หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสิทธิวชิรโสภิต (ประสิทธิ์ สมฺมาปญโญ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๒ ครั้ง
ภาวะผู้นำในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระธรรมภาณพิลาส (อดุลย์ อมโร) (สาขารัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสิทธิวชิรโสภิต (ประสิทธิ์ สมฺมาปญโญ) ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูวชิรคุณพิพัฒน์
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ
  -
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่อง “ภาวะผู้นำในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระธรรมภาณพิลาส (อดุลย์ อมโร)” มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำตามทฤษฎีตะวันตกและภาวะผู้นำตามแนวพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระธรรมภาณพิลาส (อดุลย์ อมโร) และ ๓) เพื่อศึกษาประยุกต์ใช้ภาวะผู้นำของพระธรรมภาณพิลาส (อดุลย์ อมโร) ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน ๑๕ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview Form) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณา (Descriptive Content analysis Technique) ตามโครงสร้างของแบบสัมภาษณ์ 

ผลการวิจัยพบว่า

๑. ภาวะผู้นำ เป็นการที่ผู้นำใช้อิทธิพลในความสัมพันธ์ ซึ่งมีอยู่ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อปฏิบัติการและอำนวยการ โดยใช้กระบวนการติดต่อซึ่งกันและกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีศิลปะหรือความสามารถของบุคคลหนึ่งที่จูงใจหรือใช้อิทธิพลต่อบุคคลอื่นให้ร่วมใจกันดำเนินการจนกระทั่งบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนภาวะผู้นำตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ผู้นำแนวพุทธจะเป็นผู้มีหลักธรรมในการเป็นผู้นำ เช่น หลักในการครองตน ด้วยหลักพรหมวิหาร และครองงานด้วยการมีวิสัยทัศน์ มีความสามารถในการบริหารจัดการและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีดังในงานวิจัยนี้ที่ได้ศึกษาหลักทุติยปาปณิกธรรม

๒. พระธรรมภาณพิลาส (อดุลย์ อมโร) มีการบริหารจัดการเริ่มต้นจากการวางระเบียบ กฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันก่อน เป็นผู้นำในการฟื้นฟูสำนักเรียนบาลีขึ้นในวัด เป็นผู้วางแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการสำนักศาสนศึกษา เป็นผู้นำในการจัดตั้งโรงเรียนเด็กก่อนเกณฑ์เป็นแห่งแรก เป็นผู้นำในการจัดตั้งกองทุนนิธิศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาของวัดคูยางและเด็กก่อนเกณฑ์ เป็นผู้เขียนหลักธรรมเตือนใจแก่พุทธศาสนิกชนในโอกาสและวาระต่างๆ และเป็นพระมหาเถระนักพัฒนา นักคิด นักออกแบบเสนาสนะภายในวัด จัดหมวดหมู่สังฆาวาส พุทธาวาสอย่างเป็นระบบ

๓. ภาวะผู้นำในการประยุกต์ใช้หลักทุติยปาปณิกธรรมของพระธรรมภาณพิลาส (อดุลย์ อมโร) ในการบริหารจัดการคณะสงฆ์ พบว่า

   ๓.๑ ด้านการปกครองพระธรรมภาณพิลาสเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ในการกำหนดนโยบายในการปกครองที่มีรูปแบบและวิธีการทำงานที่แน่นอนและชัดเจน มีการกระจายอำนาจการปกครอง การสร้างค่านิยมที่ดี การส่งเสริมท้องถิ่นให้เข้มแข็ง การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และการสนับสนุนการทำงานเป็นทีมีการมีความยุติธรรมในการแก้ไขอธิกรณ์ โดยมุ่งเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพในการทำงาน และก่อให้เกิดความสามัคคีของหมู่คณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร เป็นที่ยอมรับของผู้ใต้บังคับบัญชา

   ๓.๒ ด้านศาสนศึกษาพระธรรมภาณพิลาสเป็นผู้ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้พระภิกษุและสามเณรได้มีความรู้อย่างแตกฉานเพื่อที่จะได้อบรมสั่งสอนผู้อื่นได้ จึงได้มีการสนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ทั้งด้านภาคปริยัติธรรม คือ บาลีและนักธรรมและในระดับอุดมศึกษาและหลักสูตรพัฒนาพระสังฆาธิการ

   .๓ ด้านการเผยแผ่พระธรรมภาณพิลาสได้มีการจัดตั้งศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนา โครงการครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ซึ่งเน้นการเผยแผ่เชิงรุกและได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่   เจ้าคณะพระสังฆาธิการ พระภิกษุสามเณรในเขตปกครองจังหวัดกำแพงเพชรให้มีความสามารถในการสื่อสารและเทคนิควิธีการในการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า

   ๓.๔ ด้านการศึกษาสงเคราะห์พระธรรมภาณพิลาสสนับสนุนการศึกษาสำหรับเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไปให้มีโอกาสได้ศึกษาพระพุทธศาสนาเพิ่มเติมเพื่อคุณภาพประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตอันจะเป็นการช่วยรักษาความมั่นคงของชาติ และยังทำให้พระภิกษุสามเณรมีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถจากที่ได้ศึกษานำมาอบรมสั่งสอนแก่เด็ก เยาวชนและประชาชน

    ๓.๕ ด้านการสาธารณูปการพระธรรมภาณพิลาสมีนโยบายให้คณะสงฆ์การดูแล รักษาและพัฒนาศาสนสมบัติ รวมถึงอนุรักษ์โบราณสถานและจัดทำแผนพัฒนาวัดอย่างเป็นระบบ

   ๓.๖ ด้านการสาธารณสงเคราะห์พระธรรมภาณพิลาสได้ส่งเสริมกิจการสาธารณะประโยชน์ เช่น โครงการวัดช่วยวัด โครงการส่งเงินสมทบทุนมูลนิธิต่างๆ รวมทั้งความสำคัญในการอนุรักษ์ศาสนสถานไว้ให้ชนรุ่นหลังด้วย

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕