หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาณรงค์ศักดิ์ โสภณสิทฺธิ (โสภา)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๙ ครั้ง
ศึกษาบทบาทการเผยแผ่พุทธธรรมของพระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม)(๒๕๔๙)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาณรงค์ศักดิ์ โสภณสิทฺธิ (โสภา) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  พระมหาบุญเกิด กตเวที
  รศ.บำรุง สุขพรรณ์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

     พระธรรมปริยัติเวที ท่านเป็นพระเถระที่มีความกตัญญูกตเวทีเป็นยอด เป็นพระเถราจารย์ที่เป็นปูชนียสงฆ์แห่งคณะสงฆ์และประชาชนชาวจังหวัดนครปฐม มีคุณสมบัติครบถ้วนของความเป็นนักเผยแผ่พุทธธรรม มีความรู้ลึกซึ้งในสิ่งที่สอน ใช้รูปแบบและแนวทางการสอนให้ประจักษ์มีสัมฤทธิผล ปฏิบัติตนเป็นอย่างที่ดี แนะนำสั่งสอนให้ผู้อื่นมีความรู้คู่คุณธรรม ได้ทำบทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์ในการอนุเคราะห์ประชาชนไม่ให้ทำความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันดีงาม ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง บอกทางสวรรค์ให้ ได้สนองบทบาทกิจการคณะสงฆ์ทั้งการปกครอง การศาสนศึกษา การสาธารณูปการ การศึกษาสงเคราะห์ การสาธารณสงเคราะห์ การเผยแผ่พุทธธรรมด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยดีงาม ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร
รูปแบบพระธรรมเทศนา บรรยายธรรม ปาฐกถาธรรม บทความ ด้านพัฒนาจิตใจเพื่อชีวิตที่ดีงาม ได้มีรูปแบบการนำเสนอ ๔ วิธี คือ นำเสนอโดยตรง นำเสนอโดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน นำเสนอโดยยกบุคคลตัวอย่างมาประกอบ นำเสนอโดยแทรกอารมณ์ขัน และพุทธธรรมด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้มีรูปแบบการนำเสนอ ๔ วิธี คือ นำเสนอโดยการยกอุทาหรณ์และเล่านิทานประกอบ นำเสนอโดยวิธีการเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมาอุปมัย นำเสนอโดยวิธียกพุทธศาสนสุภาษิต สุภาษิต โคลง กลอนมาประกอบ นำเสนอโดยวิธีการเชื่อมโยงเหตุการณ์และสถานการณ์ต่าง ๆ และแนวทางการการเผยแผ่พุทธธรรม ท่านมีแนวทางในการนำเสนอที่เป็นเอกลักษณ์อยู่ ๓ วิธี คือ การใช้ถ้อยคำเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย การใช้วิธี ยกอุทาหรณ์และเล่านิทานประกอบ การใช้พุทธศาสนสุภาษิต สุภาษิต คำคม บทกลอน มาประกอบ ทางด้านความสอดคล้องระหว่างกับหลักพุทธวิธีในการสื่อสาร คือ แจ่มแจ้ง (สันทัสสนา) จงใจ (สมาทปนา) หาญกล้า (สมุตเตชนา) ร่าเริง (สัมปหังสนา) มีการ ยกอุทาหรณ์และเล่านิทานประกอบ การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมาอุปมัย ใช้วิธียกบุคคลตัวอย่าง ใช้วิธีการแทรกเรื่องทำให้อารมณ์ขัน ใช้ภาษาง่ายเหมาะสมกับผู้ฟัง และในส่วนของความสอดคล้องระหว่างกับหลักนิเทศศาสตร์ คือ มีความกระจ่างชัดของภาษา ถูกต้อง เชื่อเถือได้ การใช้ภาษาที่ทำให้ผู้ฟังเกิดภาพได้ ความตรงต่อกรณี มีความเหมาะสมตามกาล ความเหมาะสมของการใช้ภาษา มีความบริบูรณ์เพียงพอ มีจำนวนเพียงพอ และมีความแจ่มแจ้งชัดเจน ไม่มีอคติ มีความจำเป็น ใช้ประโยชน์ได้
บทบาทการเผยแผ่พุทธธรรมทั้งรูปแบบพระธรรมเทศนา บรรยายธรรม ปาฐกถาธรรม บทความ ที่นำเสนอมีความเด่นด้านการใช้ภาษาการอธิบายกระชับ ชัดเจน เข้าใจง่าย ได้มีการยกพุทธศาสนสุภาษิต ยกอุทาหรณ์ เล่านิทาน เปรียบเทียบด้วยข้ออุปมาอุปมัย ใช้วิธียกบุคคลเป็นตัวอย่าง ถือว่าเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น และถือว่าเป็นรูปแบบและแนวทางที่ท่านได้นำเอาออกมาเผยแผ่พุทธธรรมมากที่สุด พุทธธรรมที่นำเสนอเป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว ท่านได้อธิบายเนื้อหาสาระธรรมชัดเจน แจ่มแจ้ง ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงในชีวิตประจำวัน และสามารถนำไปใช้ปรับปรุงแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองและคนส่วนรวมได้ เพราะโดยเนื้อหาพุทธธรรมส่วนใหญ่ท่านจะเน้นเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ทาน ศีล ภาวนา ความกตัญญูกตเวทิตา พร้อมทั้งพระบรมราโชวาททั้ง ๔ ประการ อันเป็นธรรมรากฐานสำคัญของพระพุทธศาสนา เพื่อให้เยาวชน ประชาชนได้นำมาปฏิบัติปรับปรุงแก้ไข ขัดเกลาจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในจริยธรรม ศีลธรรม คุณธรรมอันดีงาม อาจเรียกได้ว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่ได้แสดงบทบาท เจริญตามรอยบาทพระศาสดาได้อย่างสมบูรณ์ เป็นแบบอย่างแห่งความดีงาม ความกตัญญูกตเวทิตา และได้อุทิศชีวิตตน เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยความขยัน ซื่อสัตย์ อดทน และเสียสละอย่างแท้จริง

Download : 254906.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕