หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมงคล เขมกาโม (ศรีฟ้า)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๑ ครั้ง
ศึกษาหลักกัลยาณมิตรในการสอนวิปัสสนาภาวนาของ พระครูภาวนาวรานุรักษ์ (วิทยา ยาหอม)
ชื่อผู้วิจัย : พระมงคล เขมกาโม (ศรีฟ้า) ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  บุณชญา วิวิธขจร
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ มกราคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักกัลยาณมิตรในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาหลักกัลยาณมิตรในการสอนวิปัสสนาภาวนาของพระครูภาวนาวรานุรักษ์ (วิทยา ยาหอม) โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือพระไตรปิฎกอรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วรวบรวมข้อมูลเรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา และตรวจสอบความถูกต้องโดยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาภาวนา

ผลการศึกษาพบว่า กัลยาณมิตร หมายถึง เพื่อนที่ดี เพื่อนที่งดงาม เพื่อนที่นำความเจริญมาให้ อีกอย่างหนึ่ง หมายถึง บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นผู้กำจัดความชั่ว เป็นผู้ส่งเสริมประโยชน์ ความดีหรือคุณธรรมต่างๆ ที่บุคคลมีและแสดงออกต่อผู้อื่น เป็นผู้มีปัญญา มีความสามารถ มีความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือ ทำให้เกิดความดี ให้เกิดความรู้ ความเจริญ และความสุขแก่ผู้อื่น เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ วิริยะสติ กัลยาณมิตรมี ๒ ประเภท ๑) มิตรทางโลก ๒) มิตรทางธรรม คุณสมบัติของกัลยาณมิตรมี ๗ ประการคือ ๑) เป็นผู้น่ารัก ๒) เป็นที่เคารพ ๓) เป็นที่เจริญใจ ๔) เป็นนักพูดฉลาดในการใช้คำพูด ๕) เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ ๖) เป็นผู้ที่กล่าวถ้อยคำได้ลึกซึ้ง ๗) ไม่ชักจูงในสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ ประโยชน์จากการมีกัลยาณมิตรนั้นมีแต่เอื้อเฟื้อ และเกื้อกูลแก่ผู้ใกล้ชิด ทั้งภพนี้และภพหน้า ทั้งประโยชน์สูงสุดคือการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

พระครูภาวนาวรานุรักษ์ (วิทยา ยาหอม) ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระที่ปฏิบัติและมีวิธีการสอนถูกต้องตามแบบของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแนวมหาสติปัฏฐาน ๔ โดยประพฤติธรรม เป็นกัลยาณมิตรแก่ศิษย์ ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติกัลยาณมิตรทั้ง ๗ คือ ๑) เป็นที่รักเคารพของศิษย์และคนทั่วไป ๒) ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างและสอนวิปัสสนาเอาใจใส่การปฏิบัติธรรมของศิษย์ในฐานะครู ๓) ประพฤติตนในสมณสารูปน่าเลื่อมใส ๔) มีความฉลาดพูด สอนและสอบอารมณ์ ๕) มีความมั่นคงไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ของผู้ปฏิบัติ ๖) การสอนและอธิบายหลักธรรมมีความลึกซึ้ง แจ่มชัด ๗) ชักชวนและสอนธรรมให้เลื่อมใส ประกอบด้วยประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้าและประโยชน์สูงสุดคือพระนิพพาน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕