หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » แม่ชีอุบล ผาบุญมา
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๗ ครั้ง
ศึกษาวิธีปฏิบัติเพื่อละกามคุณ ๕ ที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : แม่ชีอุบล ผาบุญมา ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาชิต ฐานชิโต
  สุเทพ พรมเลิศ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

    บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษากามคุณ ๕ ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท, เพื่อศึกษาหลักธรรมในการละกามคุณ ๕ ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาวิธีการปฏิบัติเพื่อละกามคุณ ๕ ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น โดยการรวบรวมข้อมูล นำมาประมวล วิเคราะห์ โดยเรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา และสรุป ตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

กามคุณ หมายถึง ส่วนที่น่าปรารถนาน่าใคร่ของกามมี ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และ โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ที่น่าใคร่ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด หรือ สุขโสมนัสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการที่เรียกว่ากามสุข กามคุณจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ยากในการประกอบอาชีพหรือขวนขวายที่จะได้มา ซึ่งต้องอดทนต่อความหนาว ตรากตรำต่อความร้อน เดือดร้อนเพราะสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน และตายเพราะความหิวกระหาย แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย จึงเป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ เกิดเพราะเหตุแห่งกาม

หลักธรรมในการละกามคุณ ๕ ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท คือการเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา สมถภาวนาเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ วิธีเจริญสมถภาวนาให้ปฏิบัติตามอารมณ์สมถภาวนา ๔๐ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ ส่วนการเจริญวิปัสสนาภาวนาสามารถน้อมอารมณ์เข้าไปพิจารณาโดยความเป็นไตรลักษณ์ และเห็นแจ้งตามเป็นจริง ถึงแม้ว่า การเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนาจะมีวิธีการปฏิบัติแตกต่างกันก็ตาม แต่ภาวนาทั้งสองต่างมีส่วนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และเป็นไปเพื่อการละกามคุณ ๕

วิธีการละกามคุณมีวิธีปฏิบัติ ๔ แนวทางคือละด้วยไตรสิกขา ละด้วยปหาน ละด้วยขณะเกิดทางอายตนะ และละด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนา โดยการละด้วยไตรสิกขา ได้แก่        ๑) การใช้ศีลกำจัดกามนั้นก็คือให้ใช้อินทรียสังวร คือ การสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ได้แก่ จักขุนทรีย์ (สำรวมตา) โสตินทรีย์ (สำรวมหู) ฆานินทรีย์ (สำรวมจมูก) ชิวหินทรีย์ (สำรวมลิ้น) กายินทรีย์ (สำรวมกาย) และมนินทรีย์ (สำรวมใจ) ของเรา ไม่ให้ยินดียินร้ายเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น     ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสทางกาย และแม้แต่รับอารมณ์ทางใจ ๒) การกำจัดกามด้วยสมาธิ เช่น ใช้อสุภกรรมฐานเป็นตัวกำจัดกามโดยตรง ทำให้สมาธิตั้งมั่น ไม่มีนิวรณ์ อันมีกามตัณหา หรือกามคุณเกาะเกี่ยวได้นั่นเอง ๓) การกำจัดกามด้วยปัญญา คือใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นสังขารอันไม่เที่ยง       เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่มีอะไรที่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นเรา เป็นของของเรา ผลที่เกิดจากการกำจัดด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ย่อมทำให้เกิดการละ ๕ อย่าง เรียกว่า ปหาน ๕ ได้แก่            ๑) วิกขัมภนปหาน การละด้วยการข่มไว้ ๒)  ตทังคปหาน การละด้วยองค์นั้น ๆ ๓) สมุจเฉทปหาน การละด้วยการตัดขาด ๔) ปฏิปัสสัทธิปหาน การละด้วยสงบระงับ และ ๕) นิสสรณปหาน การละด้วยสลัดออกได้ ซึ่งเมื่อปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาย่อมละได้ด้วยการเข้าไปเห็นแจ้งในความจริงอันวิเศษชื่อว่า วิปัสสนา และละด้วยขณะเกิดทางอายตนะ ๑๒ คือเห็นตามความเป็นจริงนั้น ย่อมรับรู้สภาวะ การเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัส และการนึกคิด ซึ่งเป็นอารมณ์ของตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ โดยมีสติเป็นองค์กำกับ เมื่อสติมีกำลังมากขึ้น ย่อมเกิดปัญญาเห็นความจริงของนาม-รูป ตามหลักพระไตรลักษณ์ ซึ่งดำเนินไปตามแนวทางแห่งวิปัสสนาญาณ สู่ความเป็น     พระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕