หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอนุชา ถาวรสทฺโธ (ลับบัวงาม)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๖ ครั้ง
ศึกษาวิถีจิตในการรับรู้อารมณ์ทางอายตนะ ๖ ของผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา
ชื่อผู้วิจัย : พระอนุชา ถาวรสทฺโธ (ลับบัวงาม) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธวรกิจจานุการ
  เสนาะ ผดุงฉัตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาจิตและวิถีจิต ที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาอายตนะและหลักธรรมสำคัญในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาวิถีจิตในการรับรู้อารมณ์ทางอายตนะ ๖ ของผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเรียบเรียงบรรยายเป็นเชิงพรรณนาเสนอผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ และแก้ไขตามคำแนะนำ จากการศึกษาพบว่า

จิต ในทางพระพุทธศาสนา คือ ธรรมชาติรู้อารมณ์ มีจำนวน ๘๙ ดวง เมื่อว่าโดยพิศดารมี ๑๒๑ ดวง โดยมีสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกทั้งหลายคอยปรุงแต่งทำให้สภาพของจิตมีการแปรเปลี่ยนสภาพไปตามเหตุปัจจัยนั้น และย่อมช่วยสนับสนุนให้ผลธรรมนั้นตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ มีผลโดยตรงต่อการรับรู้อารมณ์ของจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา ส่วนวิถีจิต หมายถึง จิต ที่เกิดขึ้นโดยลำดับติดต่อกันเป็นแถวที่ทำกิจ ๑๑ อย่าง ที่นอกจากปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ รับอารมณ์ ๖ มีรูปารมณ์ สัททารมณ์ เป็นต้น

อายตนะ คือ ที่เกิดหรือแหล่งกำเนิด และสืบต่อของจิตกับอารมณ์ภายนอก ส่งผลต่อการรับรู้ของจิต เป็นเหตุให้ธรรมทั้งหลายมาประชุมกัน เพื่อใช้เป็นฐานความรู้ให้กำหนดได้เท่าทันอารมณ์ และอุปสรรคทั้งหลายที่คอยขัดขวางการปฏิบัติ อายตนะแบ่งออกเป็นอายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ เป็นอายตนะ ๑๒ ซึ่งเป็นวิปัสสนาภูมิอีกภูมิหนึ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ ในการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ มีมหาสติปัฏฐาน ๔ เป็นองค์ธรรมสำคัญ ประกอบด้วยกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตลอดจนโพชฌงค์ ๗ ที่คอยประคับประคองสนับสนุนการกำหนดรู้ความเป็นไปของจิต

วีถีจิตในการรับรู้อารมณ์ หมายถึง การรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มาปรากฏทางใจโดยผ่านทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ความจริงแล้วการเห็นก็คือ การที่จิตรู้รูปโดยผ่านตา การได้ยินเป็นการที่จิตรู้เสียงโดยผ่านหู การรู้กลิ่นเป็นการที่จิตรู้กลิ่นโดยผ่านจมูก การลิ้มรสเป็นการที่จิตรู้รสโดยผ่านลิ้น การสัมผัสเป็นการที่จิตรู้สัมผัสโดยผ่านร่างกาย และการรู้มโนสัมผัสเป็นการที่จิตรู้มโนสัมผัสโดยผ่านใจ ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนาจำต้องกำหนดรู้อารมณ์ที่เข้ามาสู่คลองมโนทวารทั้ง ๒ ทาง คือ ปัญจทวารวิถี และมโนทวารวิถี หากผู้ปฏิบัติเข้าใจและกำหนดได้อย่างถูกต้อง ปัญญาจะแก่กล้าขึ้นโดยลำดับจนวิปัสสนาญาณเกิด มีนามรูปปริเฉทญาณ เป็นต้น ไปจนถึงสังขารุเปกขาญาณ ด้วยความบริสุทธิ์หมดจด ด้วยการฝึกฝนตนเองที่เรียกว่า วิสุทธิ ๗ ไปโดยลำดับ นำมาซึ่งการประหาณอนุสัยกิเลสในมรรควิถี หมายความว่าจิตนี้สามารถดับโลกีย-อารมณ์ มารับโลกุตตรอารมณ์ คือ นิพพานอารมณ์ได้สำเร็จ ส่งผู้เจริญวิปัสสนาภาวนาข้ามโคตรปุถุชนเป็นพระอริยบุคคล อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระบวรพุทธศาสนา

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕