หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พันจ่าอากาศเอกบุญเพ็ง หงษา
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๒ ครั้ง
การประยุกต์พุทธธรรมในหลักสูตรค่ายผู้นำเยาวชนต่อต้านยาเสพติดของกองทัพอากาศ(๒๕๔๘)
ชื่อผู้วิจัย : พันจ่าอากาศเอกบุญเพ็ง หงษา ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
  ศ.ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์
  นาวาอากาศเอกนพดล นุ่มศิริ
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๔๘
 
บทคัดย่อ

     การประยุกต์พุทธธรรมในหลักสูตรค่ายผู้นำเยาวชนต่อต้านยาเสพติดของกองทัพอากาศมี
จุดมุ่งหมายที่สำคัญ ๒ ประการ คือ ประการแรก เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมในการแก้ปัญหา
ยาเสพติด และเพื่อประยุกต์หลักพุทธธรรมใช้ในกิจกรรมของหลักสูตรค่ายผู้นำเยาวชนต่อต้าน
ยาเสพติดของกองทัพอากาศในการศึกษา ผู้วิจัยไดแบ่งหัวข้อการศึกษาออกเป็น ๕ บท โดยเริ่มศึกษา
หลักพุทธธรรมในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องและเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด คือ หลัก
อริยสัจสี่ หลักเบญจศีล หลักกัลยาณมิตร ๔,๗ และหลักอปริหานิยธรรม ๗ เมื่อทราบถึงหัวข้อและ
หลักพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องแล้วได้นำไปสังเคราะห์ให้เข้ากับสาเหตุและปัญหายาเสพติดโดยหลัก
ทฤษฎี จากนั้นได้นำหลักพุทธธรรมดังกล่าวมาปรับประยุกต์เข้าไปในกิจกรรมในหลักสูตรฝึกอบรม
สำหรับค่ายผู้นำชุมชน เยาวชน ต่อต้านยาเสพติด ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ใน
ส่วนของกองทัพอากาศจำนวน ๒๐ ค่ายฝึกอบรม ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลภาคสนามจากค่ายฝึกอบรม
มาวิเคราะห์ข้อมูลและนำมาอภิปรายผลประกอบกับผลการสัมภาษณ์กลุ่มและการสังเกตตลอด
กิจกรรมค่ายในทุกขั้นตอนผลจากการศึกษาและวิจัยพบว่า หลักพุทธธรรมในพระพุทธศาสนา สามารถปรับ
ประยุกต์ใช้ได้ในทุกกิจกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการ
ฝึกอบรมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการนำหลักพุทธธรรมเข้ามาปรับใช้ในกิจกรรมต่างๆ มีความเชื่อใน
เรื่องของกฎแห่งกรรม การมีกัลยาณมิตร การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนาว่าเป็น
แนวทางในการปฏิบัติให้ลด ละ เลิกยาเสพติดได้ ทั้งนี้ส่วนใหญ่ยังมีความเห็นต่อกระบวนการ
อริยสัจสี่ว่า ปัญหาทุกปัญหามีสาเหตุและถ้าทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันเป็นพลังแผ่นดินก็จะมี
แนวทางในการแก้ปัญหาทุกปัญหาได้ การนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาผ่านรูปแบบกิจกรรมใน
ค่ายฝึกอบรมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการที่วิทยากรนำหลักพุทธธรรม สาระ มาปรับประยุกต์แทรกใน
ทุกกิจกรรม เมื่อผ่านพ้นกิจกรรมแล้วผู้เข้ารับการฝึกอบรมรู้สึกภูมิใจในตัวเอง รักเพื่อนเพิ่มขึ้น มี
ความเสียสละ อดทน ถึงแม้จะมีทัศนคติที่ไม่ดีก่อนการเข้าค่าย แต่ภายหลังเข้าค่ายแล้วรู้สึก
ประทับใจผู้วิจัยเห็นว่า หลักพุทธธรรม ภายใต้กรอบอริยสัจสี่ เป็นกระบวนการที่ครอบคลุมการ
แก้ปัญหาได้ทุกปัญหา ทุกระดับชั้นของปัญหา เป็นหลักสากลจักรวาลที่ใช้ได้ทุกแง่มุม ในแต่ละ
ปัญหาถึงแม้จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายจะทำให้พบแนวทางที่เหมาะสม
สำหรับการแก้ปัญหานั้นๆ เสมอ สังคมไทยเป็นสังคมวัฒนธรรมเชิงพุทธจึงควรที่จะนำหลักพุทธ
ธรรมมาเป็นบรรทัดฐานเป็นกรอบแนวคิดในการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับผู้
ปฏิบัติ ภาครัฐ ควรกำหนดนโยบายในทิศทางที่ให้ประชาชน ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
ในทุกปัญหา โดยผ่านกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกันโดยภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน กำกับดูแลให้
เป็นไปตามนโยบายหลักและสอดคล้องกับความเป็นจริงของชุมชน เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง การ
ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงเป็นโอกาสที่จะใช้ปัญญาร่วมกันโดยผ่านกระบวนการ
กิจกรรมพัฒนาตนเอง พัฒนาจิตวิญญาณให้เกิดปัญญาของชาวพุทธ ในกิจกรรมตามประเพณี
ได้แก่ การไปทำบุญมีการให้ทาน รักษาศีล การเจริญภาวนาในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันมาฆบูชา
วันวิสาขะบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันธรรมสวนะ และการปฏิบัติธรรม
เนื่องในวันสำคัญอื่น ๆ เป็นต้น ในกิจกรรมพิเศษ เช่น โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ค่าย
พุทธบุตร ค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ค่ายฝึกอบรมต่อต้านยาเสพติดของหน่วยงานราชการต่างๆ
เป็นต้น

Download : 254831.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕