หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เติมศักดิ์ กังวล
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๖ ครั้ง
การเผยแผ่พุทธธรรมผ่านสื่อโทรทัศน์ : กรณีศึกษา รายการตีสิบ ตอนคนจนผู้ยิ่งใหญ่
ชื่อผู้วิจัย : เติมศักดิ์ กังวล ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิชาชีพครู)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  จุฑามาศ วารีแสงทิพย์
  พระครูปลัดสุวัฒนบัณฑิตคุณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

                      วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ข้อ คือ ๑. เพื่อศึกษาพุทธวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมทางพระพุทธศาสนา ๒. เพื่อศึกษาการใช้สื่อโทรทัศน์ในการเผยแผ่พุทธธรรม ๓. เพื่อวิเคราะห์ความสอดคล้อง
ของการเผยแผ่พุทธธรรมผ่านสื่อโทรทัศน์รายการตีสิบ ตอนคนจนผู้ยิ่งใหญ่     

             การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งผู้วิจัยได้ค้นคว้าจากพระไตรปิฎก อรรถกถา หนังสือ เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เก็บข้อมูลจากรายการตีสิบ ตอนคนจนผู้ยิ่งใหญ่ ที่ออกอากาศจำนวน ๗ ครั้ง ศึกษารายการโทรทัศน์ในการเผยแผ่พุทธธรรมทางพระพุทธศาสนา และการสัมภาษณ์เชิงลึกที่มีโครงสร้าง กับนายอภิรักษ์ แซ่ฮ้อ และผู้ที่เกี่ยวข้อง พระภิกษุผู้ใช้สื่อโทรทัศน์ในการเผยแผ่พุทธธรรม นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์ และผู้ผลิตรายการตีสิบ รวมทั้งสิ้น ๑๐ รูป/คน จากเครื่องมือการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง เพื่อทำการวิเคราะห์แบบพรรณนาความ สรุปผลการวิจัย การอภิปรายผลพร้อมทั้งข้อเสนอแนะ ผลการวิจัยพบว่า

             พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีเผยแผ่ใน ๑๐ วิธี ๑) วิธีการเข้าหาทางผู้นำทางสังคม ๒) ปฏิวัติหลักคำสอนและหลักความเชื่อของลัทธิศาสนาดั้งเดิม ๓) ปฏิรูปไม่ทรงหักล้างคำสอนหรือถ้อยคำของศาสนาอื่นอย่างทันที ๔) วิธีการเสนอหลักคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ๕) วิธีการเยี่ยมเยียนตามบ้าน ๖) วิธีการบริการชุมชนเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย ๗) วิธีการใช้ปาฏิหาริย์ ๘) วิธีการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น ๙) วิธีการเผยแผ่ด้วยบุคลิกภาพ และ ๑๐) วิธีการสนทนา
การบรรยายและตอบปัญหา

 

             ในระหว่างเดือนมกราคม - ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ มีรายการโทรทัศน์เผยแผ่พุทธธรรม จำนวน ๓๔ รายการ ซึ่งส่วนมากนำเสนอในวันเสาร์และอาทิตย์ในช่วงเวลา ๐๔.๐๐ ๐๙.๐๐ น. โดยมีรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอพุทธธรรมสามารถแบ่งออกเป็น ๗ รูปแบบ ได้แก่ ๑) รายการรูปแบบบรรยาย ๒) รายการรูปแบบสนทนา ๓) รายการรูปแบบละคร ๔) รายการรูปแบบสารคดี
๕) รายการรูปแบบการ์ตูน ๖) รายการรูปแบบปกิณกะ ๗) รายการรูปแบบเรียลลิตี้ ซึ่งมีการเล่าเรื่องพุทธธรรมที่หลากหลายส่วนมากจะเน้นหนักเรื่องศีล ๕

             องค์ประกอบพุทธวิธีการสื่อสารกับกระบวนการสื่อสาร ซึ่งมีความคล้ายกันดังนี้ ๑) ผู้ส่งสาร ได้แก่ พระพุทธเจ้า ๒) ข่าวสาร ได้แก่ หลักธรรม ๓) สื่อ ได้แก่ การเทศน์ ๔) ผู้รับสาร ได้แก่ พระสาวกซึ่งรายการ
ตีสิบ ตอนคนจนผู้ยิ่งใหญ่ ได้นำเสนอพุทธธรรมเรื่องความกตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดาซึ่งมีความสอดคล้องกับเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาใน ๒ ลักษณะ คือ ๑) การแสดงความกตัญญูกตเวทีด้วยการปรนนิบัติเลี้ยงดูมารดาบิดาด้วยปัจจัยสี่ ซึ่งปรากฎในโสณนันทชาดก ๒) การแสดงความกตัญญูกตเวทีด้วยการการเตือนสติให้มารดาบิดาตั้งมั่นในธรรม
ซึ่งปรากฏในสุวัณณสามชาดก

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕