หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระธวัช จิรวฑฺโฒ (อ่วมสอาด)
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๐ ครั้ง
สภาพการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
ชื่อผู้วิจัย : พระธวัช จิรวฑฺโฒ (อ่วมสอาด) ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  อาจารย์ ดร.พิเชฐ ทั่งโต, พ.ม.ช., พธ.บ., M.A., Ph.D. (Pub. Admin.)
  ผศ.ดร. เติมศักดิ์ ทองอินทร์, พธ.บ., M.A., Ph.D. (Pol. Sc.)
  ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม, พ.ม., พธ.บ., M.A., Ph.D. (Pol.Sc.)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                   การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นของพระภิกษุสามเณรที่มีต่อสภาพการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล และ (๓) ศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาสภาพการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Research) ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เก็บข้อมูลภาคสนาม (Field Study) จากพระภิกษุและสามเณรในสังกัดคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จำนวน ๑๘๙ รูป โดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) ลักษณะของแบบสอบถามเป็นทั้งปลายปิดและปลายเปิด ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ โดยหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : S.D.) ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบ  ค่าที (t-test) และค่าเอฟ (F-test) วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way Analysis of Variance) เมื่อพบความแตกต่าง จึงทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นคู่ ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference: LSD) และเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) คือ การวิเคราะห์เอกสารและการสัมภาษณ์ (Interview) ผลการวิจัยพบว่า

                   ๑. สภาพการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๗๙ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านครูสอนพระปริยัติธรรม ด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม ด้านสื่อการเรียนการสอน และ ด้านการวัดและประเมินผล อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านครูสอนพระปริยัติธรรม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๙๖ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ ด้านสื่อการเรียนการสอน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๖๔

                   ๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของพระภิกษุสามเณรที่มีต่อสภาพการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล ทดสอบสมมติฐานโดยการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างตัวแปร ได้แก่ สถานะ อายุ วุฒิการศึกษาสามัญ วุฒิการศึกษานักธรรม และวุฒิการศึกษาเปรียญธรรม ของพระภิกษุและสามเณรที่ตอบแบบสอบถาม พบว่า สถานภาพส่วนบุคคลในด้านอายุ และวุฒิการศึกษาเปรียญธรรม ของพระภิกษุสามเณรผู้ตอบแบบสอบถาม มีผลทำให้ความคิดเห็นที่มีต่อสภาพการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนสถานภาพส่วนบุคคลในด้านสถานะ วุฒิการศึกษาสามัญ และวุฒิการศึกษานักธรรม ของพระภิกษุสามเณรผู้ตอบแบบสอบถาม มีผลทำให้ความคิดเห็นที่มีต่อสภาพการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม โดยภาพรวม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑ ซึ่งเป็นการยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้

                   ๓. ข้อเสนอแนะแนวทางพัฒนาสภาพการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จำแนกตามรายด้านของการวิจัย ๔ ด้าน ดังนี้

                       ๓.๑ ด้านครูสอนพระปริยัติธรรม มีแนวทางพัฒนาสภาพการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม โดยการสรรหาครูสอนพระปริยัติธรรมให้มีจำนวนเพียงพอและเหมาะสมกับจำนวนผู้เรียน ในกรณีที่ไม่สามารถกระทำได้ ให้จัดส่งครูสอนพระปริยัติธรรมและผู้เรียนของแต่ละสำนักเรียน ไปจัดการเรียนการสอนร่วมกันในรูปแบบของสำนักศาสนศึกษาประจำตำบล, การจัดอบรมทักษะด้านเทคนิคการสอนที่ให้แก่ครูสอนพระปริยัติธรรม เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนให้สามารถกระตุ้นและเร้าความสนใจแก่ผู้เรียนได้ และการจัดให้ครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมทำหน้าที่สอนเต็มตามตารางเวลา

                       ๓.๒ ด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม มีแนวทางพัฒนาสภาพการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม โดยการจัดสถานที่ที่ใช้จัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมเป็นเอกเทศจากเสนาสนะอื่น, จัดเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องระบายความร้อนในห้องเรียน หรืออาจปลูกต้นไม้เพื่อบังแสงแดดที่ส่องมายังห้องเรียนในช่วงเวลาบ่าย และควรเปลี่ยนสถานที่เรียนบ้าง ในโอกาสที่สมควร เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดแก่ผู้เรียน

                       ๓.๓ ด้านสื่อการเรียนการสอน มีแนวทางพัฒนาสภาพการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม โดยการจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดซื้อ จัดหา จัดสร้าง อุปกรณ์การเรียนการสอน โดยเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการบริจาคทรัพย์ เพื่อนำมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อการศึกษาของพระภิกษุสามเณรประจำสำนักศาสนศึกษา, การกำหนดคู่มือการสอนของครูผู้สอนและแบบเรียนของผู้เรียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จากสำนักพิมพ์เดียวกัน และการเลือกใช้สื่อการสอนให้เหมาะสมกับสภาพของห้องเรียน

                       ๓.๔ ด้านการวัดและประเมินผล มีแนวทางพัฒนาสภาพการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม โดยการจัดอบรมทักษะความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการวัดและประเมินผลการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาถวายความรู้แก่ครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมที่เข้าร่วมอบรม และควรบูรณาการรูปแบบของการวัดและประเมินผลที่เน้นการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้จริง

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕