หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » จุฑาภัค หริรักษ์ธำรง
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๔ ครั้ง
รูปแบบการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : จุฑาภัค หริรักษ์ธำรง ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๑๑/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูโกศลศาสนบัณฑิต
  ประเวศ อินทองปาน
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

 ดุษฎีนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการ คือ๑) เพื่อศึกษาความหมาย ลักษณะ และประเภทคำสอนที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษากระบวนการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทโดยเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเน้นการวิจัยเชิงเอกสาร(Documentary Research)

          ผลของการวิจัยพบว่าการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง การบรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนสภาวะของปุถุชนเป็นอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งและละกิเลสได้ตามกำลังของมรรคนั้นๆ ลักษณะของการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทมีความเกี่ยวข้องกับสังโยชน์ในแง่มุมต่างๆ ส่วนประเภทคำสอนของการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท หมายเอา โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่มีจุดมุ่งหมายนำไปสู่การบรรลุธรรมมี ๗ หมวด ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรคมีองค์ ๘

          กระบวนการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรม มี ๔ วิธี คือ การเจริญวิปัสสนามีสมถะนำหน้า การเจริญสมถะมีวิปัสสนานำหน้า การเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป และการเจริญธรรมเมื่อจิตถูกอุทธัจจะในธรรมกั้นไว้ ส่วนวิธีทำให้เกิดปัญญาเพื่อการบรรลุมรรคผล นิพพานในพระพุทธศาสนานั้น ต้องปฏิบัติธรรมจนหมดจดจากกิเลส เป็นอริยบุคคลผู้เข้าใจในไตรลักษณ์ และปฏิบัติภาวนาเพื่ออบรมกาย ใจ และปัญญาอันเป็นที่ตั้งแห่งสมถะและวิปัสสนาภาวนา โดยการเจริญสลับกันหรือเจริญคู่กันไป เพื่อฝึกจิตให้เกิดปัญญา เกิดความรู้แจ้งในรูปนามที่เป็นสภาวธรรม เห็นแจ้งชัดในรูปนามหรือขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ถือเป็นการภาวนาปัญญาที่ทำให้จิตของผู้ปฏิบัติพ้นจากทุกข์ทั้งปวง และมุ่งสู่ความสงบที่เป็นโลกุตตระอันมีนิพพานเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีตัวอย่างการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

          รูปแบบการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท สามารถสร้างรูปแบบตามองค์ความรู้ที่ได้ “FRIEND Model” มี ๖ องค์ประกอบ ได้แก่ F = Follow the Dharmaคือ การท่องบ่นสายธารธรรมเพื่อการจำได้หมายรู้,R = Readily Listen Dharma คือ การฟังอย่างลึกซึ้งหรือการฟังอย่างตั้งใจ,I = Idealize Dharma คือ การตรึกธรรมหรือการไตร่ตรองธรรมที่ได้ยินได้ฟังมา,E = Educate Dharma for Mindfulness คือ การศึกษาการเจริญสติปัฏฐานหรือตั้งสติกำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม, N = Narrate Dharma คือ การแสดงธรรมที่ตนได้ยินได้ฟังมาแก่ผู้อื่นอีกครั้งหนึ่ง และ D = Dharma of Buddhaคือ ธรรมของพระพุทธเจ้าที่เกื้อกูลแก่การเข้าใจไตรลักษณ์ที่ประกอบด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕