หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » จงจิต พานิชกุล
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๓ ครั้ง
การศึกษาการทำศัลยกรรมความงามในมุมมองของพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : จงจิต พานิชกุล ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระใบฎีกาเสน่ห์ ญาณเมธี
  สมหวัง แก้วสุฟอง
  -
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

               วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาความงามในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องการทำศัลยกรรม และ (๓) เพื่อศึกษาการทำศัลยกรรมความงามในมุมมองของพระพุทธศาสนา  โดยผู้วิจัยทำการศึกษาเชิงเอกสาร ผลการศึกษาพบว่า

               ความงามในพระพุทธศาสนาสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือความงามภายนอกและความงามภายใน ความงามภายนอกคือสิ่งที่เป็นรูปธรรม มองเห็นด้วยประสาทสัมผัส โดยความงามแบบปุถุชนที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือความงามแบบเบญจกัลยาณี และความงามแบบพิเศษคือความงามแบบมหาปุริสลักษณะ ส่วนความงามภายในคือความงามที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ เป็นความงามที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัว โดยความงามภายในสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ ความงามในเบื้องต้นหมายถึงศีล ความงามในท่ามกลางหมายถึงอริยมรรค และความงามในที่สุดหมายถึง       พระนิพพาน นอกจากนี้ความงามภายในคือการน้อมนำเอาหลักธรรมที่ทำให้งามมาประพฤติปฏิบัติ แต่ในปัจจุบัน ความงามภายในกลายเป็นสิ่งที่สังคมเพิกเฉยเพราะความงามภายนอกเป็นรูปธรรม มองเห็นได้ง่าย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนต้องดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม จนนำไปสู่การทำศัลยกรรมความงาม

               การทำศัลยกรรม สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือศัลยกรรมเสริมสร้างและศัลยกรรมความงาม ศัลยกรรมเสริมสร้างเป็นการทำศัลยกรรมเพื่อแก้ไขความผิดปกติของอวัยวะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อวัยวะดังกล่าวมีการใช้งานที่ดีขึ้น ส่วนศัลยกรรมความงามเป็นการทำศัลยกรรมเพื่อความงามเพียงอย่างเดียว การทำศัลยกรรมในยุคแรกเป็นเพียงศัลยกรรมเสริมสร้างเท่านั้น จนมาถึงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มมีการทำศัลยกรรมความงามเข้ามาและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนในปัจจุบันประเทศไทยมีคลีนิคศัลยกรรมความงามอยู่มากมาย ต่างพากันแข่งขันลดราคา ทำให้ราคาของการทำศัลยกรรมความงามถูกลงและกลายเป็นเรื่องที่ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้มีฐานะดีอีกต่อไป แม้ว่าการจะได้มาซึ่งความงามดังกล่าว จำเป็นต้องแลกด้วยทรัพย์ ความเจ็บปวด ความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงและผลลัพธ์ที่อาจไม่เป็นไปดังที่คาดหวังไว้ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยอมรับได้และมองว่าการทำศัลยกรรมความงามเป็นเรื่องปกติ

               การที่คนเกิดมามีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันนั้น ในทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่าเกิดจากกรรมดีและกรรมชั่วที่บุคคลนั้นทำไว้เมื่อชาติก่อน ในขณะที่ทางโลกเชื่อว่า ความแตกต่างนั้นเกิดจากพันธุกรรมที่ได้รับมาจากบิดามารดาและบรรพบุรุษ  และด้วยความเชื่อในทางโลกมากกว่านี้เอง ทำให้คนในสังคมละเลยเรื่องบาปบุญ มุ่งแต่จะพัฒนาความงามภายนอกมากกว่าความงามภายใน ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงมีวิธีแก้ไม่ให้คนยึดติดในรูป โดยให้บุคคลเห็นถึงความไม่เที่ยงของรูป ไม่ว่าจะเป็นการนิรมิตร่างที่ค่อยๆ เปลี่ยนสภาพไป จากร่างหนุ่มสาว เป็นร่างชรา ป่วยและเสียชีวิต หรือการเจริญกายคตาสติและการเจริญอสุภกรรมฐาน ทั้งนี้เพื่อให้เห็นความจริงของชีวิต ว่าไม่มีอะไรเที่ยง สอดคล้องกับผลจากการสัมภาษณ์ของภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิทางพระพุทธศาสนาที่มีความคิดเห็นว่า การทำศัลยกรรมความงามเป็นการสนองตัณหาเพียงชั่วคราว ท้ายสุดแล้ว ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนไปตามกฎของไตรลักษณ์โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕