หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปลัดสัมพิพัฒนธรรมาจารย์ (นิรันดร์ ศิริรัตน์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๕ ครั้ง
รูปแบบสมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์แนวพุทธจิตวิทยา (สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปลัดสัมพิพัฒนธรรมาจารย์ (นิรันดร์ ศิริรัตน์) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๒/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สิริวัฒน์ ศรีเครือดง
  เมธาวี อุดมธรรมานุภาพ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เรื่องรูปแบบสมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์แนวพุทธจิตวิทยานี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อวิเคราะห์สมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์แนวพุทธจิตวิทยา (๒) เพื่อสร้างรูปแบบสมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์แนวพุทธจิตวิทยา และ (๓) เพื่อสังเคราะห์และนำเสนอรูปแบบสมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์แนวพุทธจิตวิทยา การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการวิจัยจากเอกสาร (Document Research) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิค 6’Cs ลงภาคสนามโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (Individual depth interview) พระวิปัสสนาจารย์  ผู้ปฏิบัติธรรมประจำสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์จำนวน ๑๗ รูป/คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการยืนยันสามเส้า จากนั้นนำร่างรูปแบบสมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์ที่ได้ไปสนทนากลุ่มย่อย (Focus group) จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านพระวิปัสสนาจารย์ นักวิชาการ นักจิตวิทยาและผู้ปฏิบัติธรรม จำนวน ๑๒ รูป/คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิค (Logical Matrix) แล้วสังเคราะห์เพื่อสร้างรูปแบบสมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์แนวพุทธจิตวิทยา นำไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๕ ท่าน ได้ประเมินตรวจสอบความเหมาะสม

             ผลการวิจัย สรุปดังนี้  

๑. สมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์แนวพุทธจิตวิทยา ที่อยู่ในหลักกัลยาณมิตร ๗ ประการ ซึ่งเป็นคุณลักษณะส่วนบุคคลที่แสดงออกทางพฤติกรรมแล้วมีผลต่อความสำเร็จของงาน  จากการศึกษาวิจัย พบว่า สมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์แนวพุทธจิตวิทยาประกอบด้วย ๕ สมรรถนะ คือ ๑) ความรู้ พระวิปัสสนาจารย์ต้องมีความรู้ในการสอนปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานทั้งระบบ ๒) สมรรถนะ พระวิปัสสนาจารย์ต้องรู้จักใช้กุศโลบายในการสอน ๓) พระวิปัสสนาจารย์ต้องมีศีลที่บริสุทธิ์ มีความรอบรู้ ๔) พระวิปัสสนาจารย์ต้องมีคุณลักษณะด้านบุคลิกภาพที่ดี และ ๕) สมรรถนะด้านแรงจูงใจ พระวิปัสสนาจารย์ควรมีแรงจูงใจในการสอน 

 ๒. สมรรถนะครูแนวจิตวิทยา คือ สมรรถนะประจำสายงานครู พบว่า ประกอบด้วย ๓ สมรรถนะ คือ ๑) ครูต้องมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานเพื่อมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ มีความตั้งใจและเต็มใจให้บริการความรู้ พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๒) ครูต้องสามารถออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนเพื่อการพัฒนาผู้เรียน บริหารจัดการห้องเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และ ๓) ครูผู้ชำนาญการสอนต้องมีการอธิบายพร้อมสาธิตการเรียนรู้ ครูที่ปรึกษาคอยสังเกต สอบถาม ให้กำลังใจผู้เรียนเสมอ

๓.การสร้างรูปแบบสมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์แนวพุทธจิตวิทยา โดยนำผลการวิเคราะห์เนื้อหาจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสาระสำคัญของสมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์แนวพุทธจิตวิทยา และแนวคิดทฤษฎีสมรรถนะทางจิตวิทยา พร้อมผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์ พร้อมกับพระวิปัสสนาจารย์และผู้ปฏิบัติธรรม จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาสนทนากลุ่มจากผู้เชี่ยวชาญ จึงนำมาสังเคราะห์สร้างเป็นรูปแบบสมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์แนวพุทธจิตวิทยา

๔. รูปแบบสมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์แนวพุทธจิตวิทยา มี ๙ องค์ประกอบ คือ ๑) พระวิปัสสนาจารย์ต้องมีความรู้แตกฉานทั้งหลักการ ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติ ใส่ใจในกระบวนการเรียนการสอนด้วยจิตเมตตา ปรารถนาให้พ้นทุกข์ และปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนของตนเองเพื่อพัฒนา  ผู้ปฏิบัติธรรมให้มุ่งไปสู่มรรคผลพระนิพพานได้ ๒) พระวิปัสสนาจารย์ต้องคอยกำกับดูแลช่วยเหลือหรือแนะนำผู้ปฏิบัติธรรมตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติธรรม  ๓) พระวิปัสสนาจารย์ต้องเพิ่มเติมความรู้ด้วยการศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนการปฏิบัติธรรมทุกครั้งที่มีโอกาส สอนธรรมนำปฏิบัติสั่งสมประสบการณ์ ๔) พระวิปัสสนาจารย์ต้องมีการแบ่งภาระงานให้กับทีมงานสอน โดยจัดให้เหมาะสมกับระดับสติปัญญา ความสามารถของแต่ละบุคคล มีการประชุมปรึกษาหารือกันเป็นประจำ ๕) พระวิปัสสนาจารย์ต้องออกแบบการเรียนรู้พร้อมทั้งสามารถในการวัดผลประเมินผลในการปฏิบัติวิปัสสนาให้สอดคล้องกับการพัฒนาสติปัญญาของผู้ปฏิบัติธรรม ๖) พระวิปัสสนาจารย์ต้องตรวจสอบการพัฒนาการของผู้ปฏิบัติธรรมโดยการสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ๗) พระวิปัสสนาจารย์ต้องมีการจัดการบริหารห้องปฏิบัติธรรมให้มีความเป็นสัปปายะกับการปฏิบัติ มีความสะอาด มีความสงบ ๘) พระวิปัสสนาจารย์ต้องอธิบายวิธีการปฏิบัติวิปัสสนาพร้อมกับสาธิตการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ให้เข้าใจในกระบวนการปฏิบัติวิปัสสนา และ ๙) พระวิปัสสนาจารย์ต้องมีการวัดผลประเมินผล และแนะนำผลของการปฏิบัตินำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

                      อย่างไรตาม รูปแบบสมรรถนะพระวิปัสสนาจารย์แนวพุทธจิตวิทยาสามารถประยุกต์ใช้ “9  C MODEL” หรือ ๓  ๙  ๒๔  ซึ่งมีผลการประเมินความเหมาะสมในระดับมากที่สุด (๔.๘๖) ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่สามารถให้พระวิปัสสนาจารย์หรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในกระบวนการเรียนการสอนวิปัสสนากรรมฐานได้นำไปใช้ในการเรียนการสอน จักเป็นประโยชน์ต่อไป

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕