หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอนุเทพ ขนฺติพโล (สุขศรี)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๑ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ปรากฏการณ์การบูชาชูชกในสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : พระอนุเทพ ขนฺติพโล (สุขศรี) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๗/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาดาวสยาม วชิรปญฺโญ
  อุดม บัวศรี
  โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
วันสำเร็จการศึกษา : 2557
 
บทคัดย่อ

  

วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์ปรากฏการณ์การบูชาชูชกในสังคมไทยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑. เพื่อศึกษาหลักการบูชาที่ปรากฏในพระพุทธศาสนา ๒. เพื่อศึกษาปรากฏการณ์การบูชาชูชกในสังคมไทยปัจจุบันและ ๓. เพื่อวิเคราะห์การบูชาชูชกตามทัศนะทางพุทธศาสนา งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาจากพระไตรปิฎก คัมภีร์พุทธศาสนาอื่น ๆ เอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และศึกษาภาคสนามด้วยการสังเกตและสัมภาษณ์ โดยใช้วิธีวิเคราะห์เชิงพรรณนา

 

ผลการวิจัยพบว่า การบูชามีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลและก่อนยุคพระเวท ซึ่งเป็นยุคที่ศาสนาพราหมณ์และฮินดูเกิดขึ้นในอินเดีย โดยการบูชาในยุคแรกเป็นการบูชาแบบอ้อนวอนร้องขอ ต่อมาพระพุทธศาสนาได้ถือกำเนิดขึ้น พระพุทธเจ้าจึงพยายามปฏิวัติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาแบบเก่าที่มีแต่การบนบาน เซ่นสรวงและการอ้อนวอนบูชาซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง พระองค์จึงสอนใหม่ว่าในธรรมชาติมีความจริงอยู่ คือกฎแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยคือ การที่ผลเกิดจากเหตุ เหตุทำให้เกิดผล สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน อย่าไปมัวมองดูว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากอำนาจของเทพเจ้า ความจริงสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยเราเรียกว่าธรรม พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับหลักธรรมเป็นหลัก ทรงเน้นให้บูชาธรรมและบุคคลที่ทรงคุณธรรมเป็นสำคัญ

 

ชูชกคือ พราหมณ์ขอทานคนหนึ่งที่อยู่ในเรื่องเวสสันดรชาดก มีความสามารถในการพูดจาหว่านล้อม ชักแม่น้ำทั้งห้าได้ดี จนทำให้ใคร ๆ ก็ให้ของแก่ชูชกหมด ปัจจุบันนี้มีคนไทยบางกลุ่มบูชาชูชก โดยได้รับอิทธิพลความเชื่อจากหลาย ๆ ด้าน เช่น จากตำนานเวสสันดรชาดก จากสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ จากการชี้นำจากคนรอบข้างแล้วมีการบอกต่อคนไทยบางกลุ่มเชื่อว่า ชูชกเป็นผู้ให้โชคลาภ เป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ เป็นผู้ช่วยเสริมบารมีให้แก่พระเวสสันดร มีความเพียรพยายาม มีเสน่ห์และฉลาดในการใช้วาทศิลป์ จากความเชื่อดังกล่าวจึงได้มีการบูชาชูชกส่วนอิทธิพลของชูชกที่ปรากฏในสังคมไทยทางด้านจิตรกรรมและประติมากรรมไม่มีอิทธิพลต่อบุคคลทั่วไปโดยตรง แต่มีอิทธิพลโดยอ้อม โดยตัวละครชูชกในภาพจิตรกรรม จะเป็นเครื่องเตือนสติให้เห็นความแตกต่างทางด้านกายภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นสื่อสอนธรรมะ และช่วยเสริมสร้างบารมีให้พระเวสสันดรดูโดดเด่นขึ้น ทางด้านงานประเพณีสำหรับประชาชนทั่วไปไม่มีอิทธิพลโดยตรง แต่มีอิทธิพลอยู่แค่ในชุมชนย่อย ๆ ในระดับหมู่บ้านเท่านั้น เช่น ที่ชุมชนชาวบ้านหนองกะท้าว จังหวัดพิษณุโลก และชาวบ้านอำเภอด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย มีงาน แห่ตาชูชกกล่าวกันว่าเป็นความคิดความเชื่อที่เก่าแก่มีมาแต่โบราณ ด้วยเชื่อว่าหากไม่ประกอบพิธีนี้แล้ว บ้านเมืองหรือชาวบ้านในหมู่บ้านอาจประสบภัยต่าง ๆ ข้าวปลาอาหารอาจจะไม่บริบูรณ์ นอกจากนี้ชูชกยังมีอิทธิพลทางด้านจิตใจต่อผู้คนในยามที่ขาดที่พึ่ง ท้อแท้สิ้นหวังในยามที่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยการขอโชคลาภ เป็นกำลังใจให้คนทำมาหากิน ส่วนสำนักตัวอย่างทั้ง ๓ สำนัก ที่สร้างชูชก มีแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างชูชกว่า การสร้างชูชกก็เป็นการไม่ถูกต้องตามหลักการในพระพุทธศาสนา แต่ปุถุชนหรือชาวบ้านมีความเชื่อแตกต่างกัน เพราะเป็นพุทธศาสนาที่ปนแปกับศาสนาพราหมณ์และความเชื่ออื่น ๆ บางคนเชื่อพระอินทร์ พระพรม พระพิฆเนศ พระอิศวร ได้ทั้งนั้นแต่แก่นสารแล้วพระพุทธเจ้าเราดีที่สุด เป็นมงคลสูงสุด อีกมุมหนึ่งก็เป็นกำลังใจให้คนทำมาหากิน เป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิต เมื่อรู้สึกว้าเหว่ ท้อแท้ หมดหวังในชีวิต ให้ถือไปก่อนเพราะปัญญาคนเราไม่เท่ากันแล้วค่อยดึงเข้ามาสู่ธรรมะ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นสื่อในการสอนธรรมะ เช่น ชูชกเป็นขอทาน มีเงินมากมายมหาศาล แต่ไม่เคยแต่งตัวฟุ่มเฟือย ไม่รังเกียจอาชีพของตนเอง เป็นคติให้โยมไม่ท้อแท้ ไม่ท้อถอย การทำดีทุกอย่างจะให้ราบรื่นทุกสิ่งทุกอย่างคงจะไม่ใช่ต้องมีอุปสรรค์เช่นเดียวกับชูชก แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นพุทธพานิชย์

ส่วนทัศนะทางพุทธศาสนามองว่า การบูชาชูชกถ้ามองในแง่ทางคัมภีร์พระพุทธศาสนา ถือว่าชูชกเป็นบุคคลที่ไม่ควรบูชา เพราะเหตุว่าชูชกในคัมภีร์ต้องการให้เป็นตัวละครร้ายเป็นบุคลาธิษฐานให้เห็นถึงความละโมบโลภมาก ไม่รู้จักพอ นอกจากนี้ชูชกยังมีความดีน้อยเกินไปที่จะเป็นปูชนีย์บุคคลในพระพุทธศาสนา แต่ใช่ว่าชูชกจะไม่มีดีเสียทั้งหมด ส่วนที่ดีก็มี ถ้ามองในแง่ความเป็นครู ก็สามารถนำปฏิปทาที่ดีของชูชกมาบูชาได้ เช่น ความประหยัด ความเพียรพยามและฉลาดมีวาทศิลป์ ฉะนั้นการบูชาสิ่งต่าง ๆ ก็ต้องบูชาคุณความดีที่เป็นคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ หรือสิ่งของ  แต่ถ้ามองในแง่บริบททางสังคมที่มีความหลากหลายทางความเชื่อ ถ้าการบูชาสิ่งนั้น ๆ แล้วไม่เป็นโทษแก่ตนเองและผู้อื่นก็พอยอมรับได้ แต่ต้องเข้าใจหลักการบูชาที่แท้จริง ก็จะสามารถหยิบยกสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นขึ้นมาบูชาได้

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕