่ยวกับไสยศาสตร์ที่ใช้ภูตผีปีศาจทำอันตรายผู้ที่เป็นศัตรู ส่วนคัมภีร์ที่ ๗ เป็นพระเวทย์แก้ภูตผีปีศาจ เรียนปลุกเสกสิ่งของเพื่อขับไล่ผี

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕