หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระกุประสงค์ สญฺญโต
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๑ ครั้ง
การศึกษาหลักความคิดที่สำคัญทางพระพุทธศาสนากับกฎการดึงดูด
ชื่อผู้วิจัย : พระกุประสงค์ สญฺญโต ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๐๘/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสิริรัตนานุวัตร
  พระครูพิพิธจารุธรรม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2557
 
บทคัดย่อ

 วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ศึกษาเนื้อหาเกี่ยวกับ หลักความคิดที่สำคัญทางพระพุทธศาสนากับกฎการดึงดูดทางความคิดทางจิตวิทยา โดยศึกษาในเรื่อง ความหมายและการเกิดขึ้นของความคิด หลักการ วิธีการ เป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ มีขอบเขตการวิจัยคือการศึกษาเปรียบเทียบทั้งสองแนวคิดมีวิธีดำเนินการวิจัยคือ รวบรวมและศึกษาเอกสารตำราของทั้งสองหลักการ แล้วจึงทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์  ตีความ สรุปผล เรียบเรียงและนำเสนอผลการวิจัยเป็นความเรียง

             บรรดาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ยกขึ้นแสดงคือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ คือร่างกายและจิต อายตนะ ๑๒ ได้แก่ อายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อายตนะภายนอกได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์คือแหล่งที่มาของความรู้ที่เกิดจากการกระทบกัน เกิดเป็นวิญญาณ คือ การรับรู้อารมณ์              หลักปฏิจจสมุปบาท

เป็นหลักแสดงการเกิดขึ้นและดับลงของสรรพสิ่ง ถือว่าเป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเท่านั้น เป็นเพียงการทำงานของธาตุขันธ์  ไม่มี สัตว์ ตัวตน บุคคล เราเขา เข้าไปควบคุมสิ่งเหล่านั้นให้เป็นไปแต่ประการใด สามารถจัดเป็นประเภทวิธีคิดตามหลักความคิดแบบโยนิโสมนสิการได้ด้วยเช่นกัน

             หลักความคิดแบบโยนิโสมนสิการ เป็นระเบียบวิธีการในการใช้เครื่องมือคือความคิดเพื่อให้เห็นสัจธรรมความเป็นจริงของชีวิต พิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา ๒ ระดับ คือ โลกียะและโลกุตระ เมื่อบุคคลเข้าใจถึงสภาพตามความเป็นจริงของสิ่งที่เป็นอยู่ ควรที่จะประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับเหตุการณ์และเหตุปัจจัย อันจะไม่นำมาซึ่งความทุกข์ แม้หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องเข้ามาศึกษาและนำไปปฏิบัติในการดำรงชีวิตเพื่อความสุขและป้องกันความทุกข์ที่จะเกิดมีขึ้นในชีวิตประจำวัน

กฎการดึงดูดทางความคิดในทางจิตวิทยา นำเสนอหลักความคิดว่า สิ่งที่เหมือนกันจะมีแรงดึงดูดเข้าหากัน มีวิธีการปฏิบัติคือ ขอ เชื่อ รับ การขอเป็นบอกความต้องการของตนให้จักรวาลได้รับรู้ การเชื่อเป็นการทำความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับจิตใจของตนว่าจะได้รับสิ่งที่ต้องการอย่างแน่นอน การรับ เป็นการกระทำที่น้อมไปทั้งกาย วาจา ใจ เสมือนว่าได้ครอบครองสิ่งนั้น ๆ อยู่แล้ว โดยมีความเชื่อว่า เมื่อเราคิดอะไรสักอย่าง เรากำลังดึงดูดความคิดแบบเดียวกันเข้ามา หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต เราต้องเปลี่ยนความคิดของตัวเราเอง กฎการดึงดูดทางความคิด เกิดขึ้นเพื่อสนองตอบความต้องการพื้นฐานตามทฤษฎีของมาสโลว์

จากการศึกษาเนื้อหาของทั้งสองหลักการพบว่า ความหมายของความคิดมีลักษณะที่เหมือนกันคือ เป็นการทำงาน หรือ กิจกรรมทางจิตใจ แต่การเกิดขึ้นของความคิดเกิดจากมีแหล่งกำเนิดต่างกัน หลักการต่างกัน วิธีการต่างกัน เป้าหมายต่างกัน ผลสัมฤทธิ์ต่างกัน

             หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาสอนมนุษย์ให้เข้าใจสภาวะความเป็นจริงของชีวิตและใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตอีกด้วย วิธีการใช้หลักความคิดของพระพุทธศาสนาดำเนินไปตามหลักอริยสัจ ๔ คือ รับรู้ถึงปัญหา สืบสาวหาสาเหตุ กำหนดขั้นตอนการแก้ปัญหา ดำเนินการให้บรรลุผล อีกทั้งสอนให้เชื่อใน กฎแห่งกรรมหรือ กฎแห่งการกระทำ สอนให้ประกอบเหตุปัจจัยให้ถึงพร้อม มีเจตนาที่มุ่งมั่น มีศรัทธาความเชื่อต่อการกระทำ มีระเบียบวิธีคิดเพื่อความสำเร็จในสิ่งที่ตนมุ่งหวัง หลักความคิดในทางพระพุทธศาสนานอกจากใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตในเบื้องต้นแล้ว ยังมีประโยชน์เพื่อที่นำทางให้บุคคลนั้น ดำเนินไปสู่มรรค ผล นิพพาน ในเบื้องปลายได้อีกด้วย

กฎการดึงดูดทางความคิดในทางจิตวิทยา อันเป็นศาสตร์ทางตะวันตก นำเสนอสู่สังคมโลกโดยพื้นฐานทางวัฒนธรรม สังคม ลัทธิความเชื่อและศาสนาทางตะวันตก แม้การนำเสนอหลักความคิดจะทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่การอธิบายหลักความคิดที่นำเสนอนั้น ยังมีลัทธิความเชื่อทางเทวนิยมแทรกปนเข้ามาในหลักความคิดที่นำเสนออยู่ เพราะยังคาดหวัง พลังอำนาจลึกลับจะเข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ได้รับสิ่งนั้นสมตามความปรารถนาในที่สุด

ดาวน์โหลด 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕