หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมหมาย อตฺถสิทฺโธ (พืชสิงห์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๐ ครั้ง
ศึกษาสิทธิมนุษยชนในพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : พระสมหมาย อตฺถสิทฺโธ (พืชสิงห์) ข้อมูลวันที่ : ๐๓/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  จิรภัทร แก้วกู่
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          

           สาระนิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และหลักธรรมสัมพันธ์และที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน 

           จากการศึกษาแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในคัมภีร์พระพุทธศาสนา พบว่า แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนสากล ได้ก่อกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ โดยเน้นเรื่องสิทธิโดยธรรมชาติความคิดเรื่องกฎแห่งธรรมชาติและได้พัฒนาเรื่อยมาในประเทศทั่วโลก จนถึงร่วมลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติ จัดทำเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม คริสต์ศักราช ๑๙๔๘ (พ.ศ. ๒๔๙๑) มีบัญญัติไว้ ๓๐ ข้อ เนื้อหาว่าด้วยเรื่องหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน  เรื่องสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, เรื่องเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม, และเรื่องหน้าที่ของบุคคล สังคม และรัฐ

           ผลการศึกษาแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษย์ในพระพุทธาสนา  พบว่า การนำหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ๑๙๔๘ มาศึกษาเทียบเคียงกับหลักคำสอนในในพระไตรปิฎกพบว่าหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก มีความเชื่อมโยง และสามารถนำมาศึกษาเทียบเคียงกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนสากลในบริบทสังคมปัจจุบันได้ และจากการศึกษาพบว่า หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก มีความสอดคล้องกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนสากล โดยคำสอนในพระไตรปิฎก แม้จะไม่ได้ใช้คำว่าสิทธิมนุษยชนโดยตรง แต่มีเนื้อหาที่มีนัยของการสอนให้เคารพสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในชีวิต ความเสมอภาค เกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งการนำแนวคิดสิทธิมนุษยชนที่สอดแทรกในคำสอนของพระพุทธเจ้าไปเผยแผ่ จะช่วยให้ชาวพุทธได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ของผู้อื่น และจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันได้

           ผลการศึกษาหลักธรรมที่สัมพันธ์กับสิทธิมนุษยชน พบว่า  หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับหลักสิทธิมนุษยชน ล้วนได้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และเน้นการมีสิทธิเสรีภาพ โดยชี้ว่ามนุษย์มีศักยภาพในการกระทำสิ่ง ต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง มนุษย์ควรมีเมตตากรุณาต่อกันให้อภัยซึ่งกันและกัน ผ่านการกระทำที่สอดคล้องกันระหว่างกาย วาจา และใจ  เช่น หลักเบญจศีล หลักศรัทธา  หลักแห่งกรรม หลักประโยชน์ ๓ เป็นต้น จัดเป็นหลักการปฏิบัติที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งมีอยู่หลายระดับแห่งการเข้าถึง ตามความรู้ความสามารถทางสติปัญญาของแต่ละบุคคล และหลักธรรมที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นแนวปฏิบัติที่ถือได้ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของชนหมู่มากโดยไม่มีประมาณ ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ฐานะทางสังคมภาษาและศาสนา เช่น อริยมรรคมีองค์ ๘ คิหิวินัย และ ทิศ ๖  ล้วนมีการส่งเสริมให้ปฏิเสธความชั่ว สนับสนุนให้กระทำความดีต่อกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทจึงอยู่ในฐานะสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาชีวิตมวลมนุษย์ให้เข้าถึงสันติสุขทั้งด้านส่วนตัวและส่วนรวมตลอดไป

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕