หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมควร สมจิตฺโต (รุ้งศรีนาค)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๘ ครั้ง
การศึกษาการมีอายุยืนในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระสมควร สมจิตฺโต (รุ้งศรีนาค) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสังวราภิรักษ์
  สุรพงษ์ คงสัตย์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาการมีอายุยืนในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการมีอายุยืนในพระพุทธศาสนา   เถรวาท (๓) เพื่อนำหลักการมีอายุยืนมาบูรณาการใช้กับชีวิตประจำวัน  ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร (Document Research) ใช้ข้อมูลจาก คัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และเอกสารหนังสือ รวมทั้งวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เรียบเรียงเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า

อายุ คือ ชั่วเวลาชีวิตหนึ่ง เป็นการดำรงอยู่ของชีวิต สิ่งเป็นเหตุเป็นไปแห่งสัตว์โลก    และดำรงอยู่ของชีวิตให้มีความสุข ในกระบวนการเกิดของมนุษย์เป็นจุดเริ่มต้นของการได้มาซึ่งอายุ เริ่มจากองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ มารดาอยู่ในวัยที่มีระดู มารดาบิดาอยู่ด้วยกัน และมีสัตว์มาเกิด จึงมีองค์ประกอบของชีวิต เรียกว่า ขันธ์ ๕  เมื่อชีวิตเกิดขึ้นการดำรงอยู่ของชีวิตย่อมเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นไปตามกฎธรรมดาของโลก เรียกว่า สามัญลักษณะ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ไปในที่สุด

การมีอายุยืน ในพระพุทธศาสนาถือว่าต้องมีองค์ประกอบด้วยเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ อันมีหลักกรรมเป็นเบื้องต้นในฐานะเป็นกฎแห่งธรรมชาติ คือ กฎแห่งเหตุผล รวมทั้งกฎแห่งกรรมในฐานะเป็นกฎทางศีลธรรม คือ เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ทางศีลธรรมของมนุษย์ มีการให้ผลคือวิบากตอบสนอง ดังนั้นบ่อเกิดของการอายุยืนหรือมีอายุสั้นมาจากการกระทำที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง    ที่จัดเป็น กุศลกรรม (ฝ่ายดี) และอกุศลกรรม (ฝ่ายชั่ว) กรรมแม้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อายุยืนอายุสั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกาย โรคภัย ไข้เจ็บ และการดำรงชีวิตอยู่ด้วยธรรม คือ อายุสสธรรม และสัปปายะ พรหมวิหาร อิทธิบาท โพชฌงค์ และความไม่ประมาท ซึ่งเหตุปัจจัยนี้จะบ่งบอกถึงการมีอายุยืนหรือมีอายุสั้นของมนุษย์

 การบูรณาการเพื่อให้มีอายุยืนตาม หลักกรรม คือ การประพฤติชอบ (กุศลกรรม)    ทางกายวาจา และใจ เรียกว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม และเว้นจากการประพฤติชั่ว (อกุศลกรรม) ทางกายวาจา และใจ เรียกว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม อันเป็นหลักสำคัญของการดำเนินชีวิต และการบูรณาการเพื่อมีอายุยืนตาม หลักธรรม คือ การดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทมีธรรมเป็นที่พึ่ง ๑) อายุสสธรรม และสัปปายะ ๒) พรหมวิหาร ๓) อิทธิบาท     ๔) โพชฌงค์ ๕) ความไม่ประมาท ระลึกในสิ่งที่เป็นกุศลธรรมทั้งหลายให้ได้มาซึ่งสัมมาทิฏฐิ          และการบูรณาการเพื่อให้มีอายุยืนตาม หลักสุขภาพ เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ให้ปราศจากโรคภัย ในหลักการแพทย์ได้กล่าวถึง การพัฒนาสุขภาพตามหลัก ๖ อ.     ๑) การรับประทานอาหารที่สะอาด ๒) อากาศที่บริสุทธิ์ ๓) อารมณ์แจ่มใส ๔) ออกกำลังกาย     ๕) อนามัยด้านสิ่งแวดล้อม และ ๖)  อบายมุข ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุปัจจัยเกื้อหนุนการดำรงอยู่ของชีวิตได้อย่างมีคุณค่า และสมบูรณ์ทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวได้ในที่สุด

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕