หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการอภิสิทธิ์ จารุธมฺโม (ทองเชื้อ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๙๐ ครั้ง
การประยุกต์ใช้หลักอสุภกรรมฐานในชีวิตประจำวัน
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการอภิสิทธิ์ จารุธมฺโม (ทองเชื้อ) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธจารุธรรม
  ประพัฒน์ ศรีกูลกิจ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ กันยายน ๒๖๗๑
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “การประยุกต์ใช้หลักอสุภกรรมฐานในชีวิตประจำวัน” นี้
มีวัตถุประสงค์  คือ
1) เพื่อศึกษาอสุภกรรมฐานในพระพุทธศาสนา 2) เพื่อศึกษาหลักปฏิบัติอสุภกรรมฐานในพระพุทธศาสนา และ 3) เพื่อศึกษาหลักอสุภกรรมฐานกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ผลของการศึกษาวิจัยสรุปได้ ดังนี้

              ผลการวิจัยพบว่า

              ๑) อสุภกรรมฐานในพระพุทธศาสนา ผลการวิจัยพบว่า  อสุภ+กรรมฐาน อสุภ แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม แยกบทแล้วได้ ๒ บท คือ อ+สุภ อ เป็นคำปฏิเสธซึ่งเปลี่ยนมาจากบทเดิมคือ น สุภ = สวยงาม เมื่อรวมบททั้งสองนี้เข้าด้วยกันแล้วก็เป็น อสุภ มีวจนัตถะว่า น สุภํ = อสุภํ แปลความว่า ไม่สวยไม่งาม กรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์ไว้ให้เป็นการเป็นงาน หมายความว่า เป็นที่ตั้งของการงานทางจิตใจรวมความแล้วได้ความว่า ตั้งอารมณ์เป็นการเป็นงานในอารมณ์ที่เห็นว่า ไม่มีอะไรสวยสดงดงาม มีแต่ความสกปรกโสโครก น่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียน รวมความแล้วอสุภกรรมฐาน แปลว่า กรรมฐานที่ยึดเอาซากศพเป็นอารมณ์เพื่อพิจารณาให้เห็นความไม่งามความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร       

              อสุภกรรมฐาน มี 10 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ๑) อุทธุมาตกอสุภ คือ ซากศพของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว ๒) วินีลกอสุภ คือ ซากศพที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว คละปนระคนกัน ๓)  วิปุพพกอสุภ คือ ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ ๔) วิฉิททกอสุภ คือ ซากศพที่ขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลางมีกายขาดออกจากกัน ๕) วิกขายิตกอสุภ คือ ซากศพที่ถูกสัตว์ยื้อแย่งกัดกิน ๖) วิกขิตตกอสุภ คือ ซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่างๆ กระจัดกระจายออกไปคนละทาง ๗) หตวิกขิตตกอสุภ คือ ซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ ๘) โลหิตกอสุภ คือ ซากศพที่มีเลือดไหลออกเป็นปกติ
๙) ปุฬุวกอสุภ คือ ซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินกันอยู่ และ ๑๐) อัฏฐิกอสุภ คือ ซากศพที่มีแต่กระดูก

              ๒) หลักปฏิบัติอสุภกรรมฐานในพระพุทธศาสนา ผลการวิจัยพบว่า หลักปฏิบัติ
อสุภกรรมฐาน ก็เพื่อฝึกฝนอบรมพัฒนาจิตใจให้สงบ เกิดสมาธิและเกิดสติปัญญา จนสามารถข่มและทำลายกิเลสได้ในที่สุด นั่นก็คือ การดับกองทุกข์ได้สิ้นเชิง โดยหลักปฏิบัติกิจเบื้องต้น ได้แก่ ชำระศีลให้บริสุทธิ์ ตัดปลิโพธความกังวล 10 ประการ รับหรืออธิษฐานกรรมฐานที่เหมาะกับจริตของตน (อสุภกรรมฐานเหมาะแก่คนราคะจริต) เมื่อได้สถานที่ที่เหมาะแก่การเจริญอสุภกรรมฐานแล้ว พิจารณาซากศพทั้ง 10 ประการ มีซากศพที่พองขึ้น เป็นต้น โดยพิจารณาบริกรรมว่า อุทุมาตะกัง

ด้วยอาการ 11 อย่าง ได้แก่ สี เพศ สัณฐาน ทิศ ที่ตั้ง กำหนดรู้ ที่ต่อ ช่อง หลุม ดอน และอบๆ ของซากศพนั้นๆ จนทรงจำไว้ในจิตใจได้จนเกิดสมาธิไม่หวั่นไหว เป็นอัปปนาสมาธิ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ใน 4 อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง และนอน จิตจะแข็งแรง ราบเรียบ ใส นุ่มนวล ดังนั้น อสุภกรรมฐานจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อละราคะ/กามฉันทะ อันเป็นหนึ่งในนิวรณ์ 5 จนได้ปฐมฌานมีวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา

              ๓) การประยุกต์ใช้หลักอสุภกรรมฐานในชีวิตประจำวัน ผลการวิจัยพบว่า  ๑) ทำให้มีสติ การที่บุคคลได้เจริญอสุภกรรมฐานนั้น ทำให้มีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา เพราะได้เอาจิตไปกำหนดอยู่กับซากอสุภ เพื่อทำให้เกิดนิมิต ถ้าจิตใจวอกแวกเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์จากภายนอก ที่มากระทบการกำหนดซากอสุภะ เพื่อให้นิมิตเกิดนั้นก็จะทำไม่ได้เพราะขาดสติ ดังนั้นการที่จะทำให้นิมิตของซากอสุภะปรากฏกับบุคคลผู้เจริญอสุภะนั้น จำเป็นต้องมีสติที่ฝึกดีแล้ว เพราะการอยู่ในป่าช้าหรือสถานที่เป็นที่ทิ้งซึ่งซากศพนั้น บรรยากาศอาจจะทำให้บุคคลนั้นจิตหลอนได้ง่าย ได้ยินอะไร หรือได้เห็นอะไร จิตก็มักจะคิดไปในทางที่น่ากลัวไว้ก่อนหากไม่มีสติอยู่กับตัว ดังนั้น ผู้ที่เจริญอสุภกรรมฐานได้จะทำให้มีสติ  2) มองเห็นความไม่เที่ยงในร่างกาย (อนิจจสัญญา) บุคคลผู้ที่ต้องการเจริญอสุภกรรมฐานนั้น
ก็เพื่อมองให้เห็นความเป็นจริงของร่างกายว่า สังขารนี้เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ของตน เมื่อเจริญแล้วจะทำให้มองเห็นร่างกายว่าเป็นอนิจจสัญญา คือการมองเห็นร่างกายว่าไม่เที่ยง เพราะมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับสูญสลายไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรที่อยู่ชั่วนิรันดร์ แม้ร่างกายที่เราเป็นเจ้าของเอง ก็ยังไม่สามารถที่จะดลบันดาลให้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายได้ การเจริญอสุภกรรมฐานจะทำให้มองเห็นความจริงอย่างนี้  3)  มองเห็นความตายว่าจะบังเกิดกับทุกคน (มรณสัญญา) เมื่อพิจารณาซากอสุภแล้ว จะทำให้รู้แจ้งถึงความจริงว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะรวยมากแค่ไหน จะจนแค่ไหน สุดท้ายแล้วจะต้องพบกับจุดจบเช่นเดียวกันทุกคน นั้นคือความตาย จะไปซ่อนตัวหรือสร้างห้องนิรภัยไว้ เพื่อป้องกันความตาย หรือกินยาที่มีผู้บอกไว้ว่ากินแล้วจะเป็นอมตะก็ตาม จะต้องถูกมรณาภัยพรากชีวิตไปทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  4) มีความรังเกียจในร่างกาย อสุภะนอกจากจะให้พิจารณาถึงความไม่สวยงาม โดยให้ใช้ซากศพเป็นอารมณ์ในการพิจารณาแล้ว แม้ร่างกายของคนที่มีชีวิตอยู่จะเป็นของผู้อื่น หรือของตนเองก็ใช้เป็นอารมณ์ในการพิจารณาได้เหมือนกัน เพราะเป็นที่สั่งสมของสิ่งสกปรก เช่น น้ำเหลือง น้ำเลือด เสมหะ เป็นต้น ซึ่งเรามองไม่เห็นเนื่องด้วยถูกปิดไว้ด้วยอาภรณ์บ้าง เนื้อหนังบ้าง หรือเครื่องหอมต่างๆ ทำให้มองไม่เห็นความจริง เมื่อได้พิจารณาซากอสุภะแล้วจะทำให้มองเห็นร่างกายว่าเป็นของที่สกปรก  5) ทำลายความยึดมั่นในรูป เมื่อได้พิจารณาอสุภกรรมฐานจนเกิดเป็นนิมิต แม้จะไม่ได้ยืนดูซากอสุภะโดยตรงๆ ก็สามารถนึกถึงภาพนั้นติดตาได้เพราะว่าได้นิมิต ดังนั้น ในการเห็นรูปไม่ว่าจะสวยหรือไม่สวยก็เกิดเป็นอนิจจัง คือ ไม่วัตถุภายนอกคือรูปมากระทบให้หลงใหลหรือยินดี  ยึดมั่นถือมั่นในรูปที่เห็น เพราะมันไม่ใช่ของเรา สุดท้ายก็ต้องแตกสลายไปในที่สุด 6) ชีวิตเป็นสุข เมื่อได้มองเห็นความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย ว่าไม่มีอะไรที่อยู่คงทน ทุกสิ่งทุกอย่างทุกชีวิตบนโลกนี้ ย่อมต้องมีความเสื่อมคลาย เราไม่สามารถที่จะบังคับได้ มันเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อมองเห็นความจริงข้อนี้ชีวิตก็เป็นสุข เพราะไม่ได้ขวนขวายในสิ่งที่ฟุ่มเฟือยเกินตัว

7) เข้าถึงนิพพาน เมื่อได้พิจารณาอสุภกรรมฐานแล้ว จิตใจก็ไม่ยึดติดกับรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ได้ดม รสที่ได้ลิ้ม กายที่ได้สัมผัส ปล่อยวางในเรื่องของรูปนาม ทำจิตใจสงบเป็นสมาธิ ไม่วอกแวกไปกับอารมณ์ภายนอกที่มากระทบ มีจิตอยู่กับปัจจุบัน แม้จะไม่ได้สำเร็จอรหัตผลในชาตินี้ ก็จะเป็นผู้ที่เข้าสู่กระแสของพระนิพพาน เพราะได้ปฏิบัติถูกต้องตามพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝึกทำอยู่บ่อยๆ ความบริสุทธิ์ของจิตก็จักเกิดขึ้นในไม่ช้า 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕