หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระจิรวัฒน์ อภินนฺโท (ชมสนธิ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๖ ครั้ง
วิเคราะห์ผลกรรมของเศรษฐีที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระจิรวัฒน์ อภินนฺโท (ชมสนธิ์) ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๐๘/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวชิรเมธี
  อานนท์ เมธีวรฉัตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2557
 
บทคัดย่อ

         งานวิจัยเรื่อง “วิเคราะห์ผลกรรมของเศรษฐีที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท”มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑)เพื่อศึกษาหลักกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาการดำเนินชีวิตของเศรษฐีในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อวิเคราะห์ผลกรรมของเศรษฐีที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท

            ผลการวิจัยพบว่า กรรม ตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาทในพระไตรปิฎก และ  อรรถกถา เป็นคำกลาง ๆ แปลว่า การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา จะแสดงออกมาเป็นความประพฤติทางกาย ทางวา และทางใจ จัดเป็นกรรมทั้งนั้น เพื่อให้ทราบชัดถึงทิศทางจากการกระทำว่า เป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม โดยผ่านช่องทางของการทำกรรม กล่าวคือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ เป็นสุจริต หรือ ทุจริต เมื่อกระบวนการสิ้นสุดลงก็จะเห็นภาพของกรรมชัดยิ่งขึ้นตามหลักเกณฑ์การให้ผลของกรรม กรรม จึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคม เพราะกรรมจะส่งผลต่อชีวิตที่ดีหรือเลวทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

             จากการศึกษาการดำเนินชีวิตของเศรษฐีที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๑๐ ท่าน พบว่า เศรษฐีที่ดีสามารถเป็นเศรษฐีได้ตลอดกาล ๕ ท่าน  ได้แก่ ๑) เมณฑกเศรษฐี ๒) วิสาขามหาอุบาสิกา ๓) อนาถบิณฑิกเศรษฐี ๔) โชติกเศรษฐี ๕) ชฎิลเศรษฐี มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา มีเจตนาที่เป็นกุศล มีความเห็นที่ถูกต้อง ได้นำหลักธรรมจากพระพุทธเจ้าเข้ามาเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตประพฤติสุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ ยึดถือการทำกุศลกรรมอย่างเดียว ด้วยการบริจาคทาน บำรุงภิกษุสงฆ์ สงเคราะห์บุคคลผู้อยู่ร่วมด้วย และบุคคลทั่วไปให้ได้รับความสุขเป็นหลัก อีกทั้งยังนำองค์ธรรมต่าง ๆ ของหลายหลักธรรมมาประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งการครองตน การครองงาน การครองคน และการครองใจ เป็นกัลยาณมิตรที่ดีของคนในครอบครัวและบุคคลทั่วไป การดำเนินชีวิตจึงประสบสิ่งที่ดีมีแต่ความสุขสบาย

             สำหรับเศรษฐีที่ดำเนินชีวิตไม่ดีไม่สามารถเป็นเศรษฐีได้ตลอดกาล ๕ ท่าน ได้แก่ ๑)    อานนทเศรษฐี ๒) จูฬเศรษฐี ๓) เศรษฐีชาวเมืองโกสัมพี ๔) อปุตตกเศรษฐี ๕) บุตรเศรษฐีมีทรัพย์มาก พบว่า เศรษฐีแต่ละท่านไม่มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา มีความเห็นผิด มีเจตนาที่เป็นอกุศลทำแต่อกุศลกรรม มีความประมาท ไม่ให้ทาน มีความตระหนี่ ไม่เกื้อกูลประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคม ขาดหลักธรรมนำมาใช้เป็นหลักการดำเนินชีวิตที่ดีทำให้ประสบสิ่งที่ไม่ดีมีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน

             การวิเคราะห์ผลกรรมของเศรษฐีที่ดำเนินชีวิตที่ดีสามารถเป็นเศรษฐีได้ตลอดกาล ๕ ท่าน พบว่า เศรษฐีทุกท่านมีเจตนาที่เป็นกุศลรู้จักวิธีการนำหลักกรรม ๒ และกรรม ๓ มาประยุกต์เป็นวิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละท่าน โดยเริ่มจากการปกครองตนให้ตั้งอยู่ในการประพฤติชอบ ทำแต่กุศลกรรม ประพฤติสุจริต ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ผลกรรมส่งผลให้การดำเนินชีวิตมีแต่ความสุขสบาย มีทรัพย์สมบัติมากมีฐานะร่ำรวย เป็นที่รักเคารพของบริวารและประชาชน ด้วยการประพฤติปฏิบัติดังกล่าวผลกรรมส่งผลทำให้สามารถเป็นเศรษฐีได้ตลอดกาล

             สำหรับผลกรรมของเศรษฐีที่ดำเนินชีวิตไม่ดีไม่สามารถเป็นเศรษฐีได้ตลอดกาล ๕ ท่าน พบว่า เศรษฐีทั้ง ๕ ท่าน มีเจตนาที่เป็นอกุศล ไม่มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ไม่สนใจฟังพระธรรมเทศนา มีความเห็นผิด ทำแต่อกุศลกรรม ไม่ให้ทาน มีความตระหนี่ ไม่ใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ ประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ ด้วยการประพฤติดังกล่าว ผลกรรมส่งผลให้การดำเนินชีวิตได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน ไม่สามารถรักษาความเป็นเศรษฐีได้ตลอดกาล

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕