หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระบุญร่วม ปภากโร (ผ่านทอง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๔๒ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์หลักชันตาฆรวัตรในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับการอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน
ชื่อผู้วิจัย : พระบุญร่วม ปภากโร (ผ่านทอง) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระอธิการเวียง กิตฺติวณฺโณ
  บรรจง โสดาดี
  -
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            วิทยานิพนธ์เรื่องการศึกษาวิเคราะห์หลักชันตาฆรวัตรในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับการอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน    เป็นวิจัยเชิงเอกสารโดยมีวัตถุประสงค์  ๓  ประการ  คือ    (๑)  ศึกษาชันตาฆรวัตรที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท   (๒)  ศึกษาการอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน   และ(๓) ประยุกต์หลักชันตาฆรวัตรในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับการอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน  โดยการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องและศึกษาจากเอกสารแล้วนำมาวิเคราะห์

การศึกษาชันตาฆรวัตรที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท   ผลการวิจัยพบว่า ชันตาฆรวัตรหมายถึงข้อวัตรปฏิบัติในเรือนไฟ เพื่อการประพฤติชอบในการใช้เรือนไฟของพระภิกษุ ความเป็นมาของชันตาฆรวัตร คือ ชันตาฆรวัตรเกิดขึ้นโดยการทูลขอของหมอชีวกโกมารภัจ   ลักษณะเรือนไฟครั้งพุทธกาล คือ การสร้างแบบเรียบง่ายเน้นการใช้ประโยชน์ที่คุ้มค่าซึ่งมีความแข็งแรงใช้วัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ   อโรคยาศาลาในพระพุทธศาสนา  คือ โรงพยาบาลในทางพระพุทธศาสนาสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการรักษาและป้องกันโรค ปัจจุบันพัฒนาการจากเรือนไฟเป็นศาลาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗    วัตร ๑๔ คือ  ข้อที่พึงปฏิบัติ   เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย   แก่สิ่งของสถานที่ที่เกี่ยวข้อง   และเพื่อความผาสุกแก่เพื่อนพรหมจารีที่เข้าไปเกี่ยวข้อง   หลักการของชันตาฆรวัตร  คือ ป้องกันและรักษาโรค    วิธีการของชันตาฆรวัตร   คือ   การเตรียมความพร้อมของเรือนไฟ     การเตรียมตัวก่อนเข้าเรือนไฟ    การปฏิบัติหลังจากการใช้เรือนไฟ    การรักษาเรือนไฟ  ให้คณะสงฆ์มีความรับผิดชอบ   ผลของชันตาฆรวัตร คือ เมื่อศึกษาและปฏิบัติตามหลักของชันตาฆรวัตรก็จะทำให้ได้ทราบข้อสิกขาบทเกี่ยวกับชันตาฆรวัตร    ทำให้ร่างกายแข็งแรงเป็นผู้ปราศจากโรคภัยทั้งทางกายและทางใจ  

 

            การอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน     ผลการวิจัยพบว่า   การอบสมุนไพร  หมายถึง การรมด้วยควันในที่ที่ควันกระจายออกไปไม่ได้  ด้วยการใช้ไอน้ำหรือไอไฟที่ควันออกมา   ผสมด้วยสมุนไพรซึ่งเป็นตัวยาสำคัญในการใช้ป้องกันโรค โรงอบสมุนไพรของวัดมีหลักการคือ นำเอาไอน้ำความร้อนที่เกิดจากการต้มน้ำสมุนไพร  แล้วส่งเข้าไปในห้องอบสมุนไพร มีวัตถุประสงค์คือ   เพื่อรักษาสุขภาพ   และดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง   วิธีการอบสมุนไพร คือ คัดเลือกสมุนไพร ใช้อุณหภูมิความร้อนที่เหมาะสมความร้อนอยู่ประมาณ  ๔๐ –๖๐ องศา  ผู้จะเข้ารับการอบสมุนไพรต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า  อาบน้ำเปล่าเข้าไปนั่งในตู้    อย่างน้อย  ประมาณ ๑๕-๓๐ นาที  ปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางวัดที่ได้กำหนดขึ้น     โรงอบสมุนไพรทั่วไปของคฤหัสถ์มีหลักการคือ   เข้าไปนั่งในตู้อบ ให้คนไข้ผ่อนคลายใช้กลิ่นสมุนไพรที่เหมาะสมให้ระเหย  อบอวลและแทรกซ้อนเข้าไปในผิวหนัง  เข้าไปทางจมูก นัยน์ตาทำให้เหงื่อออกขับสารพิษออกจากร่างกาย  วิธีการคือ ตรวจสอบบุคคลเข้ารับการอบสมุนไพรใช้ความร้อนประมาณ ๔๕ – ๕๕ องศา   ผู้เข้ารับการอบสมุนไพรต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า  อาบน้ำให้ก่อนเข้ารับการอบ ใช้ระยะเวลาในการเข้าอบสมุนไพรประมาณ ๑๕ นาที พัก ๕ นาที แล้วอบอีกรอบ เมื่อออกจากห้องอบแล้วไม่ควรอาบน้ำทันที  ผลจากการเข้าอบสมุนไพรเมื่อเข้าอบสมุนไพรแล้วจะทำให้รู้สึกสดชื่น สบายกายและสบายใจ   รักษาโรคทางกาย  เช่น  คลายเส้นเอ็น วิงเวียนศีรษะ เป็นหวัด  ไมเกรน หืดหอบ   เส้นตึง  อัมพฤกษ์  อัมพาต   ความดัน ปวดหัว ขับสารพิษออกจากร่างกายทำให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดี

การประยุกต์ชันตาฆรวัตรนำมาใช้ในการอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน  ผลการวิจัยพบว่า   หลักการอบสมุนไพรในปัจจุบันเป็นการสร้างขึ้นเพื่อใช้ในเชิงธุรกิจ  ไม่ใช่เป็นการสร้างในเชิงสังคมสงเคราะห์  ลักษณะหลักการของการอบสมุนไพรในปัจจุบันสร้างความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นให้กับสังคม  หากใช้ลักการของชันตาฆรวัตร  ก็จะสามารถสร้างสังคมที่ดีและคงคุณค่าของการมีชีวิตร่วมกันในสังคม วิธีการอบสมุนไพรตามหลักของชันตาฆรวัตร  เป็นไปเพื่อความเอื้อเฟื้อต่อหมู่คณะ  ให้พระภิกษุสงฆ์เห็นความสำคัญของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้งาน   และมีความรับผิดชอบร่วมกันควรนำวิธีการอบสมุนไพรแบบชันตาฆรวัตรมาใช้เพื่อให้สังคมมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน สร้างห้องอบสมุนไพรเน้นการใช้ประโยชน์ส่วนรวม  ไม่ได้เป็นไปในเชิงธุรกิจ   การนวดตามแบบของชันตาฆรวัตรที่ผสมผสานกับสมุนไพรสร้างให้ร่างกายมีความแข็งแรง  และรักษาโรคได้

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕