หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระปลัดวิศรุต ถิรสทฺโธ (ตั้งใจ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๒ ครั้ง
พุทธสานเสวนาเพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างวัดกับชุมชนบ้านหนองไผ่ จ.กาญจนบุรี (สันติศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : พระปลัดวิศรุต ถิรสทฺโธ (ตั้งใจ) ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีคัมภีรญาณ
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : มีนาคม 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 สารนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑)  เพื่อศึกษาแนวคิดการสานเสวนาตามทฤษฎีตะวันตกและตามแนวทางพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการขาดความสามัคคีระหว่างวัดกับชุมชนบ้านหนองไผ่ (๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้พุทธสานเสวนาสร้างความสามัคคีระหว่างวัดกับชุมชนบ้านหนองไผ่ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาเอกสารและการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม

ผลการศึกษาพบว่า การสานเสวนาตามหลักพระพุทธศาสนาและตามหลักทฤษฎีตะวันตกต่างก็มุ่งเน้นในเรื่องของการฟังเป็นประเด็นสำคัญ แต่ก็มีประเด็นรายละเอียดของการฟังที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การฟังในหลักพระพุทธศาสนา  เป็นการฟังเพื่อได้มาซึ่งปัญญาตามหลักสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) เพื่อเป็นปัจจัยที่นำไปสู่จุดหมายที่สูงกว่าก็คือความหลุดพ้นจากทุกข์ ซึ่งในที่นี้ผู้วิจัยเรียกว่า “พุทธสานเสวนา” ในขณะที่การสานเสวนาตามแนวคิดทฤษฎีตะวันตกไม่จำเป็นต้องให้ได้ทางออกความหลุดพ้นจากทุกข์ แต่เป็นเพียงการฟังเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและมีความสมานฉันท์เป็นจุดหมาย

ผลจากการศึกษาสภาพปัญหาการขาดความสามัคคีระหว่างวัดกับชุมชนบ้านหนองไผ่ จ.กาญจนบุรี อันเนื่องมาจากการไม่ฟังกันระหว่างวัดกับชุมชนบ้านหนองไผ่ โดยความขัดแย้งสามารถแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ กล่าวคือ ความขัดแย้งภายใน (internal conflict) เป็นความขัดแย้งในแง่ความคิด ความรู้สึก ค่านิยมที่แตกต่าง และความขัดแย้งภายนอก (external conflict) เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความสัมพันธ์ ผลประโยชน์ ข้อมูล โครงสร้างทางสังคมที่แตกต่างกัน 

ในการประยุกต์ใช้ “พุทธสานเสวนาเพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างวัดกับชุมชนบ้านหนองไผ่ จ.กาญจนบุรี” จะเน้นที่กระบวนการรับรู้ของมนุษย์เป็นหลักหรือที่เรียกว่า “อายตนะ” ทั้งอายตนะภายในและภายนอก ตลอดจนถึงในการหยิบยกชุดหลักธรรมได้แก่ พรหมวิหารธรรม ขันติธรรม สาราณียธรรม มาใช้ในการส่งเสริม ต่อวิธีการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ ผ่านกระบวนการฟังกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศที่เปิดกว้าง เสมอภาค และเป็นมิตร การฟังกับการสานเสวนาจึงเป็นกระบวนการสื่อสารด้วยใจที่เมตตา เป็นการพัฒนาจาก ภายในโดยก้าวพ้นความแตกต่าง ความไม่เข้าใจ ความขัดแย้ง ซึ่งแสดงออกจากภายนอก เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจและยอมรับความต่างตระหนักในความเหมือน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

ดังนั้น การศึกษา“พุทธสานเสวนาเพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างวัดกับชุมชน” ทำให้เกิดกระบวนการฟังอย่าง “สัมมาทิฎฐิ” เป็นการพัฒนาทักษะการฟังให้เกิดปัญญาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับจิตใจที่สูงขึ้นตามหลักของพระพุทธศาสนาอันจะนำมาซึ่งความสุข ความสงบ สันติ สามัคคีต่อ ชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕