หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูอาทรวนกิจ (อนาลโย/ฉันทสิริกุล)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๔ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับการแก้ปัญหาสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : พระครูอาทรวนกิจ (อนาลโย/ฉันทสิริกุล) ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๙/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ประยูร แสงใส
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

               สารนิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางการนำหลักทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันกับการแก้ปัญหาสังคมไทย

               ผลการศึกษาพบว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ คือ ธรรมที่อำนวยประโยชน์ให้ในปัจจุบันทันตาเห็น ประโยชน์นั้น ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข คือ เป็นผู้มีฐานะมั่นคง มีชื่อเสียงเกียรติคุณได้รับการยกย่องโดยทั่วไป และมีความสุขตามสมควรแก่อัตภาพของตน  ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ ประกอบด้วย ๑) อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่นขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น  ๒) อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม  ๓) กัลยาณมิตตตา คบคนดี ไม่คบคบชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตนเจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ๔) สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ

               แนวทางการนำหลักทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันกับการแก้ปัญหาสังคมไทย ได้แก่ ด้านบุคคล ประกอบด้วย  การขาดความเพียร วิธีการแก้ปัญหาที่ตัวบุคคล คือการสร้างพฤติกรรมให้เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร การทำกิจหน้าที่ให้ถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้สำเร็จประโยชน์สุขแก่บุคคลและส่วนรวม  การคบคนพาล การนำหลักกัลยาณมิตตามาแก้ปัญหาชีวิตในการคบคนพาล ความมีกัลยาณมิตร คือมีผู้แนะนำสั่งสอน มีที่ปรึกษาเพื่อนที่คบหาและบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี  การฟุ่มเฟือยใช้ทรัพย์เกินฐาน การนำหลักสมชีวิตามาแก้ปัญหาชีวิตการใช้จ่ายทรัพย์เกินฐานะ คือ การประหยัดเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก  ด้านครอบครัว ประกอบด้วย  การปฏิบัติตนในการครองตน สมาชิกในครอบครัวต้องปฏิบัติตนตามหลักการบริหารครอบครัว ๆ จึงจะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน  การปฏิบัติตนในการครองคน ควรประพฤติและปฏิบัติตนให้อยู่ในกฎระเบียบของศีลธรรม ตามหลักทิศ ๖ ในการดำเนินชีวิตของการครองเรือน คฤหัสถ์นั้นจะต้องเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นมงคลแก่ชีวิตตนและสังคมด้วยการปฏิบัติ และ  การปฏิบัติตนในการครองงาน ผู้หวังความสำเร็จ และความเจริญรุ่งเรืองในการดำเนินชีวิตที่จะนำพาครอบครัวและสังคมประเทศชาติไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจการงาน  ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย  ความพอประมาณ ดำเนินธุรกิจโดยหลักความพอดี  ความมีเหตุผล ดำเนินธุรกิจด้วยสติปัญญา ใช้ความคิดอย่างรอบคอบด้วยข้อมูลและเหตุผลที่เหมาะสม   การมีภูมิคุ้มกัน ความสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงโดยไม่สร้างเหตุให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารและดำเนินธุรกิจ  ความรู้ ความสามารถคาดการณ์ สามารถตรวจสอบและประเมินสถานการณ์ ในการดำเนินธุรกิจ  คุณธรรม ดำเนินธุรกิจด้วยคุณธรรม จริยธรรม ไม่เบียดเบียนผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเอง และไม่เบียดเบียนธุรกิจของผู้อื่น มีความซื่อสัตย์ และรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม  ด้านสังคม จะต้องเป็นผู้รู้จักแบ่งปัน เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นสัตว์ หรือธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้คนในสังคมมีจริยธรรม และคุณธรรม

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕