หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาทวี ฐานวโร(อ่อนปัสสา)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๑ ครั้ง
ปาณาติบาตกับปัญหาจริยธรรมในพุทธปรัชญา (๒๕๓๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาทวี ฐานวโร(อ่อนปัสสา) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาพิสิฏฐ์ สุธมฺโม
  นายประสิทธิ์ จันรัตนา
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๔
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายที่เพื่อศึกษาเรื่อง “ปาณาติบาตกับปัญหาจริยธรรมในพุทธปรัชญา” เป็นการศึกษาวิเคราะห์ถึงความผิดความถูก ควรไม่ควรอย่างไรในทางศีลธรรมอันเนื่องมาจากการทำปาณาติบาต โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เป็นหลัก ผู้ศึกษาจะได้รับประโยชน์และได้รับความกระจ่างในความหมายของชีวิตตามทัศนะพุทธปรัชญาและนักปราชญ์อื่น ๆ,  การประเมินคุณค่าของชีวิต, แนวความคิดทางศีลธรรม จริยธรรมกับการทำปาณาติบาตทั้งชีวิตคนและสัตว์, คุณค่าของชีวิตประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษที่มากหรือน้อยแก้ผู้ทำ, การพิจารณาปัญหาที่เป็นไปในลักษณะที่ดีอย่างเสียอย่าง (Dilemma) เช่น การทำแท้งเพื่อรักษาชีวิตของแม่
          ในการวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้แบ่งหัวข้อเป็น ๗ บท ดังนี้
          บทที่ ๑ ว่าด้วยโครงสร้างของวิทยานิพนธ์
          บทที่ ๒ ว่าด้วยความหมาย กระบวนการของชีวิต และคุณค่าของชีวิต
          บทที่ ๓ ว่าด้วยองค์ประกอบ และประเภทของการทำปาณาติบาต
          บทที่ ๔ ว่าด้วยคุณค่าของชีวิตที่เป็นปัญหาต่อการทำปาณาติบาต
          บทที่ ๕ ว่าด้วยการตัดสินปัญหาจริยธรรมในการทำปาณาติบาต
          บทที่ ๖ ว่าด้วยหลักการในการพิจารณาในการตอบปัญหาจริยธรรมกับการทำปาณาติบาตที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน
          บทที่ ๗ ว่าด้วย การสรุป การวิจารณ์ ข้อเสนอแนะ และประเด็นที่น่าสนใจ
          ความผิดในการทำปาณาติบาตนั้น ควรแยกพิจารณาปัญหานี้จากทั้ง ๒ ฝ่าย คือ จาก ฝ่ายผู้ทำเองและจากฝ่ายผู้กระทำ โดยเรียกแต่ละฝ่าย ดังนี้
          ๑. ฝ่ายผู้กระทำเองเรียกว่า ฝ่ายอัตวิสัย (Subject) คือผู้ฆ่า โดยที่ผู้ฆ่ามีเจตนาเป็นศูนย์กลางหลัก ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จะวัดความโน้มเอียงว่า เป็นไปในทางกุศลหรืออกุศล หรือ มีจุดหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตและจิตใจที่ประกอบด้วยเหตุผลที่จำเป็น หากการกระทำใด ๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอกุศลมูลอันประกอบด้วย โลภะ โทสะ และโมหะแล้ว การกระทำนั้น ๆ ถือว่า เป็นการเบียดเบียนและทรมาน ความผิดหรือบาปใด ๆ อันจะพึงมีก็ย่อมจะมีมาก
          ๒. ฝ่ายผู้ถูกกระทำเรียกว่า ฝ่ายวัตถุวิสัย (Object) คือชีวิตที่ถูกฆ่าซึ่งจำแนก ตามคุณค่าของชีวิต ประโยชน์ของชีวิต ตลอดถึงขนาดของชีวิตสัตว์ เป็นบทกำหนดโทษในการตัดสินว่าจะมีโทษมากหรือมีโทษน้อย มุ่งเอาความมีศีลธรรมหรือคุณธรรมเป็นบทกำหนดคุณค่าของมนุษย์ หากศีลธรรมและคุณธรรมของบุคคลใดมีมากผู้กระทำปาณาติบาตแก่ชีวิตนั้นก็ย่อมจะมีโทษมาก
          ส่วนเกณฑ์การตัดสินคุณค่าของชีวิตสัตว์นั้น ขึ้นอยู่กับคุณประโยชน์และขนาดของสัตว์นั้น ๆ เป็นสมุฏฐาน กล่าวคือ ถ้าสัตว์มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์มากหรือมีขนาดใหญ่มากก็มีโทษมาก ถ้าสัตว์มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์น้อย หรือมีขนาดเล็กกว่าก็จะมีโทษน้อย

Download : 253401.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕