หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปลัดอุทัย รตนปญฺโญ (คำชุ่ม)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในค่าวฮ่ำล้านนา
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปลัดอุทัย รตนปญฺโญ (คำชุ่ม) ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๓/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาดวงจันทร์ คุตฺตสีโล
  เทพประวิณ จันทร์แรง
  วิโรจน์ อินทนนท์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

                 วิทยานิพนธ์ เรื่องการศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในค่าวฮ่ำล้านนา     มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑. เพื่อศึกษากำเนิดและพัฒนาการค่าวฮ่ำล้านนา  ๒. เพื่อศึกษาลักษณะและประเภทวรรณกรรมค่าวฮ่ำล้านนา ๓.เพื่อศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธจริยธรรมในค่าวฮ่ำล้านนา

                  ผลการวิจัยพบว่า วรรณกรรมค่าวฮ่ำล้านนามีจุดกำเนิดจากวัด  เพราะศาสนบุคคลคือพระภิกษุในล้านนามีความสนใจการศึกษาโดยเฉพาะด้านภาษาและวรรณกรรม   จนเกิดความรู้ความแตกฉาน  หลังจากล้านนาที่เคยตกเป็นประเทศราชของพม่าได้รับเอกราช  วรรณกรรมค่าวฮ่ำล้านนาได้พัฒนาเข้าสู่ราชสำนัก    จนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก  เช่น  พระยาโลมาวิสัยแห่ง     ราชสำนักจังหวัดลำปาง ได้แต่งค่าวซอเรื่องหงส์ผาคำ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เรื่องเจ้าสุวัฒน์นางบัวคำ เป็นเรื่องที่สอง เนื้อหาของค่าวซอจะเป็นเรื่องที่มาจากชาดกของพระพุทธเจ้า ต่อมาก็มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นค่าวธรรม ค่าวใช้  ค่าวจ๊อย  ค่าวจีบหนุ่มจีบสาว และ ค่าวฮ่ำ จนเกิดประแสนิยมสู่ชาวบ้าน   วรรณกรรมเหล่านี้ได้รับความนิยมจากสังคมทุกชนชั้น  เพราะมีภาษาที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย  เนื้อหาของค่าวจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวล้านนา จนในที่สุดได้มีการจัดพิมพ์ ค่าวที่ได้รับความนิยมออกจำหน่ายทั้งอักษรล้านนาและอักษรไทย                       

                  ค่าวฮ่ำเป็นหนึ่งในฉันทลักษณ์ ที่พัฒนามาจากค่าวซอ ลักษณะของค่าวฮ่ำเป็นวรรณกรรมที่แต่งพรรณนาเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง เช่นค่าวฮ่ำน้ำท่วม ค่าวฮ่ำปู่สอนหลาน ค่าวฮ่ำเถระประวัติพระสงฆ์ที่มรณภาพ เป็นต้น ต่อมาค่าวฮ่ำ ได้เป็นที่รู้จักกันในสื่อพื้นบ้านต่างๆ ที่มีการนำเอา ค่าวฮ่ำ มาใช้เป็นสื่อส่งข่าวสาร ให้กับชาวบ้าน โดยแยกเป็นประเภทคำสอน และประเภทเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง นอกจากนั้นมีการปรับปรุงโครงสร้างแผนผังทำนองในการอ่านเพื่อให้เกิดสุนทรียศาสตร์ด้านภาษา     จนได้รับความนิยมจากชาวล้านนาเป็นอย่างดี จากนั้นทั้งภาครัฐ และเอกชนได้เห็นความสำคัญของวรรณกรรมค่าวฮ่ำ จึงมีการจัดประกวด ค่าวฮ่ำขึ้น  ทำให้มีการพัฒนาจากการเขียนลงในใบลานมาตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม นำมาเผยแผ่ในสังคมของชาวล้านนา พร้อมทั้งนำเสนอทางสื่อสารวิทยุและหนังสือพิมพ์ตราบเท่าทุกวันนี้

                 หลักพุทธจริยธรรม ที่ปรากฏในค่าวฮ่ำล้านนา  คือหลักการดำเนินชีวิตที่ดีงาม  การประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้บรรลุประโยชน์คือ ความสุขในการดำเนินชีวิต สามารถประพฤติปฏิบัติตน ให้สามารถอยู่ในสังคมได้ ด้วยการครองชีวิตตามหลักพุทธจริยธรรมที่ พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และนำมาสั่งสอนประชาชน ให้เข้าใจในการดำเนินชีวิตผ่านค่าวฮ่ำล้านนา   หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏใน ค่าวฮ่ำล้านนา    จำแนกได้เป็นพุทธจริยธรรมระดับต้น คือศีล ๕ ทิศ ๖   ระดับกลางคือ กุศลกรรมบถ ๑๐   และระดับสูงคืออริยมรรคมีองค์ ๘   นอกจากนี้ยังมีหลักพุทธจริยธรรมที่ ปรากฏในค่าวฮ่ำล้านนา ในการดำเนินชีวิต คือ ความกตัญญู กฏแห่งกรรม  พรหมวิหาร ๔  นิวรณ์ ๕ และอบายมุข ๖  หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในค่าวฮ่ำล้านนา ได้ถูกนำมาใช้อบรมจิตใจชาวพุทธผ่านสื่อสารมวลชนคือวิทยุและหนังสือพิมพ์

                 พุทธจริยธรรมที่ปรากฏในค่าวฮ่ำล้านนา   เป็นการสะท้อนหลักพุทธศาสนาอย่างครบถ้วนคือ  ๑.เข้าใจธรรมชาติของตัวเอง คือปฏิบัติตามศีล ๕ เพื่อเข้าร่วมกับสังคมอย่างสันติสุข  ๒.เข้าใจธรรมชาติของจักรวาล คือ มีความกตัญญูต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ๓. เข้าใจเป้าหมายปลายทางของชีวิต ด้วยการปฏิบัติตามหลักกุศลกรรมบถ ๑๐  ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพื่อนำไปสู่ความอิสระ ๔.เส้นทางไปสู่อุดมการณ์สูงสุดของชีวิตในทางพระพุทธศาสนา คืออริยมรรคมีองค์ ๘  ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของพุทธจริยธรรมในอาณาจักรแห่งนี้ บริบทของสังคมล้านนาที่สื่อการสอนด้วยวรรณกรรมค่าวฮ่ำล้านนา  เสมือนเส้นเลือดใหญ่ของวัฒนธรรมล้านนาที่ตราตรึงในห้วงแห่งจิตสำนึกที่ดีงามในการดำเนินชีวิตของชาวล้านนา  เป็นขุมพลังด้านสติปัญญาของชาวล้านนาที่สั่งสมมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕