หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เจ้าอธิการเกรียงศักดิ์ ขนฺติโก (หอมสมัย)
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๙ ครั้ง
ศึกษาการบรรลุธรรมของพระเรวตขทิรวนิยเถระ
ชื่อผู้วิจัย : เจ้าอธิการเกรียงศักดิ์ ขนฺติโก (หอมสมัย) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุรชัย วราสโภ
  ณัทธีร์ ศรีดี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

              วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อการศึกษาการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาประวัติการสั่งสมบารมีและการบรรลุธรรมของพระเรวตขทิรวนิยเถระ โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา คัมภีร์ปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค เอกสารทางวิชาการ และตำราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ เปรียบเทียบและทำการสรุปผล

             จากการศึกษาการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาพบว่า ธรรม หมายถึง โลกุตตรธรรม ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ต้องอาศัยหลักการเจริญวิปัสสนาภาวนา คือ การอบรมจิตเพื่อให้เกิดโลกุตตรปัญญา รู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ผู้บรรลุธรรมแล้ว เรียกว่า พระอริยบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

             ส่วนแนวทางการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา คือ การปฏิบัติวิปัสสนา โดยมีแนวทางการปฏิบัติ ๔ แบบ คือ ๑. สมถปุพพังคมนัย ๒. วิปัสสนาปุพพังคมนัย ๓. ยุคนัทธนัย
๔. ธัมมุจจนัย ทั้ง ๔ แบบนี้ สรุปได้ ๒ วิธี คือ ๑. สมถยานิกะ คือ การปฏิบัติวิปัสสนา โดยการปฏิบัติสมถะ คือ การอบรมจิตให้เกิดสมาธิเกิดองค์ฌานก่อน โดยอาศัยอารมณ์สมถะ ๔๐ ประการ พิจารณาองค์ฌาน โดยความเป็นขันธ์ ๕ รู้แจ้งรูป-นาม เห็นพระไตรลักษณ์ ทำให้เกิดมรรคจิต ผลจิต ตามลำดับ ๒. วิปัสสนายานิกะ คือ การปฏิบัติที่มีอารมณ์เป็นวิปัสสนาล้วน เมื่อว่าโดยวิธีปฏิบัติ คือ การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กาย เวทนา จิต และธรรม เป็นการกำหนดรู้และเห็นสภาวะของนามรูป โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดมรรคญาณ ผลญาณ ไปตามลำดับ

ในการศึกษาประวัติการสั่งสมบารมีและการบรรลุธรรมของพระเรวตขทิรวนิยเถระพบว่า ท่านเกิดในบ้าน อุปติสสคาม ณ หมู่บ้านนาลกะ ชื่อว่า เรวตะ บิดา คือ วังคันตพราหมณ์ มารดาคือ สารีพราหมณี มีพี่ชายคือ อุปติสสะหรือต่อมาคือ พระสารีบุตร มารดาของท่านคือนางสารีนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้เป็นมารดาของพระอรหันต์ ก็ไม่เลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา เมื่อเรวตะอายุได้ ๗ ขวบ มารดาหวังให้บุตรอยู่ครองเรือน จึงหาภรรยาและจัดงานแต่งให้ แต่ท่านหนีจากการแต่งงานมาบวช

เมื่อบวชแล้วพระเรวตะเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานจากภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตลอด ๓ เดือน ครั้นปราวณาออกพรรษา ก็บรรลุธรรมโดยการเจริญวิปัสสนามีสมถะนำหน้า แบบสมถปุพพังคมนัย สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ต่อมาเพราะความที่ท่านเป็นผู้อยู่ป่าโดยไม่ได้เลือกตามความชอบใจ แต่อยู่ป่าโดยไม่เลือกป่า พระพุทธเจ้าทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นเอตทัคคะทางอยู่ป่าเป็นวัตร

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕