หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » อาทิตยา ม้ามณีแดง
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๕ ครั้ง
การศึกษาการจัดการความกลัวในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : อาทิตยา ม้ามณีแดง ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๕/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีคัมภีรญาณ
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
  สมิทธิพล เนตรนิมิตร
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๔
 
บทคัดย่อ

                 งานวิจัยเรื่องนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความหมายและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความกลัว แนวคิดเกี่ยวกับความกลัวในพระพุทธศาสนาเถรวาท การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมเพื่อจัดการความกลัว  เพื่อให้ผู้ที่เกิดความกลัวสามารถจัดการกับความกลัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยการศึกษาจากแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับความกลัวโดยทั่ว ๆ ไป ความกลัวที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาพร้อมทั้งตัวอย่างของคนที่เกิดความกลัว และวิธีการนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการจัดการความกลัว   

                 ผลของการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ได้พบว่า ความกลัวเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน จึงถือเป็นศัตรูตัวสำคัญในการดำเนินชีวิต ความกลัวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนเรามีอยู่มากมายหลายประเภท ขึ้นอยู่กับจิตใจของแต่ละบุคคล ว่าจะสามารถรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงไร จึงเป็นเหตุให้แสวงหาที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เพื่อเป็นเครื่องป้องกันความกลัวไม่ให้เกิดขึ้น ความกลัวเกิดขึ้นทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก เช่น กลัวผลของการกระทำไม่ดีที่เคยทำไว้ กลัวการสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก กลัวการเปลี่ยนแปลงในชีวิต กลัวภัยธรรมชาติ เป็นต้น และปัจจัยภายใน เช่น สภาพร่างกายทรุดโทรม  มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ ต่อร่างกายและจิตใจ เช่น หัวใจเต้นแรงและถี่ หน้าซีดเหงื่อออก กล้ามเนื้ออ่อนล้า แขนขาสั่น เป็นต้น

                  อย่างไรก็ตาม ความกลัวก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้เข้าใจสภาพความเป็นจริงของชีวิต ตราบใดที่เรายังมีอวิชชา คือความไม่รู้ปกคลุมครอบงำอยู่ก็จะทำให้เกิดความกลัวอยู่ตลอดเวลา เป็นเหตุให้เราต้องหาหนทางจัดการกับความกลัว เพื่อให้ชีวิตมีความเป็นปกติเหมือนเดิม ข้อเสียของความกลัวคือทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจผิดปกติ วิตกกังวลอยู่เสมอ ไม่กล้าตัดสินใจ เป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ในการดำเนินชีวิต พระพุทธเจ้าทรงตระหนักถึงความกลัวที่เกิดขึ้น ถือเป็นมหันตภัยอันยิ่งใหญ่ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้เกิดในอบายภูมิทั้งหลาย ดังที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่นเรื่องพระเจ้าอชาตศัตรู การทำสงครามระหว่างเทวดาและอสูร เป็นต้น ความกลัวนั้นก่อให้เกิดผลกระทบทั้ง ๒ ด้าน คือด้านดี เช่น กลัวต่อการทำบาป เกิดความกล้าในการทำความดี  มีอัปปมาทธรรมในใจอยู่เสมอ ส่วนด้านไม่ดี เช่น เป็นอุปสรรคในการพัฒนาตนเอง ไม่สามารถบรรลุคุณธรรมได้  

            พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักธรรมเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการความกลัว โดยระลึกถึงพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่หวาดกลัว
และสามารถทำให้คนหายจากความกลัว เพราะเป็นผู้ปราศจากกิเลสทั้งหลายที่เป็นเหตุให้เกิดความกลัว วิธีการจัดการกับความกลัวคือการพัฒนาตนเองให้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ฝึกจิตใจให้มีความแข็งแกร่งพร้อมที่จะรับมือกับความกลัวที่จะเกิดขึ้น และสามารถจัดการความกลัวที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ โดยอาศัยกระบวนการไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา หลักของอริยมรรคมีองค์ ๘ หลักของเวสารัชชกรณธรรม เป็นต้น การจัดการกับความกลัวตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ก่อให้เกิดผลที่ตามมาในหลาย ๆ ด้านด้วยกัน เช่น ด้านแนวความคิด ด้านวัฒนธรรมประเพณี ด้านการอยู่ร่วมกันในสังคม ความกลัวแม้เป็นสิ่งที่น่ากลัวก็ไม่ควรกลัวจนเกินไป แต่ควรหาวิธีการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม โดยอาศัยหลักพุทธธรรมเป็นเครื่องมือในการจัดการกับความกลัว เพื่อให้เกิดความกล้าในการพัฒนาตนเองและสังคมตลอดไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕