หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวิชัย ปญฺญาธโร (แก้วบัวลา)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๘ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์การใช้ปาฏิหาริย์สามของพระพุทธเจ้า และพระสาวกในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : พระวิชัย ปญฺญาธโร (แก้วบัวลา) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๗/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต
  ประยูร แสงใส
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2556
 
บทคัดย่อ

       วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าและพระสาวก ๒) เพื่อศึกษาปาฏิหาริย์สามในพระพุทธศาสนาเถรวาท  ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์การใช้ปาฏิหาริย์สามในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าและพระสาวก

       จากการวิจัยพบว่าวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าและพระสาวกนั้นเป็นการนำแบบอย่างของการดำรงชีวิตอันประเสริฐที่เรียกว่าพรหมจรรย์ ออกไปเผยแผ่แก่ประชาชนโดยมีเป้าหมาย คือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล  เพื่อความสุขทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลกพระพุทธเจ้าตรัสว่าให้เผยแผ่ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ไม่ใช่ว่าจะไปอ้อนวอนต่อเทวดาหรือไปขอพึ่งเทวดา เพราะเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็มี  ดังนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายวิธีการเผยของพระสาวกก็เช่นกันเดียวกันกับพระพุทธเจ้า คือ การเริ่มต้นจากการสนทนากัน แล้วค่อยโน้มน้าวเข้าสู่หลักธรรมต่างๆตามสมควรแก่อุปนิสัยของแต่ละบุคคลเป็นลำดับ  ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในพระสัทธรรมยิ่งๆขึ้นไป  มีการใช้ภาษาที่นุ่มนวล สละสลวย เหมาะสม ด้วยความตั้งใจสอนหรือเผยแผ่โดยเคารพ  ตามหลักการสอน ๔ อย่าง คือ ๑) สันทัสสนา  อธิบายความชัดเจนแจ่มแจ้ง ๒) สมาทปนา  จูงใจให้เห็นจริงชวนคล้อยตามยอมรับและนำไปปฏิบัติ ๓) สมุตเตชนา  การเร้าใจให้เกิดความแกล้วกล้า มีกำลังใจ ไม่ท้อต่อปัญหา ๔) สัมปหังสนา  การชโลมใจให้เกิดความร่าเริงเบิกบานใจ เปี่ยมด้วยความหวัง

        ปาฏิหาริย์ในพระพุทธศาสนามี ๓ อย่างคือ ๑)อิทธิปาฏิหาริย์ คือ ฤทธิ์ทางใจที่เป็นอัศจรรย์ เช่น การใช้เวทย์มนต์คาถาได้ ๒) อาเทสนาปาฏิหาริย์  ปาฏิหาริย์ คือ การทายใจคนอื่นได้ ๓) อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ คำสอนที่เป็นอัศจรรย์  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดวงจิต คือสำรวมตั้งจิตให้เป็นสมาธิเพื่อเป็นบาทฐานของสมถะและวิปัสสนาญาณ  เข้าสู่สภาวธรรมอันมีปีติ ๕ เป็นต้น จึงจะบรรลุเข้าถึงอารมณ์ของฌานจริงๆ อารมณ์ของรูปฌานนั้นท่านให้ฝึกกสิณบ้าง ใช้คาถาบริกรรมบ้าง สุดแท้แต่อุปนิสัยของผู้ที่ได้สั่งสมบำเพ็ญมาในอดีต  ทำให้เกิดความชำนาญในอารมณ์ เรียกว่า วสี ชำนาญในการนึก ชำนาญในการเข้า-ออกเป็นอารมณ์  ชำนาญในการตั้งจิตให้เป็น ทรงอารมณ์จิตให้ได้ลดจิตเป็นเพิ่มจิตเป็นจนสงบนิ่งจริงๆ นิ่งจนสามารถเคลื่อนไหวได้สามารถสลับจิตให้ชำนาญในอารมณ์ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว ตามใจปรารถนา       การใช้ปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าในการเผยแผ่นั้น พระพุทธเจ้าทรงใช้อนุสาสนีปาฏิหาริย์ในการเผยแผ่พระศาสนามากกว่าที่จะแสดงฤทธิ์ให้เขากลัว  แต่เพื่อให้เข้าใจรู้แจ้งในพระสัทธรรมและเชื่อในการกระทำมากกว่าที่จะเชื่อในเรื่องการอ้อนวอนเซ่นสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์  เป้าหมายที่แท้จริงในการเผยแผ่ศาสนาจึงเพื่อให้คนเข้าใจพระสัทธรรม ซึ่งบางครั้งอาจใช้วิธีที่หลากหลาย  แต่ก็มีจุดหมายปลายทางเดียวกัน ส่วนในเรื่องของปาฏิหาริย์นั้นเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นบรมครูที่ยิ่งใหญ่ของโลก เข้าใจในจิตวิทยาของมนุษย์เป็นอย่างดี ทรงเลือกใช้ในบางสถานการณ์เท่านั้นจึงทำให้พระองค์สามารถประกาศพระศาสนาได้อย่างรวดเร็วและมีผู้บรรลุธรรมตามพระองค์เป็นจำนวนมากพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์ที่ปรากฏในหลักคำสั่งสอนของพระองค์อนุสาสนีปาฏิหาริย์นั้นเกิดจากการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนที่ทรงสมมติบัญญัติเอาไว้ ซึ่งเมื่อปฏิบัติธรรมได้จริงย่อมทำให้จิตตั้งอยู่ในคุณธรรมความดีไม่หวั่นไหวเพราะกิเลสทั้งปวง เป็นปาฏิหาริย์ที่สำคัญมากกว่าอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕