หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาริกา หาญพานิชย์
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๒ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์พระพรหมในศาสนาพราหมณ์ ตามทัศนะพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : นางสาริกา หาญพานิชย์ ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  รองศาสตราจารย์อุดม บัวศรี M.A. (Philosophy)
  .
  .
วันสำเร็จการศึกษา : 2556
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

การศึกษาวิเคราะห์พระพรหมในศาสนาพราหมณ์ ตามทัศนะพระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นการศึกษาจากเอกสาร (Documentary  Research) มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับพระพรหมในศาสนาพราหมณ์และในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์พระพรหม ตามทัศนะพระพุทธศาสนาเถรวาท

ผลการศึกษาจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ ตลอดจนตำรา และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า พระพรหมในทัศนะของพระพุทธศาสนานั้นเป็นเพียงสัตว์โลกชนิดหนึ่ง แต่เป็นเทวดาชั้นสูงที่ไปเกิดเป็นพรหมอยู่ในพรหมโลก ด้วยอำนาจของฌานในแต่ละดับ ที่ได้เจริญมาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ และอีกความหมายหนึ่งนั้นใช้เปรียบบุคคลผู้มีคุณธรรมสูงให้เป็นพรหม เช่น ยกย่องบิดามารดาว่าเป็นพรหมของลูก พรหมในทัศนะของพระพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้อย่างมีที่มาที่ไป และมีความหมายเชิงเป็นเหตุเป็นผล ส่วนพรหมในทัศนะของศาสนาพราหมณ์นั้น จากการศึกษาพบว่ามีฐานะเป็นพระเจ้า (God) ทรงเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งในโลก พระองค์ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด และทรงอยู่เหนือวิสัยที่จะพูดที่จะคิดถึงได้ ดังนั้นพรหมในทัศนะของศาสนาพราหมณ์จึงมุ่งให้ความหมายในเชิงอภิปรัชญา

สำหรับผลการศึกษาด้านคุณลักษณะของพรหมนั้น พบว่าพระพรหมในทัศนะของศาสนาพราหมณ์นั้นทรงเป็นผู้ที่มีพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนือจักรวาล จึงมีคุณลักษณะที่ไม่สามารถให้ความหมาย ให้คำนิยาม หรือไม่สามารถพรรณนาได้ว่ามีคุณลักษณะอย่างไร ส่วนพระพรหมในทัศนะของพระพุทธศาสนา ถึงแม้ว่าจะประกอบไปด้วยคุณลักษณะฝ่ายดี ไม่ว่าจะมีอายุที่ยืนยาว มีรูปร่างสวยงาม มีรัศมีรุ่งเรืองสว่างไสว มีเสียงอันไพเราะ เป็นต้น แต่พระพรหมในทัศนะของพระพุทธศาสนาก็ไม่ได้มีอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนือจักรวาล ดังเช่นพระพรหมในศาสนาพราหมณ์

ส่วนประเด็นความเชื่อของพรหมในเรื่องการกำเนิดโลกนั้น พบว่าพระพรหมในทัศนะของพระพุทธศาสนาไม่ได้มีอำนาจในการสร้างโลกและจักรวาล เหมือนกับพรหมในทัศนะคติของศาสนาพราหมณ์ จากหลักฐานทางคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาได้มีการประกาศทฤษฎีว่าด้วยการกำเนิดโลกนั้นเป็นไปตามกระบวนการทางธรรมชาติ และพระพุทธศาสนาได้ปฏิเสธความเชื่อเรื่องระบบวรรณะ ที่ว่าพระพรหมเป็นผู้บันดาลให้เกิดมนุษย์ในวรรณะต่างๆ โดยปรับเปลี่ยนความเชื่อเรื่องระบบวรรณะให้เป็นเรื่องของคุณธรรมความดีของมนุษย์ อันเกิดจากการกระทำด้วยตัวตนของมนุษย์เอง และจากผลการศึกษาเกี่ยวกับหลักคำสอนของพรหม ในทั้ง ๒ ศาสนา พบว่ามีความเชื่อมโยงของหลักคำสอนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในประเด็นพระพรหมที่เป็นบุคลาธิษฐานของศาสนาพราหมณ์ที่มีฐานะเป็นเทพเจ้านั้น สอดคล้องกับพระพรหมของทางศาสนาพุทธที่สถิตอยู่ในพรหมโลกทั้ง ๒๐ ชั้น และการปฏิบัติเพื่อความเป็นพรหม เช่น การเพ่งกสิณ และการทำฌานสมาบัติ ๘ เป็นต้น

สำหรับผลการวิเคราะห์ประเด็นหลักคำสอนเรื่องพรหมในเชิงอภิปรัชญา ที่เชื่อมโยงมาจากคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ พบว่าหลักคำสอนในลักษณะที่เป็นอภิปรัชญานี้ไม่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยยุคปัจจุบัน ซึ่งหลักคำสอนเรื่องพรหมควรเน้นเรื่องคุณธรรมความดีที่ทำให้เป็นพรหม และเน้นพรหมที่ความเป็นปัจจุบันกาล และจากการศึกษาพบว่าพรหมวิหารธรรม นั้นเป็นคุณธรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยได้อย่างแท้จริงเพราะพรหมวิหารธรรมเป็นคุณธรรมที่ก่อให้เกิด ความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ซึ่งถือเป็นคุณธรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม อีกทั้งพรหมวิหารธรรมนั้นยังเป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมคุณธรรมข้ออื่นๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย เช่น ก่อให้เกิดความรัก ความปรารถนาดีต่อกันในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕