หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูใบฎีกาสุรพล อาสโภ (แย้มชุ่ม)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๐ ครั้ง
การปกครองคณะสงฆ์ตามหลักพรหมวิหารธรรมของพระธรรมปริยัติ เวที (สุเทพ ผสฺสธมฺโม) (การจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูใบฎีกาสุรพล อาสโภ (แย้มชุ่ม) ข้อมูลวันที่ : ๑๘/๐๙/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สุรพล สุยะพรหม
  พระครูอาทรปริยัติสุธี
  วันชัย สุขตาม
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

               วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาการปกครองคณะสงฆ์ในยุคสมัยต่าง ๆ  ๒) เพื่อศึกษาการปกครองคณะสงฆ์โดยใช้พรหมวิหารธรรมของ   พระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม)  และ ๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้หลักพรหมวิหารธรรมในการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน ใช้วิธีดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาข้อมูลจากจากพระไตรปิฎก เอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญได้แก่ พระสงฆ์ผู้ปกครองและคฤหัสถ์ผู้สนองงานคณะสงฆ์ภาค ๑๕ จำนวน ๑๖ รูป/คน เพื่อให้ได้แนวคิดในการนำหลักพรหมวิหารธรรมมาใช้ในการปกครองคณะสงฆ์ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ผลการศึกษา พบว่า :

              ๑) การพัฒนาการปกครองคณะสงฆ์ พบว่า

                       (๑) การพัฒนาการปกครองและคณะสงฆ์ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ทรงใช้ระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูกประกอบด้วยสันติวิธีธรรมหรือสามัคคีธรรม ให้สิทธิเสรีภาพเสมอกันไม่เลือกชนชั้นวรรณะ โดยอาศัยการนับอายุพรรษาในการนับระดับชั้นอาวุโส มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขสงฆ์ทรงเป็นประธานในการตัดสินวินิจฉัยวางกรอบแนวการปกครองคณะสงฆ์ให้อยู่ในรูปแบบยึดหลักประชาธิปไตยคือยึดเสียงข้างมากเป็นเอกฉันท์ ตามกรอบที่  พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ด้วยหลักพระธรรมวินัย  

                       (๒) การปกครองคณะสงฆ์หลังจากพุทธปรินิพพานนั้น การปกครองคณะสงฆ์เริ่มต้นด้วยการทำสังคายนาเพื่อรวบรวมพระธรรมวินัยให้เข้าเป็นหมวดหมู่ และมีการตรวจสอบเพื่อความถูกต้องตามหลักธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ เพื่อป้องกันมิให้กระจัดกระจาย ในภายหลังพุทธกาลไม่นาน คณะสงฆ์เริ่มมีความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักธรรมวินัยแตกต่างกันไปจนเกิดความแตกแยกในหมู่คณะสงฆ์โดยแบ่งแยกรูปแบบการปกครองออกไปเป็นหลายคณะ  

                       (๓) การปกครองคณะสงฆ์ในประเทศไทยในยุคสมัยอาณาจักรกรุงสุโขทัย  กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ยังถือปฏิบัติตามรูปแบบการปกครองของพระพุทธองค์ถือตามพระธรรมวินัยเป็นหลัก และคณะสงฆ์จะมีความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักร เป็นการพึ่งอำนาจรัฐเพื่อเป็นการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับพระธรรมวินัยและความบริสุทธิ์แห่งพระศาสนา ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาไปตามนานาอารยประเทศถึงกระนั้นก็ตาม พระสงฆ์ก็ยังอยู่บนกรอบแห่งพระธรรมวินัยเดียวกัน   

                       (๔) การปกครองคณะสงฆ์ในยุคสมัยปัจจุบัน คณะสงฆ์มีการพัฒนาการด้านเทคโนโลยี บูรณาการด้วยหลักพุทธธรรมนำการปกครองไปพร้อมกับความเจริญ และมี กฎหมาย พระราชบัญญัติ ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ มาเกื้อกูลพระธรรมวินัย ส่งผลให้ผู้นำในการปกครองคณะสงฆ์ต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ ความสามารถ ความเสียสละ และยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ตลอดจนเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยจริยาวัตรข้อปฏิบัติ เป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์และสังคมโดยรวม และที่สำคัญจะต้องเป็นนักปกครองที่มีความซื่อสัตย์ยุติธรรม ต้องเว้นจากความมีอคติทั้งปวง ตั้งมั่นในหลักพรหมวิหารธรรม เป็นแกนหลักของการปกครองอยู่เสมอ

 

 

 

                   ๒) การปกครองคณะสงฆ์โดยใช้หลักพรหมวิหารธรรมของพระธรรมปริยัติเวที       (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) พบว่า

                       (๑) ด้านเมตตา พระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) ปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๕ ด้วยความมีเมตตา ทุ่มเทเสียสละ มีน้ำใจงาม มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความปรารถนาดีต่อสถาบันชาติ สถาบันพระพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนมีความเมตตาทุกโอกาสต่อคณะสงฆ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่สนองกิจการงานของคณะสงฆ์ทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพ โดยปรารถนาดีต่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก สร้างความสามัคคีปรองดองในหมู่คณะสงฆ์ได้เป็นอย่างดี 

                       (๒) ด้านกรุณา พระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) ปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๕ ด้วยความกรุณาปราณีให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือ ให้โอกาส ให้การส่งเสริม ให้การอบรม ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติงานแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่เสมอ หมั่นคอยติดตามผลประเมินผลงานเสมอ ไม่ทอดทิ้งหน้าที่ ไม่ทอดทิ้งผู้ใต้บังคับบัญชา ยามใดที่งานคณะสงฆ์ติดขัดมีปัญหาอุปสรรค ท่านจะกรุณาชี้แนะและช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้ด้วยความกรุณาปราณีเสมอ 

                       (๓) ด้านมุทิตา พระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) ปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๕ ด้วยการสนับสนุนสร้างขวัญกำลังใจ จูงใจ ให้รางวัลแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเหมาะสม และมีความยินดีกับผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อประสบความสำเร็จก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ท่านเห็นผู้ใต้บังคับบัญชาเปรียบเสมือนบุตรหลานญาติพี่น้องท่าน จึงมีมุทิตาจิตกับทุกคนอย่างเสมอภาค

                       (๔) ด้านอุเบกขา พระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) ปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๕ ด้วยความยุติธรรม เป็นกลางตามหลักพระธรรมวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎ ระเบียบ ประกาศ มติมหาเถรสมาคม อย่างตรงไป ตรงมา เว้นจากอคติ ไม่ลุอำนาจและใช้อารมณ์ โดยท่านหมั่นประชุมชี้แจงตกลงทำความเข้าใจกับคณะสงฆ์ในเรื่องกิจการงานคณะสงฆ์ในทุก ๆ ด้าน และจะใช้มติสงฆ์เป็นข้อสรุปของคณะสงฆ์ในการปฏิบัติงานเสมอ

 

               ๓) การประยุกต์ใช้หลักพรหมวิหารธรรมในการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน พบว่า                   

                       (๑) ด้านเมตตา เจ้าคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ทุกระดับพึงมีกัลยาณจิตมีความปรารถนาดีต่อสถาบันพระพุทธศาสนา ต่อบุคลากรของคณะสงฆ์เป็นหลักสำคัญ ตั้งแต่การมอบนโยบายและแผนงานในกิจการงานคณะสงฆ์ในทุก ๆ ด้านต้องประกอบด้วยเมตตาเป็นหลัก ยึดความปรารถนาดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา มีเมตตาจิตแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่งานคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง ก็จะเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยดีงามกิจการงานคณะสงฆ์ย่อมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนยังส่งผลไปยังความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาอีกด้วย      

                       (๒) ด้านกรุณา เจ้าคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ในทุกระดับ ต้องมีความกรุณาช่วยสงเคราะห์อนุเคราะห์ และพัฒนาในสิ่งที่ผู้ใต้บังคับบัญชายังขาด เจ้าคณะผู้ปกครองต้องช่วยเติมให้เต็ม มีความกรุณาช่วยพัฒนาฝึกอบรม ชี้แนะแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาในหนทางที่ถูกต้องเหมาะสม ด้วยความเสียสละอย่างสูง และที่สำคัญเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชามีปัญหาไม่สามารถช่วยเหลือแก้ไขด้วยตนเองได้ หรือได้รับความเดือดร้อนเป็นทุกข์ในเรื่องการปฏิบัติงานและทุกข์ภัยต่าง ๆ เข้ามาเบียดเบียน เจ้าคณะผู้ปกครองต้องมีความกรุณาธรรมเป็นอย่างสูง รีบเข้าช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหมดทุกข์โดยเร็ว ก็จะส่งผลให้ผู้ใต้บังคับบัญชารู้สีกว่าเจ้าคณะผู้ปกครองให้ความคุ้มครองอนุเคราะห์ดี ก็จะสามารถทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความเลื่อมใสศรัทธาและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าภารกิจงานต่าง ๆ ของคณะสงฆ์ด้วยความเต็มใจด้วยดีและเกิดมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง

                       (๓) ด้านมุทิตา เจ้าคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ในทุกระดับมีมุทิตาจิต มีความยินดีหวังดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และสนับสนุนส่งเสริมลูกคณะได้ดีอย่างเหมาะสมกับผลงานด้วยการสร้างขวัญกำลังใจ จูงใจ และยินดีให้รางวัลเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเจ้าคณะผู้ปกครองผู้บริหารคณะสงฆ์ต้องแสดงความปีติยินดีกับความสุขความสำเร็จของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย และคอยให้การสนับสนุนส่งเสริมให้ได้ดียิ่งขึ้นไปในโอกาสต่อไป     

ดาวน์โหลด       

                (๔) ด้านอุเบกขา เจ้าคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ในทุกระดับมีความยุติธรรม เที่ยงธรรม ตามหลักพระธรรมวินัยอันเป็นธรรมนูญในการปกครองคณะสงฆ์ ในกรณีที่มีการรักษาความถูกต้อง ชอบธรรมตามหลักการและกฎเกณฑ์ ต้องเว้นจากอคติและรับรู้ รับฟัง วินิจพิจารณาวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผลที่ถูกต้อง ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบธรรม เจ้าคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ต้องมีอุเบกขาธรรมต้องวางใจเป็นกลางแต่ยังคงอยู่ใกล้ ๆ กับผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ไม่เข้าไปก้าวก่ายเพื่อให้ความถูกต้องชอบธรรมนั้นยังคงอยู่ต่อไป

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕