หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » อรอุมา อินทฉาย
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๘ ครั้ง
การใช้หลักพุทธธรรมต่อการจัดการสภาวะในตนเองของผู้เผชิญความอกหัก (ชีวิตและความตาย)
ชื่อผู้วิจัย : อรอุมา อินทฉาย ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสังฆรักษ์เอกภัทร อภิฉนฺโท
  สิริวัฒน์ ศรีเครือดง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          การศึกษานี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อ  ๑) ศึกษาสภาวะที่เกิดขึ้นของผู้เผชิญความอกหัก ๒) ศึกษาหลักธรรมที่พบในการจัดการสภาวะในตนเองของผู้เผชิญความอกหัก ๓) ศึกษากระบวนการจัดการสภาวะในตนเองของผู้เผชิญความอกหัก

          งานวิจัยนี้  เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เป็นการศึกษาประสบการณ์ ตามความเป็นจริง โดยดำเนินการศึกษาจากกรณีศึกษาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกรณีศึกษาที่มีประสบการณ์จริงจากการเผชิญความอกหัก ในประเด็นต่าง ๆ จากกลุ่มวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์    ที่สำเร็จการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน  ๕ คน ที่ได้ผ่านการเผชิญภาวะอกหักมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๑ ปีและปัจจุบันสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข และวิเคราะห์สภาวะที่เกิดขึ้น (กาย  จิต อารมณ์ สังคม และสติปัญญา) และกระบวนจัดการกับสภาวะที่เกิดขึ้นด้วยหลักธรรม,แนวคิดตะวันตก และความเชื่อต่าง

          ผลการวิจัยพบว่า

          ๑) สภาวะที่เกิดขึ้นของผู้เผชิญความอกหักจะมีตั้งแต่ระดับเบาบางไปจนถึงขั้นรุนแรง กล่าวคือ มีตั้งแต่เศร้า ร้องไห้ เสียใจ โกรธ  อาฆาต สาปแช่ง ทำร้ายตนเอง ไปจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย และมีผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

          ๒) หลักธรรมที่พบในการจัดการสภาวะในตนเองของผู้เผชิญความอกหัก ประกอบด้วย  สมถะ  พรหมวิหารธรรม ๔  (เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา)  สติกับสัมปชัญญะ อริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) และกัลยาณมิตร สำหรับบุคคลที่แวดล้อมผู้อกหัก เป็นต้น 

          ๓) กระบวนการในการจัดการสภาวะในตนเองของผู้เผชิญความอกหัก เพื่อใช้ในการต่อสู้กับความทุกข์และต่อสู้กับสภาวะอันไม่พึงประสงค์ ดังนี้

          ขั้นที่ ๑ ใช้หลักโยนิโสมนสิการ ในการพิจารณาสืบค้นถึงสาเหตุ ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน แยกแยะออกและวิเคราะห์ด้วยปัญญาที่คิดเป็นระบบ

          ขั้นที่ ๒ ใช้หลัก อริยสัจ ๔ และไตรลักษณ์ ในการจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งทางกาย จิตใจ สังคม อารมณ์ และสติปัญญา ที่อยู่บนหลักของความเป็นจริง

          ขั้นที่ ๓ ดำเนินการตามวิธีการที่ได้จากขั้นตอนที่สอง ในการรับมือกับสภาวะที่เกิดขึ้น       ซึ่งวิธีการอาจจะมีความแตกต่างกันทั้งวิธีการที่เป็นไปตามหลักธรรม แนวคิดตะวันตก และความเชื่อต่างๆ

          ขั้นที่ ๔ ดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องสร้างเงื่อนไขในเรื่องเวลา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของสภาวะอาการที่เกิดขึ้น

          ขั้นที่ ๕ ดำเนินการตรวจสอบตนเอง ว่าวิธีการต่างๆที่ใช้ในการจัดการกับสภาวะที่เกิดขึ้นจากการอกหักนั้น มีผลอย่างไรบ้าง มีความก้าวหน้าอย่างไรบ้าง และสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นลดลงหรือเพิ่มขึ้น หรือมีสภาวะใหม่ๆเกิดเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องหรือหากิจกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสภาวะในเชิงบวก ให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้น และเกิดการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตและทักษะการเผชิญปัญหาและแก้ปัญหา

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕