หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสังฆรักษ์ทรงพรรณ ชยทตฺโต (ภิรมย์พร)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๐ ครั้ง
: การประยุกต์ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) (การจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสังฆรักษ์ทรงพรรณ ชยทตฺโต (ภิรมย์พร) ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๙/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สุรพล สุยะพรหม
  พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ
  วันชัย สุขตาม
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

                    การศึกษาวิจัยเรื่อง การประยุกต์ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม)” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาการปกครองโดยใช้หลักธรรมาภิบาล (๒) เพื่อศึกษาแนวทางการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ปกครองคณะสงฆ์ และ (๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้หลักธรรมาภิบาลในการปกครองคณะสงฆ์ของพระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารต่างๆ และสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ พระสงฆ์ จำนวน ๑๒ รูป และคฤหัสถ์ จำนวน ๕ คน เพื่อให้ได้มุมมองของการประยุกต์ใช้หลักธรรมาภิบาลในการปกครองคณะสงฆ์ของพระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) ชัดเจนยิ่งขึ้น

ผลการวิจัยพบว่า

                   ๑. หลักธรรมาภิบาลเป็นรูปแบบของการบริหารจัดการและการปกครองที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นหลักการเพื่อการอยู่ร่วมกันในบ้านเมืองและสังคมอย่างมีความสงบสุข สามารถประสานประโยชน์และคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งโดยสันติวิธีและพัฒนาสังคมให้ยั่งยืนได้ธรรมาภิบาลนี้เกิดขึ้นจากการรวมองค์ประกอบของการปกครองที่เป็นธรรม ยึดถือความถูกต้องในกฎ ระเบียบ ความดีงาม ปลอดจากประพฤติผิดวินัยและจรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานได้ในทุกขั้นตอน เปิดโอกาสในการรับรู้ ตัดสินใจ ด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม รับผิดชอบพร้อมปรับปรุงแก้ไข และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นรูปแบบของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคม คล้ายคลึงกับรูปแบบการปกครองที่เป็นธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานแก่สังคมสงฆ์ ซึ่งเป็นสังคมตัวอย่างในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ประสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน มีระเบียบ แบบแผนในการเป็นอยู่ ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในรัฐแห่งสงฆ์นี้โดยธรรม

                   ๒. แนวทางในการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการปกครองคณะสงฆ์ เกิดจากแนวคิดที่สอดคล้องกันของธรรมาภิบาลและหลักการของพระพุทธศาสนา คือ ธรรมาภิบาลมีหลักคุณธรรมเป็นองค์ประกอบ และหลักการของพระพุทธศาสนาก็ใช้ระบบคุณธรรมเป็นเครื่องนำ เมื่อวิเคราะห์โดยภาพรวม จึงพบแนวทางในการนำธรรมาภิบาลมาประยุกต์ใช้ในการปกครองคณะสงฆ์ได้ครบทุกองค์ประกอบ แม้หลักธรรมาภิบาลจะรับต้นแบบมาจากประเทศตะวันตก แต่ด้วยคุณสมบัติเฉพาะที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สามารถวิวัฒนาการไปตามรูปแบบของการปกครองฝ่ายบ้านเมืองได้โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องตามพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าทรงเข้าใจถึงความจำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนวิธีการและรูปแบบของการปกครอง เพื่อให้มีความสอดคล้องกับปัญหา สภาพแวดล้อม และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาจึงทรงอนุญาตให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการไปตามกฎเกณฑ์ของบ้านเมืองได้ หากแต่การอนุวัตรนี้จะต้องไม่ขัดต่อหลักพระธรรมวินัย เช่น อาจจะปรับรูปแบบของการพิจารณาคดี หรือรูปแบบของการนุ่งห่มให้สอดคล้องตามวัฒนธรรมได้ เพื่อไม่ให้เป็นการเก้อเขินในเวลาเข้าสู่สังคม เช่น เมื่อเวลาไปแสดงธรรมเทศนา เป็นต้น

                   ๓. พระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) สามารถนำธรรมาภิบาลทั้ง ๖ ประการ มาประยุกต์ใช้ได้จริงกับการปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน ดังนี้

                    ๓.๑ ด้านหลักนิติธรรม ได้ปกครองคณะสงฆ์โดยยึดพระธรรมวินัยเป็นธรรมนูญสูงสุดในการปกครอง อิงอาศัยพระราชบัญญัติ กฎ ระเบียบต่างๆ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เกื้อกูลพระธรรมวินัย มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานในองค์กรคณะสงฆ์ และมีระเบียบปฏิบัติที่บัญญัติขึ้นบังคับใช้เป็นการภายใน โดยไม่ขัดกับพระธรรมวินัยที่เป็นธรรมนูญสูงสุด เพื่อรักษาหมู่คณะให้มีข้อปฏิบัติที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ภายใต้กฎระเบียบเดียวกัน ไม่มีผู้ใดอยู่เหนือกฎ และหากมีการละเมิดกฎที่บัญญัติไว้ ผู้กระทำต้องได้รับโทษ เว้นไว้แต่การกระทำนั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการบัญญัติเป็นกฎเพื่อปฏิบัติร่วมกัน

                    ๓.๒ ด้านหลักคุณธรรม ได้ปกครองคณะสงฆ์ในลักษณะการปกครองโดยธรรม ถือธรรมคือความถูกต้องเป็นใหญ่ ตามคติทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ธรรมาธิปไตย โดยพื้นฐานจากคุณสมบัติภายในของผู้ปกครองที่ต้องมีธรรมะประจำใจ แล้วจึงนำธรรมะมาใช้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมรณรงค์ให้มีการนำหลักคุณธรรมไปเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

                        ๓.๓ ด้านหลักความโปร่งใส ได้ปกครองคณะสงฆ์ด้วยความเปิดเผย ตรงไปตรงมา โดยอาศัยการจัดประชุมพระสังฆาธิการตามมติมหาเถรสมาคม และการจัดประชุมเพิ่มเติมเป็นการภายในเขตปกครองคณะสงฆ์ เพื่อสร้างเวทีสำหรับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการปกครองอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทันการณ์ มีความชัดเจน และถือเป็นโอกาสในการมอบนโยบาย แนวทางปฏิบัติงาน ระดมความคิด และเสริมสร้างความสามัคคีได้

                     ๓.๔ ด้านหลักการมีส่วนร่วม ได้ปกครองคณะสงฆ์โดยเปิดโอกาสให้พระภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถ ตั้งใจทำงาน และมีคุณสมบัติเหมาะสม เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองคณะสงฆ์โดยแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการผู้ปกครองในระดับต่างๆ และเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการบริหารงานเฉพาะกิจ ในรูปแบบของการทำงานเป็นทีมทุกคนในทีมมีอิสระในการร่วมแสดงความคิด กำหนดวิธีปฏิบัติงาน ดำเนินการตามขั้นตอน จนถึงการสรุป ประเมินผล ตลอดจนการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานได้

                       ๓.๕ ด้านหลักความรับผิดชอบ ได้ปกครองคณะสงฆ์ด้วยสำนึกรับผิดชอบต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเขตปกครอง มีความกระตือรือร้นในการระงับอธิกรณ์ให้ยุติลง ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ มีการวินิจฉัยความผิดและลงโทษแก่พระภิกษุที่ประพฤติล่วงละเมิดวินัยหรือประพฤติตนไม่สมควรแก่สมณสารูป ด้วยความเที่ยงธรรม สุจริต เอาใจใส่ ไม่ทอดทิ้งปัญหา โดยอาศัยมาตรการทางวินัยเป็นเบื้องต้น และหากเป็นกรณีความผิดที่มีโทษทางอาญาแผ่นดินรวมอยู่ด้วย ก็จะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของทางฝ่ายบ้านเมืองรับไปดำเนินการต่อ

                       ๓.๖ ด้านหลักความคุ้มค่า ได้ปกครองคณะสงฆ์โดยการใช้คนให้เหมาะสมกับงาน มอบหมายงานตามความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานของบุคลากร บนพื้นฐานความตระหนักในความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรทางการจัดการที่มีคุณค่ามากที่สุด มุ่งผลสำเร็จของการทำงานให้คุ้มค่ากับเวลาที่สูญเสียไป โดยเลือกใช้บุคลากรให้เหมาะสมกับงานนั้นๆ

                   กล่าวโดยสรุป หลักธรรมาภิบาลสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปกครองคณะสงฆ์ได้ครบทุกองค์ประกอบเนื่องจากพระพุทธศาสนามีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถวิวัฒนาการไปตามรูปแบบของการปกครองฝ่ายบ้านเมืองได้

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕