หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาธนาธิป มหาธมฺมรกฺขิโต (ฮาดเนาลี)
 
เข้าชม : ๒๐๐๔๒ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบทฤษฎีความรู้ในพุทธปรัชญาเถรวาทกับปรัชญานยายะ(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาธนาธิป มหาธมฺมรกฺขิโต (ฮาดเนาลี) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  ผ.ศ. บุญมี แท่นแก้ว
  ดร.วีรชาติ นิ่มอนงค์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

       การศึกษาวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาทฤษฎีเรื่องความรู้ในพุทธปรัชญาเถรวาทกับปรัชญานยายะว่า เป็นอย่างไร มีลักษณะที่เหมือนกันและแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะประเด็น

เรื่องความหมายและการพิสูจน์องค์แห่งความรู้จากการศึกษาวิจัย พบว่า ความรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัยซึ่งเป็นสาเหตุอันเป็นเครื่องมือทำให้เกิดความรู้ ความรู้นั้นเกิดขึ้นจากการแสวงหาด้วยกระบวนการและวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น การแสวงหาความรู้ด้วยการบำเพ็ญเพียร การนั่งสมาธิ หรือการวิวรณ์จากพระเป็นเจ้า ทั้งหมดล้วนแต่เป็นวิธีการแสวงหาความรู้ทั้งสิ้น แหล่งที่มาแห่งความรู้จะสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการพิจารณาตัดสินหาความจริงได้ ต้องมีวิธีการแสวงหาที่ถูกต้อง เช่น การได้ศึกษา การอ้างคัมภีร์หรือตำรา การใช้เหตุผลทางตรรกะ การคาดคะเนความจริงทางอภิปรัชญา หลักการนี้แสดงให้ทราบว่า การค้นหาความรู้จะต้องสอบสวนให้รู้แท้ด้วยการประจักษ์ด้วยตนเอง จากประสาทสัมผัสเสียก่อน จึงจะตัดสินได้ว่า เป็นความรู้แท้หรือไม่ การที่มนุษย์เข้าถึงความรู้แท้จริงได้ ก็ต้องประจักษ์ด้วยตนเองโดยอาศัยสติปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาให้ทราบถ่องแท้ก่อน ความรู้นั้น ต้องมีลักษณะ ๒ ประการ คือ ๑.มีลักษณะเป็น ภววิสัย (Objective ) ๒.มีลักษณะเป็น อัตตวิสัย(Subjective) ดังนั้น ความรู้ ก็คือ อาการที่ทำให้ปัญญารู้แจ้งวัตถุที่ถูกรู้จากภายในตัวผู้รู้และจากสิ่งที่ถูกรู้โดการอาศัยอายตนะภายในและภายนอก ประสานการทำหน้าที่ร่วมกันโดยอาศัยปัจจัยพื้นฐานจากประสบการณ์โดยตรง ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และปัจจัยภายนอกอื่นๆ เพราะว่าความรู้นั้น ต้องอาศัยผู้รู้ ความรู้และสิ่งที่ถูกรู้ ความจริงจึงปรากฏได้ ผลของความรู้นั้น ต้องปราศจากความสงสัย ความไม่ชัดเจน หรือ ความหลอกลวง ผู้มีความรู้เปรียบเหมือนแสงไฟสามารถส่องให้เกิดความสว่างได้ เพราะสามารถทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งความจริงตามธรรมชาติที่มันเป็นสามารถรู้สิ่งที่ตนเองเข้าใจนั้น โดยปราศจากความสงสัย และมันเป็นเครื่องมือทำให้เกิดความรู้แจ้งในที่สุด ดังนั้น การปราศจากความสงสัย จึงเรียกว่า ความรู้
      ผลการศึกษาวิเคราะห์ระหว่างพุทธปรัชญาเถรวาทกับปรัชญานยายะ พบว่า พุทธปรัชญาเถรวาท ยอมรับว่า ความรู้มีหลายระดับ แต่สามารถแยกเป็น ๒ กรณี คือ ๑.ความรู้ชั้นสมมติสัจจะ หมายถึง การพิสูจน์จากวัตถุที่สัมผัสได้ ๒.ความรู้ชั้นปรมัตถสัจจะ หมายถึง การรู้ความจริงเหนือประสาทสัมผัส ส่วนปรัชญานยายะ ยอมรับว่า ความรู้ มี ๒ กรณี เช่นกันกล่าวคือ ๑.ปรมา หมายถึง ความรู้ที่ถูกต้อง ได้แก่ ความรู้ที่สมเหตุสมผล ที่ตรงตามสภาวะความจริง๒.อปรมา หมายถึง ความรู้ที่ไม่สมเหตุสมผล ได้แก่ ความรู้ที่ยังหาความชัดเจนไม่ได้ มีสภาวะอื่นแอบแฝงพุทธปรัชญาเถรวาท กล่าวว่า การแสวงหาความรู้นั้นเกิดจาก สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ปรโตโฆสะและอริยมรรค ๘ ประการ ผลของความรู้ย่อมก่อให้เกิดความหลุดพ้นจากความทุกข์ กระบวนการนี้ ต้องอาศัยประสบการณ์ตรงโดยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และความรู้ที่พ้นจากประสาทสัมผัส เช่น พระนิพพาน ปรัชญานยายะเห็นว่า ความรู้ มีลักษณะเป็นกลาง อาศัยอายตนะภายในและภายนอก ทำหน้าที่ประสานร่วมกัน จึงถือว่า ได้ความรู้จริงแท้ สาเหตุที่ถือเอาวัตถุเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงนั้น เพราะว่า วัตถุเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ความรู้ต้องมีหน้าที่ เปิดเผยวัตถุที่รู้ เปิดเผยตัวผู้รู้ และเปิดเผยตัวความรู้ ความรู้ต้องเกิดจากการประจักษ์ การอนุมาน การอุปมานและศัพทประมาน เพราะความรู้
มาจากวัตถุวิสัย และมนุษย์สามารถรับรู้มันได้จากประสาทสัมผัส ความรู้ที่แน่นอนเป็นความรู้ที่เจาะจงลงไปซึ่งมีลักษณะเป็นความไม่ผิดพลาด สิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเท่านั้น คือ ความจริง ความรู้ที่แท้จริงนั้น จะต้องเกิดขึ้นเฉพาะหน้าของผู้กำลังรู้นั้นเท่านั้นเพราะเป็นผู้รู้ความจริง ปรัชญานยายะเห็นว่า ความรู้ต้องได้จากประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ประสบการณ์ตรงและเหตุผลเชิงตรรกะเท่านั้นความรู้นั้น ต้องมีสภาวะเป็นธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่ถูกรู้อย่างแจ้งชัด ต้องไม่มีความเข้าใจผิดพลาด และต้องพ้นจากความสงสัยใดๆ

Download : 255154.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕