หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวชะม้อย คุมพล
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์เชิงพุทธจริยธรรมการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ปรากฏในไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวชะม้อย คุมพล ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูปริยัติกิตติธำรง (ทองขาว กิตฺติธโร), ผศ.,ดร., ป.ธ.๔, พธ.บ. (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง), M.A., Ph.D. (Soc.)
  อาจารย์ ดร.ทรงวิทย์ แก้วศรี ป.ธ.๗, พ.ม., พธ.บ., ศศ.บ., PGDLS, M.Lib.Sc.,พธ.ด.
  อาจารย์ ดร.พิเชฐ ทั่งโต พ.ม.ช.,พธ.บ.,M.A., Ph.D. (Pol.Sc.)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๔
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

              วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดการบริหารราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑  เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยปัจจุบัน   ทั้งนี้ โดยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์จากไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ตลอดจนหนังสือและเอกสารทางวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ผลการศึกษาพบว่า

             การบริหารราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้นทรงยึดถือแบบอย่างธรรมเนียมตามพระมหากษัตราธิราชเจ้าในอดีต ซึ่งสามารถสืบค้นไปได้จนถึงสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะพระมหาธรรมราชาลิไท ผู้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิพระร่วงเป็นปฐม  จากพระราชดำริตามแนวคิดในไตรภูมิพระร่วงนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เรียบเรียงไตรภูมิโลกวินิจฉัยกถา ขึ้นในรัชสมัยของพระองค์  

             โดยเนื้อหาสาระของเรื่อง คล้ายคลึงกับไตรภูมิพระร่วงของพระมหาธรรมราชาลิไท   กล่าวคือบรรยายถึงไตรภูมิ ได้แก่ สามโลก ได้แก่มนุษย์ สวรรค์ และนรก จะเห็นได้ว่าในส่วนของกุศโลบายในการปกครองไพร่ฟ้าประชาชน จะเน้นแนวปฏิบัติ  ๒ ประการ คือ

             ๑.  แนวปฏิบัติทางโลกียวิสัย เน้นสอนให้มนุษย์ปฏิบัติชอบประกอบความดีโดยมีจุดหมาย คือ

                  ๑.๑  การทำความดีแล้วมีผลดีตอบสนองในชาตินี้

                  ๑.๒  การทำความดีแล้วไปเกิดใหม่ในภพที่ดี  เช่น ไปเกิดในสวรรค์ที่สมบูรณ์ด้วยทิพยสมบัติ หรือเกิดเป็นมนุษย์ในแดนอุดมคติที่รื่นรมย์ กล่าวคือ อุตตรกุรุทวีป โดยเฉพาะขอให้เกิดทันยุคของพระศรีอาริยเมตไตรย  เป็นต้น

             ๒. แนวปฏิบัติทางโลกุตตรวิสัย โดยมีจุดมุ่งหมายคือความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ได้แก่ การบรรลุพระนิพพาน

             ในส่วนรัฐประศาสโนบายนั้น ไตรภูมิโลกวินิจฉัยชี้ให้เห็นหลักธรรมที่พระมหากษัตริย์ หรือผู้ปกครองบริหารพึงยึดถือปฏิบัติ ได้แก่จักรวรรดิวัตร อันอาจสรุปลงในทศพิธราชธรรม ดังนี้ ไตรภูมิโลกวินิจฉัยจึงเป็นแบบอย่างแห่งการประพฤติปฏิบัติทั้งของผู้ปกครอง และประชาชน อันเป็นแนวทางให้สืบทอดถือปฏิบัติสืบมาถึงรัชกาลปัจจุบัน

             ในงานวิจัยชิ้นนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงหลักจริยธรรมอันได้จากการศึกษาคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัยใน ๓ ด้านคือ ด้านการเมืองการปกครอง ๑ ด้านเศรษฐกิจ ๑  และด้านสังคม ๑  ในด้านการเมืองการปกครองนั้น หมวดธรรมสำคัญได้แก่ จักรวรรดิวัตร ทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุ และหลักการของพระราชาผู้ปกครองโดยธรรมและไม่เป็นธรรมเป็นอย่างไร ในส่วนของเศรษฐกิจ เน้นหมวดธรรมจากโภคสูตร  โภคอาทิยสูตร คือการแสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมแล้วพึงจับจ่ายใช้สอยอย่างไร จนกระทั่งถึงการบำรุงราษฎรด้วยเกษตรกรรม ธุรกรรม และการค้าขาย อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ในส่วนสังคม มีการชำระกฎหมาย    ตราสามดวง การสังคายนาพระไตรปิฎกและคัมภีร์พระพุทธศาสนาอื่นๆ การฟื้นฟูประเทศชาติและพระศาสนาด้านต่าง ๆ

             เหนือสิ่งอื่นใด วัตถุประสงค์ของการเรียบเรียงหนังสือไตรภูมิโลกวินิจฉัยนี้    ก็เช่นเดียว กันกับไตรภูมิพระร่วง คือต้องการให้บุคคลเชื่อในกรรมและวิบากคือผลแห่งกรรมว่า ผลแห่งกรรมส่งผลเป็นวิบากให้บุคคลได้รับทุกข์หรือเสวยสุขในภพภูมินั้น ๆ จนกว่าจะบรรลุถึงวิสุทธิภูมิ คือแดนอันบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงเข้าถึงแดนแห่งอมตมหานิพพานเป็นที่สุด.

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕