หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวินัย วิสุทฺธสาโร (เกษมสุข)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๖ ครั้ง
วิเคราะห์คุณค่าของหลักธรรมที่ปรากฏในมหาเวสสันดรชาดก
ชื่อผู้วิจัย : พระวินัย วิสุทฺธสาโร (เกษมสุข) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูโสภณพัฒนานุยุต
  พระครูโกศัยพัฒนบัณฑิต
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและสาระสำคัญของมหาเวสสันดรชาดก ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่ปรากฏในมหาเวสสันดรชาดก และ ๓) เพื่อวิเคราะห์คุณค่าของหลักธรรมที่ปรากฏในมหาเวสสันดรชาดก การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary research) ผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูลจากเอกสารตำราและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลตามวัตถุประสงค์

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า

 มหาเวสสันดรชาดก เป็นวรรณคดีพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป บางครั้งนิยมเรียกว่า มหาชาติ เนื่องด้วยเป็นเรื่องของ พระโพธิสัตว์ เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร เป็นชาดกเรื่องสุดท้ายในจำนวน ๕๔๗ พระเวสสันดรโพธิสัตว์ นับเป็นพระชาติที่ ๑๐ ในทศชาติชาดก มีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ คือ ๑) กัณฑ์ทศพร ๒) กัณฑ์หิมพานต์ ๓) กัณฑ์ทานกัณฑ์ ๔) กัณฑ์วนประเวสน์ ๕) กัณฑ์ชูชก ๖) กัณฑ์จุลพน ๗) กัณฑ์มหาพน ๘)  กัณฑ์กุมาร ๙) กัณฑ์มัทรี ๑๐) กัณฑ์สักกบรรพ ๑๑) กัณฑ์มหาราช ๑๒) กัณฑ์ฉกษัตริย์ และ ๑๓) กัณฑ์นครกัณฑ์

หลักธรรมที่ปรากฏในมหาเวสสันดรชาดกประกอบไปด้วย หลักกฎแห่งกรรม,หลักความไม่ประมาท,หลักการให้ทาน, หลักฆราวาสธรรม ๔ ,หลักอธิปไตย ๓, หลักพรหมวิหาร ๔, หลักทิศ ๖ หลักสังคหวัตถุธรรม, หลักสันโดษ, หลักมิตรแท้-มิตรเทียม, หลักศีล ๕, หลักกาลามสูตร, หลักมุสาวาท,กตัญญูกตเวที, หลักโกศล ๓, หลักสังเวคปริกิตตนปาฐะ, หลักอธิษฐานธรรม, หลักอกุศลมูล ๓, หลักโภชเนมัตตัญญุตา, หลักอภัยทาน และหลักสาราณียธรรม ๖

คุณค่าของหลักธรรมที่ปรากฏในมหาเวสสันดรชาดกนั้น จากการศึกษาวิเคราะห์พบว่าคุณค่าที่เกิดขึ้นมี ๔ ทาง คือ คุณค่าด้านร่างกาย หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์นั้น จะช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างมีสติสัมปชัญญะ ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต รู้ว่าสิ่งไหนมีประโยชน์ต่อร่างกาย สิ่งไหนให้โทษต่อร่างกาย เห็นคุณค่าของร่างกายและดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง ตลอดจนถึงรู้จักใช้ร่างกายของตนเองในทำความดี  คุณค่าด้านจิตใจ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์นั้นจะช่วยพัฒนาจิตใจให้มีความเมตตากรุณา  เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ไม่อิจฉาริษยาผู้อื่น มีจิตใจที่เป็นกุศล เมื่อมีอารมณ์โลก โกรธ หลง ก็สามารถระงับได้ และมีเข้าใจในสัจธรรมของชีวิตดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท  คุณค่าด้านสังคม หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ จะช่วยให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปอย่างสงบ ทุกคนต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น เมื่อใครทำผิดก็ให้อภัยซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีเป็นที่ตั้ง สังคมมีความเข็มแข็ง ปัญหาทางครอบครัวลดน้อยลงและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และคุณค่าด้านประเพณีและวัฒนธรรม ประเพณีและวัฒนธรรมของไทยส่วนใหญ่มักจะมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยมีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจในการประกอบพิธีกรรมจนก่อให้เกิดประเพณีและวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาขึ้น

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕