หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสัจจวัฒณ์ วชิรญาโณ (ฉัตรไทยแสง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๖ ครั้ง
การเจริญวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ สร้างสติหยั่งรู้ ลดมมังการ ในการปรับบุคลิกภาพ (พุทธจิตวิทยา)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสัจจวัฒณ์ วชิรญาโณ (ฉัตรไทยแสง) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สิริวัฒน์ ศรีเครือดง
  พระราชสิทธิมุนี วิ. (บุญชิด ญาณสํวโร)
  -
วันสำเร็จการศึกษา : กุมภาพันธ์ 2561
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษากระบวนการเจริญวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ หลักสูตรของวิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส ๒) เพื่อทดลองใช้การเจริญวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ในการสร้างสติหยั่งรู้และการลดมมังการ ๓) เพื่อประเมินการปรับบุคลิกภาพจากการเจริญวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔

วิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental  Method Research) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต, การสอบถามสภาวธรรมที่เกิดแก่กลุ่มตัวอย่างจากวิปัสสนาจารย์ผู้ดูแลโครงการ และการตอบแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากกลุ่มตัวอย่าง คัดเลือกโดยวิธีสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) คือผู้เป็นภิกษุและคฤหัสถ์ นิสิตหลักสูตรพุทธศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รุ่นที่ ๑๒ ผู้เข้ารับการอบรมวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน ๔ หลักสูตรภาคปฏิบัติ ๗ เดือน จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้รับมาทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และเรียบเรียงตามวัตถุประสงค์ ผลการวิจัยพบว่า

๑) การเจริญวิปัสสนา สร้างสติหยั่งรู้ได้

๑.๑) สติกำหนดรู้กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ความแตกต่างกันของคะแนนเฉลี่ยที่อยู่ในระดับมาก (S.D.= .93, sig. = .76)

๑.๒) จิตรู้สภาวะของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ความแตกต่างกันของคะแนนเฉลี่ยที่อยู่ในระดับมาก (S.D.= 1.04, sig. = .299)

๑.๓)  สติกำหนดรู้เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ความแตกต่างกันของคะแนนเฉลี่ยที่อยู่ในระดับมาก (S.D.= .88, sig. = .146)

๑.๔) สติกำหนดรู้จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ความแตกต่างกันของคะแนนเฉลี่ยที่อยู่ในระดับมาก (S.D.= 1.06, sig. = .568)

๑.๕) สติกำหนดรู้ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ความแตกต่างกันของคะแนนเฉลี่ยที่อยู่ในระดับมาก (S.D. = 1.36, sig. = .287)

๒) ผลของจิตอันเกิดจากการเจริญวิปัสสนาในการลดมมังการ

(๒.๑) พบว่าสติหยั่งรู้จดจ่ออยู่ในธรรม มีผลทำให้รับรู้สภาวะที่เป็นปรมัตถ์ได้ ความแตกต่างกันของคะแนนเฉลี่ยที่อยู่ในระดับมาก (S.D.=.96, sig. = .45) และการรับรู้สภาวะที่เป็นปรมัตถ์สามารถทำให้มมังการลดลงหรือดับไปได้ ความแตกต่างกันของคะแนนเฉลี่ยที่อยู่ในระดับมาก (S.D.=1.34, sig. = .874)  อย่างไรก็ตาม การมีสติหยั่งรู้จดจ่ออยู่ในธรรม (X1) มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ทางบวกกับการปรับบุคลิกภาพแนวพุทธอยู่ในระดับต่ำ (r = .25) และการกำหนดรู้ปรมัตถธรรม (X2) นั้นมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ทางบวกกับการปรับบุคลิกภาพแนวพุทธอยู่ในระดับต่ำมาก (r = .05) ตามลำดับ ไม่สามารถมีผลต่อการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพได้โดยตรง

(๒.๒) พบว่าผลของการมีสติหยั่งรู้ทำให้รับรู้สภาวะที่เป็นปรมัตถ์ได้ และการรับรู้สภาวะที่เป็นปรมัตถ์สามารถทำให้มมังการลดลงหรือดับไปได้นั้น มีสภาวะของจิตเป็นอุเบกขา ความแตกต่างกันของคะแนนเฉลี่ยที่อยู่ในระดับมาก (S.D.=.98, sig. = .575)

๒.๓) พบว่าผลจากผู้ปฏิบัติมีสภาวะของจิตที่เป็นอุเบกขา ซึ่งหมายถึงสัมมาทิฏฐิ เป็นผลให้จิตบังเกิดปัญญาในความหมายของพุทธศาสนาขึ้น ความแตกต่างกันของคะแนนเฉลี่ยก่อน-หลังแล้วพบว่าทุกระดับมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

การรับรู้สภาวะที่เป็นปรมัตถ์ คือการเข้าใจสภาวะอย่างแจ่มแจ้งและปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฏธรรมชาตินั้น โดยกระทำการที่เป็นเหตุ เมื่อทำอย่างถูกต้องที่ตัวเหตุปัจจัยแล้ว ให้เหตุปัจจัยทั้งหลายดำเนินไปในทางที่จะก่อผลดี ก็ปล่อยให้เหตุปัจจัยเป็นไปตามกฎธรรมชาติจนก่อผลของมันเอง (พระพรหมคุณาภรณ์, ๒๕๕๖) ตามหลักการนี้ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) เป็นแกนนำของความประพฤติปฏิบัติ เป็นส่วนสำคัญที่เรียกว่า สัมมาจริยา การเป็นอยู่ด้วยปัญญาทำให้ความประพฤติถูกต้อง

๓) สัมมาทิฏฐิ เป็นปัจจัยทำให้พฤติกรรมของบุคคลนั้นปรับเปลี่ยนไป เป็นผลให้บุคลิกภาพปรับเปลี่ยนตามไป คะแนนเฉลี่ยการเจริญวิปัสสนาเพื่อลดมมังการของผู้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในด้านสภาวะของจิตที่เป็นอุเบกขา (X3) มีความสัมพันธ์กันกับการปรับบุคลิกภาพบนฐานจริต ๖ (Y) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในระดับ 0.05 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ .38 และ คะแนนเฉลี่ยการปรับบุคลิกภาพ = 1.537 + 0.262X

สัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัยที่สามารถพิจารณาธรรมทั้งหลายด้วยใจที่เป็นกลางอย่างยิ่ง ไม่ถูกอารมณ์ใด ๆ ปรุงแต่ง จึงเข้าใจธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงที่มีความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ (สมภาร พรมทา, ๒๕๓๔) ปัญญาที่ได้รับจากการเจริญวิปัสสนาคือ ความรู้ว่าคนมีกรรมเป็นของตน เป็นเจ้าของการกระทำของตน จะต้องรับผิดชอบต่อผลแห่งกรรมนั้น ค่านิยมพื้นฐานของสัมมาทิฏฐิจึงทำให้เกิดความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน มีความพากเพียรใช้ความสามารถและสติปัญญาของตนเอง รู้จักพึ่งพาตนเองไม่เบียดเบียนและช่วยเหลือผู้อื่น  (พระพรหมคุณาภรณ์, ๒๕๕๖) ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ พฤติกรรม และบุคลิกภาพ

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕