หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระโชติก อภิชาโต (สุขวงกฎ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๙ ครั้ง
หลักสติปัฏฐาน ๔ เพื่อคุณค่าของชีวิตและการเผชิญความตายอย่างสงบ (ชีวิตและความตาย)
ชื่อผู้วิจัย : พระโชติก อภิชาโต (สุขวงกฎ) ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูปฐมวรวัฒน์
  ชัยสิทธิ์ ทองบริสุทธิ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            

             การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาแนวคิดคุณค่าของชีวิตและการเผชิญความตายอย่างสงบ ตามหลักจิตวิทยา ๒) ศึกษาแนวคิดคุณค่าของชีวิตและการเผชิญความตายอย่างสงบ ตามหลักพุทธศาสนา และ ๓) ศึกษาวิเคราะห์หลักสติปัฏฐาน ๔ เพื่อพัฒนาคุณค่าของชีวิตและการเผชิญความตายอย่างสงบ

             งานวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยการศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ทฤษฏี งานวิจัยทางจิตวิทยา ทางการแพทย์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

 

            

 

ผลการวิจัยพบว่า

             ๑) คุณค่าของชีวิตตามหลักจิตวิทยาคือ พัฒนาการที่เหมาะทางด้านชีว-สังคม อารมณ์ การรู้คิด ซึ่งจะนำไปสู่การมีแรงจูงใจ เจตคติคุณค่าของชีวิตการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่ดีคือความพึงพอใจในชีวิต และสามารถจัดการความเครียดจากความตาย ส่วนทางการแพทย์คือสุขภาพทางกาย การดูแลรักษาสุขภาพ และ โภชนาการที่ถูกต้อง การออกกำลังกาย และการพักผ่อนที่เพียงพอ ในการเผชิญกับความตาย มีการดูแลแบบพหุวิชาชีพ การรักษาด้วยยาเท่าที่จำเป็น ให้ความสำคัญด้านจิตวิญญาณมากขึ้น และมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ไม่หลงตาย

 

             ๒) ส่วนพุทธศาสนา มองว่าคุณค่าของชีวิตทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรมอันเป็นคุณค่าสูงสุด จนจิตมีสติ-สัมปชัญญะที่สมบูรณ์ แม้ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งได้พัฒนาตามระบบอริยมรรคมีองค์ ๘ พัฒนาจากคุณค่าทางกายภาพ สังคม คุณธรรมและคุณค่าของชีวิต และคุณค่าทางปัญญาแห่งจิตวิญญาณ

          ๓) พบว่าหลักสติปัฏฐาน ๔ ช่วยในการแก้ปัญหาและความทุกข์ทรมานกับการเผชิญความตาย กายานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ ช่วยให้กายวาจาสงบ ด้วยการสำรวมอินทรีย์ มีสติระลึกรู้ กิริยาอาการ การเคลื่อนไหวต่างๆ เวทนานุปัสสนา ช่วยให้ผู้ที่กำลังจะจากไป สามารถผ่อนคลายและระงับความเจ็บปวดทรมาน เมื่อมีอาการ อันมีผลมาจากความเจ็บปวด จิตตานุปัสสนา ช่วยให้ผู้ที่กำลังจะจากไป สามารถจดจ่ออยู่กับอารมณ์กรรมฐาน มีอารมณ์เป็นหนึ่งไม่หวั่นไหว และธัมมานุปัสสนา ส่งเสริมช่วยให้ผู้ที่กำลังจะจากไป สามารถปล่อยวางความคิด ความยึดมั่นถือมั่น ดำรงอยู่ด้วยความว่าง อยู่เหนือการเกิดและการตาย ในช่วงสุดท้ายของชีวิตขณะที่ความตายกำลังจะมาถึง และผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ จนสำเร็จสมาธิญาณคือสัมมสนญาณ จิตดับลงในขณะนั้น จะไปสู่สุคติสวรรค์ หรือสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลมีพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ในขณะจิตสุดท้ายนั้น เข้าสู่กระแสนิพพาน หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง และพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕